fbpx
“ความยุติธรรมไม่มี สันติไม่เกิด” - ฝันร้ายที่ไม่สิ้นสุดของคนผิวดำในอเมริกา

“ความยุติธรรมไม่มี สันติไม่เกิด” – ฝันร้ายที่ไม่สิ้นสุดของคนผิวดำในอเมริกา

ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ เรื่อง

กฤตพร โทจันทร์ ภาพประกอบ

 

อเมริกาเดือด อเมริกาโกลาหล อเมริกาตกอยู่ในวิกฤตการณ์อีกแล้ว

คราวนี้ไม่ใช่คนป่วยตายจำนวนมหาศาลจากโรคไวรัสโคโรนาระบาด หากมาจากการตายอย่างโหดเหี้ยมไร้เมตตาของจอร์จ ฟลอยด์ ชายผิวดำ ด้วยฝีตีนของเดเรค ชอวิน ตำรวจผิวขาว ในเมืองมินนีอาโพลิส รัฐมินนิโซตา

เหตุการณ์เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคมที่ผ่านมา เมื่อตำรวจได้รับแจ้งจากร้านสะดวกซื้อว่าลูกค้า (จอร์จ ฟลอยด์) ซื้อของด้วยธนบัตรปลอมใบละ 20 ดอลลาร์ ไม่นานตำรวจสี่นายก็มาถึง ต่อจากนั้นคนเห็นจอร์จถูกใส่กุญแจมือและจับกดนอนอยู่ริมถนนข้างๆ ล้อรถตำรวจ ที่สร้างความตระหนกและหวาดเสียวคือเข่าของตำรวจร่างใหญ่ (ชอวิน) กดทับบนลำคอของจอร์จ ซึ่งพยายามขอความเห็นใจ บอกว่าเขาหายใจไม่ออก เรียกหาแม่ ประโยคที่ถูกนำไปเผยแพร่ต่อในภายหลังคือ “ข้าหายใจไม่ออก” ก่อนจะสิ้นลมหลังจากถูกกดทับนานเกือบ 9 นาที

สองวันต่อมาปฏิกิริยาต่อการตายของฟลอยด์นำไปสู่การปะทุขึ้นของคลื่นมวลประชาชนหลากสีผิวและเชื้อชาติ หลักๆ ยังเป็นคนแอฟริกันอเมริกัน พร้อมกับการเดินขบวนชูป้าย “ความยุติธรรมไม่มี สันติไม่เกิด” (No Justice, No Peace) และอีกป้ายที่เคยใช้กันมาก่อนแล้วในกรณีทำนองนี้คือ “ชีวิตคนดำก็มีความหมาย” (Black Lives Matter, BLM) ชึ่งเกิดขึ้นหลังการตายของเทรวอน มาร์ติน โดยฝีมือของอาสาสมัครรักษาหมู่บ้าน หลังจากลูกขุนตัดสินว่าจำเลยไม่ผิด การประท้วงออนไลน์ก็เริ่มขึ้นในปี 2013 โดยใช้ #BlackLivesMatter ในเฟซบุ๊ก เป็นการเปิดมิติและพื้นที่ในการประท้วงของคนผิวดำอีกก้าวหนึ่ง ซึ่งได้ผลตอบรับอย่างดี และมีคนร่วมใช้มากขึ้นอย่างมหาศาล เมื่อคณะลูกขุนใหญ่ตัดสินไม่ดำเนินคดีกับตำรวจที่ยิงไมเคิล บราวน์ ตายในเมืองเฟอร์กูสัน มลรัฐมิสซูรี ในปี 2014

 

ทำไมการประท้วงของคนผิวดำถึงแพร่ระบาดไปทั่วประเทศ

 

