เชื่อว่าปี 2021 ที่ผ่านมาน่าจะเป็นปีที่หนักหน่วงและเหนื่อยล้าสำหรับทุกคน ด้วยสถานการณ์โควิดที่ระบาดตลอดปีและยังอยู่ในขั้นต้องเฝ้าระวัง สถานการณ์ทางการเมืองที่ก็ยังเดาไม่ออกว่าจะเป็นอย่างไรต่อไป ทั้งการเลือกตั้งใหม่ การเรียกร้องแก้รัฐธรรมนูญ รวมถึงปัญหาเศรษฐกิจที่ไร้สัญญาณว่าจะดีขึ้น ฯลฯ
จากมรสุมที่ถาโถมเข้ามาเช่นนี้ ทำให้เกิดคำเปรียบเปรยที่ว่า ชีวิตของหลายคนในช่วงปีที่ผ่านมาเหมือนเรือใบลำน้อยที่แล่นฝ่าพายุยักษ์กลางทะเล มองไม่เห็นแสงตะวัน ไร้ซึ่งความหวังที่จะก้าวต่อไป จนหลายหนก็อยากจะยอมแพ้ให้รู้แล้วรู้รอดไปเสียเลย แต่ถึงปากจะว่าอย่างนั้น ลึกๆ แล้วในใจเราต่างก็หวังว่าท้ายที่สุดแล้วจะหาทางออกเจอ
ในช่วงเวลาที่เราต่างมึนงง สับสน และไม่รู้ว่าจะเอาอย่างไรกับชีวิต สิ่งหนึ่งที่ผู้คนเลือกทำคือการกลับไปอ่านหนังสือ ไม่ใช่เพราะหนังสือมอบทางออกให้เราอย่างเสร็จสรรพ
แต่เพราะ..
หนังสือทำให้เรารู้จักอดีตและรู้แจ้งถึงอนาคต
หนังสือทำให้เรา ‘รู้ลึก’ และ ‘รู้กว้าง’ พร้อมๆ กับที่ ‘รู้รอบ’ และ ‘รอบรู้’
และเพราะหนังสืออีกนั่นแหละ ที่ทำให้เราได้กลับมา ‘รู้สึกรู้สา’ ในวันที่หัวใจคล้ายจะด้านชาจากความเหนื่อยล้าและเหตุการณ์ต่างๆ ที่พบเจอตลอดปี 2021
ในวาระขึ้นปีใหม่นี้ 101 ชวนคอลัมนิสต์มาเลือกหนังสือ ‘น่าอ่าน’ รับปี 2022 หนังสือกว่า 30 เล่มที่เลือกมาคับคั่งไปด้วยหลากหลายประเด็น เต็มอิ่มไปด้วยอรรถรสความรู้สึก และอุดมไปด้วยองค์ความรู้ในหลายสาขาที่ช่วยให้เราทำความเข้าใจโลกที่กำลังจะมาถึง
1. Coffee Bag Packer
เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียน
สำนักพิมพ์ อมรินทร์
แนะนำโดย เอกศาสตร์ สรรพช่าง
ผมขอชวนอ่านหนังสือของผมเองอย่าง Coffee Bag Packer หนังสือเล่มนี้เป็นเรื่องราวหลากหลายแง่มุมของกาแฟ ที่เล่าผ่านงานออกแบบถุงกาแฟที่ผมเก็บสะสมมาหลายสิบปี มีตั้งแต่กาแฟที่ผมซื้อในซูเปอร์มาร์เก็ตที่เฮลซิงกิ ไปจนถึงกาแฟแสนแพงที่ตาม Coffee Hunter คนดังของญี่ปุ่นไปดื่มใน Barney’s ในโตเกียว
ต้องขอบอกก่อนว่าหนังสือเล่มนี้ไม่ใช่หนังสือรีวิวกาแฟ ไม่ใช่หนังสือดีไซน์ที่เล่าเรื่องถุงกาแฟอย่างเดียว แต่เป็นหนังสือที่เล่าเรื่องประวัติศาสตร์ของกาแฟ ผ่านประสบการณ์การดื่มเสียมากกว่า
ใครชอบดื่มกาแฟ อ่านแล้วมาแชร์กันหน่อยครับ อยากรู้ว่ารู้สึกอย่างไร เขียนเอง วาดเอง รีวิวเอง นักเลงพอ
2. Harimau Malaya: Biografi Tengku Mahmood Mahyiddeen
Mohd. Zamberi A. Malek เขียน
สำนักพิมพ์ Universiti Kebangsaan Malaysia
แนะนำโดย อรอนงค์ ทิพย์พิมล
ขอแนะนำหนังสือเรื่อง Harimau Malaya: Biografi Tengku Mahmood Mahyiddeen เขียนโดย Mohd. Zamberi A. Malek ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี 1999 โดยสำนักพิมพ์ Universiti Kebangsaan Malaysia และตีพิมพ์ครั้งที่สองเมื่อปี 2009 โดยสำนักพิมพ์เดียวกัน
หนังสือเล่มนี้จะพาผู้อ่านไปรู้จักกับเรื่องราวชีวิตของ Tengku Mahmood Mahyiddeen บุตรชายคนสุดท้องของ Tengku Abdul Kadir Kamaruddeen สุลต่านองค์สุดท้ายของปาตานี Tengku Mahmood Mahyiddeen ถือกำเนิดในปี 1908 ก่อนหน้าการทำสนธิสัญญาระหว่างสยามกับอังกฤษ ซึ่งส่งผลให้ปาตานีอยู่ภายใต้การปกครองของสยามเพียงหนึ่งปี
ชีวิตของ Tengku Mahmood Mahyiddeen มีสีสันมาก เขาถูกรู้จักและจดจำในฐานะนักชาตินิยม, นักการศึกษา, นักการเมืองมาเลเซีย และในฐานะผู้นำการปฏิรูปการศึกษาในกลันตัน นอกจากนี้เมื่อตอนที่ญี่ปุ่นบุกยึดมลายา เขายังมีบทบาทสำคัญในกองกำลังอาสาสมัครต่อต้านญี่ปุ่น หลังญี่ปุ่นแพ้สงคราม เขากลับคืนสู่มาตุภูมิและเดินหน้าต่อสู้เพื่อปลดปล่อยปาตานี โดยได้ก่อตั้งองค์กรการเมืองชื่อ GEMPAR (Gabungan Melayu Patani Raya) เพื่อเรียกร้องเอกราชจากรัฐไทยและต้องการให้ปาตานีเป็นส่วนหนึ่งของสหพันธรัฐมาลายา แต่ความตั้งใจของเขาไปไม่ถึงจุดหมาย เมื่อเขาเสียชีวิตด้วยวัยเพียง 46 ปีในปี 1954
Tengku Mahmood Mahyiddeen เป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญทั้งต่อปาตานีและมาเลเซีย ในขณะที่ชาวมลายูปาตานีในปัจจุบันอาจจะรู้จักหรือเคยได้ยินชื่อ Tengku Mahmood Mahyiddeen หากทว่าเลือนรางว่าบทบาทของเขาเป็นเช่นไร ส่วนรัฐไทยนั้นก็สุดโต่งไปอีกด้าน คือละเลยและไม่อยากให้ใครรู้จักบุคคลผู้นี้อย่างแน่นอน สำหรับทางการมาเลเซียนั้นก็ให้ความสำคัญกับเขาน้อยกว่าที่ควรจะเป็น แต่อย่างไรก็ตามมีการตั้งชื่อโรงเรียนตามชื่อ Tengku Mahmood Mahyiddeen เพื่อรำลึกถึงบทบาทของเขาในด้านการศึกษา โดยโรงเรียนแห่งนี้ตั้งอยู่ที่เมืองโกตาบารู รัฐกลันตัน
หากถามว่าทำไมถึงเลือกแนะนำหนังสือเล่มนี้ – เพราะในประเทศไทยไม่ได้มีแค่ผู้อ่านที่อ่านภาษาไทยและภาษาอังกฤษได้เท่านั้น ทราบมาว่าหนังสือเล่มนี้กำลังถูกแปลเป็นภาษาไทยโดยนักวิชาการมือหนึ่งด้านภาษามลายู เชื่อว่าหากหนังสือเล่มนี้ออกสู่สายตาของนักอ่านชาวไทยเมื่อไหร่ ก็คงจะเป็นอีกชิ้นส่วนจิ๊กซอว์สำคัญที่จะต่อเติมภาพประวัติศาสตร์ปาตานีและประวัติศาสตร์มาเลเซียให้สมบูรณ์มากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อปลดแอกปาตานีในปัจจุบันนี้ก็ตาม เราจำเป็นต้องรู้ราก รู้ที่มาของขบวนการนี้ เพราะสิ่งที่เราเห็นในปัจจุบันล้วนเป็นผลลัพธ์ของอดีต
3. บ้านหลังเดียวของเรา คำวิงวอนเพื่อโลกและภูมิอากาศ (Our Only Home)
องค์ทะไลลามะ และ ฟรันซ์ อัลท์ เขียน
นัยนา นาควัชระ แปล
สำนักพิมพ์ สวนเงินมีมา
แนะนำโดย ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก
ในปัจจุบันนี้คงไม่มีปัญหาใดที่ท้าทายการดำรงอยู่ของเผ่าพันธุ์มนุษย์เท่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่นับวันจะร้ายแรงมากขึ้นเรื่อยๆ ที่เลวร้ายกว่านั้นคือปัญหานี้ทำร้ายผู้คนอย่างไม่เท่าเทียม และกลายเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ถ่างช่องว่างทางชนชั้นให้กว้างออกไปเรื่อยๆ เพราะในขณะที่ประเทศที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนกำลังได้รับผลตอบแทนอย่างมหาศาลจากตัวเลขเศรษฐกิจที่เติบโต เหล่าประเทศกำลังพัฒนาตามแนวชายฝั่งหรือเกาะกลางมหาสมุทรกำลังสูญเสียที่อยู่อาศัยของตน ทั้งที่ไม่ได้มีส่วนร่วมแบ่งปันผลประโยชน์กับการกระทำดังกล่าวเลยด้วยซ้ำ
หนังสือเล่มนี้จะพาเราไปทำความเข้าใจแนวคิดว่าด้วย ‘จริยธรรมโลกวิสัยที่ข้ามพ้นศาสนา’ หรือ ‘จริยธรรมเชิงนิเวศ’ ซึ่งองค์ทะไลลามะพยายามนำเสนอมาโดยตลอด เพื่อสะท้อนให้เห็นความเชื่อมโยงกันอย่างแนบแน่นระหว่างมนุษย์และระบบนิเวศ และนั่นก็เป็นเหตุผลที่ตลอดมา พระองค์ทรงเรียกร้องและวิงวอนให้ประชาคมโลกให้ความสนใจปัญหาสิ่งแวดล้อม
ฉะนั้นหนังสือเล่มนี้จึงเหมาะอย่างยิ่งที่จะอ่านรับปี 2022 ซึ่งเป็นอีกหนึ่งปีที่มนุษยชาติจะต้องเผชิญกับสภาพการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ เพราะท้ายที่สุดแล้วสงครามครั้งใหม่นี้คือการปะทะกันระหว่างเราและธรรมชาติ
4. Under Western Eyes
Joseph Conrad เขียน
จัดพิมพ์โดย Oxford University Press
แนะนำโดย ศุภมิตร ปิติพัฒน์
ถ้าจะต้องสรุป ก็คงเล่าได้หลายแบบว่านวนิยายของ Conrad เรื่องนี้เสนออะไรแก่ผู้อ่าน แต่ข้าพเจ้าเชื่อว่าวิธีคิดทางการเมืองของผู้อ่านแต่ละคนจะเก็บรับความหมายจากนวนิยายเรื่องนี้แตกต่างกัน ดังนั้น คงไม่เหมาะที่จะมาชักนำความเข้าใจต่อความหมายของวิธีคิดและการกระทำของตัวละครแต่ละฝ่าย ที่คลื่นลมการเปลี่ยนแปลงในสังคมรัสเซียก่อนหน้าการปฏิวัติใหญ่ได้พาพวกเขามาพบกัน ในสถานการณ์บังคับให้หลายคนต้องเลือก จะถูกหรือผิดในการตัดสินใจเลือก ไม่ว่าทางไหนก็ล้วนหมิ่นเหม่อยู่กับการสูญเสียตัวตนไม่ทางใดก็ทางหนึ่งทั้งนั้น
ในเรื่อง ท่านอาจประทับใจบทบาท real agitator ของ Haldin คนพี่ชาย หรืออยากตั้งความหวังในวันข้างหน้าแบบเดียวกับ Haldin คนน้องสาวผู้ร่วมอุดมการณ์เดียวกันกับพี่ แต่เมื่อถูกถามว่าเธอเชื่อในหน้าที่ที่จะต้องแก้แค้นฝ่ายตรงข้ามขบวนการหรือไม่ คำตอบที่มาจากการเห็นแสงสว่างของเธอคงไม่เป็นที่พอใจหรือเห็นพ้องของทุกคนในขบวนการเป็นแน่ และเมื่อเป็นเช่นนั้น ผู้เล่าเรื่อง Under Western Eyes ก็เลื่อนผลลัพธ์ของการปฏิวัติเข้ามาให้เห็นว่า ในที่สุดแล้วความหมายและโฉมหน้าที่แท้จริงของการปฏิวัติจะเป็นแบบไหน
ในส่วนของกลวิธีการเล่าเรื่อง Conrad ใช้กลวิธีสร้างตัวละครที่มีส่วนเกี่ยวข้องในเรื่องให้มาเป็นผู้เล่าเรื่องราวและสังเกตการณ์อย่างมีระยะห่าง-ในเรื่องนี้ ผู้เล่าเรื่องมาในรูปของครูสอนภาษาชาวอังกฤษ
ข้าพเจ้ายังไม่ได้แนะนำตัวละครเอกของเรื่องให้ท่านทราบด้วยซ้ำ และอยากแนะนำครูสอนภาษาอังกฤษของ Conrad คนนี้เพิ่มเติมอีกสักหน่อย แต่ช่างเถิด เพราะผู้เล่าเรื่องเขาชะงักข้าพเจ้าไว้ตั้งแต่หน้าแรกแล้ว เขาเตือนเราคนอ่านตั้งแต่ต้นว่า โดยอาชีพครูสอนภาษาที่ต้องอยู่กับการใช้ถ้อยคำ เขาพบว่า “Words … are the great foes of reality.” และ “To a teacher of languages, there comes a time when the world is but a place of many words and man appears a mere talking animal not much more wonderful than a parrot.”
