fbpx

ทำความเข้าใจ #ธุรกิจสว และ #เมียน้อยสว ผ่านมุมมองปฏิบัติการไร้ความรุนแรง

แทบจะในทันทีหลังจากการลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีของสมาชิกรัฐสภาในวันที่ 13 กรกฎาคม 2566 สิ้นสุดลง โดยผลปรากฏว่า นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจากพรรคก้าวไกล ซึ่งชนะการเลือกตั้งมาเป็นอันดับหนึ่งด้วยคะแนนเสียงเลือกตั้งกว่า 14 ล้านเสียง ได้รับความเห็นชอบจากสมาชิกรัฐสภาไม่ถึง 376 เสียง ทำให้ไม่ได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรี ตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งต่างเต็มไปด้วยความรู้สึกผิดหวังและขุ่นเคืองที่สมาชิกรัฐสภาไม่เคารพผลการเลือกตั้งที่มีผู้ไปใช้สิทธิมากถึงร้อยละ 75.22 อันถือเป็นการเลือกตั้งที่มีผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งสูงที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทย

หนึ่งในปฏิกิริยาต่อผลการลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีดังกล่าว ได้แก่ การปรากฏเทรนด์ทวิตเตอร์และแคมเปญ #ธุรกิจสว ขึ้นในชั่วข้ามคืน ด้วยการส่งต่อข้อมูลธุรกิจของวุฒิสมาชิกที่งดออกเสียงและโหวตไม่เห็นชอบให้นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นนายกรัฐมนตรี ตลอดจนบรรดาคณะกรรมการเลือกตั้ง (กกต.) รวมถึงครอบครัวของพวกเขา เพื่อชี้ชวนกันไม่ให้สนับสนุนธุรกิจเหล่านั้น ในขณะที่บรรดาห้างร้าน-ธุรกิจต่างๆ ก็พากันประกาศไม่ให้การต้อนรับวุฒิสมาชิก กกต. และครอบครัวของพวกเขาด้วย

ยังไม่ทันที่กระแส #ธุรกิจสว จะสร่างซาไป ก็ปรากฏอีกเทรนด์ทวิตเตอร์และแคมเปญใหม่ #เมียน้อยสว ขึ้น ผู้ใช้โซเชียลมีเดียประกาศจะช่วยกันสืบหาอนุภรรยาของบรรดาสมาชิกวุฒิสภา (และอาจรวมถึงกรรมการการเลือกตั้งด้วย) สังคมไทยมีปฏิกิริยาที่หลากหลายต่อแคมเปญทั้งสองนี้ บ้างว่าเป็นการร่วมกันกดดันให้สมาชิกวุฒิสภาเคารพเสียงของประชาชนอย่างสร้างสรรค์ ทว่าในอีกทางหนึ่ง ก็เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการบังคับข่มขู่ บางคนถึงกับกล่าวหาว่าสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นนี้ไม่ต่างอะไรกับการล่าแม่มดเสียด้วยซ้ำ

แท้จริงแล้ว #ธุรกิจสว และ #เมียน้อยสว ถือเป็นความรุนแรงหรือไม่และเส้นแบ่งระหว่างความรุนแรง การไม่ใช้ความรุนแรงในเรื่องนี้อยู่ตรงไหนแน่ แนวคิดเรื่องปฏิบัติการไร้ความรุนแรง (nonviolent action) อาจมีส่วนช่วยให้เราสามารถทำความเข้าใจปรากฏการณ์ #ธุรกิจสว และ #เมียน้อยสว ที่กำลังเกิดขึ้นในสังคมไทยตอนนี้ได้ชัดเจนขึ้นบ้าง

