“You’re not listening” คนเหงาเพราะเราไม่ฟังกัน

นักปรัชญากรีกโบราณนามเอพิคเตตัส  (Epictetus) เคยกล่าวไว้ว่า “ธรรมชาติได้ให้ลิ้นแก่มนุษย์เพียงหนึ่งลิ้น แต่ให้หูถึงสองหู เพื่อที่เราจะได้ยินจากคนอื่นมากเป็นสองเท่าของที่เราพูด” แต่ในโลกที่เทคโนโลยีการสื่อสารก้าวหน้า การฟังกลับกลายเป็นศิลปะที่สูญหาย และคนเราก็ยิ่งเหงามากขึ้น

ในหนังสือ ‘You’re Not Listening: What You’re Missing & Why it Matters’ เคท เมอร์ฟี นักข่าวมากประสบการณ์จากนิวยอร์กไทมส์ วิเคราะห์ถึงปัญหาของการ ‘ไม่ฟัง’ กันในยุคปัจจุบัน และพยายามชี้ให้เห็นว่าการฟังมีความสำคัญเพียงใด ผ่านภาษาที่สละสลวย ผ่านงานวิจัยต่างๆ ตลอดจนบทสัมภาษณ์ผู้คนอีกจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นนักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญการทำโฟกัสกรุ๊ป นักแสดง ไปจนถึง อดีต CIA ด้านการสอบสวน โดยหนังสือจะหว่านล้อมผู้อ่านให้ค่อยๆ ตระหนักถึงความสำคัญของการฟัง มากกว่าการให้วิธีฟังแบบ ‘สำเร็จรูป’ โดยผม (ผู้เขียน) คิดว่าเป็นวิธีเล่าเรื่องที่มีประสิทธิภาพ เพราะหากปราศจากการตระหนักถึงความสำคัญของการฟังด้วยใจจริงแล้ว เทคนิคใดๆ ก็อาจใช้ได้ไม่ดีนัก


ทำไมยิ่งเชื่อมโยงแต่คนกลับเหงามากขึ้น?


เมอร์ฟีกล่าวว่า ปัจจุบันเราสามารถเชื่อมต่อกับคนอื่นในโลกได้ง่ายดายผ่านแชทและคอมเมนต์ในสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ โดยไม่ต้องพูดคุยกัน และหลายคนก็ดูจะชอบการใช้แชทที่มีสติกเกอร์มากกว่าการคุยเสียด้วยซ้ำ แต่ถึงเราจะเชื่อมโยงกันผ่านช่องทางออนไลน์ตลอด เมอร์ฟีกลับเห็นว่าจริงๆ แล้วคนเรากลับเหงามากขึ้น

ไม่ใช่เพราะว่าอยู่คนเดียว แต่เพราะไม่มีคนมาแบ่งปันความคิดความรู้สึกกับเราด้วยความจริงใจ จริงอยู่ที่สมาร์ตโฟนให้เราได้แทบทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการอ่านข่าว แชทกับเพื่อน สื่อสารกับคนทั้งโลก แต่สิ่งหนึ่งที่สมาร์ตโฟนให้ไม่ได้คืออารมณ์อิ่มเอมจากการสนทนาที่ดีกับคนด้วยกัน ซึ่งต้องอาศัยการฟังที่ดี และการฟังที่ดีในมุมหนึ่งคือการค้นหาสิ่งที่อยู่ในใจของใครบางคนและแสดงให้เห็นว่าเราใส่ใจมากพอที่อยากจะรู้

เป้าหมายของการฟังคือการเข้าใจกัน การฟังคือการให้ความสนใจ และต้องการความสงสัยใคร่รู้ (curiosity) เป็นเครื่องมือหลัก งานศึกษาทางประสาทวิทยาพบว่า เมื่อเราฟังและเข้าใจสิ่งที่อีกฝ่ายกำลังพูดอย่างถ่องแท้ คลื่นสมองของเราและผู้พูดจะประสานกัน (Sync) อย่างแท้จริง แย่หน่อยที่ในความเป็นจริง งานวิจัยเผยว่าในการพูดคุยกัน มีน้อยกว่า 5% ที่ผู้ฟังจะมีความรู้สึกร่วมกับผู้พูด นั่นทำให้สัตว์เลี้ยงของเราดูยังจะรับฟังเราเสียมากกว่า และหลายคนก็เลือกที่จะคุยกับสุนัขที่บ้านแทน

เมอร์ฟีให้ภาพว่า “ในฉากชีวิตในศตวรรษที่ 21 ไม่ว่าจะเป็นในร้านอาหาร หรือที่โต๊ะทานอาหารครอบครัว แทนที่จะพูดคุยกัน แต่ละคนต่างก็จ้องโทรศัพท์ หรือถึงจะคุยกัน โทรศัพท์ก็จะวางบนโต๊ะไม่ต่างจากช้อนส้อม ส่งสัญญาณเป็นนัยว่าคู่สนทนาไม่ได้มีส่วนร่วมอย่างเพียงพอ ผลลัพธ์ก็คือ ผู้คนต่างรู้สึกเหงาอยู่ลึกๆ โดยไม่รู้ว่าเพราะอะไร”