5. 24-7/1
ภู กระดาษ เขียน
สำนักพิมพ์ มติชน
แนะนำโดย แมท ช่างสุพรรณ
ผมไม่เชื่อเรื่องอีสาน becoming ที่ยังตกค้างอยู่ในความร่วมสมัย ความไม่เชื่อเกิดขึ้นทั้งจากเรื่องราวของคนอีสานในนิตยสารคู่สร้างคู่สม เรื่องราวของคนอีสานที่ออกไปหากินทั่วทิศต่างแดนจากห้องไกลบ้านในพันทิป และเรื่องราวของคนอีสานที่ประสบพบเจอในชีวิตประจำวัน เรื่องพวกนี้มีที่มาไม่น้อยกว่ายี่สิบปี
ผมออกจะรำคาญด้วยซ้ำกับการกกกอดแง่มุมความทุกข์ยากไว้ไม่ปล่อย เพื่อเอาเรื่องราวเหล่านั้นมาทำมาหากินในทุกๆ วงการ บางคนก็ถนัดในการหากินกับบทเหยื่อไม่รู้จบ เพราะบทเหยื่อนั้นเล่นง่าย รายได้ดี และมีคนดูที่พร้อมจะเห็นอกเห็นใจ
สำหรับผม อีสาน become ไปนานแสนนานแล้ว อย่างน้อยที่สุดก็ตั้งแต่การงานบางอย่างอยู่ในภาวะอัมพฤกษ์อัมพาตทันทีเมื่อคนอีสานเดินทางกลับบ้านในช่วงเทศกาล
24-7/1 ของภู กระดาษ เป็นหนังสืออีกเล่มที่ยืนยันถึงการ become ของอีสานที่ไม่จำนนใจอยู่ภายใต้บทเหยื่อ
ภาคแรก นักเขียนเย้าพวกนักนิยมความช้าหรือความสามัญของชีวิตในแง่มุมของศิลปะ หลายคนไม่ผ่านความอืด หนืด หน่วงของการเริ่มเรื่อง ทั้งที่บูชาความเชื่องช้าในภาพยนตร์ ความช้าในภาคแรกคือการแสดงให้เห็นถึงความโง่งมคือกันของมึงและกูนี่แหละ ถ้ารู้สึกรู้สาอยู่บ้างคงระลึกได้ถึงความช่างไม่รู้อะไรบ้างเลยของตัวละครที่เป็นภาพแทนของคนไม่รู้ตัวที่เต็มไปหมดในสังคม
ภาคสอง นักเขียนชวนความคิดของเราไปรู้ทันประวัติศาสตร์ผลประโยชน์ ผมอาจจะคิดไปเองก็ได้ว่านี่คือการฟาดลงไปที่กลางใจพวกสำนึกพลาดบนความฉลาดเต็มเปี่ยมให้ตื่นเต็มตา ภาคนี้ควรอ่านล้อไปกับ เจ้าหนู เจ้าพ่อ เจ้าเมือง เจ้าแม่ ของอาจินต์ ปัญจพรรค์ ควรอ่านล้อไปกับ อภินิหารบรรพบุรุษ ที่ ก.ศ.ร. กุหลาบ คัดลอกต้นฉบับมาอีกที ควรอ่านล้อไปกับพงศาวดารใดก็ตามที่ผ่านการชำระของสกุลดำรงราชานุภาพ ควรอ่านล้อไปกับ สี่แผ่นดิน ของคุณชายแห่งซอยสวนพลู และควรอ่านล้อไปกับเรื่องวรรณศิลป์เทิดพระเกียรติในทุกรูปแบบ ภาคนี้น่าจะเป็นภาคที่สนุกที่สุดของบรรดานักตาสว่างทั้งที่เพิ่งสร้างและสถาปนาตั้งตนมาพร้อมกับความคิดของคณะราษฎร
ภาคสาม นักเขียนไม่ปกปิดอุดมการณ์ทางการเมืองอย่างชัดเจน “เป็นคอมมิวนิสต์แล้วมันทำไม?” ใช่ ถ้าเป็นรอยัลลิสต์แล้วไปไม่ถึงความเป็นสมัยใหม่ หรือการพัฒนาแล้วเสียที ลองเอาความคิดแบบคอมมิวนิสต์มาปรับใช้บ้างมันจะทำไม อย่าสวมกอดแต่อะไรที่เลอะเทอะอย่างคอมมิวนิสต์เพื่อเฉลิมพระเกียรติ หรือความคลั่งชาติที่ล้าหลังอย่างอนุรักษนิยมสุดเชย
24-7/1 (อย่างน้อยก็สำหรับผม) นอกเหนือไปจากสิ่งที่นิยายอยากจะสื่อเรื่องอำนาจทุนและการปกครองที่ทำให้ชาติไปไหนได้ไม่ไกลทั้งที่คนในชาติถูกขูดรีดเรี่ยวแรงไม่รู้จบอยู่ทุกวินาทีตามชื่อเรื่องแล้ว มันคือการบอกให้คนบางส่วน (ที่อาจจะเป็นส่วนมาก) รู้ว่าอย่ามัวแต่หลงคิดเรื่องอีสาน becoming เพราะหมอกมัวของความตกทุกข์อยู่เลย ที่เห็นไหวๆ อยู่นั่นน่ะคือ dynamic ที่เกิดขึ้นหลังการ become แล้ว ไม่ใช่ static ของการ becoming อย่างทื่อๆ
6. ทุน วัง คลัง (ศักดิ)นา
อภิชาต สถิตนิรามัย และ อิสร์กุล อุณหเกตุ เขียน
สำนักพิมพ์ มติชน
แนะนำโดย ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์
ทุน วัง คลัง (ศักดิ)นา คือคู่มือตีแผ่ให้เห็นว่าระบอบอาณานิคมสยาม-สมบูรณาญาสิทธิราชย์ ธำรงอยู่บนความเหลื่อมล้ำของสังคมสยามอย่างไร คนทั่วไปอาจเรียกว่า ‘ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์’ แต่สำหรับผม ความสัมพันธ์แบบนี้คล้ายกับระบบอาณานิคมที่มีกรุงเทพฯ เป็นศูนย์กลาง โดยมีพื้นที่รอบๆ เป็นประเทศอาณานิคม และคนสยามทั่วประเทศเป็น subject หรือคนใต้บังคับ
หนังสือเล่มนี้ช่วยตอกย้ำให้รู้สึกมั่นใจว่าที่คิดไว้นั้นไม่ได้ผิดทิศผิดทางไปเสียทีเดียว เราจะเห็นว่าหัวใจของการครองอำนาจนำทางเศรษฐกิจและการเมืองที่ผู้เขียนชี้ให้เห็นก็คือ อำนาจในฐานะการครอบครองที่ดิน (landlord), อำนาจของการจัดการทรัพย์สินของกษัตริย์ที่ไม่แยกความเป็นสมบัติส่วนตัวกับสาธารณะ และการเก็บภาษีและคลัง
ระบอบอาณานิคมสยามจัดงบประมาณให้กับสองหน่วยงานหลัก นั่นคือค่าใช้จ่ายสำหรับกษัตริย์และความมั่นคง ขณะที่การศึกษาและสาธารณสุขน้อยจนเห็นได้ชัดว่าไม่ใช่สิ่งที่พวกเขาสนใจ แม้การศึกษาในกรุงเทพฯ จะยกระดับขึ้นมามาก แต่ก็เป็นจำนวนโรงเรียนที่นับหัวได้ การสาธารณสุขไม่ต้องพูดถึง งบต่ำต้อยกว่าการศึกษาเสียอีก การปฏิวัติสยาม 2475 ทำให้เห็นว่า งบประมาณสนับสนุนด้านนี้เพิ่มขึ้นอย่างมหาศาลให้กับเจ้าของอำนาจอธิปไตยตัวจริง
ความขัดแย้งด้านที่ดินเป็นหัวใจสำคัญหนึ่งระหว่างระบอบเก่าและระบอบใหม่ มีคำอธิบายทางวิชาการชี้ว่า ที่ดินเป็นทรัพย์สินรูปธรรมที่ซ่อนไม่ได้ เคลื่อนย้ายหนีไม่ได้ ทำให้ตกเป็นเป้าสำคัญในการตรวจสอบ ความพยายามอย่างสุดขั้วด้วยไอเดียสมุดปกเหลืองของปรีดีที่จะซื้อที่ดินมาเป็นของรัฐจึงเป็นเรื่องคุกคามพวกเขาและเป็นเหตุหนึ่งที่กลายเป็นความขัดแย้งใหญ่ (กระทั่งแม้ภายในคณะราษฎรด้วยกันก็ยังอึกๆ อักๆ)
ส่วนทรัพย์สินกษัตริย์ที่ไม่แยกระหว่างกระเป๋าส่วนตัวกับกระเป๋าเงินที่ใช้เพื่อบ้านเมือง ตอนมีเงินมากก็ไม่เป็นไรหรอก แต่พอมาถึงสมัยหนึ่งที่กระแสเงินสดไม่เพียงพอ ทำให้ค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนกลายเป็นภาระทางการคลัง ภายหลังคณะราษฎรพยายามทำให้เรื่องนี้ชัดเจนขึ้น สำหรับฝ่ายเจ้านี่คือการยึดทรัพย์ แต่สำหรับระบอบใหม่แล้ว นี่คือการทำให้ชัดระหว่าง private กับ public property เพราะเราได้เปลี่ยนระบบการปกครองและอำนาจอธิปไตยไปแล้ว การงัดกันหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จนทำลายหลักการสำนักทรัพย์สินส่วนกษัตริย์ที่คณะราษฎรสร้างมา คือชัยชนะที่ยืนยันมาอีกยาวและเข้มข้นขึ้นในเร็วๆ นี้
ไม่เท่าไหร่ หากเรามองมาที่ความเหลื่อมล้ำทางด้านภาษี พบว่ามีการเก็บภาษีกับราษฎรที่มีเบี้ยบ้ายรายทางเต็มไปหมด ไม่ว่าจะภาษีรายหัวจากชายฉกรรจ์ในอัตราคงที่ ที่แม้คนจนคนรวยก็ถูกเก็บเท่ากัน การเก็บอากรค่านา ค่าผลผลิตทางการเกษตรต่างๆ เต็มไปหมด นี่คือภาระที่ราษฎรต้องแบกตลอดมา ขณะที่คนไม่ต้องเสียภาษี หรือถูกเก็บภาษีน้อยมากคือคนชั้นบนของสังคมไม่กี่เปอร์เซ็นต์ หลังปฏิวัติสยาม 2475 คือรูปธรรมที่สุดของการปลดแอกอาณานิคม(เจ้า)สยาม ด้วยวิธีการถมความเหลื่อมล้ำ ด้วยนโยบายกฎหมาย ภาษี และการลงทุนด้านการศึกษา และสาธารณสุข
ภาษีเงินได้และภาษีการค้าเกิดขึ้นในยุคแห่งการปฏิวัตินี้เพื่อชดเชยจากภาษีที่เก็บมากมายจากราษฎร ขณะเดียวกันภาษีมีฐานที่กว้างขึ้นและมีอัตราก้าวหน้ากว่ายุคอาณานิคม
ดังนั้น ชาวสยามจึงเป็นเสมือนคนใต้บังคับอาณานิคมที่ถูกขูดรีดผ่านการเก็บภาษีในรูปแบบต่างๆ ขณะเดียวกัน รัฐบาลสยามก็ไม่ได้ให้ความสำคัญกับการยกระดับคุณภาพชีวิตด้านการศึกษาและสาธารณสุข หากจะสนับสนุนก็เน้นไปที่กรุงเทพฯ เขตใจกลางเมือง หรือการลงทุนเพื่อรักษาหน้าของประเทศ เพราะต้องไปเจอคำวิจารณ์ของฝรั่งในเวทีนานาชาติ
หนังสือเล่มนี้จึงไม่เพียงแต่จะทบทวนสภาวะอาณานิคมทางเศรษฐกิจของกรุงเทพฯ ในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ แต่ยังชวนให้เรากลับมาขบคิดถึงปัจจุบันว่า ประเทศของเราอยู่ในสภาพใด คนไทยควรค่ากับการมีชีวิตอยู่เช่นนี้ต่อไปจริงๆ หรือ?
