fbpx

ต่อให้กระจายอำนาจก็แก้ PM2.5 ไม่ได้

ช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา สำหรับภาคเหนือตอนบนของไทย ไม่มีปัญหาไหนหนักหนาสาหัสไปกว่าปัญหามลพิษทางอากาศอีกแล้ว

เชียงใหม่ช่วงสงกรานต์หรือเทศกาลปี๋ใหม่เมืองต้องเผชิญหมอกควันเกินเกณฑ์มาตรฐานเกือบทุกปี ภายหลังเริ่มเอาค่า PM2.5 มาใช้วัดคุณภาพอากาศ (AQI) ประกอบกับมีมาตรการห้ามเผาเด็ดขาดที่เท่ากับเป็นการลากปัญหาออกไปให้ยาวนานขึ้น (แทนการ ‘ชิงเผา’) ตั้งแต่ราวกลางทศวรรษ 2550

จนถึงตอนที่ผมเขียนต้นฉบับอยู่นี้ก็ยังคงมองดอยสุเทพไม่เห็น การมองยอดดอยเป็นดัชนีง่ายๆ ที่คนเชียงใหม่ใช้วัดระดับความรุนแรงของปัญหา

ใช่เพียงส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยว หมอกควันจากฝุ่น PM2.5 ยังส่งผลเสียอีกหลายต่อหลายด้าน โดยเฉพาะด้านสุขภาพที่บางคนย้ำนักย้ำหนาว่าอัตราการตายด้วยมะเร็งปอดสูงสุดของประเทศกระจุกอยู่ในหลายจังหวัดทางภาคเหนือ รวมถึงสถิติบ่งชี้ว่าคนภาคเหนือป่วยด้วยโรคเกี่ยวกับการหายใจมากกว่าทุกภูมิภาค ข้อสังเกตที่น่าตกใจคือ คนในภาคเหนือสูบบุหรี่ลดลงเมื่อเทียบกับในอดีต (ลดลง 5% จากปี 50) แต่คนป่วยมะเร็งปอดกลับเพิ่มขึ้นสวนทางกัน (เพิ่มขึ้นถึง 10% จากปี 53) ตอกย้ำด้วยชีวิตจริงของอาจารย์หมอคนหนึ่งที่เชียงใหม่ เขากำลังต่อสู้กับโรคมะเร็งปอดทั้งที่อายุยังน้อย สื่อสารเรื่องราวผ่านแฟนเพจ ‘สู้ดิวะ’ ที่เปิดขึ้นเมื่อปลายปีที่ผ่านมา สร้างความตื่นตระหนักของสังคมต่อประเด็นนี้อย่างได้ผล

สำหรับผม ปัญหานี้มีมาตั้งแต่โบราณกาล แต่ผู้คนยังไม่รู้สึกว่าเป็นปัญหาใหญ่ จนกระทั่งเมื่อ 10 กว่าปีที่ผ่านมาที่ปรากฏให้เห็นเด่นชัดและกินเวลายาวนานขึ้น บางปีสีท้องฟ้าถึงขั้นเปลี่ยนเป็นสีซีเปียหม่นๆ (2558, 2563, 2566) บางปีต้องทนควันอยู่นานร่วม 3 เดือน (2556-59, 2563, 2565) มีบางปีแค่นั้นที่เบาซะจนไม่เห็นคนบ่นถึง (2554, 2564)[1]

เผาป่า ปัญหาจราจร หมอกควันข้ามแดน
สรุปแล้ว PM2.5 ภาคเหนือมาจากไหน?

