[ความน่าจะอ่าน] รถไฟขนเด็ก Il treno dei bambini

นิยายเรื่อง Il treno dei bambini มีชื่อภาษาอังกฤษว่า The Children’s Train เพื่อความสะดวกปากสะดวกมือ ผมขออนุญาตเรียกชื่อหลังตลอดทั้งบทความนะครับ

เป็นเช่นเดียวกับบ่อยครั้งที่ผ่านมา ผมเริ่มอ่านนิยายเรื่องนี้โดยไม่ทราบข้อมูลใดๆ มาก่อน รู้มาแผ่วๆ จางๆ เพียงว่าเขียนขึ้นโดยอ้างอิงจากเหตุการณ์จริง ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ปี 1946 ประเทศอิตาลีในขณะนั้น มีผู้คนจำนวนมากทางตอนใต้ ประสบปัญหาขาดแคลน อดอยาก มีชีวิตขัดสนยากไร้ ได้รับผลกระทบบอบช้ำเสียหายจากพิษสงครามอย่างหนักหน่วง พรรคคอมมิวนิสต์จึงคิดหาวิธีแก้ไขเยียวยา ด้วยการพาเด็กๆ เดินทางขึ้นเหนือ ไปพักอาศัยชั่วคราวในช่วงฤดูหนาวอยู่กับครอบครัวที่มีความพร้อม และเต็มใจรับเลี้ยงดู

ประมาณคร่าวๆ ว่าในครั้งนั้น มีเด็กๆ จากแดนใต้อพยพหนีหนาวและความหิวไปยังภาคเหนือที่ได้รับความเสียหายจากสงครามน้อยกว่าและมีสภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีกว่า เป็นจำนวนมากถึง 70,000 คน

รถไปที่นำพาเด็กๆ เหล่านั้น ผละจากครอบครัวเดิมไปสู่ครอบครัวใหม่ เรียกขานกันว่า ‘รถไฟขนเด็ก’ หรือ The Children’s Train

ผมยึดเกาะกับข้อมูลข้างต้น คาดคะเนไปว่า The Children’s Train คงมุ่งสะท้อนภาพสังคมที่เต็มไปด้วยความทุกข์ยาก และชีวิตระหกระเหินของบรรดาเด็กๆ ที่ต้องพลัดพรากจากครอบครัวไปยังดินแดนไกล เผชิญกับความลำบากยากเข็ญกับการใช้ชีวิตแปลกใหม่ที่ต่างถิ่นในบ้านคนแปลกหน้า เดาเอาว่าน่าจะเป็นนิยายออกโทนหม่นทึม จริงจัง เศร้าสะเทือนอารมณ์ และน่าจะมีเนื้อหาค่อนข้างหนัก

แต่หมอดูนักเดากำมะลออย่างผม ทำนายผิดกระจุยกระจาย ตั้งแต่เริ่มอ่านไปได้แค่ไม่กี่หน้า เรื่องราวเปิดฉากด้วยความรื่นรมย์ มีอารมณ์ขันน่ารัก ผ่านมุมมองของตัวละครผู้ทำหน้าที่เล่าเรื่อง คือเด็กชายวัยเจ็ดขวบชื่ออเมริโก สเปรันซา

คล้ายๆ กับหนังปี 1987 เรื่อง Hope and Glory ของจอห์น บัวร์แมน ซึ่งเล่าถึงเหตุการณ์สงครามโลกครั้งที่ 2 ภาพของความทุกข์ยากและอันตรายต่างๆ จากการโจมตีทิ้งระเบิดโดยฝ่ายข้าศึก เมื่อสะท้อนผ่านมุมมองของเด็กที่ยังบริสุทธิ์ไร้เดียงสา มันไม่ได้ดูเลวร้ายและน่ากลัวไปเสียทั้งหมด กลับกันมีความสนุกหรรษา ตื่นเต้นเร้าใจเจือปนอยู่ในความทุกข์ยากเหล่านั้น

The Children’s Train ก็เป็นไปในลักษณะเดียวกัน ความขาดแคลน ความยากจน และอดอยากหิวโหย สำหรับเด็กๆ อย่างอเมริโกแล้ว ความทุกข์ต่างๆ ที่กัดกินทำร้ายพ่อแม่หรือผู้ใหญ่ เป็นเพียงฉากหลังเหตุการณ์ปกติ และมีแง่มุมรื่นรมย์ให้ค้นหาพบเจอได้เสมอ

