fbpx
ปฏิบัติการไม่ใช้ความรุนแรง : บทเรียนจากไทยสู่โลก

ปฏิบัติการไม่ใช้ความรุนแรง : บทเรียนจากไทยสู่โลก

จันจิรา สมบัติพูนศิริ เรื่อง

ภาพประกอบ

 

เราติดตามการประท้วงในไทยมิใช่เพียงในฐานะคนไทยที่อยากเห็นสังคมไทยเปลี่ยนแปลงเท่านั้น แต่ยังเฝ้าดูในฐานะผู้ศึกษาปฎิบัติการไม่ใช้ความรุนแรง (nonviolent action) ชนิดที่ช่วยปลดแอกผู้คนจากอำนาจอยุติธรรม โดยมากเวลาเขียนบทความถึงการประท้วงในเมืองไทย หรือแลกเปลี่ยนความเห็นกับสื่อหรือนักกิจกรรมในไทย เรามักมองจากบริบทโลกหรือประสบการณ์จากประเทศอื่น เพื่อดูว่าขบวนการต่อสู้ในไทยสามารถเรียนรู้อะไรจากคนข้างนอกได้บ้าง

ทว่าในช่วงเกือบหกเดือนที่ผ่านมา เราคิดว่าการประท้วงในไทยกำลังส่งมอบบทเรียนสำคัญให้ขบวนการประชาชนต้านอำนาจอยุติธรรมทั่วโลก อีกทั้งยังทำให้นักวิจัยด้านปฎิบัติการไม่ใช้ความรุนแรงต้องตรึกตรองถึงองค์ความรู้ทั้งชุดใหม่

 

องค์ความรู้ปฏิบัติการไม่ใช้ความรุนแรงกระแสหลัก

 

ปรากฏการณ์ที่สังคมไทยรู้จักกันในนาม ‘สันติวิธี’ มีรากเหง้าทางความคิดจากฐานศาสนา มนุษยนิยมและยุคเรืองปัญญา (Enlightenment) ในทางหนึ่ง นักคิดและนักปฏิบัติ ‘สันติวิธี’ ยุคแรกๆ คือกลุ่มศาสนาที่ต่อต้านความไม่เป็นธรรมหรือสงคราม โดยเห็นว่าสันติภาพควรเป็นทั้งเป้าหมายและวิธีการ ถ้าต้องการสังคมที่มีสันติภาพ ก็ต้องสู้ด้วยวิธีที่สันติ ไม่เห็นว่าฝ่ายตรงข้ามกับขบวนการต่อสู้เป็นศัตรู ฉะนั้นจึงไม่ควรเข่นฆ่ากระทั่งผู้กดขี่

ในช่วงทศวรรษที่ 1950 ขณะที่การศึกษาปรากฏการณ์ทางสังคมพึ่งพาวิธีทางวิทยาศาสตร์มากขึ้น งานวิจัยด้านสันติภาพก็ปรับเปลี่ยน เริ่มสลัดคราบวิธีคิดเชิงคุณค่า (normative) ที่แฝงฝังในความเข้าใจเรื่องสันติภาพ การศึกษา ‘สันติวิธี’ ในช่วงนี้มีลักษณะปฏิฐานนิยม (positivist) มากขึ้น ผสานสังคมวิทยาสมัยใหม่เข้ากับพฤติกรรมศาสตร์ การศึกษาเช่นนี้จึงชูความเป็น ‘เครื่องมือ’ ของสันติวิธี และการตัดสินใจแบบมีเหตุมีผล (rational choice) ของคนที่เลือกใช้สันติวิธี ฉะนั้น นักทฤษฎีคนสำคัญในยุคสร้างศาสตร์สันติวิธีอย่างยีน ชาร์ป (Gene Sharp) จึงสรุปจากตัวอย่างการใช้สันติวิธีที่เขารวบรวมมาได้ราว 198 วิธีว่า คนเลือกใช้สันติวิธีเพราะเห็นว่าเป็นเครื่องมือต่อสู้ที่มีประสิทธิภาพในยามที่ต้องเผชิญศัตรูที่มีกำลังอาวุธหรือทรัพยากรมากกว่า กล่าวอีกนัยหนึ่งได้ว่า คนตัดสินใจใช้สันติวิธีไม่ใช่เพราะรักเพื่อนมนุษย์ แต่เพราะเมื่อคิดคำนวนด้วยเหตุผลเรื่องต้นทุนและราคา พบว่าสันติวิธีทรงประสิทธิภาพมากกว่าการใช้อาวุธ

