fbpx

ความน่าจะอ่าน 2018-2019 : Final Round งานเสวนาส่งท้าย จนกว่าจะพบกันอีกครั้ง

ศุภาวรรณ คงสุวรรณ์ เรื่อง

ธิติ มีแต้ม ภาพ

 

หลังจากลิสต์หนังสือจากการคัดเลือกของบรรณาธิการ นักเขียน และนักอ่านในวงการหนังสือ ได้ถูกปล่อยออกไปจนครบ โปรเจ็กต์ #ความน่าจะอ่าน 2018-2019 ก็ส่งท้ายผู้อ่านด้วยงานเสวนา ‘ความน่าจะอ่าน 2018-2019 : Final Round’ วงเสวนาที่เจาะลึกลิสต์หนังสือแห่งปี และถกกันถึงอนาคตแวดวงนักอ่านนักเขียนไทย

งานเสวนาจัดขึ้นเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน ณ ร้านหนังสือ Open House ชั้น 6 Central Embassy โดยมีวิทยากร 4 คนจากแวดวงหนังสือร่วมแลกเปลี่ยนเรื่องราว ทั้งสิ่งที่สะท้อนผ่านลิสต์หนังสือ ภาพรวมของแวดวงหนังสือในปัจจุบัน ไปจนถึงรีวิวหนังสือใน Finalists แบบถึงอกถึงใจ วิทยากรทั้ง 4 ประกอบด้วย วรพจน์ พันธุ์พงศ์ นักเขียน นักสัมภาษณ์ เจ้าของสำนักพิมพ์บางลำพู อรรถ บุนนาค บรรณาธิการบริหาร สำนักพิมพ์ J-Lit สฤณี อาชวานันทกุล นักเขียน นักแปล ผู้ร่วมก่อตั้งสำนักพิมพ์ Salt Publishing และ อนุรุจน์ วรรณพิณ (โจ้ Readery) ผู้ร่วมก่อตั้งร้านหนังสือออนไลน์ Readery

101 ถอดความจากวงเสวนาครั้งนี้ เพื่อให้ผู้อ่าน ได้อ่านความรู้สึก ความคิดเห็น ความเป็นไปของวงการหนังสือไทย และส่งท้ายความน่าจะอ่านในปีนี้ไปพร้อมๆ กัน จนกว่าจะพบกันอีกครั้ง

 

 

 

ลิสต์ของความหลากหลาย

 

ความน่าจะอ่านครั้งนี้ มีหนังสือที่ถูกแนะนำถึง 116 เล่ม แม้บางเล่มจะถูกแนะนำซ้ำกัน และบางเล่มจะกลายเป็น Top List ที่ได้รับเลือกมากที่สุด แต่หากพิจารณาหนังสือทั้งหมดแล้ว คุณจะพบว่ามีตั้งแต่หนังสือนิยายไปจนถึงหนังสือวิชาการ ความหลากหลายครั้งนี้กลายเป็นประเด็นสำคัญที่วิทยากรเห็นพ้องต้องกัน แต่ละคนเลือกหยิบจับประเด็นที่เห็นจากความหลากหลายขึ้นมา เพื่อสะท้อนภาพรวมของวงการหนังสือ และพฤติกรรมการอ่านของผู้คนในปี 2018-2019 ไว้อย่างน่าสนใจ

อนุรุจน์ เปิดประเด็นถึงลิสต์หนังสือความน่าจะอ่านไว้ว่า เป็นลิสต์ที่ไม่เหมือนในประเทศอื่นๆ เช่น อังกฤษ หรืออเมริกา เนื่องมาจากสภาพสังคมไทยในปัจจุบัน “เห็นได้ชัดเลยว่าในลิสต์ยังมีหนังสือกลุ่มปรัชญา กลุ่มประชาธิปไตย หนังสือที่พูดถึงความกดดัน หรือเรื่องของประชาชนชั้นล่างอยู่เต็มไปหมด มันสะท้อนว่าพวกเราให้ความสนใจ และยังต้องเรียนรู้เรื่องเหล่านี้อยู่”

ด้านสฤณีและอรรถ ตั้งข้อสังเกตถึงความหลากหลายของลิสต์หนังสือ โดยให้เหตุผลไว้แตกต่างกัน

“บางคนอาจจะแนะนำหนังสือที่เขาชอบจริงๆ บางคนอาจจะคิดว่าในสถานการณ์แบบนี้ เขาอยากให้คนอ่านอะไร หนังสือที่ถูกเลือกเลยออกมาหลากหลาย ทั้งในเรื่องของรูปแบบ ธีม หรือที่มาที่ไป” สฤณีกล่าว

ฃณะที่อรรถคิดว่าความหลากหลายของลิสต์ สืบเนื่องมาจากภาพรวมของตลาดสื่อ รวมไปถึงวงการหนังสือในปัจจุบัน ที่กลายเป็นตลาดเฉพาะทางมากขึ้นตามความชอบที่หลากหลายของผู้คน

“ยุคสมัยนี้ เป็นยุคที่ความชอบระหว่างปัจเจกบุคคลมันกว้างขวางมาก แม้แต่งานอดิเรก ก็เป็น niche market วงการสิ่งพิมพ์เองก็จะอยู่รอดได้ในตลาดที่มีกลุ่มแฟนคลับชัดเจน ยุคสมัยที่สำนักพิมพ์จะขายหนังสือ mass ขาย best sellers ได้ทีละหลายๆ เล่ม คงจะค่อยๆ หมดไป ไม่ใช่เพราะคนอ่านหนังสือน้อยลงหรือสิ่งพิมพ์ตายแล้ว แต่เป็นเพราะคนเริ่มมีความเป็นปัจเจก รู้ว่าตัวเองชอบอะไร และหาทางที่จะไปรวมตัวกัน เกิดเป็นแฟนด้อม หรือคอมมูนิตี้ที่คุยกันรู้เรื่อง”

 