ขณะที่ผมเขียนบทความนี้ (3 มิถุนายน) การประท้วงดำเนินมาเป็นวันที่ 8 แล้ว และได้ขยายไปทั่วประเทศถึง 75 เมือง ยิ่งไปกว่านั้นยังมีการใช้ความรุนแรงในการประท้วง การเคลื่อนไหวเริ่มต้นด้วยการเดินประท้วง ชูป้าย และตะโกนเรียกร้องความยุติธรรมไปตามทาง จากนั้นมีบางคนเริ่มใช้กำลังทำลายข้าวของ ร้านค้า ห้างริมถนน บ้างเข้าไปขโมยข้าวของในร้านค้า รวมถึงจุดไฟเผารถตำรวจ พร้อมกับขว้างปาวัตถุใส่แถวตำรวจที่สกัดกั้นการเคลื่อนขบวน

อีกด้านหนึ่ง ฝ่ายเจ้าหน้าที่ตำรวจก็มีการใช้อาวุธยิงแก๊สน้ำตาและสเปรย์พริกไทยเข้าใส่ผู้ชุมนุม และจับกุมไปเป็นร้อย ในเมืองที่มีการประกาศเคอร์ฟิวห้ามออกนอกบ้าน ภาพโดยรวมที่ปรากฏออกมาจึงดูเต็มไปด้วยความรุนแรง การปะทะกันและการทำลายทรัพย์สินส่วนตัว ทำให้ผู้นำจีนและอิหร่านออกมาเยาะเย้ยผู้นำสหรัฐฯ ว่า แค่คนออกมาเดินขบวนอย่างสงบสันติ รัฐบาลโดนัลด์ ทรัมป์ ยังทนรับไม่ได้ ต้องใช้กำลังเข้าปราบ แล้วยังมีหน้าไปสั่งสอนประเทศอื่นๆ ได้อย่างไร

การประท้วงของคนผิวดำมีความเป็นมาที่แตกต่างจากการประท้วงของคนเชื้อชาติอื่นในอเมริกา ผมขอสรุปสั้นๆ ดังนี้ว่า ความโกรธแค้นและเจ็บปวดดังกล่าวนี้มีรากลึกหยั่งลงไปถึงสมัยการก่อกำเนิดและการก่อรูปของประเทศสหรัฐอเมริกาในปลายศตวรรษที่ 18 มันคือรากและใบของระบบทาสที่ให้กำเนิดลัทธิเหยียดผิวและเชื้อชาติ ที่สำแดงออกมาให้ประจักษ์ในการมีชีวิตและการดำรงอยู่ของคนผิวดำผู้เป็นทายาทของอดีตทาส ซึ่งปัจจุบันรับเอาคำว่า “แอฟริกันอเมริกัน” เป็นคำเรียกที่ยอมรับกันในชุมชนคนอเมริกันผิวดำ ว่าพวกเขาไม่อาจยอมรับและจำต้องทนต่อการใช้อำนาจตามกฎหมายของตำรวจผิวขาวในการควบคุมและลงโทษตามความพอใจ กระทั่งปฏิเสธและทำลายความเป็นคนของพวกเขาลงไป

ทั้งหมดนี้ประกอบกันเข้าเป็นโครงสร้างส่วนบนที่ทำให้คนผิวดำมีโอกาส ความสำเร็จในชีวิต และความสุข อย่างยากลำบากกว่าคนเชื้อชาติอื่นๆ ในอเมริกา แน่นอนว่าเราได้เห็นคนผิวดำที่เป็นดาราฮอลลีวูด นักร้อง นักบาสเก็ตบอลที่ดังระเบิดไปทั่วโลก แต่คนเหล่านี้ต้องนับว่าเป็นคนส่วนน้อยมากๆ อย่างแทบไม่มีผลสะเทือนต่อความเป็นจริงของคนผิวดำทั่วไปในสังคมอเมริกัน และท้ายที่สุดแต่เหนียวแน่นที่สุดคือคติและความเชื่อที่เรียกรวมๆ ว่าลัทธิเหยียดเชื้อชาติที่มีคนผิวดำเป็นเป้า

