“ฉันเขียนงานชุดนี้ ด้วยความหวังจะชำระความเศร้า หวังควานมือปะป่ายในความมืด เข้าไปเยี่ยมหาใครบางคนที่ไม่กล้าเป็นฝ่ายปะป่ายความมืดออกมาเอง หวังส่งคำบางคำ ไปถมที่ว่างซึ่งโยนตัวกั้นขวางระหว่างใจบางใจ”
ผมอ่านคำนำของนักเขียนใน ‘Nowhere กลับไปจากมา’ อย่างตื่นเต้น ความเศร้าที่ว่าไว้ มันจะเป็นความเศร้าของใครกันนะ ในความมืดมิด การปะป่ายมือไปมาอาจเป็นสัญชาตญาณของการที่เราจะหลุดพ้นจากความมืดไปสู่แสงสว่าง ในขณะเดียวกันมันชวนให้ผมคิดไปว่าบางคนที่ยังคงจมจ่อมอยู่ในความมืดอย่าเงียบๆ นั้นอาจเพียงเพราะเขาไม่กล้าจะยื่นมือออกมาเท่านั้นเอง คำนำของลัดดา ชวนให้ผมคิดต่อไปว่า ไม่ว่าเขาจะกล้าหรือไม่กล้า “ปะป่ายมือในความมืดออกมา” หรือไม่นั้นหลายๆ ครั้งเราไม่อาจตัดสินหรือประเมินค่าบางใครคนนั้นได้ สิ่งที่เราทำได้อาจมีเพียง “ส่งคำบางคำไปถมที่ว่างซึ่งโยนตัวกั้นขวางระหว่างใจบางใจ” เท่านั้นเอง
ในบางสิ่งที่บางใครคนนั้นกำลังเป็นหรือเผชิญหน้าอยู่ อาจเป็นสิ่งที่สร้างความสงสัย โกรธเกรี้ยวให้กับคนอื่นๆ เพียงเพราะมันไม่ต้องตามจารีต ประเพณี ธรรมเนียมปฏิบัติที่สืบต่อกันมา ความผิดแผกแปลกแยกที่เกิดขึ้นสร้างทั้งความแตกต่างและแตกร้าวให้กับบางใครหลายคน ในแทบจะทุกครั้งเมื่อมันผิดไปจากเดิมมันไม่อาจจะเป็นเหมือนเดิมได้อีก หากมันจะกลับไปเป็นดั่งเดิม มันอาจเป็นการทำร้ายตัวเอง เป็นการกัดกินตัวเอง ดังนั้น มันน่าจะมีหนทางที่ทำให้เราเข้าใจกันได้บ้างแหละว่าทำไมมันถึงไม่เหมือนเดิม ทำไมไม่เป็นไปตามครรลองอย่างที่เคยเป็นมา เราอาจเข้าใจหรือไม่เข้าใจ แต่เราไม่อาจตัดสิน
รวมเรื่องสั้น ‘Nowhere กลับไปจากมา’ ของ ลัดดา สงกระสินธ์ เป็นรวมเรื่องสั้นที่พาผู้อ่านไปทำความเข้าใจ รู้จัก ความสัมพันธ์ ชีวิต ของคนหลากหลายรูปแบบ เป็นทั้งคนกระแสหลัก กระแสรอง คนชายขอบ เรื่องราวในชีวิตของคนเหล่านี้ล้วนไม่เป็นไปตามขนบธรรมเนียมจารีตของสังคมไทยที่ถูกบ่มเพาะมายาวนานนับหมื่นๆ ปี[1] และยังขัดแย้งกับค่านิยมทั้งโบราณและร่วมสมัย สิ่งที่ลัดดาพยายามจะนำเสนอในเรื่องนี้ สำหรับผมก็คือความพยายามที่จะชี้แจงอย่างไม่ฟูมฟายว่าเหตุใดคนเหล่านี้จึงประพฤติ ปฏิบัติเช่นนี้ ที่เหลือใครจะเข้าใจหรือไม่ก็สุดแท้แต่โชคชะตาและพระเจ้าจะอำนวยพร
