fbpx
ความน่าจะอ่าน 2020

ความน่าจะอ่าน 2020 : The Finalists (ตอนที่ 3)

กองบรรณาธิการ The101.world  เรื่อง

 

‘ความน่าจะอ่าน’ ปีที่ 4 — ‘ความน่าจะอ่าน 2020 – อ่านอะไรดีในปีแสนสาหัส’ — มองหาหนังสือที่คิดว่าน่าอ่าน ควรอ่าน หรือเหมาะสมที่จะอ่านในภาวะที่โลกกำลังเผชิญวิกฤตครั้งใหญ่ — ประเทศไทยเองก็ไม่ต่าง เจอมรสุมทั้งภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ การจัดการกับโรคระบาด และการเมืองที่ร้อนระอุ

จากการคัดเลือกของเจ้าของสำนักพิมพ์ บรรณาธิการ ร้านหนังสือ และนักวาดภาพประกอบกว่า 60 คน ทำให้เราได้รายชื่อหนังสือมากกว่า 100 เล่ม ครบเรื่องครบรสทั้งวรรณกรรม ประวัติศาสตร์ การเมือง หนังสือภาพ และความเรียง

บรรทัดถัดไปจากนี้คือรายชื่อหนังสือ Finalists ชุดที่ 3 จาก 19 คนที่เลือกหยิบหนังสือที่คิดว่าน่าอ่าน น่าละเลียด พร้อมเหตุผลว่าทำไมเราจึง ‘น่าจะอ่าน’ หนังสือเล่มนี้

แน่นอน — รางวัลไม่ได้จบอยู่แค่การเลือกของคนในแวดวงหนังสือ เพราะ ‘คนอ่าน’ ย่อมสำคัญไม่แพ้กัน ในปีนี้เราจึงเปิดให้ ‘นักอ่านทุกคน’ มาร่วมโหวตหนังสือน่าอ่านที่สุดแห่งปีแสนสาหัสนี้ไปด้วยกัน ด้วยการเพิ่มรางวัล ‘ความน่าจะอ่าน ขวัญใจมหาชน’ เข้ามาด้วย

หนึ่งเสียงของท่าน อาจทำให้หนังสือเล่มหนึ่งไปถึงคนอื่นได้อีกมาก ร่วมโหวตได้ที่นี่ (โหวตได้ถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2563)

ดู ความน่าจะอ่าน 2020 : The Finalists (ตอนที่ 1)

 ความน่าจะอ่าน 2020 : The Finalists (ตอนที่ 2)

 

พิพัฒน์ พสุธารชาติ

สำนักพิมพ์ Illuminations Editions

 

เล่มที่แนะนำ :

 

 

1.เมื่อสยามพลิกผัน: ว่าด้วยกรอบมโนทัศน์พื้นฐานของสยามยุคสมัยใหม่

ผู้เขียน: ธงชัย วินิจจะกูล

สำนักพิมพ์: ฟ้าเดียวกัน

“หนังสือเล่มนี้รวม 7 บทความที่อาจารย์ธงชัยเขียนมาก่อน ซึ่งตีพิมพ์ในหนังสือและวารสารต่างๆ มีทั้งที่เป็นภาษาอังกฤษและภาษาไทย โดยมีเพียงบทที่ 1 ที่อาจารย์ธงชัยเขียนใหม่ให้กับหนังสือเล่มนี้โดยเฉพาะ ลำพังการแปลบทความภาษาอังกฤษเป็นไทย อย่างเช่น บทที่ 2 ‘Coming to Terms with the West: Intellectual Strategies of Bifurcation and Post-Westernism in Siam’ บทที่ 4 ‘Modern Historiography in Southeast Asia: The Case of Thailand’s Royal Nationalist History’ บทที่ 6 ‘Buddhist Apologetics and a Geneology of Comparative Religion in Siam’ ก็ทำให้หนังสือเล่มนี้มีคุณค่าเป็นอย่างสูงในแง่ของประวัติศาสตร์ภูมิปัญญาและการวิพากษ์วิจารณ์อุดมการณ์หลักในสังคมไทย ในบทที่ 7 ซึ่งเป็นบทสุดท้าย คือ ‘บททดลองเสนอ อภิสิทธิ์ปลอดความผิด (Impunity) และความเข้าใจสิทธิมนุษยชนในนิติรัฐแบบไทยๆ’ อาจารย์ธงชัยได้ใช้บทนี้เป็นฐานเพื่อขยายความเพิ่มเติมในปาฐกถาพิเศษ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ครั้งที่ 17 วันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2563 โดยมีชื่อหัวข้อว่า ‘นิติรัฐอภิสิทธิ์และราชนิติธรรม’ ซึ่งเป็นการวิจารณ์หลักนิติธรรม (Rule of Law) แบบไทยๆ”

 

 

2.ไกลกะลา (A Life Beyond Boundaries)

ผู้เขียน: เบเนดิกท์ แอนเดอร์สัน

ผู้แปล: ไอดา อรุณวงศ์

สำนักพิมพ์: อ่าน

“หนังสือเล่มนี้เป็นอัตชีวประวัติของเบเนดิกท์ แอนเดอร์สัน หรืออาจารย์เบน ผู้เขียนหนังสือเล่มสำคัญคือ ชุมชนจินตกรรม บทสะท้อนว่าด้วยกําเนิดและการแพร่ขยายของชาตินิยม

อาจารย์เบนเล่าชีวประวัติของตัวเองได้อย่างสนุกสนาน มีรายละเอียดมากมาย จนทำให้ผู้อ่านมีความเข้าใจที่มาที่ไปของหนังสือ ชุมชนจินตกรรมฯ ได้ดีขึ้น และคุณไอดาก็แปลเป็นไทยด้วยสำนวนที่อ่านลื่นไหลมาก สำหรับคนที่สนใจประเด็นเรื่องชาติและ Southeast Asia Studies หรือประวัติศาสตร์ของปัญญาชน เล่มนี้เป็นหนังสือที่น่าอ่านมากๆ”

 

 

3.ว่าด้วยเอกเทวนิยม: เส้นทางของพระผู้เป็นเจ้าของจริง

ผู้เขียน: ธเนศ วงศ์ยานนาวา

สำนักพิมพ์: สมมติ

“อารยธรรมตะวันตกตั้งอยู่บนเสาหลักสองต้นคือ ปรัชญากรีกและคริสต์ศาสนา เราไม่สามารถเข้าใจ Rationality ของชาวตะวันตกในปัจจุบัน โดยขาดความเข้าใจต่อเสาหลักทั้งสอง (อาจต้องเพิ่ม ระบบกฎหมายของอาณาจักรโรมัน เข้าไปด้วย) แนวคิดรัฐประชาชาติ ก็ต้องอาศัยความเข้าใจต่อแนวคิดทางเทววิทยาของคริสต์ศาสนา หนังสือของธเนศเล่มนี้ เป็นหนังสือที่บอกเราอ้อมๆ ว่า เราไม่มีทางเข้าใจอารยธรรมตะวันตกได้ ถ้าปราศจากความเข้าใจต่อมโนทัศน์ที่สำคัญต่างๆ ทางคริสต์ศาสนา อย่างเช่น พันธสัญญา (Covenant) การรอด (Salvation) ฯลฯ หนังสือเล่มนี้อ่านค่อนข้างยาก แต่ถ้าเราติดตามงานของอาจารย์ธเนศมาก่อน ก็จะรู้ว่าเล่มนี้เป็นงานเขียนที่สำคัญอีกหนึ่งเล่มของเขา”

 

สุกฤษฏิ์ ธีระปัญญารัตน์

ร้านหนังสือออนไลน์ Paper Yard Books

 

เล่มที่แนะนำ :

 

 

1.BECOMING

ผู้เขียน: มิเชลล์ โอบามา

ผู้แปล: นุชนาฏ เนตรประเสริฐศรี

สำนักพิมพ์: อมรินทร์ How To

“หนังสืออัตชีวประวัติของมิเชล โอบามา ตั้งแต่เป็นนักศึกษาวิชากฎหมาย จนมากลายเป็นสุภาพสตรีหมายเลข 1 ของสหรัฐฯ

ชีวิตของมิเชลสะท้อนให้เราเห็นถึงความไม่แน่นอนของชีวิต เธอไม่เคยตั้งโกลว่าจะต้องเป็นสุภาพสตรีหมายเลข 1 รวมถึงวันสุดท้ายในทำเนียบขาว เธอก็ไม่คิดว่านั่นคือจุดหมายสุดท้าย

เธอทำให้เราเข้าใจถึงการเดินทางของชีวิตที่ไม่สิ้นสุด และต้องเตรียมรับความไม่คาดฝันที่เกิดขึ้นได้ตลอดเวลา”

 

 

2.จริงๆ แล้วโลกดีขึ้นทุกวัน (Factfulness)

