fbpx

สปุตนิกแถวขั้วโลกเหนือ

หากถามว่าในช่วงเวลาสงครามเย็น เราจะรู้ได้อย่างไรว่าสงครามนั้นเย็นจริงๆ ก็ต้องตอบว่า หนึ่งในสมรภูมิทางการเมืองและการเจรจานั้นอยู่บริเวณประเทศนอร์เวย์ตอนเหนือด้วย

เย็นพอไหมครับ

ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะนอร์เวย์มีพรมแดนติดกับสหภาพโซเวียตเกือบ 200 กิโลเมตร ดังนั้นค่ายโลกเสรีนำโดยสหรัฐอเมริกา ก็จัดวางบริเวณดังกล่าว (รวมทั้งทางภาคเหนือสุดของสวีเดน) เป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญ

เหตุการณ์สำคัญก็คือ การที่สหภาพโซเวียตส่งดาวเทียมสปุตนิก 1 ขึ้นไปสู่วงโคจรโลกได้สำเร็จในปี 1957 เป็นดาวเทียมดวงแรกก่อนใคร ส่งผลให้ความสัมพันธ์ของนอร์เวย์กับมหาอำนาจช่วงสงครามเย็น และทั้งต่อเพื่อนบ้านของนอร์เวย์อย่างสวีเดนเปลี่ยนแปลงไป พร้อมๆ ทั้งนอร์เวย์เองก็มีส่วนในการเข้าไปสู่โต๊ะเจรจาและวางแผนกับประเทศมหาอำนาจด้วย

ประเด็นสองด้านที่ต้องพิจารณาควบคู่กันไป ก็คือเรื่องวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีด้านหนึ่ง และเรื่องการเมืองอีกด้านหนึ่ง โดยทั้งคู่เป็นส่วนสำคัญที่ขาดไม่ได้ในการพิจารณาความสัมพันธ์ของนอร์เวย์กับสงครามเย็น

วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

หลังจากสปุตนิกถูกส่งขึ้นไปสำเร็จ ก็เกิดแรงกระเพื่อมในนอร์เวย์ทันที เมื่อรัฐบาลพรรคสังคมนิยมประชาธิปไตย/แรงงาน เห็นได้อย่างรวดเร็วว่ามีการก้าวกระโดดทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในสหภาพโซเวียต

เราต้องไม่ลืมว่านอร์เวย์อยู่ในคณะกรรมาธิการสามคน (Committee of Three) ใน NATO ซึ่งอีกสองก็คือแคนาดาและอิตาลี รัฐมนตรีต่างประเทศของนอร์เวย์ ฮัลวาร์ด ลังเก (Halvard Lange) เป็นผู้ก่อตั้งสำคัญคนหนึ่งของ NATO ฝ่ายพลเรือน และตั้งแต่ปี 1957 ก็มีการเร่งขยายการวิจัยและการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์ขนานใหญ่ในสามประเทศนี้ ผ่านคณะกรรมาธิการด้านวิทยาศาสตร์ของ NATO

สมาชิก Committee of Three

แม้คณะกรรมาธิการสามคนจะก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 1956 แต่พอปีถัดมาเมื่อดาวเทียมสปุตนิกถูกส่งขึ้นไปสู่วงโจรสำเร็จ ความสัมพันธ์ระหว่างวิทยาศาสตร์ รัฐ และยุทธศาสตร์ก็เปลี่ยนไปโดยพลัน ทั้งที่ก่อนหน้านี้ สถาบันศึกษาขั้วโลกนอร์เวย์ (Norwegian Polar Institute) ลดกิจกรรมการวิจัยลงไปแล้ว แต่ก็ต้องเลี้ยวกลับ 360 องศา เมื่อสถานทูตสหรัฐอเมริกาในออสโลตัดสินใจว่าขั้วโลกเหนือเป็นบริเวณที่สำคัญทางยุทธศาสตร์เป็นอย่างยิ่ง

ดังนั้นจึงมีการกลับมาสนับสนุนการศึกษาวิจัยบริเวณขั้วโลกเหนือใหม่ เพื่อช่วยในการท้าทายอำนาจของสหภาพโซเวียตในบริเวณดังกล่าว และนอร์เวย์เองยังสถาปนาตนเองเป็นหนึ่งในประเทศแห่งขั้วโลกเหนือ (polar nation) ขึ้นมา (ซึ่งในปัจจุบันขั้วโลกเหนือเป็นบริเวณที่มีพลวัตและความตึงเครียดอย่างยิ่งเมื่อน้ำแข็งเริ่มละลาย)

