fbpx
ผีปู่ย่าตายายในโลกนอร์ดิค

ผีปู่ย่าตายายในโลกนอร์ดิค

ปรีดี หงษ์สต้น เรื่อง

กฤตพร โทจันทร์ ภาพประกอบ

ช่วงปลายปีในภูมิภาคนอร์ดิค เป็นช่วงเวลาที่สถานที่สาธารณะต่างๆ รวมทั้งซูเปอร์มาร์เก็ต เตรียมตัวจัดโปรโมชั่นลดแลกแจกแถมรับเทศกาลคริสต์มาส หากเราเดินเข้าไปในซูเปอร์มาร์เก็ต ในมุมหนึ่งของร้าน เราจะเห็นคุณปู่หนวดขาวยาวเฟื้อยพุงพลุ้ยนั่งรถลอยได้ลากด้วยกวาง อันเป็นภาพที่คุ้นเคยไม่ว่าจะอยู่ในมุมไหนของโลก ไม่เว้นโลกอิสลาม

แต่ในอีกมุมหนึ่งของซูเปอร์มาร์เก็ตในประเทศแถบนอร์ดิค ไม่ว่าจะเป็นเดนมาร์ก นอร์เวย์ สวีเดน หรือฟินแลนด์ เราจะเห็นคุณปู่อีกคนหนึ่ง แต่เป็นคุณปู่ตัวเล็กขนาดแทบจะเท่ากับเด็ก ไม่ได้มีพุงพลุ้ย แถมแต่งตัวเหมือนชาวนา และแม้แกจะนั่งรถลาก ก็เป็นรถที่ลากบนพื้นปกติ ไม่เหมือนกับคุณปู่คนแรก แถมคุณปู่ตัวเล็กคนนี้บางทียังมากันทีละหลายๆ คนอีกต่างหาก

ผีปู่ย่าตายาย

คุณปู่คนนี้คือใครกัน เพื่อที่จะแสวงหาคำตอบ ผมจึงรีบเร่งไปห้องสมุดสาธารณะทันที

พอสืบเสาะไปมา ผมก็พบคำตอบว่าปู่คนนี้แกเป็นผีปู่ย่าตายายในโลกของชาวนอร์ดิคมาแต่โบร่ำโบราณนั่นเอง

ปู่คนนี้มีชื่อเรียกต่างกันไปตามแต่ละภาษาของประเทศนอร์ดิคแต่ละประเทศ คนเดนมาร์กเรียกแกว่า นิสเซ่ (nisse) คนนอร์เวย์กับคนสวีเดนเรียก ทอมเต้ (tomte) หรือทอมเต้นิสเซ่ (tomtenisse) รวมกันไปเลย ส่วนคนฟินแลนด์เรียกแกว่าตนต์ตู (tonttu)

คุณปู่นิสเซ่นี่อยู่ในคติชาวบ้านนอร์ดิคมานานแล้ว โดยทั่วไปตามคติร่วมกันนี้ แกจะสูงประมาณเมตรเดียว มีหนวดขาวยาว และจะสวมหมวกแหลมๆ เสมอ

ปู่นิสเซ่มีอยู่ในความเชื่อร่วมกันของคนในแถบนี้ตั้งแต่ก่อนคริสต์ศาสนา ซึ่งจะเริ่มมีอิทธิพลอย่างชัดเจนตั้งแต่ศตวรรษที่ 11 เป็นต้นมา

และเนื่องด้วยสังคมแทบทั้งหมดของภูมิภาคนี้เป็นสังคมชาวนา ปูนิสเซ่จึงแต่งตัวเหมือนชาวนาชาวไร่นั่นละครับ และกิจกรรมที่แกกระทำคงหนีไม่พ้นกิจวัตรประจำวันของชาวนาทั้งหลายทั้งมวล ทั้งหว่าน ทั้งเก็บเกี่ยว ทั้งเลี้ยงสัตว์ ทั้งจับปลา ฯลฯ