ด้วยเหตุนี้ ปฏิบัติการไม่ใช้ความรุนแรง (nonviolent action) รวมถึงคำอื่นที่ประดิษฐ์ขึ้นในบริบททางญาณวิทยาเดียวกัน อย่างเช่น ความขัดแย้งแบบไม่รุนแรง (nonviolent conflict) หรือพลังประชาชนต้านอำนาจ (civil resistance) จึงแทนที่ ‘สันติวิธี’ เพราะในวิธีคิดเช่นนี้ สันติหรือไม่สันติไม่ใช่ประเด็นหลักอีกต่อไป สิ่งสำคัญคือ ยุทธศาสตร์ที่จะอำนวยให้การต่อสู้ด้วยปฏิบัติการไม่ใช้ความรุนแรงทรงพลัง จนสามารถคว้าชัยชนะทางการเมือง ช่วยให้ขบวนการต่อสู้บรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ได้

สำหรับนักเรียนในสำนักนี้ ยุทธศาสตร์ที่มีประสิทธิภาพต้องมุ่งบ่อนเซาะฐานทางอำนาจของฝ่ายตรงข้าม กระนั้นก็ตาม ความเข้าใจเรื่องฐานทางอำนาจยังคงอยู่ในกรอบ ‘ประจักษ์นิยม’ ซึ่งเป็นหมุดหมายขององค์ความรู้ปฏิบัติการไม่ใช้ความรุนแรงสมัยใหม่คือ ต้องเป็นอำนาจที่จับต้องได้ เช่นอำนาจเชิงสถาบัน (รัฐบาล ระบบราชการ หรือกองทัพ เป็นต้น) แม้ชาร์ปตระหนักว่าสถาบันเหล่านี้อยู่ได้เพราะมีอุดมการณ์ ธรรมเนียมปฏิบัติ และความคิดความเชื่อในสังคมค้ำจุนอยู่ แต่ก็มิได้อธิบายอย่างละเอียดว่าจะสู้ในเชิงความคิดและวัฒนธรรมอย่างไร วิธีคิดแบบชาร์ปข้ามช็อตไปเลยว่า เมื่อคนปลดแอกจากการครอบงำทางวัฒนธรรมแล้ว ต้องหายุทธศาสตร์เพื่อโน้มน้าวและกดดันประชาชน รวมถึงชนชั้นนำให้เปลี่ยนมาสนับสนุนขบวนการต่อสู้ ด้วยเหตุนี้ ยุทธศาสตร์ที่ได้ผลดีจึงวัดจากการที่ขบวนการขยายแนวร่วมจากคนที่เห็นด้วยกับกลุ่มตนอยู่แล้วไปสู่กลุ่มอื่นๆ ซึ่งอาจไม่มีฐานทางอุดมการณ์ร่วมกัน แต่สนับสนุนการต่อสู้เพราะเห็นผลประโยชน์ร่วมกันบางอย่าง