อรรถ บุนนาค บรรณาธิการบริหาร สำนักพิมพ์ J-Lit

 

ในลิสต์ความน่าจะอ่าน ประเภทของหนังสือที่น่าจับตา และถูกเลือกมาเป็นจำนวนไม่น้อยคือกลุ่ม non-fiction ที่เกี่ยวกับการเมือง ประชาธิปไตย ประวัติศาสตร์ สังคมศาสตร์ ซึ่งอรรถได้แชร์ข้อสังเกตถึงพฤติกรรมของคนอ่าน จากการขายหนังสือในงานสัปดาห์หนังสือว่า หนังสือประเภทนี้ได้รับความนิยมกับผู้อ่านที่เป็นวัยรุ่นมากขึ้น ขณะที่กลุ่มคนอ่านใน Generation X กลับไม่สนใจหนังสือประเภทนี้

“ในงานหนังสือ มีเด็กสะพายเป้ หัวเกรียน มายืนซื้อหนังสือในบูธสังคมศาสตร์เยอะมาก ขณะที่คน Gen-X อ่านหนังสือน้อยมากถึงน้อยที่สุด สังเกตได้จากเวลาพ่อแม่พาลูกมาซื้อหนังสือ ความรู้ของพ่อแม่ในเรื่องหนังสือจะน้อยมาก

“เราเคยขายหนังสือให้เด็กโรงเรียนสตรีล้วน น่าจะอยู่สักก็ ม.4 น้องมาซื้อหนังสือโลลิต้า (เขียนโดย วลาดีมีร์ นาโบคอฟ) และพาแม่มาจ่ายสตางค์ด้วย เรารีบถามคุณแม่ก่อนเลยว่า โอเคหรือเปล่าครับที่จะให้น้องอ่านหนังสือเล่มนี้ คุณแม่เขาก็สงสัย ไม่รู้ว่าหนังสือเล่มนี้คืออะไร ขณะเดียวกันลูกสาวที่ยืนอยู่ข้างหลังก็ส่งสายตามาหาเราว่า ‘พี่ อย่าบอกแม่นะ หนูอยากอ่านเล่มนี้มาก’ เราเลยทดสอบน้องโดยการถามว่าหนังสือเล่มนี้เป็นยังไง ปรากฏว่าเขาสามารถตอบได้หมดเลย ว่าโลลิต้า เป็นหนังสืออะไร ใครเขียน อ่านรีวิวมาด้วย ความน่าสนใจคือ เด็กยุคหลังรู้จักและได้อ่านหนังสือที่หลากหลาย แตกต่างจาก คน Gen-X ที่เติบโตมาในยุคโทรทัศน์รุ่งเรือง และมักจะเสพละครหรือรายการโทรทัศน์มากกว่า”

สฤณีกล่าวว่า ในปัจจุบันมีหนังสือเชิงสารคดี non-fiction จำนวนมากที่ใช้วิธีการเขียนแบบ fiction เพื่อดึงดูดความสนใจ ทำให้คนอ่านเปิดรับหนังสือวิชาการมากขึ้น

“ในอนาคต เราอาจจะไม่จำเป็นต้องแบ่งแล้วก็ได้ว่า อะไรเป็นเรื่องแต่ง อะไรเป็นสารคดี ส่วนตัวรู้สึกว่าทิศทางการเขียนแบบนี้น่าสนใจ เพราะมีลีลาการเขียนที่เหมือนการแต่ง มากกว่าการใช้ fact based เราจะเห็นสารคดีเชิงวิชาการ ที่เอางานวิจัยมาปรับเยอะขึ้น ทำให้เห็นว่า มีงานวิจัยสนุกๆ อีกเยอะ หรือแม้แต่หนังสือที่เป็นเรื่องแต่งก็เริ่มใช้งานวิจัยมาร่วมเรียบเรียงด้วย ทั้งในสาขาประวัติศาสตร์ มนุษยศาสตร์ หรือวิทยาศาสตร์ แนวทางแบบนี้ถือเป็นการเปิดพรมแดนให้คนอ่าน”

หนังสืออีกประเภทที่ถูกเสนอเข้ามาไม่น้อยในลิสต์ความน่าจะอ่าน คือวรรณกรรมญี่ปุ่น ไม่ว่าจะเป็นวรรณกรรมร่วมสมัย ย้อนยุค  หรือแนวอื่นๆ ในฐาะนะบรรณาธิการสำนักพิมพ์ที่ตีพิมพ์วรรณกรรมญี่ปุ่น อรรถ แชร์ว่า กระแสความนิยมวรรณกรรมญี่ปุ่นมีมานานมากแล้ว ความนิยมยุคแรกๆ เกิดขึ้นประมาณปี 1970 ช่วง 14 ตุลา – 6ตุลา ที่วรรณกรรมชนชั้นกรรมาชีพได้รับความนิยม ไปพร้อมๆ กับการที่ภาษาญี่ปุ่นถูกบรรจุเป็นวิชาเอกในมหาวิทยาลัย ในเวลาต่อมาสำนักพิมพ์ผีเสื้อก็ได้พิมพ์หนังสือเรื่อง โต๊ะโตะจัง เด็กหญิงข้างหน้าต่าง จนได้รับความนิยม กลายเป็นวรรณกรรมเยาวชนที่คนคิดว่าเด็กต้องอ่านก่อนโตเป็นผู้ใหญ่ ถัดมาถึงยุคที่สำนักพิมพ์ J Book เริ่มพิมพ์นิยายแนวสืบสวนของญี่ปุ่น กลายเป็นยุคที่อรรถเรียกว่า ‘วรรณกรรมตลาด’

“วรรณกรรมตลาดคือ อ่านง่าย ย่อยง่าย ใครๆ ก็เคยอ่าน ยุคนั้นหนังสือที่ J Book พิมพ์แล้วดังมาก คือซีรี่ส์คิน (คินดะอิจิ ยอดนักสืบ) ขายได้หลายหมื่นเล่ม” อรรถกล่าวเสริม