ณ ตอนโน้น คำอธิบายที่มาของสาเหตุหมอกควันจากงานวิจัยยังไม่มี คนในเมืองก็โทษคนบนดอยว่าเผาป่า คนบนดอยก็โต้กลับว่ามาจากปัญหาการจราจรในเมืองนั่นแหละ ฯลฯ ทว่าทุกวันนี้เรามีงานวิจัยมากพอที่ช่วยให้ตอบคำถามหลายข้อที่ค้างคาใจ[2]

กรณีเมืองเชียงใหม่ PM2.5 มาจากไหน? งานวิจัยของอาจารย์สมพร จันทระ ประธานคณะทำงานด้านวิชาการเพื่อสนับสนุนการแก้ไขปัญหาหมอกควันภาคเหนือ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พบว่าในฤดูหมอกควัน 48% มาจากการเผาชีวมวล นอกฤดูหมอกควัน 69% มาจากการจราจร ยิ่งกว่านั้น อาจารย์สมพรก็พยายามอธิบายเรื่องปัญหาหมอกควันข้ามแดน โดยพบว่าจังหวัดชายแดนรับผลกระทบเต็มๆ จากเพื่อนบ้านถึงราว 60-90% มากน้อยแล้วแต่พื้นที่ ขณะที่จังหวัดซึ่งอยู่ลึกเข้าไปในประเทศจะเจอหมอกควันข้ามแดนน้อยลงเหลือ 40-50% หมายความว่าต่อให้เราจัดการให้เพื่อนบ้านหยุดเผาได้ เราก็ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหานี้ได้อย่างเด็ดขาด ตราบใดที่ยังคงการเผาเกิดขี้นภายในประเทศ

อีกทั้งสภาพภูมิประเทศของภาคเหนือเป็นภูเขาล้อมรอบแอ่งกระทะต่าง ๆ ประกอบกับภูมิอากาศมีสภาวะความกดอากาศสูง กลุ่มฝุ่นควันไม่สามารถลอยตัวขึ้นพ้นชั้นบรรยากาศได้ จึงเกิดการสะสมของควันไฟหนาแน่น หากมีปริมาณการเผาที่มาก

สรุปได้ว่า ฝุ่น PM2.5 ที่คนเชียงใหม่ต้องเผชิญเป็นประจำเกิดจากการเผาในที่โล่งแจ้งเป็นหลัก จากข้อมูลจุดความร้อนปีนี้ (ถึงช่วงกลางเดือนเมษา’66) ก็เหมือนกับทุกปีคือ พบในพื้นที่ป่าเป็นหลักมากถึง 95% พื้นที่การเกษตรมีเพียงไม่ถึง 1% ไฟส่วนใหญ่เกิดขึ้นในเขตป่าอนุรักษ์มากกว่าป่าสงวนแห่งชาติมาตลอด ซึ่งเอาเข้าจริงมาจากหลายสาเหตุ ไม่มีสาเหตุเชิงเดี่ยวของการเผาแบบที่คนกลุ่มต่างๆ เชื่อ ที่ผ่านมาจึงเกิดการปะทะกันของหลายชุดคำอธิบาย ทั้งเผาเพื่อเก็บเห็ด-ล่าสัตว์ เผาแปลงสภาพเป็นที่ทำกิน (โดยเฉพาะเพื่อที่จะปลูกข้าวโพด) เป็นไฟป่าธรรมชาติอันเกิดจากเชื้อเพลิงสะสม (ที่ถูกคำสั่งห้ามจัดการ) หรือกระทั่งเผาการเมือง อาจทำลงไปเพราะหวังงบประมาณหรือตอบโต้ภาครัฐก็มี ซึ่งพอรับฟังได้ทั้งนั้น แต่น้ำหนักย่อมต่างออกไปตามบริบทพื้นที่

อย่างไรก็ดี อาจารย์อริศรา เจริญปัญญาเนตร ภาควิชาภูมิศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ศึกษาเพื่อฉายภาพใหญ่ระดับภูมิภาค พบว่าปริมาณจุดความร้อนที่เกิดขึ้นบนพื้นที่ปลูกข้าวโพดของ 3 ประเทศ (พม่า ลาว และไทย) รวมกันแล้วร้อยละ 30 ส่วนอีกร้อยละ 70 คือพื้นที่ป่าและเกษตรกรรมอื่น