อีกสิ่งหนึ่งที่ผิดคาดไปไกล คือเหตุการณ์ฉากหลังไม่ได้มุ่งสะท้อนภาพสังคมมากนัก แต่เล่าไว้กว้างๆ ผ่านๆ พอให้ผู้อ่านเข้าใจได้ว่าภาวะข้าวยากหมากฝรั่งแพงนั้น เกิดขึ้นมีที่มาที่ไปอย่างไร สิ่งที่นิยายมุ่งเน้นเป็นด้านหลัก คือบรรยากาศความเป็นไปภายในหมู่บ้าน (เมืองเนเปิล) เรื่องราวสภาพชีวิตความเป็นอยู่ของตัวบุคคล โดยเฉพาะอย่างยิ่งความรักความผูกพันอย่างใกล้ชิดของอเมริโกกับแม่ (อันโตเนียตตา) ซึ่งมีต่อกันและกัน ขณะที่พ่อหายสาบสูญ (อันโตเนียตตาบอกลูกว่าพ่อไปอเมริกา ขณะที่เพื่อนบ้านบอกเล่าเป็นอื่นแบบระบายสีสันโลดโผนในทางลบ) ส่วนพี่ชายอายุมากกว่าอเมริโก 3 ปีชื่อลุยจิ เสียชีวิตด้วยโรคร้าย

The Children’s Train เล่าเรื่องโดยแบ่งออกเป็น 4 ภาค คือ ภาคแรก 1946, ภาคสอง, ภาคสาม และภาคสี่ 1994

ภาคแรก 1994 เป็นการแนะนำตัวละคร ปูพื้นให้เห็นถึงสภาพชีวิตความเป็นอยู่อันขัดสน ความสุขความรื่นรมย์ตามประสาเด็กๆ ของอเมริโก เพื่อนบ้านที่ผูกพัน เพื่อนวัยเด็กชื่อต็อมมาซีโน และที่สำคัญคือบุคลิกนิสัยของอันโตเนียตตา

อเมริโกเล่าบรรยายถึงแม่เอาไว้ว่าเป็นผู้หญิงสวยหน้าตาดี เก็บงำความรู้สึกจนเหมือนจะเย็นชา ไม่ใช่คนช่างพูด แต่ก็พร้อมจะตอบโต้โดยไม่ลังเลถ้ามีใครมาพูดจาระรานข่มเหง หยิ่งในศักดิ์ศรี ยอมอดดีกว่าจะลักขโมยใคร เต็มเปี่ยมไปด้วยความรักที่มีต่อลูก แต่ไม่ถนัดในการพูดจาปลอบโยนใครหรือแสดงความนุ่มนวลอ่อนหวาน

ภาคแรก นอกจากจะบอกเล่าพื้นเพต่างๆ ที่สำคัญและจำเป็นแล้ว ตัวเหตุการณ์คือเมื่อสถานการณ์ยากไร้ขาดเงิน อาหาร และงาน ดำเนินมาถึงจุดที่ต้องเลือก อันโตเนียตตาตัดสินใจส่งลูกชายเดินทางไปกับ ‘รถไฟขนเด็ก’

ภาคสอง เล่าถึงการเดินทางของขบวนรถไฟ ท่ามกลางข่าวลือน่ากลัวมากมาย เช่น แท้จริงแล้วรถไฟไม่ได้มุ่งขึ้นเหนือ แต่จะไปไกลถึงรัสเซีย เด็กๆ ถูกนำตัวไปใช้แรงงาน หรือที่ร้ายกว่านั้นคือจะถูกนำไปสังหารกำจัดทิ้ง ความตื่นเต้นปนกังวลในการพรากจากบ้านเกิดของเด็กๆ ไปยังดินแดนแปลกใหม่ บรรยากาศและรายละเอียดต่างๆ ในขณะเดินทาง การเข้าสู่ครอบครัวใหม่ ชีวิตใหม่ และการปรับตัวใช้ชีวิตในสภาพแวดล้อมที่แตกต่างจากเดิมไกลลิบลับ

ในภาคสองนี้มีลักษณะคล้ายๆ เรื่องสั้น เหตุการณ์แต่ละบทจบสมบูรณ์ในตัว และเชื่อมโยงเกาะเกี่ยวกันหลวมๆ เป็นภาคที่อบอุ่น นุ่มนวล และเต็มไปด้วยความรู้สึก feel good มากๆ (ประมาณเดียวกับ ‘ความสุขของกะทิ’ แต่มีอารมณ์ขันมากกว่า และมีความซุกซนของเด็กผู้ชาย)

