fbpx
สันติวิธีไม่สูญหาย

สันติวิธีไม่สูญหาย

จันจิรา สมบัติพูนศิริ เรื่อง

 

“นักสันติวิธีหายไปไหน?”

 

ข้าพเจ้ามักได้ยินคำถามนี้ในช่วงความขัดแย้งเหลือง-แดง โดยเฉพาะช่วงการปราบปรามการชุมนุมปี 2553 ไม่ว่าจะเป็นในสื่อกระแสหลัก โซเชียลมีเดีย หรือวงเสวนาวิชาการ

นัยของคำว่า “นักสันติวิธี” ในบริบทช่วงนั้นคือกลุ่มนักวิชาการ นักเคลื่อนไหวที่พยายามเป็น “ตัวกลาง” ให้คู่ขัดแย้งฝ่ายต่างๆ ใช้ช่องทางเจรจาก่อนที่จะเลือกใช้ความรุนแรง

สำหรับผู้เรียกร้องประชาธิปไตย “นักสันติวิธี” ดูเหมือนสนใจสันติภาพมากกว่าประชาธิปไตยและความเป็นธรรม ขณะเดียวกันผู้สงสัยในประชาธิปไตยและฝักใฝ่ในสถาบันหลักของสังคมไทยก็เห็นว่า “นักสันติวิธี” เป็นพวก “ลิเบอรั่น” บางทีเหมือนอยู่ข้างฝั่งที่อยากล้มล้างสถาบันหลัก

ท่ามกลางความขัดแย้งเหลือง-แดง สันติวิธีก็ไม่ต่างก็ภาคส่วนอื่นๆ ของสังคมไทยที่ถูกถามว่า “อยู่ข้างไหนกันแน่” ขณะที่ผู้สนับสนุนจากสองสีวิพากษ์ “นักสันติวิธี” แต่กลับใช้สันติวิธีอย่างคึกคัก

ฝ่ายที่ต่อสู้เพื่อประชาชนคนเสื้อแดงก็ใช้สันติวิธีกว่าร้อยละหกสิบในการประท้วงปี 2553 (โครงการยุทธศาสตร์สันติวิธีสำหรับสังคมไทยในศตวรรษที่ 21, บทเรียนจากการชุมนุมและความรุนแรงทางการเมืองในช่วงเดือนมีนาคม-พฤษภาคม 2553 (กรุงเทพฯ: สกว., 2554, 8) ส่วนฝ่ายต่อต้านเสื้อแดงและส่งเสริมสถาบันหลักไทยก็อ้างว่าใช้ “อารยะขัดขืน”

พูดได้ว่าแม้สองฝ่ายต่างกันในจุดยืนทางการเมือง แต่กลับใช้สันติวิธี (แม้จะสลับกับยุทธวิธีรุนแรง) เป็นเครื่องมือไปสู่เป้าหมายทางการเมืองของตน

แม้ในเวลาที่ “นักสันติวิธี” ถูกเรียกขานและไม่ตอบกลับ แต่สันติวิธีก็ปรากฏอยู่เรื่อยๆ ที่หลายฝ่ายตกใจอาจไม่ใช่เพราะสันติวิธีหายไป แต่เพราะสันติวิธีเปลี่ยนไป ไม่เหมือนที่เราเคยรู้จักต่างหาก

 

สันติวิธีในสังคมไทย

 

บทความล่าสุดของอาจารย์สมชาย ปรีชาศิลปกุล เรื่อง “สันติวิธีที่สูญหาย” (ตีพิมพ์ในเว็บไซต์ the101.world วันที่ 12 กรกฎาคม 2560) ชี้ว่า ผลพวงหนึ่งของการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในปี 2535 คือ “แนวคิดและปฏิบัติการทางสังคมที่เรียกว่า “สันติวิธี” กลายเป็นสิ่งที่ได้รับความสนใจเพิ่มมากขึ้นอย่างกว้างขวางในสังคมไทย” จากนั้นมาสันติวิธีก็กลายเป็นเครื่องมือของขบวนการภาคประชาชนในการต่อต้านนโยบายพัฒนาของรัฐและต่อสู้เพื่อสิทธิชุมชนในช่วงรัฐบาลพลเรือนปี 2535 เป็นต้นมา และเกิดหน่วยงานและสถาบันที่อบรมให้ความรู้ด้านสันติวิธีอย่างกว้างขวาง