วรรณกรรมญี่ปุ่นเฟื่องฟูอีกครั้งในยุคของ Haruki Murakami ตีพิมพ์โดยสำนักพิมพ์กำมะหยี่ เป็นยุคที่วรรณกรรมญี่ปุ่นมีความร่วมสมัย เข้าถึงสากลและวัยรุ่นจำนวนมาก และในปัจจุบัน วรรณกรรมญี่ปุ่นที่ได้รับความนิยมในไทย ก็มีทั้งนิยายแบบ light novel ไปจนถึงวรรณกรรมคลาสสิก

“ปกติกลุ่มผู้อ่านของเราจะเป็นกลุ่มที่อ่าน Murakami หรือวรรณกรรมสร้างสรรค์ แต่ปรากฏว่าตอนนี้เด็กๆ มัธยม หันมาอ่านวรรณกรรมคลาสสิกเยอะขึ้น กระทั่งมาว่าสำนักพิมพ์เราว่า ทำไมปกมันเชยขนาดนี้ จนเราต้องเอาใจน้องๆ แฟนคลับ ทำวรรณกรรมคลาสสิกให้เป็นปกเป็นอนิเมะ มังงะ” อรรถกล่าว

นอกเหนือจากวรรณกรรมญี่ปุ่นแล้ว ปัจจุบัน ตลาดหนังสือเล็กๆ ในไทยที่กำลังก่อตัว และได้รับความสนใจขึ้นเรื่อยๆ คือ บทกวี ในลิสต์ความน่าจะอ่านเองก็มีหนังสือบทกวีติดเข้ามาจำนวนหนึ่ง วรพจน์ ได้อธิบายความหมายของบทกวีไว้ว่า

“กวีคล้ายๆ เบียร์ครับ ถ้าแสงแดดจ้ามาก บทกวีคือน้ำที่มาชโลมให้มันฉ่ำ ถ้ามันขุ่นมาก บทกวีจะมาทำให้ชัด ถ้าเราอยู่กับความจริงมาก บทกวีจะช่วยเพิ่มมิติ เพิ่มอาณาเขตความรู้สึกของมนุษย์ให้กว้างขึ้น”

เมื่อถูกถามว่า แล้วบทกวียังจำเป็นอยู่ไหม วรพจน์ตอบทันทีว่า “เบียร์จำเป็นไหมล่ะครับ ดอกไม้ ความรัก จำเป็นไหมล่ะครับ บทกวีก็เฉกเช่นเดียวกัน”

วรพจน์เล่าว่าการทำงานกับบทกวี อาจเป็นการงานที่ได้ค่าตอบแทนน้อย และเป็นที่นิยมในตลาดกลุ่มเฉพาะทาง ดังนั้น สิ่งหนึ่งที่คนในวงการกวีทำ เพื่อเปิดพื้นที่ให้กับศิลปะหรือหนังสือประเภทนี้ คือการสร้างเวที และสร้างการรวมกลุ่ม เช่น การจัดงานบทกวี Nan Poesie ของวรพจน์ ท่ามกลางสภาวะแวดล้อมที่ถูกปิดปากปิดเสียง และไร้การสนับสนุน

“ในเมื่อเราพอมีเรี่ยวแรงเล็กๆ น้อยๆ ก็เลยทำขึ้นมา เวลาหนังสือมันน้อย เวทีต่างๆ ก็น้อย ถ้าเปรียบเทียบว่าเราชอบเล่นฟุตบอล แต่ไม่มีสนามให้เล่น มันก็ไม่มีนักบอลใหม่ๆ ไม่มีแฟนบอลใหม่ๆ นักบอลแต่ละทีมก็ไม่ได้เจอกัน คนมีสตางค์และอำนาจเขาไม่ทำหรอกสนามฟุตบอล นอกจากจะไม่ทำเขายังเอาโซ่ล่ามขานักฟุตบอลไว้ด้วย ไม่ให้เล่น ไม่ให้พูด”

 

วรพจน์ พันธุ์พงศ์ นักเขียน นักสัมภาษณ์ เจ้าของสำนักพิมพ์บางลำพู

 

ลิสต์หนังสือในยุคออนไลน์

 

เมื่อโลกเราหมุนด้วยอินเทอร์เน็ต หลายคนอาจรู้สึกว่าคนอ่านหนังสือน้อยลง เพราะอินเทอร์เน็ตช่วยให้ข้อมูลจำนวนมากพุ่งเข้าหาเราอย่างรวดเร็วเพียงแค่ปลายนิ้วปัด สะดวก ง่าย เร็ว จนหลายคนถามหาความจำเป็นของหนังสือ

สฤณีแสดงความเห็นถึงประเด็นนี้ว่า ข้อมูลจากอินเทอร์เน็ตนั้นเป็นข้อมูลกระจัดกระจาย และต้องอาศัยความคิดไตร่ตรองในการเชื่อถือ มีลักษณะเหมือนป่าดงดิบ ที่มีต้นไม้หลากหลายให้หยิบเลือก ซึ่งลักษณะเหล่านี้อาจทำให้หนังสือยังมีบทบาทและจำเป็นสำหรับผู้คน

“เวลาเสิร์ชกูเกิ้ลแล้วเจอเว็บที่ขึ้นมาเว็บแรก เราต้องคิดนะว่า เราควรจะกดเข้าไปอ่าน เพราะมันอยู่เว็บแรกจริงๆ หรือมันอยู่เว็บแรกเพราะกูเกิลอยากให้เรากดเข้าไปอ่าน เพราะเขาเสียค่าโฆษณา หรืออย่างเพจเฟซบุ๊ก แต่ละเพจจะตีความเรื่องราวเดียวกันในทิศทางต่างกัน จนบางครั้งรู้สึกเหมือนอยู่คนละโลก แปลว่าโลกออนไลน์ที่เราเคยคิดว่ามันคือแหล่งความรู้ มันไม่ใช่แหล่งความรู้ที่สำเร็จรูป การที่เราจะตัดสินใจว่าอะไรใช่หรือไม่ใช่ ยังต้องอาศัยการประมวลผลของเราอยู่ดี ต้องคิดต่อว่าเราจะคิดกับเรื่องราวต่างๆ อย่างไร การเป็นป่าดงดิบเช่นนี้ อาจทำให้คนหันกลับมาสนใจหนังสือก็ได้

