เผาหัวด้วยการย้ำไปเลยว่า เส้นทางประชาธิปไตยของนอร์ดิคสมัยใหม่ไม่ได้เป็นเรื่องแน่เหมือนแช่แป้ง แต่เป็นพลวัตการต่อรองขัดแย้งของกลุ่มต่างๆ ทั้งยังได้รับผลกระทบจากปัจจัยระหว่างประเทศ ระหว่างภูมิภาค ได้รับผลกระทบจากเรื่องสงคราม เรื่องเศรษฐกิจ และทั้งหมดนี้ไม่จำเป็นจะต้องสันติในทุกครั้งไป
ผู้สังเกตการณ์ประชาธิปไตยของภูมิภาคนอร์ดิคจำนวนมาก พยายามจัดกลุ่มประเทศที่ดูเหมือนจะมีพัฒนาการประวัติศาสตร์ในเส้นทางเดียวกัน แต่กลับมีรายละเอียดที่แตกต่างกันอย่างมหาศาลของภูมิภาคนี้ จำแนกออกเป็นบุคลิกลักษณะต่างๆ
ความพยายามจัดกลุ่ม

กลุ่มหนึ่งแบ่งระหว่างนอร์ดิคตะวันตก (west Norden) คือเดนมาร์ก นอร์เวย์ และไอซ์แลนด์ กับนอร์ดิคตะวันออก (east Norden) คือสวีเดนและฟินแลนด์ กลุ่มแรกจะมีลักษณะของการเป็นประเทศทางที่่ค้าขายทางทะเลที่อยู่รอบนอกออกไปทางตะวันตก โดยเฉพาะนอร์เวย์และไอซ์แลนด์ ฝั่งนอร์ดิคตะวันตกนี้ยังมีความสัมพันธ์กับสหราชอาณาจักรทางเหนือ โดยเฉพาะสกอตแลนด์ ทั้งทางการค้า วัฒนธรรมและภาษามาอย่างยาวนาน ในขณะเดียวกันทางรอบนอกออกไปทางวันออก ฟินแลนด์เป็นเหมือนดินแดนฉนวน และมีเส้นทางการค้าในลักษณะบนพื้นดิน เชื่อมโยงกับสินค้าจากทางเหนือลงมาสู่ทะเล และมีความสัมพันธ์ทั้งบวกและลบอยู่กับมหาอำนาจอย่างรัสเซีย
อีกกลุ่มหนึ่งในเกณฑ์แบ่งระหว่างรัฐเก่า (old states) คือสองราชอาณาจักรที่ครองอำนาจมาแต่ก่อนเก่าที่เคยตั้งสหภาพคัลมาร์ (Kalmar Union) ร่วมกันมาตั้งแต่ยุคกลางจนถึงศตวรรษที่ 16 นั่นคือเดนมาร์กและสวีเดน กับรัฐใหม่ (new states) ที่บ้างได้เอกราชในศตวรรษที่ 20 อย่างนอร์เวย์ และบ้างก็กลายเป็นสาธารณรัฐ เป็นประเทศใหม่ร้อยกว่าปีที่ผ่านมานี้เองอย่าง ฟินแลนด์ และไอซ์แลนด์
หรืออีกกลุ่มหนึ่งก็ใช้ระบอบการปกครองเป็นตัวแยก ระหว่างราชอาณาจักรแกนกลางที่มีสามประเทศคือเดนมาร์ก นอร์เวย์ และสวีเดน (ซึ่งถูกเรียกว่า สแกนดิเนเวีย) และสาธารณรัฐที่อยู่ชายขอบออกไป อย่างไอซ์แลนด์และฟินแลนด์
ความพยายามในการจัดแบ่งประเภทเหล่านี้ อาจมีคำถามร่วมกันอยู่บางประการ และหนึ่งในนั้นอาจจะเป็นว่า มีอะไรที่เราเรียกว่า ‘ตัวแบบการเมืองนอร์ดิค’ (Nordic political model) อยู่หรือไม่
จุดร่วมบางประการ
สิ่งที่ประเทศในภูมิภาคนี้มีร่วมกัน เห็นเด่นออกมาจากการสังเกตการณ์จากภายนอกมีอยู่หลักๆ สามประการ
ประการแรก คือ เส้นทางการเมืองเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตยของประเทศนอร์ดิค นั้นมีลักษณะที่เสียเลือดเนื้อน้อย (ข้อยกเว้นสำคัญคือฟินแลนด์ ซึ่งจะกล่าวต่อไป)แม้ว่าประเทศเหล่านี้จะได้รับผลจากคลื่นการเปลี่ยนแปลงหลายช่วงไม่ว่าจะเป็นปี 1789, 1830, 1848 รวมไปถึงปี 1917 ก็ตาม แต่สถาบันทางการเมืองในประเทศเหล่านี้เลือกใช้การปฏิรูปในการปรับเปลี่ยนโครงสร้างอำนาจ