7. กาดก่อเมือง ชาติพันธุ์และคาราวานการค้าล้านนา
วราภรณ์ เรืองศรี เขียน
สำนักพิมพ์ มติชน
แนะนำโดย นิติ ภวัครพันธุ์
ปี 2021 ที่กำลังจะผ่านไปนี้ ผมอ่านหนังสือจบไปหลายเล่มด้วยหลายเหตุผล มีทั้งหนังสือภาษาไทยและอังกฤษ ที่จริงผมไม่แน่ใจว่าเล่มไหนดีกว่าเล่มไหน แต่ที่ตัดสินใจแนะนำหนังสือเล่มนี้ – กาดก่อเมือง ชาติพันธุ์และคาราวานการค้าล้านนา เพราะคิดว่าคนอ่านหนังสือทั่วไปในวงกว้างน่าจะชอบ
แม้จะเป็นหนังสือเชิงวิชาการที่ปรับปรุงมาจากวิทยานิพนธ์ปริญญาโทด้านประวัติศาสตร์ แต่กลับมิได้รุงรังด้วยศัพท์แสงทางวิชาการที่อ่านแล้วปวดหัว มึนงง ตรงกันข้าม ผู้เขียนอย่าง วราภรณ์ เรืองศรี อาศัยเอกสารทางประวัติศาสตร์ ทั้งในภาษาไทยและอังกฤษ เขียนเล่าถึงการค้าในอดีตในภาคเหนือ พรรณนาด้วยถ้อยคำง่ายๆ ให้เห็นภาพของพ่อค้าแม่ขายต่างภาษาต่างกลุ่มชาติพันธุ์ ผู้นำสินค้านานาชนิดมาเสนอขายในที่ๆ เรียกกันว่า ‘กาด’ หรือ ‘ตลาด’ ซึ่งแน่นอนว่าบรรดาลูกค้าเองก็ล้วนเป็นคนต่างกลุ่มชาติพันธุ์ ต่างภาษาเช่นกัน
นี่คือสีสันของ ‘กาด’ ที่คนอ่านจะสัมผัสได้ในขณะที่อ่าน
หรือหากคนอ่านต้องการคิดต่อจากผู้เขียนอย่างจริงจัง ผมเสนอว่ามีประเด็นที่อาจ ‘คิดต่อยอด’ ได้อีกหลายประการ – และอาจนำไปพัฒนาเป็นหัวข้อวิทยานิพนธ์ได้ด้วย หากผู้อ่านคนนั้นกำลังศึกษาอยู่ – เช่น ผู้เขียนพาดพิงถึงเรื่องบทบาทของผู้หญิงในการค้า ที่แม้ว่าจะดูเป็นเรื่องปกติในดินแดนแถบนี้ แต่ประเด็นที่น่าสนใจและมีความสำคัญอย่างยิ่งคือผู้หญิงที่ค้าขายในตลาดมิได้มีเพียงบทบาทของแม่ค้าหรือลูกค้าเท่านั้น หากยังเป็น ‘ผู้กระทำ’ ตัวเอกในการสร้างเครือข่ายการค้าและความสัมพันธ์ทางสังคมอื่นๆ (อาทิ เครือญาติ) ที่อาจรวมถึงความสัมพันธ์ทางการเมืองก็ได้
หรือผมอยากเสนอว่าตลาดไม่ได้มีฐานะเป็นเพียงสถานที่ทางเศรษฐกิจเท่านั้น หากยังเกี่ยวข้องกับความอยู่รอดของผู้ปกครองหรือชนชั้นนำด้วย เพราะนอกจากตลาดจะเป็นแหล่งรายได้ของคนกลุ่มนี้ในลักษณะของสินค้า (ที่ไม่มากก็น้อยคือผลผลิตที่คนกลุ่มนี้เก็บมาจากชาวนาชาวไร่และคนกลุ่มอื่นๆ) และภาษีอากร ยังเป็นที่รวมสินค้าต่างๆ ที่ชนชั้นนำต้องการเพื่อการบริโภคอีกด้วย
นอกจากนี้ ยังอาจตั้งคำถามเรื่องระบบและเครือข่ายการค้า รวมถึงการขนส่ง หรือประเด็นเรื่องสินค้าและกลุ่มชาติพันธุ์ว่าเกี่ยวข้องกันอย่างไร มีเหตุผลอะไรอยู่เบื้องหลัง หรือเรื่องการบริโภค ซึ่งเห็นได้จากประเภทและจำนวนของสินค้าที่ปรากฏในตลาด – รายละเอียดเหล่านี้บอกอะไรแก่เรา
ที่กล่าวมานี้เป็นเพียงเศษเสี้ยวทางความคิดที่ผมได้จากการอ่านหนังสือเล่มนี้ ที่หากพิจารณาจากชื่อเรื่องและรูปลักษณ์ภายนอก คนอ่านอาจคิดว่าเป็นหนังสือวิชาการที่น่าเบื่อ แต่เมื่อพลิกอ่านเนื้อหาสาระข้างใน ผมค่อนข้างมั่นใจว่าท่านนักอ่านทั้งหลายจะเพลิดเพลินไปกับรายละเอียดที่น่าสนใจ สนุกกับการเขียนแบบเล่าเรื่อง และถ้าอยากคิดต่อเชิงวิชาการก็มีประเด็นมากมายที่อาจนำไปไตร่ตรองเพื่อศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติมได้
8. สุสานสยาม
ปราปต์ เขียน
สำนักพิมพ์ แพรวสำนักพิมพ์
แนะนำโดย ธีวินท์ สุพุทธิกุล
นิยายของปราปต์มีความโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์มาตั้งแต่ชิ้นเดบิวต์ และยังคงอัตลักษณ์ชัดเจนในผลงานต่อๆ มา ไม่ว่าการผูกเรื่องเข้ากับข้อเท็จจริงอย่างละเอียดลออ การอ้างอิงศิลปะวรรณคดีไทยอย่างหวือหวา การผูกและเฉลยปมปริศนาแบบสืบสวนสอบสวน และการเรียงร้อยประโยคที่มีคำสัมผัสราวกับงานร้อยกรอง สุสานสยามยังคงข้อเด่นเช่นนั้นแต่แทนที่บริบทของเรื่องราวจะเป็นอดีตหรือปัจจุบัน ปราปต์พาเราข้ามสู่โลกอนาคต สำรวจประเทศไทยแบบดิสโทเปียที่เวลานั้นไม่เหลือแม้แต่แผ่นดินของตนเอง คนสยามอาศัยบนดินแดนที่ชาติอื่นเจียดให้และถูกมอบหมายให้ทำหน้าที่ ‘กำจัดขยะ’ แต่ไม่วายผู้นำสยามพยายามปกครองโดยใช้ชาตินิยมและอนุรักษนิยมสุดโต่งหล่อเลี้ยงอำนาจเผด็จการ ควบคุมแม้แต่คำพูดคำจา คำเรียกวัตถุสิ่งของที่ต้องย้ำความเป็นไทย ระบบชนชั้นกลายเป็นสถาบันที่ครอบงำและเข้มแข็ง บีบขับให้ผู้ที่ดิ้นรนต่อต้านลงไปปฏิบัติการใต้ดิน
แม้โลกอนาคตนี้จะประดิษฐ์ขึ้นจากจินตนาการ แต่งานชิ้นนี้สะท้อนสภาพการเมืองที่สังคมไทยเผชิญอยู่ช่วงไม่กี่ปีนี้ได้อย่างเป็นเนื้อเดียวกัน จนอาจเรียกได้ว่าเป็นงานแต่งที่เสียดสีเยาะหยันสังคม ปราปต์ใช้เรื่องราวสำรวจความคิดจิตใจของตัวละครแต่ละฝ่ายที่เชื่อมโยงได้ง่ายกับกลุ่มอุดมการณ์ที่มีอยู่ ณ เวลานี้ สิ่งที่เกิดขึ้นคืออารมณ์ร่วมที่ผู้อ่านเข้าถึงได้ในแง่การเอาตัวรอดในสังคมที่แตกแยก การยืนหยัดต่อสู้กับอำนาจ ความสับสนและอัดอั้นของคนหนุ่มสาวที่กลายเป็นบ่อเกิดของโรคร้ายปริศนาและการสืบสวน
ทั้งหมดนี้ทำให้สุสานสยามเป็นงานดิสโทเปียที่สะท้อนสังคมยุคนี้ได้อย่างมีชั้นเชิง
9. Capital
คาร์ล มาร์กซ์ เขียน
สำนักพิมพ์ Penguin Classics
แนะนำโดย ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ
ปีที่ผ่านมา ผมอ่านหนังสือเล่มนี้มากที่สุด เพราะต้องการแปลออกมาเป็นภาษาไทย ทำให้ความสนใจและเวลาในการอ่านหนังสือเล่มอื่นๆ ซึ่งว่าไปแล้วอาจสนุกและเพลิดเพลินกว่าเล่มที่ผมกำลังอ่านและแปลอยู่ได้หดหายไป ยิ่งพบว่าหลังจากลงมืออ่านและแปลไปได้สักบทสองบท ก็ค่อยๆ ซึมซับความคิดและทฤษฎีที่อยู่เบื้องหลังงานเขียนชิ้นมหึมาและทรงอิทธิพลอย่างหาเล่มอื่นเปรียบได้ยากแล้ว ทำให้วางไม่ลง เกิดแรงบันดาลใจในการทำงานแปลนี้ต่อมา จนบัดนี้เสร็จร่างแรกไปได้อย่างคาดไม่ถึง
หนังสือเรื่อง Capital ของคาร์ล มาร์กซ์ เป็นหนังสือคลาสสิกของโลก สิ่งที่คล้ายกันสำหรับหนังสือพวกนี้คือ คนเกือบทุกคนรู้จักและอาจเล่าประเด็นสำคัญให้คนอื่นฟังได้ แต่น้อยคนที่จะได้อ่านหนังสือคลาสสิกจนจบทั้งเล่ม เพราะมันหนาและยาวมาก แต่อีกปัจจัยที่ทำให้คนไม่อาจอ่านจนจบได้ คือความยากและซับซ้อนในเนื้อหากับการมีความต้องการบางอย่างก่อนแล้วจากข้อเขียน ซึ่งที่คนคาดฝันจะได้เจอนั้น มักไม่เจอหรือประเด็นที่อยากอ่านไม่ค่อยมีให้อ่าน กล่าวคืออยากอ่านบทหรือข้อความที่ทำให้เกิดความคิดปฏิวัติ สามารถวิเคราะห์สภาพสังคมและการเมืองรวมเศรษฐกิจได้อย่างทะลุปรุโปร่ง หรือคือเป็นคู่มือสำหรับนักปฏิวัติสายสังคมนิยม
หลายปีก่อนโน้น ตอนที่ผมซื้อหนังสือเล่มนี้ก็คิดคาดหวังทำนองนี้ แต่เมื่อเปิดอ่านไปหลายสิบหน้า ก็ไม่เจอแนวคิดทฤษฎีการปฏิวัติอะไรอย่างตรงๆ เลย แล้วทำไมถึงกลายเป็น ‘หนังสือต้องห้าม’ ในแทบทุกประเทศเล่า เพราะเจ้าหน้าที่ตำรวจสันติบาลหรือสำนักความมั่นคงทั่วโลก ก็ไม่เคยอ่านหนังสือเล่มนี้ด้วยเหมือนกัน แต่รู้เพียงว่าพรรคคอมมิวนิสต์ทั่วโลกชูหนังสือเล่มนี้และผู้ประพันธ์เป็นปรมาจารย์ แค่นี้ก็พอทำให้มันเป็นหนังสืออันตรายอย่างยิ่งต่อชนชั้นปกครองทั่วโลก
เนื้อหาหลักๆ ของ Capital วางอยู่บนการวิเคราะห์กำเนิดและพัฒนาการยุคแรกของการผลิตนายทุน น่าสังเกตว่าทั้งเล่มหนึ่งนี้ มาร์กซ์ไม่ได้เรียก ‘ระบบทุนนิยม’ หรือ capitalism เลย เขาพูดถึง ‘การผลิตของนายทุน’ ว่าดำเนินการอย่างไรในการสร้างกำไรจากการจ้างคนงานมาทำการผลิตด้วยเครื่องมือในการผลิตที่เป็นของนายทุน แม้เขามองเห็นถึงภาพรวมที่เป็นลักษณะทั่วไปของทุนแล้วก็ตาม เห็นถึงอิทธิพลที่ไปทำลายระบบการผลิตของประเทศในเอเชีย รวมถึงการทำลายสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติของโลก แต่สมัยของเขาในครึ่งหลังของศตวรรษที่ 19 ความรับรู้และเข้าใจในระบบทุนที่คนยอมรับคือทฤษฎีของสำนักเศรษฐศาสตร์การเมือง ที่เขาเรียกว่า ‘กระฎุมพี’ (bourgeoisie) ดังนั้นก่อนที่จะเสนอทฤษฎีใหม่ที่ก้าวหน้ากว่าของระบบทุน เขาต้องวิพากษ์ทฤษฎีกระฎุมพีนี้ลงไปเสียก่อน นี่เองคือเหตุผลหนึ่งว่าทำไมข้อเขียนหลายบทถึงต้องยาวและเป็นทฤษฎีมาก ก็ด้วยเหตุที่ว่าเขามัวทะเลาะกับนักทฤษฎีกระฎุมพีเหล่านี้อย่างเอาจริงเอาจัง
กล่าวได้ว่ามาร์กซ์สร้างทฤษฎีเรื่องทุนขึ้นมาบนการวิพากษ์ทฤษฎีของนักเศรษฐศาสตร์การเมืองคลาสสิกของนักคิดใหญ่เช่นอดัม สมิธ และ ริคาร์โด ที่มองว่าพัฒนาการของเศรษฐกิจการค้าและอุตสาหกรรมในยุโรปขณะนั้นเป็นการดำเนินการอย่างปกติของความสัมพันธ์ระหว่างทุน แรงงานในระบบตลาด ซึ่งปัจจุบันเรียกว่าเศรษฐศาสตร์เสรีนิยม แม้มีปัญหาขัดแย้งก็เป็นเรื่องธรรมดา แก้ได้ในระบบ ไม่ต้องไปควบคุมจำกัดอะไรให้มากเรื่อง
แต่มาร์กซ์ค้นพบว่า ปัจจัยที่สำคัญที่สุดในระบบการผลิตทุนนั้นคือแรงงานมนุษย์ ที่เขาเรียกว่า ‘กำลัง-แรงงาน’ (labor-power) ในการผลิตสินค้า ความไม่ปกติที่เขาพบคือความแตกต่างระหว่างมูลค่าในผลิตภัณฑ์ของแรงงานและค่าใช้จ่ายในการผลิตกำลังแรงงาน หรือก็คือค่าใช้จ่ายในการดำรงชีวิตของคนงาน นี่คือที่มาของ ‘มูลค่าส่วนเกิน’ (surplus value) อันเป็นมโนทัศน์ที่มาร์กซ์เป็นคนสร้างขึ้นมา รวมทั้งการเสนอเป็นคนแรกว่าในสิ่งของที่คนผลิตออกมานั้นมีมูลค่าสองอย่างที่ตรงข้ามกัน คือ มูลค่าในการใช้ (use-value) กับ มูลค่าในการแลกเปลี่ยน (exchange-value) ซึ่งเป็นความสัมพันธ์ที่เป็นปฏิปักษ์ด้วย
