fbpx
ความน่าจะอ่าน 2020

ความน่าจะอ่าน 2020 : The Finalists (ตอนที่ 1)

กองบรรณาธิการ The101.world เรื่อง

 

‘ความน่าจะอ่าน’ ปีที่ 4 — ‘ความน่าจะอ่าน 2020 – อ่านอะไรดีในปีแสนสาหัส’ — มองหาหนังสือที่คิดว่าน่าอ่าน ควรอ่าน หรือเหมาะสมที่จะอ่านในภาวะที่โลกกำลังเผชิญวิกฤตครั้งใหญ่ — ประเทศไทยเองก็ไม่ต่าง เจอมรสุมทั้งภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ การจัดการกับโรคระบาด และการเมืองที่ร้อนระอุ

จากการคัดเลือกของเจ้าของสำนักพิมพ์ บรรณาธิการ ร้านหนังสือ และนักวาดภาพประกอบกว่า 60 คน ทำให้เราได้รายชื่อหนังสือมากกว่า 100 เล่ม ครบเรื่องครบรสทั้งวรรณกรรม ประวัติศาสตร์ การเมือง หนังสือภาพ และความเรียง

บรรทัดถัดไปจากนี้คือรายชื่อหนังสือ Finalists ชุดที่ 1 จาก 19 คนที่เลือกหยิบหนังสือที่คิดว่าน่าอ่าน น่าละเลียด พร้อมเหตุผลว่าทำไมเราจึง ‘น่าจะอ่าน’ หนังสือเล่มนี้

แน่นอน — รางวัลไม่ได้จบอยู่แค่การเลือกของคนในแวดวงหนังสือ เพราะ ‘คนอ่าน’ ย่อมสำคัญไม่แพ้กัน ในปีนี้เราจึงเปิดให้ ‘นักอ่านทุกคน’ มาร่วมโหวตหนังสือน่าอ่านที่สุดแห่งปีแสนสาหัสนี้ไปด้วยกัน ด้วยการเพิ่มรางวัล ‘ความน่าจะอ่าน ขวัญใจมหาชน’ เข้ามาด้วย

หนึ่งเสียงของท่าน อาจทำให้หนังสือเล่มหนึ่งไปถึงคนอื่นได้อีกมาก ร่วมโหวตได้ที่นี่ (โหวตได้ถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2563)

ดู ความน่าจะอ่าน 2020 : The Finalists (ตอนที่ 2)

ความน่าจะอ่าน 2020 : The Finalists (ตอนที่ 3)

ปิยะวิทย์ เทพอำนวยสกุล

สำนักพิมพ์สมมติ

 

เล่มที่แนะนำ :

 

 

1.A Great Little Place Called Independent Bookshop

ผู้เขียน: หนุ่ม หนังสือเดินทาง

สำนักพิมพ์: พารากราฟ

“อย่างตรงไปตรงมาในนามของคนรักหนังสือ หนังสือเล่มใดก็ตามที่กล่าวถึงหนังสือและ/หรือร้านหนังสือ ล้วนแล้วแต่น่าอ่าน เพราะทั้งหมดของเรื่องเล่าในเล่ม จะมีพวกเราทุกคนเป็นตัวละครอยู่ในนั้น เป็นหนังสือที่อ่านแล้วจะได้กลิ่นของร้านหนังสือและมีร่องรอยแห่งความรักในกระดาษทุกแผ่น”

 

2.มนุษย์กับเสรีภาพ : มุมมองทางปรัชญาคานท์, มิลล์, รอลส์

ผู้เขียน : สุรพศ ทวีศักดิ์

สำนักพิมพ์ : สยามปริทัศน์

“เป็นเล่มที่ให้ผู้อ่านได้ขบคิดต่อคอนเซ็ปต์เรื่องเสรีภาพ ศีลธรรม และความยุติธรรม เหมาะสมกับทุกคนในฐานะที่เป็นพลเมืองของประเทศนี้ ไม่ว่าจะสยบยอมหรือจะขัดขืนแตกหักกับอำนาจที่ไม่เป็นธรรม”

 

 

3.เงาสีขาว

ผู้เขียน : แดนอรัญ แสงทอง

สำนักพิมพ์ : สามัญชน

“ไม่ต้องแนะนำอะไรมากกับวรรณกรรมเล่มนี้ จะขอเพียงให้ผู้อ่านกระชากความศักดิ์สิทธิ์ของวรรณกรรมเล่มสำคัญนี้ลงจากหิ้ง เปิดหน้ากระดาษ แล้วก็เริ่มอ่าน! ไม่ว่าจะอ่านได้สักกี่หน้ากระดาษ รับรองได้ว่า เรื่องเล่าในเล่มนี้จะทำให้เราเห็นทิวทัศน์ทางวรรณกรรมในอีกมิติ!”

 

ดาราณี ทองศิริ

สำนักพิมพ์สะพาน และเพจ feminista

เล่มที่แนะนำ :

 

“ในช่วงที่ผ่านมา กระแสเฟมินิสต์ในสังคมไทยได้รับการกล่าวถึงเป็นอย่างมากในพื้นที่ออนไลน์ แต่หลายคนอาจยังไม่แน่ใจว่าจริงๆ แล้ว แนวคิดเฟมินิสต์คืออะไรกันแน่ ทำไมผู้หญิงหลายคนถึงออกมาพูดเรื่องระบบชายเป็นใหญ่ อะไรที่ทำให้ผู้หญิงลุกออกมาส่งเสียงแม้จะถูกแรงต่อต้าน ความทุกข์ของผู้หญิงมีจริงหรือ ทำไมผู้หญิงถึงต้องออกมาเขียนและบอกเล่าประสบการณ์ที่ดูเหมือน ‘ส่วนตัว’ มากๆ ของพวกเธอต่อสาธารณะ และเราจะเข้าใจประสบการณ์เหล่านั้นได้อย่างไร

“สำนักพิมพ์สะพาน ขอแนะนำหนังสืออย่างน้อย 3 เล่ม ที่จะพาไปทำความเข้าใจกับคำถามข้างต้นเหล่านี้ โดยมีสองเล่มเป็นงานวรรณกรรมและอีกหนึ่งเล่มเป็นความเรียง 9 ชิ้น ทั้ง 3 เล่มอาจดูเหมือนมาจากคนละฟากฝั่งของบริบทสังคม แต่กระนั้นกลับมีจุดร่วมกันอย่างไม่น่าเชื่อ”

 

 

1.คิมจียอง เกิดปี 82

ผู้เขียน: Cho Nam-Joo

ผู้แปล: ตรองสิริ ทองคำใส

สำนักพิมพ์: เอิร์นเนสต์

“หลังจากที่หนังสือเล่มนี้ตีพิมพ์ออกมาในประเทศเกาหลี มันถูกโจษจันไปทั่วประเทศ และนำมาซึ่งการถกเถียงในสังคมเกาหลีอย่างเข้มข้น เป็นที่รู้กันดีว่าสังคมเกาหลีนั้นเต็มไปด้วยวัฒนธรรมแบบชายเป็นใหญ่ การเป็นเมียและแม่ในสังคมเกาหลี เต็มไปด้วยแรงกดดัน หนังสือเล่มนี้เปรียบเสมือนสัญลักษณ์ของการต่อสู้เพื่อสิทธิผู้หญิงในเกาหลี แม้แต่ศิลปินเกาหลีอย่าง Irene แห่งวง Red Velvet ก็ถูกคุกคามเพียงเพราะเธอบอกว่าอ่านหนังสือเล่มนี้

“คิมจียอง เกิดปี 82 บอกเล่าถึงชีวิตของหญิงสาวคนหนึ่งตั้งแต่เด็กจนแต่งงานและกลายเป็นภรรยาของผู้ชายคนหนึ่ง การเล่าเรื่องผ่านบทบาทตัวละครแต่ละคน ที่คิมจียองแสดงออกอย่างไม่รู้สาเหตุ ทำให้ผู้อ่านทราบว่า ในแต่ละช่วงวัย คิมจียองต้องเติบโตขึ้นมาท่ามกลางสภาพสังคมแบบไหน และอะไรคือแก่นกลางของปัญหาทั้งหมดทั้งมวลที่ทำให้เธอมีภาวะเช่นที่แสดงออกในนิยาย เช่น เด็กหญิงคิมจียองที่ถูกคุกคามทางเพศทั้งในวัยเรียนและวัยทำงาน นางสาวคิมจียองที่ถูกแม่สามีกดขี่อย่างแนบเนียน และความพยายามที่จะเข้าใจปัญหาของคิมจียองโดยสามีของเธอ ก็ถูกถ่ายทอดออกมาผ่านหนังสือเล่มนี้

