fbpx

[ความน่าจะอ่าน] ให้รักเป็นบทกวีชั่วชีวิต: จุดร่วม ‘ชีวิตห่วย’ แห่งยุคสมัย

ไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ชื่อของ ‘สะอาด’ เป็นที่จดจำมากขึ้นเรื่อยๆ ในฐานะนักเขียนการ์ตูน โดยเฉพาะผลงานรวมเล่มหลายเล่มที่ตีพิมพ์ออกมาอย่างต่อเนื่อง เป็นการประกาศถึงความมุ่งมั่นในการทำงานเขียนการ์ตูน

สำหรับคนอายุสามสิบต้นๆ เชื่อว่ามีคนจำนวนมากที่เติบโตมาพร้อมการ์ตูนญี่ปุ่น ในยุคที่เด็กไทยอ่านการ์ตูนเรื่องเดียวกันทั้งประเทศ (เพราะไม่ได้มีให้เลือกมากมายนัก) เข้าใจความรู้สึกของการสูดกลิ่นกระดาษ หมึกเปื้อนมือ และการรอคอยการ์ตูนเล่มใหม่ที่ร้านเช่าการ์ตูน

ภาพความระทมของชีวิตนักเขียนการ์ตูนที่มักถูกแทรกอยู่ท้ายเล่มก็เช่นกัน เป็นที่รับรู้ของนักอ่านว่าชีวิตนักเขียนการ์ตูนนั้นไม่ง่าย เบื้องหลังความสนุกของการ์ตูนแต่ละช่องมีความเหน็ดเหนื่อยของผู้เขียนซ่อนอยู่ ยิ่งในยุคที่สิ่งพิมพ์ตกต่ำ ยากจะนึกออกว่าต้องทำอย่างไรจึงดำรงชีพด้วยการเขียนการ์ตูนในบ้านนี้เมืองนี้ได้

แต่สะอาดทำได้ และทำได้ดี โดยเฉพาะเมื่อการ์ตูนของเขามี ‘เรื่องเล่า’ ที่แข็งแรง ผ่านลายเส้นห่ามๆ เหมือนเราได้แอบอ่านการ์ตูนที่เพื่อนวาดเล่น พร้อมถูกชวนคุยถึงความทรงจำและปมปัญหาเล็กๆ จากวัยเด็กที่ประกอบสร้างเป็นตัวเราในวันนี้โดยไม่รู้ตัว

ผลงานล่าสุด ให้รักเป็นบทกวีชั่วชีวิต (2565) หนังสือลำดับที่ 11 ของเขา เป็นเครื่องยืนยันว่าสะอาดเป็นนักเล่าเรื่องที่สะท้อนความรู้สึกร่วมของคนยุคนี้ได้ดี

1

ให้รักเป็นบทกวีชั่วชีวิต เป็นหนังสือรวมการ์ตูนสั้นหลายเรื่องที่เกี่ยวพันกันไว้ด้วย ‘ร้านของมือสาม’ ที่มีลุงแก่ๆ ขายเรื่องเล่าต่างๆ ให้ลูกค้าฟัง ผ่านสิ่งของในร้าน อย่างแมวประจำร้าน เกมเพลย์สเตชัน กล้องวิดีโอ กุญแจรถเก่าๆ ของแต่ละชิ้นบรรจุความทรงจำของผู้คนที่เคยครอบครองมัน และพร้อมส่งต่อเรื่องเล่านั้นแก่คนที่สนใจหยุดมองและรับฟัง

แต่ละเรื่องในหนังสือเล่มนี้บอกเล่าชีวิตของชนชั้นกลางที่ครอบครัวไม่มีเงินทุนให้เป็นบันไดไปสู่ความสำเร็จง่ายๆ คล้ายชีวิตชนชั้นกลางจำนวนมากในประเทศนี้ โดยเฉพาะผู้คนในวัยกำลังสร้างตัว อยากลงหลักปักฐาน มองหาความมั่นคง อยากประสบความสำเร็จในอาชีพการงาน อยากมีครอบครัวที่สมบูรณ์ อยากรวยกว่านี้เพราะเหนื่อยเหลือเกิน แต่สุดท้ายก็ทำได้แค่บ่นกับตัวเองว่า “ชีวิตแม่งยากจังวะ”