ผู้เขียน: ฮันส์ โรสลิง, โอลา โรสลิง, อันนา เรินน์ลุนด์

ผู้แปล: นที สาครยุทธเดช

สำนักพิมพ์: อมรินทร์ How To

“หนังสือเล่มนี้ บิล เกตส์ ซื้อแจกนักศึกษาจบใหม่ในอเมริกาทุกคน

ในชีวิตจริง เรามักจะมองเห็นเรื่องราวและข่าวที่ค่อนไปทาง negative มากกว่า positive ทั้งโลกที่เปลี่ยนแปลงเร็ว ทำให้เรารู้สึกว่าโลกใบนี้อยู่ยากขึ้น ทุกข์มากขึ้น หาความสุขได้น้อยลง

บางครั้งเราคิดว่าโลกนี้ไม่มีหวัง คนจนลง ป่วยมากขึ้น ความไม่เท่าเทียมมากขึ้น

หนังสือเล่มนี้ได้เปิดโลกให้เราเห็นตามความเป็นจริงว่า ถ้าวัดกันจริงๆ แล้ว เรื่องที่เราคิดว่ามันแย่ มันดีขึ้นกว่าเมื่อวานต่างหาก

นี่ไม่ใช่หนังสือโลกสวย แต่เป็นการพาเราให้มองโลกอย่างถูกต้อง”

 

 

3.ผจญภัยในสุสาน (The Graveyard Book)

ผู้เขียน: นีล เกแมน

ผู้แปล: ลมตะวัน

สำนักพิมพ์: Words Wonder

“วรรณกรรมเยาวชนที่ดีที่สุดของ นีล เกแมน เรื่องของเด็กผู้ชายธรรมดาคนหนึ่ง ชีวิตเขาจะธรรมดามากๆ เพียงแต่เขาไม่ได้มีชีวิตอยู่ในสุสาน ถูกเลี้ยงดูมาโดยผู้ที่อยู่ในสุสาน ซึ่งมีทั้งเหล่าภูตผี และผู้ที่ไม่ใช่ทั้งคนเป็นและคนตาย

หนังสือเล่มนี้สะท้อนให้เราเห็นถึงความเป็นไปของชีวิตหากเราเป็นเพียง nobody คนหนึ่ง ถ้าเราเริ่มต้นจากไม่มีอะไรเลย สิ่งใดบ้างที่จะหล่อหลอมให้เรามีตัวตน สิ่งแวดล้อม คนรอบข้าง ความคิด อดีต หรือการกระทำของเราเองที่เป็นตัวสร้างตัวตนของเราขึ้นมา”

 

ชวณัฐ สุวรรณ และ เพชรลัดดา แก้วจีน

กราฟิกดีไซเนอร์ Whale & Rabbit Library

เล่มที่แนะนำ :

 

1.ผมเรียกเขาว่าเน็กไท (I Call Him Necktie)

ผู้เขียน: Milena Michiko Flašar

ผู้แปล: สิริยากร พุกกะเวส มาร์ควอร์ท

สำนักพิมพ์: Merry-Go-Round

“นวนิยายเล่มเล็กแต่สั่นสะเทือนความรู้สึกหลังอ่านจบอย่างมากมาย ผู้เขียนเล่าเรื่องการพบกันในสวนสาธารณะของชาย 2 คน คนหนึ่งเป็นฮิกิโกะโมริหนุ่มที่เพิ่งกล้าออกจากห้องมาดูโลกภายนอก กับอีกคนเป็นพนักงานบริษัทวัยใกล้เกษียณที่เพิ่งถูกไล่ออกจากงาน จากหนึ่งบทสนทนานำไปสู่การเปิดเผยเรื่องราวที่ทำให้เราได้รู้จักพวกเขาดีขึ้น หนังสือเล่มนี้ทำให้เรามองการมีบาดแผลในชีวิตเป็นเรื่องสามัญ และสิ่งนั้นอาจเป็นจุดเริ่มต้นของการยอมรับตนเองและคนอื่นๆ ในแบบที่เป็น”

 

 

2.สามัญสำนึก (Common Sense)

ผู้เขียน: โธมัส เพน

ผู้แปล: ภัควดี วีระภาสพงษ์

สำนักพิมพ์: Bookscape

“จุลสารที่เขียนถึงชาวอาณานิคมในอเมริกาช่วงปลายศตวรรษที่ 18 ซึ่งขณะนั้นถูกปกครองโดยรัฐบาลที่อยู่ภายใต้ระบอบกษัตริย์อังกฤษ ข้อเขียนนี้ได้อธิบายให้เห็นปัญหาและความไม่ชอบธรรมในการสร้างและสืบทอดอำนาจของระบอบกษัตริย์อันส่งผลกระทบมาถึงชาวอาณานิคม เหตุผลและความจำเป็นที่ทุกคนบนแผ่นดินอเมริกาจะต้องตระหนักถึงสิทธิและความเสมอภาค ซึ่งภายหลังได้นำไปสู่การต่อสู้เพื่อประกาศอิสรภาพจากอังกฤษและสร้างรัฐธรรมนูญของพวกเขาเองต่อไป”

 

 

3.ตาสว่าง

ผู้เขียน: Claudio Sopranzetti, Sara Fabbri, Chiara Natalucci

ผู้แปล: นันธวรรณ์ ชาญประเสริฐ

ภาพปกและภาพประกอบ : Sara Fabbri

สำนักพิมพ์: อ่านอิตาลี

“นิยายภาพที่ดัดเเปลงจากเรื่องจริงที่ได้รับการศึกษาเเละเก็บข้อมูลทางมานุษยวิทยาในประเทศไทยยาวนานนับสิบปี เล่าชีวิตของ นก วินมอเตอร์ไซค์รับจ้างชาวอุดรธานีที่มาเเสวงโชคในเมืองหลวง เพื่อหวังจะสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับตัวเองและครอบครัว ไทม์ไลน์ชีวิตของเขาดำเนินควบคู่ไปกับหลายเหตุการณ์ทางการเมืองในประเทศไทย เปิดเผยให้เห็นการถูกกระทำโดยระบบที่ไม่เป็นธรรมและกัดกินประเทศนี้มายาวนาน อาการ “ตาสว่าง” ของนกเปรียบได้กับการลืมตาตื่นท่ามกลางความมืดมน เพื่อพบและเผชิญหน้ากับความจริงอันน่าเศร้า”

 

สฤณี อาชวานันทกุล

สำนักพิมพ์ชายขอบ

เล่มที่แนะนำ :

 

 

1.ตาสว่าง

ผู้เขียน: Claudio Sopranzetti, Sara Fabbri, Chiara Natalucci

ผู้แปล: นันธวรรณ์ ชาญประเสริฐ

ภาพปกและภาพประกอบ : Sara Fabbri

สำนักพิมพ์: อ่านอิตาลี

“หนังสือที่ดีที่สุดเล่มหนึ่งเกี่ยวกับความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองในไทย”

 

 

2.อยู่กับบาดแผล

ผู้เขียน: บุญเลิศ วิเศษปรีชา

สำนักพิมพ์: Papyrus

“หนังสือที่ดีที่สุดเล่มหนึ่งเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวและความรุนแรงทางการเมืองในไทย”

 

 

3.สะพรึง (Terror)

ผู้เขียน: Ferdinand von Schirach

ผู้แปล: ศศิภา พฤกษฎาจันทร์

สำนักพิมพ์:  ILLUMINATIONS EDITION

“หนังสือที่ดีที่สุดเล่มหนึ่งเกี่ยวกับจริยธรรมและความยุติธรรม”

 

โกวิท โพธิสาร, วีรพงษ์ สุนทรฉัตราวัฒน์ และณขวัญ ศรีอรุโณทัย

way magazine

 

เล่มที่แนะนำ :

 

 

1.นิตยสาร เกษตรกรก้าวหน้า

(แนะนำโดย โกวิท โพธิสาร)

สำนักพิมพ์: แม่บ้าน

ครอบครัวของผมเป็นเกษตรกรเต็มขั้น เรามีที่ดินขนาดเท่าแมวดิ้นตายไว้ขุดหลุมฝังตัวเอง หากเทียบกับเกษตรกรทั่วไปนับว่ามีพื้นที่ทำกินมากโข แต่สิ่งที่พบตลอดเวลาก็คือ เรากลับสลัดจากความยากจนไม่พ้น เต็มที่ – ก็แค่ชนชั้นกลางของคนระดับล่างเท่านั้น

ผมเป็นเพียงไม่กี่คนในวงศ์ตระกูลที่ร่ำเรียนในระดับมหาวิทยาลัย และมีโอกาสเดินทางทั่วประเทศเพื่อทำงานด้านสื่อสารมวลชน ระหว่างการทำงานกว่าทศวรรษนี้เองที่ทำให้ได้เห็นโลกกว้างของการทำมาหากินบนผืนดิน ผมพบว่าเกษตรกรจำนวนมากไม่เพียงเอาตัวรอดได้ แต่ยังพาตัวเองไปอยู่ในจุดที่มั่นคง อย่างเลวที่สุดก็ไม่ต้องกระเสือกกระสนมากนัก อะไรบางอย่างที่นำพาให้คนที่อาบเหงื่อต่างน้ำหายใจได้โล่งคอก็คือ “ความรู้”

