fbpx

ความน่าจะอ่าน 2021 อ่านอะไรดีในปีแสนสาหัสยิ่งกว่า! : เมื่อมนุษย์อ่านเพื่อมีชีวิต

1

มีคำกล่าวที่ว่า มีอยู่ 3 เรื่องที่ไม่ควรไปรบกวนหากเห็นคนกำลังทำอยู่ คือ นอนหลับ มีเซ็กซ์ และอ่านหนังสือ

สองอย่างแรก เรามักไม่ค่อยเห็นในที่สาธารณะ จึงไม่ใช่เรื่องยากเท่าไรนักที่เราจะไม่เข้าไปยุ่มย่าม แต่กับการอ่านหนังสือเข้าถึงง่ายกว่านั้น เพราะเราเห็นคนทำสิ่งนี้ได้ตลอดเวลา ไม่ว่าจะอยู่บนเตียงตอนเที่ยงคืน หรือบนรถไฟตอนเที่ยงวัน 

โอเค ทุกเรื่องอาจมีข้อยกเว้น เพราะการผิดกฎนี้อาจทำให้เราได้เริ่มต้นความสัมพันธ์และเรียนรู้ความรัก อย่างที่เจสซีตัดสินใจเอ่ยประโยคแรกกับเซลีนว่า “Do you have any idea what they were arguing about?” ขณะที่พวกเขากำลังอ่านหนังสือบนรถไฟกันทั้งคู่ ใน Before Sunrise แต่ก็ใช่ว่าทุกคนจะได้ผลลัพธ์เดียวกัน

การอ่านมีความหมายขนาดไหน ทั้งที่ไม่ได้ส่งผลต่อชีวิตมนุษย์คนหนึ่งเท่าการนอนหลับและมีเซ็กซ์ – ถ้าสำหรับคนที่กำลังอ่านถึงตอนตัวละครกำลังเฉลยความลับ ก็คงตอบอย่างไม่ต้องคิดว่า มีความหมายแน่สิ และไม่ควรมีใครมากวนในจังหวะเข้าด้ายเข้าเข็มแบบนั้น แต่กับคนที่ไล่สายตาอ่านใบปลิวโฆษณาอย่างไม่ใคร่รู้นัก อาจบอกว่าการอ่านไม่ได้สำคัญขนาดนั้น

การอ่านอาจเป็นเรื่องไม่สลักสำคัญ แต่ที่แน่ๆ เราอ่านกันอยู่ตลอดเวลา ตั้งแต่อ่านป้ายหน้าลิฟต์ สติกเกอร์ท้ายรถยนต์ ส่วนผสมบนซองขนม ไปจนถึงอ่านหนังสือเป็นเล่ม 

อันที่จริง มนุษย์ไม่ได้อ่านแค่ตัวอักษร ในหนังสือเรื่อง โลกในมือนักอ่าน (A History of Reading) เขียนเอาไว้ว่า “การอ่านตัวอักษรบนหน้ากระดาษเป็นเพียงรูปแบบหนึ่งของการอ่านแบบอื่นอีกหลากหลาย นักดาราศาสตร์อ่านแผนที่ของดวงดาวซึ่งดับสูญไปแล้ว สถาปนิกญี่ปุ่นอ่านผืนดินที่จะใช้สร้างบ้านเพื่อปกป้องตัวบ้านจากอำนาจชั่วร้าย นักสัตววิทยาอ่านรอยเท้าสัตว์ในพงไพร เซียนไพ่อ่านท่าทางของฝ่ายตรงข้ามก่อนทิ้งไพ่ตาย…ชาวประมงฮาวายอ่านกระแสมหาสมุทรด้วยการจุ่มมือลงในน้ำ ชาวนาอ่านสภาพอากาศจากท้องฟ้า นักอ่านทั้งหมดนี้ รวมถึงนักอ่านหนังสือล้วนแต่เชี่ยวชาญการถอดความหมายและแปลสัญลักษณ์เหมือนกัน”

การอ่านอยู่กับเราโดยไม่รู้เนื้อรู้ตัว นับแต่วันที่มนุษย์รู้จักการประดิษฐ์ตัวอักษรขึ้นมา เราพัฒนาสัญลักษณ์และสร้างความหมายให้สิ่งเหล่านั้น อย่างที่อัลเบร์โต มังเกล เขียนไว้ในเล่มโลกในมือนักอ่านว่า “นักอ่านคือผู้มอบความหมายให้ระบบสัญลักษณ์สักระบบ จากนั้นก็ถอดความออกมา เราล้วนอ่านตัวเราเองและโลกรอบตัวเพื่อให้เห็นว่าเราคืออะไรและอยู่ที่ไหน เราอ่านเพื่อเข้าใจ หรือเพื่อเริ่มต้นทำความเข้าใจ เราไม่อาจทำอะไรอย่างอื่นได้นอกจากต้องอ่าน การอ่านเป็นกระบวนการที่สำคัญต่อเราแทบจะเท่ากับลมหายใจ”