สถาบันทางวิทยาศาสตร์อีกแห่งหนึ่งที่สำคัญคือ Norwegian Defense Research Establishment (NDRE) ซึ่งถือเป็นสถาบันวิจัยสมัยใหม่แห่งแรกๆ ของนอร์เวย์ มุ่งทำการวิจัยเรื่องพลังงานปรมาณู ขีปนาวุธ ระบบอาวุธสงคราม และระบบการสื่อสารทางวิทยุ หลังจากเกิดการเปลี่ยนแปลงในสหภาพโซเวียต สถาบันแห่งนี้กลายเป็นจุดสำคัญในความร่วมมือทางการวิจัยกับประเทศตะวันตก

สถานีหนึ่งของ Norwegian Polar Institute

จำนวนเงินงบประมาณหลั่งไหลจากหน่วยงานความมั่งคงสหรัฐอเมริกาเข้ามาสู่ NDRE ตลอดช่วงปี 1954-1966 รวมทั้งมีการร่วมงานอย่างใกล้ชิดกับ NASA ทำให้ในที่สุดนอร์เวย์ก็เข้าสู่ยุคอวกาศกับเขาด้วย ในปี 1962 มีการยิงจรวดหยั่งอวกาศ (sounding rocket) จากฐานปล่อยจรวด Andøya

ทั้งนี้ การสร้างฐานปล่อยจรวด และสถาบันสนับสนุนทางการทหารและการวิจัยเรื่องอวกาศที่เกาะ Andøya นี้ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจาก NATO และสหรัฐอเมริกา จนกระทั่งมีการเรียกเกาะนี้ว่าเป็น “unsinkable aircraft carrier” ของสหรัฐฯ เลยทีเดียว (คุ้นๆ นะครับ)

นอกจาก Andøya แล้ว ยังมีการสร้างศูนย์วิจัยและหอสังเกตการณ์บริเวณอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นที่ Tromsø หรือที่เมือง Kiruna ของสวีเดนทางเหนือสุด สถานที่เหล่านี้เริ่มเก็บข้อมูลธรณีฟิสิกส์ (Geophysics) เพื่อนำไปใช้พัฒนาการสื่อสารทางวิทยุ เพิ่มความเข้าใจเส้นทางบินของจรวด และคุณสมบัติทางฟิสิกส์ของน้ำแข็งและธารน้ำแข็ง ข้อมูลเหล่านี้ถูกส่งเข้าไปให้แก่หน่วยข่าวกรองของนอร์เวย์ (Etterretningstjenesten)

ดังนั้น บริเวณอาร์กติคจึงกลายเป็นด่านหน้าของสงครามเย็นอีกด่านหนึ่ง

การเจรจาทางการเมือง

ประเทศขั้วโลก และความตึงเครียดที่มากขึ้น

หนึ่งในบุคลิกภาพของนอร์เวย์ในเวทีโลกจนถึงปัจจุบัน คือเป็นนักเจรจาตัวยง ไม่ว่าจะในฐานะคนกลาง หรือในฐานะส่วนหนึ่งของการเจรจาระหว่างมหาอำนาจ

ประเด็นที่คอขาดบาดตายคือ ในเวลานั้นนโยบายของประธานาธิบดี ดไวต์ ดี. ไอเซนฮาวร์ (Dwight D. Eisenhower) และรัฐมนตรีต่างประเทศ จอห์น ฟอสเตอร์ ดัลเลส (John Foster Dulles) เริ่มไปในทิศทางของการสนับสนุนให้สมาชิกพันธมิตรโลกเสรีพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์

แต่นอร์เวย์เห็นว่า ทิศทางเช่นนี้ไม่นับรวมการพิจารณาว่าสหภาพโซเวียตจะมีท่าทีอย่างไรเลย เป็นการเร่งความตึงเครียดเปล่าๆ ในฐานะประเทศที่มีพรมแดนติดกันกับสหภาพโซเวียต นอร์เวย์ไม่ต้องการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ และในการประชุมของพรรครัฐบาลก็มีความเห็นอย่างเอกฉันท์ว่านอร์เวย์จะไม่ยอมให้มีอาวุธนิวเคลียร์ในประเทศตน