“ผู้เขียนโชนัมจูเล่าเรื่องอย่างเรียบง่าย แต่แฝงลึกไปด้วยความเจ็บปวดในทุกอณูของผู้หญิงคนหนึ่ง ที่เกิดขึ้นและเติบโตท่ามกลางสภาพสังคมแบบชายเป็นใหญ่ ถ้าหากผู้อ่านอยากจะเข้าใจว่าทำไมคำกล่าวว่า ‘เราทุกคนคือคิมจียอง’ ถึงถูกเขียนไว้ในหนังสือเล่มนี้ และใครบ้างที่เป็น คิมจียอง สำนักพิมพ์สะพานของแนะนำหนังสือเล่มนี้ค่ะ”

 

 

2.บีเลิฟด์ (BELOVED)

ผู้เขียน: โทนี่ มอริสัน

ผู้แปล: รังสิมา ตันสกุล

สำนักพิมพ์: Library House

“หากว่าคิมจียองสะท้อนภาพของสังคมชายเป็นใหญ่และความทุกข์ของผู้หญิงในสังคมเกาหลีได้อย่างเข้มข้นแล้ว บีเลิฟด์ก็จัดได้ว่าเป็นวรรณกรรมที่สะท้อนสภาพสังคมชายเป็นใหญ่ในอเมริกา แต่ทว่าระบบชายเป็นใหญ่ในอเมริกา ไม่ได้ตั้งอยู่อย่างโดดๆ แต่มันทำงานร่วมกับวัฒนธรรมการเหยียดผิวและระบบทาสในยุคสมัยที่คนผิวขาวยังมองเห็นว่าคนผิวดำเป็นแค่ทาสที่จะทำอะไรก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นการกดขี่ใช้แรงงานในไร่ หรือการข่มขืนหญิงผิวดำเพื่อความสนุกสนานบันเทิงใจ

“แต่การเกิดเป็นทาสผู้ชายผิวดำที่ว่าทุกข์ทรมานอย่างสาหัสแล้ว การเกิดเป็นทาสผู้หญิงผิวดำอาจแสนสาหัสกว่าหลายเท่า เพราะทาสผู้หญิงผิวดำไม่เพียงแต่จะต้องถูกใช้แรงงานอย่างหนักจากนายทาสผิวขาว พวกเธอยังถูกกดขี่ทางเพศจากนายทาสและจากผู้ชายผิวดำด้วยกันเองอีกด้วย

“บีเลิฟด์เล่าเรื่องของหญิงสาวผิวดำคนนึ่งที่ตัดสินใจฆ่าลูกๆ ของเธอ เพื่อที่จะไม่ให้ลูกของเธอตกเป็นทาสใครอีก แต่แล้วเรื่องราวชวนลึกลับก็เกิดขึ้น เมื่อเด็กสาวคนหนึ่งปรากฏตัวขึ้นจากผิวน้ำ และนำมาซึ่งเรื่องราวแปลกประหลาดมากมายต่อครอบครัวของอดีตทาส จนนำมาสู่การหวนระลึกถึงความทรงจำของอดีตทาสผู้หญิงผิวดำที่พยายามลืมสิ่งที่เกิดขึ้นกับตัวเธอ ซึ่งเธอพยายามจะลืมเพราะมันทุกข์ทรมานเกินกว่าจะฟื้นความทรงจำ

“หนังสือเล่มนี้เผยให้เห็นความเหี้ยมโหดของระบบทาส ไปพร้อมๆ กับความทารุณของระบบชายเป็นใหญ่ที่แฝงฝังอยู่ในสังคมอเมริกาในยุคสมัยของการตาบอดต่อความเชื่อที่ว่าคนเราเกิดมาเท่าเทียมกันและมีใครคนใดคนหนึ่งที่ลุกมากดขี่ข่มเหงคนที่มีอำนาจน้อยกว่า คนผิวขาวกดขี่คนผิวดำ ชายผิวดำกดขี่หญิงผิวดำ และแม้ว่าระบบทาสจะหมดไปจากอเมริกาแล้ว แต่การเหยียดผิวและเพศยังคงดำรงอยู่ต่อไป”

 

 

3.ผู้ชายชอบอธิบายหลายสิ่งให้ฉันฟัง (Men Explain Things to Me)

ผู้เขียน: รีเบคกา โซลนิต

ผู้แปล: สิรินทร์ มุ่งเจริญ และ กานต์ชนก วงษ์ทองแท้

สำนักพิมพ์: เฟมินิสต์สามย่าน

“หากวรรณกรรมทั้งสองเล่มข้างต้นจะทำให้ผู้อ่านพอเห็นภาพว่าอะไรที่ทำให้ผู้หญิงลุกมาส่งเสียง ประสบการณ์แบบไหนกันที่ผู้หญิงต้องพบเจอตลอดชีวิตของเธอตั้งแต่เกิดจนตาย ความทุกข์ทนภายใต้ระบบชายเป็นใหญ่นั้นส่งผลอย่างไรต่อผู้หญิงทั้งหลายบนโลกใบนี้บ้าง หนังสือชื่อ ‘ผู้ชายชอบอธิบายหลายสิ่งให้ฉันฟัง’ ก็เป็นเหมือนสรุปสิ่งที่เกิดขึ้นต่อผู้หญิงภายใต้ระบบชายเป็นใหญ่ ผ่านการอธิบายคำว่า Mansplain หรือผู้ชายชอบอธิบายสิ่งต่างๆ ให้ผู้หญิงฟัง คำว่า Mansplain ดูเผินๆ เหมือนเป็นแค่คำศัพท์ที่ใช้อธิบายพฤติกรรมของผู้ชายที่มีต่อผู้หญิง หากแท้จริงเบื้องหลังของการ Mansplain ล้วนมาจากการหล่อหลอมของวัฒนธรรมชายเป็นใหญ่

“รีเบคกา เขียนความเรียงทั้ง 9 ชิ้นโดยทุกชิ้นมีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกัน เริ่มจากการอธิบายว่าผู้หญิงนั้นมักจะถูกผู้ชายสั่งสอนโอ้อวดอธิบายสิ่งต่างๆ ให้พวกเธอฟังโดยมิได้ร้องขอ หรือแม้แต่การถูกตัดเสียงที่กำลังเปล่งออกมาโดยทันทีทันใด เพราะผู้ชายต้องการเป็นคนอธิบายสิ่งเหล่านั้นเอง แต่รีเบคกาไม่หยุดอยู่แค่การอธิบายคำศัพท์ เธอยังชี้ให้เห็นถึงปัญหาของการที่ผู้หญิงจะต้องถูกต่อต้านจากสังคมชายเป็นใหญ่อย่างไร หากพวกเธอลุกขึ้นมาบอกว่า เกิดการล่วงละเมิดทางเพศโดยใคร และโดยเฉพาะอย่างยิ่งหากคนคนนั้นคือบุคคลที่มีอำนาจและชื่อเสียงในสังคม หรือมีความพยายามปิดปากผู้หญิงอย่างไรบ้าง เพื่อไม่ให้พวกเธอเหล่านั้นพูดมากไป เช่น การตีตราว่าพวกเธอเป็นผู้หญิงไม่ดี ต้องการจะทำลายชื่อเสียงของผู้ชายด้วยเหตุผลบางประการ

“หนังสือทั้งสามเล่มนี้จะทำให้ผู้อ่านเห็นภาพมากขึ้นว่า ทำไมเฟมินิสต์จึงยังต้องออกมาเรียกร้องสิทธิความเท่าเทียมทางเพศ และสังคมไทยมีปัญหาความเท่าเทียมทางเพศอยู่หรือไม่ และถ้าใช่ เราในฐานะผู้อ่านจะเรียนรู้เรื่องราวเหล่านี้ผ่านงานวรรณกรรมสองเล่มและความเรียงของรีเบคกาเพื่อนำมาเปลี่ยนแปลงสังคมได้หรือไม่ เหล่านี้เป็นคำถามที่สำนักพิมพ์สะพานอยากให้ผู้อ่านหาคำตอบจากการอ่านหนังสือทั้ง 3 เล่มนี้ดูค่ะ”

 

ปนิธิตา เกียรติ์สุพิมล

สำนักพิมพ์ P.S.