แน่ละ พูดแบบนี้ก็จะถูกตั้งข้อกล่าวหาว่า “กำลังมองเกษตรกรว่าเป็นพวกฉลาดน้อยใช่ไหม” คำแก้ตัวของผมก็คือ “ใช่” โดยเฉพาะหากวัดจากมาตรฐานของคนรอบข้างที่ไม่สามารถเปลี่ยนที่ดินทำกินให้เกิดดอกออกผลเท่าที่ควร ย่อมแสดงว่ามันต้องขาดอะไรบางอย่าง

ขอโทษ – ผมทราบดีว่าโครงสร้างทางสังคมที่กดทับมันบีบบังคับให้คนรวยยิ่งรวย ส่วนคนจนยิ่งจน กลายเป็นความเหลื่อมล้ำที่ทำให้คนไม่เท่ากันอย่างที่เห็นและเป็นอยู่ ผมไม่ใช่พวกตากแดดนีออนตากลมเทียมในตึกสูงแล้วใช้ประสบการณ์เท่าหางอึ่งมาทะลึ่งพิพากษา แต่การหลุดรอดจากความจน ลำพังถกเถียงด้วยชุดคิดเชิงวิชาการนั้นไม่พอ มันต้องคุยกันบนฐานของการปฏิบัติได้จริง

หากท่านเป็นนักคิดก็สมควรแล้วที่ต้องถกเถียงบนตรรกะเชิงโครงสร้าง แต่สำหรับเกษตรกรส่วนใหญ่ของประเทศ พวกเขาต้องการ “ทางเลือก” และ “How to” ที่ไม่ต้องปีนกระไดให้เมื่อยตาตุ่ม

กรุณาบอกมาเลยว่าที่ดินแบบนี้ควรปลูกอะไร ดูแลอย่างไร และขายที่ไหนได้บ้าง ซึ่งนิตยสาร “เกษตรกรก้าวหน้า” ตอบโจทย์นั้น ทั้งยังหาซื้อได้ตามร้านสะดวกซื้อหรือแผงหนังสือใกล้บ้านด้วยราคาเท่ากับเบียร์ชั้นเลวหนึ่งกระป๋อง แม้เป็นนิตยสารสำหรับเกษตรกรก็จัด artwork สวยงาม ไม่เฉิ่มเชยจนเขินอายที่จะเปิดอ่าน ที่สำคัญกว่านั้นคือเนื้อหาของมันพาเราไปเจอทางเลือกต่างๆ นานาสำหรับการทำมาหากิน

มารดาบังเกิดเกล้าของผมกล่าวขณะคลี่กระดาษทีละหน้าว่า “ไม่ต้องปลูกมันสำปะหลังทั้งไร่ หรือปลูกอ้อยทั้งเวิ้งก็ได้นี่นา” ข้อนี้น่าจะพออธิบายให้เห็นภาพว่า content ที่ดีมีวิธีนำเสนอได้หลายรูปแบบ และตำราไม่ควรขีดวงจำกัดแค่เพื่อชนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเท่านั้น ขั้นต่ำคือมันไม่ควรจะมีราคาแพงและหาซื้อยากเย็นเกินไป รองลงมาคือมันควรอ่านง่ายย่อยง่ายด้วย

หากความรู้คือสิ่งจำเป็นสำหรับเกษตรกร “เกษตรกร​ก้าวหน้า” เป็นทางเลือกที่ไม่แย่นักสำหรับการปลูกสร้างสติปัญญา และหากหนังสือเป็นเสมือนเครื่องประดับของคนมีความรู้ มันก็ไม่จำเป็นต้องวางมาดซับซ้อนให้น่ารำคาญ”

 

 

2.บอด (Ensaio sobre a Cegueira)

(แนะนำโดย วีรพงษ์ สุนทรฉัตราวัฒน์)

ผู้เขียน: José Saramago

ผู้แปล: กอบชลี

สำนักพิมพ์: Library House

วรรณกรรมที่ดีมักทำให้เราค้นพบชะตากรรมร่วมของมนุษย์ในกาละและเทศะที่แตกต่างกันไป การอ่านวรรณกรรมที่ถูกเขียนเมื่อ 25 ปีมาแล้ว กลับพ้องพานกับชะตากรรมของมนุษย์ในปี 2020 วรรณกรรมที่ถูกเขียนในสังคมยุโรปกลับจารึกความหมายที่เกิดกับมนุษย์ผู้สังกัดในประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ทหารเป็นใหญ่มา 6 ปีแล้ว

ผมกำลังพูดถึงนวนิยายชื่อ บอด เป็นนวนิยายที่ถูกเขียนขึ้นในภาษาโปรตุเกส เผยแพร่ครั้งแรกในปี 1995 เขียนโดย José Saramago และถูกแปลตรงจากโปรตุเกสเป็นภาษาไทยในปี 2019 บอดเล่าเรื่องในท่วงท่าแบบนวนิยายดิสโทเปีย รัฐล่มสลายเพราะไม่สามารถบริหารจัดการโรคระบาดที่เกิดแก่ประชากรในเมืองได้

การอ่านนวนิยายเล่มนี้ในช่วงของการระบาดของโควิด-19 จึงเป็นความพ้องพานบางประการระหว่างตัวละครในนวนิยายกับมนุษย์นอกโลกวรรณกรรม

ซารามากูฉลาด กวนตีน และมีรสนิยม เขาหยิบยืมเอาฉากของประวัติศาสตร์การเมือง เช่น การปฏิวัติฝรั่งเศส ประวัติศาสตร์ของศาสนาคริสต์ มาล้อมาเล่นเพื่อจัดวางที่ทางให้เรื่องเล่าในบอด ได้ทำงานกับผู้อ่าน

ผมอยากจะยกตัวอย่างความกวนตีนอย่างมีรสนิยมของซารามากู ผ่านการบรรยายฉากที่กระหวัดถึงภาพเขียนประวัติศาสตร์ของ แฟร์ดีน็อง วิกตอร์ เออแฌน เดอลาครัวซ์ (Ferdinand-Victor-Eugène Delacroix) ภาพนั้นชื่อ La Liberté Guidant le Peuple หรือ เสรีภาพนำพาประชาชน

ฉากนี้ นางเอกผู้มีดวงตามองเห็น (เพียงคนเดียวในเรื่อง) กำลังวิ่งฝ่าฝูงชนและความโกลาหล สองมือถือถุงพลาสติกสกปรกที่ยัดแน่นด้วยอาหารกระป๋อง อาภรณ์ท่อนบนถูกฉีกทึ้งจนเปลือยเห็นทรวงอก เธอเพิ่งวิ่งออกมาจากซูเปอร์มาร์เก็ตที่พินาศหลังจากเมืองล่มสลาย ฝนกำลังตกหนัก เมื่อมาถึงถนน เหนื่อยหอบ ขาสั่น อย่างนี้ดีแล้ว หล่อนคิด กลิ่นจะออกน้อยกว่า ใครบางคนฉวยคว้าผ้าขี้ริ้วผืนสุดท้ายซึ่งแทบจะไม่ปกคลุมท่อนบนของหล่อน ตอนนี้หน้าอกไม่มีอะไรคลุม เปล่งประกายบริสุทธิ์ เป็นคำกล่าวสละสลวย น้ำจากฟ้าไหลรด แต่นางเอกในนวนิยายเรื่องบอดต่างจากมารีอาน (Marianne) ตัวละครในภาพเขียนดังกล่าว หล่อนไม่ใช่เสรีภาพนำประชาชน โชคดีที่ของใส่เต็มถุง หนักเกินที่จะยกมันดังธง

นี่คืออารมณ์ขันที่นักประพันธ์ผู้นี้หยิบเอา เสรีภาพนำพาประชาชน มาเล่นล้อ เพื่อให้เกิดอารมณ์ขันสีดำ และหักโค่นอุดมคติที่ถูกส่งต่อมาจากอดีต ผมอ่านนวนิยายเล่มนี้ในช่วงเวลาเดียวกับการกล่าวสุนทรพจน์ของนายกรัฐมนตรี ในการแพร่ระบาด สุขภาพจะนำพาเสรีภาพ และแม้วันนี้ประเทศจะผ่อนปรนมาตรการ แต่เสรีภาพของประชาชนก็ยังสำคัญน้อยกว่าสุขภาพของกองทัพ.”

