fbpx
'No Room For Racism' : สำรวจการเหยียดในโลกลูกหนัง รอยด่างที่ยังหาทางลงไม่เจอ?

‘No Room For Racism’ : สำรวจการเหยียดในโลกลูกหนัง รอยด่างที่ยังหาทางลงไม่เจอ?

พิมพ์ชนก พุกสุข เรื่อง

กฤตพร โทจันทร์ ภาพประกอบ

น่าตกใจว่าในรอบเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา โลกฟุตบอลมีเหตุการณ์เหยียดผิว-เหยียดเชื้อชาติ (racism) กันแบบจังๆ สามครั้งติด ต่างลีก ต่างสโมสร แต่ล้วนนำพาความสะเทือนใจให้นักเตะที่กลายเป็นเป้านิ่งของการเหยียด

ในการแข่งขันฟุตบอลยูโร 2020 รอบคัดเลือกระหว่างเนเธอร์แลนด์กับเอสโตเนีย จอร์จีนีโอ ไวนัลดุม กัปตันทีมเนเธอร์แลนด์กับ แฟรงกี้ ดี ยง -ซึ่งเป็นคนขาว- วิ่งเอาสีผิวไปเทียบให้คนดูเห็นหลังไวนัลดุมทำสกอร์แรกได้ และมันได้กลายเป็นภาพที่ทรงพลังและสื่อความหมายอย่างยิ่ง

เหตุผลสำคัญที่ทำให้ไวนัลดุมกับดี ยง ออกมาเคลื่อนไหวประเด็นนี้ เนื่องมาจากไม่กี่วันก่อนมีการแข่งขันของสโมสรเล็กๆ ในเนเธอร์แลนด์ บ้านเกิดของพวกเขา อาห์เม็ด เมนเดส โมเรรา กองกลางผิวสีทีมเอกแซ็ลซียอร์ ถูกแฟนทีมเด็นบอชซึ่งเป็นทีมตรงข้ามโห่กราวใหญ่พร้อมตะโกนใส่ว่า “ไอ้นิโกรคนเก็บฝ้าย” ซึ่งถือว่าเป็นคำด่าที่ร้ายแรงอย่างยิ่ง โมเรราออกมาบอกภายหลังว่าเขานั้น “โกรธจัดและเสียใจอย่างยิ่งที่เหตุการณ์แบบนี้ยังดำรงอยู่” จนทีมเด็นบอชต้องออกแถลงการณ์มาขอโทษโมเรราว่าแฟนคลับฝั่งพวกเขานั้นทำไม่ถูกต้อง และกำลังเร่งสืบสวนว่าใครเป็นต้นเสียงในครั้งนั้น

เหตุการณ์ครั้งนี้ทำให้ไวนัลดุมทั้งโกรธและเสียใจจนเขาบอกว่า “รู้สึกเหมือนโดนเหยียดไปด้วย” ก่อนหน้านี้ไวนัลดุมมักบอกอยู่เสมอว่าเขานั้นภูมิใจมากที่ไม่เคยต้องเจอการเหยียดผิวจากเพื่อนร่วมทีมชาติ กระทั่งเมื่อเกิดเหตุแฟนบอลโห่ใส่โมเรรา เขาจึงรู้สึกว่าเหตุการณ์ครั้งนี้มันรุนแรงเกินไปมาก

“ผมไม่เคยคิดเลยว่าจะมีอะไรแบบนี้เกิดขึ้นในเนเธอร์แลนด์ บอกตรงๆ นะว่าตกใจมาก และยิ่งเสียใจตอนเห็นท่าทีว่าผู้คนเขาพูดถึงเหตุการณ์นี้ยังไง” ไวนัลดุมบอก “นี่มันเป็นปัญหาสังคมแล้ว และในฐานะนักเตะ เราเปลี่ยนแปลงอะไรไม่ได้หรอก แต่ผมคิดว่านักกีฬาอย่างเราๆ ควรสนับสนุนกันและกัน นี่เป็นปัญหาสังคมซึ่งควรมีนักการเมืองมาแก้ไขสักที ผมหวังว่าจะมีมาตรการลงโทษที่รุนแรงกับเหตุการณ์นี้ จะให้มันเกิดขึ้นอีกไม่ได้หรอก มันไม่ใช่แค่การเหยียดสีผิวที่เกิดขึ้นกับนักเตะทีมเอกแซ็ลซียอร์เท่านั้น แต่ผมยังเห็นคนดูบางคนทำความเคารพแบบนาซีบนอัฒจันทร์ด้วย ตอนนั้นผมยังคิดเลยว่า ‘มันต้องมีอะไรผิดปกติแน่ๆ ถ้ามีคนทำท่าแบบนั้นขึ้นมา’

