fbpx

[ความน่าจะอ่าน] หยัดยืน และการยืนหยัดต่ออำนาจรัฐด้วยถ้อยคำ

1.


หากคุณมีโอกาสได้เดินทางไปที่หมู่บ้านคูรอน ประเทศอิตาลี หนึ่งในหมุดหมายสำคัญประจำหมู่บ้านแห่งนี้ที่คุณจะพลาดไม่ได้คือ ‘หอนาฬิกากลางทะเลสาบ’ มันยืนโดดเด่นอย่างโดดเดี่ยวปราศจากสิ่งปลูกสร้างใดๆ เคียงข้าง โอบล้อมด้วยทิวเขา ผืนป่า และผิวน้ำ หอนาฬิกายืนตระหง่านท่ามกลางธรรมชาติสุดลูกหูลูกตา 

แต่กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว หอนาฬิกาแห่งนี้ไม่ได้อยู่เพียงลำพัง ด้วยเพราะมันเคยมีอาคารบ้านเรือนรายล้อม มีผู้คนไปมาสัญจร มีชุมชนคอยโอบกอดเพราะมันเป็นส่วนหนึ่งของโบสถ์เพียงแห่งเดียวในหมู่บ้าน เรื่องน่าประหลาดใจก็คือ หากย้อนเวลากลับไปช่วงต้นศตวรรษที่ 20 คุณจะไม่พบกับหอนาฬิกากลางทะเลสาบหรอก แต่จะได้พบกับบ้านเรือนของชาวคูรอน ฝูงวัวนับร้อยๆ และทุ่งหญ้ากว้างใหญ่ไพศาลต่างหาก

ลึกลงไป ภายใต้ทะเลสาบผืนใหญ่ที่ปรากฏหอนาฬิกาอยู่ตรงกลาง ณ ที่ตรงนั้นคุณจะได้พบกับเศษซากปรักหักพังของบ้านเรือน คอกสัตว์ และอาคาร นั่นเพราะหมู่บ้านคูรอนที่แท้จริงนั้น ‘ถูกทำให้จม’ อยู่ใต้บาดาล 

เรื่องราวต่อจากนี้ที่คุณกำลังจะได้อ่านไม่มีอะไรน่าตื่นเต้นหรือโรแมนติกอย่างตำนานของมหานครแอตแลนติสที่เราคุ้นเคยกันหรอก


2.


‘หยัดยืน’ หรือ ‘Resto Qui’ คือนวนิยายเรื่องที่ 4 ของ Marco Balzano อาจารย์วิชาวรรณกรรมและนักเขียนชาวอิตาลี ซึ่งอาจกล่าวได้ว่า เป็นหนังสือเล่มเดียวกันนี้ที่ส่งให้ชื่อของ Balzano กลายเป็นที่จดจำในฐานะนักเขียนอิตาเลียนที่น่าจับตาที่สุดคนหนึ่งของปัจจุบัน

สารภาพตรงๆ ว่า ก่อนหน้าที่จะได้อ่านนวนิยายเล่มนี้ ผมเองไม่เคยได้ยินชื่อของ Balzano มาก่อน อย่างไรก็ตาม หลังจากที่ได้อ่านหยัดยืนไปเพียงไม่กี่หน้า ผมก็พอจะเข้าใจว่าอะไรคือสาเหตุที่ส่งให้ Balzano กลายเป็นนักเขียนที่โดดเด่น และถึงขั้นเป็นที่รักของบรรดานักอ่าน

เล่าอย่างคร่าวๆ หยัดยืนบอกเล่าเรื่องราวของ ‘ตรีนา’ หญิงสาวผู้ฝันอยากจะเป็นครูสอนภาษาเยอรมัน อาชีพที่หากมองผ่านแว่นสายตาของปัจจุบันก็ดูจะไม่ใช่อะไรที่ไกลเกินหวัง ‘ออกจะเป็นความฝันธรรมดาๆ ด้วยซ้ำ’ เราอาจสรุปได้ง่ายๆ เช่นนี้