 

 

3.มือสมัครเล่น (Beginners)

(แนะนำโดย ณขวัญ ศรีอรุโณทัย)

ผู้เขียน: เรย์มอนด์ คาร์เวอร์

ผู้แปล: ภชภร ด่านวิรุฬหวณิช

สำนักพิมพ์: บทจร

รวม 17 เรื่องสั้นของ เรย์มอนด์ คาร์เวอร์ เล่มนี้เป็นต้นฉบับก่อนปรับแก้โดย Gordon Lish บรรณาธิการชื่อดัง

เมื่อคาร์เวอร์ได้อ่านต้นฉบับที่ผ่านการอีดิทอย่างหนักหน่วงโดยลิช เขาถึงกับขอร้องให้ระงับการจัดพิมพ์ (“…ที่ผมมีชื่อเสียงหรือเครดิตต่างๆ บนโลกใบนี้ได้ก็เพราะคุณ…แต่ถ้าผมยอมปล่อยให้ทั้งหมดนี้ดำเนินไป มันย่อมไม่ใช่เรื่องดีสำหรับผมอย่างแน่นอน”)

แน่นอนว่างานหนังสือนั้นก็ไม่ต่างอะไรกับอุตสาหกรรมที่ดำเนินไปตามสายพาน การลงแรงของบรรณาธิการย่อมไม่อาจถูกทำให้สูญเปล่า สินค้าจักต้องถูกวางขาย หนังสือถูกตีพิมพ์ในชื่อ What We Talk About When We Talk About Love เมื่อปี 1981

และถึงแม้ว่านี่จะ ‘ไม่ใช่เรื่องดีสำหรับนักเขียนคนหนึ่ง’ แต่เรื่องตลกร้ายก็คือ มันประสบความสำเร็จอย่างมาก และนำมาซึ่งชื่อเสียงเงินทองแก่ เรย์มอนด์ คาร์เวอร์

เขาย่อมชิงชังเหตุการณ์นี้ เพราะแม้จะไม่ยินยอมแต่ก็จำนนและได้รับประโยชน์จากมัน ทั้งไม่อาจย้อนกลับไปแก้ไขอะไรได้ ต้นฉบับที่เขามั่นใจกับมันมาก เรื่องสั้นที่เรียกได้ว่าเขียนจากชีวิต กลับถูกบิดผันโดยบรรณาธิการเช่นนั้น และโลกก็จดจำเขาด้วยหนังสือเล่มนั้น

21 ปีหลังเสียชีวิต ต้นฉบับที่คาร์เวอร์เขียนก็ได้รับการตีพิมพ์ ในแบบที่เขาอยากให้มันเป็น (จัดพิมพ์โดย เทส แกลาเกอร์ ภรรยาหม้ายของคาร์เวอร์ในปี 2009)

ความน่าสนใจก็คือ ผมได้อ่านมัน (แม้จะเป็นฉบับแปล) และได้รู้จักคาร์เวอร์แบบที่เขาเป็น คาร์เวอร์แบบที่เปิดเปลือยตัวตนออกมาอย่างเรียบง่าย มิใช่คาร์เวอร์ผู้ประสบความสำเร็จและโด่งดัง โดยผ่านมือบรรณาธิการ–เรียกได้ว่าเป็นนักอ่านในอุดมคติของคาร์เวอร์เชียวล่ะ

คงมีบางคืนที่คาร์เวอร์ถามคำถามซ้ำๆ ขึ้นต้นว่า What if… แต่เราต่างรู้ดี ว่าถึงมีอยู่จริงเราก็ไม่อาจรับรู้ถึงจักรวาลคู่ขนานที่เรื่องราวดำเนินไปในอีกรูปแบบหนึ่ง และผลลัพธ์ที่เราคาดเดาไปต่างๆ นานา ก็เป็นได้แค่ความเพ้อฝันอันทรมานใจ

เรื่องสั้นทั้ง 17 เรื่องนี้กระทำต่อผู้อ่านอย่างช้าช้า มันบอกเล่าเรื่องราวสามัญธรรมดาของคนตัวเล็กตัวน้อย คนหาเช้ากินค่ำ เรื่องสมหวังผิดหวัง เวทมนตร์ของเรื่องสั้นก็คือ ห้วงขณะแสนสั้นที่ตัวหนังสือเลือกเก็บห้วงนั้นๆ ไว้ มันมีจุดเปลี่ยนผันบางอย่าง ที่ทำให้เราทำสิ่งที่เราทำ หรือไม่ทำสิ่งที่เราควรจะทำ

เรื่องสั้นแต่ละเรื่องนั้นคาร์เวอร์โหมเราแบบเศร้าๆ ซึมๆ ชีวิตเป็นรูพรุน หากจิตใจคนคือวิหาร ก็เป็นวิหารที่หลังคารั่ว แถมพายุก็มาวันเว้นวัน…

หลายปีมานี้ความสนใจของผมเปลี่ยนจาก fiction สู่ non-fiction และสังคมก็ต่างกระหายข้อมูล ข้อเท็จจริง หรือหลักฐานประดามีเพื่อก่อร่างสร้างความเข้าใจใหม่ๆ ให้แก่เรื่องเก่าๆ (ลองหันไปดูหนังสือประวัติศาสตร์ใหม่ๆ ที่เพิ่งจัดพิมพ์ในรอบสี่ห้าปีนี้สิ)

แล้วเราจะอ่านวรรณกรรมไปทำไม คุณอาจสงสัย

ผมก็สงสัย จนกระทั่งได้อ่าน เรื่องธรรมดาๆ ที่เราก็เห็นอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน หรือรู้ๆ กันอยู่ ในเรื่องเล่าของคาร์เวอร์

สิ่งที่วลีและประโยคที่เรียงร้อยนั้นมอบให้ คือความรู้สึกระหว่างบรรทัด และกลิ่นของอากาศในนั้น

นานๆ ทีเราควรสูดกลิ่นของความเคยชินบ้าง (ย้ำว่า นานๆ ทีก็พอนะ) และการอ่านเรื่องสั้นครั้งละเรื่อง สามสี่วันครั้ง ในช่วงสั้นๆ ระหว่างการเดินทาง (ของการจราจรในกรุงเทพ) ก็ช่วยให้เราได้กลิ่นอากาศและเชื่อมต่อกับชีวิตได้

ชีวิตที่บกพร่องบ้าง ไม่น่ารักบ้าง เจอเรื่องเศร้าบ้าง และรู้สึกดีขึ้นนิดหน่อยเมื่อเวลาผ่านไปบ้าง

คาร์เวอร์สื่อสารชีวิตเสี้ยวเล็กๆ เหล่านั้นออกมาอย่างเรียบง่าย และในขณะเดียวกันมันก็ช่างกลมกลืนแนบชิดกับเราเอามากๆ

คุณอาจแย้งอีกสักประโยค เรื่องจริงเศร้ากว่าอีกนะ

ผมไม่เถียงหรอก แต่เราอ่านวรรณกรรมไม่ใช่เพียงเพราะต้องการรู้สึกอะไรบางอย่าง บางทีเราก็อ่านเพราะเรารู้สึกอยู่แล้วต่่างหาก โลกทุกวันนี้เต็มไปด้วยสรรพเสียงที่กระตุ้นเร้าทุกประสาทสัมผัสจนความชาชินคือการปรับตัวให้อยู่รอด และถ้าหากคุณต้องการสีสันฉูดฉาด ‘ที่ควบคุมได้’ ซีรีส์ดีๆ สักเรื่องย่อมดูดซึมเข้ากระแสเลือดได้ง่ายกว่าหนังสือเล่มโต

หรือถ้าหากต้องการคมความคิด หนังสือ non-fiction ตรงไปตรงมาอีกหลายเล่มก็อ่านสนุกและให้ปัญญาแก่เราได้มากกว่า

ถ้าปีหนึ่งๆ คุณมีที่ทางให้  fiction ไม่มากเท่าไหร่นัก ผมอยากแนะนำกลิ่นของอากาศให้คุณสูดดม”

 

นิวัต พุทธประสาท

สำนักพิมพ์เม่นวรรณกรรม

 

เล่มที่แนะนำ :

 

 

1.ลิงหิน และเรื่องสั้นอื่นๆ

ผู้เขียน: ภาณุ ตรัยเวช

สำนักพิมพ์: มติชน

“รวมเรื่องสั้นของภาณุเล่มนี้ลงตัวในทุกด้าน ด้วยฝีมือที่น่าทึ่งไม่น้อย รอยต่อระหว่างเรื่องราวมหัศจรรย์ในอดีต ความลึกลับในแบบความเชื่อ วิญญาณ นิทานปรัมปรา การย้อนอดีต รวมถึงใช้บุคคลจริงๆ ที่มีชีวิตอยู่มาเล่นกับเนื้อเรื่อง ที่มากไปกว่านั้นเขาเขียนฉากอีโรติกได้ดีมากๆ แม้จะไม่มาก แต่ทำได้ถึง”

 

 

2.ซิมโฟนียังบรรเลง

ผู้เขียน: สันติสุข กาญจนประกร

สำนักพิมพ์: flavorful

“นิยายเล่มแรก หนังสือเล่มแรกของนักเขียนหนุ่ม กับนิยายแนวกระแสสำนึกที่เล่าเรื่องผ่านฉากหลังทางการเมือง นี่คือส่วนหนึ่งของการหล่อหลอมทางความคิดผ่านสังคมที่ถูกบีบรัด และถูกกระทำผ่านเหตุการณ์ต่างๆ”

 

 

3.มายานวัตกรรม (The Myths of Innovation)