 

เล่มที่แนะนำ :

 

 

1.มีในเมษายน ซอลในกรกฎาคม

ผู้เขียน: คิมย็อนซู และคนอื่นๆ

ผู้แปล: อิสริยา พาที

สำนักพิมพ์: ไจไจบุ๊คส์

“รวมเรื่องสั้น​ 7​ เรื่องที่เล่าถึงชีวิตประจำวัน​ของคนธรรมดา​ ไม่หวือหวา​​ ในระหว่างบรรทัดเราจะลิ้มรสชาติปะแล่มๆ​ ชืดๆ​ ของชีวิตตัวละคร เรียบง่ายจนถึงใกล้เคียงคำว่าซังกะตาย ไม่มีซีนเรียกน้ำตา​หรือชวนจิ้น​ เป็นหน้ามือหลังมือกับซีรีส์เกาหลี แต่นั่นแหละคือความน่าสนใจ​ ​เราสามารถเชื่อมโยงกับความรู้ความเข้าใจต่อประวัติศาสตร์​ของเกาหลีใต้ที่เราเคยรับรู้​ ผ่านฉากของร้านสะดวกซื้อ​ ร้านอาหารวัฒนธรรม​ K-pop โรงแรมที่คนธรรมดาใช้จ่ายเวลาพักผ่อนในวันหยุด​ ฯลฯ วัฒนธรรม​ที่กระเพื่อมไปในโลกทุนนิยม​ ภาวะเหลื่อมล้ำและโครงสร้างสังคมสมัยใหม่”

 

 

2.เลส (Less)​

ผู้เขียน: Andrew Sean Greer

ผู้แปล: ศรรวริศา

สำนักพิมพ์: กำมะหยี่

“เป็นเรื่องเล่าที่สนุกมาก​ อ่านแล้ววางไม่ลง เสียดสีกวนตีน​ จิกกัด​ แสบเศร้า​ ตลก​ รอมคอม​ รวมๆ​ แล้ว​ทั้งหมดคือความมีชีวิตชีวา​ ปกติไม่ค่อยชอบอ่านวรรณกรรมที่ตัวละครเป็นนักเขียน​ รู้สึกว่าน่าเบื่อ​ ซ้ำซากกับการเล่าเรื่องตัวเอง​ แต่เล่มนี้เป็นข้อยกเว้น​ อ่านแล้วได้ตกผลึกเรื่องมิตรภาพ​ ความสำเร็จ​ ความสัมพันธ์​ระหว่างผู้คน และความยืดหยุ่นของความรัก”

 

 

3.CHAPTER 1: LOST 

ผู้เขียน: รวมนักเขียน

สำนักพิมพ์: Salmon​

“สารพัดเรื่องเล่าว่าด้วยการหลงทาง​ สะท้อนภาวะเคว้งคว้าง​ กลับไม่ได้ไปไม่ถึง​ ‘Chapter 1 : Lost Issue’ โปรเจ็กต์พิเศษจากนักเขียนรวมกันเฉพาะกิจ โดยให้นักเขียนและนักวาดภาพประกอบเล่าเรื่องผ่านการตีความโจทย์เดียวกันทำให้เรื่องเล่าในหนังสือจะมีทั้งเรื่องสั้น ความเรียง บันทึกประสบการณ์ การ์ตูน ภาพประกอบ ชอบความคิดสร้างสรรค์และจินตนาการของโปรเจ็กต์นี้​ เพลินๆ​ กับไอเดียของนักเขียนแต่ละคน​ วิธีจัดหน้าที่ทำให้เราสนุกเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่า​”

 

โตมร ศุขปรีชา

สำนักพิมพ์ Salt

 

เล่มที่แนะนำ :

 

 

1.ความตายที่เวนิส (Death in Venice)

ผู้เขียน: โธมัส มานน์

ผู้แปล: นฤมล ง้าวสุวรรณ

สำนักพิมพ์: อ่าน101

“เป็นนิยายที่น่าจะ controversial มากทีเดียว ถ้ามองในมุม pedophilia แต่ในอีกด้านหนึ่งก็เปิดเผยชีวิตของคนรักเพศเดียวกันแบบข้ามรุ่นในยุคสมัยหนึ่ง ซึ่งสามารถโยงใยไปถึงประเด็นเรื่องความงามได้อย่างลึกซึ้ง”

 

 

2.กระทรวงสุขสุดๆ (The Ministry of Utmost Happiness)

ผู้เขียน: Arundhati Roy

ผู้แปล: สดใส

สำนักพิมพ์: มติชน

“เล่มนี้ ‘ใหญ่’ มาก ผู้เขียนไม่ปราณีคนอ่านเลย เพราะใส่ทุกสิ่งเข้ามาเหมือนการสร้างปราสาทที่ซับซ้อน แต่ที่อ่านแล้วอิ่มใจมากๆ ก็คือสำนวนแปลของ ‘สดใส’ ที่งดงามอบอุ่นมากๆ”

 

ธัชชัย ธัญญาวัลย

สำนักพิมพ์ ArtyHouse

 

เล่มที่แนะนำ :

 

 

1.หากโลกนี้ไม่มีหนังสือ (To Read or Not to Read, That Is My Question)

ผู้เขียน: Jimmy Liao

ผู้แปล: วีรนาถ โชติพันธุ์

สำนักพิมพ์: a book

“หนังสือเล่มนี้นอกจากจะมีรูปภาพประกอบที่สวยงามแล้ว ยังมีความคิดแสบๆ คันๆ จิกกัดเล็กๆ ของผู้เขียน ที่สื่อออกมาโดยใช้ตัวละครเด็ก ซึ่งมันทำให้ความคิดที่เป็นปฏิปักษ์ต่อความคิดหรือคมวาทะของนักเขียนดูไม่ก้าวร้าวและรุนแรงเกินไป เป็นการแสดงความเห็นต่างอย่างสร้างสรรค์ น่ารักและแนบเนียน”

 

2.หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว

ผู้เขียน: กาเบรียล การ์เซีย มาร์เกซ

ผู้แปล: ชนฤดี ปลื้มปวารณ์

สำนักพิมพ์: บทจร

“แม้ว่าหนังสือเล่มนี้จะเคยมีการแปลมาก่อนหน้านี้แล้ว แต่ฉบับนี้เป็นการแปลจากภาษาสเปนโดยตรง ทำให้สามารถเก็บความและถ่ายเสียงได้อย่างสวยงามตามการออกเสียงของภาษาสเปน แปลได้สละสลวย หนังสือทำออกมาได้สวยงาม ควรค่าแก่การอ่านอีกครั้งและเก็บสะสม”

 

 

3.การศึกษาของกระป๋องมีฝัน

ผู้เขียน : สะอาด

สำนักพิมพ์ : ด้วงคอมิกส์

“หนังสือเล่มล่าสุดของสะอาด เหมือนเป็นการ์ตูนอัตชีวประวัติของนักเขียน แม้ว่าประเด็นจะไม่ใหม่ และการดำเนินเรื่องจะไม่ตื่นเต้นเร้าใจหรือเต็มไปด้วยความสนุกสนานแบบเล่มอื่นๆ แต่ก็นับว่าเป็นอีกหนึ่งผลงานที่นับว่าน่าศึกษาในแง่ของพัฒนาการของการ์ตูนไทย”

 

ชุลีพร วุ่นบำรุง

สำนักพิมพ์กำมะหยี่

 

เล่มที่แนะนำ :

 

 

1.วะบิ ซะบิ

ผู้เขียน: Beth Kempton

ผู้แปล: วุฒิชัย กฤษณะประกรกิจ

สำนักพิมพ์: Be(ing)

