fbpx

ความน่าจะอ่าน 2022: ชีวิตต้องมีความหวัง วงการหนังสือก็เช่นกัน

ถึงแม้ทุกอย่างรอบตัวจะแลดูมืดมิดสิ้นหวัง แต่พวกเราก็จะเชื่อและลุกขึ้นมาสู้อีกครั้ง โดยหวังว่าอีกไม่นานเราย่อมเจอแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์และเหตุการณ์โลกแตกนี้จะจบสิ้นซักที

ท่ามกลางความสิ้นหวังนี้ การกลับมาในปีที่ 6 ของโปรเจกต์ #ความน่าจะอ่าน 2022 จึงอยากเติมไฟความหวังให้ผู้อ่านทุกท่านผ่านการอ่านที่เปรียบเหมือนการติดอาวุธทางปัญญาเพื่อต่อสู้กับปัญหาต่างๆ รอบตัว ให้เป็น ‘สงครามครั้งสุดท้าย’ หลังพบเจอวิกฤตโรคระบาด การเมือง เศรษฐกิจติดต่อกันหลายปี ผ่านธีม ‘โลกใบนี้น่ะยังไม่สิ้นความหวังหรอก!’

สำหรับปีนี้ 101 ชวนสำนักพิมพ์ ร้านหนังสือและนักวาดประกอบกว่า 50 ท่านมาเฟ้นหาหนังสือน่าอ่านมากกว่า 100 เล่ม จนเหลือ Top Highlights จำนวน 8 เล่มที่เลือกซ้ำมามากที่สุด และนอกจากนี้ ยังมี ‘ความน่าจะอ่าน ขวัญใจมหาชน 2022’ หนังสือที่ได้รับการเลือกมากที่สุดจากนักอ่าน ซึ่งหนังสือที่ชนะรางวัลดังกล่าวคือ ‘กว่าจะครองอำนาจนำ’ ของอาสา คำภา จากสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน 

หนังสือแต่ละเล่มน่าสนใจอย่างไร? ทำให้เห็นทิศทางการอ่านหรือภาพสังคมปัจจุบันแบบไหน? 101 ชวน อธิคม คุณาวุฒิ บรรณาธิการสำนักพิมพ์ Way of Book, ภาณุ ตรัยเวช นักเขียน เจ้าของหนังสือ ‘อ่อนโยนหนักหนาคือราตรี’, นักรบ มูลมานัส นักเขียน เจ้าของหนังสือ ‘เล่นแร่แปลภาพ ประวัติศาสตร์สยามจากเบื้องหลังภาพถ่าย’ และสุธิดา วิมุตติโกศล อาจารย์ประจำคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มาร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนเกี่ยวกับหนังสือในปีนี้ ว่ามีประเด็นอะไรที่น่าสนใจและสะท้อนถึงสภาวะทางสังคม การเมืองที่พวกเรากำลังประสบพบเจอ ในงานเสวนา‘ความน่าจะอ่าน 2022 Final Round : โลกใบนี้น่ะยังไม่สิ้นความหวังหรอก!’ ณ The Jim Thompson Art Center วันที่ 8 ตุลาคม ที่ผ่านมา


YouTube video

ภายในงานเริ่มต้นด้วยการกล่าวนำโดย อาสา คำภา ผู้เขียนหนังสือ ‘กว่าจะครองอำนาจนำ’ ว่า

ผมคิดว่าการอ่าน มันคือสิ่งที่ช่วยให้เราติดอาวุธทางปัญญาในยุคสมัยที่การต่อสู้ยังไม่สุดหรือว่ายังไม่ได้รับชัยชนะ”

อาสาเสนอว่ายุคสมัยปัจจุบัน นอกจากคนรุ่นใหม่จะต่อสู้ในระดับโครงสร้างทางวัฒนธรรม หรือรัฐพันลึก (Deep State) แล้วนั้น ระหว่างรัฐพันลึกก็ยังมีภาวะสังคมพันลึก (Deep Society) เกิดขึ้นด้วย และ ‘การอ่าน’ ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยติดอาวุธทางปัญญา ส่งต่อความคิด และความรู้ที่ดีในสังคมพันลึกนั้น

อาสา คำภา เจ้าของหนังสือ กว่าจะครองอำนาจนำ ที่ได้รับการโหวตสูงสุดใน ‘ความน่าจะอ่าน ขวัญใจมหาชน 2022’