อำนาจแก้ไขหมอกควันไม่ได้อยู่ที่ผู้ว่าฯ

ปัญหานี้ถ้าจะแก้ให้ได้เบ็ดเสร็จก็ต้องทำหลายมิติ หลายระดับ มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นพัลวัน

เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2566 ในการประชุมสภาพลเมืองภาคเหนือ ช่วงนั้นเป็นช่วงที่เชียงใหม่เริ่มมีปัญหาหมอกควันบ้างแล้ว (ค่า AQI เป็นสีส้มติดต่อกันมาร่วมสัปดาห์) ทว่ายังพบการเผาไหม้ในพื้นที่น้อย งานนี้ผู้ว่าราชการ​จังหวัด​เชียงใหม่​มาเข้าร่วมเวทีด้วยตัวเอง จากข้อมูลต่างๆ ที่ท่านนำเสนอ โดยมีหัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด (ปภ.) กับผู้อำนายการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด (ทสจ.) ช่วยอธิบายเสริม เหมือนท่านกำลังบอกว่าต่อให้เรามีผู้ว่าฯ ที่มาจากการเลือกตั้งก็ยากจะแก้ไขปัญหาใหญ่นี้สำเร็จ เนื่องจาก (1) ปัญหามลพิษทางอากาศไม่มีเขตแบ่ง (2) วิถีผลิตทางการเกษตรไม่เคยปฏิเสธการเผา (หนำซ้ำควันยังพัดมาจากจังหวัดอื่นที่ไม่ใช่ 4 จังหวัดในกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบนซึ่งยังพอขอกันได้ เพราะมีผู้ว่าฯ เชียงใหม่เป็นหัวหน้ากลุ่ม)

วันถัดมาในอีกงานสัมมนาหนึ่ง หัวข้อ ‘ทิศทางและรูปแบบการบริหารราชการแผ่นดินในภูมิภาค’ (การมอบอำนาจและการกระจายอำนาจ) จัดโดยวุฒิสภา รองปลัดกระทรวงมหาดไทยได้เกริ่นนำก่อนเข้าเรื่อง โดยยกตัวอย่างปัญหานี้จากที่เพิ่งได้ไปตรวจราชการที่จังหวัดพิษณุโลกซึ่งพบจุดความร้อนเป็นอันดับต้นๆ ของประเทศในห้วงนั้น ท่านตั้งประเด็นว่าทำไมผู้ว่าฯ พิษณุโลกถึงแก้ปัญหา PM2.5 ไม่ได้ เพราะมีหน่วยส่วนกลางตั้งอยู่ 80 หน่วย ขณะที่มีหน่วยส่วนภูมิภาค 32 หน่วย อำนาจส่วนใหญ่เกี่ยวกับเรื่องนี้อยู่ที่ส่วนกลาง ไม่ใช่ส่วนภูมิภาค ปัจจัยที่ผู้ว่าฯ สามารถควบคุมได้นั้นมีน้อยมาก

ในภาพใหญ่ รองนายกรัฐมนตรีวิษณุ เครืองามที่เป็นองค์ปาฐกของงานระบุว่า ปัจจุบันมีหน่วยงานที่เป็นราชการส่วนกลางถึง 2,163 แห่งที่ตั้งอยู่ใน 76 จังหวัด (อ้างอิงข้อมูลจากสำนักงาน ก.พ.ร.) หน่วยงานเหล่านี้ไม่ได้ขึ้นสายการบังคับบัญชากับผู้ว่าราชการจังหวัด นี่แหละที่เป็นปัญหา