“หนังสือเล่มนี้เป็นเสมือนเพื่อนที่มาสะกิดเตือนเราว่า การพาตัวเองเข้าไปอยู่ในกรงในกรอบด้วยการใช้ชีวิตอย่างมีเงื่อนไข พยายามที่จะสร้างความเพียบพร้อมให้ชีวิตนั้น ไม่ต่างกับการฆ่าตัวตาย หนังสือที่เหมาะกับยุคสมัยที่จิตวิญญาณของผู้คนกำลังล่มสลาย เราควรผ่อนปรนให้กับชีวิตของตัวเองบ้าง อย่าโหดร้ายกับตัวเองนัก”

 

 

2.ในโลกอันแปรปรวน: บันทึกของนักเขียนไบโพลาร์ (Die Welt Im Rücken)

ผู้เขียน: Thomas Melle

ผู้แปล: อัญชลี โตพึ่งพงศ์

สำนักพิมพ์: Library House

“เป็นหนังสือที่เป็นเสมือนคู่มือนำทางให้เราก้าวเข้าไปสู่ภายในตัวตนของเรา เพื่อทำความรู้จักตัวตนที่แท้จริง เพราะไม่มีใครรู้หรอกว่า ภายในตัวตนของเราอาจมีความผิดปกติ หรืออีกด้านที่ตรงข้ามอย่างสุดขั้วแฝงฝังอยู่ โลกนี้มีผู้คนไม่ปกติ วิปริต วิปลาส อยู่มิใช่น้อย อาจจะรวมถึงตัวเราด้วย การรู้เท่าทันสิ่งนี้ ทั้งในการควบคุมตัวเองและการใช้ชีวิตร่วมกับผู้คนประเภทนี้จะไม่เป็นภาระที่เราต้องแบก”

 

 

3.You Sadly Smile in The Profile Picture

ผู้เขียน: ธนชาติ ศิริภัทราชัย

สำนักพิมพ์: Salmon

“เสน่ห์ของหนังสือเล่มนี้คือความสามารถของผู้เขียนที่นำเหตุการณ์ทั่วไปในชีวิตประจำวัน มาตั้งเป็นโจทย์แล้วค่อยๆ ดำเนินเรื่อง ค่อยๆ คลี่คลายเรื่องราว แต่บางเรื่องก็เหมือนจะทิ้งปมให้เกิดเป็นเรื่องใหม่อีกเรื่อง

“ทุกวันนี้คนส่วนมากมีชีวิต แต่ใช้ชีวิตไม่เป็น หนังสือเล่มเล็กๆ เล่มนี้จะช่วยเตือนเราว่า เราหลงลืม เรามองข้ามและสร้างความกลวงเปล่าให้ชีวิตมากน้อยแค่ไหน เหมือนเพื่อนมาเล่าเรื่องราวให้เราฟัง แต่ทิ้งปมให้เราแก้ด้วยตัวเอง”

 

จีระวุฒิ เขียวมณี

สำนักพิมพ์เครือ Biblio

 

เล่มที่แนะนำ :

 

1.หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว

ผู้เขียน: กาเบรียล การ์เซีย มาร์เกซ

ผู้แปล: ชนฤดี ปลื้มปวารณ์

สำนักพิมพ์: บทจร

“เป็นหนังสือที่ยิ่งใหญ่ที่สุดเล่มหนึ่งของโลก คืองานวรรณกรรมลาตินอเมริกาที่ยังคงมีอะไรใหม่ๆ ให้พูดถึงแทบทุกครั้งที่ได้อ่าน และยังสามารถส่งต่อพลังแห่งการท้าทายโครงสร้างทางสังคม รวมถึงปลุกให้ตั้งคำถามต่อโลกที่เปลี่ยนแปลงไปในสายตาของคนอีกรุ่นได้อยู่เสมอ แล้วเมื่อได้อ่าน อาจตระหนักว่าหนึ่งร้อยปีที่เปลี่ยนไปอาจไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง มนุษย์และสังคมของพวกเขายังเป็นการผลิตซ้ำทั้งความฝันและสงครามในสมรภูมิของตัวเอง”

 

 

2.A Great Little Place Called Independent Bookshop

ผู้เขียน: หนุ่ม หนังสือเดินทาง

สำนักพิมพ์: พารากราฟ

“เรื่องเล่าของคนตัวเล็กๆ ที่ผ่านชีวิตของการเป็น ‘คนในวงการหนังสือ’ มาอย่างโชกโชน ในฐานะเจ้าของร้านหนังสือเล็กๆ ที่ดูโรแมนติก อบอุ่น หากแต่เรื่องที่ไม่เล็กและไม่ค่อยมีใคร (อยาก) รู้ ก็คือการฝ่าฟันอุปสรรคในการทำร้านให้อยู่รอดมาสิบกว่าปี การปรับตัวเข้ากับโลกในยุคที่สิ่งพิมพ์บางประเภทล้มหายตายจากไป ที่น่าสนใจคือร้านหนังสือเดินทาง ได้กลายเป็นหลักไมล์สำคัญของคนทำหนังสืออย่างน้อยสองรุ่นขึ้นไปแล้ว และคุณหนุ่มกับแฟนสาวก็คือบรรณารักษ์ของชีวิตตัวเองที่คนมีฝันทั้งหลายคนควรได้เรียนรู้สักครั้ง”

 

 

3.สังหารจอมทัพอัศวิน (Killing Commendatore)

ผู้เขียน: ฮารูกิ มูราคามิ

ผู้แปล: พรพิรุณ กิจสมเจตน์

สำนักพิมพ์: กำมะหยี่

“มูราคามิก็ยังคงเป็นนักเล่าเรื่องที่เก่งกาจที่สุดคนหนึ่ง ไม่ว่าเขาจะเขียนรูปแบบของพฤติกรรมตัวละครซ้ำๆ แค่ไหน คนโดดเดี่ยว ความใคร่ ชู้รัก และความสัมพันธ์ที่อธิบายไม่ได้พร้อมกับจางหายไปอย่างรวดเร็ว ผนวกเข้ากับเรื่องอัศจรรย์ของการเดินทาง หน้าประวัติศาสตร์สุดประหลาดที่ไม่ได้รับการจารึก การชำระบาปและความผิดพลาดของตัวละครด้วยวิธีแยบคาย อาจไม่ใช่งานที่มีอะไรใหม่ในยุคนี้ แต่นักอ่านก็ไม่ยอมพลาดความเดียวดายที่ผลิตซ้ำแบบนี้อยู่ทุกครั้ง ราวกับตกอยู่ในเขาวงกตแห่งเรื่องเล่าที่ไม่มีวันสิ้นสุด”

 

อัฐพงศ์ เพลินพฤกษา

สำนักพิมพ์ OMG BOOKS

 

เล่มที่แนะนำ :

 

 

1.โลกซึมเศร้า: คลายปมโรคแห่งยุคสมัย และทางเลือกใหม่ในการเยียวยา (Lost Connections)

ผู้เขียน: Johann Hari

ผู้แปล: ดลพร รุจิรวงศ์

สำนักพิมพ์: Bookscape

“เป็นหนังสือที่อธิบายปรากฏการณ์และสาเหตุของ ‘ภาวะซึมเศร้า’ ได้อย่างมีความเป็นมนุษย์และรอบด้านมาก รวมถึงแนวทางออกจากภาวะซึมเศร้าที่ดูเหมือนเป็นโรคระบาดของยุคนี้ เป็นหนังสือสำคัญของยุคนี้อีกเล่มหนึ่ง”

 

 

2.ออกนอกขนบประวัติศาสตร์ไทย : ว่าด้วยประวัติศาสตร์นอกขนบและวิธีวิทยาทางเลือก

ผู้เขียน: ธงชัย วินิจจะกูล

สำนักพิมพ์: ฟ้าเดียวกัน

“ประวัติศาสตร์ไทยแบบที่เราคุ้นเคยเป็นเพียงเรื่องเล่าประเภทหนึ่ง จากมุมหนึ่ง ที่มักถูกบิดด้วยปัจจัยทางอำนาจและวัฒนธรรมสืบเนื่อง หนังสือเล่มนี้ชวนให้เราหลุดจากกรอบการศึกษาประวัติศาสตร์ในมุมที่คับแคบและอันตราย ให้เราตั้งคำถามและเห็นความเลื่อนไหลในการทำความเข้าใจสิ่งที่เรียกว่า ‘ประวัติศาสตร์’ และรื้อถอนความศักดิ์สิทธิ์อันไม่อาจโต้แย้งของประวัติศาสตร์แบบราชาชาตินิยม”

 

 

3.ฝันร้ายในร่างกาย : สมอง ร่างกาย จิตใจ ในการเยียวยาบาดแผลทางใจ

ผู้เขียน: Bessel Van Der Kolk

ผู้แปล: ภัทร กิตติมานนท์

สำนักพิมพ์: สวนเงินมีมา

“อธิบายพัฒนาการความเข้าใจและการบำบัดรักษาบาดแผลทางจิตใจจากอดีตถึงปัจจุบัน ให้เราเข้าใจว่าบาดแผลใจเข้าไปฝังในร่างกายและเปลี่ยนระบบประสาทของเราอย่างไร เป็นงานเขียนระดับ epic”

 

อุทิศ เหมะมูล

สำนักพิมพ์จุติ

 

เล่มที่แนะนำ :

 

 

1.เป็นอื่นไป

ผู้เขียน: จรณ์ ยวนเจริญ

สำนักพิมพ์: P.S.