แต่เรื่องก็คือ ในยุคสมัยของตรีนา ความฝันที่ฟังดูแสนจะธรรมดากลับไม่อาจไขว่คว้ามาได้ง่ายๆ เธอเกิดในช่วงเวลาที่โลกทั้งใบกำลังถูกปกคลุมด้วยความเคียดแค้นและบ้าคลั่งของสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง และแม้ว่ามหาสงครามบัดซบนั่นจะสิ้นสุดลงในปี 1918 หากก็ไม่ได้แปลว่า ชีวิตของตรีนาจะประสบพบพานความสงบใดๆ ในหมู่บ้านคูรอนอันเป็นบ้านเกิดของหญิงสาว หมู่บ้านเล็กๆ ที่ครั้งหนึ่งเคยอยู่ภายใต้การปกครองของออสเตรีย – ฮังการี ก่อนจะถูกผนวกรวมมาเป็นส่วนหนึ่งของอิตาลีหลังจากที่จักรวรรดิแห่งนั้นล่มสลาย ปัญหาใหม่ๆ รังแต่จะก่อตัวขึ้นเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นการที่รัฐบาลฟาสซิสต์ของเบนิโต มุสโสลินีพยายามบังคับให้ชาวบ้าน – ซึ่งเดิมทีพูดภาษาเยอรมันในชีวิตประจำวัน – เปลี่ยนมาใช้ภาษาอิตาเลียน

“มุสโสลินีเปลี่ยนชื่อทุกอย่างใหม่หมด ทั้งชื่อถนน ลำธาร ภูเขา…ลามปามไปถึงผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว คนใจทรามพวกนั้นเปลี่ยนกระทั่งชื่อบนป้ายหลุมศพ เปลี่ยนกระทั่งชื่อบนป้ายหลุมศพ เปลี่ยนชื่อพวกเราเป็นภาษาอิตาเลียน เปลี่ยนป้ายชื่อร้านค้าต่างๆ ด้วย ห้ามเราใส่ชุดประจำถิ่นของเรา จู่ๆ ก็มีครูจากแคว้นต่างๆ มาสอนเรา แวเนโตบ้าง ลอมบาร์ดิบ้าง ซิซิลีบ้าง พวกเขาไม่เข้าใจพวกเรา พวกเราก็ไม่เข้าใจพวกเขา ในแถบทีโรลใต้ อิตาเลียนเป็นภาษาต่างถิ่นในแดนไกลที่เรามักได้ยินจากลำโพง หรือจากพ่อค้าเร่เมืองวัลลาร์ซาที่ขึ้นมาบนแคว้นเตรนตีโนเพื่อจะผ่านไปค้าขายที่ประเทศออสเตรีย” (หน้า 16)

แม้ว่าคูรอนจะรอดพ้นสงครามโลกครั้งที่หนึ่งมาได้ก็จริง หาก ‘ความไม่สงบ’ กลับเดินทางมาถึงหมู่บ้านแห่งนี้ในนามของ ‘อำนาจรัฐ’ ผ่านความพยายามที่จะเปลี่ยนแปลงภาษาในชีวิตประจำวันของชาวบ้าน เป้าหมายของมุสโสลินีคือการขุดรากความสัมพันธ์และถอนโคนวัฒนธรรมของชาวคูรอน เพื่อจะแทนที่มันด้วยอุดมการณ์ชาตินิยมอิตาลี นั่นจึงเป็นเหตุผลว่าทำไมความฝันของตรีนาที่จะเป็นครูสอนภาษาเยอรมันจึงไม่ใช่เรื่องง่าย หรือถึงขั้นเป็นไปไม่ได้เลยด้วยซ้ำ

ไม่สิ พูดให้ถูกคือ ความฝันที่จะเป็นครูสอนภาษาเยอรมันของตรีนากลายเป็นความฝันที่ไม่อาจดำเนินไปในที่แจ้งต่างหาก เพราะถึงแม้ว่าเผด็จการฟาสซิสต์จะพยายามแบนภาษาเยอรมันทุกวิถีทางก็จริง ทว่าการต่อต้านอุดมการณ์รัฐของชาวบ้านก็ดำเนินไปอย่างเงียบๆ ในพื้นที่ลับๆ ของชาวบ้าน เป็นในห้องเก็บไวน์ โรงฟาง และห้องใต้ดินของโบสถ์ประจำหมู่บ้าน ที่ตรีนาและเพื่อนๆ ของเธอได้เปิดคลาสสอนภาษาเยอรมันให้กับเด็กๆ ในหมู่บ้านเพื่อไม่ให้พวกเขาหลงลืมภาษาเดิมของตัวเอง