จริงอยู่ที่เหตุการณ์พฤษภาคม 2535 ที่ทำให้สันติวิธีเป็นเรื่อง “ป๊อป” ในสังคมไทย ด้วยเหตุผลหลักคือพลังประชาชนที่ใช้สันติวิธีในการประท้วงครั้งนี้ดูเหมือนชนะรัฐบาลเผด็จการทหาร แต่ความเข้าใจนี้ละเลยความรุ่มรวยของพัฒนาการสันติวิธีในฐานะปฏิบัติการและองค์ความรู้ในสังคมไทยไปอย่างน้อยสามประการ

ประการแรก สันติวิธีในสังคมไทยถือกำเนิดขึ้นในบริบทของการต่อสู้ในช่วงปี 2514 ถึง 2516 โดยปัญญาชนสาธารณะและนักศึกษาในเวลานั้นได้ตั้งกลุ่มศึกษาสันติวิธีขึ้นมา นำโดยสุลักษณ์ ศิวรักษ์ และโคทม อารียา ลูกศิษย์ลูกหาของทั้งสองคนกลายเป็น “นักสันติวิธี” รุ่นแรกๆ ของสังคมไทย เช่น ไพศาล วงศ์วรวิสิทธิ์ (หรือพระไพศาล วิสาโล) พจนา ชาญณรงค์ อุทัย ดุลยเกษม และพิภพ ธงไชย เป็นต้น

คำว่า “อหิงสา” ถูกใช้สลับกับคำว่า “การเปลี่ยนแปลงด้วยสันติวิธี” แม้บุคคลเหล่านี้จะได้รับอิทธิพลจากแนวคิดทางศาสนา แต่หนังสือ The Politics of Nonviolent Action เขียนโดยนักยุทธศาสตร์สันติวิธีชื่อก้องชาวอเมริกัน ยีน ชาร์ป (Gene Sharp) วางรากฐานให้กับองค์ความรู้และปฏิบัติการสันติวิธีในไทย โดยชาร์ปสนใจสันติวิธีในฐานะเครื่องมือทางการเมืองมากกว่าจุดยืนทางศีลธรรม

ประการที่สอง แม้สันติวิธีจะถูกมองว่าเป็นแนวทางให้ประชาชนต่อสู้กับอำนาจอธรรมของรัฐ แต่ผู้พัฒนาสันติวิธีในสังคมไทยดังที่กล่าวไปข้างต้นเห็นว่า สันติวิธีเป็น “หนทางที่สาม” (หรือ “พลังที่สาม” ดังที่อาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์เคยกล่าวไว้) ซึ่งผ่าทางตันระหว่างการยอมจำนนต่อความรุนแรงของรัฐและการต่อสู้อำนาจรัฐด้วยความรุนแรง

สันติวิธีเป็นเครื่องมือแก่ “ผู้ด้อยอำนาจ” อันทรงพลังได้ ก็เพราะผู้ด้อยอำนาจไม่อาจใช้ความรุนแรงได้ทัดเทียมกับรัฐหรือรัฐบาลซึ่งคุมทหารและตำรวจ หาก “ผู้ด้อยอำนาจ” ใช้ความรุนแรง การต่อสู้ก็ยืดเยื้อ รังแต่จะสูญเสียชีวิต ฉะนั้นสันติวิธีในฐานะเครื่องมือการต่อสู้จึงเปลี่ยนจากการวัดอำนาจกันที่จำนวนปืน มาวัดกันที่ความชอบธรรมทางการเมือง

