fbpx

เปิดความเห็นของนักอ่าน ใน ‘ความน่าจะอ่าน ขวัญใจมหาชน 2021’

เป็นปีที่สองที่ความน่าจะอ่านมีรายชื่อหนังสือ ‘ความน่าจะอ่าน ขวัญใจมหาชน’ ที่ให้นักอ่านทุกคนร่วมโหวตหนังสือน่าอ่านด้วยตัวเอง และหนังสือที่ได้รับการโหวตให้ ‘น่าจะอ่าน’ ที่สุดแห่งปี 2021 คือ ‘เมื่อโลกซึมเศร้า: Mark Fisher โลกสัจนิยมแบบทุน และลัดดาแลนด์‘ ของ สรวิศ ชัยนาม จากสำนักพิมพ์ Illuminations Editions

แม้การโหวตจะจบลงและได้หนังสือที่มหาชนโหวตให้มากที่สุดเป็นที่เรียบร้อยแล้ว แต่ยังมีหนังสืออีกหลายเล่มและเหตุผลเฉียบๆ ของนักอ่านหลายคนที่น่าสนใจไม่แพ้กัน 101 จึงขอรวบรวมเสียงของนักอ่านไว้ดังต่อไปนี้

ดูรายชื่อ Finalists ความน่าจะอ่าน 2021 ชุดที่ 1 ,ชุดที่ 2 และชุดที่ 3 

คุณเอกราชเลือกหนังสือ ‘แปดขุนเขา’

ของ Paolo Cognetti

เหตุผลที่เลือก 

“เรียบง่าย แต่สัมผัสถึงชีวิตด้านใน, เล่าเรื่องกิจกรรมเดินเขาอันเก่าแก่และดูห่างไกลกับคนยุคสมัยนี้ แต่กลับสร้างความรู้สึกคุ้นเคยอย่างน่าประหลาด, คนต่างวัยอ่านแล้วน่าจะได้อะไรไม่เหมือนกัน และคนเดียวกันควรอ่านเมื่อวัยเปลี่ยนแปรไปน่าจะได้อะไรต่างออกไป, สำนวนแปลดีงาม สะท้อนและถ่ายทอดถึงต้นฉบับที่น่าจะเลิศล้ำอยู่แต่เดิม, อ่านจบแล้วเติมเต็ม ถึงขนาดยวนใจให้กลับไปอ่านซ้ำอีก”

คุณชุติเดชเลือกหนังสือ ‘เสียงเพรียกจากคธูลู และเรื่องเล่าในเงามืด’

ของ เอช.พี. เลิฟคราฟท์

เหตุผลที่เลือก

เมื่อผมอ่านหนังสือเล่มนี้จบ พูดได้เต็มปากเลยว่าเอช.พี. เลิฟคราฟท์เป็นนักเขียนคนโปรดของผม เป็นนักเขียนที่ผมชื่นชอบที่สุด ณ ปัจจุบัน ด้วยเสน่ห์ของการเล่ารายละเอียดปลีกย่อยต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นความรู้สึกของตัวละคร บรรยากาศชวนขนพองสยองเกล้า และสภาพแวดล้อมที่ชวนเปลี่ยวว้างวังเวงชวนขนหัวลุก จนได้เนรมิตภาพฝันในหัว ให้เราเป็นส่วนหนึ่งของประสบการณ์สยองและความน่าสะพรึงกลัวต่างๆ ที่เกิดขึ้น ถึงแม้มันจะน่ากลัวสยดสยองอสงไขยเพียงใด กระนั้นความหวาดกลัวกลับกลายเป็นสิ่งที่น่าสัมผัสและน่าลิ้มลองอย่างยิ่ง เสมือนเสียงเพรียกของปีศาจที่ชักชวนให้ผู้อ่านได้เป็นมิตรร่วมทางของตัวละคร ตั้งแต่หน้าแรกจวบจนจบหน้าสุดท้ายของเรื่องราวที่เราเองก็ไม่รู้ว่าจุดจบของตัวละครหรือเรื่องเล่าจะไปจบลบตรงไหน แม้รู้ว่าอาจจะจบลงด้วยความสยองขวัญก็ตาม