แน่นอนว่าส่วนที่ผมชอบมากเป็นพิเศษได้แก่ประวัติศาสตร์ มาร์กซ์ใช้ประวัติศาสตร์ในการวิเคราะห์ลักษณะเด่นของการผลิตนายทุน เช่น ระบบสังคมโบราณหรือก่อนทุนนั้นไม่มีการแยกผู้ผลิตโดยตรงออกจากปัจจัยในการผลิต ชาวนาหรือไพร่ก็มีจอบเสียมและผืนดินสำหรับทำเพาะปลูก แม้เจ้าของที่ดินเป็นขุนนางหรือกษัตริย์ แต่ไพร่ ทาสกสิกร ก็ใช้ประโยชน์ด้วยแรงของตนเองเต็มที่ จึงมีกินไม่อดตาย ไม่ต้องง้อ แต่ในระบบทุน ชาวนาถูกยึดที่ทำกิน ต้องไปขายแรงงานในโรงงาน ความสัมพันธ์จึงเปลี่ยนไป เป็นการผลิตที่คนสองฝ่ายต้องสัมพันธ์กันตลอดเวลา ขาดฝ่ายหนึ่งไม่ได้ แต่เป็นความสัมพันธ์ที่ไม่เท่ากัน นายทุนจ้างคนงานตามความพอใจ ไม่ต้องการให้ทำตลอดไป เพราะอาจเปลี่ยนเวลาทำงาน ปรับค่าจ้างแรงงาน ปรับเครื่องจักร ซึ่งมักเรียกร้องให้คนงานทำงานมากขึ้นและได้ค่าแรงน้อยลง ในขณะที่คนงานต้องการทำงานที่ยั่งยืนตลอดไป ไม่อยากเปลี่ยน เพราะจะได้มีหลักประกันว่าจะมีอาหารกินเลี้ยงครอบครัวได้ตลอดไป การก่อตั้งสหภาพแรงงานเพื่อต่อรองจึงเป็นสิ่งที่นายทุนทุกแห่งไม่ต้องการให้มีขึ้น ในประวัติศาสตร์ระบบการผลิตส่วนใหญ่เป็นแบบ ‘รวมหมู่’ ผู้ผลิตจึงอาศัยไหว้วานช่วยกันตามสภาพ ไม่มีใครทำการผลิตและบริโภคแบบปัจเจกตัวใครตัวมัน การทำให้ที่ดินเป็นทรัพย์สินส่วนตัวเป็นเรื่องที่คิดไม่ได้เลย ผมรู้สึกว่ายิ่งมาร์กซ์รังเกียจและขยะแขยงในระบบทุนมากเท่าใด เขาก็ยิ่งโหยหาและรู้สึกถึงด้านบวกที่มีความเป็นมนุษย์ของสังคมก่อนทุนนิยมมากเท่านั้น
ประเด็นสุดท้าย อ่าน Capital ของมาร์กซ์แล้วได้อะไร
ข้อแรก คือได้เห็นวิธีการศึกษาและวิเคราะห์อย่างเป็นรูปธรรม ที่บอกว่าศึกษาจากรูปธรรมอย่างเป็นรูปธรรม เช่นสินค้า แล้วจึงไปสู่การสังเคราะห์รวบยอดอย่างที่เรียกว่าตกผลึก (crystallized) เกิดเป็นมโนทัศน์หรือความคิดรวบยอดที่กลายมาเป็นทฤษฎีนั่นเอง ซึ่งก็คือทฤษฎีมูลค่า มูลค่าส่วนเกิน และการสะสมทุน ทั้งหมดนี้เกิดเป็นกำไรแก่นายทุนที่ขยายทุนต่อไปอีกไม่สิ้นสุด นอกจากวิธีวิทยาแล้ว ที่สำคัญยังมีกรอบความคิดเบื้องหลังการทำงานและศึกษาด้วย นั่นคือทรรศนะวัตถุนิยมวิภาษ (dialectical materialism) วิภาษวิธีเปรียบเสมือนแว่นหรือกล้องจุลทรรศน์ ที่ช่วยทำให้การมองด้วยตาเปล่า มีความแหลมคม เห็นได้ไกลและชัดกว่าตาปกติ อุดมการณ์ดังกล่าวนี้พูดอย่างง่ายๆ คือ การมองดูสรรพสิ่งอย่างที่มันเคลื่อนไหว เปลี่ยนแปลงไปตามสภาพแวดล้อมและธรรมชาติของมัน
ดังนั้นทรรศนะและวิธีวิทยาแบบของมาร์กซ์จึงพิจารณาและสร้างความรับรู้ในเรื่องนั้นๆ บนสภาพความเป็นจริงทั้งภายในและภายนอกอย่างที่มันเป็น เช่น สินค้ามีมูลค่าที่ตรงข้ามกันในตัวมันเองเรียกว่าเป็นภววิสัย โดยระวังไม่ให้ความรู้สึกส่วนตัวของเราเข้าไปตัดสินและกำหนดการศึกษานั้นๆ เรียกว่าอัตวิสัย กระบวนการศึกษานี้จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ต้องอาศัยประวัติศาสตร์เป็นพื้นฐานและกระบวนการที่ทำให้ปรากฏการณ์ทั้งหลายดำเนินมาอย่างต่อเนื่องในความคิดของเรา ประวัติศาสตร์นี้จึงดำเนินมาด้วยวิถีการผลิตอันครอบคลุมถึงปัจจัยการผลิตและความสัมพันธ์ในการผลิตว่าเป็นอย่างไร ใครเป็นเจ้าของ ใครผลิต และแบ่งปันผลผลิตกันอย่างไรเป็นต้น
หลังจากอ่าน Capital แล้ว ทำให้ผมพอเข้าใจว่าทำไมคนงานถึงตกอยู่ในสภาพที่ไร้อนาคต เพราะนายทุนสร้างวิธีการในการขูดรีดแรงงานอย่างซับซ้อนมานับแต่วันแรกเริ่มการก่อรูประบบทุน ทั้งหมดถูกเรียกว่าการสร้างระบบการทำงานที่มีประสิทธิภาพ ในยุคโลกร้อนก็เรียกว่าระบบงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เป็นการอนุรักษ์ธรรมชาติ นี่เองเป็นเหตุผลว่าทำไมข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวกับคนงานและสภาพชีวิตที่เป็นจริงของพวกเขาถึงไม่มีการเสนอและทำให้สังคมรับรู้ว่าความจริงคืออะไร
ทั้งนี้เพราะสถาบันทั้งการเมืองการปกครอง การค้า อุตสาหกรรม การศึกษา สื่อสารมวลชน องค์กรสังคมทั้งหลายล้วนต้องอาศัยเงินในการดำรงอยู่และยืดชีวิตตัวเอง ไม่มีใครอยากทุบหม้อข้าวตัวเองกันทั้งนั้น
10. Downfall
Inio Asano เขียน
สำนักพิมพ์ VIZ Media
แนะนำโดย คันฉัตร รังษีกาญจน์ส่อง
ผู้อ่านมังงะอาจคุ้นเคยกับ อินิโอะ อาซาโนะ (Inio Asano) ในฐานะนักเขียนที่ถ่ายทอดชีวิตอันว่างเปล่าหดหู่ของวัยรุ่นหนุ่มสาว อาทิ Solanin, Goodnight Punpun หรือ A Girl on the Shore หากแต่ Downfall เป็นผลงานที่ต่างออกไป มันว่าด้วยนักเขียนการ์ตูนวัย 40 ที่คิดงานไม่ออก ขอหย่ากับภรรยา เกลียดมนุษย์ เกลียดสังคม และสำคัญที่สุดคือเกลียดตัวเอง
จุดเด่นของมังงะเรื่องนี้คือมันไม่เรียกร้องให้คนอ่านเห็นอกเห็นใจตัวเอกเลย เขาเป็นบุคคลน่ารังเกียจอย่างไม่ต้องสงสัย ทว่าเราอาจเห็นบางสิ่งที่ซ้อนทับกันระหว่างตัวเรากับพระเอก ถึงที่สุดแล้วเราล้วนคือมนุษย์ชั่วร้ายที่ต้องเอาชีวิตรอดให้ได้ในโลกอันโหดร้ายใบนี้ (อนึ่ง ผลงานของอาซาโนะเรื่อง Dead Dead Demon’s Dededede Destruction เพิ่งออกฉบับแปลไทยเมื่อธันวาคม 2021 โดยสำนักพิมพ์ NED)
11. Piracy in World History
Stefan Amirell, Hans Hägerdal, and Bruce Buchan บรรณาธิการ
จัดพิมพ์โดย Amsterdam University Press
แนะนำโดย ปรีดี หงษ์สต้น
ช่วงท้ายปีที่หลายท่านอาจจะพยายามหาโอกาสอ่านหนังสือช่วยแนะแนวทางอนาคตเพื่อดูทิศทางของปีถัดไป ผมขอชวนอ่านอะไรที่ย้อนไปในประวัติศาสตร์กันสักหน่อยเพื่อเปลี่ยนบรรยากาศ
Piracy in World History เป็นรวมบทความประวัติศาสตร์โลกของ ‘โจรสลัด’ ตั้งแต่ยุคต้นสมัยใหม่ บทความครอบคลุมผ่านกรณีตัวอย่างหลากหลาย จากคณะผู้เขียนหลายคน
ความใหม่ของหนังสือเล่มนี้คือการพิจารณามโนทัศน์เรื่อง ‘โจรสลัด’ เสียใหม่ ที่ไม่จำกัดอยู่แต่เพียงโลกยุโรปเท่านั้น
หนังสือเล่มนี้คงจะทำให้ผู้อ่านหันมาคิดใหม่ว่า การจะมองว่าใครเป็น ‘โจรสลัด’ นั้น อาจจะไม่ใช่เรื่องง่ายอย่างที่คิด
เพราะบางที ‘โจร’ อาจจะมาในคราบของคนดีก็ได้
12. บทเรียนเพื่อโลกหลังการระบาด (Ten Lessons for a Post-Pandemic World)
ฟารีด ซาคาเรีย เขียน
วิภัชภาค แปล
สำนักพิมพ์ มติชน
แนะนำโดย นำชัย ชีววิวรรธน์
โลกสมัยใหม่มีความสลับซับซ้อนยากที่จะเห็น ‘ภาพรวม’ ทั้งหมดได้โดยง่าย เมื่อเกิดโรคระบาดใหญ่โควิด-19 ไปทั่วโลก ก็เหมือนข้อมูลจะยิ่งมีมากมายมหาศาลและดูวุ่นวายสับสนจนยากจะสรุปหรือจับต้นชนปลายได้ถูก
บทเรียนเพื่อโลกหลังการระบาด โดย ฟารีด ซาคาเรีย ไม่เพียงแต่ให้ข้อมูลภาพรวมที่ย่อยมาแล้วเป็นอย่างดี ทั้งสภาวะที่ประเทศต่างๆ ต้องรับมือโรคร้ายแรงแห่งศตวรรษนี้และผลลัพธ์ที่ได้จากกลยุทธ์ต่างๆ ที่ใช้ รวมไปถึงการมองไปเบื้องหน้ายังอนาคตอันใกล้ว่า โลกจะเปลี่ยนแปลงไปในทางใดกันแน่
เรื่องที่น่าสนใจเป็นพิเศษคือซาคาเรียไม่เพียงแต่จะฉายภาพโลกปัจจุบันได้ชัดเจน แต่ยังสามารถบอกเล่าถึงที่มาผ่านประวัติศาสตร์ของเศรษฐกิจ การเมือง สังคม วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีในแต่ละยุคได้อย่างชัดเจนและลึกซึ้ง ชวนให้พินิจพิจารณาตามไปด้วยอย่างแยบคาย
13. ออง ซาน ซูจี วีรสตรีประชาธิปไตยพม่า
ดร. กุลธิดา บุณยะกุล-ดันนากิ้น เขียน
สำนักพิมพ์ ก้าวแรก พับลิชชิ่ง
แนะนำโดย วิสุทธิ์ คมวัชรพงศ์
“โลกรู้ดีว่าเรายังคงเป็นนักโทษในประเทศของเรา” นี่คือคำให้สัมภาษณ์ของ ออง ซาน ซูจี วีรสตรีประชาธิปไตยของพม่า หลังได้รับอิสรภาพครั้งแรกเมื่อต้นเดือนธันวาคม 1995
แต่ในที่สุด ออง ซาน ซูจี ก็กลับเข้าสู่อำนาจทางการเมืองอีกครั้งหนึ่ง ด้วยการชนะการเลือกตั้งอย่างถล่มทลายจนกลายเป็นที่จับตามองจากทั่วโลก ว่าเธอจะบริหารประเทศอย่างไรภายใต้อำนาจเก่าที่ยึดโยงประเทศนี้มาอย่างยาวนาน
ซูจีเลือกใช้แนวทางสันติวิธี ประนีประนอมกับคำว่าอำนาจเก่า ไม่ใช่วิธีหักล้างและแก้แค้นทางการเมือง ทั้งๆ ที่เธอถูกกระทำมาโดยตลอด จนทำให้พม่ากลายเป็นโมเดลใหม่ของการเปิดโลกประชาธิปไตยในการเปลี่ยนผ่าน
แต่วันนี้ ออง ซาน ซูจี กลับกลายมาเป็นนักโทษการเมืองอีกครั้งหนึ่ง
1 กุมภาพันธ์ 2021 พลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย ได้ยึดอำนาจรัฐบาล ออง ซาน ซูจี โดยเข้าบุกควบคุมตัวเธอ พร้อมกับประธานาธิบดีและแกนนำ ในเวลาต่อมา ซูจีปรากฏตัวต่อศาลในชุดนักโทษอีกครั้ง ก่อนที่จะถูกตัดสินโทษในคดีแรก โดยเธอถูกตัดสินจำคุก 4 ปี และแน่นอนว่ายังมีคดีอื่นรออยู่อีกมากมาย
เรื่องนี้กลายมาเป็นประเด็นร้อนของการเมืองโลกและประเด็นใหญ่ของประเทศอาเซียน ซึ่งล้วนมีท่าทีต่อเรื่องนี้ ตลอดจนรัฐบาลพม่า และการรัฐประหารในพม่าในแง่มุมที่แตกต่างกัน เพื่อย้อนตำนานและจับตาสถานการณ์การเมืองพม่าว่าจะไปต่ออย่างไร การได้กลับมาอ่าน ออง ซาน ซูจี วีรสตรีประชาธิปไตย อีกคราจึงเป็นเรื่องที่ควรค่าอย่างยิ่ง
14. โต๊ะอาหารที่จิแวร์นี (À table à Giverny)
มาฮา ฮาราดะ เขียน
กนกวรรณ เกตุชัยมาศ แปล
สำนักพิมพ์ ซันเดย์ อาฟเตอร์นูน
แนะนำโดย ธนาวิ โชติประดิษฐ
“ศิลปินนี่เป็นสิ่งมีชีวิตประเภทไหนก็ไม่รู้เนอะ” (หน้า 65)
ในรวมเรื่องสั้น โต๊ะอาหารที่จิแวร์นี (À table à Giverny) มาฮา ฮาราดะ (Maha Harada) นักเขียนและภัณฑารักษ์ชาวญี่ปุ่น บอกเล่าเรื่องราวของ อ็องรี มาติส (Henri Matisse), เอ็ดการ์ เดอกาส์ (Edgar Degas), ปอล เซซาน (Paul Cézanne) และโคลด โมเนต์ (Claude Monet) ศิลปินสมัยใหม่ผู้ใช้ชีวิตอยู่ในช่วงรอยต่อระหว่างศตวรรษที่ 19-20 จากมุมมองและเสียงของผู้หญิงที่แวดล้อมพวกเขาอย่างแม่บ้าน, เพื่อนศิลปินหญิง, ลูกสาวเจ้าของร้านขายอุปกรณ์วาดภาพ และลูกเลี้ยงของศิลปิน
ภายใต้ความนวลละมุนที่ปกคลุมเรื่องเล่า ฮาราดะเผยให้เห็นความเป็น ‘ไอดอล’ และ ‘ไอคอน’ แห่งโลกศิลปะของศิลปินเหล่านี้ผ่านความถ้อยทีถ้อยอาศัยและการพึ่งพา โดยให้ฝ่ายหญิงเป็นตัวดำเนินเรื่อง บทบาท ‘ผู้สนับสนุน’ และ/หรือ ‘ผู้ดูแล’ ของฝ่ายหญิงขับเน้นทั้งประเด็นเรื่องเพศในโลกศิลปะและตำนานความเป็นอัจฉริยะของศิลปิน
ถึงแม้ว่าโต๊ะอาหารที่จิแวร์นี จะปราศจากท่าทีอหังการหรือดราม่าเร้าอารมณ์อย่างที่เรามักพบในนิยายชีวิตศิลปินอย่าง วินเซนท์ แวนโก๊ะห์ (Vincent van Gogh) ใน ไฟศิลป์ (Lust of Life) โดยเออร์วิง สโตน (Irving Stone) แปลโดย กิตติมา อมรทัต หรือ ปอล โกแกง (Paul Gauguin) ใน วิถีเถื่อน (The Gold of Their Bodies) โดย ชาร์ลส์ กอแฮม (Charles Gorham) แปลโดย กิตติมา อมรทัต รวมเรื่องสั้นชุดนี้ก็ยังอยู่ในมนต์ขลังของขนบแนวคิดเรื่องอัจฉริยภาพของศิลปิน (ที่มีแต่ผู้ชาย) ที่ตกทอดกันมานาน อาจเป็นคราบที่สลัดไม่หลุด หรืออาจเป็นการวิพากษ์โดยนัย?