“รวม 10 เรื่องสั้นของนักเขียนหน้าใหม่หมาด ที่มีเรื่องราว เสียงเล่าน่าสนใจ แง่มุมเรื่องเล่าที่ขุดค้นลงไปในบาดแผล ความทรงจำ ซึ่งเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญให้ชีวิตหนุ่มสาวยุคปัจจุบันพยายามหาที่ทางของตนเอง การแปลงเปลี่ยน กลายสภาพ หยิบยืมและเลื่อนไหลทาง ‘เพศสภาพ’ ในเรื่องเล่า นำเสนอได้ลึกและน่าหลงใหล มีความเป็นไซไฟอ่อนๆ ในระดับชีวเคมี”

 

 

2.บีเลิฟด์ (BELOVED)

ผู้เขียน: โทนี มอร์ริสัน

ผู้แปล: รังสิมา ตันสกุล

สำนักพิมพ์: Library House

“ผลงานอันเอกอุของนักเขียนสตรีผิวสีชาวอเมริกันผู้ได้รับรางวัลโนเบล สาขาวรรณกรรม เป็นนิยายที่ต้องอ่านอย่างยิ่ง เกี่ยวกับความทรงจำและบาดแผลของทาสผิวสีที่หลบหนีจากการกดขี่และปกครองของคนขาว หลังยุคสงครามกลางเมืองอเมริกัน เกี่ยวกับความรัก การปกป้อง และอิสรภาพอันแลกมาด้วยเลือดและน้ำตา ของชนผิวสีที่เป็น ‘มนุษย์’ เหมือนกับเผ่าพันธุ์อื่นๆ”

 

 

3.เลส (Less)

ผู้เขียน: Andrew Sean Greer

ผู้แปล: ศรรวริศา

สำนักพิมพ์: กำมะหยี่

“นิยายรางวัลพูลิตเซอร์เกี่ยวกับเกย์ผมทองที่กำลังข้ามผ่านความเจ็บปวดของช่วงชีวิตวัยกลางคน ด้วยท่วงทีลีลาลั้นลา เกษมสุข และเปี่ยมอารมณ์ขัน (แต่น้ำตาตกใน) บุคลิกภาพตัวละครหลักและแวดล้อมมีเสน่ห์และน่าจดจำ ท่ามกลางสถานการณ์ทำตัวเองให้ยุ่งบินไปทำงานและเที่ยวตามเมืองหลวงของโลก เพื่อหนีงานแต่งของ ‘คู่ชีวิต’ ที่อยู่ด้วยกันมาตั้งนาน แต่กลับเลือกไปแต่งงานกับคนอื่น นี่คือเรื่องราวที่กินใจ ลึกซึ้ง และเต็มด้วยหัวใจอันเผื่อแผ่”

 

อนุรุทธ์ วรรณพิณ และ นัฏฐกร ปาระชัย

ร้านหนังสือออนไลน์ Readery

 

เล่มที่แนะนำ :

 

 

1.ผมเรียกเขาว่าเน็กไท (I Call Him Necktie)

ผู้เขียน: Milena Michiko Flašar

ผู้แปล: สิริยากร พุกกะเวส มาร์ควอร์ท

สำนักพิมพ์: Merry-Go-Round

“เรื่องนี้เป็นวรรณกรรมที่เศร้าแต่สวยงาม อบอุ่นปนขมแต่ก็ไม่ฟีลกู้ดเกินไป เรื่องราวของคนสองวัยที่ชีวิตผุพังสองคน เริ่มต้นจากการเป็นคนแปลกหน้า ผลัดกันเล่าเรื่องตัวเองจนกลายเป็นมิตรภาพที่ดีต่อกัน ที่ชอบเรื่องนี้มากๆ เพราะมันพูดว่า ชีวิตเราอาจจะไม่สมบูรณ์แบบนักหรอกนะ แต่มันก็เป็นชีวิตที่โอเคนะเฟร้ย เป็นเรื่องเล่าที่มีอารมณ์แปลกหลายรสชาติ เหมือนชีวิตเรานั่นแหละ”

 

 

2.ห้องของโจวันนี (Giovanni’s Room)

ผู้เขียน: เจมส์ บอลด์วิน

ผู้แปล: โตมร ศุขปรีชา

สำนักพิมพ์: Library House

“นี่คือหนังสือเล่มสำคัญของหมวดหมู่ Gay Novel ที่อยากให้ทุกคนได้อ่าน มันคือหนังสือที่ไม่เคยห่างหายไปจากชั้นหนังสือ LGBTQ ในร้านหนังสือที่เมืองนอกเลย เรื่องราวของสองหนุ่มเดวิดกับโจวันนี ซึ่งเป็นที่ถกเถียงกันหนักหน่วงในโลกอินเทอร์เน็ตว่าพวกเขารักกันหรือไม่รักกัน การกดทับความเป็นเกย์ที่เกิดขึ้นจากตัวเองมันหนักหน่วง และพังทลาย มันเป็นเรื่องราวของอิสรภาพและการกักขัง โดยมีห้องพักของโจวันนีเป็นสัญลักษณ์”

 

 

3.ด้วยรักและความตาย

ผู้เขียน: Kanae Minato

ผู้แปล: เมธี ธรรมพิภพ

สำนักพิมพ์: Hummingbooks

“6 เรื่องสั้นที่ถูกแปลไทยเล่มแรกของราชินีแนวสยองขวัญปนดรามาเจาะลึกจิตวิทยาสายดาร์ก ก่อนหน้านี้เรารู้จักนิยายดังของผู้เขียนมาแล้วหลายเรื่อง เช่น คำสารภาพ หรือชดใช้ ซึ่งถ้าใครเคยอ่านงานของมินะโตะ คะนะเอะ ก็จะรู้ถึงฝีมือในการเล่าเรื่องฆาตกรรมสยองขวัญแต่มีชั้นเชิงเรื่องของความสัมพันธ์ตัวละครอยู่ในนั้น และมักเป็นเรื่องของหญิงสาวกับแม่ ครอบครัว บ้าน และเมืองเล็กๆ

“ส่วนตัวเป็นบิ๊กแฟนของมินะโตะอยู่แล้ว ชอบมากๆ ที่เรื่องของเธอมักตั้งคำถามทางศีลธรรมยากๆ ให้เราต้องเลือกตอบ โดยที่เธอไม่ตัดสินให้ด้วยว่าสิ่งไหนถูกหรือผิด เธอแค่เล่าเรื่องและเราต้องคิดคำตอบเอาเองว่า ถ้าเป็นเราจะทำอย่างไร ด้านมืดในตัวพวกเราทุกคนจะพาเราไปไกลถึงจุดไหนกัน”

 

กนกอร นนทสวัสดิ์ศรี

สำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์น

 

เล่มที่แนะนำ :

 

 

1.MONEY 101 : เริ่มต้นนับหนึ่งสู่ชีวิตการเงินอุดมสุข

ผู้เขียน: จักรพงษ์ เมษพันธุ์

สำนักพิมพ์: ซีเอ็ดยูเคชัน

“เป็นหนังสือที่บอกถึงความรู้เรื่องการเงินบุคคลเกี่ยวข้องกับชีวิตเราที่ควรรู้ การออมการวางแผนจนถึงเราเกษียณ”

 

 