ลัดดา สงกระสินธ์ เป็นทั้งกวีและนักเขียนหญิงที่น่าสนใจคนหนึ่งในแวดวงวรรณกรรมไทย เธอมีผลงานมากมายก่อนหน้านี้ ทั้งที่รวมพิมพ์เป็นเล่มและไม่ได้รวมพิมพ์ ผลงานที่รวมพิมพ์ได้แก่ ‘ฝนบางหยดกลายเป็นผีเสื้อ’ รวมบทกวีตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 2559 โดยสำนักพิมพ์สมมติและพิมพ์ครั้งต่อมาโดยสำนักพิมพ์ P.S. ในปี 2563 และรวมเรื่องสั้น ‘สนามเด็กเล่นของปีศาจ’ ในปี 2561 โดยสำนักพิมพ์ P.S. ผลงานที่ไม่ได้รวมตีพิมพ์นั้นกระจัดกระจายอยู่ในนิตยสารต่างๆ และโดยมากเป็นบทกวี
ผมคิดว่างานกวีของลัดดาเป็นงานที่น่าสนใจมาก ลัดดามีวิธีการเลือกคำได้ดี เป็นคำง่ายๆ ที่สั่นคลอนความรู้สึกและผัสสะของผู้อ่านได้อย่างน่าทึ่ง เมื่อมาอ่านรวมเรื่องสั้น ‘Nowhere กลับไปจากมา’ ผมเห็นร่องรอยของการเลือกใช้ถ้อยคำอย่างประณีตบรรจงในเรื่องสั้นของเธอ คำเหล่าช่วยในการอธิบายอารมณ์ความรู้สึกของตัวละครได้ยอดเยี่ยมและสื่อสารกับผู้อ่านได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผมคิดว่าคุณสมบัติเช่นนี้เป็นสิ่งที่ผมโหยหามากในการอ่านงานวรรณกรรมไทยร่วมสมัย
ในการบรรยายภาพบางภาพ ลัดดาก็ทำได้อย่างประณีต เช่น “เงยขึ้นตามอีกรูป นกเป็นกลุ่มบินไปด้วยกัน จะกลับรังหรือจะไปที่ไหนสักแห่ง ต่างก็คงรู้คงเข้าใจตรงกัน ฝูงนกเหมือนรอยเปื้อนเล็กๆ บนฟ้าที่อยู่เหนือยอดกระถินและพุ่มใบกระดังงาซึ่งโผล่แซมกันขึ้นมา ไกลออกไปจากนั้นคือภูเขาและเสาอากาศ” (หน้า 54) หรือการใช้ความเปรียบที่ช่วยทำให้เราเข้าใจสภาวะบางอย่างได้อย่างชัดเจนเช่น “อากาศเหนียวเหมือนลมพัดเคี่ยวน้ำตาล” (หน้า 82) ผมคิดว่ากลวิธีในการเขียนของลัดดานั้นง่าย งาม ละเอียดอ่อนและลึกซึ้งในความหมายตลอดจนเข้าไปจับความรู้สึกของผู้อ่านได้อย่างน่าสนใจ คุณสมบัติเช่นนี้เป็นสิ่งที่หาได้ยากในนักเขียนรุ่นใหม่ที่เพียรพยายามจะอธิบายสิ่งต่างๆ ความรู้สึกต่างๆ ให้ซับซ้อนแต่ไม่อาจสื่อสารได้ ไม่แน่ใจว่าเป็นเพราะไม่ต้องการจะสื่อสารกับใครหรือไม่ ซึ่งนั่นอาจเป็นปัญหาของผมก็ได้
ผมเคยแอบหวังไว้ในใจว่างานของลัดดา สงกระสินธ์ น่าจะได้มีการแปลเป็นภาษาอื่นๆ บ้าง ความละเอียดอ่อนและลึกซึ้งในผลงานของลัดดา ในฐานะกวี/นักเขียนหญิงของไทยที่น่าสนใจคนหนึ่งเป็นสิ่งที่นักอ่านในภาษาอื่นๆ หรือวัฒนธรรมอื่นๆ อาจจะสนใจอยู่ไม่น้อย เพราะงานของลัดดามีความเป็นสากลอยู่พอสมควรเมื่อเอาไปวางทาบทับกับนักเขียนร่วมสมัยในภาษาและวัฒนธรรมอื่นๆ