ผู้เขียน: Scott Berkun

ผู้แปล: สฤณี อาชวานันทกุล

สำนักพิมพ์: Salt

“คนส่วนใหญ่มักมีความเชื่อบางอย่างโดยเฉพาะเรื่องราวของนวัตกรรมใหม่ๆ ที่ถูกคิดค้นขึ้นมา ไม่เฉพาะว่าในปัจจุบัน แต่รวมถึงอดีตด้วย ผู้คนส่วนใหญ่คิดว่านักสร้างนวัตกรรมนั้นคิดค้นสิ่งต่างๆ ด้วยตัวคนเดียว ขณะที่นั่งสบายๆ อยู่ในออฟฟิศ หนังสือเล่มนี้ส่วนใหญ่จะอธิบายถึงเบื้องหลังแนวความคิดที่เกิดขึ้น เพื่อทำให้ผู้คนมองโลกที่ต่างออกไปจากเดิม โดยพยายามขจัดความเชื่อที่มีอยู่ หนังสือเล่าสนุก ไม่วิชาการมาก และมีไอเดียใหม่ๆ ตลอดเวลา”

 

ธนาคาร จันทิมา

สำนักพิมพ์ไจไจบุ๊คส์

 

เล่มที่แนะนำ :

 

 

1.เศรษฐกิจสามสี – เศรษฐกิจแห่งอนาคต

ผู้เขียน : วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร

สำนักพิมพ์: Bookscape

“เล่าเศรษฐกิจและการเมืองโลกแบบเชื่อมโยงอย่างออกรส ร้อยเรียงเรื่องยากและซับซ้อนได้เป็นระบบ อนาคตกลายเป็นเรื่องเร้าใจ และใกล้ตัวกว่าที่คิด”

 

 

2.กระทรวงสุขสุดๆ (The Ministry of Utmost Happiness)

ผู้เขียน: Arundhati Roy

ผู้แปล: สดใส

สำนักพิมพ์: มติชน

“ชื่อหนังสือชวนให้คิดว่าเนื้อหาสมองหวาน แต่เขียนโดย Arundhati Roy มั่นใจได้เลยว่าเข้มข้นทุกบรรทัด จัดจ้านทุกตัวละคร การพรรณนาชะตากรรมโศกตรมของมนุษย์ด้วยภาษางดงาม ช่วยให้คนอ่านมีภูมิคุ้มกันต่อความเป็นจริงของชีวิต”

 

 

3.ผมเรียกเขาว่าเน็กไท (I Call Him Necktie)

ผู้เขียน: Milena Michiko Flašar

ผู้แปล: สิริยากร พุกกะเวส มาร์ควอร์ท

สำนักพิมพ์: Merry-Go-Round

“ชะตากรรมของตัวละครตกงานและวัยรุ่นผู้โดดเดี่ยว เหมือนได้ยินเสียงจุดระเบิดของความสิ้นหวังในชีวิตท่ามกลางสวนเงียบสงบ ไม่แนะนำสำหรับผู้มองหาความรื่นรมย์”

 

รัฐวรรณ พัฒนรัชตอดุล

สำนักพิมพ์เครืออมรินทร์

 

เล่มที่แนะนำ :

 

 

1.คินสึงิ ความงามของบาดแผลแห่งชีวิต (KINTSUGI)

ผู้เขียน: Tomas Navarro

ผู้แปล: วุฒิชัย กฤษณะประกรกิจ

สำนักพิมพ์: Move

“สาเหตุที่ชอบหนังสือเล่มนี้เพราะเป็นหนังสือที่เหมาะกับคนยุคนี้ เพราะไม่มีใครไม่เคยผ่านความผิดหวัง หรือไม่เคยมีใครที่ไม่มีบาดแผลในชีวิต ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไรก็ตาม บ้างก็ถูกคนรักทอดทิ้ง บ้างก็บาดเจ็บจากการออกกำลังกายจนทำให้ตนไม่ได้ทำในสิ่งที่ชอบ บ้างก็มีบาดแผลมาจากอดีตกาล หนังสือเล่มนี้ ตอนที่เราอ่านเรารู้สึกว่าเหมือนเราได้คุยกับจิตแพทย์อยู่เลย เหมือนเขาตอบทุกอย่างโดยที่เราผู้ซึ่งเป็นคนไข้ไม่ต้องเอ่ยปากถามคำถามใดๆ ตอนที่ตัดสินใจซื้อหนังสือเล่มนี้เราไม่รู้เลยว่าผู้เขียนเป็นจิตแพทย์ เราตัดสินใจซื้อมันเพียงเพราะคำโปรยของหน้าปกที่เชื้อเชิญให้เราต้องควักสตางค์เพื่อแลกกับการพาหนังสือเล่มนี้กลับบ้าน

มนุษย์เราต้องเป็นคนทำแผลให้ตัวเอง ต้องล้างเลือดออกเอง ต้องฆ่าเชื้อเอง และดูแลแผลของตัวเอง จนกว่าจะหาย หรือยากหน่อยก็เป็นแผลเป็น แต่เพราะแผลเป็นนั่นแหละ ที่ทำให้ชีวิตของเราสวยงามและไปต่อได้อย่างสง่า ด้วยการเรียนรู้จากความเจ็บปวดที่เกิดขึ้น เหมือนที่นักจิตวิทยาคนนี้บอกไว้ในหนังสือว่า มันอยู่ที่ตัวเราเอง ว่าจะ “ซ่อมแซม” หรือจะแค่ “ปุปะ”

ชอบทุกบทในหนังสือเล่มนี้ แต่หนึ่งในส่วนที่ชอบที่สุดก็น่าจะเป็นช่วงที่ผู้เขียนพูดถึงเรื่องความเศร้า ผู้เขียนบอกว่า ความเศร้า (ที่ไม่ใช่โรคซึมเศร้า) เป็นส่วนหนึ่งของอารมณ์ขั้นพื้นฐานที่ช่วยให้เรามีชีวิตรอด ความเศร้าและการแสดงขั้นสุดยอดมันคือ น้ำตา มันจะทำหน้าที่ในการปรับตัวให้เรา ความเศร้าเปิดให้เราฟื้นฟูตัวเองและกลับมาจดจ่อกับตัวเองเพื่อคิดใคร่ครวญ เช่นเดียวกัน น้ำตายิ่งมีหน้าที่สำคัญเป็นสองเท่า ในทางหนึ่งคือช่วยให้เราปลดปล่อยความตึงเครียดทางอารมณ์ที่สะสมอยู่ในระบบประสาท และช่วยลดความอ่อนล้าทางอารมณ์ลง และอีกทางหนึ่ง คือช่วยสื่อสารไปถึงคนใกล้ชิดเพื่อบอกว่าเราต้องการความช่วยเหลือ

ซึ่งมันก็จริงจนไม่รู้ว่าจะต้องยืนยันอีกสักกี่ครั้งว่า น้ำตานั้นเป็นสิ่งที่ช่วยให้เราได้ฟื้นฟูตัวเองหลังจากที่เกิดบาดแผลจริงๆ นั่นละ จริงๆ แล้วบาดแผลมันสวยงามทีเดียวนะ”

 

 

2.เกร็ดความคิดบนก้าววิ่ง (What I Talk About When I Talk About Running)

ผู้เขียน: ฮารูกิ มูราคามิ

ผู้แปล: นพดล เวชสวัสดิ์

สำนักพิมพ์: กำมะหยี่

“เป็นหนังสือของมูราคามิที่เราอ่านแล้วเข้าใจเขามากที่สุด มันอาจจะเอื่อยๆ ค่อยๆ เล่าเรียงไปเรื่อยๆ แต่ในทุกๆ ก้าวที่เขาวิ่ง ทุกๆ สิ่งที่เขาเขียน มันไม่ใช่หนังสือที่จะบอกว่า “เฮ้! ออกไปวิ่งสิ วิ่ง” แต่มันคือหนังสือที่บอกกับเราว่า “เฮ้! คุณมีแค่ไหน ก็ใช้แค่นั้น” เพราะเมื่อเราอายุมากขึ้น ในวัยที่ผ่านมาแล้วครึ่งชีวิต เราจะเรียนรู้ว่าจริงๆ แล้วชีวิตไม่ได้ต้องการความซับซ้อน แค่ใช้อีกครึ่งชีวิตไปกับสิ่งที่เหลืออยู่ พละกำลังที่เหลืออยู่ อย่าไปก๋ากั่นมากนักเท่านั้นเอง เป็นเล่มที่ไม่หวือหวา แต่ทำให้เรามีจังหวะในการวิ่งที่เหมาะสมกับช่วงวัยของเรา เหมาะสมกับกำลังวังชาของเรา ณ ปัจจุบัน”

 

 

3.หิมาลัยไม่มีจริง

ผู้เขียน: นิ้วกลม

สำนักพิมพ์: KOOB

“เป็นหนังสือบันทึกการเดินทางที่ดีที่สุดในปี 2019 (สำหรับเรา) มันอาจจะไม่ใช่บันทึกการเดินทางแบบที่เคยอ่านๆ มา มันเป็นบันทึกการเดินทางของนิ้วกลมที่ต่างไปจากสมัยก่อนที่เราเคยอ่านงานเขามาตลอด แม้จะไม่เหมือนเดิม แต่เราอ่านได้แบบเพลิดเพลินไม่ต่างจากการอ่านโตเกียวไม่มีขา เนปาลประมาณสะดือ และอื่นๆ ต่างกันที่ระหว่างอ่าน เราดันได้ค่อยๆ สำรวจตัวเอง สำรวจสรรพสิ่งต่างๆ ที่เกิดทั้งกับตัวเอง และกับสิ่งรอบตัว