ความหลากหลายใน ‘ความน่าจะอ่าน’

วงเสวนา ‘ความน่าจะอ่าน 2022 Final Round : โลกใบนี้น่ะยังไม่สิ้นความหวังหรอก!’ ณ The Jim Thompson Art Center วันที่ 8 ตุลาคม 2565

วงสนทนาเริ่มจากการวิเคราะห์หนังสือ Top Highlights ในปีนี้ อธิคม คุณาวุฒิ ตั้งข้อสังเกตว่า ทั้ง 8 เล่มที่เป็น Top Highlights นั้นแสดงให้เห็นถึงความหลากหลายของประเภทหนังสือและการอ่าน มีทั้งวรรณกรรมไทย วรรณกรรมแปล และ non-fiction อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เห็นเป็นเพียง ‘น่านน้ำ’ ที่เราอยู่เท่านั้น เราไม่สามารถรู้ทั้งมหาสมุทรของธุรกิจหนังสือของประเทศไทยได้เลย ทำให้ไม่สามารถบอกได้ชัดเจนว่าหนังสือแบบไหนเป็นหนังสือที่ผู้อ่านนิยมอ่าน หรือหนังสือแบบไหนเป็นหนังสือที่ขายได้

แม้หนังสือทั้ง 8 เล่มนั้นเป็นเพียงส่วนน้อยจากหนังสือในท้องตลาด แต่หากสำรวจถึงปริมาณมูลค่าทางเศรษฐกิจในช่วง 3-5 ปีที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่าสำนักพิมพ์ ‘ฟ้าเดียวกัน’ ที่พิมพ์หนังสือ non-fiction กลายเป็นสำนักพิมพ์ยอดนิยม ประเด็นดังกล่าว อธิคมมองว่าสามารถสะท้อนได้ถึงสภาพอารมณ์และความอยากรู้ของคนในสังคม และอีกหนึ่งข้อสังเกตที่น่าสนใจคือ ไม่มีวรรณกรรมไทยที่ได้รับรางวัลใหญ่จากเวทีที่สนับสนุนจากรัฐและกลุ่มทุนของไทยติดเข้ามาในรายชื่อ Top Highlights เลย

ในทำนองเดียวกัน นักรบ มูลมานัส เห็นด้วยกับอธิคมว่าภาพรวมหนังสือของ ‘ความน่าจะอ่าน’ นั้นสะท้อนได้ถึงความหลากหลาย และน่าสนใจว่าวงการหนังสือได้ขยับขยายไปสู่หนังสือประเภท กราฟิกโนเวล (Graphic Novel)’ เช่น การ์ตูน ทำให้นักรบมองว่าวงการหนังสือได้ไปสู่อาณาบริเวณที่ใหญ่ขึ้นกว่าเดิม และในอนาคตก็คงจะสามารถขยับขยายไปได้อีก สำหรับนักรบ ผู้ที่ทำงานด้านภาพจึงสนใจปรากฎการณ์ดังกล่าวอย่างยิ่ง

ด้านภาณุ ตรัยเวช พูดถึงการเปิดพื้นที่ใหม่ของวงการหนังสือ ผ่านการยกตัวอย่างสำนักพิมพ์ ‘P.S.’ ผู้พิมพ์หนังสือ ‘อ่อนโยนหนักหนาคือราตรี’ ที่มีกลุ่มผู้อ่านหลักคือผู้หญิง เป็นอีกหนึ่งภาพการดิ้นรนจากสำนักพิมพ์ใหญ่ที่ออกมาตั้งสำนักพิมพ์ขนาดเล็กเพื่อเจาะกลุ่มผู้อ่าน สิ่งนี้จะทำให้เกิดพื้นที่ใหม่ในการสร้างสรรค์หนังสือ หรืออาจจะนับว่าเป็น ‘ความหวัง’ ของวงการหนังสือก็ย่อมได้ เช่นเดียวกับการที่เขาเขียน ‘อ่อนโยนหนักหนาคือราตรี’ เรื่องราวชีวิตความลำบากของผู้หญิงที่เคยสิ้นหวัง และสามารถเจอแสงสว่าง เป็นหนังสือที่มอบความหวังให้ผู้อ่าน