เรื่องสั้นเรื่องแรก ‘เปลวไฟสีส้ม’ เป็นเรื่องที่ผมประทับใจมากและออกจะชอบมากๆ เป็นเรื่องที่ว่าด้วยความรู้สึกของหญิงสาวคนหนึ่งที่มีต่อพระ แน่นอนว่านี่คือความสัมพันธ์ต้องห้าม แต่ยิ่งมันต้องห้ามเท่าไรมันกลับยิ่งร้อนแรง รุ่มร้อนดั่งเปลวไฟ ผมคิดว่าหลายคนอาจเห็นว่าไฟนั้นมีสีแดงและสีแดงถูกนำมาใช้ในการอธิบายลักษณะของไฟอยู่บ่อยครั้งด้วยทั้งในแง่ของความรู้สึกและคุณลักษณะทางกายภาพของไฟ แต่หากเราพิจารณาไฟให้ดี โดยเฉพาะเปลวไฟ มันไม่ได้มีสีแดงแต่เป็นสีออกส้มๆ เหลืองๆ คล้ายกับสีจีวรของพระนั่นเอง ความน่าสนใจของเรื่องสั้นเรื่องนี้ก็คือการนำเอาสีของจีวรที่เป็นเครื่องแบบของการละทางโลกไปสู่ความสงบเงียบมาใช้ในการอธิบายที่มาของอารมณ์ความรู้สึกเร่าร้อน เป็นอารมณ์ความรู้สึกลุ่มหลงที่รุนแรง ดังที่บทเปิดเรื่องกล่าวไว้ว่า “จีวรสีส้มเคลื่อนใกล้เข้ามาเรื่อยๆ เหมือนเปลวไฟความรักลุกลามมาตามถนนสายยาวในหมู่บ้าน เป็นกองไฟเล็กๆ ที่ร้อนฉ่า” (หน้า 13)
ผมคิดว่าเรื่องสั้น ‘เปลวไฟสีส้ม’ นั้นน่าสนใจในแง่ที่ว่า วิธีการบอกเล่าเรื่องความสัมพันธ์ต้องห้ามนั้นไม่ได้มีน้ำเสียงของความขมขื่น ความปวดร้าว ความรู้สึกผิด ในทางตรงกันข้าม ผมคิดว่านี่คือการเล่าเรื่องที่ผลักดันให้ความปรารถนาของตัวละครนั้นไปได้สุดทางเท่าที่มนุษย์คนหนึ่งจะรู้สึกได้มากที่สุดโดยไม่ต้องมีเพดานทางศีลธรรมมาเป็นอุปสรรค เพราะตลอดทั้งเรื่อง ตัวละครหญิงสาวที่เป็นผู้เล่าเรื่องนั้นจะค่อยๆ คลี่คลายตัวเองออกมาผ่านเรื่องเล่าในอดีต ความสัมพันธ์และความประทับใจแรกที่ได้เห็น ‘พี่เณร’ ความรุ่มร้อนและหอมหวานได้เจริญเติบโตอยู่ในใจของเธอมาอย่างยาวนาน ต่อมาหลวงพี่เขียนจดหมายมาคุยกับกับเธอในนามว่า ‘จีรวัฒน์’ และเธอก็ตัดสินใจเขียนจดหมายตอบไปว่า “นิมนต์ไปน้ำตกดาดฟ้าด้วยกัน ได้ไหมคะ วันพรุ่งนี้บ่ายสอง” (หน้า 25)
เรื่องราวทั้งหมดนี้ไม่ว่าจะมองในเหลี่ยมไหนของกรอบคิดอันดีงามของสังคม ก็จะมีคำตอบว่า ทั้งคู่นั้นจะต้องตกนรกหมกไหม้ เป็นผีเปรต ผีบ้าใดๆ ก็แล้วแต่ ตามที่ทั้งรายการผี หนังผี หมอดูกรรมเวร ใดๆ ได้เคยพูดไว้ ผมคิดว่าเรื่องสั้นเรื่องนี้ชวนให้เรานั่งดูสิ่งที่ลี้ลับที่สุดในตัวมนุษย์ นั่นคือ ‘ความปรารถนา’ ความปรารถนาอาจอยู่ตรงกันข้ามกับคุณธรรม