นอกจากนี้ผมคิดว่าเอช.พี. เลิฟคราฟท์ยังช่วยชี้ให้เห็นถึงข้อจำกัดการรับรู้ของมนุษย์ หรือ ‘limitation of human cognition’ การทำให้เห็นถึง ‘nameless things of life’, โลกที่ปราศจากมนุษย์ หรือ ‘world-without-us’ และสิ่งที่เรียกว่า ‘non-human’ ทั้งหมดนี้นำเสนอผ่านธีมหลักๆ ใน 3 เรื่อง ผ่านปลายปากกาของ HPL ได้แก่ dread, seriousness, supranatural หรืออาจพูดรวมๆ ได้ว่า ‘cosmic horror’ การทำให้มนุษย์หวาดกลัวอย่างสุดขีดต่อสิ่งที่ตัวเองไม่สามารถเข้าใจหรือรับรู้ได้ และสิ่งเหล่านี้กำลังทั้งหลอกหลอนและโจมตีพวกเขาอยู่ สิ่งเหล่านี้กำลังมอบความตายที่น่าสยดสยองต่อเผ่าพันธุ์ที่คิดว่าตัวเองรู้ดีและคิดว่าตัวเองเป็นผู้ยิ่งใหญ่ของจักรวาล

คุณชรินพัชรเลือกหนังสือ ‘มหัศจรรย์ห้องสมุดเที่ยงคืน’

ของ Matt Haig

เหตุผลที่เลือก 

เป็นหนังสือเกี่ยวกับโรคซึมเศร้าจากนักเขียนที่เคยเผชิญหน้ากับโรคนี้ที่สอนให้เราฉุกคิดถึงความหมายของการมีชีวิตอยู่ และหันกลับมารักตัวเองได้มากขึ้น ถ่ายทอดเรื่องราวผ่านนวนิยายที่เป็นเหมือนการเปิดกว้างให้แต่ละคนได้คิดและตีความไปตามประสบการณ์ของตัวเอง ทำให้ผู้อ่านเข้าใจและเข้าถึงได้ง่าย 

หนังสือทำให้เราเห็นว่าบนโลกนี้ไม่มีทางเลือกไหนที่เราจะไม่เจอความเสียใจ ชีวิตสมบูรณ์แบบแสนสุขไม่มีอยู่จริง แต่หากเราได้พบกับตัวเองในเวอร์ชันอื่นๆ ที่อาจจะ ‘ดูเหมือน’ มีความสุขมากกว่า ก็หมายความว่าตัวเราในเวอร์ชันนี้ก็มีโอกาสมีความสุขแบบนั้นเช่นกัน เพราะทุกๆ เวอร์ชันต่างก็เป็นกิ่งก้านที่แตกแขนงออกมาจากต้นไม้แห่งชีวิตของเราทั้งนั้น และสิทธิประโยชน์ที่สำคัญที่สุดของการมีชีวิตอยู่คือการเลือกเป็นอะไรก็ได้ที่เราอยากจะเป็น

คุณจิตรลดาเลือกหนังสือ ‘ไม่มีใครเป็นเจ้าของความหวังเพียงผู้เดียว’

ของ ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

เหตุผลที่เลือก

หนังสือบอกเล่าเรื่องราวของคนชายขอบทั้งในประเทศและต่างประเทศ แต่ละกลุ่ม โดยทำออกมาในรูปของสารคดี ชอบหนังสือเล่มนี้ตรงที่หยิบเอาประเด็นเรื่องของคนกลุ่มเล็กๆ ที่แม้แต่รัฐยังมองไม่เห็น เอามาเขียนเรื่องราวของพวกเขาเป็นหนังสือ เราเองที่ไม่ได้อยู่ในกลุ่มเดียวกับพวกเขา ไม่ได้เป็นคนไร้บ้าน sex worker หรือกลุ่มอื่นๆ ภายในเล่ม อ่านแล้วรู้สึกเปิดโลกมากและทำให้รู้จักพวกเขามากขึ้นจากก่อนอ่านหนังสือ และเชื่อว่าคนอื่นๆ ที่หยิบหนังสือเล่มนี้ขึ้นมาอ่านก็รู้สึกเปิดโลกเหมือนกับเรา 