โต๊ะอาหารที่จิแวร์นี ร้อยเรียงผู้คน สถานที่และเหตุการณ์ต่างๆ ในแวดวงศิลปะในยุคนั้นให้เป็นส่วนหนึ่งของเรื่องเล่าได้อย่างน่าสนใจ ไม่ว่าจะเป็นความสัมพันธ์ระหว่างมาติสกับปาโบล ปิกาโซ (Pablo Picasso) บทบาทของมหาเศรษฐีผู้อุปถัมภ์ศิลปะ เนลสัน ร็อกเกเฟลเลอร์ (Nelson Rockefeller) แกลเลอรีของปอล ดูร็อง-รูเอล (Paul Durand-Ruel) ร้านขายอุปกรณ์วาดภาพของ ‘พ่อต็องกีย์’ (Père Tanguy) การคิดค้นสีน้ำมันบรรจุหลอด หรือความหลงใหลในศิลปวัฒนธรรมญี่ปุ่นของศิลปินฝรั่งเศส
เหมาะที่จะอ่านทั้งในฐานะประวัติศาสตร์ศิลปะที่นำเสนอในรูปของเรื่องสั้น และเรื่องสั้นอิงประวัติศาสตร์ศิลปะ ชวนให้ค้นคว้าต่อว่าส่วนไหนเป็นข้อเท็จจริง ส่วนไหนเป็นจินตนาการ
*ศิลปินหญิง แมรี คาสซาตต์ (Mary Cassatt) ใน เอตวล และบล็องช์ โอชเด โมเนต์ (Blanche Hoschedé Monet) ใน โต๊ะอาหารที่จิแวร์นี (เรื่องสั้นชื่อเดียวกับชื่อหนังสือ) เป็นตัวเอกที่มีพื้นฐานมาจากบุคคลที่มีตัวตนจริง
โต๊ะอาหารที่จิแวร์นี (À table à Giverny) โดยมาฮา ฮาราดะ (Maha Harada) แปลจากภาษาญี่ปุ่นเป็นภาษาไทยโดยกนกวรรณ เกตุชัยมาศ บรรณาธิการภาษาญี่ปุ่นโดยฐิติรัตน์ ทิพย์สัมฤทธิ์กุล ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี 2563 สำนักพิมพ์ซันเดย์ อาฟเตอร์นูน
15. Anyuan: Mining China’s Revolutionary Tradition (อานหยวน: ขุดหาขนบปฏิวัติจีน)
Elizabeth J. Perry เขียน
จัดพิมพ์โดย University of California Press
แนะนำโดย อติเทพ ไชยสิทธิ์
เป็นเวลานานมากแล้วก่อนที่จะได้อ่านหนังสือเล่มนี้ ที่ภาพวาดชิ้นหนึ่งประทับอยู่ในความทรงจำของผู้เขียน ภาพวาดชิ้นนี้ชื่อว่า ‘ประธานเหมาเดินทางสู่อานหยวน’ เป็นภาพเหมา เจ๋อตงในวัยหนุ่มสวมชุดจีนยาว ในมือกุมร่มกระดาษกำลังมุ่งเดินไปข้างหน้าอย่างเด็ดเดี่ยว
เมื่อแรกเห็นภาพนี้ก็พลันเกิดคำถามกับตนเอง ‘อานหยวนอยู่ที่ไหนและสำคัญอย่างไร’
หนังสือเรื่อง Anyuan: Mining China’s Revolutionary Tradition (อานหยวน: ขุดหาขนบปฏิวัติจีน) ของ Elizabeth J. Perry ช่วยให้คำตอบนี้กับผู้เขียนอย่างกระจ่างชัด
‘อานหยวน’ เป็นตำบลที่ตั้งอยู่บริเวณรอยต่อของมณฑลเจียงซีและหูหนาน แต่เดิมมาขึ้นชื่อเรื่องการทำประทัด แม้จะตั้งอยู่ในชนบทแต่ก็เป็นเขตที่มีกิจการเหมืองขนาดใหญ่กินพื้นที่มากถึง 250 ตารางกิโลเมตร ด้วยความที่เป็นชนบทและมีวัฒนธรรมอย่างชนบท อานหยวนถือเป็นเขตอุตสาหกรรมสมัยใหม่มี ‘ผู้ใช้แรงงาน’ จำนวนมากมายหลายหมื่นคน นอกจากนี้ พื้นที่แถบอานหยวนก็มีประวัติศาสตร์การลุกฮือต่อต้านรัฐมาเป็นเวลาหลายร้อยปี ซึ่งมีเอกลักษณ์อย่างการมีสมาคมอั้งยี่ที่เข้มแข็งมาก คนงานเหมืองส่วนใหญ่เป็นสมาชิกสมาคมอั้งยี่ ซึ่งในบางบริบททำหน้าที่ไม่ต่างจากสหภาพแรงงานในยุคสมัยใหม่ที่คอยเป็นตัวแทนเจรจาเรียกร้องสวัสดิภาพของคนงานเหมืองที่เป็น ‘คนในสังกัด’
‘อานหยวน’ มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อประวัติศาสตร์การปฏิวัติจีน แม้พรรคคอมมิวนิสต์จีนจะยกให้ฐานที่มั่น ‘จิ่งกังซาน’ เป็น ‘อู่แห่งการปฏิวัติ’ เพราะว่าที่นั่นถือเป็นจุดเริ่มต้นยุทธศาสตร์ ‘ชนบทล้อมเมือง’ ที่นำพาพรรคคอมมิวนิสต์จีนไปสู่ชัยชนะในสงครามกลางเมือง แต่ Elizabeth J. Perry มองว่า ‘อานหยวน’ ก็มีความสำคัญไม่ได้ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน เพราะที่นี่เป็นพื้นที่แห่งแรกที่พรรคคอมมิวนิสต์จีนออกทำงานจัดตั้งนอกเขตเมืองใหญ่ ถึงกระนั้น ความสำคัญของ ‘อานหยวน’ ก็ไม่ได้อยู่ที่การเป็น ‘เขตจัดตั้งนอกเมืองใหญ่’ เท่ากับการเป็นเบ้าหลอมให้แกนนำของพรรคคอมมิวนิสต์จีนสามารถดัดแปลงเอา ‘สิ่งแปลกปลอม’ อย่างลัทธิคอมมิวนิสต์ให้ผสานเข้าเป็นเนื้อเดียวกันกับวัฒนธรรมท้องถิ่น หรือที่ Perry เรียกว่า ‘การจัดวางตำแหน่งทางวัฒนธรรม’ (cultural positioning) ได้จนสำเร็จ
ในความเห็นของ Perry ‘การจัดวางตำแหน่งทางวัฒนธรรม’ ต้องใช้คนที่เข้าใจวัฒนธรรมท้องถิ่นนั้นเป็นอย่างดี ซึ่งในกรณีของ ‘อานหยวน’ สมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์จีนที่รับผิดชอบงานจัดตั้งทั้งสามคนคือ หลี่ หลี่ซาน (Li Lishan) หลิว เส้าฉี (Liu Shaoqi) และเหมา เจ๋อตง (Mao Zedong) ล้วนมีพื้นเพเดียวกันกับคนงานใน ‘อานหยวน’ (ทั้งสามคนเป็นคนหูหนาน)
Perry ได้ยกตัวอย่างพฤติการณ์ของหลี่ หลี่ซานในการผูกมิตรกับพวกอั้งยี่ซึ่งมีลักษณะยึดติดในตัว ‘ลูกพี่’ และเชื่อในเรื่องงมงายอย่างไสยศาสตร์และวิทยายุทธ์ Perry เล่าว่าเพื่อเข้าถึงพวกอั้งยี่ หลี่ หลี่ซานถึงขั้นหิ้วไก่และเหล้าไหไปคารวะขอเข้าร่วมสมาคมด้วย จนทำให้เขาสามารถเอาคนงานทำประทัดและนักแสดงสิงโตที่สังกัดสมาคมอั้งยี่มาเป็นพวกจนได้
ที่สำคัญคือหนึ่งในนักแสดงสิงโตที่กลายมาเป็นคนในสังกัดของเขานั้นมี ‘วรยุทธ์’ ไม่เป็นสองรองใคร หลี่ หลี่ซานจึงแนะนำให้นักแสดงสิงโตคนนี้ไปแสดงวรยุทธ์ในที่สาธารณะเพื่อดึงดูดคนรุ่นใหม่ หลังจากแสดงเสร็จก็มีคนหนุ่มติดตามมามากมายและเมื่อมาถึงเขาก็ประกาศว่า “บ้านอาจารย์ของพวกเราอยู่หลี่หลิง (บ้านเกิดของหลี่ หลี่ซาน) แต่บรรพจารย์ผู้ก่อตั้งสำนักของพวกเรานั้นอยู่ไกลแสนไกล หากจะไปหาเขา เจ้าต้องข้ามมหาสมุทรทั้งเจ็ด บัดนี้เขามีอายุมากกว่าหนึ่งร้อยปี มีนามว่าอาจารย์หม่า ท่านผู้เฒ่าเครา (หมายถึง มาร์กซ์ ซึ่งในภาษาจีนคือ หม่าเค่อสือ)” หลังจากประกาศเสร็จ แทนที่จะพูดเรื่องวรยุทธ์ นักแสดงคนนั้นกลับบอก ‘ศิษย์ใหม่’ ของสำนักว่าต่อไปนี้เราจะไม่เรียนวรยุทธ์ แต่เราจะมาทำ ‘กลุ่มศึกษาการเมือง’ ตอนกลางคืนกันแทน – ด้วยวิธีเช่นนี้เองทำให้พรรคคอมมิวนิสต์จีนสามารถหาสมาชิกใหม่ได้อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน และจากเพียงกลุ่มศึกษาในตอนกลางคืน ก็กลายมาเป็นสหภาพคนงานอานหยวนที่มีสมาชิกเรือนหมื่น
ตัวอย่างนี้แสดงให้เห็นว่าหลี่ หลี่ซานรู้ว่าจะต้องใช้ ‘วิธีการ’ (protocol) อย่างไรในการเข้าถึงคนงานในอานหยวน และเรียนรู้ที่จะ ‘พูดภาษาเดียวกัน’ ซึ่งไม่ใช่แค่การพูดด้วยภาษาท้องถิ่นสำเนียงเดียวกันเท่านั้น แต่ยังหมายถึงการถ่ายทอดสิ่งที่อาจจะดูแปลกประหลาด (และเป็นต่างด้าว) ให้คนในอีกวัฒนธรรมสามารถเข้าใจภายใต้โลกทัศน์ที่อยู่ภายในบริบททางวัฒนธรรมนั้น
ผู้เขียนขอแนะนำหนังสือเล่มนี้เป็น ‘ความน่าจะอ่าน’ ประจำปี 2565 ให้กับเพื่อนร่วมขบวนการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ทุกคน หากเราลองพิจารณาว่าข้อเสนอปฏิรูปสถาบันกษัตริย์อาจถือเป็นสิ่งแปลกประหลาดสำหรับวัฒนธรรมอนุรักษนิยม-กษัตริย์นิยมของสังคมไทย การทำความเข้าใจในเรื่อง ‘การจัดวางตำแหน่งทางวัฒนธรรม’ อาจช่วยทำให้เราสามารถสื่อสารกับสังคมในวงกว้างได้มากขึ้น เพราะมีแต่การสร้างฉันทามติของคนส่วนใหญ่ในสังคมเท่านั้นที่จะทำให้การปฏิรูปสถาบันกษัตริย์บรรลุผล
สุดท้ายนี้ขอสวัสดีปีใหม่ 2565 ครับ
16. เศรษฐศาสตร์ที่ดีในยามยาก (Good Economics for Hard Times)
อภิชิต บาเนอร์จี, เอสเทอร์ ดูโฟล เขียน
สายพิณ กุลกนกวรรณ ฮัมดานี แปล
สำนักพิมพ์ โซเฟีย
แนะนำโดย รพีพัฒน์ อิงคสิทธิ์
หลายคนอาจรู้จักชื่อของอภิชิต บาเนอร์จี และ เอสเทอร์ ดูโฟล ในฐานะนักเศรษฐศาสตร์ 2 จาก 3 คนที่เป็นเจ้าของรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ประจำปี 2019 หรืออาจเป็นแฟนหนังสือ เศรษฐศาสตร์ความจน ผลงานชิ้นเอกของทั้งสองที่พาผู้อ่านไปทลายสารพัดมายาคติที่เกี่ยวพันกับความยากจน แต่ผมอยากจะชวนอ่านอีกหนึ่งผลงานล่าสุดของทั้งสอง Good Economics for Hard Times หรือที่เพิ่งแปลเป็นภาษาไทยชื่อว่า เศรษฐศาสตร์ที่ดีในยามยาก
หาก เศรษฐศาสตร์ความจน เน้นเจาะประเด็นความจนแบบลึกซึ้ง เศรษฐศาสตร์ที่ดีในยามยาก คือการประยุกต์แนวคิดทางเศรษฐศาสตร์เพื่อตอบความท้าทายของสังคมในปัจจุบันที่กว้างขึ้น ไม่ว่าจะเป็นผู้ลี้ภัย สงครามการค้าระหว่างประเทศ การเลือกปฏิบัติ และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ด้วยภาษาอ่านสบายรุ่มรวยอารมณ์ขัน แต่อัดแน่นด้วยผลงานวิจัยเชิงประจักษ์และตัวอย่างประกอบที่จับต้องได้ ถือเป็นการอัปเดตความรู้ของตัวเองในหลากหลายประเด็น ไม่ให้ยึดติดกับมายาคติผิดๆ ที่อาจทันสมัยเมื่อหลายทศวรรษก่อน
17. ส่วย มานุษยวิทยากับการศึกษาคอร์รัปชันชายแดน
ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี เขียน
แนะนำโดย ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์
เป็นหนังสือวิชาการที่ช่วยให้ ‘ข่าวลือ’ ที่ได้ยินมาตลอดชีวิตที่รับราชการอยู่ที่ภาคเหนือตอนบนกลายเป็นเอกสารเสียที
น่าเสียดายอยู่ว่าไม่สามารถเปิดเผยผู้ให้ข้อมูลหรือชื่อหน่วยงานได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย แต่อย่างน้อยก็จะได้รู้สักทีว่าที่ลือๆ กันนั้นเป็นเรื่องจริง ชื่ออาจารย์ปิ่นแก้ว ผู้วิจัย และชื่ออาจารย์ผาสุกที่ปกหลังก็ช่วยให้ความมั่นใจมากขึ้น เรื่องแบบนี้หรือคล้ายๆ แบบนี้เกิดขึ้นกับ ‘คนนอก’ เสมอ ไม่จำเพาะ ‘เหยื่อ’ ที่ปรากฏในหนังสือเล่มนี้ คนจีนที่มาจากโพ้นทะเลสมัยก่อน ก่อนที่จะเปลี่ยนชื่อนามสกุลมาเป็นสมัยใหม่ หรือมีลูกหลานที่กลืนเข้ามาในสังคมไทยแล้ว ต่างก็เคยพบเหตุการณ์คล้ายๆ กัน ต่างกันที่อาจมากบ้างน้อยบ้าง เหตุการณ์ที่ว่าคือวัฒนธรรมรีดไถ แต่จะว่าไปวัฒนธรรมนี้ก็อาจจะยังอยู่ด้วยการกลายรูปที่แนบเนียนกว่าเดิม
ปล. รูปหน้าปกก็ดีมาก เห็นหมาไหมครับ?
18. อวสานสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในสยาม
เบนจามิน บัทสัน เขียน
พรรณงาม เง่าธรรมสาร, สดใส ขันติวรพงศ์ และ ศศิธร รัชนี ณ อยุธยา แปล
สำนักพิมพ์ มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์
แนะนำโดย เข็มทอง ต้นสกุลรุ่งเรือง
ในหลายปีมานี้ เหตุการณ์อภิวัฒน์สยาม 2475 กลับมาเป็นที่สนใจของสาธารณะกันใหม่ บางคนอยากศึกษาจุดจบของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์โดยหวังว่าอดีตจะชี้แนะอนาคตให้แก่สังคมไทยได้บ้าง บางคนอาจจะใฝ่ฝันถึงการรื้อถอนความเปลี่ยนแปลงเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 นั้นให้จงได้
หนังสืออวสานสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในสยาม แปลมาจาก The End of the Absolute Monarchy in Siam ของ เบนจามิน บัทสัน เป็นหนังสือเก่าแต่ไม่แก่ บัทสันถ่ายทอดเหตุการณ์โดยเน้นช่วงสั้นๆ ในสมัยรัชกาลพระปกเกล้าก่อน 2475 เพื่อฉายภาพให้ผู้อ่านได้เห็นว่าเกิดอะไรขึ้นบ้างก่อนจะถึงวันอภิวัฒน์ แน่นอน ในช่วงหลังมีหนังสืออื่นๆ เกี่ยวกับ 2475 ที่อาจจะละเอียดกว่า ตื่นเต้นน่าสนใจกว่าในแง่มุมปลีกย่อยลงไป และฉายภาพต่างออกไปจากที่บัทสันทำ แต่หนังสือเล่มนี้ก็ยังคงจุดเด่นอย่างการรักษาสมดุลระหว่างความละเอียดของเอกสารหลักฐานและความกระชับในการบรรยายปรากฏการณ์ทั้งหมดได้ดี
บัทสันพยายามอย่างที่สุดที่จะนำเสนอพระปกเกล้าด้วยน้ำเสียงที่เห็นอกเห็นใจอย่างที่สุด บัทสันยกย่องความอุตสาหะของราชาผู้พยายามรักษามรดกของบิดาตนเองไว้อย่างสุดความสามารถ ท่ามกลางคำทำนายของทุกคนว่าจุดจบนี้เป็นชะตากรรมที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ตลอดทั้งเล่ม รายละเอียดหลายอย่างเกี่ยวกับวิธีคิด วิธีการบริหารรัฐกิจในเล่มยังคงเป็นจริงในปัจจุบัน และทวีความเข้มข้นรุนแรงมากขึ้นด้วยซ้ำ สิ่งหนึ่งที่พอจะจับได้คือความอึดอัด ในขณะที่พระปกเกล้าพยายามนำเสนอแผนการปฏิรูปต่างๆ เพื่อรักษาระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ไว้ ความพยายามเหล่านั้นล้วนถูกขัดขวางด้วยผู้ใหญ่ที่ปรารถนาดีและเชื่อว่าตัวเองยัง ‘เอาอยู่’ จนความพยายามปฏิรูปนั้นกลายเป็นน้อยเกินไปและสายเกินการ
หากใครเจ็บแค้นการอภิวัฒน์ 2475 หรือรู้สึกว่าตนถูกพรากสิ่งใดไปในวันนั้น หากได้อ่านหนังสือเล่มนี้อาจจะได้ทบทวนใหม่ ว่าคนที่ตนควรเจ็บแค้นเคืองโกรธนั้น อาจจะไม่ใช่คณะผู้ก่อการมากเท่ากับผู้ใหญ่ที่น่านับถือเหล่านั้น
19. วิชารู้รอบ (RANGE: Why Generalists Triumph in a Specialized World)
David Epstein เขียน
ทีปกร วุฒิพิทยามงคล แปล
สำนักพิมพ์ Salt Publishing
แนะนำโดย โสภณ ศุภมั่งมี
สำหรับใครก็ตามที่อยากหาหนังสือดีๆ สักเล่มเพื่อปีที่กำลังจะมาถึง ผมขอแนะนำหนังสือเล่มนี้เลยครับ วิชารู้รอบเป็นหนังสือเล่มหนึ่งที่ บิล เกตส์ แนะนำให้อ่าน เพราะเนื้อหาภายในเล่มจะช่วยทำให้เราเห็นว่าบางทีคนที่เหมือน ‘เป็ด’ หรือคนที่อาจจะดูไม่ได้เก่งหรือไม่สุดสักอย่างเช่น ทำอันนั้นก็ได้ ทำอันนี้ก็ได้ แต่จะให้เรียกว่าเชี่ยวชาญก็ไม่ได้ ท้ายที่สุดแล้ว การเป็นคนแบบนี้อาจจะเป็นประโยชน์ในภายหลังก็ได้
จากแต่ก่อนที่เราเคยเชื่อว่าถ้าอยากประสบความสำเร็จในชีวิต ก็ต้องเลือกเส้นทางใดเส้นทางหนึ่งของอาชีพให้เร็วที่สุด และกลายเป็นผู้เชี่ยวชาญในเส้นทางนั้นไปเลย แต่ David Epstein กลับตีแผ่ความเชื่อเรื่องนี้ให้เราเข้าใจมากขึ้น ว่าแท้จริงแล้วไม่ว่าจะเป็นนักกีฬามืออาชีพไปจนถึงผู้ได้รางวัลโนเบล ความเป็นผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านอาจไม่ได้จำเป็นเสมอไป…
หนังสือเล่มนี้มีข้อมูลมากมายที่ชี้ให้เห็นว่า การลองทำอะไรหลายๆ อย่าง การลองผิดลองถูก และการผสมผสานทักษะหลายๆ ด้าน (เช่น สตีฟ จ็อบส์) ทำให้ประสบความสำเร็จได้ในระยะยาว
แนวคิดในหนังสือเล่มนี้จะช่วยเปลี่ยนข้อสงสัยในตัวเองที่ว่า “นี่ฉันเป็นเป็ดอยู่รึเปล่า” ให้กลายเป็น “การเป็นเป็ดก็ไม่ได้แย่เลยนี่หน่า”
20. How the States got their shapes
Mark Stein เขียน
สำนักพิมพ์ Harper Paperbacks
แนะนำโดย ณัฐกร วิทิตานนท์
จากหนังสือลดราคาที่แฟนซื้อเก็บไว้เพราะตั้งชื่อได้ดึงดูดใจ กว่าที่ผมจะได้ฤกษ์หยิบมันออกมาอ่านก็ในช่วงปีที่ผ่านมานี่เอง สำหรับเนื้อหาภายในเรื่องก็ไม่ได้แตกต่างไปจากชื่อหนังสือนักคือ การพยายามตอบคำถามตามชื่อหนังสือว่า เขตแดนของแต่ละมลรัฐในอเมริกามีที่มาอย่างไร ซึ่งผู้เขียนอย่าง Mark Stein ก็ไม่ได้มีคำตอบสูตรสำเร็จเช่นว่า ต้องยึดเอาพรมแดนธรรมชาติอย่าง แม่น้ำ (มิสซิสซิปปี, มิสซูรี่) ภูเขา (ร็อคกี้) ทะเลสาบ (มิชิแกน) เป็นเกณฑ์ตายตัว หรือขีดขึ้นบนแผนที่ให้ได้เป็นรูปทรงเลขาคณิตตามต้องการ เช่น สี่เหลี่ยมจัตุรัส, สี่เหลี่ยมผืนผ้าเสมอไป หากแต่การเกิดขึ้นของมลรัฐในแต่ละที่นั้นมีความสลับซับซ้อนและซ่อนเงื่อนงำมากมาย
ถ้าเคยอ่านบทความของผมในคอลัมน์ไทยไม่ใช่กรุงเทพฯ น่าจะพอเห็นประเด็นที่ผมพูดถึงบ่อยๆ เกี่ยวกับการควบรวมท้องถิ่นและการกำหนดเขตที่ไม่จำเป็นต้องอิงเขตการปกครองท้องที่ จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจหากหนังสือเล่มนี้จะกลายเป็นหนังสือที่ผมให้ความสนใจอย่างยิ่ง
ภายในหนังสือแยกอธิบายไล่ทีละรัฐ โดยเรียงลำดับไปตามแต่ละทิศคือ เหนือ, ใต้, ตะวันออกและตะวันตก นอกจากนี้ยังอัดแน่นไปด้วยภาพแผนที่ประกอบกว่าสองร้อยภาพ
โดยสรุป เส้นเขตแดนส่วนใหญ่เป็นผลผลิตมาตั้งแต่สมัยอาณานิคม โดยเฉพาะจากยุคที่กษัตริย์อังกฤษปกครอง (นอกนั้นคือฝรั่งเศส, สเปน, ดัตช์ ฯลฯ) แต่ในรายละเอียดสามารถตอบได้หลายข้อกว่านั้น พูดแบบรวมๆ เป็นต้นว่าขึ้นอยู่กับ
1. ข้อตกลงระหว่างรัฐซึ่งมักเกี่ยวพันกับเรื่องทรัพยากรธรรมชาติ ขึ้นอยู่กับอำนาจต่อรองของแต่ละรัฐ และการประนีประนอม เช่น อังกฤษยึดเส้นขนานที่ 49 เป็นตัวแบ่งเขตกับอเมริกา เพราะอยากให้ Great Lakes อยู่ในฝั่งแคนาดา หรืออเมริกาเจรจาจนสเปนยอมยกพื้นที่ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำมิสซิสซิปปีทางตอนใต้ให้ เพราะต้องการควบคุมทั้งสองฟากของแม่น้ำอันถือเป็นเส้นเลือดใหญ่ทางเศรษฐกิจ
2. สงครามที่ผู้ชนะเป็นฝ่ายกำหนด เช่น สเปนพ่ายต่ออาณานิคมจอร์เจียจึงต้องเสียดินแดนส่วนบนของรัฐฟลอริดา หรืออเมริกาชนะสงครามเหนือเม็กซิโกจึงได้ดินแดนทางตอนใต้ฝั่งตะวันตกไปครอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งรัฐแคลิฟอร์เนียและรัฐนิวเม็กซิโก
3. ผลลัพธ์จากการซื้อ-ขายดินแดน เช่น อเมริกาซื้อรัฐหลุยเซียน่าจากฝรั่งเศสในสมัยนโปเลียน (กินพื้นที่มากถึง 15 รัฐในปัจจุบัน ด้วยเงินเพียง 15 ล้านเหรียญ) ซึ่งก็ได้มาแบบไม่ตั้งใจ หรืออเมริกาขอซื้อรัฐอลาสก้ามาจากรัสเซียในราคา 7.2 ล้านเหรียญ
4. รัฐบาลกลางกำหนดเขตพื้นที่ โดยหลักใหญ่อยู่ที่ความเท่าเทียมกันของแต่ละรัฐ ซึ่งต้องทำราวกับแบ่งเค้ก เพื่อให้เป็นเส้นตรง ได้ส่วนสูงใกล้เคียง มีขนาดและจำนวนประชากรพอๆ กัน โดยเฉพาะกลุ่มรัฐตอนกลาง เพราะเป็นรัฐเกิดใหม่หลังตั้งประเทศ ทั้งหมดเป็นไปตามข้อเสนอของประธานาธิบดีเจฟเฟอร์สัน รูปธรรมที่เห็นเด่นชัดคือการทำให้รัฐดาโกต้าต้องถูกแบ่งออกเป็นรัฐเหนือและใต้ กับรัฐเวอร์จิเนียที่แบ่งเป็นตะวันออกและตะวันตก หรือในกรณีบางรัฐก็คำนึงถึงเขตพื้นที่ทางภาษาด้วย เช่น รัฐหลุยเซียน่าที่พูดฝรั่งเศส รัฐนิวเม็กซิโกที่พูดสเปน นอกนั้นคือการเลือกใช้แม่น้ำ Potomac เป็นเขตแดนทางทิศใต้ของกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เพราะต้องการให้มีปราการธรรมชาติคอยปกป้องเมืองหลวง หรือบางเกาะในหมู่เกาะฮาวายไม่ถูกผนวกรวมด้วยเพราะเคยถูกใช้ในการทดลองระเบิดปรมาณูมาก่อน เป็นต้น
5. รัฐธรรมนูญของบางรัฐบรรจุเรื่องเขตแดนเอาไว้ ซึ่งหลายครั้งกลายเป็นข้อพิพาทจนถึงขั้นต้องไปชี้ขาดกันที่ศาลสูงสุด เช่นกรณีระหว่างรัฐมิสซูรี่ที่ต้องการให้ยึดแก่งแม่น้ำ Des Moines เป็นหลัก กับรัฐไอโอวาที่ยึดถือเส้นแบ่งที่ทำโดยนักสำรวจชาวฝรั่งเศส ท้ายที่สุดศาลก็ได้ตัดสินให้ยึดเส้นเขตแดนเดิมต่อไป เพราะถูกใช้มาช้านานและเป็นที่ยอมรับ (1849) หรือกรณีเกาะ Ellis ซึ่งรัฐนิวเจอร์ซีย์ฟ้องศาลสูงว่าเป็นของตน ไม่ใช่ของรัฐนิวยอร์ก ซึ่งศาลเห็นพ้องด้วยให้พื้นที่ส่วนใหญ่อยู่ในอำนาจของรัฐนิวเจอร์ซีย์โดยพิจารณาจากข้อตกลงในอดีต (1998) หรือไม่ก็สามารถประนีประนอมกันได้ในรูปของกฎหมายที่ออกโดยสภาคองเกรส เช่น Kansas-Nebreaka Act (1854)
6. บางกรณีกลับกลายเป็นเรื่องของเอกชน เช่น ส่วนที่เป็นเส้นแบ่งเขตแดนระหว่างรัฐนิวแฮมเชียร์-รัฐเมน เคยเป็นกรรมสิทธิ์ของบริษัทเอกชนมาก่อน เมื่อมีการยุบบริษัทก็ได้มีการแบ่งที่ดินระหว่างหุ้นส่วน ซึ่งก็เอาแม่น้ำ Piscataqua มาใช้จัดสรรที่ดิน และได้กลายเป็นเส้นแบ่งเขตรัฐไปด้วยเลย
21. A General Jurisprudence of Law and Society
Brian Z. Tamanaha เขียน
จัดพิมพ์โดย Oxford University Press
แนะนำโดย สมชาย ปรีชาศิลปกุล
หนังสือที่ไม่มีประโยชน์ต่อวิชาชีพกฎหมายในสังคมไทย แต่จะเป็นประโยชน์สำหรับนักกฎหมายที่อยากออกไปจาก ‘คอก’ ของนิติศาสตร์กระแสหลักในสังคมไทย
นักกฎหมายส่วนใหญ่ (และนักกฎหมายไทย) มักคุ้นเคยกับคำอธิบายว่ากฎหมายเป็นภาพสะท้อนของสังคม (a mirror of society) โดยแสดงถึงจารีตและวัฒนธรรมของสังคมนั้นๆ ความสัมพันธ์ของกฎหมายกับสังคมในลักษณะเช่นนี้เป็นสิ่งที่เรียบง่าย สามารถเข้าใจได้
หนังสือ A General Jurisprudence of Law and Society ของ Brian Z. Tamanaha พยายามโต้แย้งความเข้าใจข้างต้น ด้วยการแสดงให้เห็นถึงความสลับซับซ้อนในการดำรงอยู่ บทบาท และสถานะของกฎหมายในโลกยุคปัจจุบัน ด้วยการชี้ให้เห็นปัจจัยที่อาจทำให้ต้องมีการขบคิดมากขึ้นในการทำความเข้าใจถึงความสัมพันธ์ระหว่างกฎหมายกับสังคม เช่น การปลูกถ่ายระบบกฎหมาย (legal transplantation) หรือสภาวะโลกาภิวัตน์ ซึ่งล้วนแต่ทำให้กฎหมายอาจไม่ใช่ภาพสะท้อนของสังคมนั้นๆ อย่างตรงไปตรงมา
22. The Christmas Pig
J.K. Rowling เขียน
สำนักพิมพ์ Scholastic
แนะนำโดย สมชัย สุวรรณบรรณ
นักเขียนดังแห่งยุคตีพิมพ์หนังสือเล่มใหม่ The Christmas Pig ได้ทันกับเทศกาลพอดี แม้ว่าจะตั้งใจให้เด็กๆ อ่าน แต่ผู้ใหญ่ก็อ่านสนุก ในตอนแรกอาจจะได้บรรยากาศแบบ Toy Story เมื่อยี่สิบปีก่อน แต่งานเขียนของ J.K. ละเมียดมาก สอดแทรกแนวคิดและค่านิยมในยุคสมัยใหม่หลายอย่าง เช่นการเลี้ยงลูกของครอบครัวเลี้ยงเดี่ยว การแบ่งชนชั้น แม้กระทั่งในโลกของ toys ตลอดไปจนถึงสังคมบริโภคนิยมแบบใช้แล้วทิ้ง ที่ก่อให้เกิดปัญหาโลกร้อนและกลายเป็นภาระให้คนรุ่นหลัง