อคติในการเหยียดเชื้อชาติเป็นปัจจัยแรกที่กำหนดและถูกใช้ในชีวิตประจำวันในมิติต่างๆ ทางสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองได้ง่ายที่สุด เพราะมันมาพร้อมกับคำตอบสำเร็จรูปว่า ใครและอะไรคือศัตรูหรือสิ่งกีดขวางการพัฒนาของชนชั้นปกครอง

 

การตายของฟลอยด์จะกลายเป็นน้ำผึ้งหยดเดียวไหม

 

ในที่ชุมนุมประท้วงครั้งนี้มีป้ายและคำขวัญหนึ่งที่บอกให้รู้ว่าพวกเขามาด้วยเหตุอะไร

“Say Their Names”

เมื่อถามว่าพวกเขาออกมาประท้วงเพราะความตายอย่างไม่ยุติธรรมของจอร์จ ฟลอยด์หรือ คำตอบคือ ใช่ แต่ไม่ใช่แค่นั้น

พวกเขารำลึกและเอ่ยนามของคนผิวดำอีกหลายคนที่ตายไปด้วยน้ำมือของตำรวจผิวขาวในลักษณาการคล้ายกัน ชื่อที่คนจำได้มาก เช่น เทรวอน มาร์ติน (2012) ไมเคิล บราวน์ และ เอริค การ์ดเนอร์ (2014) เฟรดี้ เกรย์ (2015) เบรนา เทย์เลอร์ (2020)

ความจริง(ที่ไม่ค่อยรู้กัน) คือ สถิติ(ไม่เป็นทางการ)ของคนผิวดำที่ตายด้วยน้ำมือของตำรวจผิวขาว จากวันที่ 1 มกราคม 2015 ถึงปัจจุบัน มีจำนวน 1,252 ราย ยังไม่รวมที่เสียชีวิตระหว่างอยู่ภายใต้การควบคุมของตำรวจหรือจากวิธีการอื่นที่ไม่ใช่ปืน ทุกครั้งที่เกิดเหตุจะปรากฏเป็นข่าวใหญ่และมีการประท้วงเฉพาะเมืองเฉพาะที่ ก่อนจะซาลง แล้วกลับมาประท้วงทั่วประเทศอีกทีเมื่ออัยการหรือศาลตัดสินไม่ดำเนินคดีอาญาหรือพิจารณายกฟ้องในที่สุด ที่ผ่านมาเกือบไม่มีตำรวจคนไหนถูกลงโทษเลย

มิหนำซ้ำ ในการสำรวจทัศนคติของคนผิวขาวต่อตำรวจ กลับให้การยอมรับและพอใจตำรวจสูงกว่าทหารและเจ้าหน้าที่ความมั่นคงอื่นๆ ที่เป็นเช่นนี้เพราะในอดีต พลเมืองผิวขาวหวาดกลัวอาชญากรรมโดยคนผิวดำมาก จึงต้องการให้ตำรวจทำหน้าที่อย่างเข้มแข็ง ทำให้การวิจารณ์และเรียกร้องให้ปฏิรูประบบตำรวจกระทำได้ยาก