ย้อนนึกถึงบทความชิ้นหนึ่งที่ผมเคยเขียนลงประชาไทตั้งแต่เมื่อ 10 กว่าปีก่อน สะท้อนให้เห็นว่ากลไกรัฐราชการของไทยแทบไม่มีความเปลี่ยนแปลงใดเพื่อให้ตอบสนองต่อปัญหาเฉพาะพื้นที่ให้ดีขึ้น ในบทความนั้น ผมแจกแจงให้เห็นว่าอำนาจระดับส่วนกลางผูกขาดการแก้ไขปัญหานี้ไว้ทั้งระบบ แต่ก็เป็นแบบแตกกระจายอย่างถึงที่สุด[3]

ตารางข้างท้ายนี้คือ หน่วยงาน ‘ส่วนกลาง’ ระดับบนที่มีส่วนต้องข้องเกี่ยวกับปัญหาไฟป่าหมอกควัน เท่าที่ผมพอจะประมวลได้

นอกจากความเป็นรัฐรวมศูนย์แยกส่วนจะสร้างปัญหาแล้ว ความเป็นรัฐบาลผสมที่เป็นลักษณะสำคัญขององค์การฝ่ายบริหารของไทยก็เป็นปัญหาอีกด้วย

บนหลายเวทีดีเบต เราจึงได้เห็นพรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาลในการเลือกตั้งคราวก่อนอย่างพรรคพลังประชารัฐปฏิเสธเสียงแข็งว่าไม่เกี่ยวข้องกับปัญหานี้ พรรคร่วมรัฐบาลอื่นต่างก็ดูแลกันคนละกระทรวง ล้วนแล้วแต่ปฏิเสธความรับชอบกันอย่างไม่เคอะเขิน

ถ้ามองว่าสาเหตุมาจากฝุ่นพิษข้ามพรมแดนจากการส่งเสริมการปลูกข้าวโพดของบรรษัทข้ามชาติก็ย่อมไม่เกี่ยวกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ในความดูแลของพรรคชาติไทยพัฒนา) ต้องเป็นกระทรวงพาณิชย์กับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (ในความดูแลของพรรคประชาธิปัตย์) ในทางกลับกัน ถ้าเชื่อว่าเกิดจากไฟป่าภายในประเทศเป็นหลักก็ย่อมไม่เกี่ยวกับกระทรวงพาณิชย์กับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หากแต่อยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งกระทรวงมหาดไทย (ดูเหมือนเป็นโควตาของพรรครวมไทยสร้างชาติ) ก็ไม่ได้เกี่ยวข้องโดยตรงแต่อย่างใด

จากโครงสร้างกลไกรัฐที่เป็นอยู่ อำนาจการจัดการปัญหานี้ที่ต้นตออยู่กับ ‘ส่วนกลาง’ ขณะที่ ‘ส่วนภูมิภาค’ คือ จังหวัด, อำเภอ หมายถึงผู้ว่าฯ, นายอำเภอทำได้เพียงประสานความร่วมมือ รัฐมนตรีมหาดไทยกลับโยนอำนาจแก้ไขฝุ่นละออง PM2.5 ให้เป็นเรื่องของผู้ว่าฯ อีก ไม่มีทางเป็นไปได้เลย องค์กรปกครอง ‘ส่วนท้องถิ่น’ ยิ่งไม่ต้องพูดถึง อำนาจที่มีเกี่ยวกับเรื่องนี้จำกัดจำเขี่ยสุดๆ

ข้อจำกัดของส่วนกลางคือ ตอบสนองต่อปัญหาล่าช้า และมองปัญหาภาพรวมทั้งประเทศ

ตัวอย่างเช่นเรื่อง PM2.5 ภาควิชาการในภาคเหนือเรียกร้องนำค่า PM2.5 มาใช้วัดคุณภาพอากาศแทน PM10 ตั้งนานหลายปี แต่ไม่ได้รับการตอบสนองจากกรมควบคุมมลพิษเลย จนกระทั่งเกิดสถานการณ์นี้ขึ้นที่กรุงเทพฯ บ้าง ทางกรมจึงตัดสินใจนำเอา PM2.5 มาใช้ทั่วประเทศ เมื่อปี 2561 ซึ่งช่วยสะท้อนความรุนแรงของฝุ่นพิษได้ดีกว่ามาก แต่วิธีคิดของรัฐที่ผ่านมากลับต้องการประวิงเวลาไว้ ยังไม่แตะเรื่องเกณฑ์ที่ไทยเราใช้ ณ ตอนนี้ยังต่ำกว่าค่ามาตรฐานสากล