คุณรัชนีเลือกหนังสือ ‘ขุนศึก ศักดินา พญาอินทรี’

ของณัฐพล ใจจริง

เหตุผลที่เลือก

ทำให้รู้ประวัติศาสตร์การเมือง การปกครองในเชิงเปรียบเทียบ กับประวัติศาสตร์การเมืองของฝั่งตะวันตก ทำให้รู้ซึ้งถึงการสมรู้ร่วมคิดของชนชั้นนำที่มีต่อประชาชนในชาติและการโฆษณาชวนเชื่อต่างๆ ที่นำมาใช้อย่างแนบเนียนมาตลอดหลายทศวรรษ ที่ทำให้เกิดปัญหาที่หมักหมมมาอย่างยาวนาน จนแก้ไขได้อยากกระทั่งถึงศตวรรษที่ 21 แล้วก็ตาม

คุณนิรวดีเลือกหนังสือ ‘UNTAMED อย่ายอม’

ของ Glennon Doyle

เหตุผลที่เลือก 

ไว้เตือนตัวเองให้เชื่อในสิ่งที่เราคิด ที่เราเป็น ที่เรารู้สึกจริงๆ ไม่ใช่เชื่อตามสิ่งที่เขาพยายามจะให้เราเป็น เราคือ ‘เสือ’ ไม่ใช่ ‘หมา’ เราไม่มีวันเชื่อง

คุณกิติชัยเลือกหนังสือ ‘ประวัติศาสตร์อยุธยา ห้าศตวรรษสู่โลกใหม่’

ของ ผาสุก พงษ์ไพจิตร และคริส เบเคอร์

เหตุผลที่เลือก

หนังสือที่เป็นการรับรู้ประวัติศาสตร์อยุธยาจากงานวิชาการฝั่งตะวันตก ขณะเดียวกันเป็นหนังสือที่อธิบายผู้คน อาหาร อิทธิพลกลุ่มชาติพันธุ์ รวมไปถึงบทบาทการเป็นเมืองท่าที่เข้าใจพัฒนาการกว่า 400 ปีเศษ แม้ว่าอยุธยาจะล่มสลายไปใน ค.ศ.1767 แต่กลับสร้างความทรงจำแบบใหม่ให้แก่ชนชั้นนำไทยสมัยต่อมาต่อการสร้างความทรงจำ อำนาจศิลปะการเมือง สังคมนานาชาติ ตลอดจนไปถึงการปรับตัวทางวัฒนธรรมของคนรุ่นหลังจาก ค.ศ. 1767 ที่ต้องพยายามรำลึก ทบทวน หรือสร้างประวัติศาสตร์แบบใหม่เพื่อรองรับอำนาจวัฒนธรรมที่เปลี่ยนไปจนถึงรัฐสมัยใหม่

อยุธยาถูกรื้อฟื้นอีกครั้งในฐานะประวัติศาสตร์ชาติและอารยธรรมรุ่งเรืองมากที่สุดในครั้งหนึ่งของสยาม อีกอย่างหนังสือเล่มนี้ให้ภาพประวัติศาสตร์อยุธยาที่เน้นวิถีชีวิตผู้คน ความหลายหลายทางวัฒนธรรม สังคมนานาชาติ มากกว่าเน้นการสู้รบหรือกษัตริย์อยุธยาพระองค์ไหนที่ทำให้อยุธยารุ่งเรือง ฯลฯ 

สุดท้ายหนังสือเล่มนี้ควรมีประดับบ้าน หรือเป็นหนังสือสามัญประจำบ้านต่อการสร้างความรู้ประวัติศาสตร์อยุธยาที่ดีเล่มหนึ่ง

คุณอติศักดิ์เลือกหนังสือ ‘โซฟี โชล กุหลาบขาวและนาซี’

ของ ไพรัช แสนสวัสดิ์

เหตุผลที่เลือก

หนังสือเล่มนี้เคยพิมพ์ไปแล้วครั้งหนึ่งเมื่อราวปี 2559 แต่ฉบับที่ฉันได้อ่านเป็นการพิมพ์ซ้ำเมื่อปี 2563 และฉันเพิ่งได้อ่านมันเมื่อต้นปี 2564

