fbpx

[ความน่าจะอ่าน] The World Without Us เมื่อโลกไม่มีเรา: ต้นธารแนวคิดการฟื้นชีวิตธรรมชาติ (Rewilding)

คุณูปการที่สำคัญที่สุดของหนังสือ ‘The World Without Us’ หรือ ‘เมื่อโลกไม่มีเรา’ คือคำถามเปิดเรื่องที่แยบยลเสียเหลือเกิน “ขอให้นึกภาพโลกที่จู่ๆ มนุษย์ทุกคนก็หายตัวไปหมด คุณคิดว่าธรรมชาติและชีวิตร่วมโลกที่เหลือจะตอบสนองอย่างไร” เป็นคำถามเรียบง่ายแต่เปิดจินตนาการและมุมมองได้อย่างเหลือเชื่อ

จะว่าไปนี่คือคำถามสำคัญในยุคที่มนุษย์กำลังเผชิญกับวิกฤตรอบด้าน ไม่ว่าจะเป็นภาวะฉุกเฉินด้านสภาพภูมิอากาศ การสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิต มลภาวะพลาสติกล้นโลกและโรคระบาดใหญ่ ปฏิเสธไม่ได้ว่ามนุษย์คือตัวการสำคัญของวิกฤตการณ์ทั้งหลายที่กำลังเกิดขึ้นกับโลก ถ้าไม่มีมนุษย์ โลกจะเยียวยาตัวเองกลับมาได้หรือไม่และต้องใช้เวลานานแค่ไหน 

เนื้อหาที่เหลือของหนังสือคือการพยายามตอบคำถามดังกล่าวผ่านการทดลองทางความคิดอย่างละเอียด ทีละขั้นทีละตอนตามความรู้ด้านนิเวศวิทยาและศาสตร์สาขาต่างๆ ด้วยภาษาที่งดงาม ผ่านบทสนทนากับนักวิจัยชั้นนำทั่วโลก อาจกล่าวได้ว่าแก่นแกนของหนังสือเล่มนี้ที่เน้นย้ำถึงความสามารถในการฟื้นฟูตัวเองของธรรมชาติ และความจำเป็นในการมีระบบนิเวศที่สมบูรณ์คอยค้ำจุนชีวิต เป็นหนึ่งในต้นธารสำคัญของกระแสการฟื้นชีวิตธรรมชาติ (Rewilding) หรือการแก้ปัญหาบนพื้นฐานธรรมชาติ (Nature-based Solutions) ที่กำลังถูกพูดถึงอย่างมากในปัจจุบัน 

แอลัน ไวส์แมน นักข่าวและคอลัมนิสต์มือรางวัล เขียนหนังสือเล่มนี้โดยขยายเนื้อหาจากบทความของเขาเองเรื่อง Earth Without People ซึ่งตีพิมพ์ใน Discover Magazine เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2005 ซึ่งได้พรรณนาการกลับคืนมาของธรรมชาติในเขตปลอดทหาร (และปลอดมนุษย์)​ พื้นที่รอยต่อระหว่างเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ และจินตนาการถึงมหานครนิวยอร์กที่ล่มสลายและถูกธรรมชาติกลืนกิน  

บทความดังกล่าวได้รับเลือกให้เป็นงานเขียนวิทยาศาสตร์ของอเมริกาที่ยอดเยี่ยมที่สุดแห่งปี 2006 ในขณะที่หนังสือ The World Without Us ก็กวาดรางวัลประเภทสารคดีจากหลายสถาบัน และยังได้รางวัลหนังสือยอดเยี่ยมที่สุดประจำปี 2007 จากนิตยสาร Time อีกด้วย

แม้ความคิดเรื่องวันสิ้นโลก หรือกล่าวให้ถูกคือวันสิ้นมนุษย์จะไม่ใช่เรื่องใหม่ และปรากฏอยู่ในคำสอนทางศาสนา นวนิยาย และภาพยนตร์มากมาย แต่หนังสือ ‘เมื่อโลกไม่มีเรา’ น่าจะเป็นความพยายามครั้งแรกๆ ที่ได้มีการมองปรากฏการณ์สมมติดังกล่าวผ่านกระบวนการทางนิเวศวิทยาอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ในทุกแง่มุม ด้านหนึ่งคือการคาดการณ์ว่าธรรมชาติจะฟื้นฟูตัวเองกลับมาได้อย่างไร ในขณะที่อีกด้านหนึ่งก็จินตนาการถึงการล่มสลายของอารยธรรมมนุษย์ และสำรวจร่องรอยและผลกระทบที่มนุษย์สร้างทิ้งไว้