เราเคยคุยกับคุณลุงคนหนึ่งผู้เป็นบรรณาธิการและนักเขียนในวัยเกษียณเกี่ยวกับหนังสือนี้ เพราะเราต่างมีมันคนละหนึ่งเล่ม และพบว่าคุณลุงยังไม่ได้หยิบหนังสือเล่มนี้ขึ้นมาอ่าน ด้วยเพราะยังมีอีกหลายๆ เล่มที่เข้าคิว เราจึงแนะนำคุณลุงไปว่า “ระหว่างที่อ่าน การปิดมือถือ และหาที่ที่บรรยากาศรอบตัวเงียบสงบ คือสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมกับหนังสือเล่มนี้” หลังจากนั้นเราก็ถกกันเล็กๆ เรื่องการเดินทางเพื่อค้นหาอะไรบางอย่าง ที่เราว่าจริงๆ แล้วก่อนออกเดินทางไปไหน เราควรเดินทางในใจเราให้ได้เสียก่อน

เพราะทุกสรรพสิ่งมันอยู่ที่ใจ ใจล้วนๆ”

 

สุลักษณ์ วิศวปัทมวรรณ

สำนักพิมพ์ลายเส้น

เล่มที่แนะนำ :

 

 

1.ศาสนา: ประวัติศาสตร์ศรัทธาแห่งมวลมนุษย์ (A Little History of Religion)

ผู้เขียน: Richard Holloway

ผู้แปล: สุนันทา วรรณสินธ์ เบล

สำนักพิมพ์: Bookscape

“สนใจในความครอบคลุมของเนื้อหาและการนำมาเปรียบเทียบได้ครอบคลุม ปกดูสมัยใหม่ดี”

 

 

2.Sasi’s Sketch Book Taiwan Diary Taipei

ผู้เขียน: ศศิ วีระเศรษฐกุล

สำนักพิมพ์: Fullstop

“การเล่าเรื่องสถานที่ผ่านภาพวาดจะมีความสนุกตรงการได้ค้นหา สิ่งที่ศศิมองเห็นแต่เราอาจจะตาบอด มองไม่เห็นหรือเห็นต่างออกไป ได้เห็นอีกมุมมอง”

 

 

3.หนังสือชุด Sapiens (เซเปียนส์, โฮโมดีอุส, 21 บทเรียน สำหรับศตวรรษที่ 21)

ผู้เขียน: Yuval Noah Harari

ผู้แปล: ดร.นำชัย ชีววิวรรธน์, ธิดา จงนิรามัยสถิต

สำนักพิมพ์: ยิปซี

“ค่อนข้างจะเป็น default ที่ต้องอ่าน เหมือนสารานุกรมฉบับย่อ สาระในเล่มเอาไปต่อยอดความคิดหรือใช้ตั้งคำถามต่อได้ เนื้อหาส่วนพุทธศาสนาย่อมาได้ใจความและเข้าที่เข้าทาง”

 

สำนักพิมพ์ a book

 

เล่มที่แนะนำ :

 

 

1.Common Sense (สามัญสำนึก)

ผู้เขียน: โธมัส เพน

ผู้แปล: ภัควดี วีระภาสพงษ์

สำนักพิมพ์: Bookscape

“หนังสือเล่มนี้ชวนตั้งคำถามว่าการยืนกรานว่ารักษาจารีตประเพณีทั้งหลายที่มีมาก่อนแล้วเพียงเพราะว่าเป็นสิ่งยึดถือปฏิบัติมายาวนานนั้นถูกต้องหรือไม่ คนรุ่นใหม่อาจจะมีสิทธิบอกได้ว่าเขาไม่ได้ต้องการสิ่งที่บรรพบุรุษเลือกมาให้ พวกเขาอาจต้องการเลือกแบบแผนการดำรงชีวิตใหม่ ชีวิตที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานความเสมอภาคหรือได้รับสิทธิพื้นฐานทัดเทียมกัน”

 

 

2.มีในเมษายน ซอลในกรกฎาคม

ผู้เขียน: คิมย็อนซู และคนอื่นๆ

ผู้แปล: อิสริยา พาที

สำนักพิมพ์: ไจไจบุ๊คส์

“นี่คือหนังสือรวมเรื่องสั้นที่บอกเล่าความเป็นมนุษย์ได้อย่างลึกซึ้ง และสอดแทรกประเด็นทางสังคมได้อย่างชาญฉลาด

บ้างคมคาย บ้างแสบสัน บ้างเด่นชัด บ้างเลือนลาง แต่ทั้งหมดล้วนประทับอยู่ในใจเมื่ออ่านจบ ดั่งเสียงโน้ตดนตรีที่สลัดออกไม่ได้ เล่นวนในวันฝนพรำของเดือนกรกฎาคม”

 

 

3.When is a nation? (เมื่อใดจึงเป็นชาติ)

ผู้เขียน: รวมนักเขียน

สำนักพิมพ์: Illuminations Edition

“อธิบายอย่างย่นย่อ ‘When is a nation’ คือหนังสือที่รวบรวมแนวความคิดต่อชาติและชาตินิยมของนักมนุษยศาสตร์คนสำคัญหลายคนเอาไว้ ความสวยงามอย่างหนึ่งของงานเขียนเหล่านี้คือความคิดอันขัดแย้ง ที่นักคิดคนหนึ่งอาจคิดแตกต่างกับอีกคน เฉกเช่นเดียวกับการมอบหมุดหมายแก่ ‘ชาติ’

ในวันที่ใครต่อใครพยายามผูกขาดความเป็นชาติเอาไว้ คำถามที่สำคัญปรากฏขึ้นมากมาย หนึ่งในนั้นย่อมเป็น ‘ชาติคืออะไร’ อีกหนึ่งที่สำคัญมิด้อยกว่าคือ ‘เมื่อใดจึงจะเป็นชาติ’ เราควรตั้งคำถามแก่ตัวเองว่า เวลาที่ชาติจะปรากฏในห้วงสำนึกของคน (ในดินแดนหนึ่ง ) ทั้งปวงคือเวลาไหน ทั้งชวนคิดต่อไปอีกว่า ที่สุดแล้วเราจำเป็นต้องสำนึกในความเป็นชาติไหม หากสิ่งนั้นไม่มีผลอะไรต่อปากท้องของเรา หรือจำต้องบูชาไว้ในฐานสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เพียงเพราะมันคือดินแดนที่เราดันเผลอมาเกิดและเดินเหยียบลงไป”

 

ประธาน ธีระธาดา

นิตยสาร Art4D

 

เล่มที่แนะนำ :

 

 

1.สวนสัตว์กระดาษ และเรื่องสั้นอื่นๆ (THE PAPER MENAGERIE AND OTHER STORIES)

ผู้เขียน: เคน หลิว

ผู้แปล: ลมตะวัน

สำนักพิมพ์: Salt

“ปกติเวลาพูดถึงนิยายจีน เรามักจะนึกถึงนักเขียนรุ่นใหญ่ อย่าง กิมย้ง หรือ โกวเล้ง

ถ้ารุ่นใหม่ที่กำลังมาแรงเห็นจะไม่พ้น มาว นี่ ส่วนเล่มนี้เป็นงานรวมเรื่องสั้นแนวไซไฟของนักเขียนเจนใหม่ของจีนที่กำลังพุ่งแรง หลิว เคน แต่ละเรื่องล้วนมีเสน่ห์ชวนติดตาม กระตุ้นต่อมจินตนาการให้ไปต่อได้อีก แถมมีหักมุม ย่ำยีหัวใจคนอ่านอย่างไม่ปรานี”

 

 

2.Sasi’s Sketch Book Taiwan Diary Taipei

ผู้เขียน: ศศิ วีระเศรษฐกุล

สำนักพิมพ์: Fullstop

“ชื่นชอบสำนักพิมพ์ FULLSTOP เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ยิ่งเป็นงานของศศิ วีระเศรษฐกุล ยิ่งต้องเก็บ ทั้งลายเส้น สีสันอ่อนโยน เรื่องเล่าอารมณ์เตร็ดเตร่ เสียงบรรยากาศแวดล้อมและคนกับกลิ่นหอมโชยมาเต็มๆ หนังสือบางเล่มมีเอาไว้สำหรับค่อยๆ ละเลียดอรรถรส บางเล่มมีไว้ลูบคลำ ส่วนเล่มนี้มีทั้งสองฟังก์ชันครับ”

 

 

3.มือสังหารบอด (The Blind Assassin)