นอกจากนี้แต่ละบทมีคติสอนใจเด็กๆ ในเรื่องการสร้างความสัมพันธ์ว่าแบบใดคือมิตรแท้ สิ่งใดเป็นเรื่องจีรัง สิ่งใดที่เกิดแล้วก็แตกดับไป…
23. กว่าจะครองอำนาจนำ : การคลี่คลายขยายตัวของเครือข่ายในหลวงภายใต้ปฏิสัมพันธ์ของชนชั้นนำไทยทศวรรษ 2490-2530
อาสา คำภา เขียน
สำนักพิมพ์ ฟ้าเดียวกัน
แนะนำโดย สุภลักษณ์ กาญจนขุนดี
Network Monarchy พากย์ไทยฉบับพิสดาร
“การปกครองในระบอบกษัตริย์อันมีประชาธิปไตยเป็นองค์ประกอบ” คือความเห็นรวบยอดหลังจากอ่าน กว่าจะครองอำนาจนำ: การคลี่คลายขยายตัวของเครือข่ายในหลวงภายใต้ปฏิสัมพันธ์ของชนชั้นนำไทยทศวรรษ 2490-2530 ของ อาสา คำภา ความยาว 587 หน้าจบลง
สำหรับหนอนหนังสือที่เป็นแฟนตัวยงของรัฐศาสตร์ฮาร์ดคอร์อย่าง ประจักษ์ ก้องกีรติ และ ณัฐพล ใจจริง คงไม่ยากนักที่จะรับ อาสา คำภา นักเขียนประวัติศาสตร์รุ่นใหม่ไฟแรงไว้ในอ้อมใจอีกสักคน เพื่อใช้งานประวัติศาสตร์นิพนธ์ทางการเมืองเล่มนี้ทำความเข้าใจในสิ่งที่เป็นแกนหลักของการเมืองไทยยุคปัจจุบัน
แม้สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกันจะประกาศว่านี่เป็นงานที่ ‘ขวาที่สุด’ เท่าที่เคยพิมพ์ แต่บอกได้เลยว่าหนังสือเล่มนี้ ขวาอ่านได้ ซ้ายอ่านดี เจริญสติปัญญาได้ทั้งสองฝ่าย และหนังสือเล่มนี้เป็นตำราทางวิชาการแน่นอน เพราะทำขึ้นจากวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกของผู้เขียนเอง แต่ต้องบอกเลยว่าอ่านเพลิดเพลินเหมือนสารคดีการเมืองชั้นดี เพราะผู้เขียนไม่ได้อภิปรายแนวคิดทางวิชาการให้ยืดยาดมากความ แต่จับข้อมูลอันมากมายมหาศาลและมหัศจรรย์พันลึกใส่ลงในมุมมอง (put into perspective) ของการเมืองแบบเครือข่าย (Network Politics) แบบเดียวกับที่ Duncan McCargo ทำในเรื่อง Network Monarchy เมื่อ 10 ปีก่อน ผสมผสานกับแนวคิดฝ่ายซ้ายคือ อำนาจนำ (Hegemony) และ ความเป็นอิสระโดยสัมพัทธ์ (Relative Autonomy) เอาไว้ด้วย
จึงจัดได้ว่าเป็นงานที่สร้างความปั่นป่วนให้กับเรื่องเล่า (narrative) หลักของชาติที่ทรงพลังอีกเล่มหนึ่ง It’s worth reading แน่นอน
24. จักรยานที่หายไป (The Stolen Bicycle)
อู๋หมิงอี้ เขียน
รำพรรณ รักศรีอักษร แปล
สำนักพิมพ์ Bibli
แนะนำโดย วิวัฒน์ เลิศวิวัฒน์วงศา
นิยายเล่มนี้เริ่มต้นจากจักรยานของพ่อที่สูญหายไปนานแล้ว ก่อนที่ลูกชายของเขาจะโตขึ้นมาเป็นคนหนุ่มที่คลั่งไคล้จักรยาน
หนังสืออาศัยจักรยานในฐานะวัตถุที่พาผู้อ่านเดินทางเข้าไปสำรวจประวัติศาสตร์ของไต้หวันผ่านการช่วงใช้จักรยาน ตั้งแต่อะไหล่ทุกชิ้นส่วน ตลอดจนรุ่นและบริษัทที่จำหน่าย ด้วยสายตาแบบเนิร์ดจักรยาน เขาจึงได้พบกับเรื่องราวของยุคญี่ปุ่นยีดครองไต้หวัน การที่ทหารชาวไต้หวันถูกส่งไปรบในเอเชียอาคเนย์จวบช่วงแห่งกฎอัยการศึก การดิ้นรนที่จะมีชีวิตอยู่ท่ามกลางความยากลำบาก เรื่องราวของประวัติศาสตร์ส่วนบุคคลซ้อนทับเข้ากับประวัติศาสตร์ของจักรยาน และประวัติศาสตร์ของชาติ
จนสามารถบอกได้ว่าการตามหาจักรยานหนึ่งคันอาจจะอธิบายบาดแผลของชาติก็เป็นได้
25. สุขจรัสแสง: คู่มือผู้ใช้งานจิต (RADICALLY HAPPY: A user’s guide to the mind)
พักชก ริมโปเช และ เอร์ริก โซโลมอน เขียน
สายพิณ กุลกนกวรรณ ฮัมดานี แปล
สำนักพิมพ์ สวนเงินมีมา
แนะนำโดย กษิดิศ อนันทนาธร
หนังสือเล่มนี้เป็นคู่มือการใช้งานจิต ซึ่งเป็นผลพวงจากการพบกันของกรอบคิดอันแตกต่างระหว่าง ‘ผู้ประกอบการจากซิลิคอนวัลเลย์’ และ ‘คุรุชาวธิเบต’ เมื่อตะวันออกพบเจอตะวันตก เมื่อปัญญาญาณเก่าผนวกเข้ากับศาสตร์สมัยใหม่ ผลลัพธ์ที่ได้ คือทัศนะต้นแบบของการใช้งานศักยภาพของชีวิตอย่างเต็มพิกัด
กล่าวคือ นอกจากนานาทัศนะว่าด้วยการแสวงหาความสุขแล้ว หนังสือเล่มนี้ยังมีแบบฝึกหัดสำหรับการปฏิบัติภาวนาแทรกเป็นระยะๆ ให้ได้ฝึกใจหลังจากฝึกสมองอีกด้วย โดยผู้เขียนเสนอว่าการอยู่กับปัจจุบันขณะและการคิดถึงความสุขของผู้อื่น เป็นรากฐานของความสุขอันเจิดจรัสของเรา
26. 2034:A Novel of the Next World War
Elliot Ackerman, Admiral James Stavridis เขียน
สำนักพิมพ์ Penguin Press
แนะนำโดย อาร์ม ตั้งนิรันดร
นวนิยาย – ย้ำว่าเป็นนวนิยาย – ที่จำลองภาพเหตุการณ์ที่นำไปสู่สงครามโลกครั้งที่สาม จุดเริ่มต้นเรื่องราวเกิดขึ้นจาก ‘อุบัติเหตุ’ ในพื้นที่ทะเลจีนใต้และไต้หวัน หนังสือเล่ารูปแบบการทำสงครามที่แตกต่างอย่างชัดเจนจากสงครามโลกก่อนหน้านี้ ไม่ว่าจะเป็นสงครามไซเบอร์ การใช้อาวุธนิวเคลียร์ตอบโต้กันชนิดสูญมหานครทั้งสองฝ่าย การเมืองภายในและระบบการตัดสินใจที่แตกต่างกันระหว่างหน่วยความมั่นคงของสองยักษ์ใหญ่ ใครบ้างเป็นพันธมิตรของสองยักษ์ รวมทั้งประเทศไหนจะกลายมาเป็นตาอยู่ที่จะคว้าพุงปลาไปภายใต้ซากปรักหักพังของสงคราม
ขอย้ำอีกทีว่านี่เป็นเพียงนวนิยาย
27. 24-7/1
ภู กระดาษ เขียน
สำนักพิมพ์ มติชน
แนะนำโดย อาทิตย์ ศรีจันทร์
สำหรับหนังสือที่น่าอ่านรับปี 2022 สำหรับผมคือนวนิยายเรื่อง 24-7/1 ของ ภู กระดาษ แม้ว่าหนังสือเล่มนี้จะมีขนาดที่สามารถเอาไปใช้แทนหมอนได้ แต่ความสนุกของตัวเรื่องกลับทำให้เรานอนไม่ได้เลยจริงๆ กลเม็ดเด็ดพรายต่างๆ ถูกจัดวางอย่างเรียบง่ายและตรงไปตรงมา ไหนจะตัวละครที่มีชีวิตชีวาชวนให้ผู้อ่านติดตามชะตากรรมของพวกเขาไปจนจบเรื่อง
ประเด็นที่ผมชอบมากที่สุดในนวนิยายเรื่องนี้คือ ภายใต้ความเป็นนวนิยายหรือความเป็นเรื่องแต่งได้บอกเล่าความเป็นมาของความขัดแย้งในสังคมไทยปัจจุบันได้อย่างแยบยล มรดกของความขัดแย้งที่เรารับมาจากอดีตนั้นจะถูกแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงในอนาคตหรือไม่ ตัวนวนิยายไม่มีคำตอบที่ชัดเจนให้ เพราะมันขึ้นอยู่กับคนรุ่นใหม่ คนรุ่นถัดไปที่จะเขียนประวัติศาสตร์ของตัวเองขึ้นมา
ประวัติศาสตร์แห่งการปลดเปลื้องตัวเองออกจากเครื่องพันธนาการที่ล่ามเราเอาไว้มานานนับร้อยปี และมีเพียงคนรุ่นใหม่เท่านั้นที่จะทำได้…
28. ไม่มีใครเป็นเจ้าของความหวังเพียงผู้เดียว
ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย เขียน
สำนักพิมพ์ Salmon Books
แนะนำโดย สมศักดิ์ จันทวิชชประภา
แม้ว่าในปีนี้จะไม่ได้อ่านหนังสือมากนัก รวม ๆ แล้วก็ไม่น่าจะถึง 20 เล่ม แต่หนังสือไม่มีใครเป็นเจ้าของความหวังเพียงผู้เดียวกลับเป็นหนังสือที่โดดเด่นที่สุดเล่มหนึ่งของปีนี้ที่ได้อ่าน ทั้งๆ ที่ปกติแล้วไม่ค่อยชอบอ่านงานสารคดีมากสักเท่าไหร่ก็ตาม
สิ่งที่หนังสือเล่มนี้ทำออกมาได้อย่างยอดเยี่ยมคือ การสะท้อน ‘ความหวัง’ ในบางแง่มุมออกมาได้ทั้งๆ ที่สังคมในทุกวันนี้แทบจะ ‘ไร้ความหวัง’ ดังนั้น นอกจากจะเป็นหนังสือสารคดีที่อ่านสนุกแล้ว หนังสือเล่มนี้ยังเป็นแสงสว่างในสังคมที่หม่นหมองได้ดีทีเดียว
29. The Undoing Project: A Friendship That Changed Our Minds
ไมเคิล ลูอิส เขียน
สำนักพิมพ์ W. W. Norton & Company
แนะนำโดย ชัยภัทร ชุณหรัศมิ์
หากใครสนใจเรื่องพฤติกรรมการตัดสินใจของมนุษย์ อาจจะเคยได้ยินชื่อของ เดเนียล คาห์เนแมน (Daniel Kahneman) นักวิจัยรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ ที่กล่าวว่าคนเรานั้นมีระบบการตัดสินใจด้วยความรู้สึก (system 1) กับระบบการตัดสินใจด้วยการไตร่ตรอง (system 2) แต่มีน้อยคนนักที่จะรู้จัก เอมอส ทเวอร์สกี (Amos Tversky) ทั้งๆ ที่งานวิจัยที่ได้รับรางวัลเป็นผลงานวิจัยร่วมอย่างที่แยกออกจากกันไม่ได้
เหตุผลที่คนไม่ค่อยได้ยินชื่อของเอมอสเป็นเพียงเพราะว่า รางวัลโนเบลจะมอบให้แก่ผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่เท่านั้น…
ไมเคิล ลูอิส (Michael Lewis) เป็นนักเขียนฝีมือดีที่เคยมีผลงานโด่งดังมาก่อนจากหนังสือชื่อ Moneyball ซึ่งเคยถูกปรับไปเป็นหนังฮอลลีวูดมาแล้ว หนังสือพูดถึงความไม่สมบูรณ์แบบของการตัดสินใจของผู้เชี่ยวชาญในวงการกีฬา (เบสบอล) ด้วยเหตุนี้เขาจึงสามารถผูกโยงใจความสำคัญของงานวิจัยรางวัลโนเบลเข้ากับโลกความเป็นจริงได้อย่างไร้รอยต่อ
แต่สิ่งที่ผมประทับใจยิ่งกว่าคือการที่ผู้เขียนพาเรากลับไปก่อนที่อัจฉริยะสองคนนี้จะได้เจอกัน ชีวิตก่อนหน้านั้นของทั้งสองคนเป็นอย่างไร แนวความคิด อุดมการณ์ อุปนิสัยใจคอของทั้งคู่เหมือนและต่างกันอย่างไร ส่งเสริมและขับดันกันอย่างไร เช่นเดียวกับความสัมพันธ์ทั้งหลายในชีวิตของเรา ซึ่งย่อมมีทั้งการทิ่มแทงและโอบกอด
หากโฟกัสที่เนื้อหาวิชาการ หนังสือเล่มนี้เหมาะอย่างยิ่งกับผู้ที่สนใจเรื่องพฤติกรรมการตัดสินใจมนุษย์ หรือหากโฟกัสที่ปรัชญาของวิทยาศาสตร์ หนังสือเล่มนี้จะเล่าให้ฟังว่าการสันดาปทางความคิดและการเปิดใจกว้าง และทำให้ 1+1 กลายเป็น 1000 ได้อย่างไร
หากจะค้นพบสิ่งใหม่ เราไม่เพียงต้องรู้จัก “ความคิดที่เปลี่ยนแปลงโลก” แต่คือการเรียนรู้และถามต่อไปว่า อะไรทำให้เกิดความคิดที่ว่าขึ้นมาต่างหาก
แต่หากไม่ได้สนใจทฤษฎีว่าด้วยพฤติกรรมมนุษย์และก็ไม่ได้สนใจการสร้างองค์ความรู้ใหม่แต่อย่างใด หนังสือเล่มนี้ยังเป็นหนังสือที่ว่าด้วยชีวิตของคนสองคนที่เส้นทางมาบรรจบกันช่วงเวลาหนึ่ง และเปลี่ยนแปลงทั้งชีวิตของทั้งสอง (และโลกใบนี้) ไปตลอดกาล
30. Jesper Haynes
แนะนำโดย ภาณุ บุรุษรัตนพันธุ์
เพิ่งได้หนังสือเล่มนี้จากการแสดงภาพถ่ายมาเมื่อวันก่อน เห็นว่าเหมาะกับปีหน้าด้วยเหตุผลที่ว่าเขาออกมาล่วงหน้าระบุว่า 2022 คือปีที่ตีพิมพ์ หนังสือเล่มนี้รวมผลงานของเจสเปอร์ เฮนส์ ช่างภาพวัยใกล้หกสิบ (แต่ยังไงๆ ก็ไกลจากคนวัยเกษียณมาก) ผู้ซึ่งใช้ชีวิตในนิวยอร์ก สวีเดน โตเกียวและกรุงเทพฯ
เจสเปอร์เป็นช่างภาพซึ่งใช้กล้องบันทึกสิ่งที่อยู่รอบตัว ซึ่งสิ่งรอบตัวเขาคือแวดวงศิลปินและคนสร้างสรรค์ในย่านโลว์เวอร์อีสต์ไซด์ในนิวยอร์กตั้งแต่ทศวรรษที่ 80 เรื่อยมา คนในภาพเกี่ยวข้องและมีความหมายต่อชีวิตของเขา มีตั้งแต่ครอบครัว คนดัง (ตั้งแต่ แอนดี วอร์ฮอล ซึ่งชวนเจสเปอร์มานิวยอร์กตั้งแต่เขาอายุไม่ถึงยี่สิบ, คีท แฮริง, คุณพิชัย ศิลปินผู้ขีดเขียนฟุตบาท และ Dudesweet)
ภาพขาวดำกับเทกซ์เจอร์หยาบกร้านสะท้อนความรู้สึกที่อ่อนโยน ความสุขมากับความทุกข์เต็มตัว เหมือนข้อความจากหนังสือซึ่งบอกว่า
People, fucking people; it was the key for sure.