2.เทคนิคจำแบบไม่ต้องจำที่จิตแพทย์อยากบอกคุณ

ผู้เขียน: คะบะซะวะ ชิอง

ผู้แปล: ปาวัน การสมใจ

สำนักพิมพ์: วีเลิร์น

“เป็นหนังสือที่บอกเทคนิคต่างๆ ของคนขี้ลืมให้จำได้ อยากจำกลับลืม บอกการจำที่ไม่ต้องท่องจำไม่ตัองพยายาม ถึงลืมก็จำได้”

 

 

3.แค่เริ่มต้นใหม่ ไม่ใช่พ่ายแพ้ (ฟาสต์ฟู้ดธุรกิจ 31)

ผู้เขียน: หนุ่มเมืองจันท์

สำนักพิมพ์: มติชน

“อ่านแล้วให้แรงบันดาลใจ อ่านแล้วได้ความสุขคือการยอมรับการเปลี่ยนแปลงของชีวิตได้เราก็สามารถเริ่มต้นใหม่ได้เสมอ”

 

โสภณา เชาว์วิวัฒน์กุล

สำนักพิมพ์ Merry-Go-Round

 

เล่มที่แนะนำ :

 

 

1.ร้านหนังสือเลขที่ 84 ถนนแชริงครอสส์

ผู้เขียน: เฮเลน แฮฟฟ์

ผู้แปล: รังสิมา ตันสกุล, ปราบดา หยุ่น

สำนักพิมพ์: Bookmoby Press

“ครั้งหนึ่งเคยชอบเขียนจดหมาย ครั้งหนึ่งเคยรู้สึกผูกพันกับคนทางไกลที่ชีวิตนี้อาจไม่มีวันได้เจอหน้า ครั้งหนึ่งเคยอ่านข้อความในจดหมายของคนเหล่านั้นซ้ำๆ ราวกับจะจารึกมันใส่ลูกนัยน์ตา หนังสือทำให้เราคิดถึงครั้งหนึ่งเหล่านั้นที่จะไม่มีวันหวนกลับมาอีก”

 

 

2.หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว

ผู้เขียน: กาเบรียล การ์เซีย มาร์เกซ

ผู้แปล: ชนฤดี ปลื้มปวารณ์

สำนักพิมพ์: บทจร

“พูดกันตรงๆ ว่าเนื้อหาของหนังสือไม่ใช่ทางที่ชอบสักเท่าไหร่ สิ่งที่ชอบคือเรื่องราวเบื้องหลัง วิบากกรรมของคนทำหนังสือกว่าจะทำให้มันเสร็จออกมาเป็นแบบอย่างที่เราเห็นกันได้ ไม่รักทำไม่ได้นะ”

 

 

3.สามเกลอ พล นิกร กิมหงวน

ผู้เขียน: ป.อินทรปาลิต

สำนักพิมพ์: แสงดาว

“ชีวิตการอ่านเริ่มตรงนี้”

 

นิรัติศัย บุญจันทร์

สื่อวรรณกรรมออนไลน์ The Paperless

 

เล่มที่แนะนำ :

 

 

1.การศึกษาของกระป๋องมีฝัน

ผู้เขียน: สะอาด

สำนักพิมพ์: ด้วงคอมิกส์

“เป็นการ์ตูนที่บอกทุกอย่างที่เด็กไทยทุกคนน่าจะเคยเผชิญ ไม่ว่าแง่มุมใดแง่มุมหนึ่ง”

 

 

2.ปืน เชื้อโรค เหล็กกล้า กับชะตากรรมของสังคมมนุษย์ (GUNS, GERMS, AND STEEL : The Fates of Human Societies)

ผู้เขียน: จาเร็ด ไดมอนด์

ผู้แปล: อรวรรณ คูหเจริญ นาวายุทธ

สำนักพิมพ์: ยิปซี

“อธิบายจากจุดเล็กๆ เชื่อมโยงเป็นเครือข่ายขนาดใหญ่ที่ถักทออยู่เบื้องหลังประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติได้ดี เป็นการถ่ายทอดแง่มุมแบบสหสาขาวิชาได้อย่างน่าสนใจ”

 

 

3.บอด (Ensaio sobre a Cegueira)

ผู้เขียน: ฌูเซ่ ซารามากู

ผู้แปล: กอบชลี

สำนักพิมพ์: Library House

“วางเรื่องและหยิบยกประเด็นได้อย่างน่าสนใจ อ่านเป็นนิยายสนุกๆ ก็ได้ แต่ซ่อนความหมายไว้มากมาย ตั้งแต่คำว่า ‘บอด’ ก็ชวนให้ติดตามแล้วว่าเรื่องจะพาเราไปถึงจุดไหน”

 

พาฝัน ศุภวานิช

สำนักพิมพ์วงกลม

 

เล่มที่แนะนำ :

 

 

1.เส้นทางสายไหมใหม่ (The New Silk Roads: The Present and Future of the World)

ผู้เขียน: Peter Frankopan

ผู้แปล: คุณากร วาณิชย์วิรุฬห์

สำนักพิมพ์: Bookscape

“การเมืองและขั้วอำนาจของโลกกำลังจะหมุนในทิศทางไหน หนังสือเล่มนี้มีคำตอบ ช่วยปะติดปะต่อความเข้าใจเรื่องดุลอำนาจของประเทศมหาอำนาจ ยิ่งสนุกมากเมื่อประเทศที่เป็นต้นเรื่องหลายประเทศที่เราเคยไปมา แต่ที่แน่ๆ คือ จากนี้ไปการอ่านข่าวต่างประเทศจะไม่งงอีกต่อไป”

 

 

2. ชุมชนนิเวศวิถี (Ecovillages)

ผู้เขียน: Karen T. Litfin

ผู้แปล: ดิสทัต โรจนาลักษณ์

สำนักพิมพ์: อินี่ บุ๊คส์

“กระแสพึ่งตนเองมาแรงในสถานการณ์โควิด คิดว่าทำเดี่ยวๆ อาจรอดยาก สู้ทำไปด้วยกันทั้งชุมชนดีกว่า หนังสือเล่มนี้เสริมแรงบันดาลใจอย่างที่สุด ชอบที่ทุกชุมชนเหล่านี้ต่างก็มีข้อบกพร่อง มีความหลากหลาย สะท้อนให้เห็นถึงเสรีภาพ และการได้รับการรับรองสิทธิของผู้คนในประเทศนั้นๆ จนรู้สึกอิจฉา”

 

 

3. London Museums

ผู้เขียน: โอ๊ต มณเฑียร

สำนักพิมพ์: a book

“ผู้เขียนไม่เพียงแสดงความจัดเจนในเรื่องโลกของพิพิธภัณฑ์เท่านั้น แต่ยังมีส่วนสร้างกระแสคนรักพิพิธภัณฑ์ การออกแบบการเรียนรู้ผ่านวัตถุให้เกิดขึ้นในสังคมไทยอีกด้วย

“อยากให้มี ‘โอ๊ต’ หลายๆ โอ๊ต เผื่อพิพิธภัณฑ์บ้านเราจะน่าเที่ยวกว่านี้”

 

ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์

มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์

 

เล่มที่แนะนำ :

 

 

1.ประชาธิปไตยที่ไม่ตั้งมั่น

ผู้เขียน: จิราภรณ์ ดำจันทร์

สำนักพิมพ์: มติชน

“ให้ภาพรวมความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองอย่างยาวเกือบ 9 ทศวรรษ ว่าทำไมไทยจึงเข้าๆ ออกๆ จากประชาธิปไตย ด้วยมุมแบบรัฐศาสตร์ สถาบันและกระบวนการทางการเมือง”

 

 

2.When We Vote พลวัตการเลือกตั้งและประชาธิปไตยในอาเซียน

ผู้เขียน: ประจักษ์ ก้องกีรติ

สำนักพิมพ์: มติชน

“การเลือกตั้งเป็นทั้งเครื่องมือรักษาอำนาจของกลุ่มชนชั้นนำเดิม และเป็นเครื่องมือของประชาชนในการสร้างประชาธิปไตยสากล จากการศึกษา 4 ประเทศ มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และไทย นำเสนอกระชับและเห็นภาพเข้าใจง่ายสำหรับคนทั่วไป”

 

 