อีกตัวอย่างหนึ่ง ภาคประชาชนเรียกร้องให้ประกาศเขตภัยพิบัติ (เรื่องนี้ก็หาใช่อยู่ในอำนาจของท้องถิ่น) อย่างน้อย 2 หน่วยงานใน 2 ระดับที่เกี่ยวข้อง กรณีนี้อำนาจใกล้เคียงผู้ว่าฯ ที่สุด คือ ประกาศเขตพื้นที่ประสบสาธารณภัย และเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน ซึ่งในปีนี้ หลายจังหวัดก็ได้เอามาใช้แล้ว แต่จำกัดวงเฉพาะบริเวณที่เกิดไฟป่าลุกลาม ถ้าจะให้ใกล้เคียงกับสถานการณ์จริงที่สุดคงต้องอาศัยอำนาจคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ประกาศเป็นเขตควบคุมมลพิษ แต่เท่าที่ไล่เรียงดูข้อมูลบนเว็บไซต์กรมควบคุมมลพิษ ครั้งสุดท้ายที่เคยประกาศคือกรณีมาบตาพุด สมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ ตั้งแต่ปี 2553 เหตุผลที่ยกมาไม่พ้นเกรงว่าจะมีผลกระทบต่อการท่องเที่ยวเสมอ

ท้องถิ่นทำได้เพียงบรรเทาผลกระทบ

ปัญหาที่รุนแรงขึ้นอีกครั้งปีนี้ ผนวกกับความเพิกเฉยของรัฐบาลนำไปสู่การนัดชุมนุมแสดงพลังหลายหน #SaveMaeSai #สภาลมหายใจเชียงใหม่ #เชียงรายไม่ทนฝุ่น เรื่อยไปถึงการระดมชื่อประชาชนฟ้องนายกรัฐมนตรีต่อศาลปกครอง #คืนปอดให้ประชาชน

เมื่อเอ่ยถึงเจตนารมณ์ของการมีส่วนภูมิภาค ผู้ว่าฯ ถูกแต่งตั้งขึ้นเพื่อรับใช้นโยบายรัฐบาล การโยกย้ายเป็นเรื่องปกติของระบบ อำนาจของผู้ว่าฯ มีมากมายสารพัดจริงอยู่ (ตามแต่กฎหมายเฉพาะเรื่อง) แต่มิใช่เรื่องหมอกควัน เช่น ประกาศห้ามเผาของจังหวัดไม่ได้มีค่าความหมายไปกว่าป้ายประชาสัมพันธ์ เพราะการเผาในพื้นที่บริเวณต่างๆ มีบทลงโทษตามกฎหมายอยู่แล้ว และอำนาจบังคับใช้ก็หาใช่เป็นของผู้ว่าฯ แต่อย่างใด รวมไปถึงประกาศจังหวัดขอให้ทุกหน่วยงาน Work from Home หลังพบวิกฤติฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 เกินมาตรฐานก็เป็นเพียงการขอความร่วมมือ ดังนั้น ไม่ว่าจังหวัดนั้นจะได้ผู้ว่าฯ อายุน้อยไฟแรง ผู้ว่าฯ สุภาพสตรี ผู้ว่าฯ เป็นคนท้องถิ่นจึงไม่สำคัญ เพราะปราศจากอำนาจจัดการเหนือพื้นที่อย่างแท้จริง ตลอดจนขาดความรับผิดชอบต่อประชาชนโดยตัวโครงสร้างองค์กรเอง และฐานที่มาของตำแหน่ง