ปฏิบัติการไร้ความรุนแรงเป็นทั้งการกระทำและการงดเว้นจากการกระทำ

ปฏิบัติการไร้ความรุนแรง (nonviolent action) หรือที่สังคมไทยมักรู้จักกันในนามของ ‘สันติวิธี’ นั้นเป็นปฏิบัติการที่มุ่งท้าทาย-เปลี่ยนแปลงความขัดแย้งทางสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง โดยไม่ใช้ความรุนแรง คำจำกัดความเบื้องต้นนี้ทำให้ผู้คนจำนวนมากเข้าใจไปว่าปฏิบัติการไร้ความรุนแรงนั้นจำเป็นต้องหมายถึงการลุกขึ้นมา ‘กระทำ’ อะไรบางอย่าง เช่น การประท้วงเชิงสัญลักษณ์หรือการลงถนน

ทั้งนี้ ยีน ชาร์ป (Gene Sharp) นักวิชาการผู้นำเสนอทฤษฎีปฏิบัติการไร้ความรุนแรงเอาไว้อย่างเป็นระบบที่สุดคนหนึ่งของโลก เรียกปฏิบัติการไร้ความรุนแรงในรูปแบบนี้ว่าเป็น ‘act of commission’ ซึ่งหมายถึง การกระทำโดยไม่ใช้ความรุนแรงที่ผู้คนในสังคมมักไม่กระทำกันในชีวิตประจำวัน ถูกคาดหวังด้วยบรรทัดฐานของสังคม กระทั่งอาจรวมถึงถูกกำหนดโดยตัวบทกฎหมายไม่ให้กระทำสิ่งดังกล่าว[1] กล่าวคือ ในห้วงยามปกติ ผู้คนในสังคมต่างมุ่งทำมาหากินและดำเนินชีวิตตามวิถีทางของตนเอง พวกเขาย่อมไม่ถูกคาดหวังให้ผละงานเพื่อไปประท้วงหรือลงถนน กระทั่งในบางห้วงเวลา เช่น ระหว่างที่มีการบังคับใช้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน การลงถนนหรือออกไปประท้วงถือเป็นกิจกรรมต้องห้ามที่ผิดกฎหมายเสียด้วยซ้ำ ทว่า เพื่อแสดงออกถึงความขุ่นเคืองใจหรือเรียกร้องให้สมาชิกคนอื่นๆ ในสังคมหันมาให้ความสนใจกับความไม่ชอบมาพากลที่กำลังดำเนินไปในสังคม ผู้คนจำนวนหนึ่งก็เลือกที่จะทำในสิ่งที่ไม่ได้กระทำในชีวิตประจำวัน หรือถูกคาดหวังด้วยบรรทัดฐานของสังคม กระทั่งถูกกำหนดโดยตัวบทกฎหมายไม่ให้กระทำได้

ในทำนองเดียวกัน การที่บรรดาผู้ใช้โซเชียลมีเดียเชิญชวนให้ช่วยกันสืบหา #เมียน้อยสว สามารถพิจารณาเป็นปฏิบัติการไร้ความรุนแรงในรูปแบบ act of commission ได้ เพราะโดยปกติแล้วในหมู่ประชาชนทั่วไปก็คงไม่มีใครสนใจใคร่รู้จนต้องลุกขึ้นมาสืบเสาะหาว่าใครเป็นอนุภรรยาของใครบ้าง นอกจากนี้ หนึ่งในตัวอย่างของปฏิบัติการไร้ความรุนแรงยังระบุถึงการปฏิเสธที่จะมีเพศสัมพันธ์เพื่อชักนำให้บุคคลทำหรือไม่ทำบางสิ่งเอาไว้ด้วย ดังนั้นแทนที่จะสืบหา #เมียน้อยสว เพื่อประจานเขาให้อับอายขายหน้า บรรดาอนุภรรยาเหล่านี้อาจถูกชักชวนให้ร่วมเป็น ‘นักปฏิบัติการไร้ความรุนแรง’ ด้วยก็เป็นได้ ทั้งหมดนี้ถือเป็นปฏิบัติการไร้ความรุนแรงหรือสันติวิธีได้ ตราบใดที่ไม่ได้มีการบังคับขู่เข็ญต่อกัน