แกเป็นบรรพบุรุษของชาวนา แกก็ย่อมเป็นชาวนานั่นแล

ทอมเต้นิสเซ่บนโปสการ์ดเทศกาลคริสต์มาส
ทอมเต้นิสเซ่บนโปสการ์ดเทศกาลคริสต์มาส | By Nasjonalbiblioteket from Norway – Glædelig Jul, 1885Uploaded by Anne-Sophie Ofrim, CC BY 2.0, https://commons.wikimedia.org/w/index.php?curid=19044871

อิทธิฤทธิ์ของผีปู่

แต่ขึ้นชื่อว่าเป็นผีแล้ว จะให้เหมือนคนธรรมดาก็คงไม่ได้ ปู่นิสเซ่จะต้องมีพลังอะไรพิเศษ แกจะทำงานไม่เหน็ดไม่เหนื่อย เป็นผู้ดูแลไร่นาและปศุสัตว์ทั้งหลาย ดูแลให้ผลผลิตงอกงามสู้กับอากาศอันหนาวเย็น และสู้กับผืนดินที่ไม่ได้อุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การเพาะปลูกนัก รวมทั้งแกจะดูแลไม่ให้สัตว์ในโรงเลี้ยงทั้งหลายเป็นโรคเป็นภัยอะไรเข้าด้วย

ปู่นิสเซ่แกจะชิงชังใครก็ตามที่ขี้เกียจสันหลังยาว และถ้าหนักข้อเข้า แกก็จะดลบันดาลให้มีอันเป็นไปต่างๆ นานา พืชผลล้มตายบ้าง ปศุสัตว์ป่วยตายบ้าง หรือครอบครัวลูกหลานไหนมีพฤติกรรมหยาบคายไม่น่ารัก ก็อย่าหวังว่าจะรอดสายตาแกไปได้ อย่างเช่นใครพูดจาสบถสาบานหยาบคาย ใครไปยืนฉี่ในยุ้งฉางไม่เป็นที่เป็นทาง มีหวังแกเสกให้เจ็บไข้ได้ป่วยกันทั้งหมด

ลูกหลานชาวนาจึงต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ ไม่ไปทำให้แกโกรธ จะได้มีธัญพืชเสบียงกรังเก็บเพียงพอสำหรับต่อสู้กับฤดูหนาวอันยาวนานโดยไม่อดตาย ต้องเคารพและเลี้ยงดูปูเสื่อแกอย่างดี

โดยเฉพาะในคืนวันสำคัญของปลายปี ซึ่งในช่วงเวลานี้กลางคืนจะมีความมืดมิดยาวนาน ชาวนาทั้งหลายต้องนำข้าวต้มใส่ถ้วยมาวางไว้ที่ประตูหน้าบ้านให้กับผีปู่นิสเซ่ นี่ถือเป็นพิธีสำคัญ ไม่เช่นนั้นถ้าปล่อยให้แกหิว แกก็จะออกไปจากไร่นานั้น ไม่ดูแลบ้านนั้นอีกเลย หรือไม่อย่างนั้นเหตุอาเพศต่างๆ ก็มีหวังจะเกิดแหงๆ

ปู่นิสเซ่มากินข้าวต้มที่ลูกหลานชาวนานอร์เวย์อุทิศให้
ปู่นิสเซ่มากินข้าวต้มที่ลูกหลานชาวนานอร์เวย์อุทิศให้ | ที่มาภาพ

เมื่อคริสต์ศาสนามาถึง

เมื่อคริสต์ศาสนาเริ่มส่งอิทธิพลในดินแดนนอร์ดิค ปู่นิสเซ่ต้องเริ่มปรับตัวให้อยู่รอด เพราะแกเป็นพวก “นอกรีต” สำหรับชาวคริสต์

เหตุการณ์สำคัญของการเปลี่ยนเข้าสู่ยุคคริสต์ศาสนา คือเมื่อมีการสวมมงกุฏกษัตริย์คอนราดที่ 4 ในฐานะกษัตริย์ใต้คริสตจักรในวันอีสเตอร์ปี 1027 คอนราดที่ 4 เป็นกษัตริย์เยอรมัน แต่ในพิธีการขึ้นครองราชย์นี้ เขาได้รับการสนุบสนุนจากหัวหน้าเผ่าไวกิ้งด้วย นั่นคือจุดเปลี่ยนจากที่ก่อนหน้านี้ชาวไวกิ้งไม่ได้ให้ความสำคัญกับคริสต์ศาสนา