อีกข้อที่ทำให้การลงโทษตำรวจที่ใช้ความรุนแรงต่อคนผิวดำไม่ประสบความสำเร็จ มาจากภายในวงการตำรวจเอง ตั้งแต่คณะกรรมการตำรวจในเมืองนั้นๆ ซึ่งมักไม่ค่อยลงโทษถึงขั้นไล่ออก อ้างว่าภารกิจตำรวจเป็นงานยากเสี่ยงอันตรายถึงชีวิต จึงต้องมีมาตรการปกป้องการทำงานหลายข้อที่เอื้อต่อการใช้กำลัง อีกปัจจัยหนึ่งคือสหภาพตำรวจ (Police Union) อย่างเช่นในเมืองมินนีอาโพลิส ที่เดเรค ชอวิน ทำงานอยู่ เขาถูกร้องเรียนเรื่องการกระทำรุนแรงถึง 17 ครั้งในชีวิตการเป็นตำรวจ 19 ปี แต่ไม่เคยถูกลงโทษเลย นอกจากโดนว่ากล่าวตักเตือนทางวินัย 2 ครั้ง ที่เป็นเช่นนี้เพราะประธานสหภาพตำรวจมินนีอาโพลิสเป็นผู้สนับสนุนประธานาธิบดีทรัมป์อย่างแข็งขัน ในงานเลี้ยงเมื่อปีที่แล้ว เขากล่าวขอบคุณประธานาธิบดีทรัมป์ว่า “ขอบคุณที่เอาโอบามาออกไปจากตำแหน่งประธานาธิบดี เพราะเขามีนโยบายกดขี่ตำรวจ ต่อไปตำรวจจะได้ใส่กุญแจมือพวกอาชญากร แทนที่จะใส่มือพวกเรา” (Paul Krugman, “Donald Trump takes America to the edge of the abyss” (The New York Times), ใน The Bangkok Post, June 3, 2020, p.17)

แต่ความพอใจของคนผิวขาวต่อตำรวจ เป็นสิ่งที่ตรงกันข้ามกับความรู้สึกของคนผิวดำที่สะสมความไม่พอใจและความโกรธมานานหลายปี จามิล สมิธ คอลัมนิสต์แห่ง Rolling Stone เขียนถึงคนผิวดำที่ถูกตำรวจฆ่าตายจำนวนมากว่า

“คนเหล่านั้นไม่ได้กลายเป็นคนที่ถูกประณามหรือเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ไป แต่ด้วยอานิสงส์ของเทคโนโลยี คนเหล่านั้นกลายเป็น #hashtags ยิ่งมีวิดีโอเทปของการสังหารออกมามากเท่าไร ยิ่งทำให้ #hashtags พวกนี้เป็นเสมือนคำจารึกบนหลุมศพที่ทารุณและไร้ค่า เป็นเพียงแค่เหยื่อความรุนแรงของตำรวจที่บอกว่าครั้งหนึ่งเคยมีชีวิต เคยเป็นมนุษย์ และไม่มีคุณค่าพอที่จะไม่ให้ชีวิตของเธอหรือเขาถูกขโมยไป  โชคร้ายที่การเห็นความบอบช้ำทางใจและความตายที่เพิ่มมากขึ้นในมือตำรวจไม่ได้ทำให้เกิดสิ่งที่ควรจะเกิดได้มากเท่าไร มรดกของการเปิดเผยความตายที่เพิ่มขึ้นของพวกเราเป็นเพียงแค่การทำให้สำนึกร่วมของพวกเราตายด้านมากขึ้นเท่านั้น” (The New Republic, 2015)

 

อะไรคือพื้นฐานของลัทธิเหยียดเชื้อชาติสีผิว

 

ความซับซ้อนและปมเงื่อนที่แก้ยากเกิดจากการที่ลัทธิเหยียดเชื้อชาตินี้มีอุดมการณ์ที่วางอยู่บนคติที่เรียกว่าลัทธิคนขาวเป็นเจ้า (White Supremacy) ซึ่งเป็นความคิดที่ก่อรูปขึ้นมาตั้งแต่สมัยที่สหรัฐฯ ยังมีระบบทาสที่ถูกต้องตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ

เพื่อรักษาและสร้างความชอบธรรมให้แก่ระบบทาสผิวดำ ชนชั้นปกครองที่เป็นเจ้าของทาสในภาคใต้จึงประดิษฐ์วาทกรรมหรือปรัชญาสังคมที่อธิบายว่าทาสผิวดำเป็นสิ่งถูกต้องตามกฎธรรมชาติและวิวัฒนาการของมนุษย์ โดยให้คนผิวขาวทำหน้าที่ในการพิทักษ์อุปถัมภ์ทาสผิวดำ ภายใต้ระบบทาสนี้อารยธรรมภาคใต้ก็จะพัฒนาไปพร้อมกับการทำให้คนผิวขาวเป็นราชาปราชญ์หรือผู้เป็นใหญ่  ทฤษฎีคนขาวเป็นเจ้าสมัยที่ยังอยู่ในระบบทาสจึงนุ่มนวลและลึกซึ้งกว่าทฤษฎีเหยียดเชื้อชาติ (Racism) ที่เกิดตามหลังมาในระยะหลังสงครามกลางเมืองที่ยุติระบบทาสลงไป