อย่างไรก็ตามการลุกขึ้นมากระทำอะไรบางอย่างไม่ใช่ปฏิบัติการไร้ความรุนแรงเพียงรูปแบบเดียวที่มีอยู่ ปฏิบัติการไร้ความรุนแรงอีกรูปแบบหนึ่งที่ทรงพลังไม่แพ้กัน กระทั่งในบางกรณีอาจทรงพลังเสียยิ่งกว่าแบบแรก ได้แก่ การงดเว้นจากการกระทำ หรือที่เรียกว่า ‘act of omission’ ซึ่งหมายถึง การงดเว้นจากการกระทำที่ผู้คนมักจะปฏิบัติอยู่ในชีวิตประจำวัน ถูกคาดหวังโดยบรรทัดฐานของสังคม กระทั่งถูกกำหนดโดยตัวบทกฎหมายให้ต้องกระทำเช่นนั้น[2]

ปรากฏการณ์ #ธุรกิจสว สามารถทำความเข้าใจได้ผ่านแนวคิด act of omission นี้ นั่นคือ ในทางหนึ่ง ในฐานะผู้บริโภค เราทั้งหลายย่อมต้องจับจ่ายใช้สอยสินค้าอุปโภคและบริโภคต่างๆ กันอยู่เป็นปกติ ทว่า เราก็อาจเลือกงดเว้นการอุดหนุนสินค้าอุปโภคและบริโภคบางอย่างที่เราไม่ต้องการให้ความสนับสนุนเพราะเห็นว่าเป็นธุรกิจที่ไม่ถูกต้องชอบธรรมได้ ในอีกทางหนึ่ง ผู้ประกอบการธุรกิจต่างๆ ย่อมต้องการการอุดหนุนจากผู้บริโภคไม่ว่าเขาหรือเธอจะเป็นใครก็ตาม ดังนั้นการที่บรรดาผู้ประกอบการบางรายเลือกที่จะงดเว้นให้บริการกับลูกค้าบางคนหรือบางกลุ่มจึงเป็นเรื่องที่สะท้อนถึงความต้องการสื่อสารถึงความไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่พวกเขาเห็นว่าไม่ถูกต้องบางอย่างในสังคม

ฐานคิดและประเภทของการไม่ให้ความร่วมมือโดยไร้ความรุนแรง

การงดเว้นจากการกระทำที่ปฏิบัติอยู่ในชีวิตประจำวันถูกคาดหวังโดยบรรทัดฐานของสังคม กระทั่งถูกกำหนดโดยตัวบทกฎหมายให้ต้องกระทำ หรือที่เรียกโดยรวมว่า ‘การไม่ให้ความร่วมมือโดยไร้ความรุนแรง’ (nonviolent non-cooperation) วางอยู่บนพื้นฐานความเชื่อสำคัญว่า ทรราชนั้นยังคงยืนหยัดอยู่ในอำนาจได้ก็ด้วยการสนับสนุนของประชาชน ดังที่สะท้อนอย่างชัดเจนอยู่ในคำกล่าวของปราชญ์ชาวฝรั่งเศส Étienne de La Boétie (ค.ศ. 1530-1563) ว่า “ทรราชนั้นมีเพียงสองตา สองมือและมีเพียงร่างเดียว เขาไม่ได้มีอะไรอื่นมากไปกว่าผู้ที่อ่อนด้อยที่สุดในหมู่ประชาชน เขาไม่ได้มีอะไรมากไปกว่าพลังที่เรามอบให้แก่เขาเพื่อทำลายพวกเราด้วยกันเอง” ดังนั้นแล้ว “ถ้าเราไม่ให้อะไรแก่ทรราช และถ้าไม่ยินยอมเชื่อฟังทรราช โดยไม่ต้องต่อสู้ ไม่ต้องลงมือฟาดฟันแม้แต่เพียงครั้งเดียว ทรราชก็จะดูเปล่าเปลือยทำอะไรไม่สำเร็จ และไม่สามารถจะทำอะไรต่อไปได้ เฉกเช่นรากต้นไม้ ซึ่งหากปราศจากดินและอาหารแล้ว กิ่งไม้ก็จะเฉาและตายไปในที่สุด”[3]