ขณะที่ สุธิดา วิมุตติโกศล กล่าวว่าการเลือกหนังสือ Top Highlights ของ ‘ความน่าจะอ่าน’ มาจากการคัดเลือกของสำนักพิมพ์ จึงไม่แน่ชัดว่าจะบอกความนิยมของคนอ่านได้จริงไหม แต่อย่างน้อย เราได้รู้ว่าสำนักพิมพ์อยากแนะนำอะไร และอะไรคือรูปแบบของหนังสือที่ดี ที่อยากจะแบ่งปันในวงการสื่อสิ่งพิมพ์ เราจึงเห็นได้ถึงความหลากหลายของหนังสือทั้งในแง่รูปแบบและเนื้อหา

 

สุธิดา วิมุตติโกศล

ทว่า หากเรานำ ‘Top Highlights’ และ ‘ความน่าจะอ่าน ขวัญใจมหาชน 2022’ มาเทียบกัน สุธิดากล่าวว่าอาจจะเห็นความคล้ายคลึงบางอย่างที่สำนักพิมพ์อยากให้อ่านและคนอ่านอยากแบ่งปัน เห็นความสนใจของหนังสือ non-fiction ที่ถึงแม้จะไม่ใช่เรื่องแต่ง แต่มีการใช้ลีลาทางวรรณกรรมอย่างน่าสนใจ ก่อนหน้านี้กลุ่มงานประเภทดังกล่าวไม่ได้อยู่ในการนึกถึงสักเท่าไหร่ แต่ปัจจุบัน กลุ่มงานเหล่านี้ก็มีพื้นที่อยู่ได้ เพราะมีผู้อ่านสนใจงานประเภทประวัติศาสตร์มากขึ้น ซึ่งปรากฎการณ์ดังกล่าวเป็นทิศทางใหม่ของหลายๆ ประเทศ ทำให้เห็นว่าผู้อ่านปัจจุบันสนใจเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของตนเองและโลกความเป็นจริงมากขึ้น

เมื่อวรรณกรรมไทย ไม่สามารถตอบโจทย์ผู้อ่าน

หากสำรวจรายชื่อหนังสือที่ถูกแนะนำในโปรเจกต์ ‘ความน่าจะอ่าน’ แม้จะหลากหลาย แต่เห็นได้ว่าท่ามกลางความหลากหลายนั้น วรรณกรรมไทยติดในรายชื่อน้อยมาก วงสนทนาจึงขยับประเด็นมาพูดคุยประเด็นดังกล่าว เริ่มจากอธิคมเล่าว่าส่วนตัวแล้ว ตนอ่านหนังสือวรรณกรรมไทยไม่สนุก ก่อนเชื่อมโยงให้เห็นว่านักเขียนไทยรุ่นหลังๆ เขียนงาน 2 แบบ คืองานที่จงใจให้อ่านสนุก และงานที่ตั้งใจให้อ่านไม่รู้เรื่อง ไม่เหมือนนักเขียนไทยรุ่นก่อนหน้าอย่าง วัฒน์ วรรลยางกูร ที่ถูกสอนมาให้เขียนหนังสือสนุก กล่าวคือประเด็นการเล่าชัดเจนและรู้ความรู้สึกของผู้อ่าน การเขียนลักษณะนี้ทำให้ผู้อ่านไม่ทรมานมาก อีกทั้งผู้เขียนไม่ต้องวางตัวเป็นปัญญาชนตลอดเวลา

ด้านภาณุเล่าความทรงจำในวัยเรียนว่า “(สมัย) เราเป็นเด็ก ม.ปลาย เรารู้สึกว่าโลกมีอะไรที่มากกว่าห้องเรียน เราอยากจะเดินออกไปเห็นสิ่งที่มันมีคุณค่ากับชีวิตที่ซ่อนอยู่ แต่ก่อนเราเดินไปหาวรรณกรรม แต่ตอนนี้เราเดินไปหาหนังสือประวัติศาสตร์” พร้อมเพิ่มเติมว่าตนเคยไปร้านหนังสือแถวสยามและไปฟังเสวนา ทุกคนที่พูดและฟังในวงเสวนานั้นมีประกายตาแห่งความหวัง โดยเฉพาะวัยรุ่นที่พยายามเสาะแสวงหามิติอื่นๆ มากกว่าการศึกษาเพราะมองว่าเรามีคุณค่าอื่นในชีวิต ซึ่งปัจจุบันนี้ภาณุเห็นประกายในสายตานี้อีกครั้งกับวัยรุ่นที่นั่งอ่านหนังสือสำนักพิมพ์ ‘ฟ้าเดียวกัน’ เป็นสายตาแห่งการแสวงหาคำตอบของสังคม แต่ในวรรณกรรมไทยยังไม่มี