ผมได้อ่าน The World Without Us ฉบับภาษาอังกฤษตอนที่เพิ่งออกมาไม่นาน จำได้ว่าชอบมากแต่ก็ไม่ใช่หนังสือที่อ่านง่ายนัก เพราะผู้เขียนใช้ภาษาที่สำบัดสำนวนพอสมควร สอดแทรกกับภาษาที่อิงศาสนาเป็นช่วงๆ น่าดีใจที่ในที่สุดหนังสือเล่มนี้ได้รับการถ่ายทอดเป็นภาษาไทยโดย ดร.อ้อย-สรณรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์ อดีตประธานมูลนิธิโลกสีเขียวและนักนิเวศวิทยาคนสำคัญ ซึ่งเป็นผู้บุกเบิกแนวคิด Rewilding ในประเทศไทยอีกด้วย  

หนังสือเล่มนี้พาเราไปสำรวจสิ่งที่คาดว่าจะเกิดขึ้นหลังจากที่มนุษย์หายไปในหลายแง่มุมมากๆ ไม่ว่าจะเป็นการฟื้นคืนกลับมาของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดใหญ่ การกลับคืนสู่สมดุลของประชากรนกในโลกที่ไร้การล่า ไร้หน้าต่างกระจกที่ทำให้นกบินชนตายปีละนับพันล้านตัว ไปจนถึงการฟื้นคืนมาของธรรมชาติในพื้นที่ที่มนุษย์จำเป็นต้องละทิ้งถิ่นฐานเช่นเชอร์โนบิล

บทที่น่าจะตราตรึงความทรงจำของผู้อ่านที่สุดบทหนึ่งน่าจะเป็นตอน ‘เมืองไม่มีเรา’ ซึ่งเล่นกับความคิดที่ว่าธรรมชาติจะสามารถกลืนเมืองขนาดใหญ่ยักษ์เต็มไปด้วยตึกระฟ้าอย่างนิวยอร์กได้อย่างไร หรือบทก่อนหน้าที่เล่าถึงกระบวนการที่ธรรมชาติ ‘รื้อบ้านเรา’ ซึ่งจะเริ่มต้นทันทีที่มนุษย์หายตัวไป ธรรมชาติจะเข้ามายึดครองและเริ่มทำความสะอาดบ้าน โดยมีจุดเริ่มต้นอยู่ที่ความชื้น ดังคำกล่าวที่ว่า “ถ้าคุณคิดอยากทำลายโรงนา ให้เจาะรูบนหลังคาเป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัสกว้างยาว 18 นิ้ว แล้วถอยมายืนรอ” 

เมื่อน้ำและความชื้นแทรกซึมเข้ามาตามรูรั่ว ตามขอบหน้าต่าง รอบๆ ตะปู หรือโครงสร้างไม้ ไม่นานก็จะมีราขึ้นฟูแล้วปล่อยเอนไซม์ย่อยสลายเซลลูโลสและลิกนินในเนื้อไม้จนผุพัง แบคทีเรียจะจัดการส่วนที่เป็นวัสดุจากพืชที่เหลือ โครงหลังคาจะเริ่มหลุดร่อน กำแพงจะค่อยๆ โน้มเอียง ในที่สุดหลังคาก็จะร่วงลงมา โรงนาน่าจะหายไปภายในเวลา 10 ปี ในขณะที่บ้านเรือนทั่วไปอาจอยู่ได้ถึง 50 ปี อย่างมากสุดก็ 100 ปีเท่านั้น 