พูดอย่างรวบรัดคือ การเปลี่ยนแปลงจักเกิดขึ้นได้เมื่อความชอบธรรมของผู้ปกครองลดลงและความชอบธรรมของกลุ่มต้านอำนาจรัฐในสายตาของสาธารณชนเพิ่มขึ้น มิใช่เกิดจากการเปลี่ยนมโนธรรมสำนึกของประชาชน ฐานทางทฤษฎีนี้เองทำให้สันติวิธีถูกเข้าใจว่ามักเข้าข้างประชาชนผู้ด้อยอำนาจ

เอาเข้าจริงแล้ว “บริบทความขัดแย้ง” ต่างหากที่บ่งบอกหน้าตาของสันติวิธี เช่น ในความขัดแย้งกับรัฐหรือตัวแทนรัฐ สันติวิธีมักถูกใช้โดยประชาชนซึ่งมีอำนาจน้อยกว่า (ความขัดแย้งแนวดิ่ง) สันติวิธีคือเครื่องมือเกลี่ยอำนาจให้ฝ่ายประชาชน (power equaliser) แต่ในความขัดแย้งระหว่างประชาชนสองกลุ่มที่อำนาจเท่ากัน สันติวิธีช่วยให้ความขัดแย้งปรากฏแจ้ง ขณะเดียวกันก็ช่วยกรุยทางไปสู่การเจรจาอย่างสร้างสรรค์ (โดยที่ยังขัดแย้งกัน) และทำให้การสมานฉันท์หลังความขัดแย้งนี้ง่ายกว่าการใช้ความรุนแรงต่อกัน (ดูตัวอย่างเช่น Véronique Dudouet, ed. Civil Resistance and Conflict Transformation: Transitions from armed to nonviolent struggle (London: Routledge, 2015)

นอกจากนี้ สันติวิธียังถูกใช้โดยหน่วยงานของรัฐอย่างตำรวจ กองทัพ หรือบุคลากรทางการแพทย์ก็ได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นประชาชนเท่านั้น (ดูตัวอย่างเช่น Janjira Sombatpoonsiri, “The Policing of Anti-government Protests: Thailand’s 2013-2014 Demonstrations and a Crisis of Police Legitimacy,” Journal of Asian Security and International Affairs 4(1) (2017): 95-122; สุรศักดิ์ งามขจรกุลกิจ, นักรบสันติวิธี: ประวัติศาสตร์ ตำรา และวาทกรรมทหารไทย (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2558) และผกาวดี สุพรรณจิตวนา, “ปฏิบัติการไร้ความรุนแรงบนเส้นทางวิชาชีพ: กรณีศึกษาบุคลากรทางการแพทย์ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้,” ใน พื้นที่สันติวิธี หนทางสังคมไทย: ความรู้ ความลับ ความทรงจำ, ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ (บ.ก.) (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์ของเรา, 2559, 137-88)

กล่าวให้ถึงที่สุด สันติวิธีกับพลังประชาชนเป็นแค่กระแสหนึ่งในปฏิบัติการและองค์ความรู้ด้านสันติวิธีเท่านั้น

ประการสุดท้าย การเปิดสถาบันการศึกษาสันติวิธีเกิดขึ้นอย่างคึกคักจริงๆ ไม่ใช่ในบริบทภายหลังเหตุการณ์เดือนพฤษภาคม 2535 แต่คือความขัดแย้งรุนแรงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ต่างหาก

งานศึกษาของอาจารย์ชญานิษฐ์ พูลยรัตน์ ซึ่งสำรวจสถาบันสันติศึกษาพบว่าคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ตั้งศูนย์ในลักษณะดังกล่าว (ชื่อว่า “ศูนย์ข่าวสารสันติภาพ”) ขึ้นเป็นที่แรกในปี 2531 ก่อนเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 แต่ช่วงปี 2547 หลังเหตุการณ์ปล้นปืนที่จังหวัดนราธิวาส พบว่า สถาบันสันติศึกษาถือกำเนิดขึ้นถึง 4 แห่ง ทั้งในกรุงเทพฯ และภาคใต้ (ชญานิษฐ์ พูลยรัตน์, “การสำรวจองค์ความรู้สันติวิธีและการฝึกอบรมสันติวิธีในสังคมไทย,” ใน พื้นที่สันติวิธี หนทางสังคมไทย, 1-28)