ผมขอแทรกขัดไว้ตรงนี้ว่าขณะอ่าน 2 ภาคแรก ฝีมือการเขียนและเล่าเรื่องของวิออลา อาร์โดเนนั้นยอดเยี่ยมมาก เล่าเรื่องได้อย่างมีเสน่ห์ เปี่ยมด้วยความมีชีวิตชีวา ทำให้เรื่องราวกระจัดกระจาย ปราศจากเส้นเรื่องที่เด่นชัด ชวนอ่าน น่าติดตามเป็นอย่างยิ่ง

พูดเกริ่นทำนองนี้ หมายความว่า ต้องมีคำว่า ‘แต่…’ ติดตามมาด้วย แต่ในที่นี้ก็คือในความน่าอ่านชวนติดตามอย่างยิ่งยวด ผมเกิดข้อสงสัยเป็นเครื่องหมายคำถามขนาดยักษ์ ว่านิยายเรื่องนี้ตั้งใจสะท้อนสิ่งใด

ตลอดทางที่ผ่านมา มีแง่คิดคติธรรมสอนใจอยู่นะครับ แต่ก็เป็นเศษเสี้ยวชิ้นส่วนเล็กๆ บนเส้นทางการเรียนรู้และเติบโตของอเมริโก ยังไม่สามารถประกอบรวมเป็นภาพกว้างไปสู่ประเด็นหลัก จนทำให้ผมเกิดอาการตีตนไปก่อนไข้ ไม่สบายไปก่อนป่วย ว่านิยายเรื่องนี้ไม่มีประเด็นที่เด่นชัด

เป็นไปตามระเบียบเช่นเคย คือผมวิตกจริตล่วงหน้าโดยไม่จำเป็น เมื่อติดตามไปถึงภาคสามและภาคสี่ เนื้อหาประเด็นที่งานเขียนชิ้นนี้ตั้งใจจะสื่อสารบอกกล่าว ก็เผยแสดงปรากฏชัด

ภาคสามจับความ เมื่อฤดูหนาวผ่านพ้น อเมริโกเดินทางกลับบ้านเดิมด้วยความรู้สึกที่เปลี่ยนไป ชีวิตชั่วคราวตลอดฤดูหนาวที่ผ่านพ้น ทำให้เขาเติบโตขึ้น ได้สัมผัสโลกอีกแบบ มีกินอิ่มหนำทุกมื้อ มีเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มกันหนาวเพียบพร้อม อยู่ในครอบครัวใหญ่ที่มีสมาชิกหลากหลายและเต็มไปด้วยความอบอุ่นรักใคร่ ได้เข้าเรียน ที่สำคัญคือค้นพบความรักชอบดนตรี จนกลายเป็นเป้าหมายความใฝ่ฝัน

พูดอีกแบบคือ มีชีวิตที่ครบถ้วน ยกเว้นเพียงอย่างเดียวคือความคิดถึงบ้านที่จากมา และความรักที่มีต่อแม่

เมื่อหวนคืนสู่บ้านเกิด ทุกอย่างกลับตรงกันข้าม อเมริโกพบกับความขาดแคลนในทุกสิ่งอัน มิหนำซ้ำโลกใบเก่าที่เขาคุ้นเคย ก็ดูเหมือนว่าจะเปลี่ยนแปลงไป ทุกสิ่งที่เคยรื่นรมย์ยังคงอยู่ครบถ้วน แต่ไม่อาจทำให้รู้สึกดังเดิมได้อีก

นิยายพรรณนาความรู้สึกของเด็กชายไว้ว่าเหมือนชีวิตถูกแบ่งออกเป็นสองซีก มี 2 โลก 2 ครอบครัว แต่ไม่รู้ว่าบ้านไหนครอบครัวใด คือบ้านที่แท้จริงสำหรับเขา

เรื่องราวในภาคนี้จบลงด้วยความขัดแย้งระหว่างอเมริโกกับแม่ เกิดเป็นบาดแผลลึกในความสัมพันธ์ของทั้งสอง

ภาคสี่ 1994 จับความเมื่ออเมริโกเติบโตเป็นผู้ใหญ่วัยกลางคน ผ่านร้อนผ่านหนาวในชีวิตมาโชกโชน และมีเหตุบางอย่างให้ต้องเดินทางกลับมายังบ้านเกิด พร้อมกับบาดแผลในใจที่ไม่เคยเลือนหาย