จากเหตุการณ์สำคัญนั้น เราจะเห็นอิทธิพลของคริสต์ศาสนามากขึ้นเรื่อยๆ พร้อมกับการลงหลักปักฐานของโครงสร้างสังคมแบบฟิวดัล ซึ่งจะทำให้ดินแดนที่หากมองจากยุโรปภาคพื้นทวีป ก็จะเรียกว่าดินแดนเหนือไกล (Far North) เข้าสู่ประวัติศาสตร์โลกสมัยใหม่ในที่สุด

การที่ปู่นิสเซ่ของเราไม่ได้หายไปไหน และยังปรากฏตัวอยู่ในซูเปอร์มาร์เก็ต สะท้อนให้เห็นภาพโดยกว้างของการปะทะและการแลกเปลี่ยนระหว่างคริสต์ศาสนาและศาสนาของชาวไวกิ้งในดินแดนแถบนี้ แน่นอนว่าความขัดแย้งมีอยู่แน่ มีการรบพุ่งกันเสมอ แต่เราต้องไม่ลืมว่านอกเหนือจากจะเป็นนักรบแล้ว ชาวไวกิ้งยังเป็นพ่อค้าแม่ค้าด้วย การค้าขายแลกเปลี่ยนย่อมประสานความไม่ลงรอยเหล่านี้ไปได้มาก และนับตั้งแต่ศตวรรษที่ 11 ดินแดนสแกนดิเนเวีย (เดนมาร์ก นอร์เวย์ และสวีเดน) ก็ถูกปกครองโดยกษัตริย์ที่ถือคริสต์ศาสนาเป็นที่เรียบร้อย ระบบฟิวดัลเริ่มลงหลักปักฐานอย่างช้าๆ พร้อมๆ กับจุดสิ้นสุดของโครงสร้างทางสังคมไวกิ้ง

แม้ยุคของนักรบไวกิ้งจะจบสิ้นลง แต่ปู่นิสเซ่ผู้เป็นชาวนากลับอยู่รอดมาได้ พร้อมๆ กับสังคมชนบทของชาวนอร์ดิคที่ค่อยๆ ปรับเปลี่ยนมารับแนวทางคริสต์ศาสนา

ตอนต์ตูในจินตนาการของชาวฟินแลนด์ นอกจากเป็นชาวนาแล้ว น่าจะรบได้ด้วย
ตอนต์ตูในจินตนาการของชาวฟินแลนด์ นอกจากเป็นชาวนาแล้ว น่าจะรบได้ด้วย | ที่มาภาพ

จากโรงนาเปลี่ยนเป็นโบสถ์ ใกล้โบสถ์สร้างสุสาน

ครอบครัวชาวนานอร์ดิคที่มีที่ดินมากจะเริ่มอุทิศที่ดิน เปลี่ยนอาคารที่เคยเป็นโรงนาขนาดใหญ่ให้กลายเป็นโบสถ์ ซึ่งจะเห็นได้ในนอร์เวย์ก่อนใคร เป็นต้น วิถีปฏิบัติที่เปลี่ยนไปเช่นนี้ถือว่าเป็นการเปลี่ยนสังคมชนบทของชาวนานอร์ดิค เพราะการอุทิศสิ่งปลูกสร้างในเขตที่ดินเพื่อการประกอบพิธีกรรมทางความเชื่อเช่นนี้ เป็นสิ่งที่ไม่เคยมีมาก่อนในภูมิภาคนี้

หากเราว่ากันด้วยพิธีกรรมสำหรับผู้เฒ่าผู้แก่ที่ตายในหมู่บ้าน ปกติแล้วลูกหลานก็จะฝังผู้เฒ่าผู้แก่เหล่านี้ใกล้กับบ้านของตนเอง และผีปู่ย่าตายายเหล่านี้ก็จะเป็นเหมือนเจ้าที่ไปด้วยในตัว ญาติใครญาติมันตามแต่ละบ้าน

