
“หนูเกิดมาจากความรักจริงๆ”
ถ้าย้อนเวลากลับไปได้ให้เราเลือกใหม่ เราก็จะเลือกเหมือนเดิม….เลือกที่จะมีหนู (หน้า 140)
ไม่ใช่แค่หน้า 140 แต่คำว่า ‘คุณ’ ถูกแทนทับด้วย ‘เรา’ ในทุกๆ หน้าของเล่ม ‘โปรดโอบกอดมนุษย์ลูก’ หนังสือเล่มล่าสุดของ ‘พี่แหม่ม’ วีรพร นิติประภา ที่บอกไว้ในคำนำว่าอยากช่วยพ่อแม่มองหาและมองเห็นรายละเอียดระหว่างเส้นทางการเลี้ยงดูลูก
สำหรับแม่ของลูกมัธยมปลายที่วัยห่างกัน 26 ปี การเลี้ยงดูอาจจะน้อยลงหากสิ่งที่เพิ่มขึ้นคือความเป็นเพื่อน แต่การหัดเป็นเพื่อนกับคนที่คุณรักและรักคุณมากที่สุดในชีวิต มันไม่ง่ายเลย
“คุณจำเป็นต้องทำตัวให้เขารักในฐานะมนุษย์คนหนึ่งด้วย” (หน้า 54)
ในฐานะแม่ ลูกรักเราโดยไม่มีเงื่อนไขอยู่แล้ว แต่ในฐานะมนุษย์ โจทย์ยากที่สุดคือ เราต้องเรียนรู้ที่จะเคารพซึ่งกันและกันในฐานะมนุษย์ ความสัมพันธ์แม่ลูกทางสายเลือดจึงจะขยับไปสู่การเป็น ‘เพื่อนชีวิต’ ที่เอาไว้สู้กับความเดียวดายมากมายในโลก
มันไม่ใช่แค่การบอกลูกว่า “เรามาเป็นเพื่อนกันนะ” หรือรู้จักถึงขั้นว่าเพื่อนลูกทุกคนเป็นติ่งวงอะไร แต่คือการที่เขาหันไปทางไหน เราอยู่ตรงนั้นเสมอ
สำหรับเรา หนังสือเล่มนี้จึงไม่ใช่คู่มือการเลี้ยงลูก แต่คือไทม์แมชชีนพาเราลงลิ้นชักทวนเข็มนาฬิกากลับไปตรวจสอบว่า เราได้อยู่ตรงนั้นเสมอหรือเปล่า
เคียงข้างลูกในห้วงทุกข์
“ลูกจะต้องเผชิญโลก ผ่านชีวิตและแบกเก็บความทุกข์ทั้งหลายเอาไว้แต่ข้างในใจ ไม่อาจบอกเล่า ไม่อาจแบ่งปันกับใคร ไม่อาจกระทั่งมีคุณอยู่เคียงข้าง…
ให้เกียรติตัวเองได้เคียงข้างลูกขณะที่คุณยังสามารถ ปล่อยให้เขาได้ละเลียดรสเค็มขมของน้ำตา” (หน้า 34)
5 ปีก่อน ตอนที่ลูกรู้ว่าสอบไม่ติดโรงเรียนที่อยากเข้า เราพากันเดินกลับมาที่รถ ยังไม่สตาร์ต ฟ้าข้างนอกจ้ามาก ต่างจากในรถที่ทั้งเงียบและมืด
แต่เสียงร้องไห้ก็ทำลายความเงียบในไม่กี่วินาทีต่อมา มันเป็นเสียงร้องไห้ที่กรีดและคว้านลึกสุดหัวใจ เป็นความเจ็บปวด เป็นแผลที่แม่ พ่อหรือใครๆ ไม่สามารถทายาให้แล้วปลอบเหมือนเคยว่าเดี๋ยวก็หาย
ไม่มีสิ่งใดๆ ในโลกที่ปลอบประโลมความฝันอันพังทลายได้–บาดแผลต้องใช้เวลา
“ลูกต้องเข้าใจว่าทุกข์โศกเป็นเรื่องที่คนคนหนึ่งจะต้องรับผิดชอบแต่เพียงคนเดียว และไม่มีใครต้องชดเชย” (หน้า 37)
มีแต่คำว่าไม่เป็นไรตลอดทางกลับบ้าน แม่รู้ดีว่ามันไม่ช่วยอะไร น้ำตาที่ไหลไปพร้อมๆ กับลูกก็เช่นเดียวกัน แต่อย่างน้อยงานครึ่งวันบ่ายที่ลาวันนั้นมันก็ทำให้เราได้อยู่ใกล้กัน ร่วมทุกข์กัน กินข้าวต้มกัน คืนนั้นเราทั้งคู่หลับไปพร้อมน้ำกลบตา แต่เราก็กอดกัน
ลูกแม่ต้องไม่เสียใจอย่างเดียวดายตามแต่ลำพัง
เราต้องเป็นเพื่อนชีวิตของลูกให้ได้
ถ้าความเป็นเพื่อนคือหนึ่งในเหตุผลที่ทำให้ชีวิตคู่ยืนยาว ตรรกะเดียวกันนี้ก็น่าจะใช้ได้กับความสัมพันธ์แม่-ลูก