จุดใหญ่ใจความนั้นอยู่ที่การแสดงให้เห็นถึงสภาพในปัจจุบันของอเมริโก ซึ่งประสบความสำเร็จกับหน้าที่การงาน มีฐานะค่อนข้างดี ไม่ขัดสนอีกต่อไป แต่ก็ดูเหมือนไร้สุข เต็มไปด้วยเงื่อนปมในใจที่ไม่อาจสะสางคลี่คลาย บุคลิกนิสัยเปลี่ยนแปลงผิดจากเมื่อครั้งวัยเด็ก แทบว่าจะกลายเป็นคนละคน ปิดกั้นตนเอง ถนัดในการโป้ปด พูดโกหกใครต่อใครอย่างลื่นไหลคล่องแคล่ว เย็นชาไร้ความรักเหมือนคนไม่มีหัวใจ

ที่สำคัญคืออเมริโกมีความหวั่นเกรงต่ออดีต ต่อบ้านเกิด รวมถึงทุกสิ่งที่ต่อโยงให้นึกถึงความหลัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งความทรงจำถึงแม่

ภาคสุดท้ายของนิยายเล่าสลับระหว่างปัจจุบันของตัวเอกกับวัยเด็ก (เหตุการณ์สืบเนื่องต่อจากภาคสาม) นำพาผู้อ่านไปสู่บทสรุปลงเอยของเรื่อง พร้อมๆ กับการสะสางคลี่คลายปมในใจของตัวละคร และการเรียนรู้เข้าใจชีวิตที่ซาบซึ้งตรึงใจ

The Children’s Train เป็นนิยายที่อ่านง่าย อ่านสนุก ชวนติดตามตั้งแต่ต้นจนจบ ความประทับใจแรกสุดของผมคือการเขียนอันเยี่ยมยอดของวิออลา อาร์โดเน ซึ่งใช้ภาษาเรียบง่าย แต่คมคาย มีจังหวะจะโคนในการเร้าอารมณ์ที่แม่นยำ ต่อยเข้าเป้าทุกหมัด มีมุมมองต่อสิ่งต่างๆ ที่หลักแหลม หยิบนำเอาเหตุการณ์ง่ายๆ มาถ่ายทอดได้อย่างมีชีวิตชีวา ครบรสทั้งอารมณ์ขัน ความซาบซึ้งสะเทือนอารมณ์ เต็มไปด้วยฉากตอนตื้นตันใจอยู่มากมาย

จุดเด่นถัดมาคือพลังในการเร้าอารมณ์ผู้อ่าน

ฤทธิ์เดชของการเร้าอารมณ์ในนิยายเรื่องนี้ ผมคิดว่าใกล้เคียงหรืออยู่ในระดับเดียวกับหนังที่คนทั้งโลกตกหลุมรักอย่าง Cinema Paradiso

เค้าโครงเรื่อง รายละเอียดปลีกย่อย ยุคสมัย ทั้งนิยายเรื่องนี้และหนังที่ผมหยิบยกมาเทียบ ไม่มีอะไรใกล้เคียงกันเลยนะครับ แต่บรรยากาศฉากหลังอย่างหมู่บ้านชนบททางตอนใต้ของอิตาลี ความทรงจำวัยเยาว์ ความรักผูกพันกับแม่และบ้านเกิด รวมถึงลำดับทางอารมณ์ เริ่มจากตลกขบขันรื่นรมย์ ลงท้ายด้วยความซาบซึ้งโศกเศร้า ความเปลี่ยนแปลงของตัวละครและความเปลี่ยนไปของบ้านเมืองตามยุคสมัย สามารถนับเป็นฝาแฝดกันได้อย่างไม่ขัดเขินเกินเลย

ผมอ่านสองภาคแรกด้วยรอยยิ้มและเป็นสุขใจ แต่เมื่อล่วงเข้าสู่ภาคสาม กลับกลายเป็นการอ่านติดตามด้วยความรู้สึกเจ็บลึกเหมือนมีโดนกรีดเฉือนในใจ

ส่วนภาคสุดท้าย เป็นการอ่านในสภาพน้ำตาซึมอยู่เป็นระยะๆ

ภาคสุดท้ายนั้น โดยตัวเหตุการณ์ โดยวิธีนำพาตัวละคร (และผู้อ่าน) ไปพบเจอกับสรรพสิ่ง เข้าสูตรเช่นเดียวกับหนังดรามาและนิยายเร้าอารมณ์จำนวนมาก ไม่ใช่วิธีการแปลกใหม่หรือไม่เคยสัมผัสพบเจอมาก่อน และตลอดการดูหนัง รวมถึงอ่านนิยายมาหลายสิบปี ผมเจอเรื่องราวทำนองนี้ การเร้าอารมณ์เช่นนี้มานักต่อนัก จนกล่าวได้ว่ามีภูมิต้านทานอยู่ในขั้นเข้มแข็ง