ในกรณีของมหานครนิวยอร์ก ปริมาณน้ำกว่า 13 ล้านแกลลอนจะทะลักเข้าท่วมอุโมงค์รถไฟใต้ดินทันที่ที่เจ้าหน้าที่ดูแลอุโมงค์และปั๊มน้ำกว่า 700 จุดหายตัวไป ภายใน 36 ชั่วโมงน้ำจะท่วมเต็มอุโมงค์ทั้งระบบ และเริ่มชะดินใต้ทางเท้า ถนนจะเริ่มเป็นหลุ่มเป็นบ่อ เพดานอุโมงค์รถไฟใต้ดินจะถล่มลงมา ภายใน 20 ปีเสาเหล็กกล้าที่ค้ำถนนจะผุกร่อนและทรุดลง ถนนจะกลายเป็นแม่น้ำ

มีการประเมินว่าภายใน 500 ปี โครงสร้างต่างๆ ในเมืองจะเสื่อมสภาพจนไม่เหลือเค้าเดิม ป่าจะกลับมาปกคลุมตึกรามบ้านช่องจนแทบมองไม่เห็นสิ่งก่อสร้าง เมื่อระบบนิเวศปรับสมดุล พรรณพืชดั้งเดิมจะฟื้นคืนมาแทนที่ชนิดพันธุ์ต่างถิ่น แมลงสาบและหนูจะสูญพันธุ์จากเขตหนาวเมื่อไม่มีอาหารและความอบอุ่นจากเมืองมนุษย์ แต่ขณะเดียวกันวัสดุและนวัตกรรมบางอย่างจากฝีมือเราเช่นพลาสติก โรงงานปิโตรเคมี กากพิษจากโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์  อาจคงอยู่ต่อไปในสิ่งแวดล้อมอีกนับแสนๆ ปี หรือชั่วกัลปาวสาน เป็นแผลเป็นที่เราทิ้งไว้ให้กับโลก 

หนังสือเล่มนี้ให้น้ำหนักกับพลังในการเยียวยาตัวเองของธรรมชาติ ซึ่งนับเป็นบทเรียนสำคัญในความพยายามฟื้นฟูธรรมชาติของมนุษย์​ สหประชาชาติได้กำหนดให้ปี 2021-2030 เป็นทศวรรษแห่งการฟื้นฟูระบบนิเวศ โดยเน้นย้ำว่าเราต้องทำทุกวิถีทางเพื่อปกป้องธรรมชาติที่เหลืออยู่ พร้อมๆ กับการฟื้นฟูระบบนิเวศที่เสื่อมโทรมไปแล้ว เพื่อป้องกันการล่มสลายของความหลากหลายทางชีวภาพ 

น่าเสียดายที่ในปัจจุบันโครงการที่ดำเนินการในนามการ ‘ฟื้นฟูธรรมชาติ’ หลายแห่งดำเนินไปโดยขาดความรู้ความเข้าใจในกระบวนการทางนิเวศวิทยา เราจึงยังเห็นโครงการปลูกป่าด้วยการแผ้วถางพืชพรรณดั้งเดิมออก โครงการฟื้นฟูลำน้ำด้วยการทำฝายดักตะกอนจนเกิดการเปลี่ยนแปลงทางน้ำ ปลาท้องถิ่นสูญพันธุ์ หรือโครงการปล่อยสัตว์คืนสู่ป่าแต่กลับไม่ใช่ชนิดพันธุ์ดั้งเดิมที่พบได้ในพื้นที่ ความพยายามเหล่านี้ล้วนส่งผลเสียมากกว่าผลดี และทำให้ระบบนิเวศยิ่งเสื่อมโทรมไปกว่าเดิม

ตัวอย่างการฟื้นฟูระบบนิเวศที่ดีที่สุดจึงเป็นอย่างที่หนังสือเล่มนี้บอกไว้ นั่นคือการปล่อยให้ธรรมชาติฟื้นฟูตัวเอง โดยมีการรบกวนจากมนุษย์ให้น้อยที่สุด ไม่ใช่ว่ามนุษย์จะเข้าไปช่วยเร่งกระบวนการฟื้นฟูไม่ได้ แต่จำเป็นต้องทำไปโดยมีองค์ความรู้เกี่ยวกับระบบนิเวศดั้งเดิมที่ถูกต้อง เพื่อช่วยกำหนดเป้าหมายการ Rewilding อย่างเหมาะสม   