การยกระดับชีวิตด้วยการสอบหมอ – การหาทางประนีประนอมระหว่างการทำตามความฝันตัวเองกับการหาเงินแต่งงาน – คนที่มีพ่อแม่ไม่ได้เรื่องและทิ้งไว้แต่ภาระ เหล่านี้คือเรื่องที่บรรจุไว้ในหนังสือเล่มนี้ ปมชีวิตที่ไม่ซับซ้อน แต่หลุดพ้นได้ยากเย็น พร้อมกับที่ตัวละครน่าจะตั้งคำถามอยู่ตลอดเวลาว่าทำไมชีวิตถึงโยนตัวเรามาอยู่ในฉากแบบนี้

ตอนเป็นเด็ก ผู้ใหญ่มักบอกเราว่าให้มีความฝัน แต่พอเรียนจบ ถูกโยนเข้าสู่โลกจริง คนที่ทำตามความฝันมีแต่ ‘คนเพ้อเจ้อ’ ในโลกที่ทุกคนต้องต่อสู้กับทุนนิยม คนรุ่นใหม่เริ่มเห็นพ้องกันว่า ทำงานอะไรก็ได้ที่ได้เงินเยอะๆ แล้วค่อยไปหาความสุขนอกเวลางาน ขณะที่ประตูสู่หนทางรวยนั้นก็ไม่ได้เปิดกว้างเหมือนสมัยก่อนที่มุ่งมั่นขยันทำงานแล้วจะได้ดี เพราะโลกที่เหลื่อมล้ำสุดกู่พร้อมจะถีบหัวทุกคนที่หวังยกระดับฐานะตัวเอง

นี่คือความทุกข์ร่วมสมัย

เรื่องของ ‘ธิน’ ชายหนุ่มที่รักการทำสารคดีเพื่อสังคม แต่ต้อง ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อหาเงินสินสอดไปแต่งงาน อาจทาบทับกับชีวิตผู้อ่านหลายๆ คน ต่อให้ไม่มีเรื่องการแต่งงานมาเกี่ยวข้อง คำถามประเภทที่ว่า “กูขายวิญญาณดีไหมวะ” ย่อมเกิดขึ้น โดยเฉพาะกับคนที่มุ่งมาดว่าชีวิตตัวเองจะมีความหมายเมื่อทำงานที่เป็นประโยชน์กับสังคม ขณะที่ผลตอบแทนมักต่ำเตี้ยจนสร้างวิกฤตคำถามชีวิตบ่อยครั้งว่าสุดท้ายแล้วจะทนลำบากไปเพื่อใคร

ไม่แปลกที่ทุกวันนี้สังคมเริ่มพูดถึงรัฐสวัสดิการบ่อยครั้งขึ้น เมื่อเราไม่อาจทำตามความฝันได้ หากยังต้องเป็นห่วงพ่อแม่ที่ไม่มีคนดูแล ไม่กล้ามีลูกเพราะไม่มีเงินเก็บ ไม่สามารถครอบครองบ้านได้เมื่อราคาอสังหาริมทรัพย์พุ่งทะยานแบบบ้าไปแล้ว ไม่กล้าทำสิ่งที่ตัวเองชอบจริงๆ เพราะไม่มีฟูกรองรับหากพลาดล้มลง

ต่อให้เรียนจบสูงเพื่อหวังยกระดับฐานะ แต่ผลลัพธ์ที่ออกมาก็ไม่แน่นอนเหมือนสมัยก่อน เมื่อสุดท้ายแล้วคนที่ประสบความสำเร็จจำนวนมากคือหนุ่มสาวจากครอบครัวที่มีบันไดให้เข้าถึงโอกาสต่างๆ ก่อนคนอื่น

ความทุกข์ร่วมกันของคนยุคนี้ค่อยๆ ส่งเสียงออกมาว่าเราต้องการสังคมที่อนุญาตให้เราฝัน ล้มได้ เจ็บได้ โดยไม่ถูกเขี่ยออกจากเกม ไม่ใช่สังคมแบบทุกวันนี้ที่ผู้คนต้องต่อสู้อย่างหนักเพื่อความเป็นอยู่พื้นฐาน โดยมองไม่เห็นว่าปลายทางคืออะไร (และสุดท้ายก็ถูกสั่งสอนว่าจงมีความสุขกับสิ่งเล็กๆ ในชีวิต)