อย่างไรก็ตาม เมื่ออ่านนิยายเรื่อง The Children’s Train ภูมิต้านทานที่มีอยู่ กลับช่วยอะไรไม่ได้เลย ผมตายสนิท แบบไม่มีหือ ไม่มีอือใดๆ ทั้งสิ้น

ผมคิดว่าปัจจัยสำคัญก็คือฝีมือการเร้าอารมณ์ของผู้เขียนนั้นเก่งฉกาจฉกรรจ์ จงใจเร้าอารมณ์ แต่ไม่บีบคั้นฟูมฟาย มีประโยคถ้อยคำง่ายๆ แต่ช่างคิดแหลมคม มีจังหวะออกอาวุธ ด้วยประโยคเฉียบขาดในตอนจบของทุกบทที่กระแทกใจรุนแรง

ที่เก่งมากๆ คือช่วงท้ายๆ เรื่อง ทุกบททุกตอนอุดมไปด้วยความลับ (ซึ่งขณะอ่าน ผมเดาได้เกือบหมด) แต่เมื่อมันเผยปรากฏ ก็ได้ผลทุกครั้งในการสั่นสะเทือนความรู้สึก

ถัดมาเกี่ยวเนื่องกัน คือการปูรายละเอียดปลีกย่อยเล็กๆ น้อยๆ เอาไว้ตามรายทาง โดยไม่ได้เน้นความสลักสำคัญ แต่เมื่อหวนย้อนกลับมากล่าวถึงอีกครั้งในช่วงท้าย สิ่งละอันพันละน้อยเหล่านี้กลับมีอานุภาพเร้าอารมณ์ได้อย่างทรงพลังเป็นที่สุด

ประการสุดท้าย ท่ามกลางการเร้าอารมณ์ด้วยวิธีการตามขนบที่ผู้อ่านคุ้นเคย เงื่อนไขสำคัญที่ทำให้ The Children’s Train ห่างไกลจากความดาษดื่นตื้นเขิน คือความสัมพันธ์และความขัดแย้งอันสลับซับซ้อนระหว่างตัวละครแม่ลูก อเมริโกกับอันโตเนียตตา ซึ่งเป็นหัวใจหลักของเรื่อง นิยายเรื่องนี้สะท้อนแง่มุมดังกล่าวออกมาได้ลึก สมจริง และตรึงใจมาก

มีรายละเอียดหนึ่งซึ่งตอกย้ำสู่ผู้อ่านตลอดเวลาตั้งแต่ต้นจนจบ คือความหมกมุ่นสนใจของอเมริโกที่มีต่อรองเท้า เริ่มจากการไม่มีรองเท้าเป็นของตัวเอง เฝ้ามองรองเท้าของผู้คนที่พบเห็นตามถนนหนทาง การได้รองเท้าที่ตกทอดมาจากผู้อื่น สวมใส่ได้ไม่พอดี การมีรองเท้าเป็นของตนเองในท้ายที่สุด การเติบโตจนรองเท้าคู่เดิมสวมใส่ได้ไม่ถนัด และเกิดอาการเจ็บ

รองเท้าในนิยายเรื่องนี้ ด้านหนึ่งสะท้อนถึงความขาดแคลนขัดสนในบางช่วงขณะ ด้านหนึ่งก็หมายถึงการไขว่คว้าหาบางสิ่งบางอย่างของตัวละครที่ไม่ลงตัว ปราศจากความพอเหมาะพอดี และอีกนัยหนึ่ง มันสะท้อนถึงการสวมใส่เพื่อก้าวเดิน

ในแง่นี้ขานรับกับตลอดเรื่องของนิยาย ว่าด้วยเด็กชายคนหนึ่ง พลัดพรากจากอ้อมอกแม่ ขึ้นรถไฟไปยังถิ่นดินแดนไกล เพื่อหนีทุกข์จากความอดอยากยากไร้

เด็กชายคนนั้นหนีรอดจากสิ่งที่เขาพยายามหลบหลีกได้สำเร็จ แต่เมื่อเขาเดินทางคืนสู่บ้านเกิดอีกครั้ง กลับพบว่าเขาไม่เคยถึงบ้านที่แท้จริงอีกเลย และต้องใช้เวลาที่เหลือของชีวิตเพื่อที่จะกลับบ้าน


บทความนี้เผยแพร่ครั้งแรกผ่านคอลัมน์ ‘พิสูจน์-อักษร’ โดย ‘นรา’ วันที่ 24 กรกฎาคม 2567

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save