ตอนแรกที่ซื้อมาเข้าใจว่าเป็นหนังสือแปล แต่ไม่ใช่ เล่มนี้คือสารคดีขนาดยาวที่คุณไพรัช แสนสวัสดิ์ นักหนังสือพิมพ์และนักแปลชื่อดังเขียนขึ้น

บอกเล่าถึงหญิงสาวชาวเยอรมนี กับผองเพื่อนของเธอที่ร่วมกันก่อตั้งขบวนการกุหลาบขาวเพื่อต่อต้านฮิตเลอร์และนาซีในยุคสมัยที่เยอรมันทั้งประเทศหลงใหลคลั่งไคล้ไปกับเผด็จการฟาสซิสต์ สุดท้าย เธอ พี่ชาย และเพื่อนร่วมอุดมการณ์ถูกจับและถูกประหารชีวิตโดยกิโยติน

ไม่รู้ว่าผู้เขียนตั้งใจที่จะเขียนให้คล้ายหรือไม่ แต่เรื่องราวของขบวนการกุหลาบขาวและโซฟี โชล แทบจะทาบทับไปกับสถานการณ์ทางการเมืองของไทยในยุคนี้ชนิดที่หลายๆ ย่อหน้า ถ้าเปลี่ยนชื่อ เปลี่ยนคำนิดเดียวก็ลงตัวเป๊ะ

ดีงาม สะเทือนใจ และเต็มอิ่ม

เป็นหนังสือที่ดีทั้งเนื้อหา และรูปเล่ม ปกแข็งหุ้มผ้าสีแดง  มีรูปถ่ายจริงของโซฟี โชล บนปก และพิมพ์ชื่อหนังสือภาษาอังกฤษตัวเล็กๆ เอาไว้

เป็นหนังสือที่สวยมากๆ เล่มหนึ่งเท่าที่เคยซื้อมา

หนังสือสวย เนื้อหาดี และบันดาลใจมาก ภาษากระชับ ไม่เยิ่นเย้อ มีพลัง ตอนที่เล่าฉากสุดท้าย แทบจะหยุดหายใจ

ติดนิดเดียวตรงคำศัพท์หลายๆ คำที่เป็นชื่อเฉพาะในภาษาเยอรมัน ผู้เขียนเลือกคงภาษาเยอรมันเอาไว้โดยไม่ช่วยถอดเสียงออกมาสักหน่อย

จึงลำบากมาก เวลาอ่านออกเสียง เพราะฉันอ่านให้ลูกสาววัย 11 ขวบฟังก่อนนอนวันละนิดละหน่อย ต้องบอกว่านี่พ่ออ่านมั่วๆ นะ เพราะอ่านภาษาเยอรมันไม่ออก

หนังสือจบลงด้วยท่อนหนึ่งของเพลง Die Gedaken sind frei (ความคิดเป็นอิสระเสรี)

“ถ้าทรราชจับฉันโยนเข้าคุก

ความคิดฉันจะยิ่งเบ่งกระจายเสรีเช่นพฤกษาฤดูผลิบาน

รากฐานจะพังภินท์ โครงสร้างจะล้มสลาย

เสรีชนจะตะโกนก้อง ความคิดนี้เสรี”

ขณะที่อ่าน คิดถึงคนที่อยู่ในคุกไทยอย่างไร้ความยุติธรรมแล้วได้แต่กอดลูกและกระซิบบอกเธอว่า ถ้าเรามีความหวัง สักวันหนึ่งบ้านเมืองเราจะต้องดีขึ้นกว่านี้

คุณนัชชาเลือกหนังสือ ‘ในแดนวิปลาส: บันทึกบาดแผลสามัญชนบนโลกคู่ขนาน’

ของ รัช

เหตุผลที่เลือก 

ตีแผ่ความอัปลักษณ์ วิปลาสของสังคมไทยได้อย่างสั่นสะเทือน

คุณธีรวุฒิเลือกหนังสือ ‘เมื่อโลกซึมเศร้า: Mark Fisher โลกสัจนิยมแบบทุน และลัดดาแลนด์’