แต่มันคือแรงผลักดันอย่างหนึ่งของมนุษย์ มันคือหุบเหวอันเวิ้งว้างและหอมหวาน ความสัมพันธ์บางแบบคือการเดินทางลงนรก นรกที่ทุกคนพร้อมที่จะจับมือกันไปพร้อมๆ กันและจุมพิตต่อกันอย่างดูดดื่มโดยมีฉากหลังเป็นกองไฟท้วมท้นกำลังลามเลียแผดเผาเราทุกคน แม้ไฟนรกจะทำลายเราได้ แต่ทำลายความปรารถนาของเราไม่ได้
ในเรื่องสั้น ‘พรุ่งนี้เช้าของเด็กชาย’ สะท้อนมุมมองของ ‘น้าฝ้าย’ ที่มองเห็นเด็กชายสองคน คนหนึ่งเป็นหลานของตัวเอง อีกคนหนึ่งดูเหมือนจะเป็นนักเรียนที่โรงเรียนของน้าฝ้าย เด็กชายทั้งสองมีความแตกต่างกัน นั่นคือ อ้นเป็นเด็กวัยอนุบาลที่มองโลกอย่างจริงใจและพยายามเข้าใจคนอื่นๆ ในขณะที่แสง เป็นหนุ่มน้อยในวัยใกล้จะจบมัธยม ผู้ดูเหมือนพยายามจะค้นหาอะไรสักอย่างในชีวิต (ในสายตาของน้าฝ้ายผู้เป็นครู) แสงเลือกที่จะพาตัวเองไปฝึกในค่ายทหารถึงสองครั้ง
จุดที่น่าสนใจของเรื่องนี้คือการวิพากษ์วิจารณ์ ‘ทหาร’ ตัวเรื่องเล่าถึงเหตุการณ์การล้อมปราบคนเสื้อแดงที่ทหารยิงคนเสื้อแดงตายทีละคนๆ อ้นเห็นข่าวดังกล่าวในโทรทัศน์จึงถามน้าฝ้ายว่าเกิดอะไรขึ้น แต่ “ฉันไม่มีคำตอบให้เขา ตั้งแต่คำถามแรกจนถึงคำถามสุดท้าย จนกระทั่ง เขาต้องหาคำตอบเอง คิดเอง ลองแทนค่าลงไปเองและได้ข้อสรุปเอง” (หน้า 43) ในความคิดของน้าฝ้าย เธอไม่อาจมีคำตอบให้ได้แม้ว่าความจริงจะปรากฏอยู่ตรงหน้า แม้ว่าคำตอบนั้นเพียงแค่ตอบสั้นๆ ว่า ‘ทหารยิงประชาชน’ ก็ไม่อาจทำได้ เพราะมันอาจเป็นการชี้นำมากเกินไป แต่แสงเลือกจะเดินเข้าหาทหาร น้าฝ้ายไม่เห็นด้วยอย่างแน่นอนแต่ก็ไม่อาจห้ามปรามได้เช่นกัน ผู้อ่านจะได้เห็นและเข้าใจความคิดของน้าฝ้ายที่มีความเป็นห่วงเป็นใยแสง “ฉันกลัวเหลือเกินว่าเขาจะแทนที่โลกใบเก่าที่เขาเป็นมาเสมอ ด้วยโลกใบใหม่ที่เขายังไม่รู้จักมันดีพอ โลกที่สอนให้เขาสละชีพเพื่อชาติ” (หน้า 46)
น้าฝ้ายจะได้เห็นความแตกต่างของโลกผ่านชีวิตของเด็กชายสองคนผู้เพียรพยายามค้นหาคำตอบหลายๆ อย่างในชีวิต เด็กอนุบาลไม่อาจเข้าใจอะไรได้มากนัก แต่คำถามของพวกเขาก็เป็นสิ่งที่ดูจริงใจ ในขณะที่การค้นหาความหมายในชีวิตของแสงสำหรับน้าฝ้ายแล้วมันคือการเอาชีวิตไปทิ้ง การเป็นทหารไม่อาจให้อะไรเลย นั่นคือถ้าไม่สละชีพตัวเองเพื่อชาติก็อาจเป็นการไล่ปลิดชีพคนในชาติเดียวกัน และสุดท้ายมันก็คือการลงเอยว่า การเป็นทหารคือการเอาชีวิตไปทิ้ง น้าฝ้ายไม่อาจเข้าใจการตัดสินใจของแสงได้ แต่ก็ไม่ตัดสินแสงเช่นกัน เธอทำได้เพียงบอกหลานตัวน้อยว่าสิ่งที่เขาอยากจะเป็นในตอนโตขึ้นดูเหมือนนักมายากลมากกว่าทหาร