เพื่อให้ยุทธศาสตร์ขยายแนวร่วมเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เป้าหมายที่ขบวนการต่อสู้ประกาศสู่สาธารณะจึงควรเป็นเป้าหมายที่แนวร่วมอันหลากหลายนี้ยอมรับร่วมกันได้ เป้าหมายจึงมักเน้นเรื่องการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบาย กฎหมาย หรือการเปลี่ยนผู้นำรัฐบาล มากกว่าการเปลี่ยนเชิงระบบแบบถอนรากถอนโคน เนื่องจากเป้าหมายประการหลังอาจทำให้ ‘วงแตก’ โดยเฉพาะกลุ่มชนชั้นนำที่มีแนวโน้มเปลี่ยนฝั่งอาจตัดสินใจอยู่เฉยๆ รอดูสถานการณ์ หรือแย่ไปกว่านั้นคือ ยังคงสนับสนุนผู้มีอำนาจต่อไป ยิ่งชนชั้นนำมีเอกภาพมากเท่าไหร่ โอกาสที่ขบวนการต่อสู้ภาคประชาชนจะสำเร็จก็น้อยลง

ปัญหาของฐานคิดเช่นนี้เริ่มปรากฏให้เห็น โดยเฉพาะในขบวนการที่มุ่งเปลี่ยนแปลงไปสู่ระบอบประชาธิปไตย ปฏิบัติการไม่ใช้ความรุนแรงถูกใช้โดยขบวนการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยมากที่สุดในช่วงคลื่นประชาธิปไตยลูกที่สาม (ระหว่างปลายทศวรรษที่ 1970-1990) ในยุโรปตะวันออก ละตินอเมริกา และเอเชีย รวมถึงไทยหลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬปี 1992 การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวมีอายุสั้น ประชาธิปไตยไม่อาจหยั่งราก และหวนกลับสู่อำนาจนิยมหรือกลายเป็นระบอบผสม (hybrid regime)

ปัจจัยประการหนึ่งคือ การเปลี่ยนสู่ประชาธิปไตยโดยพลังประชาชนเป็นการเปลี่ยนเชิงตัวบุคคล (หรือเอาผู้นำเผด็จการออกจากตำแหน่ง) มากกว่าเชิงระบบและวัฒนธรรมที่ค้ำจุนระบอบอำนาจนิยมนั้นอยู่ ในกว่าสามประเทศจากร้อยกว่าประเทศซึ่งเปลี่ยนสู่ประชาธิปไตยในช่วงคลื่นลูกที่สาม พบว่าเครือข่ายอำนาจเก่ายังฝังตัวในระบอบประชาธิปไตยใหม่ และคอยกัดกร่อนความชอบธรรมของสถาบันประชาธิปไตย หรืออาศัยจังหวะกลับมาทำลายระบอบนี้ในที่สุด

 

บทเรียนจากไทย

 

หากมองโดยผิวเผิน ข้อเรียกร้องสามประการของผู้ชุมนุมในไทยมีความลักลั่นอยู่ คือข้อแรกเรื่องให้นายกฯ ประยุทธ์ลาออก และข้อสองเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญ ดูจะส่งเสริมยุทธศาสตร์ขยายแนวร่วมของขบวนการ กล่าวคือ กลุ่มที่เคยสนับสนุนคสช. ซึ่งไม่พอใจกับผลงานของรัฐบาลปัจจุบัน หรือเห็นว่ารัฐธรรมนูญฉบับ 2560 พาประเทศถอยลงคลองอาจเป็นแนวร่วมสำคัญของขบวนการประชาธิปไตยได้ ในแง่นี้เป้าหมายและยุทธวิธีของผู้ชุมนุมมิได้แหวกไปจากฐานคิดเรื่อง ‘การตัดสินใจอย่างเป็นเหตุเป็นผล’ ที่อธิบายไปข้างต้นมากนัก

