fbpx
ความน่าจะอ่าน 2017

ความน่าจะอ่าน 2017

นักอ่านได้ใช้ชีวิตนับพันๆ ชีวิต ก่อนที่เขาจะตาย ผู้ที่ไม่เคยอ่าน จะมีเพียงชีวิตเดียว

 

จากหนังสือ A Dance with Dragons โดยจอร์จ อาร์. อาร์. มาร์ติน

 

ปีที่สองของ ‘ความน่าจะอ่าน’ เกิดขึ้นแล้วนะครับ!

‘ความน่าจะอ่าน’ คือการรวมตัวกันของคนกลุ่มหนึ่งที่มีรสนิยมการอ่านแตกต่างหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น สฤณี อาชวานันทกุล, ทราย เจริญปุระ, นิวัต พุทธประสาท, ทีปกร วุฒิพิทยามงคล หรือตัวผมเอง – โตมร ศุขปรีชา

พวกเรามารวมตัวกัน ไม่ได้มีเป้าหมายจะชี้นิ้วพิพากษาบอกว่าหนังสือเล่มไหนดีกว่าเล่มไหน และเข้าใจว่าทุกคนไม่ได้ทำแม้กระทั่งพยายามบอกคนอื่นว่า – ‘ต้อง’ อ่านหนังสือด้วยซ้ำนะครับ เพราะในโลกทุกวันนี้ เรามีเรื่องต่างๆ ให้ ‘อ่าน’ มากมายมหาศาลอยู่แล้ว ทั้งในรูปของตัวอักษร การอ่านผ่านภาพ และบทสนทนาในสังคมเรื่องต่างๆ ที่มีทั้งเรียบง่ายและสลับซับซ้อน หรือแม้แต่ซับซ้อนอยู่ในความเรียบง่าย

ดังนั้น ‘ความน่าจะอ่าน’ จึงเป็นเพียงการนำเสนอความคิดเห็นของนักอ่านจำนวนหนึ่ง ซึ่งมีความเห็นไม่เหมือนกันเลย และเราได้ลองเลือกหนังสือที่ตัวเองชอบในรอบปีที่ผ่านมา เพื่อนำ ‘ความชอบ’ นั้นมา ‘ปะทะ’ กัน

การปะทะกันนี้ไม่ใช่การแข่งขัน ไม่ใช่การบอกด้วยว่าเล่มไหนดีกว่าเล่มไหน แต่การพกความชอบของตัวเองไปทำความรู้จักกับความชอบของคนอื่น คือการเปิดโลก ขยายขอบเขตจักรวาลของเรา และที่สุดก็คือการทำความรู้จักกับพรมแดนใหม่ๆ ที่เราอาจไม่มีวันได้พบพานหรือไปถึง – หากไม่ได้อ่าน

การอ่านเป็นอย่างที่จอร์จ อาร์.อาร์. มาร์ติน บอกไว้นั่นแหละครับ มันคือ ‘ทางลัด’ ในการเข้าถึงชีวิตของผู้คนมากมาย หากเราอ่านหนังสือพันเล่ม เราจะได้รู้จักกับทั้งความคิดและชีวิตของผู้คนมากกว่าพันคน มีทั้งชีวิตและความคิดของผู้เขียน ตัวละครที่อยู่ในหนังสือนั้นๆ รวมถึงคนที่รักชอบหรือชิงชังหนังสือเหล่านั้น ผ่านการรีวิวและพูดคุยกันหลังจากอ่านหนังสือด้วย

แดนอรัญ แสงทอง เคยกล่าวไว้ว่า การอ่านมีสองอย่าง คืออ่านเอาเรื่องกับอ่านเอารส การเขียนจึงมีสองอย่างไปด้วย นั่นคือทั้งเขียนเอาเรื่องและเขียนเอารส และในระหว่างสองโลกนี้ คือโลกแห่งเรื่องกับโลกแห่งรส ยังมีสเปคตรัมหลากหลายที่ผสมผสานกันจนเกิดโลกแห่งความเป็นไปได้ไม่รู้จบอีกด้วย