แอลัน ผู้เขียนได้มีโอกาสเดินทางไปสำรวจระบบนิเวศที่ยังพิสุทธิ์และแทบไม่ถูกรบกวนจากมนุษย์ เช่น ผืนป่าเบียวอวีแยซา ปุชตชา ขนาด 1.25 ล้านไร่ ตรงชายแดนโปแลนด์และเบลารุส ซึ่งเป็นตัวแทนป่าธรรมชาติดั้งเดิมที่ครั้งหนึ่งเคยกระจายอยู่ทั่วยุโรป หรือแนวปะการังคิงแมน ของประเทศคิริบาติในมหาสมุทรแปซิฟิกที่ยังเต็มไปด้วยฝูงฉลามและปลากะพงขนาดใหญ่ ซึ่งแทบจะหาไม่ได้อีกแล้วในทะเลแห่งอื่นๆ 

แนวปะการังคิงแมนเป็นหนึ่งในสถานที่ห่างไกลและเข้าถึงยากที่สุดในโลก การสำรวจแนวปะการังแห่งนี้ซึ่งแอลันได้มีโอกาสเข้าร่วมนับเป็นการค้นพบทางนิเวศวิทยาที่สำคัญครั้งหนึ่ง เพราะช่วยให้นักวิทยาศาสตร์เข้าใจว่าระบบนิเวศปะการังดั้งเดิมก่อนที่ได้รับอิทธิพลจากมนุษย์มีลักษณะอย่างไร ทำให้เข้าใจว่าแนวปะการังที่สมบูรณ์สุขภาพดีควรมีองค์ประกอบของปลากลุ่มต่างๆ อย่างไร 

หลักฐานหนึ่งที่นักวิทยาศาสตร์ค้นพบซึ่งโต้แย้งความคิดเดิมๆ คือสัตว์ผู้ล่าขนาดใหญ่จะมีความชุกชุมน้อยที่สุด แต่ปรากฏว่าฝูงฉลามและปลากะพงแดงซึ่งเป็นสัตว์ผู้ล่าบนสุดของห่วงโซ่อาหารที่แนวปะการังคิงแมนกลับมีความชุกชุมอย่างเหลือเชื่อ และมีน้ำหนักชีวมวลรวมกันมากกว่าสิ่งมีชีวิตกลุ่มอื่นๆ หรือทำให้พีระมิดอาหารที่ประกอบด้วย ผู้ผลิต ผู้บริโภคลำดับที่ 1 2 3  กลับหัวกลับหาง เพราะสัตว์ผู้ล่าสูงสุดซึ่งปกติจะมีจำนวนน้อยกลับมีปริมาณมากที่สุด

งานวิจัยอีกหลายปีต่อมาที่ได้ทำการเปรียบเทียบแนวปะการังคิงแมนกับแนวปะการังแห่งอื่นที่ถูกรบกวนจากกิจกรรมต่างๆ ของมนุษย์ในคิริบาติ ยังพบว่าแบคทีเรียในน้ำจากพื้นที่ที่มีคนอาศัยพบแบคทีเรียสูงกว่าแนวปะการังคิงแมนถึง 10 เท่า ไม่เพียงแต่จำนวนของจุลชีพเพิ่มขึ้นเมื่อมีคนอาศัยมากขึ้นเท่านั้น แต่องค์ประกอบของแบคทีเรียยังเปลี่ยนไปอีกด้วย

ที่แนวปะการังคิงแมนซึ่งน้ำใสแจ๋ว จุลชีพกว่าครึ่งเป็นแบคทีเรียขนาดเล็กซึ่งทำหน้าที่สังเคราะห์แสงผลิตออกซิเจน แต่ที่คิริบาติพบว่าน้ำขุ่นกว่า เกือบหนึ่งในสามของแบคทีเรียที่พบเป็นชนิดที่ก่อให้เกิดโรค ตัวที่น่ากังวลเป็นพิเศษคือ ไวบริโอ ซึ่งทำให้เกิดโรคต่างๆ ในปะการังหลายชนิด และอาจทำให้เกิดโรคอันตรายในมนุษย์ด้วยเช่น อหิวาตกโรค ทางเดินอาหารอักเสบ แผลติดเชื้อ และภาวะโลหิตเป็นพิษด้วย