อำนาจรัฐยึดครองพื้นที่สาธารณะอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดเสียจนลำพังแค่ความคิดที่จะหยิบจอบ เสียม และปืนลูกซองขึ้นมารบพุ่งก็แทบจะไม่ต่างอะไรกับฝันกลางวัน แต่แม้ว่าจะไม่อาจคัดง้างในเชิงกำลัง นั่นก็ไม่ได้แปลว่าชาวบ้านจะอยู่เฉยๆ ให้มุสโสลินีกลืนกิน ชาวบ้านไม่ต้องการภาษาอิตาเลียน และพวกเขาก็ปฏิเสธที่จะเทิดทูนท่านผู้นำ เพียงแต่รูปแบบการต่อต้านของชาวคูรอนไม่ใช่การเข้าปะทะในฉากหน้า แต่เป็นสงครามทางภาษาและวัฒนธรรมที่ดำเนินไปในฉากหลังอย่างเงียบเชียบไม่โฉ่งฉ่าง

มันเป็นการต่อต้านที่ดำเนินไปเรื่อยๆ อย่างสงบในชีวิตประจำวัน เป็นภูเขาไฟใต้น้ำที่เฝ้ารอเพียงวันที่จะปะทุขึ้นมา


3.


หยัดยืนคือเรื่องราวของความรุนแรงที่กระทำต่อคนตัวเล็กๆ ความรุนแรงที่เราอาจจำแนกเป็นสามรูปแบบด้วยกัน ได้แก่ ความรุนแรงเชิงอุดมการณ์ ความรุนแรงของสงคราม และความรุนแรงทางการพัฒนา (violence of development)

ในแง่ของความรุนแรงเชิงอุดมการณ์นั้น ผู้อ่านคงจะพอเห็นภาพคร่าวๆ จากปฏิบัติการของรัฐบาลอิตาลีที่กระทำต่อชาวบ้านคูรอน ส่วนความรุนแรงของสงครามก็ชัดเจนอยู่แล้วในตัว นั่นจึงเหลือเพียงความรุนแรงทางการพัฒนาที่ผู้เขียนมองว่า ไม่เพียงแต่จะน่าสนใจ หากยังเรียกได้ว่าเป็นกระดูกสันหลังของนวนิยายเรื่องนี้ด้วยซ้ำ

“มีการประกาศสร้างเขื่อนครั้งแรกในปี 1911 ผู้ประกอบการจากบริษัทมนเตคาตีต้องการให้ชาวบ้านในเรเซียและคูรอนย้ายออกไปเพื่อจะได้ใช้ประโยชน์จากกระแสน้ำในการผลิตพลังงาน พวกนักอุตสาหกรรมและนักการเมืองชาวอิตาเลียนบอกว่า แถบอัลโตอาดิเจแห่งนี้เป็นเสมือนเหมืองทองคำขาว พวกเขาส่งวิศวกรมาสำรวจหุบเขาและเส้นทางของแม่น้ำบ่อยขึ้นเรื่อยๆ หมู่บ้านทั้งหลายของเราคงจะหายไปใต้สุสานน้ำแห่งนี้ บ้านไร่ โบสถ์ ร้านรวง ท้องทุ่งที่พวกสัตว์ไปกินหญ้าจะจมหายไปหมด เขื่อนนี้จะทำให้เราสูญเสียทั้งบ้าน สัตว์เลี้ยง และงาน และเราก็จะไม่เหลืออะไรอีกเลย เราจะต้องอพยพย้ายที่ แล้วไปเป็นคนอื่น ทำมาหากินอย่างอื่นในที่อื่น กลายเป็นคนเมืองอื่น เราจะตายห่างไกลจากวัลเวนอสตาและจากทีโรล” (หน้า 24)