ในงานศึกษาของยีน ชาร์ปแบ่งการไม่ให้ความร่วมมือโดยไร้ความรุนแรงออกเป็น 3 มิติ ได้แก่

มิติแรก การไม่ให้ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ หนึ่งในรูปแบบการไม่ให้ความร่วมมือทางเศรษฐกิจที่มักถูกนำมาใช้กันอย่างแพร่หลายที่สุด ได้แก่ การบอยคอตหรือคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ ซึ่งสามารถดำเนินการได้โดยผู้คนหลากหลายกลุ่ม อาทิ ผู้บริโภคปฏิเสธที่จะซื้อสินค้าหรือใช้บริการของธุรกิจที่ไม่ต้องการสนับสนุน ผู้ผลิตต้นทาง (suppliers) ปฏิเสธที่จะขายหรือจัดส่งผลิตภัณฑ์ให้แก่ธุรกิจนั้นๆ ในขณะที่ผู้ขายปลีกก็อาจปฏิเสธที่จะซื้อหรือขายสินค้าชนิดใดชนิดหนึ่ง หรือปฏิเสธจะเช่าหรือให้เช่าที่พักหรือที่ดินเพื่อการประกอบธุรกิจที่ไม่ต้องการสนับสนุนได้ นอกจากนี้ การไม่ให้ความร่วมมือทางเศรษฐกิจยังรวมถึงการที่ประชาชนในฐานะเจ้าของทรัพยากรทางการเงินร่วมกันถอนเงินออกจากธนาคารหรือปฏิเสธจะทำธุรกรรมกับธนาคารเพื่อแสดงออกว่าไม่สนับสนุนการดำเนินการของสถาบันทางการเงินนั้นๆ การไม่ให้ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอีกรูปแบบหนึ่งที่เกิดขึ้นบ่อยครั้ง คือ การนัดหยุดงาน ซึ่งสามารถทำได้ทั้งในลักษณะของการนัดหยุดงานในเชิงสัญลักษณ์ในช่วงเวลาสั้นๆ เช่น หนึ่งชั่วโมง หนึ่งวัน หรือหนึ่งสัปดาห์ เพื่อแสดงทัศนะของคนงาน พนักงานหรือข้าราชการต่อเรื่องใดเรื่องหนึ่ง หรือในลักษณะของการนัดหยุดงานจนกว่าข้อเรียกร้องจะได้รับการตอบสนองก็ได้

มิติที่สอง การไม่ให้ความร่วมมือทางสังคม เป็นการปฏิเสธที่จะมีความสัมพันธ์ทางสังคมตามปกติหรือคบค้าสมาคมกับบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่ถือว่าเป็นผู้ก่อให้เกิดความไม่ถูกต้องหรือความอยุติธรรมบางอย่าง รวมทั้งการปฏิเสธที่จะปฏิบัติตามขนบธรรมเนียมในสังคมบางประการ อาทิ การปฏิเสธที่จะจัดหรือเข้าร่วมกิจกรรมทางสังคมและกีฬา ตลอดจนงานพบปะสังสรรค์หรือการแสดงดนตรี