สฤณีเสริมว่า หนังสือเป็นสื่อที่ไม่ได้อยู่ในฐานะที่จะเผยแพร่เนื้อหาออกไปอย่างสะเปะสะปะ เพราะกระบวนการทำหนังสือ ใช้การเรียบเรียงความคิดอย่างเป็นระเบียบ “หนังสือทำให้เราสามารถตั้งคำถาม อาจจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยก็ได้ โดยไม่ถูกอะไรขัดขวางการใช้ความคิด ไม่จำเป็นต้องพูดถึงหนังสือเป็นตัวเล่มก็ได้นะ อย่างใน Kindle ก็มีการจัดระบบความคิดเหมือนกัน จริงๆ จะเรียกว่า หนังสือเป็นอาหารสมอง ก็ยังถูกต้องอยู่ อย่างโลกออนไลน์ ยิ่งคนใช้มากๆ ไม่ได้แปลว่าหนังสือจะตาย”

 

สฤณี อาชวานันทกุล นักเขียน นักแปล ผู้ร่วมก่อตั้งสำนักพิมพ์ Salt Publishing

 

แม้ความเป็นออนไลน์จะไม่ได้ทำให้หนังสือตายไป แต่ก็ทำให้เกิดการปรับรูปแบบมากมาย อนุรุจน์เล่าว่า นอกจากเขาจะเป็นคนขายหนังสือออนไลน์แล้ว เขายังเป็นนักอ่านตัวยงที่ซื้อหนังสืออย่างบ้าคลั่ง และเขาพบว่าในปัจจุบัน หนังสือเพียงเรื่องเดียว ทำให้คนที่รักการอ่านอย่างเขาต้องซื้อมากกว่าหนึ่งเล่ม หรือหนึ่งรูปแบบ

“สมมติว่ามีหนังสือแปลออกมาสักเล่ม ปกดีไซน์สวยมาก แต่ว่าเวลาอยู่ในรถไฟฟ้า เราไม่ได้พกสิ่งนี้ในมือ แต่อยากจะมีอะไรอ่านระหว่างที่นั่งรอ ก็ต้องซื้อ e-book มาอ่าน ก่อนนอน จากที่เคยอ่าน e-book แต่พอปิดไฟแล้วอ่านไม่ได้ ก็ต้องซื้อ audio book แยกอีก ซึ่ง audio book มันคือการฟัง ไม่ใช่การอ่าน แต่มันกลับทำให้เราอ่านหนังสือจบเป็นเล่มๆ คำถามคือ การฟังคือสิ่งเดียวกับการอ่านไหม อ่านแบบฟังคืออะไร เราว่าการเริ่มข้ามมีเดียกันเป็นสิ่งใหม่ที่น่าสนใจมากๆ”

“เช่นบทกวีเดี๋ยวนี้ มีทั้งรูปถ่ายสวยๆ และข้อความประโยคสองประโยค แล้วหนังสือเล่มนี้จะเรียกว่าเป็นบทกวีหรือหนังสือภาพถ่ายดี คำตอบคือ มันแยกไม่ได้ มันคือการข้ามมีเดียกัน” อนุรุจน์กล่าว

 

อนุรุจน์ วรรณพิณ (โจ้ Readery) ผู้ร่วมก่อตั้งร้านหนังสือออนไลน์ Readery

 

ในประเด็นเดียวกันนี้ อรรถได้ยกตัวอย่างกระแสการข้ามรูปแบบสื่อในญี่ปุ่นว่า หนังสือมังงะบางเล่มมีของแถมเป็นซีดีแผ่นเล็กๆ ที่ยกเนื้อหาบางตอนมาทำเป็น audio book อ่านโดยนักพากย์ชื่อดัง คล้ายละครวิทยุ หรือแม้แต่อนิเมะในเว็บไซต์ออนไลน์ ก็มีภาพเคลื่อนไหวของบทอัศจรรย์ประกอบอยู่ด้วย

ด้านสฤณีซึ่งเป็นนักอ่านที่มักจะซื้อหนังสือหลายรูปแบบ แชร์ประสบการณ์ของตัวเองว่า การจราจรที่ติดขัดในกรุงเทพฯ ทำให้หนังสือที่เธออ่านจบ กลายเป็นหนังสือแบบ audio book โดยมักเลือกหนังสือที่ฟังง่าย เน้นความบันเทิง หรือเป็นข้อมูลที่ย่อยง่าย “หนังสือที่ฟัง เรารู้อยู่แล้วว่าเราไม่ต้องใช้อ้างอิง หนังสือบางเล่มที่ต้องใช้อ้างอิง หรือใช้ในการวิจัย เราไม่สามารถตั้งใจฟังได้ ก็ใช้อ่านเอา เพราะไม่สามารถ bookmark  หรือ pause ได้ ส่วนหนังสือที่เราฟัง จะฟังเพื่อความบันเทิง หรืออาจเป็นหนังสือ non-fiction เนื้อหาจับกระแสโลกแบบเร็วๆ แต่แน่นอน บางเล่มฟังจบแล้วก็ยังไปเสียสตางค์ซื้อเป็นเล่มอยู่ดี”

 

บทส่งท้าย เจาะลิสต์หนังสือแห่งปี

 

ในงานเสวนาครั้งนี้ วิทยากรทั้งสี่ได้หยิบยกหนังสือจากลิสต์ความน่าจะอ่านบางเล่มมาพูดถึงด้วยความประทับใจ สนใจ หรือกับบางเล่มก็กล่าวถึงด้วยความคับแค้นใจ