ในสมัยที่ระบบทาสทำหน้าที่เป็นระบบการผลิตหลักเคียงข้างไปกับระบบอุตสาหกรรมที่เพิ่งตั้งในภาคเหนือ พวกทาสผิวดำถูกทำให้เป็นสิ่งของ (chattel) และเป็นทรัพย์สินส่วนตัวของเจ้าของทาสผิวขาว การดื้อรั้น ไม่เชื่อฟัง ขัดขืนคำสั่งและความต้องการของนายทาสถือว่าเป็นความผิดทั้งสิ้น ยิ่งหากแสดงออกทางกายเช่นยกมือทำท่าประท้วง ไม่เห็นด้วยกับคำสั่งหรือระเบียบของการทำงานในไร่ ก็ถือว่าเป็นความผิดตามกฎหมายทาส มีผลถึงการถูกลงโทษตามใจของนายทาสได้

มรดกที่คนเชื้อชาติหนึ่งมีอำนาจอันล้นพ้นเหนือคนอีกเชื้อชาติหนึ่งภายในรัฐชาติเดียวกันคงไม่มีที่ไหนฝังรากลึกมากเท่ากับในสหรัฐอเมริกา ดินแดนที่ด้านหนึ่งเต็มไปด้วยเสรีภาพ แต่อีกด้านหนึ่งคือมุมมืดที่ภาพและเงาของความเป็นทาสยังไล่ล่าความเป็นจริงยุคใหม่ตลอดเวลา และไม่ใช่ความบังเอิญที่สิ่งที่ตกเป็นเหยื่อและเป้าของการเติมพลังให้แก่ความศักดิ์สิทธิ์ของอุดมการณ์เสรีภาพคือความเป็นทาส อันเป็นด้านตรงข้ามที่สมบูรณ์ที่สุดของมัน

ในทางประวัติศาสตร์ ความหมายและการปฏิบัติเรื่องเสรีภาพ สะท้อนถึงความขัดกันและแย้งกันอย่างไม่อาจดำรงอยู่ร่วมกันได้ของคนสองผิว ในยุคทาส เสรีภาพของทาสคือปฏิปักษ์ต่อสิทธิในทรัพย์สินส่วนตัวของคนขาว สิทธิทางการเมืองของคนผิวดำคือการกบฏต่อความเป็นเจ้าของคนผิวขาว เมื่อปราศจากเสรีภาพและสิทธิทางการเมืองอย่างเท่าเทียมกัน คนผิวดำจึงมีโอกาสน้อยมากที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมในการแบ่งความมั่งคั่งและทรัพย์สินมาเป็นของตน

ทำไมประธานาธิบดีทรัมป์ถึงตกเป็นเป้าของการประท้วงครั้งนี้ด้วย

 

สิ่งที่น่าสังเกตอีกจุดหนึ่งที่ไม่ค่อยเห็นในการประท้วงของมวลชนในอดีตคือการชุมนุมประท้วงหน้าทำเนียบขาว อันเป็นที่พำนักของประธานาธิบดี คราวนี้มีคนจำนวนไม่น้อยไปประท้วงหน้าทำเนียบขาวและพยายามรุกด้วยการจุดไฟหน้าประตูโบสถ์เซนต์เจมส์ข้างทำเนียบขาว ทำให้ฝ่ายความมั่นคงต้องพาประธานาธิบดีทรัมป์หนีลงไปยังห้องใต้ดินที่สร้างสำหรับรับมือหากมีการโจมตีทำเนียบขาว ก่อนหน้านี้มีเพียงประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู. บุช กับรองประธานาธิบดี ดิก เชนีย์ เท่านั้นที่เคยหนีลงไปหลบภัยในห้องใต้ดินนี้เมื่อขบวนการอัลกออิดะฮ์ยึดเครื่องบินแล้วพุ่งเข้าทำลายตึกเวิร์ลเทรดและมุ่งหน้าสู่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ในเหตุการณ์ 9/11