ผู้แทนของนอร์เวย์ที่เข้าไปประชุมกับ  NATO  จึงเน้นว่าจะต้องชะลอการเร่งให้มีอาวุธนิวเคลียร์ และเปิดโอกาสให้สหภาพโซเวียตแสดงความจริงใจว่าจะเปิดทางเลือกให้มีการเจรจา

ท่าทีของนอร์เวย์เช่นนี้ยังเป็นไปได้เพราะท่าทีของสวีเดนด้วย เพราะสวีเดนมีท่าทีชัดเจนที่จะไม่พิจารณาเรื่องการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ บทบาทการเป็นกลางของสวีเดนตั้งแต่ช่วงสงครามโลกครั้งที่สองทำให้มีน้ำหนัก และทำให้การเคลื่อนของนโยบายต่างประเทศของทั้งสองประเทศสแกนดิเนเวียเป็นไปในทิศทางใกล้เคียงกัน

ท่าทีของนอร์เวย์ต่อสหภาพโซเวียต

อันที่จริงแล้ว ในช่วงต้นทศวรรษที่ 1960 ความเห็นของสาธารณะนอร์เวย์มีไปในทิศทางว่าสหภาพโซเวียตก้าวหน้าในทางเทคโนโลยีและการทหารมากกว่าสหรัฐอเมริกาด้วยซ้ำ มีการใช้โต๊ะเจรจาและความร่วมมือทางการเมืองระหว่างสองประเทศ โดยเฉพาะบริเวณ North Cape ซึ่งเป็นพรมแดน มีการร่วมมือทางการวิจัยทางทะเล ตัวอย่างที่ชัดเจนคือความร่วมมือของนอร์เวย์-โซเวียตบริเวณแม่น้ำปาสวิค (Pasvik) ซึ่งเป็นแม่น้ำที่ไหลผ่านทั้งโซเวียต ทั้งนอร์เวย์ และทั้งสวีเดน ความร่วมมือนี้คือเพื่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังน้ำ

นอกจากนี้ยังมีการร่วมมือกันทางด้านวัฒนธรรมด้วย มีการลงนามข้อตกลงกันในวันที่ 12 ตุลาคม 1956 ซึ่งถือเป็นข้อตกลงทางวัฒนธรรมแรกของสหภาพโซเวียตกับประเทศสมาชิก NATO

แต่ในขณะเดียวกันบริเวณทางเหนือของนอร์เวย์นั้นก็ทำให้รัฐบาลในออสโลว์รู้สึกไม่มั่นคง เพราะประชาชนเลือกพรรคคอมมิวนิสต์สูงมาก ถึงขนาดมีการประชุมกันระหว่างผู้นำนอร์เวย์ สวีเดน และฟินแลนด์ เพื่อหารือกันเรื่อง ‘ปัญหา’ นี้

อาทิตย์เที่ยงคืนที่ North Cape

เรื่องเล่าสงครามเย็นนอกวอชิงตัน

จะเห็นได้ว่า เมื่อเรามองมาสู่ประเทศขนาดเล็กที่เป็นเพื่อนบ้านกับศัตรูของสหรัฐอเมริกาแล้ว เรื่องเล่าของสงครามเย็นจะมีน้ำเสียงที่หลากหลายมากขึ้น (ยิ่งในกรณีฟินแลนด์ก็จะยิ่งชัด) ไม่ใช่เป็นภาพขาวดำที่มักจะถูกเล่าผ่านกระทรวงต่างประเทศสหรัฐอเมริกาเพียงอย่างเดียว

แต่อาจจะเป็นเรื่องที่น่าเสียดายหรือไม่ก็ไม่ทราบได้ ที่เรื่องเล่าน้ำเสียงหลากหลายนี้มักไม่ถูกได้ยินในหลายประเทศ ที่เป็น “unsinkable aircraft carrier” ของสหรัฐฯ ตลอดช่วงสงครามเย็น และหลังจากนั้น


อ้างอิง

Stian Bones, ‘On “Sputnik Effects”: Science and Modernization in the Scandinavian North’ in Nordic Cold War Cultures: Ideological Promotion, Public Reception, and East-West Interactions (2015), 57-74. 

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save