ในฐานะนักสัมภาษณ์ วรพจน์ได้เลือกหนังสือเรื่อง Between Hello and Goodbye เขียนโดย จิรเดช โอภาสพันธ์วงศ์ โดยแสดงความเห็นว่างานประเภทบทสัมภาษณ์เช่นหนังสือเล่มนี้ เป็นงานแขนงสำคัญ แต่ในชั้นหนังสือตามร้านหนังสือไทยกลับมีงานประเภทนี้น้อยมาก

“ผมทำอาชีพนี้ ผมเห็นความหมายและความสำคัญของมัน เลยอยากเชียร์คนที่ทำมาสักพักแล้ว หรือคนที่เอาจริงเอาจังจนเริ่มแข็งแรงขึ้นมา ถ้าคนได้เห็น และสนใจงานประเภทนี้มากขึ้น แผงหนังสือก็จะมีอะไรใหม่ๆ”

หนังสืออีกประเภทที่วรพจน์เลือกคือหนังสือสารคดี ประเทศเทา ของ ธิติ มีแต้ม

“เลือกเล่มนี้มาเพราะเป็นสารคดีสายเข้มข้น ทำหน้าที่รวบรวมบาดแผลของโลกในเวลาสิบปีไว้ในหนังสือ ส่วนตัวผมคิดว่าเราจะรู้จักปัจจุบันและจะเดินไปในอนาคตไม่ได้เลย ถ้าเราไม่ได้ปะทะและจ้องมองบาดแผลที่เกิดขึ้นในสังคม” วรพจน์กล่าว

ด้านอรรถได้แนะนำหนังสือด้วยน้ำเสียงประชดประชันว่า “ในฐานะที่เราอยู่ในสังคมชนชั้น สังคม Hierarchy สังคมพวกพ้อง ผมจะขอใช้สิทธิความเป็นสังคมแบบนี้ แนะนำหนังสือของเพื่อน คือ เรื่องเล่าของสาวรับใช้ The Handmaid’s Tale (เขียนโดย Margaret Atwood แปลโดย จุฑามาศ แอนเนียน) และเรื่อง รักของคนเขลา (เขียนโดย Jun’ichirō Tanizaki แปลโดย พรพิรุณ กิจสมเจตน์) จากสำนักพิมพ์ของผมเอง”

อีกเล่มที่อรรถได้พูดทิ้งท้ายไว้ คือหนังสือเรื่อง ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์: วิวัฒนาการรัฐไทย ที่เขียนโดย กุลลดา เกษบุญชู มี้ด และแปลโดย อาทิตย์ เจียมรัตตัญญู โดยเขาแนะนำหนังสือเล่มนี้ให้กับคนอ่านที่เป็นอนุรักษนิยมโดยเฉพาะ  “Conservative ทั้งหลาย กรุณาอ่าน จะได้เป็น conservative ที่เถียงกับ liberal อย่างมีเหตุผลบ้าง” อรรถกล่าวด้วยรอยยิ้ม จนเรียกเสียงหัวเราะจากผู้ฟัง

ด้านสฤณี ได้แนะนำหนังสือที่เธอกล่าวไว้ว่า ‘รักมาก’ จากสำนักพิมพ์ Salt Publishing ของเธอเอง ได้แก่เรื่อง สวนสัตว์กระดาษ ที่เขียนโดย Ken Liu แปลโดย ลมตะวัน หนังสือรวมเรื่องสั้นแนว ไซไฟ แฟนตาซี

“เราเลือกแนะนำนักเขียนร่วมสมัย หน้าใหม่ จริงๆ ผู้เขียนคนนี้เป็นคนจีน และเรียกได้ว่าเป็นหนึ่งในนักเขียนไซไฟรุ่นใหม่ ที่กำลังมาแรงมาก ความมีเสน่ห์ของเขาคือแฟนตาซีที่หลากหลาย มีทั้งที่อิงประวัติศาสตร์ ไปจนถึงตั้งคำถามกับโลกมืดของเทคโนโลยี เขายังสนใจความรู้สึกของมนุษย์ และถ่ายทอดวัฒนธรรมจีนในประเด็นต่างๆ ไว้ด้วย

“หนังสือเล่มนี้เป็นไม่กี่เล่มที่ทำให้เราร้องไห้ได้ ในช่วงที่ผ่านมา”  สฤณีกล่าว

หนังสืออีกเรื่องที่สฤณีหยิบขึ้นมาพูดถึงคือ หนูนิ้วโป้ง: วันฒธรรมและเทคโนโลยีของมนุษย์มิลเลนเนียล เขียนโดย Michel Serres แปลโดย สายพิณ ศุพุทธมงคล เพราะเป็นหนังสือที่ดีไซน์น่ารัก ขนาดกะทัดรัด อ่านไม่กี่ชั่วโมงก็จบ

“หนูนิ้วโป้งเป็นตัวอย่างการเขียน essay ความเรียงภาษาไทยที่ดีมาก และไม่ค่อยเห็นแล้วในปัจจุบัน เป็นงานเขียนที่เป็นความคิดเห็นของคนแก่ใจดีที่พยายามจะเปิดกว้าง หนังสือสารคดีจำนวนมาก เวลาอ่าน เราต้องการคำตอบว่าเรื่องนี้เป็นยังไง แต่เล่มนี้เป็นตัวอย่างของสารคดีที่ไม่จำเป็นต้องมีคำตอบก็ได้ หนังสือสารคดีที่ดี คือหนังสือสารคดีที่เปิดโลกและให้คำถามใหม่ๆ ที่เราไม่เคยถาม และหนังสือเล่มนี้เป็นแบบนั้น”