ผู้เขียน: มาร์กาเร็ต แอ็ตวูด

ผู้แปล: นันทพร ปีเลย์ โพธารามิก

สำนักพิมพ์: Library House

“เมื่อวางหนังสือหนาๆ สองเล่มเทียบกันระหว่าง ‘สังหารจอมทัพอัศวิน’ (Killing Commendatore) ของ มูราคามิ กับ ‘มือสังหารบอด’ (The Blind Assassin) ของ มาร์กาเร็ด แอ็ตวูด ความน่าเกรงขามของรังสีพิฆาตพอๆ กันทั้งสองเล่ม ในที่สุดผมเลือกอ่านมือสังหารบอดก่อน เพราะว่าชอบงานดีไซน์ปกผลงานการออกแบบของสำนัก Wrongdesign ปกมีพลังดึงดูดมากเลยแอบให้ใจกับเล่มนี้เป็นพิเศษ แต่ความที่ไม่ค่อยมีความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของประเทศแคนาดาซึ่งเป็นฉากหลังของเรื่องนี้เอาเสียเลย ทำให้การอ่านไปข้างหน้าเป็นไปอย่างเชื่องช้า และในความช้านี้ทำให้เราค่อยๆ คุ้นเคยกับวิธีการเขียนนิยายแบบโพสโมเดิร์นที่ต้องตั้งใจมากกว่าเดิมขึ้นไปอีก สรุปว่าดีใจที่ได้ครอบครองหนังสือเล่มนี้ครับ”

 

ธนาพล อิ๋วสกุล

สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน

 

เล่มที่แนะนำ :

 

 

1.ตามรอยอาทิตย์อุทัย: แผนสร้างชาติไทยสมัยคณะราษฎร

ผู้เขียน: ณัฐพล ใจจริง

สำนักพิมพ์: ศิลปวัฒนธรรม

“นี่คือความพยามของรัฐบาลคณะราษฎรที่จะสร้างชาติไทยใหม่ ที่แตกต่างจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิ์เดิม โดยเดินตามญี่ปุ่นในฐานะความหวังใหม่ของเอเซีย”

 

2.บันทึกการต่อสู้ครั้งสุดท้ายของ ดา ตอร์ปิโด

ผู้เขียน: ดารณี ชาญเชิงศิลปกุล

สำนักพิมพ์: ในนามของความสงบเรียบร้อย

“แรงใจและความใฝ่ฝันของของสามัญชนที่กล้าบอกกับชนชั้นนำฝ่ายอำมาตย์ว่า “กูไม่กลัวมึง””

 

 

3.เศรษฐกิจสามสี – เศรษฐกิจแห่งอนาคต

ผู้เขียน: วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร

สำนักพิมพ์: Bookscape

“ไม่ใช่แค่แนวคิดทางเศรษฐศาสตร์เท่านั้น แต่คือเรื่องของการเมืองของการกำหนดนโยบายด้วย”

 

ปฏิกาล ภาคกาย

สำนักพิมพ์แซลมอน

 

เล่มที่แนะนำ :

 

 

1.สวนสัตว์กระดาษ และเรื่องสั้นอื่นๆ (THE PAPER MENAGERIE AND OTHER STORIES)

ผู้เขียน : เคน หลิว

ผู้แปล : ลมตะวัน

สำนักพิมพ์: Salt

“ไม่บ่อยครั้งนักที่จะได้อ่านงานจากนักเขียนชาวจีนที่หยิบเอาความเป็นจีนมาเล่าในบริบทอื่นๆ ซึ่งในที่นี้ หมายถึงการนำวัฒนธรรม เรื่องเล่า และตำนานแบบจีนๆ มาเล่าใหม่ในรูปแบบของไซไฟ ซึ่งชวนติดตามไม่ต่างจากการชมซีรีส์ดีๆ สักเรื่อง”

 

 

2.ตาสว่าง

ผู้เขียน: Claudio Sopranzetti, Sara Fabbri, Chiara Natalucci

ผู้แปล: นันธวรรณ์ ชาญประเสริฐ

ภาพปกและภาพประกอบ: Sara Fabbri

สำนักพิมพ์: อ่านอิตาลี

“กราฟิกโนเวลจากนักมานุษยวิทยาชาวอิตาลีที่ลงมาเก็บข้อมูลในพื้นที่ถึงประเทศไทย แม้ลายเส้นและวิธีการจะไม่ใช่กราฟิกโนเวล หรือนิยายภาพในแบบที่คุ้นชิน แต่ด้วยข้อมูลที่ถูกกลั่นกรองเอาจากบริบทที่ชิดใกล้ การเปิดอ่านแต่ละหน้าจึงเหมือนได้ทบทวนประวัติศาสตร์ที่เป็นมาไปในตัว”

 

 

3.การศึกษาของกระป๋องมีฝัน

ผู้เขียน : สะอาด

สำนักพิมพ์ : ด้วงคอมิกส์

“เรื่องเล่าในรั้วโรงเรียนของ สะอาด นักวาดการ์ตูนชาวไทยที่น่าจับตามองที่สุดในช่วงเวลานี้ ด้วยลีลาการเล่าเรื่องที่มีครบทุกรส ทำให้การถ่ายทอดประสบการณ์ส่วนตัวของผู้เขียนพาผู้อ่านระลึกถึงประสบการณ์ของตัวเองไปในตัว แถมยังทำให้เราต้องฉุกคิดถึงสิ่งที่เรียกว่าระบบการศึกษาของประเทศไทยได้ไม่มากก็น้อย”

 

ดวงฤทัย เอสะนาชาตัง

ร้านหนังสือก็องดิด, สำนักพิมพ์ระหว่างบรรทัด

 

เล่มที่แนะนำ :

 

 

1.เสรีนิยมยืนขึ้น

ผู้เขียน: ปราบดา หยุ่น

สำนักพิมพ์: ไต้ฝุ่น

“ในช่วงเวลาแบบนี้ สังคมต้องการหนังสือแบบนี้ อธิบายตั้งแต่เสรีนิยมคืออะไร ความเป็นมา เสรีนิยมในต่างประเทศต่างกับเสรีนิยมแบบไทยอย่างไร และที่สำคัญอะไรที่ขัดขวางไม่ให้เสรีนิยมเกิดขึ้นในไทย ที่สำคัญอีกอย่างคือไม่ค่อยเห็นความเรียงเชิงเสนอแนวความคิดของลัทธิใดลัทธินึงจากนักเขียนไทยมากนัก”

 

 

2.ตาสว่าง

ผู้เขียน: Claudio Sopranzetti, Sara Fabbri, Chiara Natalucci

ผู้แปล: นันธวรรณ์ ชาญประเสริฐ

ภาพปกและภาพประกอบ: Sara Fabbri

สำนักพิมพ์: อ่านอิตาลี

“กราฟิกโนเวล จากงานวิจัยระดับปริญญาเอก โดยใช้กระบวนการทางมานุษยวิทยา เป็นหนังสือภาพที่เรียกแบบไทยๆ ได้ว่า “การ์ตูน” แต่สะเทือนอารมณ์มาก เขียนขึ้นจากเรื่องจริง กราฟิกโนเวลเล่มนี้เหมาะสำหรับคนที่สนใจการเมือง โดยเฉพาะมุมมองทางการเมืองจากคนที่เราเรียกว่า “รากหญ้า” ซึ่งมีส่วนร่วมทางการเมืองสูงมาก”

 

 

3.สังหารจอมทัพอัศวิน (Killing Commendatore)

ผู้เขียน: ฮารูกิ มูราคามิ

ผู้แปล: พรพิรุณ กิจสมเจตน์

สำนักพิมพ์: กำมะหยี่

“เป็นนวนิยายที่สุขุมและลดทอนส่วนที่เคยใส่ความมหัศจรรย์ไว้เยอะๆ ในนวนิยายเรื่องแรกๆ ของมูราคามิ มาคราวนี้เขาลดทอนลงเกือบหมด ประเด็นเดิมๆ ยังอยู่ครบ การค้นหาตัวตน การเยียวยาตัวเอง มูราคามิพูดกี่ครั้งก็น่าสนใจทุกครั้ง และพูดด้วยความสุขุมขึ้นมาก”

 

สุวัฒน์ อัศวไชยชาญ

นิตยสารสารคดี

เล่มที่แนะนำ :

 

 

1.ปืน เชื้อโรค เหล็กกล้า กับชะตากรรมของสังคมมนุษย์ (GUN, GERMS, AND STEEL : The Fates of Human Societies)

ผู้เขียน: จาเร็ด ไดมอนด์

ผู้แปล: อรวรรณ คูหเจริญ นาวายุทธ

สำนักพิมพ์: ยิปซี

“จัดพิมพ์ใหม่ เหมาะกับยุคโควิด ที่เชื้อโรคกลับมาท้าทายสังคมโลกซึ่งเต็มไปด้วยความเหลื่อมล้ำทุกระดับ สำรวจปัจจัยแวดล้อมต่างๆ ว่าเป็นมาอย่างไร ลบล้างความเชื่อผิดๆ ว่ามีมนุษย์บางชาติหรือบางผิวสีฉลาดล้ำกว่ามนุษย์ผิวสีอื่นชาติอื่น”

 

 

2.การศึกษาของกระป๋องมีฝัน

ผู้เขียน: สะอาด

สำนักพิมพ์: ด้วงคอมิกส์

“ไม่ใช่แค่ความทรงจำเจ็บปวดร่วมของเด็กทุกคนที่ต้องผ่านระบบการศึกษาที่พยายามอัดเด็กทุกคนให้เป็นกระป๋อง แต่เรื่องนี้ยังให้ความหวัง และพาเราไปค้นพบความหมายแท้จริงของการเรียนรู้ด้วย”

 

 

3.I Eat You Up Inside My Head รับประทานสารตกค้างในกลีบดอกปอกเปิก

ผู้เขียน: Mind Da Hed

สำนักพิมพ์: P.S.