กระแสการพัฒนาเริ่มคืบคลานเข้ามาในหมู่บ้านคูรอนก่อนหน้าที่สงครามโลกครั้งที่ 1 จะเริ่มต้น และแม้ว่าจะหยุดชะงักไปช่วงสั้นๆ กระนั้นเมื่อเผด็จการฟาสซิสต์เถลิงอำนาจอีกครั้ง ความพยายามสร้างเขื่อนเหนือหมู่บ้านคูรอนก็ถูกสานต่อโดยทันที กระบวนการการขยายอำนาจรัฐเหนือพื้นที่ (process of territorialization) ขับเคลื่อนอย่างทันท่วงทีภายใต้โฉมหน้าของการพัฒนา

แต่ขึ้นชื่อว่าการพัฒนา ไม่ใช่ว่ามันย่อมจะเป็นเรื่องดีหรอกหรือ พูดอีกอย่างคือการยอมเสียสละหมู่บ้านเล็กๆ ที่มีประชากรเพียงแค่หยิบมือ เพื่อแลกเปลี่ยนกับผลประโยชน์ที่ภูมิภาคแห่งนี้จะได้รับจากการสร้างเขื่อน ก็น่าจะคุ้มค่ากว่าจริงไหม เพราะถึงอย่างไรก็ต้องมีผู้ได้ประโยชน์ และเสียประโยชน์เป็นเรื่องธรรมดาอยู่แล้วนี่

Arturo Escobar นักมานุษยวิทยาชาวโคลอมเบียนสาย ‘หลังการพัฒนา’ (post-development) ได้ตั้งคำตอบกับกระแสการพัฒนาผ่านหนังสือ Encountering Development: The Making and Unmaking of the Third World ไว้อย่างน่าสนใจ ผ่านงานเขียนชิ้นนี้ Escobar มองว่า แนวคิดการพัฒนาคือ รูปแบบหนึ่งของการส่งออกทางอุดมการณ์ (ideological export) ที่เกิดขึ้นพร้อมๆ กับการขยายอำนาจของลัทธิจักรวรรดินิยมทางวัฒนธรรม (cultural imperialism) ผ่านรูปแบบการทำงานของภาษาแบบผู้ชำนาญการ (technocratic language) สำหรับ Escobar แนวคิดการพัฒนาโถมซัดเข้าสู่พื้นที่ไกลปืนเที่ยงผ่านคุณค่าและบรรทัดฐานใหม่ โดยที่ไม่ว่าแนวคิดการพัฒนาจะนำมาซึ่งความรุ่งเรือง หรือสร้างความล้มเหลวให้กับพื้นที่นั้นๆ ทว่าปัญหาจริงๆ ของมันคือ การกำหนดรูปแบบการดำรงชีวิตและพฤติกรรมของผู้คนในพื้นที่ และเปลี่ยนพวกเขาให้ตกอยู่ภายใต้อำนาจของการพัฒนา 

ในแง่นี้ ความพยายามจะสร้างเขื่อนในหมู่บ้านคูรอนจึงไม่ได้หมายถึงแค่การขับไล่ชาวบ้านออกจากพื้นที่เท่านั้น หากการเข้ามาของวิศวกร นักธุรกิจ และตำรวจที่คอยคุ้มกันบุคลากรของรัฐยังได้นำมาซึ่งระเบียบ บรรทัดฐาน ภาษาราชการ และแบบแผนการปฏิบัติตัวซึ่งแตกต่างไปจากวิถีชีวิตเดิมของชาวคูรอน

ความน่าเศร้าอยู่ตรงที่ว่า แม้ว่าชาวบ้านจะพยายามคัดค้านสักเพียงใด ทว่าปากเสียงของพวกเขากลับแผ่วเบาเกินไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อฝั่งตรงข้ามคืออำนาจรัฐ ท้ายที่สุดหมู่บ้านคูรอนก็พ่ายแพ้ต่อกระแสการพัฒนา จำต้องยอมก้มหน้าย้ายออกจากบ้านเกิดที่จมลึกอยู่ใต้บาดาล จะเหลือก็เพียงแค่หอระฆังที่สูงพอจะโผล่พ้นน้ำ