ด้านอนุรุจน์ เลือกกล่าวถึงหนังสือ เซเปียนส์: ประวัติย่อมนุษยชาติ (Sapiens: A Brief History of Humankind) ที่เขียนโดย Yuval Noah Harari และแปลโดย ดร.นำชัย ชีววิวรรธน์ เพราะเป็นหนังสือที่ปลุกกระแสการอ่าน “นั่งอยู่ตรงไหน ใครๆ ก็หยิบเซเปียนส์ขึ้นมาอ่าน ส่วนความน่าสนใจของเซเปียนส์คือความพร่ามัวระหว่าง fiction กับ non-fiction เป็น non-fiction ที่อ่านได้สนุกมากๆ”

อนุรุจน์ยังกล่าวถึงหนังสือ ปาฏิหาริย์ร้านชำของคุณนามิยะ ที่ผู้เขียน Higashino Keigo พลิกจากการเขียนหนังสือแนวสืบสวน มาเขียนแนวแฟนตาซี เขายังให้เหตุผลอีกข้อไว้ว่า ในช่วงเวลาที่บ้านเมืองกำลังตึงเครียดเช่นนี้ หนังสือกลุ่ม Dystopia Light Novel น่าจะช่วยคลายเครียดได้ “หนังสือเล่มนี้ดึงคนออกจากปัญหา ขณะเดียวกันก็ได้มองกลับมาที่ตัวเอง ทำให้เห็นอะไรบางอย่าง”

หนังสืออีกเล่มที่อนุรุจน์แนะนำคือ โลกที่รัก  Dear World  ของ Bana Alabed แปลโดย พลอยแสง เอกญาติ เรื่องของเด็กชาวซีเรียที่โพสต์ข้อความลงทวิตเตอร์ทุกวัน

“เขาโพสต์เรื่องกลัวระเบิด คุณอาตาย คุณน้าตาย บ้านข้างๆ ตาย จนกระทั่งลี้ภัยไปที่เยอรมัน เราอยากให้คนอ่านหนังสือเล่มนี้เพราะอยากให้รู้ว่า ที่เราทุกข์กันอยู่ทุกวันในประเทศไทย ที่อื่นเขาก็ทุกข์ เราไม่ได้เป็นอยู่คนเดียว หันไปมองโลกด้วย”

และหนังสือเล่มสุดท้ายที่อนุรุจน์กล่าวถึงคือ คินสึงิ ความงามของบาดแผลแห่งชีวิต เขียนโดย โทมาส นาวาร์โร แปลโดย วุฒิชัย กฤษณะประกรกิจ หนังสือซึ่งบรรจุคอนเซปต์การขจัดทุกข์เอาไว้

“เรารู้สึกว่าหนังสือ คินสึงิ เป็นคำแนะนำว่า ทำอย่างไรคุณจะสามารถออกจากความทุกข์ได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความรัก ครอบครัว การถูกกดทับ ประเด็นที่เราสนใจคือ บางทีเราเครียดกับเรื่องการเมืองจนลืมไปว่า มันมีความเครียดเรื่องอื่นด้วย หันมามองตรงนี้ด้วย”

 

 

นอกจากหนังสือทั้งหมดที่ถูกกล่าวถึง หนังสือเล่มที่วิทยากรยกขึ้นมาพูดถึงอย่างตรงกันคือ มันทำร้ายเราได้แค่นี้แหละ โดย ภรณ์ทิพย์ มั่นคง หนังสือที่ถูกแนะนำมากที่สุดในโปรเจ็กต์ความน่าจะอ่านครั้งนี้ โดยวรพจน์ได้เริ่มกล่าวถึงหนังสือเล่มนี้ด้วยประโยคที่ตราตรึงผู้ฟังไว้ทั่วกันว่า “ผมเกลียดหนังสือเล่มนี้ครับ”

“ผมเกลียดที่มาของหนังสือเล่มนี้ ไม่ควรมีหนังสือเล่มนี้ในสังคมไทย ไม่ควรต้องมีใครถูกจองจำด้วยเพียงคำพูด เพียงการแสดงละคร ความเห็นผมคือ มนุษย์สามารถแสดงความคิดเห็นได้ แต่มันยังมีความไม่ยุติธรรมในกฎหมายไทย ภรณ์ทิพย์ ผู้เขียน ไม่ได้ทำอะไรผิดเลย แต่กฎหมายมันผิด และผมเสนอให้แก้ไขกฎหมาย ไม่ใช่มาจองจำและทำร้ายประชาชน

“หนังสือเรื่องนี้เป็นเหมือนโรงละครโรงเล็กๆ โรงหนึ่งที่ถูกจำกัดทุกอย่าง แต่ว่าครบรส น่าเบื่อ แต่ก็ฉกาจฉกรรจ์ เขาเขียนทุกสิ่งทุกอย่างที่พบเจอซ้ำๆ ซากๆ ในที่แคบๆ และบอกไว้ในคำนำแล้วว่า เขาอาจจะทำให้เราเข้าใจเรื่องราวได้ ด้วยความจำและทักษะของเขา แต่จะไม่สามารถทำให้เรารู้สึกได้ เพราะทุกคนไม่ได้ไปถูกจองจำเหมือนเขา” วรพจน์กล่าว

อนุรุจน์ก็ได้แชร์ความรู้สึกขณะอ่าน มันทำร้ายเราได้แค่นี้แหละ ว่า ตอนที่เริ่มอ่าน เขาไม่แน่ใจว่าจะอ่านหนังสือเล่มนี้จบ ด้วยความหดหู่ของเรื่องราว ด้วยความเครียดจากการเมือง และด้วยความอยุติธรรมที่เกิดในคุก แต่ในขณะที่อ่านไปเรื่อยๆ เขากลับต้องเผลอยิ้มและหัวเราะให้กับเรื่องราวดังกล่าว