“บรรพบุรุษของเราต่อสู้อย่างหนักเพื่อให้เราได้รับเสรีภาพ ถ้าผู้คนยังแสดงท่าความเคารพแบบนาซีอยู่ มันก็หมายความถึงการไม่เคารพกันอย่างรุนแรง เราจะปล่อยให้เรื่องแบบนี้เกิดขึ้นในเนเธอร์แลนด์ไม่ได้ มันต้องมีบทลงโทษ” เขาบอก “สิ่งที่แฟนทีมเด็นบอชทำมันน่ารังเกียจมากๆ ผมรู้ตัวว่าไม่ควรแสดงความเห็นอะไรแบบนี้ แต่ไม่สนแล้วว่ะ มันต้องมีบทลงโทษที่รุนแรง ได้ยินมาว่าเขาอยากติดตั้งกล้องเพิ่มเพื่อหาดูว่าใครเป็นคนทำเลยนะ บทลงโทษมันควรมีได้แล้ว เพื่อเป็นบทเรียนให้คนรู้ว่าไม่ควรมีใครสมควรทำอะไรแบบนี้อีก เราแค่อยากเล่นฟุตบอลเพราะสนุก อยากสร้างความเบิกบานให้คนที่เชียร์เรา ไม่ได้อยากเห็นเรื่องแบบนี้เกิดขึ้นสักหน่อย

“ผมบอกกับเพื่อนร่วมทีมผมเสมอว่าเราเป็นหนึ่งเดียวกัน เราไม่มองที่สีผิว เราเป็นนักเตะที่ลงเตะเพื่อชาวดัตช์ เล่นเพื่อผู้คนในชาติ”

ประเด็นที่น่าคิดคือ ใช่ว่าที่ผ่านมาฟีฟ่าและลีกต่างๆ ในยุโรปจะไม่มีมาตรการเกี่ยวกับการเหยียดสีผิวหรือเหยียดเชื้อชาติเสียเมื่อไหร่ ปลายเดือนที่ผ่านมา จันนี อินฟันตีโน ประธานใหญ่แห่งฟีฟ่า ถึงกับออกกฎลงดาบใหม่ที่รุนแรงกว่าเดิมเพื่อไม่ให้มีการเหยียดเชื้อชาติเกิดขึ้นอีกในลีกฟุตบอล “ผมว่ามันต้องมีกฎที่แข็งแรงกว่าเดิม ใช้ได้ผลกว่าเดิม เพื่อกำจัดรากการเหยียดผิวให้หมดไปจากฟุตบอล” เขาว่า “แรกเริ่มเลย ผมเสนอให้ผู้จัดการแข่งขันสามารถยื่นสิทธิแบนตลอดชีพให้ใครก็ตามที่แสดงท่าทีหรือมีพฤติกรรมเหยียดเชื้อชาติระหว่างการแข่งขัน

“เราพูดกันมาบ่อยแล้วว่าไม่มีพื้นที่สำหรับการเหยียดเชื้อชาติในฟุตบอล แต่เอาเข้าจริงๆ เราก็ยังต้องเผชิญหน้ากับมันอยู่ดี อย่างเช่นที่เราต้องเผชิญหน้าปัญหานี้ในสังคมด้านอื่นๆ”

และใช่ว่ากระแสต่อต้านการเหยียดผิวในโลกฟุตบอลจะไม่กระเพื่อมเลยเสียเมื่อไหร่ เพราะเดือนตุลาคมที่ผ่านมา พรีเมียร์ลีกเพิ่งรณรงค์ประเด็นนี้ผ่านแคมเปญ ‘No Room For Racism’ ที่เน้นย้ำว่าทุกคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการแข่งขันฟุตบอล ควรรู้สึกปลอดภัยและมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เท่ากันทุกคน