มิติที่สาม การไม่ให้ความร่วมมือทางการเมืองอาจเป็นปฏิบัติการที่กระทำโดยประชาชนหรือเจ้าหน้าที่รัฐก็ได้ ในขณะที่ประชาชนสามารถแสดงออกว่าไม่ให้ความสนับสนุนนโยบายรัฐบางประการ ตลอดจนประกาศคว่ำบาตรตำแหน่งทางการเมืองหรือองค์กรรัฐบางองค์กรได้อย่างเปิดเผย บุคลากรของรัฐก็อาจมีส่วนร่วมในปฏิบัติการไม่ให้ความร่วมมือทางการเมืองได้โดยการไม่ปฏิบัติตามคำสั่งที่เห็นว่าไม่ชอบธรรม การปฏิเสธที่จะส่งมอบคำสั่งที่ไม่ชอบธรรมนั้นไปยังผู้ใต้บังคับบัญชาหรือไม่ส่งผ่านข้อมูลที่จำเป็นไปยังผู้มีอำนาจตัดสินใจ หรืออย่างน้อยก็หน่วงเหนี่ยวหรือถ่วงเวลาที่จะปฏิบัติตามคำสั่งอันไม่ชอบธรรมนั้นให้นานที่สุดหรือไม่ก็ดำเนินการตามคำสั่งนั้นให้มีประสิทธิภาพน้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้

‘ความสำเร็จ’ ของปฏิบัติการไร้ความรุนแรง

ปฏิบัติการไร้ความรุนแรงไม่ว่าจะด้วยวิธีการลงมือกระทำอะไรบางอย่างหรืองดเว้นจากการกระทำบางอย่างนั้น อาจส่งผลให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ สังคมและการเมืองผ่านกลไกพื้นฐาน 2 ประการ ได้แก่

ประการแรก การเปลี่ยนทัศนะ (conversion) ในบางกรณี ความมุ่งมั่นที่จะไม่ใช้ความรุนแรงกับฝ่ายตรงข้าม กระทั่งยอมรับความเจ็บปวดจากการกระทำของฝ่ายตรงข้ามโดยไม่ตอบโต้ด้วยความรุนแรงนั้นกลายเป็น ‘พาหะ’ สำคัญที่สามารถเข้าถึงอารมณ์ความรู้สึกของฝ่ายตรงข้าม จนอาจทำให้ฝ่ายตรงข้ามฉุกคิดต่อความอยุติธรรมที่เขามีส่วนร่วมกระทำ แล้วจึงตัดสินใจเปลี่ยนแปลงทัศนะและพฤติกรรมของตนเองไปในที่สุด

ประการที่สอง การบังคับโดยไร้ความรุนแรง (nonviolent coercion) บ่อยครั้งฝ่ายตรงข้ามหรือคู่ขัดแย้งของนักปฏิบัติการไร้ความรุนแรงไม่ได้เปลี่ยนพฤติกรรมของพวกเขาเพราะทัศนะที่เปลี่ยนแปลงไป หากแต่จำเป็นต้องยอมตามข้อเรียกร้องบางส่วนหรือทั้งหมดของนักปฏิบัติการไร้ความรุนแรงเพราะต้องการที่จะลดทอนการสูญเสียผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ สังคมและการเมืองของตน อันเป็นผลมาจากปฏิบัติการไร้ความรุนแรงนั้น [4] กรณี #ธุรกิจสว ทั้งการคว่ำบาตรธุรกิจที่ดำเนินการโดยสมาชิกวุฒิสภา กกต. และครอบครัว ตลอดจนการที่บรรดาห้างร้าน-ธุรกิจประกาศไม่ให้การต้อนรับวุฒิสมาชิก กกต. และครอบครัว รวมทั้งการเชิญชวนให้ประชาชนช่วยกันสืบหา #เมียน้อยสว นั้นเป็นปฏิบัติการไร้ความรุนแรงที่มุ่งให้เกิดความเปลี่ยนแปลงผ่านการบังคับโดยไร้ความรุนแรงนี้เป็นสำคัญ

การไม่ให้ความร่วมมือโดยไร้ความรุนแรงแตกต่างจากการข่มขู่หรือล่าแม่มด และประเด็นที่พึงพิจารณา