นักวิทยาศาสตร์อธิบายว่าแนวปะการังที่สมบูรณ์ปราศจากอิทธิพลของมนุษย์ มีปลาชุกชุม มีฉลามหลายชนิด และมีความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตกลุ่มต่างๆ สูง รวมทั้งหอยมือเสือที่ทำหน้าที่กรองน้ำทะเลผ่านร่างกาย และกำจัดแบคทีเรียและไวรัสส่วนใหญ่จากน้ำทะเล หอยมือเสือจึงเป็นอีกกลไกหนึ่งที่แนวปะการังควบคุมไวรัส หรือกรองไวรัสออกจากระบบ เมื่อหอยมือเสือถูกจับเพื่อเอาเนื้อและเปลือกจากแนวปะการังจนแทบจะสูญสิ้นไปในหลายพื้นที่ มนุษย์ไม่รู้ตัวเลยว่าได้เอาตัวกรองเชื้อโรคตามธรรมชาติ หรือ ถอดหน้ากาก N-95 ที่ช่วยปกป้องธรรมชาติจากโรคภัยไข้เจ็บออกไปด้วย

โดยทั่วไประบบนิเวศที่มีชนิดพันธุ์จุลินทรีย์ พืชพรรณ และชนิดสัตว์หลากหลาย มีโรคภัยไข้เจ็บน้อยกว่าระบบนิเวศที่เสื่อมโทรม ความหลากหลายทางชีวภาพช่วยสร้างเกราะป้องกันตามธรรมชาติที่ทำให้ไวรัสต่างๆ อ่อนแอลง ช่วยป้องกันและควบคุมโรคระบาดได้ ไม่ผิดเลยที่จะบอกว่า โลกธรรมชาติคือยาต้านไวรัส ป้องกันโรคระบาดที่ดีที่สุดของเรา

การค้นพบดังกล่าวเป็นตัวอย่างหนึ่งที่ทำให้สังคมเริ่มตื่นเต้นกับแนวคิดการ Rewilding เพราะบทเรียนในอดีตสอนให้รู้ว่าการแก้ปัญหาแบบเอาคนเป็นศูนย์กลาง มักนำไปสู่การแก้ปัญหาเฉพาะหน้าที่ไม่รอบคอบ และยิ่งส่งผลร้ายกว่าเดิมในระยะยาว จึงมีความพยายามเสนอการแก้ปัญหาแบบใหม่ที่ย้อนกลับไปหาธรรมชาติ เรียนรู้การทำงานของระบบนิเวศที่สมดุล สมบูรณ์ ลงตัว โดยเรียกรวมๆ ว่า การแก้ปัญหาบนพื้นฐานธรรมชาติ (Nature-based Solutions) ยกตัวอย่างง่ายๆ ในกระบวนการผลิตตามธรรมชาตินั้นมีประสิทธิภาพมากๆ ชนิดที่ไม่มีของเสียหรือของเหลือทิ้งเกิดขึ้นเลย หรือนวัตกรรมการออกแบบผลิตภัณฑ์สมัยใหม่ที่หันกลับไปลอกเลียนหลักการทำงานสุดเจ๋งของธรรมชาติในศาสตร์ชีวลอกเลียน (biomimicry)

การฟื้นชีวิตธรรมชาติหรือการ Rewilding ให้ระบบนิเวศกลับมาอุดมสมบูรณ์ จึงอาจเป็นทางออกสำคัญให้กับปัญหาต่างๆ มากมายที่กำลังรุมเร้ามนุษย์ทั้งทางด้านสังคม เศรษฐกิจ ไปจนถึงสุขภาวะทั้งในระดับมหภาคและปัจเจก  

ด้วยแนวคิดที่อาศัยธรรมชาติเป็นพื้นฐาน การแก้ปัญหาน้ำท่วมจึงหมายถึงการรื้อฟื้นความรู้เกี่ยวกับห้วยหนองคลองบึง การไหลหลากของน้ำ การฟื้นฟูพื้นที่ชุ่มน้ำที่คอยรับน้ำดักตะกอน การแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำจึงหมายถึงการฟื้นฟูป่าต้นน้ำ สร้างระบบกักเก็บน้ำย่อยๆ ในระดับท้องถิ่นที่มีประสิทธิภาพ รวมไปถึงการปรับเปลี่ยนการใช้ที่ดิน การเพาะปลูกชนิดพันธุ์ให้สอดคล้องกับสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง  การแก้ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งจึงหมายถึงการเข้าใจรากของปัญหาต้นทาง และฟื้นฟูระบบนิเวศชายฝั่งดั้งเดิม ไม่ว่าจะเป็นพืชชายหาด ป่าชายเลน หญ้าทะเล ปะการังที่ล้วนเป็นปราการทางธรรมชาติ