งานวิจัยพบว่า แค่บนโต๊ะทานอาหารมีโทรศัพท์มือถืออยู่ ก็ทำให้ผู้คนรู้สึกไม่ค่อยเชื่อมโยง และมีแนวโน้มที่จะไม่พูดเรื่องสำคัญกัน เพราะรู้ว่าถ้าพูดไปก็อาจถูกขัดจังหวะได้อยู่ดี อาจเพราะทั้งสื่อโฆษณา และโซเชียลมีเดียต่างๆ หันเหความสนใจเราได้เก่งจริงๆ


ยิ่งรู้จักกันมานาน ก็ยิ่งฟังกันน้อยลง


ต่อให้ไม่มีเรื่องสมาร์ตโฟน การเป็นผู้ฟังที่ดีก็ไม่ใช่เรื่องง่ายอยู่แล้ว เพราะสมองของคนเราทำงานได้เร็วกว่าที่คนอื่นพูด ทำให้เราวอกแวกได้ง่าย ไม่ว่าจะเป็นการคิดว่าเราจะถามอะไรต่อ จะตอบกลับอย่างไร จนหลุดโฟกัสในการฟัง บางทีเราก็เผลอนึกว่าสิ่งที่เราคิดมีประโยชน์ จนไปต่อประโยคคนอื่นให้จบ หรือคิดมุกที่คิดว่ามันขำเกินไปที่จะรอ เลยเล่นมุกขัดจังหวะการพูด หรือยิ่งกับคนใกล้ชิด เราก็มักคิดว่ารู้จักอีกฝ่ายดีแล้ว และเข้าใจไปเองว่าอีกฝ่ายคิดหรือจะพูดอะไร จนไม่ได้ตั้งใจฟังสิ่งที่อีกฝ่ายพูดเท่าไหร่

มีงานศึกษาที่พบว่า ถ้าให้คู่สามีภรรยาพูดประโยคทั่วไปในชีวิตประจำวันแล้วทายว่าอีกฝ่ายสื่อถึงอะไร สามี-ภรรยา มักไม่ได้ทายความหมายเก่งไปกว่าคนแปลกหน้าเท่าไหร่ บ่อยครั้งที่มักแย่กว่าด้วย


ศิลปะแห่งการฟังยิ่งสูญหาย ไปในสังคมที่ใครๆก็อยากดัง


หนังสือพยายามจะเสริมว่า ในสังคมปัจจุบันเต็มไปด้วยการโปรโมตตัวเอง “ภาพของความสำเร็จคือการพูดบนเวที… การพูด Ted Talk …คือการใช้ชีวิตในฝัน” การนิ่งเงียบคือการถูกทิ้งห่างออกไป การฟังคือการพลาดโอกาสในการสร้างชื่อเสียงให้กับตัวเอง ศิลปะในการฟังเลยยิ่งสูญหายไปมากขึ้น นั่นทำให้เวลาเมอร์ฟีไปสัมภาษณ์และถามว่า “มีใครรับฟังคุณบ้าง?” ผู้ตอบทั้งหมดต้องหยุดคิด คนที่โชคดีอาจมีผู้รับฟังหนึ่งคนหรือสองคน แต่ผู้ให้สัมภาษณ์หลายคนตอบว่าไม่รู้สึกว่ามีใครรับฟังพวกเขาอย่างแท้จริงเลย


แล้วเป็นผู้ฟังที่ดีต้องทำอย่างไร?


แม้ทุกคนจะรู้ว่าการเป็นผู้ฟังที่ดีเป็นสิ่งที่ควรทำ แต่หนังสือทำให้เราตระหนักว่าเราอาจเข้าใจผิดไปมากเกี่ยวกับการเป็นผู้ฟังที่ดี แน่นอนว่าการไม่พูดแทรก การไม่มองโทรศัพท์มือถือ การไม่วอกแวก เป็นสิ่งจำเป็น แต่นั่น “แค่ทำให้เราไม่เป็นผู้ฟังที่แย่แบบโจ่งแจ้งเท่านั้น” เมอร์ฟีกล่าว

แม้หนังสือจะไม่ได้ลิสต์มาเป็นข้อๆ แบบหนังสือ How to แต่ก็มีพูดแนะนำแทรกเป็นระยะ ข้อแนะนำหนึ่งที่ดูใช้ได้จริงอย่างมากคือ ใช้การตอบสนองแบบสนับสนุน (Support Feedback) ที่จะช่วยกระตุ้น/ส่งเสริมให้ผู้พูดอธิบายอย่างละเอียดให้เราเข้าใจมากยิ่งขึ้น แทนที่ใช้การตอบสนองแบบ Shift ซึ่งดึงความสนใจจากผู้พูดมาที่เราแทน อีกวิธีการที่เป็นประโยชน์คือ เวลาถามก็ถามด้วยความอยากรู้จริงๆ และถามโดยไม่ตัดสิน