3.ราษฎรธิปไตย

ผู้เขียน: ศรัญญู เทพสงเคราะห์

สำนักพิมพ์: มติชน

“การต่อสู้หลากด้านหลังปฏิวัติ 2475 ทั้งด้านสำนึกและความทรงจำแบบที่เราอาจคิดไม่ถึง และไม่เคยรับรู้มาก่อน ศึกษาด้วยวิธีการประวัติศาสตร์”

 

พรชัย วิริยะประภานนท์ (นรา)

เจ้าของคอลัมน์วิจารณ์หนังสือ ‘พิสูจน์-อักษร’ ใน The101.world

 

เล่มที่แนะนำ :

 

 

1.พิมพ์ (ไม่) นิยม (Uncommon Type : Some Stories)

ผู้เขียน: ทอม แฮงก์ส

ผู้แปล: ภาณุ บุรุษรัตนพันธุ์

สำนักพิมพ์: a book

“เล่มนี้ผมอ่านมานานพอสมควร จำรายละเอียดไม่ค่อยได้แล้วนะครับ แต่จำความรู้สึกขณะอ่านได้ เป็นงานรวมเรื่องสั้นสารพัดแนว อ่านเพลิน อ่านสนุก รื่นรมย์และมีเสน่ห์ชวนติดตาม

“ฝีมือการเขียนหนังสือของทอม แฮงก์สนั้น ดีงามไม่แพ้ความสามารถในการแสดงเลยนะครับ”

 

 

2.เวทมนตร์ฉบับพกพา: ชีวิตและเรื่องขีดเขียนของสตีเฟน คิง (On Writing: A Memoir of the Craft)

ผู้เขียน: สตีเฟน คิง

ผู้แปล: นภา สุภัคโรจน์

สำนักพิมพ์: Merry-Go-Round

“โดยส่วนตัว ผมไม่เคยเลื่อมใสศรัทธา หนังสือประเภทชี้แนะสั่งสอนเกี่ยวกับการทำงานเขียน แต่เล่ม On Writing นี้เป็นข้อยกเว้น

“สตีเฟน คิงเล่าประสบการณ์ในการเขียนนิยายออกมาได้ชวนอ่านมากๆ สนุกกระทั่งว่า ต่อให้ผู้อ่านไม่นึกสนใจอยากเป็นนักเขียน หนังสือเล่มนี้ก็ยังบันเทิงชวนติดตามจนต้องอ่านรวดเดียวจบ

“ประโยชน์เป็นรูปธรรมที่ผมได้รับทุกครั้งเมื่ออ่านหนังสือเล่มนี้จบ (ใช่ครับ ผมชอบมากจนหยิบมาอ่านซ้ำได้เรื่อยๆ ไม่รู้เบื่อ) คือ เกิดแรงฮึกเหิม อยากลงมือทำงาน อยากเขียนหนังสือ ซึ่งผมถือว่าเป็นความสำเร็จขั้นสูงสุดของหนังสือประเภทนี้”

 

 

3.ศาสนา: ประวัติศาสตร์ศรัทธาแห่งมวลมนุษย์ (A Little History of Religion)

ผู้เขียน: Richard Holloway

ผู้แปล: สุนันทา วรรณสินธ์ เบล

สำนักพิมพ์: Bookscape

“อันที่จริงผมชอบหนังสือในชุด A Little History ทุกเล่ม และแนะนำเชิญชวนให้อ่านทั้งหมด แต่ถ้าจะต้องเลือกเพียงแค่เล่มเดียว ผมเลือกเล่มนี้ติดทีมชาตินะครับ

“ผมคิดว่าหนังสือในชุดนี้ทุกเล่ม มีจุดเด่น คุณสมบัติ และสรรพคุณตรงกัน นั่นคือทำเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่าย นำเสนอประเด็นจำพวกยาขม ให้กลายเป็นเรื่องที่น่าสนใจ เป็นการปูความรู้พื้นฐานกว้างๆ ในภาพรวม และเป็นจุดเริ่มต้นของการเรียนรู้ที่ดีเหลือเกิน

“ที่ชอบมากอีกอย่างคือ ทุกเล่มล้วนเขียนโดยผู้รู้แตกฉาน ซึ่งมีคุณสมบัติโดดเด่นคล้ายๆ กัน (อีกแล้ว) มีความสามารถในการถ่ายทอด เขียนหนังสือได้น่าอ่าน ช่างคิดและชาญฉลาดในการยกตัวอย่างง่ายๆ ใกล้ตัวมาเทียบเคียงกับแง่มุมยุ่งยากซับซ้อน จนทำให้ผู้อ่านเข้าใจกระจ่างแจ้ง

“แต่ที่สำคัญเหนืออื่นใด ทุกท่านล้วนมีทัศนคติเปิดกว้าง เปี่ยมด้วยเมตตา และเป็นมิตรกับผู้อ่าน

“อ่านหนังสือชุดนี้แล้ว ผมรู้สึกเหมือนตัวละครในนิยายจีนกำลังภายใน มีโชควาสนาหนุนส่งได้พบอาจารย์ดีระดับยอดคน ยังไงยังงั้นเชียว”

 

อนรรฆ พิทักษ์ธานิน

สำนักพิมพ์เคล็ดไทย

 

เล่มที่แนะนำ :

 

 

1.จีน-เมริกา: จากสงครามการค้า สู่สงครามเทคโนโลยี ถึงสงครามเย็น 2.0

ผู้เขียน: อาร์ม ตั้งนิรันดร

สำนักพิมพ์: Bookscape

“หนังสือเล่มนี้ไม่แต่เพียงชี้ให้เห็นสัมพันธภาพของ 2 มหาอำนาจยักษ์ใหญ่ของโลกเท่านั้น หากแต่ยังชี้ให้เห็นแนวโน้มและความเปลี่ยนแปลงดุลอำนาจของการเมืองโลกในอนาคตอันใกล้ด้วยเช่นกัน”

 

 

2.หยิกเล็บมังกร: ความทรงจำของ ‘ซิว ซิววัน’ ล่ามจีน-ไทยยุคนายกฯ ‘โจว เอินไหล’

ผู้เขียน: ซิว ซิววัน

ผู้แปล: นิพัทธ์พร เพ็งแก้ว

สำนักพิมพ์: สวนเงินมีมา

“ความน่าสนใจและความสำคัญของหนังสือเล่มนี้ คือการชี้ให้เห็นความจริงอีกด้านของประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ไทย-จีน โดยเฉพาะช่วงรอยต่อสำคัญของสงครามเย็น”

 

 

3.อยู่กับบาดแผล

ผู้เขียน: บุญเลิศ วิเศษปรีชา

สำนักพิมพ์: Papyrus

“หนังสือเล่มนี้ทำให้ได้ยินเสียงของผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมือง รวมถึงเงื่อนไข เหตุผล และความเชื่อของพลเมืองที่ร่วมต่อสู่ทางการเมืองทั้งสองฟากฝั่ง การใช้ภาษาของผู้เขียนทำให้หนังสือเล่มนี้เป็นงานวิชาการที่สะท้อนอารมณ์และความรู้สึกได้อย่างลึกซึ้ง”

 

ณัฏฐพรรณ เรืองศิรินุสรณ์

สำนักพิมพ์ Bookscape

 

เล่มที่แนะนำ :

 

 

1.มีในเมษายน ซอลในกรกฎาคม

ผู้เขียน: คิมย็อนซู และคนอื่นๆ

ผู้แปล: อิสริยา พาที

สำนักพิมพ์: ไจไจบุ๊คส์

“เราเชื่อในรสนิยมการเลือกหนังสือของไจไจ ที่มักจะชวนให้รู้สึกถึงมวลแปลกประหลาดบางอย่างอบอวลอยู่รอบๆ ตัวหนังสือ

“เล่มนี้ก็เช่นกัน ด้วยความที่เป็นรวมเรื่องสั้นจากหลากนักเขียน เลยรู้สึกเหมือนกินโอมากาเสะคอร์สอาหารเกาหลีที่แต่ละจานปรุงโดยเชฟแต่ละคน บางจานสวยหรูเหมือนเมนูชาววังที่ซ่อนรสเผ็ดร้อนไว้ภายใน บ้างก็จัดจานสนุกราวกับจังหวะเพลงเคป๊อป และบางเมนูก็ลวงรสเหมือนโซจูที่ดูใสสะอาดแต่ขมฝาดบาดคอ เป็นความหลากหลายที่ชวนให้ลุ้นว่าเชฟคนต่อไปจะเสิร์ฟอะไร ขณะเดียวกันทั้งคอร์สก็เกลี่ยรสชาติมาอย่างดี ในระดับที่ไม่มีรอยต่อระหว่างจานไหนที่ขัดลิ้น (และขัดใจ) จนเสียอรรถรส