สำหรับท้องถิ่น ในที่นี้หมายถึง อบจ.เชียงใหม่กับเทศบาลนครเชียงใหม่ ทำอะไรไปบ้างเพื่อบรรเทาปัญหานี้ ส่วนของ อบจ.อย่างน้อยที่เห็นมี 1) ให้เงินอุดหนุนหมู่บ้านผ่านมูลนิธิป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าและฝุ่นควันจังหวัดเชียงใหม่ 2) ติดตั้งจุดวัดค่าคุณภาพอากาศ และแสดงผล ณ ที่ตั้ง 3) เอารถน้ำออกฉีดพ่นบรรเทา 4) แจกหน้ากากอนามัย N95 ที่สำคัญคือได้ตั้งศูนย์บัญชาการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละอองขนาดเล็กเป็นของตัวเอง ในส่วนของเทศบาลได้จัดทำห้องปลอดฝุ่นเพื่อให้บริการประชาชนมากถึง 32 แห่ง โดยบางแห่งได้รับความร่วมมืออย่างดีจากภาคเอกชน

เห็นได้ชัดว่าส่วนท้องถิ่นทำได้เพียงบรรเทาผลกระทบปลายทางของปัญหา ไม่สามารถเข้าไปแก้ที่ต้นตอของปัญหาได้ ประเด็นปัญหานี้จึงเป็นเรื่องระดับรัฐบาล โดยเฉพาะในเรื่องการจัดการไฟป่าซึ่งยังคงเป็นแบบรวมศูนย์ และแยกตัวออกจากท้องถิ่น

ส่วนตัวเชื่อว่ากระจายอำนาจบางส่วนบางด้านมายังท้องถิ่นจะช่วยให้จัดการปัญหานี้ได้ดีขึ้นกว่าที่เป็นอยู่แน่นอน ดังที่ อบต.แม่วิน อ.แม่วาง ที่ผมได้มีโอกาสพานักศึกษาไปลงพื้นที่เมื่อเทอมที่ผ่านมา ในฐานะภาพเล็กๆ แทนความตั้งใจจริงของท้องถิ่น ท่ามกลางการลอยตัวอยู่เหนือปัญหาของราชการส่วนอื่น

สถิติจุดความร้อนที่พบใน อ.แม่วางลดลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2560-2565 ในปีนี้ก็มีน้อยกว่าอำเภออื่น ถามว่าทำไมถึงน้อย คำตอบอาจอยู่ที่การทำ ‘หนังสือทะเบียนประวัติการใช้ที่ดินตำบลแม่วิน’ ที่มี อบต.แม่วิน เป็นเจ้าภาพผลักดัน (แนบท้ายข้อบัญญัติว่าด้วยการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน โดยกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน พ.ศ. 2560) ซึ่งบอกพิกัดได้เกือบหมดว่าบริเวณไหนในตำบลมีใครบ้างครอบครองใช้ประโยชน์อยู่ ถึงแม้ไม่ใช่เอกสารสิทธิ์ แต่ชาวบ้านก็อยากได้ เพราะพอจะเอาไปใช้ยันกับหน่วยงานอื่น (ที่ไม่ใช่ป่าไม้, อุทยานฯ) เพื่อแสดงตนว่าเป็นเกษตรกรเข้ารับการช่วยเหลือต่างๆ จากภาครัฐ ขณะเดียวกันก็ช่วยทาง อบต.ให้ติดตามจัดการปัญหาหลายเรื่องได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะถ้าไฟป่าเกิดบนที่ใคร คนนั้นต้องรับผิดชอบ

นอกจากนี้ อบต.แม่วินยังยกระดับการจัดการไฟป่าให้ได้ผล ด้วยการทำแนวกันไฟ และสืบสานประเพณีบวชป่า รวมไปถึงการสร้างอาชีพเสริมที่เชื่อมโยงแนวคิดรักษาป่าเข้าด้วย นั่นคือ การทำผ้าลายจากใบไม้แห้ง (ที่เป็นเชื้อเพลิงสะสมในป่า)