เรื่องสั้น ‘มีใครอยู่ที่นี่บ้าง’ เป็นเรื่องกริม ครูในโรงเรียนแห่งหนึ่งที่ค้นพบว่าเธอเองแทบไม่มีพื้นที่ที่จะทำให้เธอเป็นตัวของตัวเองได้เลย เธอคือความว่างเปล่าสำหรับคนอื่นและเป็นคนอื่นสำหรับคนอื่นๆ ทั้งเพื่อนฝูง ครูบาอาจารย์ของเธอ นักเรียนที่เธอสอน ต่างมองไม่เห็นตัวเธอ ในหมู่เพื่อนร่วมรุ่นและครูบาอาจารย์ของกริมต่างพร้อมใจกันลืมและไม่พูดถึงกริมเมื่อเธอแสดงตัวและจุดยืนว่าเธอเป็นคนเสื้อแดงมีเพียงเอกเท่านั้นที่เข้าใจ อาชีพครูของเธอก็ดูไม่ประสบความสำเร็จเท่าไรนักเพียงเพราะเธอเลือกจะสอนเด็กๆ ในสิ่งที่เธอเชื่อ ไม่ใช่สิ่งที่ทำตามกันมา
วิธีการเล่าเรื่องของเรื่อง ‘มีใครอยู่ที่นี่ไหม’ ก็เป็นสิ่งที่น่าสนใจ เพราะดูเหมือนเรื่องสั้นเรื่องนี้จะแบ่งออกเป็นสองส่วนคือส่วนที่เป็นปัจจุบันและอดีตของตัวละคร ครึ่งแรกของเรื่องเป็นการบรรยายชีวิต ณ ปัจจุบันของกริมที่เพื่อนฝูงพากันหนีหายทิ้งให้เธอโดดเดี่ยว ส่วนครึ่งหลังเป็นการบอกเล่าภูมิหลังที่มาของตัวละคร และสุดท้ายมายบรรจบกันอย่างกลมกลืนผ่านความรู้สึกที่ว่างเปล่าเดียวดายของกริม แต่ในความเดียวดายของกริมมันกลับเต็มไปด้วยความเด็ดเดี่ยวแน่วแน่ที่จะยืนหยัดเป็นตัวของตัวเองของกริม เพราะนั่นคือสิ่งที่ทำให้กริมเคารพตัวเองได้ดังที่เอกได้บอกเธอไว้ในต้นเรื่อง
เรื่องที่น่าสนใจอีกเรื่องสำหรับผมก็คือ ‘ฟ้าไม่เคยอยู่ในการ์ดรูปบ้าน’ ที่เล่าเรื่องราวและความรู้สึกของวัยรุ่นสิงห์มอเตอร์ไซด์ป่วนเมือง เรื่องนี้สำหรับผมในแง่หนึ่งมันคือการนำความรู้สึกลึกๆ ภายในของคนที่ถูกเรียกว่า ‘เด็กแวนซ์’ ออกมาเขียนได้อย่างละเอียดลออ โดยที่ไม่ได้เรียกร้องความเห็นใจหรือพยายามจะเข้าใจสภาวะของการเป็นเด็กวัยรุ่นต่อต้านสังคมด้วยมุมมองแบบปัญญาชน ตัวเรื่องเล่าอย่างเรียบง่าย ตรงไปตรงมาชี้ชวนให้ผู้อ่านเห็นความคิดความอ่านในอีกแง่มุมหนึ่งโดยที่ไม่ได้ถูกตัดสินว่าผิด เราอาจเข้าใจและไม่เข้าใจเด็กแวนซ์เหล่านี้ แต่เราจะได้เห็นว่าทำไมพวกเขาต้องออกมาซิ่งท้าทายสังคม ท้าทายผู้คนจนกระทั่งตัวเองถูกยิง