ในแง่นี้ องค์ความรู้สันติวิธีชนิดที่เป็นเครื่องมือให้ประชาชนใช้ต่อสู้กับรัฐแบบกรณีเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 หรือความขัดแย้งเรื่องทรัพยากรแบบกรณีเขื่อนปากมูล อาจไม่สอดคล้องกับบริบทความขัดแย้งในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้มากนัก เนื่องจากลักษณะความขัดแย้งที่แตกต่าง และมีความรู้สึกหมางเมินระหว่างชุมชนพุทธและมุสลิมเป็นองค์ประกอบ

สันติวิธีในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้จึงถูกเปลี่ยนชื่อและรูปร่างหน้าตา เช่น “โครงการทักษะวัฒนธรรม” มุ่งอบรมเจ้าหน้าที่รัฐให้อ่อนไหวกับวัฒนธรรมท้องถิ่น หรือ “โครงการสันติอาสา” มุ่งค้นหาและอบรมอาสาสมัครให้เข้าแทรกแซงเมื่อเกิดการเผชิญหน้าระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐและผู้ชุมนุมมลายูมุสลิม สันติวิธีในสามจังหวัดยังถูกเรียกว่าเป็นการสานเสวนาข้ามวัฒนธรรม การสร้างความไว้วางไว้ รวมถึงการสร้าง “พื้นที่ปลอดภัย” และ “พื้นที่สันติภาพ”

จะเห็นหน้าตาอันเปลี่ยนผันของสันติวิธีจึงต้องลงไปสำรวจชายแดนแห่งความขัดแย้งรุนแรง

 

สันติวิธีไม่สูญหาย

 

ข้าพเจ้าเห็นด้วยกับข้อเสนอของอาจารย์สมชายว่า ในบริบทความขัดแย้งเหลือง-แดง “สันติวิธี” ต้อง “อัพเดท” ตัวเองให้เท่าทัน “เผด็จการเชิงเครือข่าย” และลักษณะสังคมสองเสี่ยง (polarisation) อันเป็นผลจากความขัดแย้งดังกล่าว

ขณะนี้มีกลุ่มคนที่ทำงานในประเด็นทั้งสองอยู่เหมือนกัน แต่ด้วยสถานการณ์บ้านเมือง งานจึงไม่เป็นที่รับรู้ต่อสาธารณะมากเท่าใดนัก สถาบันสันติและสันติวิธีต่างๆ ยังคงทำงานช่วยเหลือภาคประชาสังคม ขณะเดียวกันก็ทำงานเชิงนโยบาย เพื่อผลักดันให้เกิดการปฏิรูปเปลี่ยนแปลงภาคความมั่นคง อันเป็นปัจจัยสำคัญของการขยายอำนาจของเครือข่ายเชิงเผด็จการ

ฉะนั้น ข้าพเจ้าไม่คิดว่าสันติวิธีในสังคมไทย “สูญหาย” ดังที่อาจารย์สมชายได้ตั้งโจทย์ไว้ แต่กลับคิดว่าเสียงป่าวประกาศเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวของสันติวิธีเงียบลง เพราะ “เสียงดัง” ไม่อำนวยต่องานที่ทำ และหน้าตาของสันติวิธีเปลี่ยนไปจากปี 2535 มากโข

โจทย์ใหญ่ที่ข้าพเจ้าอยากชวนให้ผู้อ่านคิดต่อจากบทความของอาจารย์สมชายคือ หากสันติวิธียังสำคัญต่อสังคมไทยจริง เพราะสันติวิธีมีน้ำยาอยู่บ้าง ฉะนั้น เราทุกคนอาจต้องเริ่มเป็นนักสันติวิธี ช่วยกันคิดหาทางเลือกสันติวิธีในสังคมไทยสองเสี่ยง โดยไม่ให้ผู้เชี่ยวชาญเพียงหยิบมือผูกขาดความรู้ด้านสันติวิธี

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save