ภาณุ ตรัยเวช

สุธิดากล่าวต่อจากภาณุว่าท้ายที่สุดแล้ว การอ่านคือความพยายามทำความเข้าใจสังคมและโลกของผู้อ่าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสังคมในปัจจุบันที่ไม่มีเหตุผล ทำให้คนสนใจประวัติศาสตร์และการเมืองเพื่อเข้าใจและค้นหาคำอธิบายของสังคม หากเป็นการอ่านวรรณกรรม ผู้อ่านอาจจะอยากแสวงหาความจริงหรือตัวตนของผู้เขียน แต่วรรณกรรมไทยเรายังไม่เห็นได้ว่าผู้เขียนแสดงตัวตนในหนังสือไหม จึงอาจไม่สามารถตอบโจทย์ความอยากรู้ของผู้อ่าน

สุธิดาแสดงความเห็นว่า หากเราพูดอย่างเป็นธรรม วรรณกรรมไทยที่ไม่ติดในรายชื่อ ‘ความน่าจะอ่าน’ ในวันนี้ อาจไม่ใช่เพราะวรรณกรรมคุณภาพไม่ดี แต่บริบททางสังคมก็มีส่วนในการผลักหนังสือให้เข้าถึงสังคมไทย กล่าวคือสำนักพิมพ์สามารถเลือกหยิบวรรณกรรมแปลมาแปลเมื่อไหร่ก็ได้ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นจังหวะที่ตอบโจทย์สังคมและอยากจะแบ่งปันกับสังคม ทำให้งานแปลอาจโดนใจผู้อ่านมากกว่าวรรณกรรมไทย

แต่นักรบก็ได้ตั้งข้อสังเกตสั้นๆ ว่าสาเหตุที่วรรณกรรมไม่ติดในรายชื่อมากนัก อาจจะเป็นเพราะสัดส่วนจำนวนวรรณกรรมในปีที่แล้วน้อยลงหรือไม่ จนทำให้ตัวเลือกน้อย อีกทั้งวรรณกรรมไทยเองก็เริ่มจะข้ามประเภทของวรรณกรรม เช่นกลายเป็น creative non-fiction มากขึ้น เป็นต้น

‘ต้องเนรเทศ’ คุณค่าในหนังสือวัฒน์ วรรลยางกูร

ก่อนจะพูดคุยประเด็นเกี่ยวกับหนังสือเล่มนี้ หรือเรื่องของวัฒน์ วรรลยางกูร อธิคมออกตัวว่าตนอยากคุยบนข้อเท็จจริง ไม่สรรเสริญจนเกินกว่าความเป็นจริง เพราะอธิคมมองว่าปรากฎการณ์ของหนังสือ ‘ต้องเนรเทศ’ นั้นเป็นปรากฎการณ์ทางสังคม กล่าวคือคุณค่าของหนังสือเล่มนี้ไม่ได้เกิดจากการทำงานของหนังสือตามลำพัง แต่อาศัยสิ่งแวดล้อมอื่นเข้าไปประกอบด้วย ซึ่งอธิคมเรียกสิ่งแวดล้อมดังกล่าวว่า ‘เงื่อนไขพิเศษ’ ที่แม้บรรณาธิการของหนังสือเล่มนี้ก็คงทำงานบนเงื่อนไขพิเศษนี้กับนักเขียนอย่าง วัฒน์ วรรลยางกูร ทั้งวิธีการทำงานจนถึงความยาวของหนังสือที่พยายามจะบันทึกสิ่งที่ผู้เขียนปรารถนาจะบันทึกอย่างหมดจด