“ในระหว่างละเลียดตัวอักษร มีหลายครั้งที่คิดว่าถ้าเราเป็นคนเกาหลีที่เข้าใจ ‘วัตถุดิบ’ บางอย่างที่เชฟคัดสรรมา หรือเติบโตมาท่ามกลางรสชาติเหล่านั้น ก็น่าจะเข้าถึงอาหารจานนี้ของเชฟได้ดียิ่งกว่าเดิม แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นเรื่องสนุก โดยเฉพาะตอนที่ชิมแล้วรู้สึกว่า ‘ทำไมรสชาตินี้มันคุ้นๆ?’ การรับรู้ถึงรสปลาร้าไทยๆ ที่ซ่อนอยู่ในจานกิมจิทำให้ยิ่งรู้สึกอูมามิกว่าเดิม”

 

 

2.ตาสว่าง

ผู้เขียน: Claudio Sopranzetti, Sara Fabbri, Chiara Natalucci

ผู้แปล: นันธวรรณ์ ชาญประเสริฐ

ภาพปกและภาพประกอบ: Sara Fabbri

สำนักพิมพ์: อ่านอิตาลี

“หนังสือเล่มนี้มีแต่ความย้อนแย้ง
หนังสือที่มีตัวละครชื่อเหมือนสัตว์ปีก ทั้งนก หงส์ ไก่ แต่ไม่มีใครได้โบยบินตามใจปรารถนา
หนังสือที่สะท้อนฉากชีวิตผู้คนที่โลดแล่นในกรุงเทพ แต่สุดท้ายได้แต่ดิ้นรนอยู่ในกรงเทพ
หนังสือที่บอกเล่าเหตุการณ์ในอดีต ทว่าหลายสิ่งยังแจ่มชัดคุ้นตาเหมือนกาลเวลาเคลื่อนไปเพียงเสี้ยวทรงจำ
หนังสือที่เล่าเรื่องราวของคนตาดีที่สายตาพร่าเลือน และคนที่มองเห็นกระจ่างในวันที่นัยน์ตามืดบอด
หนังสือที่บอกว่าเป็นเรื่องแต่ง แต่ซ้อนทับกับความเป็นจริง
ความเป็นจริงที่ถูกปิดกั้น และภาวะตาสว่างอาจเป็นเพียงมายา”

 

 

3.สิ่งประดิษฐ์สุดเพี้ยนของตาตุและปาตุ

ผู้เขียน: ไอโน ฮาวุไกเนน, ซิมิ ตอยโวเนน

ผู้แปล: กัญญ์ชลา นาวานุเคราะห์

สำนักพิมพ์: นาวา

“ปกหลังหนังสือเล่มนี้เขียนว่า เหมาะสำหรับเด็ก 3 ขวบขึ้นไป และผู้ใหญ่หัวใจเด็ก เราอยากเพิ่มเติมต่อท้ายว่า และผู้ใหญ่ที่อยากสะกิดเด็กในใจให้ออกมาวิ่งเล่นอีกครั้ง

“ไอเดียของปาตุกับตาตุทั้งเพี้ยนและน่ารักเหลือเชื่อ เป็นจินตนาการพิลึกพิลั่นที่อ่านแล้วอดอมยิ้มไม่ได้ว่า ‘เอ้อ ก็คิดได้เนอะ’ อย่างเครื่องติดหนวดที่ช่วยให้เด็กๆ ปลอมตัวเข้าไปนั่งประชุมพร้อมผู้ใหญ่เพื่อร่วมตัดสินใจ ‘เรื่องของเด็กๆ’ สิ่งประดิษฐ์ในเล่มเต็มไปด้วยรายละเอียด สิ่งละอันพันละน้อยที่ซ่อนอยู่ในฉากหลังทำให้เราใช้เวลาในแต่ละหน้านานมากๆ ค่อยๆ กวาดสายตาดูเหมือนกลับไปเป็นเด็กช่างสังเกตอีกครั้ง (หรือเป็นนิสัยชอบเก็บทุกเม็ดแบบ บ.ก. ก็ไม่แน่ใจเหมือนกัน 555)

“นึกภาพว่าถ้าเราเป็นเด็ก เราคงหยิบเล่มนี้มาอ่านซ้ำๆ ไม่รู้เบื่อ แต่ในวัยที่พ้นคำว่าเด็กมาไกลแล้ว ปาตุกับตาตุเดินเข้ามาจูงมือเรา แล้วพาเข้าโลกแห่งจินตนาการที่เราได้หวนกลับไปยิ้มทักทายกับเด็กคนเดิมคนนั้นอีกครั้ง”

 

วาด รวี

สำนักพิมพ์ Shine

 

เล่มที่แนะนำ :

 

 

1.ทฤษฎีกษัตริย์โพธิสัตว์: เวสสันดรชาดกในประวัติศาสตร์ไทย (Thailand’s Theory of Monarchy: The Vessantara Jataka and the Idea of the Perfect Man)

ผู้เขียน: Patrick Jory

ผู้แปล: ฑิตฐิตา ซิ้มเจริญ

สำนักพิมพ์: ILLUMINATIONS EDITION

“เป็นเรื่องของเวสสันดรชาดกมากกว่าเรื่องของกษัตริย์ กระนั้นก็ให้มุมมองเกี่ยวกับกษัตริย์ในเชิงปรัชญาได้อย่างน่าสนใจ ประกอบด้วยเกร็ดประวัติศาสตร์ที่หาอ่านได้ยาก เนื้อหาอ่านสนุกแม้การเรียบเรียงออกจะแข็งไปนิด ยกเว้นแต่บทสรุป ‘เวสสันดรสมัยใหม่’ ซึ่งยังดูไม่เข้าใจการเมืองไทยเท่าที่ควร โดยรวมแล้วก็ยังเป็นหนังสือที่น่าอ่าน รายละเอียดมีมิติ และให้มุมมองใหม่เกียวกับคติของกษัตริย์ไทย”

 

 

2.ในปีที่ยี่สิบเจ็ด และเรื่องสั้นอื่นๆ

ผู้เขียน: ชาคริต คำพิลานนท์

สำนักพิมพ์: สมมติ

“รวมเรื่องสั้นกระแสสำนึก สำเนียงสดใหม่ ไม่มีต้น ไม่มีปลาย บางเรื่องไม่มีชื่อ เป็นความกังขา ภาพอดีต ความเปล่าเปลี่ยว สัตว์ประหลาด รักที่ไขว้สลับ การชำแหละจิตสำนึก เคว้ง เลือนและหลากหลั่งไหลเทท่วมท้น หลงอยู่ในความสูญหาย 9 เรื่องสั้นขนาดไม่ยาว ให้รสชาติแปลกใหม่ แสดงความอึดอัดคับข้อง ล่องลอยและเคลือบคลุม ดื่มด่ำความบอบช้ำ สะท้อนทัศนียภาพภายในได้อย่างมีสไตล์และมิติที่น่าสนใจ”

 

 

3.คิมจียอง เกิดปี 82

ผู้เขียน: Cho Nam-Joo

ผู้แปล: ตรองสิริ ทองคำใส

สำนักพิมพ์: เอิร์นเนสต์

“เฟมินิสต์ เรียบง่าย ทำให้ต้องทบทวนสิ่งที่ดูเหมือนเป็นเรื่องปรกติธรรมดาด้วยสายตาใหม่”

 

ดู ความน่าจะอ่าน 2020 : The Finalists (ตอนที่ 2)

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

22 Feb 2022

คราฟต์เบียร์และความเหลื่อมล้ำ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ เขียนถึงอุตสาหกรรมเบียร์ไทย ที่ผู้ประกอบการคราฟต์เบียร์รายเล็กไม่อาจเติบโตได้ เพราะติดล็อกข้อกฎหมาย และกลุ่มทุนที่ผูกขาด ทั้งที่มีศักยภาพ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

22 Feb 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save