หากแต่น่าเศร้าที่ในรอบเดือนที่ผ่านมา โมเรราไม่ใช่นักฟุตบอลผิวดำรายเดียวที่ต้องเผชิญหน้าสถานการณ์บาดใจเช่นนี้ เพราะในยูเครน ไทสัน นักเตะสัญชาติบราซิลกองกลางทีมชาค์ตาร์ โดเน็ตสค์ ชูนิ้วกลางตอบโต้แฟนบอลอีกฝั่งที่แสดงท่าทีเหยียดเชื้อชาติเขา และลงเอยด้วยการถูกกรรมการลงดาบด้วยใบแดงจนเขาหลั่งน้ำตาเดินออกจากสนาม จนแฟนบอลออกมาตั้งข้อสงสัยว่าทำไมกรรมการจึงปฏิบัติกับเหยื่อของการเหยียดเชื้อชาติเช่นนี้ มิหนำซ้ำยังแทบไม่มีการสืบสาวราวเรื่องว่าใครคือต้นเหตุที่ทำให้ไทสันคุมสติไม่อยู่ระหว่างแข่ง (แต่มาลงโทษไทสันที่ชูนิ้วกลางกลับไปแทน)

ถอยกลับไปเมื่อต้นเดือน ในลีกอิตาลี มาริโอ บาโลเตลลี่ กองหน้าของเบรชชา เกือบจะเดินออกจากสนามด้วยความหัวเสียสุดขีดขณะลงเตะกับทีมเฮลแลสเวโรนา หลังได้ยินเสียงแฟนบอลทีมตรงข้ามตะโกนเรียกเขาว่า ‘ไอ้ลิง’ จนเกมชะงักไปราวสี่นาที กว่าที่บาโลเตลลี่จะยอมกลับเข้าเกมอีกครั้งตามคำขอของเพื่อนร่วมทีมและนักเตะฝั่งตรงข้าม ขณะที่ อีวาน ยูริค โค้ชทีมเฮลแลสเวโรนาบอกว่า “ไม่เห็นว่าจะมีคนตะโกนเหยียดผิวอะไร” ส่วนยูจีนีโน่ คอรินี่ ผู้จัดการของเบรชชายืนยันว่า “มาริโอเป็นนักเตะที่ดีมากๆ ผมคิดว่าเขาคงไปเห็นหรือได้ยินอะไรที่ทำให้เสียความรู้สึกมากๆ นั่นแหละ”

เหตุการณ์คล้ายคลึงกันนี้เคยเกิดขึ้นกับวงการกีฬาลีกอื่นๆ มาแล้ว ที่จำกันได้แบบลืมไม่ลงคือ NBA ในปี 2014 เมื่อสำนักข่าว TMZ ปล่อยคลิปเสียงของโดนัลด์ สเตอร์ลิง เจ้าของทีมแอลเอ คลิปเปอร์ส (ในเวลานั้น) ขณะที่เขากำลังระบายความหงุดหงิดใส่ภรรยา -วี สตีเวียโน- ที่โพสต์รูปเธอกับนักกีฬาบาสเก็ตบอลผิวดำ เมจิก จอห์นสัน ลงอินสตาแกรมส่วนตัวว่า “เธอไม่จำเป็นต้องลงรูปตัวเองกับคนดำนั่นลงอินตาแกรมก็ได้รึเปล่าวะ แม่งน่ารำคาญใจมากเลยที่เห็นเธอยังตัวติดอยู่กับพวกคนดำพวกนี้ จำเป็นด้วยเหรอวะ” และ “เธอจะไปหลับนอนกับพวกมันก็ได้ จะทำอะไรก็ทำ ขอแค่อย่างเดียวว่าอย่าไปโปรโมตหรือออกสื่อให้พวกนั้นไม่ได้เหรอ” และแม้สตีเวียโนจะสวนกลับอย่างเผ็ดร้อนว่า รู้หรือเปล่าว่านักกีฬาทั้งทีมของคลิปเปอร์สนั้นเป็นคนดำ สเตอร์ลิงก็ตอกกลับอย่างไม่ยี่หระว่า “กูจ้างพวกมันนะ ให้อาหาร ให้เสื้อผ้า ให้รถให้บ้าน ไม่ใช่กูแล้วใครจะให้ มีคนอื่นอีกเหรอน่ะ”

ทันทีที่คลิปเสียงหลุดออกมา ด็อก ริเวอร์ส โค้ชทีมคลิปเปอร์สซึ่งเป็นชาวแอฟริกัน-อเมริกัน ถึงขั้นออกมาบอกว่าสเตอร์ลิงต้องลาออกจากการเป็นเจ้าของทีมเดี๋ยวนี้ ขณะที่นักกีฬาทั้งลีกพากันคว่ำบาตรไม่ยอมลงเล่น จนกว่าลีกจะมีมาตรการจัดการขั้นเด็ดขาดกับสเตอร์ลิง จนกระทั่ง อดัม ซิลเวอร์ ประธานบริหารลีกที่เพิ่งมาเข้ารับตำแหน่งได้ไม่ถึง 90 วัน ต้องหาทางออกให้สถานการณ์ฉุกเฉินนี้ให้ได้