น่าสังเกตว่าปฏิกิริยาและวิธีการรับมือกับปัญหาที่ไม่คาดคิดมาก่อนของโดนัลด์ ทรัมป์ เช่นโควิด-19 คือเริ่มด้วยการไม่ยอมรับความจริงที่มีการนำเสนอผ่านสื่อมวลชนหรือโซเชียลมีเดียทั้งหลาย (เขาประณามสื่อสาธารณะทั้งหมดว่าเป็น “ศัตรูประชาชน”) แล้วหันไปใช้สามัญสำนึกของตัวเองในการประเมิน แล้วตามด้วยการส่งข้อความในทวีตเพื่อบอกให้รู้ว่าเขาคิดอย่างไร

ทวีตแรกของทรัมป์ต่อการประท้วงที่เริ่มแรงขึ้นแต่ยังไม่โกลาหลจลาจล คือข้อความที่ว่า “ถ้ามีการฉกชิงทรัพย์ ก็มีการยิง” อันเป็นวาทะของอดีตหัวหน้าตำรวจไมอามีปี 1964 ที่เป็นพวกเหยียดผิวดำและใช้กำลังในการปราบการประท้วงมาก่อน กระทั่งบริษัททวีตเตอร์เองต้องติดธงใต้ข้อความนี้บอกว่า ข้อความของประธานาธิบดีทรัมป์เป็นการ “สดุดีความรุนแรง” ซึ่งขัดกับระเบียบและกติกาของทวีตเตอร์ จึงขอเตือนผู้อ่านทั้งหลายด้วย ความจริงถ้าเป็นผู้ใช้ทวีตเตอร์ทั่วไป ข้อความแบบนี้ต้องถูกลบออกไปจากทวีตเตอร์แล้ว แต่บริษัททวีตเตอร์อ้างว่าเป็นนโยบายของบริษัทที่จำต้องยอมให้ผู้นำประเทศได้แสดงออกแม้จะขัดกติกาก็ตาม เพราะความเห็นเหล่านั้นเป็นสิ่งที่สาธารณชนควรรับรู้ ผลที่ตามมาคือมีผู้วิพากษ์วิจารณ์และประณามข้อความยุให้ตำรวจใช้กำลังเข้าจัดการมากมาย นั่นคือการเติมไฟให้กับกองเพลิงที่เพิ่งลุกไหม้ หลังจากพลาดท่าในการใช้ทวีตแรก ที่ปรึกษาเลยบอกให้หยุดการทวีตเรื่องนี้ก่อน รอดูสถานการณ์ว่าจะเป็นอย่างไร

แต่ทรัมป์ไม่เคยหยุดตอบโต้คนที่ปฏิเสธเขา ยุทธวิธีใหม่ของเขาคือการอ้างว่าจะไปเข้าโบสถ์เซนต์จอห์น ซึ่งเป็นโบสถ์เก่าแก่เรียกกันว่าโบสถ์ของประธานาธิบดี เพราะประธานาธิบดีทุกคนตั้งแต่เจมส์ แมดิสัน ซึ่งเป็นประธานาธิบดีคนที่ 4 ลงไปล้วนเข้าโบสถ์นี้ ก่อนจะเดินออกจากทำเนียบขาว ทรัมป์ได้แถลงข่าวต่อสื่อมวลชนที่ “สวนกุหลาบ” หน้าตึกทำงานว่าถ้าหากพวกผู้ว่าการมลรัฐต่างๆ ไม่ใช้กำลังเข้าจัดการพวกประท้วง เขาจะส่งกำลังทหารของส่วนกลางเข้าไปทำหน้าที่แทน สร้างความไม่พอใจและเกิดเสียงวิพากษ์ตอบโต้จากผู้ว่าการหลายมลรัฐ ซึ่งกล่าวว่าประธานาธิบดีควรจะเป็นผู้หยุดความแตกแยกและความรุนแรงด้วยความสมานฉันท์ แต่ประธานาธิบดีทรัมป์กลับทำในสิ่งตรงกันข้าม นั่นคือ การยิ่งหว่านเมล็ดพันธุ์แห่งความเกลียดชังลงไป