สำหรับคนอ่านหนังสือ การอ่านคือการเข้าไปทำความรู้จักโลกอีกใบ และอย่างที่ทุกคนรู้ หนังสือแต่ละเล่มมีโลกของตัวเอง เราท่องเข้าไปในประวัติศาสตร์ยุคกรีก ร้องไห้ไปกับความทุกข์ของผู้อื่น หัวเราะไปกับมุกตลกของตัวละครที่เพิ่งทำความรู้จักเมื่อตอนพลิกหน้าแรก และเต็มตื้นไปกับความงามของเรื่องเมื่อปิดหน้าสุดท้ายลง 

เราอ่านเพื่อรู้และรู้สึก – รู้สึกรู้สาไปกับเรื่องราวของคนอื่น รู้จักความรู้ใหม่ๆ ที่เปิดกะโหลกให้เราไม่กลายเป็นคนคับแคบ คล้ายที่เวอร์จิเนีย วูล์ฟบอกว่า “เพราะความปรารถนาที่จะอ่านก็เป็นเช่นเดียวกับความปรารถนาอื่น ซึ่งให้ความสุขชั่วแล่นแก่จิตวิญญาณอันไร้สุขของเรา นั่นคือมีความสามารถในการวิเคราะห์”

การท่องไปในตัวหนังสือให้อำนาจกับเรา มีเพียงเรากับตัวอักษรที่ต่อสู้และขับเคลื่อนไปพร้อมกัน บางจังหวะเบื่อหน่าย บางจังหวะเร่งเร้า และบางจังหวะเราก็หยุดอ่าน 

การอ่านขับเคลื่อนมนุษย์มาเช่นนี้

2

หากการอ่านมีประวัติศาสตร์ ‘ความน่าจะอ่าน’ ก็มีประวัติศาสตร์เช่นกัน 

ความน่าจะอ่านดำเนินมาถึงปีที่ 5 แน่นอนว่าเรายังมีนายกรัฐมนตรีคนเดิม โดยที่นักประวัติศาสตร์อาจจะอยากเขียนประวัติศาสตร์บทใหม่ หรือนักรัฐศาสตร์อยากจะเขียนถึงประเด็นทางการเมืองใหม่ๆ แล้วก็ได้ แต่ก็อย่างที่รู้ นี่เป็นเรื่องที่หลายคนกำลังต่อสู้กันอยู่

ในสองครั้งแรกของกิจกรรมความน่าจะอ่าน เราวางคอนเซ็ปต์ไว้ว่า นี่คือการแนะนำหนังสือที่ ‘เอาแต่ใจ’ ที่สุด จากการคัดเลือกของ 5 บรรณาธิการและนักอ่าน

ครั้งที่สาม เราขยายขอบเขตการเลือกหนังสือให้อยู่ในมือคนจำนวนมากขึ้น โดยชวนเจ้าของสำนักพิมพ์ บรรณาธิการ ร้านหนังสือ และนักวาดภาพประกอบ กว่า 50 คน มาร่วมเลือกหนังสือ 3 เล่มที่คิดว่าน่าอ่านที่สุดในปี 2019 ในครั้งนั้นเรามีสโลแกนว่า ‘การแนะนำหนังสือที่เป็นประชาธิปไตย…กว่าการเลือกนายก!’ และหนังสือที่คนเลือกกันมากที่สุดคือเรื่อง ‘มันทำร้ายเราได้แค่นี้แหละ’ บันทึกชีวิตในเรือนจำของภรณ์ทิพย์ มั่นคง ผู้โดนจำกัดอิสรภาพเพียงเพราะเล่นละครเวที

มาถึงครั้งที่สี่ ในปีที่แล้ว เราเลี่ยงที่จะใช้คำว่า ‘การแนะนำหนังสือที่เป็นประชาธิปไตย…กว่าครั้งที่แล้ว’ เพราะมุกซ้ำนั่นหนึ่ง แต่อีกเหตุผลคือประเทศไทยยังห่างไกลจากคำว่าประชาธิปไตย และคนในสังคมก็กำลังเผชิญกับทั้งวิกฤตการเมือง การลิดรอนสิทธิเสรีภาพ และการเข้ามาของโรคระบาด จึงทำให้เราเลือกใช้ธีม ‘อ่านอะไรดีในปีแสนสาหัส’ โดยหนังสือที่คนเลือกกันมากที่สุดคือเรื่อง ตาสว่าง กราฟิกโนเวลของ Claudio Sopranzetti, Sara Fabbri และ Chiara Natalucci ที่เล่าชีวิตของคนต่างจังหวัดที่เข้ามาทำงานในกรุงเทพฯ และร่วมประท้วงกับคนเสื้อแดงในปี 2553 ก่อนจะเรียนรู้บทเรียนครั้งสำคัญในชีวิต หรือที่เรียกว่า ‘ตาสว่าง’ และในปีนี้เรายังเพิ่มรางวัล ‘ความน่าจะอ่านขวัญใจมหาชน’ ให้นักอ่านร่วมเลือกหนังสือที่คิดว่าน่าอ่านที่สุดแห่งปี โดยเล่มที่ได้รับรางวัลขวัญใจมหาชน คือ การศึกษาของกระป๋องมีฝัน ผลงานการ์ตูนสะท้อนการศึกษาไทยของสะอาด