เราจำเป็นต้องทำความเข้าใจว่าการไม่ให้ความร่วมมือโดยไร้ความรุนแรงนั้นถือเป็นการบังคับโดยไร้ความรุนแรง (nonviolent coercion) ซึ่งแตกต่างโดยสิ้นเชิงจากการบังคับข่มขู่ด้วยความรุนแรง นั่นคือในขณะที่การบังคับโดยความรุนแรงมีความมุ่งหมายโดยเจตนาที่จะก่อความเจ็บปวดทางร่างกายหรือก่อให้เกิดความตาย แต่การบังคับโดยไร้ความรุนแรงนั้นเป็นผลมาจากการปฏิเสธที่จะให้ความร่วมมือหรือให้ความสนับสนุนต่อบุคคล กลุ่มบุคคลหรือระบบที่เห็นว่าเป็นบ่อเกิดของความไม่ถูกต้องและความอยุติธรรมในสังคม เพื่อมุ่งโน้มน้าว-ผลักดันให้บุคคลหรือกลุ่มบุคคลเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมอันไม่พึงประสงค์ของพวกเขาเสีย

ในขณะที่การล่าแม่มดมักมีองค์ประกอบของถ้อยคำที่มุ่งสร้างความเกลียดชังหรือยุยงให้เกิดความรุนแรง (hate speech) ตลอดจนมุ่ง ‘ชี้เป้า’ เพื่อนำไปสู่การประทุษร้ายหรือลงโทษนอกกฎหมาย ปฏิบัติการไร้ความรุนแรงจำเป็นจะต้องหลีกเลี่ยงองค์ประกอบแห่งความเกลียดชังที่อาจนำไปสู่ความรุนแรงทางกายภาพเหล่านี้อย่างเคร่งครัด

พูดอีกนัยหนึ่งคือ ในขณะที่เป้าประสงค์ของการล่าแม่มดหรือการบังคับข่มขู่ด้วยความรุนแรงอยู่ที่การบังคับให้ฝ่ายตรงข้ามหรือคู่ขัดแย้งต้องยอมตามข้อเรียกร้อง เพราะห่วงกังวลในความปลอดภัยของตนหรือกลัวว่าจะถูกพรากชีวิตไป ในกรณีของการไม่ให้ความร่วมมือโดยไร้ความรุนแรงหรือการบังคับโดยไร้ความรุนแรงนั้น ฝ่ายตรงข้ามหรือคู่ขัดแย้งสามารถเลือกได้ว่าจะยอมตามข้อเรียกร้องหรือไม่ ตราบเท่าที่เขายังสามารถแบกรับการสูญเสียผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ สังคมและการเมืองของตน (ซึ่งไม่ใช่การข่มขู่เรื่องความปลอดภัยหรือการขู่เอาชีวิต) จากปฏิบัติการไร้ความรุนแรงนั้นๆ ได้

อย่างไรก็ตาม ใช่ว่าการไม่ให้ความร่วมมือโดยไร้ความรุนแรงจะปราศจาก ‘ผลข้างเคียง’ หรือผลกระทบใดๆ เลย ตัวอย่างเช่น เมื่อกรกฎาคม 2564 แคมเปญ #แบนfoodpanda ที่ผู้คนเชิญชวนกันเลิกใช้บริการแอปพลิเคชันแพลตฟอร์มสั่งอาหารเจ้าดัง จนส่งผลให้ธุรกิจดังกล่าวต้องออกแถลงการณ์ขอโทษในชั่วข้ามคืนนั้น ก็ไม่อาจปฏิเสธได้ว่าส่งผลกระทบกับไรเดอร์ของฟู้ดแพนด้าเป็นจำนวนไม่น้อยด้วย ทว่า สิ่งที่เกิดขึ้นควบคู่ไปกับผลกระทบจากแคมเปญ #แบนfoodpanda คือความพยายามของสังคมที่จะช่วยกันบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้น นั่นคือ บรรดาห้างร้านพากันประกาศเชิญชวนให้ไรเดอร์ที่ได้รับผลกระทบสามารถมารับอาหารและเครื่องดื่มจากร้านของพวกเขาได้ฟรี และบางธุรกิจก็ถึงกับเปิดโอกาสให้ไรเดอร์ที่ได้รับผลกระทบเหล่านี้ไปสมัครทำงานที่ห้างร้านของตนด้วย