ภายในเวลาเพียงสี่วัน เขาจัดการเอาสเตอร์ลิงออกและขายทีมคลิปเปอร์สให้เป็นของ สตีฟ บอลล์เมอร์ ซีอีโอของไมโครซอฟต์ไปในราคาสองล้านล้านเหรียญฯ ฟากสเตอร์ลิง นอกจากจะสูญทีมบาสเก็ตบอลไปในพริบตาแล้ว เขายังถูกสั่งห้ามไม่ให้เข้ามายุ่งหรือทำธุรกรรมในลีก NBA ชั่วชีวิตอีกด้วย

อย่างไรก็ดี NBA เป็นลีกที่ชัดเจนว่านักกีฬาส่วนใหญ่เป็นคนดำ (สถิติปี 2015 ระบุว่า 74.44 เปอร์เซ็นต์เป็นคนดำ, 23.3 เป็นคนขาว, 1.8 เปอร์เซ็นต์เป็นชาวละติน และมีเพียง 0.2 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่เป็นคนเอเชีย) ดังนั้นการลงดาบของลีกจึงรวดเร็วและรุนแรงกว่าในกีฬาฟุตบอลหรือชนิดอื่นๆ อยู่มาก เทียบกันกับกอล์ฟที่ผู้เล่นเป็นคนขาวไปแล้ว 83 เปอร์เซ็นต์ ไทเกอร์ วูดส์ ที่มีเชื้อสายแอฟริกัน-อเมริกัน และเอเชีย-อเมริกันจึงถูก ‘เล่นประเด็น’ นี้อยู่บ่อยครั้ง โดยที่ทางลีกก็ยังไม่มีการลงโทษอย่างเด็ดขาด

สมัยอายุได้ 21 ปีหลังคว้าชัยชนะจากทัวร์นาเมนต์ปี 1997 ได้ เขาถูก ฟัซซี่ โซลเลอร์ นักกอล์ฟผิวขาว (ที่เคยครองตำแหน่งผู้ชนะทัวร์นาเมนต์นี้ในปี 1979) บอกว่า “ไอ้หนูนั่นเจ๋งไม่เบา เขาทำทุกอย่างเพื่อให้ชนะจริงๆ เพราะงั้นคุณคงรู้ใช่มั้ยว่าถ้าเจอหน้าเขาต้องทำไง ก็ตบหลังเบาๆ แล้วบอกว่าดีใจด้วยนะที่ปีหน้าไม่ต้องไปเสิร์ฟไก่ทอดแล้ว” ซึ่งดูเหมือนทางลีกก็ไม่ได้ออกมาเคลื่อนไหวเป็นเรื่องเป็นราวแต่อย่างใด มากสุดก็มีแค่โซลเลอร์ที่ออกมาบอกว่า คนเข้าใจสิ่งที่เขาพูดผิดไปไกลโขแล้ว แต่ยังไงก็ขอโทษแล้วกัน (เอ่อ…)

ภายหลัง วูดส์ออกมาพูดถึงเรื่องนี้ว่า สมัยก่อนที่เขาเคยหวังว่าชัยชนะและผลงานของเขานั้นจะทำให้ภาพลักษณ์คนดำในกีฬากอล์ฟเปลี่ยนไปนั้น ดูจะ “ไร้เดียงสา” ไปไม่มากก็น้อย “ผมคิดว่าถ้าชนะแล้วสายตาที่คนมองคนชายขอบหรือคนกลุ่มน้อยในคลับกอล์ฟจะเปลี่ยนไปบ้าง โดยเฉพาะในคลับส่วนตัว หวังว่าถ้าชนะแล้วคนจะมองคนดำเปลี่ยนไปจากที่เคย”

แน่นอนว่าฟุตบอลเป็นกีฬาที่ความหลากหลายทางเชื้อชาติมากกว่าฝั่งบาสเก็ตบอลที่เป็นคนดำ และฝั่งกอล์ฟที่ส่วนใหญ่เป็นคนขาว เราจึงไม่อาจแน่ใจได้ว่าทิศทางการจัดการของสหพันธ์จะเดินไปทางไหน แต่หากว่าฟีฟ่าสามารถ ‘หาทางลง’ ประเด็นนี้ได้สำเร็จ ก็น่าจะเป็นอีกตัวอย่างที่ดีสำหรับกีฬาอื่นๆ ที่เต็มไปด้วยความหลากหลายทางชาติพันธุ์แบบเดียวกับฟุตบอลก็เป็นได้

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save