Then the death toll, especially in ‘80s New York.
Live like you mean it, you could easily be next.
Love full on.
31. Global Populisms
Carlos De La Torre และ Treethep Srisa-nga
สำนักพิมพ์ Routledge
แนะนำโดย เชาวฤทธิ์ เชาว์แสงรัตน์
หนังสือ Global Populisms ของ Carlos De La Torre และ Treethep Srisa-nga ฉายภาพความเข้าใจเรื่องประชานิยม ซึ่งเป็นเรื่องที่มีความเข้าใจผิดเป็นอย่างมากในสังคมไทย กล่าวคือสังคมไทยมอง ‘ประชานิยม’ ในเชิงลบแต่เพียงอย่างเดียว แต่หนังสือเล่มนี้ศึกษาและสำรวจประชานิยมในทวีปต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นในสหรัฐอเมริกา ลาตินอเมริกา ยุโรป รวมถึงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แน่นอนว่ารวมถึงประเทศไทยด้วย
นอกจากนี้ยังแสดงถึงความสัมพันธ์ของประชานิยมกับแนวความคิดต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น Fascism, Democratization, Nationalism, Religion รวมถึง Media กล่าวได้ว่าหนังสือเล่มนี้ศึกษาประชานิยมทั้งในเชิงทฤษฎีและในเชิงปฏิบัติจริง แถมยังอ่านได้ง่าย ไม่เพียงเหมาะกับผู้ที่สนใจในเรื่องประชานิยมอยู่แล้ว แต่ยังเหมาะสำหรับบุคคลทั่วไปอีกด้วย โดยเฉพาะนักวิชาการฝ่ายขวาไทยที่มัวเมากับมายาคติในเชิงลบของประชานิยมอย่างโงหัวไม่ขึ้น
32. อัลไตวิลล่า
จักรพันธุ์ กังวาฬ เขียน
สำนักพิมพ์ สมมติ
แนะนำโดย ‘กัลปพฤกษ์’
เพราะ ‘การเมืองเป็นเรื่องตลก’ นวนิยายเสียดสีประวัติศาสตร์การเมืองไทยร่วมสมัยเล่มนี้ของ จักรพันธุ์ กังวาฬ จึงคลาคล่ำไปด้วยมุกตลกหลากหลายแนวทาง จิกกัด ฟัดเหวี่ยง เรียงตบ จบดิบ ถากถางทุกๆ อุดมการณ์ทางการเมืองกันจนเลือดซิบ ชนิดที่ไม่ว่าคุณจะอยู่ฟากฝั่งไหน ก็จะโดนด่ากราดบริภาษได้ทั่วถึงกันทั้งหมด
เนื้อเรื่องเล่าการผจญภัยของสองคู่หู ‘จ๊อด จักรกฤช’ หนุ่มไทยในภาพประวัติศาสตร์ ที่จับผลัดจับผลูกลายมาเป็นคู่ซี้ของ ‘อู๋ อัลไต’ ทายาทจากรัฐอิสระ ‘อัลไตวิลล่า’ ซึ่งเดิมเคยเป็นหมู่บ้านจัดสรรชื่อ ‘ประชาเสรีวิลล่า’ ทว่าถูกยามรักษาความปลอดภัย ‘ติ่ง อัลไต’ ไต่เต้าจนขึ้นมายึดอำนาจ แล้วเปลี่ยนชื่อประเทศตามชื่อเทือกเขาอันเป็นแดนอาศัยของเหล่าบรรพบุรุษ
สถานการณ์ในเรื่องมีทั้งการตามหาหนังสือหลักไทยของขุนวิจิตรมาตรา เพื่อยืนยันสัญชาติของต้นตระกูลเดิม การมุดอุโมงค์ลับในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ รถถังคันใหญ่ที่จุดเครื่องไม่ติดแล้วต้องให้ช้างตกมันมาลาก การเดินทางฝ่าหิมะไปตามหารากเหง้าจนใบหน้าหายในไซบีเรีย การต่อสู้ไล่ยิงผู้ชุมนุมข้างแฟลต การใช้อุปกรณ์ตรวจจับสสาร GT199
ผ่านเรื่องราวสุดแสนโกลาหลจนไม่ต้องมาพะวักพะวนกับการจับต้นชนปลาย เป็นนวนิยายลีลาตลก farce ที่มีทั้งมุกตลกแบบเล่นคำ wisecrack ตลกคาเฟ่หัวหกก้นขวิดชนิดเอาถาดตีหัวแบบ slapstick ตลกผู้ดี comedy of manners ของเหล่าผู้นำชนชั้นสูง ตลกเสียดเย้ย satire ซึ่งเล่นล้อ parody กับภาพจำของการเมืองแบบไทยๆ อย่างไม่ต้องเกรงใจใคร แต่ที่ร้ายที่สุดเห็นจะเป็นมุกตลกขันขื่น black comedy ที่แต่ละมุกนี่เข้าขั้นอำมหิตจนต้องหัวเราะแห้งด้วยความเจ็บจุกสำนึกผิดกันแทบไม่ทันเลยทีเดียว
นับเป็นการทดลองที่น่าสนใจของ จักรพันธุ์ กังวาฬ ในการสำรวจว่าความบ้าบอของสถานการณ์การเมืองไทยมันจะเหมาะกับความรั่วของงานตลกแนวทางไหน ในนวนิยายสะท้อนความไร้เหตุผลในโลกจริงของสังคมและการเมืองไทยชนิดที่อาจทำให้งาน Theatre of the Absurd เรื่องดังของ Samuel Beckett หรือ Eugène Ionesco กลายเป็นละครที่โยงแน่นไปด้วยตรรกะอธิบายทุกอย่างได้ในทันตาเลยทีเดียว!
33. ATHEISM : อเทวนิยม ฉบับกระชับ
จูเลียน แบ็กกีนี เขียน
สำนักพิมพ์ ILLUMINATIONS
แนะนำโดย Watchman
ในยุคที่คนเริ่มนับถือศาสนาน้อยลงและเริ่มมีการตั้งคำถามต่อความเชื่อ การปลูกฝัง ค่านิยมเก่า และศาสนา รวมถึงสิ่งที่อยู่เหนือความเข้าใจกับท่าทีของเราต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่ง หนังสือเล่มนี้เหมาะที่จะหยิบมาอ่านอย่างยิ่ง เป็นหนังสือหนึ่งเล่มที่ทั้งทำงานกับคนที่เป็นผู้ไม่เชื่อว่าพระเจ้ามีอยู่จริง (atheist) ให้เข้าใจตัวเอง และคนที่เชื่อในพระเจ้า (theist) ด้วยการอธิบายให้เข้าใจถึงคำนิยามของคำว่า atheist ว่าคืออะไร กว้างแค่ไหน แบ่งเป็นกี่ประเภท นอกจากนี้
จริงๆ แล้วการเป็นชาวอเทวนิยมรักสันติมากกว่าที่คิด แค่เป็นคนขึ้สงสัย ชอบตั้งคำถาม และไม่ปักใจเชื่ออะไรง่ายๆ เท่านั้นเอง
34. A is for Activist
Innosanto Nagara เขียน
สำนักพิมพ์ Triangle Square; Brdbk edition
แนะนำโดย วศิน ปฐมหยก
หาหนังสือ ABC ให้ลูกอ่านเลยมาเจอเล่มนี้ครับ A is for Activist เล่มนี้เป็นหนังสือสำหรับเด็กที่สอน ABC ผ่านคำศัพท์ที่เกี่ยวข้องกับสิทธิมนุษยชน ข้อเรียกร้องทางสังคมต่างๆ เช่น A is for Activist, D is for Democracy หรือ E is for Equal Rights
แนะนำเล่มนี้เพราะทำให้คิดได้หลายเรื่อง เช่น การปูพื้นฐานเรื่องสิทธิมนุษยชนสำหรับเด็กเป็นเรื่องที่ควรทำมาก เด็กรุ่นใหม่จะได้มีความเข้าใจเรื่องสังคมที่จำเป็นสำหรับตัวเขา เข้าใจเรื่องสิทธิของตัวเองเพิ่มมากขึ้น และถ้าทำเป็น กขค บ้างก็คงทำให้การสอนภาษาไทยสนุกขึ้นได้อีก เช่น ส คือ สิทธิมนุษยชน ท คือ ความเท่าเทียม ต คือ ความแตกต่างหลากหลาย
จึงเป็นเหตุผลที่ชอบเล่มนี้ครับ หากตอนนี้ใครต้องสอน ABC ให้เด็ก ลองเล่มนี้ครับ ได้มีเรื่องคุยกับเขาอีกเยอะเลยครับ
35. The Evolution of Beauty: How Darwin’s Forgotten Theory of Mate Choice Shapes the Animal World—And Us
Richard O. Prum เขียน
สำนักพิมพ์ Anchor
แนะนำโดย อภิวัฒน์ รัตนวราหะ
ทฤษฎีวิวัฒนาการของชาร์ลส์ ดาร์วินถือเป็นทฤษฎีพื้นฐานที่สำคัญขององค์ความรู้ด้านชีววิทยาและวิทยาศาสตร์สาขาอื่นๆ อีกทั้งยังได้รับการประยุกต์ใช้อย่างกว้างขวางในทฤษฎีด้านสังคมศาสตร์หลายแขนง
แนวคิดสำคัญที่ดาร์วินเสนอไว้ในหนังสือ On the Origin of Species คือวิวัฒนาการโดยการคัดเลือกตามธรรมชาติ (natural selection) ที่กำหนดโดยความอยู่รอดของผู้ที่ปรับตัวได้ดีที่สุดกับสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนไป (survival of the fittest) แต่อีกแนวคิดหนึ่งที่ดาร์วินได้เสนอไว้แต่ไม่ได้รับความสนใจและยอมรับมากเท่าคือการคัดเลือกทางเพศ (sexual selection) ที่ดาร์วินอธิบายไว้ในหนังสือชื่อ The Descent of Man and Selection in Relation to Sex
ในหนังสือ The Evolution of Beauty ผู้เขียน Richard Prum ซึ่งเป็นนักปักษีวิทยาที่มหาวิทยาลัยเยล อธิบายได้อย่างโน้มน้าวใจด้วยตัวอย่างที่น่าสนใจว่า การคัดเลือกอีกรูปแบบหนึ่งที่สำคัญและเกิดขึ้นในกระบวนการวิวัฒนาการคือการเลือกคู่ด้วยความสวยงาม ไม่ใช่ด้วยความแข็งแกร่งเพียงอย่างเดียว
ผู้เขียนยกตัวอย่างพฤติกรรมของนกและขนนกเป็นหลักฐานที่แสดงว่า ความสวยงามเป็นสัญญาณที่ตรงไปตรงมา (honest signal) ของความสามารถในการปรับตัวที่ดีที่สุดในสภาพแวดล้อมนั้นๆ
หนังสือเล่มนี้ยังแสดงให้เห็นถึงความซับซ้อนของวิวัฒนาการของความสวยงามที่เกิดขึ้นในธรรมชาติและในสังคมมนุษย์ รวมถึงปฏิสัมพันธ์ซึ่งกันและกันระหว่างความปรารถนากับวัตถุแห่งความปรารถนา (object of desire) เนื้อหาอีกส่วนหนึ่งที่ท้าทายความคิดอย่างมากอยู่ในบทชื่อ The Queering of Homo Sapiens ซึ่งอยากแนะนำให้ทั้งกลุ่มรณรงค์เรียกร้องการสมรสเท่าเทียมและศาลรัฐธรรมนูญไทยได้อ่าน