ผมคิดว่า ‘สาร’ ที่เรื่องสั้นทั้งหมดในเล่มนี้พยายามจะสื่อออกมานั้นมีทั้งความเรียบง่ายและซับซ้อนไปพร้อมๆ กัน นั่นคือ แทบทุกเรื่องพาเราไปดู ไปสัมผัสประสบการณ์ชีวิตของตัวละครในหลากหลายรูปแบบ ชีวิตที่ลัดดาพยายามนำเสนอแต่ละแบบนั้นล้วนอยู่นอกวิถีปฏิบัติที่ดีงามและถูกต้องของสังคม ตัวละครแต่ละเรื่องเลือกที่จะมีชีวิตเช่นนั้นไม่ใช่เพราะเขาเป็นคนเลว คนชั่ว แต่เป็นเพราะทางที่มีให้เลือกนั้นมีไม่มาก หลายคนอาจเห็นว่าทางเลือกชีวิตมีมากมายแต่ก็ไม่ใช่เช่นนั้นเสมอไป อย่างน้อยก็ในเรื่องเล่าของลัดดา สิ่งที่เราทำได้มากที่สุดอาจเป็นความพยายามที่จะเข้าใจว่าทำไมแต่ละคนถึงเลือกชีวิต เลือกที่จะทำเช่นนั้น หรือแม้นไม่เข้าใจอะไรได้เลย เราก็ไม่อาจตัดสินได้อย่างง่ายๆ แบบขาวดำ เพราะชีวิตไม่ได้เรียบง่ายเพียงนั้น
ในขณะเดียวกันในการบอกเล่าชีวิตของตัวละครก็ไม่ได้หม่นหมองจนเกินไปนัก ตัวละครหลักในแต่ละเรื่องไม่ได้ถึงกับทุรนทุรายในชีวิตและชะตากรรมของตัวเอง ลัดดาทำให้เห็นถึงความเป็นธรรมชาติของตัวละครแต่ละตัวได้อย่างดี ตัวละครแต่ละตัวไม่ได้เรียกร้องให้ผู้อ่านเห็นใจหรือสงสารพวกเขาแต่อย่างใด ตัวละครทุกตัวมีชีวิตที่ต้องใช้ มีความปรารถนา มีคำถามให้ค้นหา เหมือนๆ กับคนอื่นทั่วไป เพราะชีวิตก็ไม่ได้ทุรนทุรายถึงเพียงนั้นเช่นกัน
สิ่งที่ผมพอจะเห็นจากรวมเรื่องสั้นชุดนี้ของลัดดาก็คือ เราพอจะมีทางเข้าใจซึ่งกันและกันได้บ้างไหม แน่ล่ะลัดดาอาจเสนอว่ามันมี แต่ทั้งนี้เราจะยอมเข้าใจกันไหม และเข้าใจกันมากน้อยขนาดไหน ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง
ผมประทับใจตอนหนึ่งในเรื่อง ‘มีใครอยู่ที่นี่บ้าง’ เป็นตอนที่เอกเพื่อนของกริมให้ข้อคิดในการใช้ชีวิตที่เลือกแล้วของกริมและผมคิดว่ามันเป็นสารที่พยายามจะสื่อไปยังผู้อ่านที่ว่า ‘จงมั่นใจที่จะเป็นตัวของตัวเอง’ นั่นคือ
“มึงไม่ต้องคิดมากหรอกกริม ใช้ชีวิตของมึงไปเหอะ กูไม่รู้จะแนะนำยังไง แต่กูเห็นมึงจริงจังเกินไป จริงจังแต่ไม่มั่นใจไม่ดีน้า เขาชูนิ้วชี้ขึ้นแกว่งไปมาต่อหน้าเธอ เลือกแล้วก็ไม่ต้องเสียใจ คนที่เขาเกลียดมึงยังไงเขาก็เกลียด ต่อให้เขาไม่เกลียดมึง เขาก็เกลียดสิ่งที่มึงรักมึงเชื่ออยู่ดี เพราะเขากับมึงต่างกัน ต่างกันมาก มากกว่าที่กูกับมึงต่างกันอีก มากกว่ามากด้วย” (หน้า 103)
[1] ข้อความนี้คือการประชด เสียดสี แดกดัน อย่างจงใจ