“อ่านจบแล้วรู้สึกเหมือนกำลังยืนเหยียบกรอบประตูเปล่าๆ ของความรักที่ลอยเคว้งคว้างบนอากาศเวิ้งว้าง มือจับลูกบิดดอกไม้คาอยู่ ครุ่นคิดว่าจะเปิดหรือปิดบานประตูล่องหนนั้นดีไหม”

 

ณัฐกร วุฒิชัยพรกุล

สำนักพิมพ์ Words Wonder

 

เล่มที่แนะนำ :

 

 

1.สามเกลอ พล นิกร กิมหงวน (ฉบับพิมพ์ใหม่)

ผู้เขียน: ป.อินทรปาลิต

สำนักพิมพ์: แสงดาว

“ผมชอบอ่าน พล นิกร กิมหงวน มาก นอกจากตลก ได้ความบันเทิงแล้ว ยังได้รับรู้ประวัติศาสตร์ บ้านเมืองของเราในสมัยก่อนว่าเป็นอย่างไร สนพ.แสงดาว เอามาจัดพิมพ์ใหม่ในรูปเล่มที่สวยงาม และยังเรียงลำดับตอนมาให้ รวมถึงรูปเล่มที่สวยงาม น่าอ่านมากๆ นี่คือหนึ่งนิยายชุดที่ยอดเยี่ยมที่สุดของไทย ใครว่าหนังสือดีต้องอ่านยาก เรื่องนี้บันเทิงและอ่านง่ายมากๆ ครับ กาลเวลาไม่ได้ทำให้ความสนุกและคุณค่าของหนังสือชุดนี้ลดลงเลย”

 

 

2.เลือดชั่ว: เรื่องลับและคำลวงเบื้องหลังบริษัทดาวรุ่งแห่งซิลิคอนแวลลีย์  (Bad Blood)

ผู้เขียน: John Carreyrou

ผู้แปล: สฤณี อาชวานันทกุล

สำนักพิมพ์: Salt

“ผมติดตามข่าวของ เอลิซาเบท โฮมส์ และบริษัทเทราโนส มานานพอสมควร ตอนที่บริษัทกำลังรุ่ง มีบางคนถึงกับบอกว่าเธอคือสตีฟ จอบส์ คนต่อไป แต่มาถึงจุดนี้ คนส่วนมากรับรู้ว่าบริษัทและเทคโนโลยีที่ทำให้เธอมีชื่อเสียงนั้นเป็นเรื่องหลอกลวง ผมอ่านเล่มนี้เพราะอยากรู้ว่ามันเกิดขึ้นได้อย่างไรที่ผู้หญิงคนหนึ่ง สามารถหลอกลวงนักลงทุนมากมายให้มาร่วมกับเธอได้ ระดมทุนจนได้เงินมหาศาล อ่านให้แล้วให้ความรู้สึกเหมือนกับว่ากำลังดูเรือใหญ่ลำหนึ่งที่มีรูรั่วมากมาย ที่เรารู้อยู่แล้วว่าจะต้องล่ม แต่การอ่านที่จะพาเราไปถึงตรงนั้นมันน่าตื่นเต้น และบันเทิงมาก ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าผมเป็นคนแบบไหนที่บันเทิงกับเรื่องนี้ แต่บันเทิงก็คือบันเทิง ปฎิเสธความจริงไม่ได้ครับ”

 

 

3.นอนเปลี่ยนชีวิต (Why We Sleep)

ผู้เขียน: Matthew Walker

ผู้แปล: ลลิตา ผลผลา

สำนักพิมพ์: Bookscape

“หนังสือเล่มนี้พูดถึงสิ่งสำคัญในชีวิตที่หลายคนอ่านมองข้าม นั่นคือการนอน ผมเป็นคนนอนดึก และบางครั้งก็นอนไม่หลับและตื่นกลางดึก ทำให้ผมสนใจเล่มนี้เป็นพิเศษ เล่มนี้สอนให้รู้ว่าการนอนให้พอนั้นสำคัญเพียงใด ทำให้ชีวิตคุณดีขึ้นเช่นไร

มีหนังสือมากมายในท้องตลาดที่สัญญาว่าชีวิตคุณจะเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้นถ้าอ่านมัน ส่วนมากเป็นการพูดเกินจริง แต่เล่มนี้แตกต่างออกไป คุณไม่เพียงจะมีชีวิตดีขึ้น คุณจะอยู่บนโลกนี้ได้ยาวขึ้นด้วย หนังสือที่ต่อชีวิตคุณให้ยาวขึ้นได้ คุณจะไม่อ่านมันจริงๆ หรือครับ?”

 

ศิริวร แก้วกาญจน์

สำนักพิมพ์ผจญภัย

 

เล่มที่แนะนำ :

 

 

1.บีเลิฟด์ (BELOEVD)

ผู้เขียน: โทนี่ มอริสัน

ผู้แปล: รังสิมา ตันสกุล

สำนักพิมพ์: Library House

 

 

2.ปืน เชื้อโรค เหล็กกล้า กับชะตากรรมของสังคมมนุษย์ (GUN, GERMS, AND STEEL : The Fates of Human Societies)

ผู้เขียน: จาเร็ด ไดมอนด์

ผู้แปล: อรวรรณ คูหเจริญ นาวายุทธ

สำนักพิมพ์: ยิปซี

 

 

3.หลากเรื่องในชีวิตของชายที่รักหนังสือ

ผู้เขียน: แกเบรียล เซวิน

ผู้แปล: อภิญญา ธโนปจัย

สำนักพิมพ์: แพรวสำนักพิมพ์

 

โชนรังสี เฉลิมชัยกิจ

สำนักพิมพ์สุขภาพใจ

เล่มที่แนะนำ :

 

 

1.FIRST GENERATION การเดินทางของคนรุ่นเสื่อผืนหมอนใบ

ผู้เขียน: วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

สำนักพิมพ์: Salmon Books

 

 

2.สิ่งสำคัญของชีวิต

ผู้เขียน: นิ้วกลม

สำนักพิมพ์: KOOB

 

วรพจน์ พันธุ์พงศ์

สำนักพิมพ์บางลำพู

 

เล่มที่แนะนำ :

 

 

1.A Great Little Place Called Independent Bookshop

ผู้เขียน: หนุ่ม หนังสือเดินทาง

สำนักพิมพ์: พารากราฟ

“ผมเห็นและรู้จัก หนุ่ม ตั้งแต่เริ่มทำร้าน เป็นลูกค้าของเขา แวะเวียนไปร้านเขาเสมอ ทั้งช่วงที่อยู่ถนนพระอาทิตย์ และภายหลังย้ายมาถนนพระสุเมรุ ต่อมาทำทีมฟุตบอลร่วมกัน สถานที่นัดพบก่อนคิกออฟก็คือร้านหนังสือเดินทาง /เคยถูกเชิญไปเสวนาที่นั่น /เคยใช้ร้านเปิดตัว นิตยสารไรท์เตอร์ (ยุคบินหลา) แต่ทั้งหมดนั่นก็ไม่ใช่เหตุผล

แล้วมึงเขียนทำไม ตั้งยาว

เหตุผลคือ หนังสือเล่มนี้คือรูปธรรม และนามธรรม ของคนรักหนังสือ

ไม่ใช่ รัฐประหารหรอก ที่เป็นหน้าตาเป็นตาของประเทศ หนังสือเล่มนี้แหละ คนทำร้านหนังสือแบบนี้แหละ ที่เป็นความภาคภูมิใจ และเป็นหน้าเป็นตาของประเทศ”

 

 

2.ย่ำรุ่งอันยาวนาน

ผู้เขียน: รชา พรมภวังค์

สำนักพิมพ์: ไชน์

“งานเล่มนี้ทำให้คิดถึง ธิติ อิสรสารถี แต่ทั้งเรื่องทั้งรส พ่อคนนี้ก็หนุ่มกว่า /คิดถึง ไม้หนึ่ง ก.กุนที ซึ่งคนนี้ก็ดุกว่า ดิบกว่า โหดกว่า

ย่ำรุ่งอันยาวนาน อยู่กลางๆ ส่วมผสมกำลังงาม

รชาเขียนได้ดี ทั้งฉันทลักษณ์และฟรีเวิร์ส

เปรียบเป็นคนรักที่ครบรส เพราะมีทั้งโรมานซ์ ดื้อดึง พยศ ปะทะกันได้ไม่ต้องออมมือ รู้เรื่องและรู้สึกรู้สาทุกสนาม ไม่ว่าสังคม การเมือง เพื่อน ความรัก และสุรา”

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save