ประการที่สองเชื่อมโยงกัน คือ รัฐบาลการันตีความอยู่รอดของตัวเอง ด้วยการเป็นตัวขับเคลื่อนการปฏิรูปเปลี่ยนทางสังคม เศรษฐกิจ การเมืองเสียเอง การเปลี่ยนแปลงในลักษณะเช่นนี้ เป็นการเปลี่ยนแปลงจากข้างบนลงล่าง ตัวอย่างชัดเจนเช่นการปฏิรูปการเกษตรในเดนมาร์กในทศวรรษที่ 1780 การปฏิรูปรัฐธรรมนูญในเดนมาร์กปี 1849 และการปฏิรูประบอบรัฐสภาในสวีเดนปี 1866 ผลของการปฏิรูปเหล่านี้ช่วยส่งเสริมความเชื่อ(มั่น)รัฐบาลในฐานะเป็นสถาบันทางการเมืองที่ทำหน้าที่ส่งเสริมความอยู่ดีกินดีของประชาชน พร้อมๆ ไปกับการสร้างเอกลักษณ์ของชาติขึ้นในเวลาเดียวกัน
ประการที่สาม ต้องเน้นย้ำว่ามีสถาบันทางการเมืองหนึ่งที่เป็นหลัก ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงทิศทางการเมืองในนอร์ดิคอย่างชัดเจนเสมอ คือชาวนา เกษตรกรและชาวประมง ชาวนาอิสระเหล่านี้ก่อตัวกันขึ้นเป็นชนชั้น มีพรรคการเมืองที่เป็นตัวแทนของพวกเขา สะท้อนผลประโยชน์ของพวกเขาโดยตรง จึงมีแรงต่อรองในรัฐสภามาก พรรคการเมืองเหล่านี้เป็นฐานขยายความคิดเสรีนิยมในนอร์ดิคตลอดศตวรรษที่ 19 แต่มาถึงปลายศตวรรษที่ 20 เราจะเห็นว่าเกิดการเหวี่ยงกลับไปในทิศทางอนุรักษนิยมชัดเจนมากขึ้น
ความต่างก็ไม่น้อย

เมื่อเราใช้แว่นขยายส่งลงไปในเป็นกรณีๆ เราจะพบว่ามีความแตกต่างอยู่มากในการพยายามหาตัวแบบทางการเมืองนอร์ดิคที่ว่านี้
ยกตัวอย่างเช่น เราอาจจะมองเผินๆ ว่าพรรคสังคมนิยมประชาธิปไตย (Social Democracy) ครองอำนาจเสียงส่วนใหญ่ในทุกๆ แห่งทั่วนอร์ดิคหลังสงครามโลกครั้งที่สอง แต่อันที่จริงแล้ว พรรคนี้ได้เสียงส่วนใหญ่ชัดเจนเพียงในนอร์เวย์และสวีเดนเท่านั้น ไม่เคยได้เสียงส่วนใหญ่แบบ ‘แลนด์สไลด์’ เลยในเดนมาร์ก และยิ่งน้อยลงไปอีกในฟินแลนด์และไอซ์แลนด์
และการจะบอกว่าตัวแบบการเมืองของนอร์ดิคนั้นต้องไม่เสียเลือดเนื้อ เราก็ไม่สามารถพูดถึงได้ในกรณีฟินแลนด์ เพราะเกิดสงครามกลางเมืองขนาดใหญ่ในปี 1918 ระหว่างฝ่ายขาวชาตินิยมและฝ่ายแดงสังคมนิยม คนตายไปหลายหมื่นคน
ฟินแลนด์นี่เอง ที่มีสัดส่วนชนชั้นแรงงานเลือกพรรคคอมมิวนิสต์สูงแบบที่ประเทศอื่นในนอร์ดิคเทียบไม่ติด ดังที่มีคำกล่าวว่า ในครึ่งแรกของศตวรรษที่ 20 สองประเทศที่มีพรรคคอมมิวนิสต์ขนาดใหญ่ที่สุดในยุโรปนอกสหภาพโซเวียตอยู่ทางใต้และอยู่ทางเหนือ คืออิตาลีและฟินแลนด์

ความเชื่อมโยงหรือการแตกหักทางประวัติศาสตร์
ประเด็นท้ายที่สมควรยกขึ้นมาคือ มีการถกเถียงกันในหมู่ผู้สังเกตการณ์ว่า เส้นทางการมาประชาธิปไตยแบบนอร์ดิคนั้น มีความเชื่อมโยงยาวนานในประวัติศาสตร์หรือไม่อย่างไร
มาสู่ข้อสรุปบางส่วนว่า ไม่มีอะไรแน่เหมือนแช่แป้ง ไม่มีอะไรเป็นตัวชี้ในประวัติศาสตร์ว่าประเทศกลุ่มนอร์ดิคจะหลายมาเป็นประชาธิปไตยอย่างอัตโนมัติและอย่างสันติ หลายชั่วขณะในประวัติศาสตร์เกิดการเฉียดใกล้ความรุนแรงอยู่บ่อยๆ เช่นในทศวรรษที่ 1920 หรือเสถียรภาพทางการเมืองก็ไม่ได้หนักแน่นถาวรมั่นคง เช่น ในสวีเดนระหว่างปี 1920-1932 มีรัฐบาลถึง 12 ชุด ในนอร์เวย์เอง พรรคแรงงานก็หันเหออกไปจากเส้นทางสู่สังคมนิยมและเข้าสู่การเมืองแบบปฏิรูป ‘ก้าวข้ามความขัดแย้ง’
เพราะฉะนั้นก็คงไม่มีตัวแบบการเมืองนอร์ดิคตายตัวใดๆ มีเพียงแต่ความพยายามเจรจาระหว่างฝ่ายสังคมนิยมประชาธิปไตยและฝ่ายสถาบันทางการเมืองของชาวนา ที่ทำให้เกิดรัฐบาลผสมและอยู่กันไปได้
อ้างอิง
Mary Hilson, The Nordic Model: Scandinavia Since 1945 (2008)