ในกรณีที่ผู้พูดเล่าถึงปัญหาของพวกเขา บ่อยครั้งแท้จริงแล้วเขาไม่ได้ต้องการวิธีแก้ปัญหาจากเรา เพียงแต่ต้องการคนรับฟัง ดังนั้นเพียงแค่ตั้งใจฟัง ถามไถ่ด้วยความสนใจ โดยไม่รีบแก้ปัญหาให้ผู้พูด ก็เพียงพอแล้วที่จะทำให้ผู้พูดเรียบเรียงเรื่องราวและแก้ปัญหาได้ด้วยตัวเอง คงจะเป็นเหมือนที่นาโอมิ เฮนเดอร์สัน เจ้าแม่แห่งวงการโฟกัสกรุ๊ปและงานวิจัยเชิงปริมาณ ได้ให้ความเห็นไว้ว่า “เคล็บลับสุดยอดในการฟังที่ฉันได้เรียนรู้ก็คือ มันไม่เกี่ยวกับฉัน”[1]

ในยุควิกตอเรีย มีช่วงหนึ่งที่ เบนจามิน ดิสราเอลี และ วิลเลียม แกลดสตัน กำลังขับเคี่ยวในการเลือกตั้งนายกรัฐมนตรีแห่งสหราชอาณาจักร กล่าวกันว่าแกลดสตันเป็นผู้ที่ฉลาดหลักแหลมและรอบรู้มากทีเดียว[2] โดยในงานเลี้ยงอาหารเย็นหนึ่งสัปดาห์ก่อนการเลือกตั้ง เลดี้เจนนี่ เจอโรม ผู้เป็นแม่ของเชอร์ชิล ได้มีโอกาสทานอาหารค่ำกับบุคคลทั้งสอง เมื่อนักข่าวไปถามว่ามีความประทับใจในการพูดคุยอย่างไรบ้าง เลดี้เจอโรม กล่าวว่า

“หลังจากงานเลี้ยงมื้อค่ำที่ดิฉันได้นั่งข้างกับแกลดสตัน ดิฉันคิดว่าเขาคือผู้ที่ฉลาดที่สุดในอังกฤษ แต่เมื่อดิฉันได้นั่งข้างกับ ดิสราเอลี สิ่งที่ดิฉันรู้สึกได้ก็คือดิฉันคือสตรีที่ปราดเปรื่องที่สุด”

ในประวัติศาสตร์ดิสราเอลีเป็นผู้ชนะการเลือกตั้งครั้งนั้น ไม่ใช่เพราะเขาเฉลียวฉลาดกว่าแกลดสตัน แต่เพราะเขาเป็นผู้เชี่ยวชาญในศิลปะการรับฟัง ทำให้ผู้ฟังได้รับเกียรติ และรู้สึกได้รับความสำคัญ เราคงพอจะจิตนาการได้ว่าเราอยากจะให้คู่สนทนาประทับใจกับเราแบบใดแกลดสตันหรือดิสราเอลี และพอจินตนาการออกว่าผู้นำที่ไม่รับฟังผู้อื่นนั่นเลวร้ายเพียงใด 

หนังสือ You’re not listening จึงเป็นหนังสือที่ควรค่าแก่การทำความเข้าใจความสำคัญของการฟังอีกซักครั้ง และลองหันกลับมามองตัวเองซักหนว่าเราเป็นผู้ฟังที่ดีหรือไม่ เพื่อที่เราจะได้เข้าใจคนรอบข้าง หรืออย่างน้อยก็เพื่อให้เราเข้าใจตัวเองได้ดีขึ้น

แล้วเราอาจพบว่าเมื่อเราตั้งใจฟังมากขึ้น ชีวิตของคนรอบข้างเราน่าสนใจขึ้นเพียงใด



[1] บทที่ชอบมากอันหนึ่ง บทที่พูดเกี่ยวกับการฟัง การทำวิจัยเชิงคุณภาพ ยังจำเป็นด้วยหรือ ในยุค Big data ที่ทายค่าพฤติกรรมของคนมาให้แล้ว

[2] 1) ประวัติศาสตร์ ดิสราเอลี และแกลดสตัน ผลัดกันแพ้ชนะการเลือกตั้ง และผลัดกันเป็นนายกรัฐมนตรีอยู่หลายครั้ง 2) เนื้อหาส่วนนี้อยู่ในหนังสือบทที่ 12 และใน https://www.businessinsider.com/charismatic-leadership-tips-from-history-2016-10

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save