ซ้ำร้ายไปกว่า – คือเขื่อนที่ควรจะผลิตพลังงานไฟฟ้าให้กับภูมิภาคกลับไม่มีประสิทธิภาพอย่างที่รัฐบาลสัญญากับประชาชน

“ช่วงหน้าร้อนแม่ลงมาเดินเล่าเลาะทะเลสาบเทียมนั่น เขื่อนผลิตพลังงานได้น้อยมาก ซื้อจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ของฝรั่งเศสถูกกว่ามาก ในเวลาไม่กี่ปีหอระฆังที่ตั้งเด่นอยู่กลางน้ำนิ่งก็กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยว บรรดาผู้คนที่มาพักผ่อนผ่านไปตอนแรกก็ตื่นเต้นดี แต่ครู่หนึ่งหลังจากนั้นก็ไม่ได้สนใจอะไรมากนัก พวกเขาถ่ายรูปตัวเองโดยมีหอระฆังอยู่ด้านหลังแล้วทุกคนก็ฉีกยิ้มเหมือนกันหมด ราวกับว่าใต้น้ำนั้นไม่มีรากของสนลาร์ช ฐานรากของบ้านเรา จัตุรัสที่เราเคยมารวมตัวกัน ราวกับว่าเรื่องราวเหล่านั้นไม่เคยเกิดขึ้น” (หน้า 181)

หมู่บ้านคูรอนถูกลบเลือนหายไปจากประวัติศาสตร์ เหลือไว้เพียงเขื่อนไร้ประสิทธิภาพ ทะเลสาบ และหอนาฬิกาที่ปราศจากความทรงจำ


4.


ความน่าสนใจของหยัดยืน คือการที่ Balzano เลือกจะถ่ายทอดเรื่องราวของมันผ่านลักษณะของ ‘ถ้อยคำ’ 

ภายใต้การบอกเล่าประวัติศาสตร์ของคูรอนผ่านน้ำเสียงของตรีนาที่ส่งต่อมันไปยังลูกสาวของเธอ ไม่เพียงจะทำให้ผู้อ่านรู้สึก ‘เป็นส่วนหนึ่ง’ กับหมู่บ้านคูรอนมากขึ้นเท่านั้น หากมันยังสะท้อนประเด็นสำคัญของนวนิยายเล่มนี้ได้อย่างน่าสนใจ

“แต่แม่คิดว่า ความรู้ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดโดยเฉพาะสำหรับผู้หญิงคือถ้อยคำ สิ่งสำคัญคือเราต้องกระหายหิวข้อมูล เรื่องราว และจินตนาการ แล้วกอดมันไว้ให้แน่น เพื่อที่ว่าวันหนึ่งหากเกิดปัญหาขึ้นในชีวิตหรือไม่เหลืออะไรแล้ว แม่ว่าสิ่งที่จะช่วยได้คือ ถ้อยคำ” (หน้า 12)

เสมอมา ‘การเขียน’ คือเครื่องมือของรัฐในการบันทึกประวัติศาสตร์ จดจารประวัติศาสตร์ของชาติที่ประกอบสร้างความจริงและอำนาจที่รัฐอยากให้ประชาชนจดจำ ทว่าถ้อยคำนั้นแตกต่างออกไป ด้วยเพราะมันไม่จำเป็นจะต้องสลักบนแผ่นกระดาษใดๆ ไม่อาจถูกตรวจสอบ ทำลาย หรือเผาไหม้ แต่จะถูกส่งต่อเรื่อยไปผ่านการบอกเล่าจากปากสู่ปาก หากการเขียนคือการควบคุม ถ้อยคำก็ย่อมจะหมายถึงการต่อต้าน

ในโมงยามที่รัฐพยายามจะกดหัวประชาชนให้ศิโรราบ ก็เห็นจะมีแต่เพียงลมปากของกันและกันเท่านั้นที่คอยพร่ำบอกว่า พวกเราจงหยัดยืน



ดูรายชื่อหนังสือ Top Highlights ความน่าจะอ่าน 2022 เล่มอื่นๆ ได้ที่นี่

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save