“โปรดอย่ามองความรักของเขาเป็นของตาย อย่าให้ความคิดที่ว่าไม่ว่าอย่างไรเขาก็รักหรือต้องรักคุณ” (หน้า 54)
ในความหมายนี้ ความรักจึงต้องมาพร้อมความเคารพกันและกันในฐานะมนุษย์ เชื่อว่าสิ่งมีชีวิตตรงหน้ามีเหตุผล มีเกียรติ มีศักดิ์ศรีและมีอิสรภาพ
โดยเฉพาะอิสรภาพในการแสดงออกทางการเมือง
วันนั้นคือวันแรกที่ลูกขอไปม็อบกับเพื่อน พักเบรกช่วงสายนางสาววัยสิบห้าส่งข้อความมาขออนุญาต
“ดูแลตัวเองนะ” ค้นกล่องข้อความย้อนหลังพบว่าตอบไปเท่านี้จริงๆ
“ความเฉยชาต่อชีวิตเป็นเรื่องน่ากลัวที่สุดของการมีชีวิตอยู่ คนส่วนใหญ่ไม่รู้ว่าตัวเองเป็นใคร อยากทำอะไร มีชีวิตแบบไหนเพราะสังคมเราพร่ำสอนคนแต่สิ่งที่ต้องทำ ควรทำ โดยมองข้ามความหลงใหลใฝ่ฝัน มองข้ามความชอบ ความสนุกสนาน ความถนัด และสีสันของชีวิตไป (หน้า 85)
ตรงข้ามกับความเฉยชา สิ่งที่ลูกทำคือเห็นทุกข์ร้อนของตัวเองและผู้อื่น ยังไม่ทันเข้ามหาวิทยาลัยแต่แม่อุ่นใจเมื่อรู้ลูกว่าอยากทำอะไร อยากมีชีวิตแบบไหน ไม่มองข้ามแต่ทำตามความหลงใหลและใฝ่ฝันถึงอนาคตที่ดีงาม
“คิดถูกมั้ยที่ไปวันนี้”
“ถูกมากค่ะ หนูได้ประสบการณ์มากเลย” น้ำตาคลอที่แม่เห็น สะอาดใสกว่าน้ำที่ฉีดใส่ชุดนักเรียนหนูค่ำวันนั้นราวฟ้ากับเหว
ปล่อยมือให้ได้
“อธิบายกับลูกให้เข้าใจว่าคนสามารถรักกันและเลิกรักกันได้เมื่อเวลาผ่านไปและรู้จักกันมากขึ้น… การทนอยู่ร่วมกัน ไม่ได้เป็นทางเลือกที่ดีที่สุดเสมอไป… คุณพยายามแล้วแต่พบว่าการแยกทางกันเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด และมันไม่ใช่ความผิดของใครทั้งนั้น….
โปรดให้ความยุติธรรมกับลูก พึงระลึกไว้เสมอว่าเขารักคุณทั้งสองคน และต้องการคุณสองคนเท่าเทียม” (หน้า 108)
ในวันที่ลูกยังพูดเป็นคำไม่ได้ มาตาธิปไตยเดียวที่เราใช้คือการหัดให้เรียกด้วยคำว่า ‘หม่ามี้’ แทนแม่ อาจฟังดูไร้สาระแต่เพราะต้องการทำลายมายาคติบางอย่างของแม่ที่ดี ลูกที่ดี และครอบครัวที่ดี
ไม่มีมนุษย์คนไหนดีและชั่ว 100% แม่กับลูกก็เช่นกัน
แม่ไม่สั่งอาหารที่ชอบ แต่จะคอยกวาดกินของที่เหลือจากลูก — ไม่ใช่เรา
มีความทุกข์ท่วมแค่ไหน ไม่ปริปากบอกลูก ทรมานแค่ไหนแม่จะบอกว่าสบายดี — ไม่ใช่เรา
เชื่อฟัง ตั้งใจเรียน ใช้เวลาว่างอย่างเป็นประโยชน์ — ไม่ใช่ลูกเรา
เด็กไทยวิถีใหม่ รวมไทยสร้างชาติ ด้วยภักดีมีคุณธรรม — ยิ่งไม่ใช่ลูกเรา
แต่สิ่งที่เราทำคือ เป็นเพื่อนชีวิตซึ่งกันและกัน เพื่อนทางสายเลือดที่เห็นทั้งข้อดีและข้อเสีย เพื่อนต่างวัยที่โอบกอดกันในวันที่คนทั้งโลกเกลียดและเหยียดเรา
จนมั่นใจว่าในหลายๆ พันล้านชีวิต มันต้องมีสักคนในโลกที่คอยโอบกอดกัน โดยไม่ต้องรอและร้องขอด้วยคำว่า ‘โปรด’
แม้ในวันที่ต่างฝ่ายต่างต้องปล่อยมือกันให้ได้ วงแขนล่องหนของเรายังตวัดรัดแน่นแต่ไม่อึดอัด
นี่คือความหมายของชีวิตที่ดี แม้ความหมายของคำว่าครอบครัวจะไม่เหมือนเดิม