แต่คริสต์ศาสนาไม่ได้ทำเช่นนั้น คริสตศาสนิกชนจะสร้างสุสานเอาไว้ใกล้กับโบสถ์ สุสานเป็นสถาบันทางสังคมของคริสต์ศาสนาที่ประกาศว่า สถานที่นี้เป็นสถานที่เปิด ทุกคนสามารถไปที่สุสานนี้ได้ไม่ว่าคุณจะเป็นใคร จะจนหรือจะรวย จะเป็นเพื่อนหรือเป็นศัตรูกับผู้ตาย หรือจะไม่รู้จักมักจี่กันมาก่อนก็ตาม

เมื่อลูกหลานเลิกฝังปู่ย่าตายายบนที่ดินของครอบครัว ผีปู่ย่าตายายก็เลิกวนเวียนอยู่บนที่ดินของลูกหลาน

เพราะปู่ย่าตายายเดินทางไปสู่อาณาจักรของพระผู้เป็นเจ้าแล้ว

ปู่นิสเซ่กลายเป็นทอมเต้นิสเซ่

ผลก็คือจากที่ปู่นิสเซ่เคยเป็นผีบรรพบุรุษ ผู้คอยวนเวียนอยู่ที่ไร่นาของลูกหลาน แกก็ค่อยๆ กลายร่างมาเป็นนักบุญ กลายมาเป็น “คนแปลกหน้า” ต่อลูกหลานชาวนาชาวไร่นอร์ดิคทั้งหลาย ปู่นิสเซ่ค่อยๆ เปลี่ยนไปเป็นคุณปู่ “ของใครก็ได้” ไม่ว่าคุณจะอยู่ที่ไหน หรือคุณจะเป็นใคร

ปู่นิสเซ่กลายเป็นทอมเต้นิสเซ่ ผู้ซึ่งจะนำของขวัญมาให้ในเทศกาล “มิซซาของพระคริสต์” เป็นเทวดาตัวน้อยๆ ที่จะนำของขวัญมาให้เด็กๆ ที่ทำตัวดี

ในขณะเดียวกัน ลูกหลานชาวนาของปู่นิสเซ่ ก็ใช้ชีวิตผ่านการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของสังคมชาวนาในนอร์ดิคเองด้วย จากธรรมเนียมเดิมที่ลูกหลานจะผูกพันกับที่ดินหรือครอบครัวบรรพบุรุษ เนื่องด้วยครอบครัวขยายของชาวนาถือเป็นหน่วยทางการผลิต (ลองสังเกตนามสกุลที่ยังลงด้วย “son” หรือ “dotter” กันจนทุกวันนี้ อันเป็นระบบที่บอกว่าเป็นลูกเต้าเหล่าใครในสังคมชาวนา) เมื่อเวลาผ่านไปหลายชั่วอายุคนเข้า ครอบครัวก็ค่อยๆ มีขนาดเล็กลง ลูกหลานหนุ่มสาวของชาวนาที่เคยอาศัยอยู่บนผืนดินของบรรพบุรุษก็ย้ายเข้าเมือง ไปพบคู่สมรสในเมือง – กระบวนการนี้ใช้เวลายาวนานหลายชั่วอายุคน

จากที่เป็นลูกหลานของปู่นิสเซ่ในชั่วอายุคนหนึ่ง ในรุ่นถัดๆ มาพวกเขาก็ค่อยๆ กลายเป็นผู้บริโภคในสังคมเมืองนอร์ดิค ซึ่งเดินเข้าไปในซูเปอร์มาร์เก็ตและซื้อตุ๊กตาทอมเต้นิสเซ่ไปพร้อมๆ กับซานตาคลอสได้อย่างสะดวก ตราบใดที่พวกเขายังมีเงินจ่าย

จากที่เคยทำหน้าที่ลูกหลานที่ดีผู้ต้องนำข้าวต้มออกไปวางหน้าบ้านนา ก็กลายเป็นผู้บริโภคที่ดีซึ่งเดินยิ้มแย้มเข้าซูเปอร์มาร์เก็ตในเมืองแทน


อ้างอิง

– Wikipedia.com

– P.G. Foot and D. M. Wilson, The Viking Achievement (1970)

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save