สำหรับคนที่อยากอ่านหนังสือ พวกเขาอาจพบตัวเองยืนงุนงงอยู่หน้าชั้นหนังสือ เพราะมีหนังสือให้เลือกอ่านมากมายเป็นร้อยพัน มากเกินกว่าที่กระเป๋าสตางค์ของตัวเองจะเอื้อเฟื้อได้หมดทุกเล่มที่อยากอ่าน ดังนั้น การได้ลองเลือกอ่านหนังสือตามที่มีคนแนะนำเอาไว้ โดยเฉพาะหากเป็นคนที่มีอะไรๆ บางอย่างในตัวเหมือนกันกับเรา เช่น เป็นคนโรแมนติกเหมือนกัน เป็นคนช่างคิดเหมือนกัน เป็นคนสบายๆ เหมือนกัน เป็นคนมีอารมณ์ขันเหมือนกัน เป็นคนเคร่งเครียดจริงจังเหมือนกัน ฯลฯ ก็อาจพอเป็น ‘ไกด์’ ให้กับการเลือกหนังสือมาอ่านได้

หนังสือบางเล่มมีไว้ให้อ่านรวดเดียวจบ แต่หนังสือบางเล่มก็มีไว้อ่านให้ไม่จบในคราวเดียว ทว่าต้องละเลียดอ่านซ้ำแล้วซ้ำเล่า เพียงเพื่อจะเกลียดมันในตอนแรก และหลงรักมันหัวปักหัวปำในตอนหลัง สำหรับบางคน การจบเล่มของบางหนังสือ คือการหายสูญไปของห้วงเวลาแห่งการซึมซับดื่มด่ำในโลกประหลาดคู่ขนานอันไกลโพ้น เล่มที่อาจทำให้เราย่อยยับเหมือนกระดาษบอบบางที่ถูกมืออ่อนโยนขยำซ้ำๆ อย่างทะนุถนอมเพื่อให้มันแหลกสลายแต่ไม่ฉีกขาด หรือสำหรับอีกบางเล่ม การจบเล่มของมันคือการพาเราโลดเต้นออกไปสู่จักรวาลคู่ขนานไกลโพ้นตรงโน้นผ่านการไตร่ตรองใคร่ครวญซ้ำแล้วซ้ำเล่า จนกระทั่งระเบิดพลุ่งออกเป็นความคิดที่สว่างโพลงเพื่อให้เราได้ลุกขึ้นตรวจสอบความคิดเก่าๆ ของเราซ้ำๆ ครั้งแล้วครั้งเล่า

หนังสือแต่ละเล่มมีหน้าที่ของมัน แต่หน้าที่เหล่านั้นไม่ใช่สิ่งที่ผู้เขียนจะกำหนดได้ หนังสือเล่มไหนจะเปลี่ยนชีวิตใคร หรือจะทำหน้าที่เป็นเพียงกระดาษเปื้อนหมึกที่เอาไว้ใช้อ่านฆ่าเวลาให้เปล่าเปลืองสูญเสีย ย่อมขึ้นอยู่กับผู้อ่านแต่ละคนจะเป็นผู้กำหนดหน้าที่เหล่านั้น

แท้จริงแล้ว การอ่านอาจไม่ใช่เรื่องสลักสำคัญอะไรนักก็ได้ แต่การอ่านมักทำให้คนอยากอ่านมากขึ้น ในขณะที่การไม่อ่านก็มักทำให้คนไม่อยากอ่านมากขึ้น แต่กระนั้น การอยากอ่านหรือไม่อยากอ่านก็ไม่ได้มีอะไรผิด เราจึงคุยกันเอาไว้ตั้งแต่ปีที่แล้วว่า ‘ความน่าจะอ่าน’ คือการเลือกหนังสือที่ ‘เอาแต่ใจตัวเอง’ ที่สุด เพราะเราไม่มีวันรู้เลยว่า หนังสือเล่มไหนจะแตะสัมผัสกับหัวใจของใครในแง่มุมไหนบ้าง

สำหรับปีนี้ มารอติดตามกันว่า – เมื่อนำหัวใจและจักรวาลแห่งความคิดของคนห้าคนมาปะทะสังสรรค์กัน ผลลัพธ์แห่งรายชื่อหนังสือ ‘ความน่าจะอ่าน’ จะเป็นอย่างไร

 

**หมายเหตุ : รื้อฟื้นหนังสือในลิสต์ของ ‘ความน่าจะอ่าน’ ปี 2016 ได้ที่นี่

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

22 Feb 2022

คราฟต์เบียร์และความเหลื่อมล้ำ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ เขียนถึงอุตสาหกรรมเบียร์ไทย ที่ผู้ประกอบการคราฟต์เบียร์รายเล็กไม่อาจเติบโตได้ เพราะติดล็อกข้อกฎหมาย และกลุ่มทุนที่ผูกขาด ทั้งที่มีศักยภาพ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

22 Feb 2022