“เรางงกับตัวเองว่า ตกลงเราควรหัวเราะ มีความสุข ยิ้มไปกับตัวละคร หรือเราควรจะคิดว่า ต้องลุกขึ้นมาแก้ไขความไม่ถูกต้องและความอยุติธรรมในสังคมนี้ จริงที่เรื่องราวมันหดหู่ แต่ว่าผู้เขียนก็ใช้สกิลที่เก่งมาก จนในตอนจบ แทนที่เราจะหดหู่ หนังสือของภรณ์ทิพย์กลับปลอบประโลมเราว่า มันก็ทำร้ายเราได้แค่นี้แหละ”

ด้านสฤณีกล่าวว่าอยากจะแนะนำหนังสือเล่มนี้ให้กับคนที่ทำงานเรื่องความเหลื่อมล้ำ ทั้งทางเศรษฐกิจ และการเมือง

“มีหลายตอนที่ชอบมาก ทั้งเรื่องเล่าการขโมยของ หรือที่เล่าว่าแต่ละคนติดคุกมาด้วยข้อหาอะไร ทั้งหมดทำให้เราเข้าใจว่า ความจนมันก็คือความจน ความจนบังคับให้เราทำสิ่งต่างๆ มันไม่ใช่เรื่องความดีหรือเลว ผู้เขียนเขียนได้ดีมาก และมีคุณค่าในแง่ของการนำเสนอประสบการณ์ คิดว่าคนที่ทำงานในประเด็นโครงสร้างควรจะอ่าน และเอาไปใช้สอยได้จริงๆ”

แม้ในตอนต้น วรพจน์จะกล่าวว่าเกลียดที่มาของหนังสือเล่มนี้ แต่เขากลับย้ำว่า เมื่อได้อ่านเรื่องราวทั้งหมดแล้ว เขารู้สึกขอบคุณผู้เขียนที่บันทึกเหตุการณ์ บันทึกความซ้ำซาก ความไม่เป็นธรรมไว้อย่างละเอียด ซึ่งเรื่องราวเหล่านี้อาจก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงในระดับจิตใจของผู้อ่าน หรือในระดับสังคมก็ตาม

“ไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ผมเห็นคนเกาหลีกล่าวถึงคนไทยผ่านสื่อออนไลน์สักแห่งว่า ‘คนไทยยังโกรธน้อยเกินไป’ เมื่อผมอ่านหนังสือเล่มนี้ก็รู้สึกถึงประโยคนี้ น้ำเสียงของผู้เขียนไม่ได้เขียนออกมาในเชิงเศร้าๆ น้ำเสียงเขาร่าเริงมาก เขาใช้คำว่า ‘จิ๊บๆ ใช้คำว่า ‘มันทำร้ายเราได้แค่นี้แหละ’ กับเวลา 2 ปี 6 เดือนในคุก เหมือนกับที่ ไผ่ ดาวดิน พูดหลังออกมาจากเรือนจำวันแรก เขาเดินยิ้มออกมาแล้วบอกว่า ‘จิ๊บๆ’ ที่คนเกาหลีเขาพูดว่า คนไทยยังโกรธน้อยไป ผมว่าหนังสือเล่มนี้ทำให้เราโกรธได้ในระดับที่เพียงพอ และถ้าคนไทยโกรธได้เพียงพอ มันจะนำไปสู่การแก้ปัญหา การเผชิญหน้า” วรพจน์กล่าว

หลังจาก มันทำร้ายเราได้แค่นี้แหละ ได้รับการแนะนำมากที่สุดในความน่าจะอ่าน 2018-2019 และถูกกล่าวถึงโดยวิทยากรในงานเสวนา อีกความพิเศษหนึ่งที่มาปิดท้ายโปรเจ็กต์นี้อย่างสวยงาม คือการที่ภรณ์ทิพย์ มั่นคง ส่งจดหมายฉบับหนึ่งถึงผู้อ่านในงาน โดยใจความในจดหมายทั้งหมด ถูกอ่านโดย พลอย เดชวงษา หนึ่งใน “ตัวละคร” ของหนังสือเล่มนี้

 

ถึงผู้อ่านที่ขณะนี้กลายเป็นผู้ฟังแล้ว

 

ผู้หญิงที่ยืนอ่านจดหมายของข้าพเจ้าให้คุณฟังอยู่ขณะนี้ ชื่อ พลอย เดชวงษา เธอคือพลอยเดียวกันกับพลอยที่พวกคุณรู้จักผ่านตัวหนังสือในหนังสือหนาเตอะของข้าพเจ้านั่นแหละ

การตอบคำถามเรื่องความรู้สึกของตัวเองไม่ใช่ทักษะที่ข้าพเจ้าถนัดนัก และความรู้สึกที่ ‘มันทำร้ายเราได้แค่นี้แหละ’ ได้รับเลือกเป็นหนังสือที่ได้รับการแนะนำเป็นอันดับหนึ่งนี้ ข้าพเจ้าก็ตอบไม่ได้ว่ารู้สึกอย่างไร ข้าพเจ้ารู้เพียงแต่การให้พลอยเป็นตัวแทนอ่านจดหมายของข้าพเจ้าให้ท่านฟังขณะที่ตัวของข้าพเจ้ากำลังระเริงอยู่ที่บาเซโลน่านั้นเป็นสิ่งงดงามที่สุดเท่าที่ข้าพเจ้าจะมอบให้แก่ผู้อ่านและตัวละครในหนังสือของข้าพเจ้าได้

จะมีอะไรงดงามไปกว่าการได้พบเจอกับตัวละครในหนังสือล่ะ  แม้ว่าคุณอาจจะไม่ได้ชอบมันก็เถอะ อย่างน้อยคุณก็จะได้ตื่นเต้นบ้างละน่า และถ้าหากคุณจะเห็นว่าเป็นความน่าเบื่อ ก็ไม่ใช่เรื่องผิดอะไร เพราะการจับต้องตัวเป็นๆ ของตัวละครย่อมดีกว่าแค่รู้จักผ่านนิ้วมือที่กดลงบนแป้นพิมพ์ของข้าพเจ้าแน่ๆ