ของ สรวิศ ชัยนาม

เหตุผลที่เลือก

สาเหตุของโรคซึมเศร้าที่แท้จริงคือ ‘ทุนนิยม’ และมันเป็นแค่ความบังเอิญไม่ใช่สัจธรรมอะไร และปัญหาทั้งหมดทั้งมวลก็เกิดจากสาเหตุนี้ ยกเลิกกรรมสิทธิ์ส่วนบุคคลซะ! เราจะได้อ่านหนังสือทุกเล่มที่เราอยากอ่าน โดยไม่ต้องเป็นเจ้าของมันก็ได้


นอกจากนี้ยังมีความเห็นอื่นๆ จากผู้อ่านที่น่าสนใจ อ่านแล้วทำให้ ‘น่าจะอ่าน’ อย่างยิ่ง

คุณฤทธานุภาพเลือกหนังสือ ‘วิมานทลาย’

“อ่านมาแล้วหลายครั้ง มาอ่านซ้ำก็เหมือนตอกย้ำวิมานทลายของคนสามัญชน เหมือนผู้คนอ่านในสังคมผิดหวังครั้งแล้วครั้งเล่า”

คุณพัฒนาเลือกหนังสือ ‘เมื่อโลกซึมเศร้า: Mark Fisher โลกสัจนิยมแบบทุน และลัดดาแลนด์’

“โลกทุนนิยมไม่ทำร้ายเราทางใดก็ทางหนึ่ง ยิ่งในสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ยิ่งทำให้เห็นถึงความโหดร้ายของทุนนิยม ตั้งแต่การอยู่รอดไปจนถึงเสียชีวิตจากการระบาด ไม่มีจุดไหนที่ก้าวพ้นไปจากทุนนิยม หากจะกล่าวโทษการแก้ปัญหาโควิด-19 นอกจากรัฐบาลก็คงเป็นระบบทุนนิยม ที่แม้ในสถานการณ์เช่นนี้ก็ยังคงดำเนินการเพื่อให้ตนได้รับกำไรมากที่สุด โดยเฉพาะบริษัทวัคซีนที่พยายามดำเนินการให้ตนได้รับผลประโยชน์จนละเลยความอยู่รอดของมวลมนุษยชาติ”

คุณทศพลเลือกหนังสือ ‘สามัญสำนึก’ (Common Sense)

“เรื่องราวของการกดขี่ประชาชนจนทำให้เกิดสงครามการเมืองและการสั่นคลอนของระบบกษัตริย์ ทำให้ผู้อ่านนึกถึงการปกครองบ้านเมืองของประเทศแห่งหนึ่งในทวีปเอเชีย ที่ใช้ผู้มีอำนาจมาปกครองจนทำให้ประชาชนต้องยอมรับแต่โดยดี แต่หารู้ไม่ ยิ่งใช้อำนาจกดขี่ประชาชนมากเท่าใด จะยิ่งทำให้ผู้คนหมดความอดทนและความศรัทธาจนทำให้สิ่งที่คิดว่าศักดิ์สิทธิ์นั้น เสื่อมคลายตามกาลเวลา”

คุณสัชฌกรเลือกหนังสือ ‘เพราะนี่คือสิ่งที่ (นักจิตวิทยา) ไม่เคยบอก’ (Maybe You Shpuld Talk to Someone)

“เป็นหนังสือที่ไม่ได้เพียงเรียนรู้ว่านักจิตวิทยาต้องได้รับการบำบัดยังไงเมื่อเขาเจอปัญหา แต่เป็นหนังสือที่คอยเตือนสติเป็นนัยว่าไม่ใช่ทุกคนที่จะรับมือกับมันได้ตลอด ในบางครั้งเราควรยอมรับกับความรู้สึก ปล่อยให้เสียใจบ้าง มันไม่ใช่ความผิดพลาดที่ต้องจมไป แต่มันจะเข้มแข็งขึ้นจริงๆ ในทุกวัน”

คุณณัฐพงษ์เลือกหนังสือ ‘โฉมหน้าศักดินาไทย’