ความท้าทายอยู่ที่ข้อเรียกร้องประการที่สามว่าด้วยการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ซึ่งผลักให้ฝ่ายอนุรักษนิยมจำนวนหนึ่งที่ไม่พอใจกับการทำงานของรัฐบาลอยู่ในภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออก บางคนตัดสินใจอยู่เฉยๆ เพราะแม้จะเห็นด้วยกับผู้ชุมนุม แต่ไม่แน่ใจว่าควรพูดถึงเรื่องนี้ในเวลานี้หรือไม่ ขณะที่บางฝ่ายก็หันกลับไปสนับสนุนพลังฝ่ายขวาที่ตัดสินไปแล้วว่า ข้อเรียกร้องข้อที่สามคือความพยายามเปลี่ยนระเบียบการเมืองแบบถึงรากถึงโคน (พูดภาษาชาวบ้านคือ ‘ล้มเจ้า’) ถ้าตัดสินจากวิธีคิดแบบชาร์ป ข้อเรียกร้องข้อที่สามเป็นโทษมากกว่าเป็นคุณในแง่ยุทธศาสตร์ เพราะทำให้วงแตก คนที่ควรเปลี่ยนฝั่งมาสนับสนุนขบวนการกลับลังเลใจ หรือกระทั่งถอยกลับสู่จุดยืนเดิมคือไม่เอาประชาธิปไตย

กระนั้นก็ดี หลายคนคงเห็นด้วยกับเราว่าช่วงหกเดือนที่ผ่านมา ‘รหัสทางวัฒนธรรม’ ของสังคมไทยเปลี่ยนไปมาก เพราะข้อเรียกร้องข้อที่สามผลักเพดานให้คนไทยเริ่มมีพื้นที่พูดถึงสถาบันกษัตริย์อย่างตรงไปตรงมาและมีเหตุผลข้อมูลรองรับ แม้ว่าจะมีการใช้กฎหมายลงโทษแกนนำผู้เปิดพื้นที่ทางวัฒนธรรมให้ผู้คนอย่างต่อเนื่อง แต่ก็ไม่สามารถหยุดการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมนี้ได้ กระทั่งฝ่ายขวาที่ไม่ชอบการ ‘จาบจ้วง’ ของผู้ชุมนุมก็ถูกดึงมาสนทนาเรื่องสถาบันกษัตริย์ในที่แจ้งอย่างรายการถามตรงๆ กับจอมขวัญ ช่องไทยรัฐได้

แน่นอนว่าการเปลี่ยนรหัสทางวัฒนธรรมเช่นนี้ จะลากให้การต่อสู้ยาวนาน ยากที่จะบรรลุเป้าหมายข้อที่หนึ่งหรือข้อที่สองได้ในเวลาอันสั้น เพราะเหตุเรื่องขั้วทางการเมืองของชนชั้นนำที่กล่าวไว้ข้างต้น แต่หากคิดว่าเราล้มเหลวมาแล้วจากการเปลี่ยนแปลงสู่ประชาธิปไตยในช่วงหลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ซึ่งเปลี่ยนเพียงผู้นำเผด็จการออกไปจากตำแหน่งในเวลานั้น แต่เครือข่ายอำนาจและวัฒนธรรมที่ยังคงค้ำจุนระบอบนี้ยังคงอยู่ การเริ่มเปลี่ยนรหัสทางวัฒนธรรมเช่นนี้อาจช่วยให้ประชาธิปไตยมีที่ทางในวัฒนธรรมไทยมากขึ้น และระเบียบการเมืองประชาธิปไตย (democratic political order) หยั่งรากได้สักวันหนึ่ง

สำหรับผู้ศึกษาปฏิบัติการไม่ใช้ความรุนแรง บทเรียนสำคัญจากการต่อสู้ครั้งนี้อาจคือ การตั้งคำถามกับญาณวิทยาเชิงปฎิฐานนิยมที่ครอบงำองค์ความรู้กระแสหลักอยู่ การตัดสินใจแบบมีเหตุมีผล ไม่มีตรรกะสากลที่ใช้ได้แบบครอบจักรวาล เป้าหมายและยุทธศาสตร์ที่อาจดูบรรลุผลได้ยาก เช่นการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรม อาจเป็นจุดเริ่มต้นการเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืนได้

โจทย์ที่ผู้ชุมนุมอาจต้องคิดต่อไปคือ จะแปลงพลังทางวัฒนธรรมเป็นต้นทุนทางการเมืองเพื่อให้ขับเคลื่อนการต่อสู้อันยาวนานข้างหน้าได้อย่างไร

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save