ความสำเร็จเบื้องต้นสืบเนื่องจากหลายปัจจัย 1) นายก อบต.มุ่งมั่นที่จะแก้ไขปัญหาของพื้นที่ 2) ภาคประชาสังคม (มูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน) หนุนเสริมด้านองค์ความรู้ และเครื่องไม้เครื่องมือ และ 3) ชุมชนชาวบ้านมีส่วนร่วมตั้งแต่ขั้นต้น

แก้ปัญหาหมอกควัน ไม่ใช่แค่การผลักดัน พ.ร.บ. อากาศสะอาดและการกระจายอำนาจ

ปัญหา PM2.5 กลายเป็นประเด็นใหญ่สุดสำหรับชาวเหนือในการเลือกตั้งครั้งนี้อย่างมิต้องกังขา ทุกเวทีดีเบตที่สัญจรมาจัดที่เชียงใหม่ เชียงราย พะเยา ไม่มีเวทีไหนที่ไม่พูดถึงปัญหานี้ ผู้แทนเกือบทุกพรรคย้ำตรงกันว่าต้อง ‘กระจายอำนาจ’ (นอกเหนือจากการผลักดัน พ.ร.บ.อากาศสะอาด) อย่างน้อยก็ช่วยให้ตอบสนองต่อปัญหาเร็วได้ขึ้น ไม่ใช่มัวแต่เฝ้ารอสายลมและห่าฝน

ข้อเสนอระยะสั้น ได้แก่ กระจายงบประมาณ ทั้งดับไฟป่า ทำแนวกันไฟ จัดสรรสวัสดิการให้แก่เจ้าหน้าที่ผู้เสี่ยงภัย ฯลฯ ส่วนระยะยาวไม่พ้นข้อเรียกร้องให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด เพื่อให้โอกาสคนพื้นที่ และรู้ปัญหาจริงได้เข้ามาทำหน้าที่บริหารจังหวัด แน่นอนว่ามีรายละเอียดให้ต้องถกกันอีกเยอะ

พูดตามจริง ผมมองว่าหัวใจของการแก้ไขปัญหาหมอกควันภาคเหนือแยกไม่ออกจากปัญหาเชิงโครงสร้างที่ใหญ่โตกว่านั้น ไม่ว่าสิทธิชนเผ่าพื้นเมือง, เรื่องที่ดินทำกิน, กลุ่มทุนใหญ่ หากเป็นหมอกควันข้ามแดนยิ่งแยกไม่ออกจากปัญหาสันติภาพในพม่า, บรรษัทข้ามชาติ เรื่อยไปจนถึงปัญหาอิทธิพลจีนในลุ่มน้ำโขง ซึ่งในส่วนนี้แค่กระจายอำนาจคงไม่ตอบโจทย์

References
1 ดู ณัฐกร วิทิตานนท์, “หมอกควัน (2) PM2.5 ในภาคเหนือบอกอะไรเรา?,” (ประชาไท, 4 กุมภาพันธ์ 2564), จาก https://prachatai.com/journal/2021/02/91524
2 แนะนำรายงานชิ้นนี้ คุณวุฒิ บุญฤกษ์, “หมอกควัน (1) PM2.5 ในภาคเหนือมาจากไหน?,” (ประชาไท, 22 ธันวาคม 2563), จาก https://prachatai.com/journal/2020/12/90931
3 ดู ณัฐกร วิทิตานนท์, “การกระจายอำนาจที่ไม่เพียงพอ: บทเรียนจากวิกฤติหมอกควันภาคเหนือตอนบน,” (ประชาไท, 20 มีนาคม 2555), จาก https://prachatai.com/journal/2012/03/39739

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save