อธิคม คุณาวุฒิ

อธิคมกล่าวว่า หนังสือ ‘ต้องเนรเทศ’ เป็นเหมือนบันทึก เป็นเรื่องเล่าจากนักเขียนที่มีความสามารถในการเล่าเรื่อง ‘ต้องเนรเทศ’ จึงเป็นงานศิลปะชนิดหนึ่ง ที่เมื่ออ่านหนังสือเล่มนี้แล้วจะเปรียบได้กับการอ่านมหากาพย์ชีวิตคนคนหนึ่ง ทำให้เราได้เห็นชีวิต เงื่อนไขชีวิตของวัฒน์จนถึงชะตากรรมในช่วงบั้นปลาย ผู้อ่านจะได้เห็นภูมิหลังของนักเขียนคนหนึ่งว่าทำไมเขาจึงเลือกข้าง และเหตุใดเขาจึงมีปฎิกิริยากับความหน้าไหว้หลังหลอกของผู้มีอำนาจ จนส่งผลให้ช่วงชีวิตต่อมาของวัฒน์ต้องลี้ภัยจากประเทศบ้านเกิด สู่ประเทศเพื่อนบ้านและฝรั่งเศส

สุธิดาเห็นด้วยกับอธิคมว่าคุณค่าของหนังสือถูกใส่เข้าไปในบริบททางการเมือง เพราะ ‘ต้องเนรเทศ’ ต่างกับงานประวัติศาสตร์ทั่วไปที่เราไม่เห็นตัวตนและจักรวาลของใครคนหนึ่ง แต่หนังสือเล่มนี้ผู้อ่านจะได้เห็นตัวตนของวัฒน์ที่ทั้งกระทบและได้รับผลกระทบจากประวัติศาสตร์ในแต่ละช่วงเวลา

“ต่อให้คุณไม่ได้สนใจชีวิตคนๆ นี้ แต่สิ่งที่แวดล้อมเขามันเป็นสิ่งที่คุณก็อยู่ในนั้น” สุธิดากล่าวทิ้งท้ายสั้นๆ

ทิศทางของหนังสือและคนทำงานในวันที่สังคมไทยไม่แน่นอน

จากหนังสือ ‘ต้องเนรเทศ’ จะเห็นได้ว่าชีวิตของนักเขียนไทยนั้นได้รับผลกระทบจากอำนาจรัฐ สภาวะการเมืองและสังคมที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา จึงเกิดคำถามว่าสภาพการเมืองนั้นส่งผลกับผู้เขียนอย่างไร และผู้เขียนจะต้องปรับตัวอย่างไรเพื่อจะสร้างสรรค์ผลงานที่มีเนื้อหาเท่าทันสังคม

“คนทำงานศิลปะ มันอยู่ในบริบทแบบนี้ เรามองเห็นปัญหา ทำให้เราหยิบจับแทนที่เป็นพลังลบมาเป็นสิ่งสร้างสรรค์ ซึ่งสิ่งสร้างสรรค์เนี่ยแหละคือการติดอาวุธทางปัญญา”

นักรบในฐานะคนทำงานศิลปะได้เล่าย้อนไปยังวัยเยาว์ของตนว่า แต่ก่อนตนที่เป็นคนสนใจประวัติศาสตร์นั้นจะถูกกีดกันจากสังคม เป็นสิ่งแปลกปลอม แต่ปัจจุบันนี้กลายเป็นสิ่งที่มีค่ามากขึ้น ทำให้เห็นว่าจากวิกฤตสังคมไม่ได้เกิดขึ้นจากปัจจุบันหรืออนาคต แต่ล้วนตกทอดมาจากอดีต ทำให้ผู้อ่านกลับมาสนใจอดีตมากขึ้น


นักรบ มูลมานัส

ทั้งนี้ นักรบเสริมว่าปัญหาของสังคมสะท้อนกลับมายังคนทำงานศิลปะ และคนทำงานศิลปะเองก็สะท้อนกลับไปยังสังคม ทำให้ทุกวันนี้การทำงานยากขึ้น และก็เป็นโจทย์ที่ยากของสังคมเช่นเดียวกันว่าจะจัดการอดีต แก้ไขปัจจุบัน และเดินหน้าไปสู่อนาคตที่ดูมืดหม่นแต่ต้องมีความหวังนี้อย่างไร นักรบเชื่อว่าการอ่านเป็นสิ่งที่ช่วยได้เพราะการอ่านนั้นเสมือนการติดอาวุธทางปัญญาและความคิดของพวกเรา