“วิเคราะห์ประวัติศาสตร์และการปกครองของชนชั้นนำไทยได้อย่างตรงไปตรงมา สะท้อนภาพการเมืองไทยในปัจจุบันได้เป็นอย่างดี เป็นหนังสือที่มาก่อนกาล อ่านเข้าใจง่าย ถือเป็นงานเขียนชิ้นสำคัญในการเรียนรู้ถึงรากเหง้าปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยได้เป็นอย่างดี”

คุณเนตรนภาเลือกหนังสือ ‘เมื่อโลกซึมเศร้า: Mark Fisher โลกสัจนิยมแบบทุน และลัดดาแลนด์’

“ผู้เขียนทำให้ผู้อ่านตั้งคำถามกับโลกและโรคซึมเศร้า โรคที่คนในสังคมปัจจุบันเป็นมากขึ้น ทำให้ผู้อ่านตั้งคำถามกับปัญหาอื่นๆ ที่เคยมองว่าเป็นเพียงปัญหาของปัจเจกชน แท้จริงแล้วโลกและโรคซึมเศร้าเป็นเพราะสัจนิยมของทุน”

คุณณัฐติยาเลือกหนังสือ ‘167 เฉพาะกิต’

“สร้างความประทับใจในการเล่าเรื่องราวต่างๆในชีวิต ทำให้เอาประสบการณ์ของผู้เขียนมาเป็นแรงผลักดันในการใช้ชีวิต ไม่ท้อแท้ มีพลังในการดำรงชีวิตที่มีอยู่เพื่อตัวเองและครอบครัว”

คุณเอกภพเลือกหนังสือ ‘ดื่มเหล้าเคล้าชาตรีกับแวมไพร์ในคาบุกิโจ’

“เป็นหนังสือที่อ่านแล้วได้เปิดโลกบาร์โฮสต์ญี่ปุ่นประหนึ่งดั่งไปเที่ยวเอง ยิ่งเราเป็นผู้ชาย คงไม่มีโอกาสได้เห็นประสบการณ์แบบนี้ด้วยตัวเอง และยิ่งในยามโควิดที่ต้องอยู่บ้านนานนับปีแบบนี้ การได้อ่านอะไรแบบนี้เยียวยาจิตใจการโหยหาประสบการณ์การท่องเที่ยวโลกภายนอกได้อย่างน่าอัศจรรย์”


#หนังสือมีไว้ทำไม

นอกจากนี้ ผู้อ่านยังร่วมเสนอไอเดีย #หนังสือมีไว้ทำไม (ไว้พาหลีกหนี ไว้ใช้ปลอบประโลม หรือไว้ใช้เป็นอาวุธ ฯลฯ) จักรวาลการอ่านกว้างไกลยิ่ง เรารวบรวมทั้งหมดไว้ที่นี่แล้ว

“เพื่อก้าวเข้าสู่ดินแดนแห่งจินตนาการซึ่งบางสถานเราไม่มีวันได้ไป!”

-ฤทธานุภาพ-

“ส่วนตัวคิดว่ามันคือพื้นที่ปลอดภัยของผู้อ่านทุกคนที่จะได้เข้าไปค้นหา ท่องไปในพื้นที่ของตัวอักษร จะเพื่อการบันเทิง เยียวยา หรือเพิ่มเติมประสบการณ์ การอ่านในแต่ละครั้งนั้นมีคุณค่าโดยตัวมันเองอยู่แล้ว เราเชื่อว่าไม่มีหนังสือไม่ดีบนโลก มีแค่หนังสือที่ถูกอ่านและไม่ถูกอ่านเท่านั้น”

-พรเทพ-

“มีไว้เตือนสติบำบัดจิตใจอีกครั้ง เพราะการอ่านเยียวยาใจเราได้ดีเสมอ”

-สัชฌกร-

#หนังสือมีไว้เปิดประวัติศาสตร์ใหม่ หรือ #หนังสือมีไว้มองโลก

-kenjiisogro- 

“หนังสือมีไว้อ่านเพื่อเข้าใจคนอื่น เพราะเราไม่มีทางรู้จักคนทั้งโลกในชีวิตจริง เราจึงต้องอ่านเพื่อเข้าใจความแตกต่างให้มากขึ้น เพื่อให้รู้ว่าอิทธิพลจากสภาพแวดล้อมและสังคมส่งผลต่อความเป็นอยู่ของคนเหล่านั้นอย่างไร”