ด้วยความเข้าใจถึงผลดีของการฟื้นฟูธรรมชาติ การแก้ปัญหาสุขภาพและสุขภาวะของคนในชาติจึงหมายถึงการเพิ่มพื้นที่สวนสาธารณะ เพิ่มจำนวนต้นไม้ใหญ่และพื้นที่ชุ่มน้ำธรรมชาติให้คนในเมืองได้มีโอกาสใช้ชีวิตกลางแจ้ง สร้างภูมิคุ้มกันด้วยแลกเปลี่ยนจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์และสร้างสมดุลในการใช้ชีวิต การปฏิรูปการศึกษาจึงหมายถึงการพัฒนาหลักสูตรเนื้อหาที่สอดคล้องกับนิเวศวิทยาท้องถิ่นและกระตุ้นให้เกิดความรักในการเรียนรู้จากธรรมชาติรอบตัว การสร้างความมั่นคงทางอาหารจึงหมายถึงการฟื้นฟูทะเล ฟื้นฟูป่า แหล่งผลิตอาหารที่ทรงประสิทธิภาพที่สุดในโลก และส่งเสริมการเพาะปลูก  การเพาะเลี้ยงสัตว์ การบริโภคอย่างยั่งยืนในทุกๆ สภาพแวดล้อม โดยเฉพาะในเมืองที่เป็นที่อยู่อาศัยของคนกว่าครึ่งโลก

เมื่อมนุษย์ยิ่งเรียนรู้และเข้าใจการทำงานของระบบนิเวศมากขึ้น ก็ยิ่งพบว่าธรรรมชาติคือทางออกของปัญหาตั้งแต่ความยากจน ความ (ไม่) มั่นคงทางอาหาร ความเปราะบางต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ไปจนถึงภาวะซึมเศร้าสับสนอ่อนแอในหมู่คนเมือง เราต้องหันกลับมาเรียนรู้จากธรรมชาติ ช่วยกันสร้างพลังความเคลื่อนไหวนี้ ให้เกิดขึ้นกับคนทุกๆ กลุ่มในสังคม โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ให้หันมาสนใจและมีประสบการณ์ตรงกับธรรมชาติมากขึ้น เราต้องนำเทคโนโลยี สื่อสังคมออนไลน์เข้ามาช่วยกระตุ้นให้กระบวนการสิ่งแวดล้อมศึกษาเข้าถึงกลุ่มคนที่อาจยังไม่สนใจหรือไม่มีโอกาส

เราจำเป็นต้องเปลี่ยนวิธีคิดและเข้าใจว่า งานอนุรักษ์ไม่ใช่เรื่องของคนกลุ่มน้อยที่พยายามไล่คนให้กลับไปอยู่ถ้ำ แต่คือการอนุรักษ์ต้นทุนธรรมชาติเพื่อการพัฒนาของคนส่วนใหญ่ พร้อมกับปรับเปลี่ยนระบบเศรษฐกิจให้สอดคล้องกับขีดจำกัดของธรรมชาติ

แต่ถ้าเรายังไม่รู้จักปรับตัวและคิดจะเปลี่ยนแปลง ก็คงไม่แปลกที่วันหนึ่งเราทั้งหมดอาจจะหายไป เพื่อปล่อยให้โลกได้กลับคืนสู่สมดุล เพราะถึงที่สุดแล้ว โลกไม่ได้ต้องการเรา เราต่างหากที่ต้องการโลก 

“ถ้าปราศจากเรา โลกจะยืนยงต่อไป แต่โดยปราศจากโลก เราไม่อาจแม้แต่จะดำรงอยู่”  – แอลัน ไวส์แมน 

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save