2

อีกเรื่องสั้นในรวมเล่มการ์ตูนเล่มนี้ คือเรื่องสามพี่น้องที่เดินทางกลับบ้านเกิดของแม่เพื่อทำตามคำสั่งเสียครั้งสุดท้าย เชื่อว่าเป็นเรื่องที่จะทำให้ผู้อ่านจดจำชื่อของสะอาดได้แม่นยำยิ่งขึ้น พร้อมสไตล์การเล่าเรื่องแบบกวนๆ ชวนหัวเราะหึๆ แล้วตบด้วยคำพูดบางประโยคที่ชวนให้ขอบตาร้อนผ่าว

ภาพของสะอาดแต่ละช่องเล่าเรื่องอย่างต่อเนื่อง หลายช่วงตอนใช้ภาพเล่าเรื่องโดยไม่มีบทพูด และยิ่งทำให้เราเข้าใจความรู้สึกของตัวละครมากขึ้นผ่านความเงียบที่ผู้เขียนมอบให้

เรื่องชีวิตบ้านคนจีนที่เชิดชูลูกชายมากกว่าลูกสาว พร้อมปลูกฝังวิธีคิดว่าครอบครัวไม่จำเป็นต้องแสดงความรักกัน เชื่อว่าในครอบครัวเชื้อสายจีนจำนวนมากก็เจอปัญหานี้ เป็นความเชื่อที่มีแต่จะสร้างบาดแผลให้คนในครอบครัว และคนรุ่นพ่อแม่ก็พร้อมส่งต่อบาดแผลนั้นสู่คนรุ่นต่อมาในบางรูปแบบที่ยากจะเข้าใจ แม้ว่าวิธีคิดแบบนี้จะเบาบางลงในครอบครัวสมัยใหม่

เรื่องสามพี่น้องนี้ทำให้การเล่าเรื่องของให้รักเป็นบทกวีชั่วชีวิตแข็งแรงยิ่งขึ้น พร้อมดึงให้คนอ่านเข้าไปใกล้ชิดกับเรื่องราวมากขึ้น เพราะต่อให้ใครที่ไม่อินกับเรื่องความรักหนุ่มสาวของเรื่องอื่นๆ แต่ทุกคนย่อมมีความทรงจำที่ดีและไม่ดีกับครอบครัว และมีโอกาสอ่อนไหวตามความสัมพันธ์พี่น้องอันเต็มไปด้วยบาดแผลจากประวัติศาสตร์ของครอบครัวอย่างในเรื่องนี้

3

เรื่องสั้นแต่ละเรื่องในให้รักเป็นบทกวีชั่วชีวิตชูปมปัญหาชีวิตที่หาเจอได้ไม่ยากในชีวิตจริง ซึ่งแม้ว่าจะล้วนเป็นปัญหาส่วนตัวแต่ทุกเรื่องฉายให้เห็นค่านิยมของสังคมที่สร้างบาดแผลใหญ่ให้แต่ละปัจเจกบุคคล

โดยที่หนังสือเล่มนี้ไม่ได้ตะโกนหาความเปลี่ยนแปลงจากสังคม แต่การรับรู้เรื่องเล่าเหล่านี้อย่างน้อยก็ทำให้คนอ่านรู้สึกว่าทำไมชีวิตพวกเราต้องห่วยขนาดนี้

การหาทางออกจากชีวิตห่วยของตัวละครในแต่ละเรื่องของหนังสือเล่มนี้ พูดอย่างเชยๆ คือ ‘ความรัก’ ท่ามกลางความพังพินาศของเรื่องราวที่รายล้อมตัวเรา หากปราศจากสิ่งยึดโยงด้วยความรักแบบนี้แล้วคงยากที่เราจะตอบตัวเองว่าจะอดทนเผชิญเรื่องพวกนี้ไปทำไม

แน่นอนว่า ‘การอดทน’ ไม่ใช่ทางแก้ปัญหาที่ดีสำหรับทุกเรื่อง แต่ในโลกแบบที่เรากำลังเผชิญกันอยู่นี้การอดทนพร้อมหวังเล็กๆ ว่าจะมีอะไรดีขึ้นก็อาจเป็นหนทางเดียวที่ทำให้เราใช้ชีวิตต่อไปได้



ดูรายชื่อหนังสือ Top Highlights ความน่าจะอ่าน 2022 เล่มอื่นๆ ได้ที่นี่

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save