และยิ่งไปกว่านั้น พวกเขาทุกคนไม่ได้เป็นแค่ตัวละคร แต่ยังมีส่วนสำคัญในการเก็บซ่อน ปกป้อง และบอกเล่าเศษเสี้ยวแห่งความทรงจำของข้าพเจ้า กระดาษชิ้นเล็กชิ้นน้อยถูกซุกซ่อนโดยคนเล็กคนน้อยค่อยๆ ถูกกอบกู้หลังการได้รับอิสรภาพของข้าพเจ้าจนกลายเป็นหนังสือเล่มหนาเตอะนี่ และแม้ว่าทุกขณะจิตที่เขียนหนังสือเล่มนี้ข้าพเจ้าอยากจะกลับไปซุกตัวอยู่บนพื้นกระเบื้องขนาด 30 เซนติเมตรเพียงใดก็ตาม ข้าพเจ้าก็ยังไม่ได้กลับไปนอนในนั้น แต่ พวกเขา ตัวละครทุกตัวเดินออกมาจากหลุมดำนั่น พวกเขากำลังก้าวเดินออกมาจากตรงนั้น แล้วในที่สุดเราก็ได้วิ่งเล่นด้วยกัน รออีกไม่กี่คนเท่านั้นเอง

นอกจากความสำนึกในบุญคุณของตัวละครทุกตัวในหนังสือของข้าพเจ้าแล้ว สิ่งที่ข้าพเจ้าจะต้องสำนึกด้วยความสัตย์จริงอีกอย่างหนึ่งก็คือ การแนะนำหนังสือของข้าพเจ้าในครั้งนี้นั้น ช่วยให้ข้าพเจ้ามีความหวังต่อเงินในกระเป๋าสตางค์มากขึ้น มันไม่ง่ายเลยที่จะประคองตัวให้เขียนหนังสือสักเล่มจนจบ และไม่ง่ายเลยที่จะบังอาจคาดหวังถึงผลลัพธ์ของมัน ทั้งจากตัวข้าพเจ้าเองที่เป็นคนเขียน ทั้งจากสำนักพิมพ์อ่านผู้จัดพิมพ์ ไม่ง่ายภายใต้รัฐบาลทหาร ไม่ง่ายภายใต้เงื่อนไขทางเศรษฐกิจ ไม่ง่ายสำหรับหนังสือของผู้หญิงที่บางผู้บางคนที่ปวารณาตนอยู่ฝ่ายประชาธิปไตยยังหวาดกลัวที่จะพูดถึง

แต่เรื่องมันไม่ได้เศร้าขนาดนั้นหรอก เพราะอย่างไรเสียสำนักพิมพ์อ่านก็ได้กลั่นตัวหนังสือและกระดาษบันทึกชิ้นเล็กชิ้นน้อยเหล่านั้นออกมาเป็นชิ้นงานงดงามได้ แน่นอนว่ามาถึงตรงนี้ข้าพเจ้าไม่ได้ถ่อมตัวเลยกับความงามของหนังสือทั้งเล่ม และด้วยความงามนั้นก็ทำให้มันได้พบเจอคนอ่านที่แม้แต่ตัวข้าพเจ้าเองก็ไม่เคยคิดจะคาดหวัง ความงามของมันพามันไปหาผู้คนที่รักในความงามและน้ำตาแห่งชีวิตเช่นกันกับมัน

ขอบคุณผู้อ่านที่ให้เกียรติเปิดหนังสือเล่มนี้ขึ้นมาอ่าน ขอบคุณที่พูดถึงมัน วิพากษ์วิจารณ์มัน และข้าพเจ้ายินดีที่จะได้รับคำวิพากษ์วิจารณ์ทุกสิ่งอันในประเทศที่ปิดกั้นการวิพากษ์วิจารณ์และแสดงความคิดเห็นนี้

ข้าพเจ้าหวังว่าเราทุกคนจะผ่านพ้นช่วงเวลาเลวร้ายไปได้ด้วยการตระหนักถึงพลังของตนเอง ข้าพเจ้าเขียนเพราะข้าพเจ้าต้องเขียน ถ้าข้าพเจ้าไม่เขียนข้าพเจ้าจะไม่สามารถให้อภัยตัวเองได้ และข้าพเจ้าก็ทำทุกสิ่งทุกอย่างเช่นที่ทำอยู่ทุกวันนี้เพื่อประคับประคองหัวใจของข้าพเจ้าเอง พวกท่านก็เช่นกัน จงทำสิ่งใดที่ทำได้ เพื่อรักษาหัวใจของตนเองไว้อย่างดีที่สุด

ขอบคุณที่ทั้งหมดทั้งมวลที่ข้าพเจ้าทำอย่างสุดจิตสุดใจส่งข้าพเจ้าไปติดคุก

หากใครยังไม่มีหนังสือของข้าพเจ้า โปรดไปซื้อหามาไว้ในครอบครอง นอกจากความหนาจะใช้ฟาดหน้าผู้ที่จะมารุมทำร้ายได้บ้างแล้ว หากว่าวันใดบ้านคุณไฟไหม้ จงรู้ไว้ว่าหนังสือเล่มนี้จะไม่ไหม้ไฟ แต่หากวันใดท่านเดินหลงป่าก็ฉีกออกมาใช้เป็นเชื้อไฟได้

 

มันทำร้ายเราได้แค่นี้แหละ

ภรณ์ทิพย์ มั่นคง 5770102414

อ่านโดย พลอย เดชวงษา 5870100049

 

 

 

ติดตามรายชื่อหนังสือในโปรเจ็กต์ความน่าจะอ่าน 2018-2019 ได้ที่ :

The Finalists ความน่าจะอ่าน 2018-2019 ตอนที่ 1

The Finalists ความน่าจะอ่าน 2018-2019  ตอนที่ 2

The Finalists ความน่าจะอ่าน 2018-2019 ตอนที่ 3

Top Highlights’ ความน่าจะอ่าน 2018-2019

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save