ถ้าเราคิดว่าปี 2020 นั้นสาหัสแล้ว ปี 2021 ที่จุดบุหรี่รอซ้ำเติมคงยิ้มเยาะแล้วบอกเราว่า ที่เจอมานั่นยังไม่ใช่ของจริง เพราะดูเหมือนว่าความสาหัสจะไม่ได้จางหายไปไหน แต่ยิ่งทวีคูณความโหดร้ายขึ้นซ้ำๆ ทั้งจากสภาพเศรษฐกิจที่ถดถอย เพราะมาตรการล็อกดาวน์ของรัฐ จนทำให้ร้านค้าและผู้คนจำนวนมากต้องสูญเสียงานของตัวเอง ทั้งตัวเลขผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตจากโควิดเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในขณะที่ตัวเลขการฉีดวัคซีนขยับไปอย่างเชื่องช้า ยังไม่นับการจับกุมผู้เคลื่อนไหวทางการเมือง และการทำร้ายผู้ชุมนุมจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ ที่ทำให้สังคมตั้งคำถามถึงหลักสิทธิมนุษยชนที่ถอยหลังในประเทศไทย

เราเผชิญและ ‘อ่าน’ เรื่องราวเหล่านี้กันอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน บางคนถึงกับเปรียบเทียบว่า “เหมือนการซ้อมตกนรก” นั่นจึงทำให้เราเลือกที่จะตั้งคอนเซ็ปต์ของปีนี้ไว้ว่า ‘อ่านอะไรในปีแสนสาหัสยิ่งกว่า!’ 

เพราะว่าคำว่า ‘ยิ่งกว่า’ ไม่ใช่เรื่องเกินเลย หากมองจากสภาวการณ์ที่เรากำลังเผชิญในตอนนี้

ในความน่าจะอ่าน 2021 นี้ เรายังชวนเหล่าบรรณาธิการ ร้านหนังสือ และนักวาดภาพประกอบกว่า 60 ชีวิต มาเลือกหนังสือที่คิดว่า ‘น่าอ่าน’ ที่สุด จนได้หนังสือกว่า 130 เล่ม หลากหลายทั้งวรรณกรรม ประวัติศาสตร์ การเมือง และการ์ตูน หลายเล่มช่วยต่อจิกซอว์ให้เราเข้าใจภาพใหญ่ของสังคมมากขึ้น หลายเล่มช่วยให้เราเห็นแก่นของปัญหา และอีกหลายเล่มก็ช่วยปลอบประโลมหัวใจเราในวันที่เหนื่อยล้า 

ในปีที่หนักหนาสาหัสเช่นนี้ แม้การอ่านหนังสือจะโอบกอดเราหรือไม่ก็ตาม แต่มนุษย์ยังอ่านและเขียนประวัติศาสตร์ของตัวเองไม่เคยหยุด

ติดตามกิจกรรมความน่าจะอ่านได้ตลอดเดือนกันยายน 2564 ทางเว็บไซต์ The101.world

รู้จัก ‘ความน่าจะอ่าน’ มากขึ้นได้ที่นี่

ความน่าจะอ่านขวัญใจมหาชน ปี 2021

กลับมาอีกครั้งกับการชวนร่วมโหวตรางวัล ‘ความน่าจะอ่าน ขวัญใจมหาชน’ ประจำปี 2021

รักชอบเล่มไหน อยากให้เพื่อนอ่านเล่มไหน คิดว่าสังคมตอนนี้ควรอ่านอะไร หรืออ่านแล้วชอบมาก เก็บไว้คนเดียวไม่ไหว ร่วมโหวตกับทาง The101.world ในกิจกรรม ‘ความน่าจะอ่าน 2021 – อ่านอะไรดีในปีแสนสาหัสยิ่งกว่า!’ 

กติกา

1. โหวตหนังสือที่คุณคิดว่า ‘น่าอ่าน’ ที่สุดแห่งปี จำนวน 1 เล่ม (โหวตได้ที่: https://bit.ly/popularvote2021) เป็นหนังสือที่จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ของไทย ตีพิมพ์ภายในปี 2020-2021 เป็นฉบับพิมพ์ซ้ำก็ได้ และไม่จำกัดประเภทหนังสือ

2. เขียนเหตุผลสั้นๆ ว่าทำไมจึงเลือกหนังสือเล่มนี้ และร่วมเสนอไอเดีย #หนังสือมีไว้ทำไม (ไว้ปลอบประโลมหรือไว้ใช้เป็นอาวุธ ฯลฯ แล้วแต่ใจปรารถนา) – ถ้าเขียนดี เขียนเฉียบ ถูกใจทีมงาน จะได้รับรางวัลเป็นเซ็ตหนังสือ Top Highlights จากการลงคะแนนของสำนักพิมพ์และนักอ่านจำนวน 1 ชุด (จำกัด 1รางวัล)

โหวตได้ถึงวันที่ 20 กันยายน 2564

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save