-Kunlawat-

“หนังสือมีไว้ให้เราอ่าน ตั้งแต่เด็กจนโต ตอนเรียนหนังสือเราจะมีทั้งหนังสือเรียน และชีทเพื่ออ่านหาความรู้ ทำการบ้านส่งครู หรืออ่านเพื่อสอบ เรียกได้ว่าหนังสือมีไว้เพื่ออ่านหาความรู้ และนำไปสอบ แต่นอกเหนือจากหนังสือเรียนแล้วนั้น ยังมีหนังสือนอกเวลาอีกมากมายที่รอให้เราไปอ่าน 

ตอนสมัยประถมมัธยมเชื่อว่าคนส่วนใหญ่อ่านขายหัวเราะ การ์ตูน มังงะ นิยายแจ่มใส เราอ่านเพื่อคลายเครียด เพราะชอบ เพราะสนุก และยังมีวรรณกรรมเยาวชน โตขึ้นมาก็อ่านนิยายแปล หนังสือประวัติศาสตร์ การเมือง จิตวิทยา แล้วแต่แนวที่ชอบของแต่ละบุคคล หนังสือคงมีไว้ให้เราอ่านเพื่อจรรโลงจิตใจ เพื่อเบิกเนตร เพื่อปลอบประโลมจิตใจ เพื่อเป็นเพื่อนแก้เหงา เพื่อเป็นที่ที่หนีความวุ่นวายจากงาน จากสถานการณ์หรือเรื่องเครียด เราก็สามารถหยิบหนังสือสักเล่มที่เราชอบขึ้นมาอ่านแล้วท่องไปในเรื่องราวของตัวหนังสือก็ได้เช่นกัน เรียกได้ว่าหนังสือมีไว้เพื่อเป็นโลกอีกใบของเรา โลกที่มีแค่เราและตัวหนังสือ ได้ท่องไปในเรื่องราวต่างๆ ของหนังสือแต่ละเล่ม”

-จิตรลดา-

“ผมว่าเปรียบเสมือนอาวุธทางปัญญาในการสร้างความรู้ตอบโต้หรืออธิบายความเปลี่ยนแปลงของสังคมที่มีพลวัตอย่างมหาศาลเพื่อทำให้เราเข้าใจ สร้างความรู้สึก ความสงสัย และอยากร่วมแสดงความคิดเห็นกับคนอื่นๆ มันเป็นวัฒนธรรมที่ทำให้เรารู้จักตนเอง มีความรู้ รวมถึงมีมิตรภาพจากคนอื่นๆ ที่ได้สนทนากัน เพราะฉะนั้น หนังสือไม่เคยตายแต่คนชอบมองว่ามันตายไปแล้ว เพราะเราชอบตัดสินว่าโลกเปลี่ยน หนังสือต้องตาย แต่มันไม่ตายเพราะเรายังคงคิดถึงอยู่ยังไงล่ะ”

-กิติชัย-

#หนังสือมีไว้เพื่อเราจะได้มีชีวิตอยู่แม้ในวันที่อาจจะยากเย็น

-อติศักดิ์-

“หนังสือมีไว้เพื่ออ่าน ซึ่งการอ่านเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้คนในสังคมมีคุณภาพ มีวุฒิภาวะ เข้าใจบริบทปัญหาต่างๆ มีความเคารพความหลากหลายของผู้คนในสังคม และส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงสังคมในทิศทางที่ดีขึ้น”

-ศิริวัฒน์-

“หนังสือมีไว้ผุกร่อนกำแพงทางชนชั้นและความเหลื่อมล้ำ กัดเซาะความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่อยุติธรรมและไม่เท่าเทียม ช่วยเปิดประตูแห่งโอกาสและความเป็นไปได้ใหม่ๆ ที่ไม่มีสิ้นสุด และช่วยสร้างโลกในหลากหลายทางเลือกที่เป็นไปได้ให้เราทุกคนได้เลือกสรร”

-ชุติเดช-

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save