ในทำนองเดียวกันแคมเปญ #ธุรกิจสว และ #เมียน้อยสว ที่กำลังเกิดขึ้นอาจส่งผลกระทบกับผู้ที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงอยู่บ้าง จึงมีความจำเป็นที่นักปฏิบัติการไร้ความรุนแรงและสังคมจะต้องร่วมกันคิดและออกแบบแนวทางที่จะช่วยกันโอบอุ้มคนตัวเล็กตัวน้อยที่ได้รับผลกระทบจากปฏิบัติการไร้ความรุนแรงที่กำลังดำเนินอยู่นี้ด้วย ทั้งนี้เพราะปฏิบัติการไร้ความรุนแรงไม่ใช่การมุ่งเอาชนะคะคานเหนือฝ่ายตรงข้ามหรือคู่ขัดแย้ง โดยไม่ใส่ใจวิธีการหรือผลกระทบอื่นใด หากแต่เป็นความพยายามที่จะช่วยกันสร้างสรรค์สังคมที่พึงปรารถนาบนฐานของความยุติธรรมเป็นสำคัญ

References
1 Chronicling Civil Resistance (Washington, D.C.: International Center for on Nonviolent Conflict, 2021), 25.
2 Ibid.
3 ยีน ชาร์ป (เขียน), ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ และคมสัน หุตะแพทย์ (แปล), อำนาจและยุทธวิธีไร้ความรุนแรง (กรุงเทพ: มูลนิธิโกมลคีมทอง,  2529), 36
4 เพิ่งอ้าง,  207-215.

MOST READ

Politics

31 Jul 2018

30 ปี การสิ้นสุดของระบอบเปรมาธิปไตย (1) : ความเป็นมา อภิมหาเรื่องเล่า และนักการเมืองชื่อเปรม

ธนาพล อิ๋วสกุล ย้อนสำรวจระบอบเปรมาธิปไตยและปัจจัยสำคัญเบื้องหลัง รวมทั้งถอดรื้ออภิมหาเรื่องเล่าของนายกฯ เปรม เพื่อรู้จัก “นักการเมืองชื่อเปรม” ให้มากขึ้น

ธนาพล อิ๋วสกุล

31 Jul 2018

Politics

12 Sep 2018

ความจริง ความเชื่อ และความเจ็บป่วยของ ‘สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล’

อายุษ ประทีป ณ ถลาง เขียนถึงชะตากรรมของ สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ในฐานะนักวิชาการผู้ยืนหยัดในอุดมการณ์มาร่วม 40 ปี แต่กลับต้องกลายเป็นผู้ลี้ภัย (และล้มป่วย) อยู่ในต่างแดน

อายุษ ประทีป ณ ถลาง

12 Sep 2018

Politics

14 Jul 2020

การเกิดอีกครั้งของจอมพล ป. พิบูลสงคราม

ธนาพล อิ๋วสกุล เขียนถึงการเปลี่ยนความหมายของจอมพล ป. พิบูลสงครามจาก ‘ผู้ร้ายในประวัติศาตร์การเมืองไทย’ มาเป็นนายทหารฝ่ายคณะราษฎรที่สามารถกำราบฝ่ายปฏิปักษ์ปฏิวัติอย่างราบคาบ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความแหลมคมการเมืองร่วมสมัยของไทย

ธนาพล อิ๋วสกุล

14 Jul 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save