ฟากฝั่งคนทำงานกับหนังสืออย่างอธิคม มองอนาคตของวงการน้ำหมึกไทยโดยยกคำอธิบายของ นิธิ เอียวศรีวงศ์ ชี้ให้เห็นว่าวงการหนังสือไทยระบบตลาดไม่ทำงาน สิ่งที่ทำงานคือระบบราชการ นักเขียนหลายคนจึงไม่กล้าปะทะกับระบบราชการอย่างตรงไปตรงมา

“เนื่องจากตลาดหนังสือของประเทศมันไม่ทำงานตามธรรมชาติของตลาด แต่มันทำงานด้วยกลไกพิเศษ เช่น เมื่อหนังสือได้รางวัล นอกเหนือจากมันจะเคยเป็นรางวัลนิยมของสังคม สิ่งที่ชี้วัดความนิยมคือยอดพิมพ์ ยอดขาย แต่มันก็ไม่ได้ดำเนินไปตามธรรมชาติของตลาด เพราะทันทีทีได้รับรางวัลขึ้นมา หนังสือจะถูกซื้อโดยกระทรวงศึกษาธิการเพื่อเอาเข้าห้องสมุดโรงเรียน มันจึงเป็นเหตุผลว่าทำไมนักเขียนไทยจึงอยากได้รางวัลนี้ ซึ่งมันทำให้นักเขียนไทยเชื่องและเป็นขบถแค่การแต่งตัว พอถึงเวลาจริงว่านอนสอนง่าย”

“ระบบราชการทำให้นักเขียนซอมซ่อมีโอกาสขึ้นเครื่องบินไปอบรมค่ารักการอ่าน รักมา 20 ปีก็ไม่เห็นอะไรดีขึ้น”

อธิคมมองว่า สภาวะผนวกตัวเองของนักเขียนกับระบบราชการนั้น นับเป็นความปลอดภัยของนักเขียนทั้งในมิติของเศรษฐกิจและสังคม ทำให้เราไม่เห็นใครออกมาร่วมเรียกร้องกับคนรุ่นใหม่ตั้งแต่ พ.ศ. 2563 เพราะทุกคนก็ทราบดีว่าระบบบนสุดของระบบราชการเป็นใคร นอกจากนี้ ยังมีกรณีอย่างวัฒน์ วรรลยางกูร ในฐานะนักเขียนคนหนึ่งของประเทศไทยที่แม้จะได้รับรางวัลศรีบูรพา แต่องค์กรที่เกี่ยวข้องกับคนทำงานเขียน ไม่ว่าจะเป็นสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย หรือสมาคมภาษาและหนังสือแห่งประเทศไทย ที่เป็นองค์กรคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของนักเขียน กลับไม่เคยแสดงท่าที จุดยืน หรือปกป้องนักเขียนในนามขององค์กร จนเมื่อวัฒน์ วรรลยางกูร เสียชีวิตกลับมาสรรเสริญ อธิคมมองว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำที่เลือดเย็นต่อนักเขียนอย่างวัฒน์ วรรลยางกูร อย่างมาก

ในฐานะนักเขียนเช่นกัน ภาณุยืนยันว่ามันเป็นไปไม่ได้หากเรามองเห็นสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมไทย แล้วนักเขียนไม่อยากเขียนงานขึ้นมาเพื่อต่อสู้กับมัน พร้อมตั้งความหวังว่าในอนาคตน่าจะมีนักเขียนที่แตกแถวออกมาจากระบบราชการ พวกเขาจะมองออกไปนอกหน้าต่าง เห็นสังคมว่าสังคมเรียกร้องอะไร คนรุ่นใหม่ทำอะไร คนกลุ่มนี้จะเป็นความหวังของสังคมไทย

นักรบทิ้งท้ายว่าเห็นด้วยกับภาณุ อีกทั้งเสริมว่าการขับเคลื่อนของคนทำงานรุ่นใหม่จะไม่เกิดขึ้นเฉพาะแวดวงการเขียน แต่เป็นทุกแวดวง แม้ตอนนี้ในหลายๆ ภาคส่วนพยายามสร้างความเปลี่ยนแปลง แต่ขั้นต่อไปของสังคมคือทุกคนต้องทำสิ่งนี้มากกว่าเดิมไปพร้อมๆ กันเพื่อสร้างให้เป็นมาตรฐานใหม่ — เพื่อส่งต่อความหวังให้ไม่มีวันมอดดับ

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save