เพื่อเปิดทางให้ประธานาธิบดีทรัมป์สามารถเดินข้ามถนนได้อย่างสะดวก กองกำลังตำรวจ ทหาร และหน่วยราชการลับ ต้องออกมาใช้แก๊สน้ำตาในการสลายฝูงชนที่อยู่บริเวณนั้นให้แตกกระเจิงออกไป ก่อนที่ทรัมป์กับพรรคพวกจะเดินออกมาจากทำเนียบขาวแล้วข้ามไปยังหน้าโบสถ์ เขาไม่ได้เดินเข้าไปเพื่อทำพิธีแต่ประการใด หากหยุดยืนหน้าโบสถ์แล้วยกมือชูคัมภีร์ไบเบิลที่เตรียมมาสำหรับให้นักข่าวและช่างภาพถ่ายภาพที่เรียกว่า “Photo Op” อันเป็นสิ่งที่ทรัมป์โปรดปรานมากที่สุด พร้อมกับกล่าวโฆษณาว่าสหรัฐฯ เป็นประเทศที่ยิ่งใหญ่สุดในโลก เขาจะรักษามันไว้ ด้วยการเป็น “ประธานาธิบดีแห่งกฎหมายและความสงบเรียบร้อย” (law and order) ขณะเดียวกันก็โจมตีฝ่ายประท้วงว่าเป็นองค์กรก่อการร้าย

ทั้งหมดนี้คือคำอธิบายว่าทำไมการประท้วงถึงยืดเยื้อและมีทีท่าว่าจะรุนแรงขึ้น  การประท้วงพุ่งเข้าใส่ประธานาธิบดีทรัมป์เพราะเขาได้สร้างความแตกแยกและแบ่งขั้วการเมืองระหว่างคนผิวขาวที่เป็นสาวกและรับลัทธิคนขาวเป็นเจ้า กับคนอเมริกันที่เป็นเสรีนิยมและคนผิวสีต่างๆ ตลอดเวลาเกือบสี่ปีที่เขาปกครองประเทศ

 

อนาคตและทางออกของวิกฤตนี้คืออะไร

 

คำตอบสั้นๆ เป็นรูปธรรมและชัดเจนที่สุดคือ การยุติความรุนแรงของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่กระทำต่อคนผิวดำ และคืนความยุติธรรมให้แก่คนผิวดำ ด้วยการกล่าวโทษตำรวจผู้กระทำความผิดและดำเนินกระบวนการทางกฎหมายจนถึงที่สุดซึ่งก็คือการลงโทษทางอาญา แต่ถ้าจะเชื่อใจได้ว่ากระบวนการดังกล่าวนี้สามารถทำได้จริงๆ ก็ต้องมีการปฏิรูประบบตำรวจและแนวทางการใช้กำลังอย่างเอาจริงเอาจัง ไม่ใช่แบบก่อนหน้านี้ที่หายเงียบไปกับสายลม ข้อนี้ยากเพราะต้องลงไปรื้อระบบตำรวจแบบเดิม แล้วสร้างระบบใหม่ที่เป็นธรรมและมีมนุษยธรรมขึ้นมา ซึ่งแน่นอนว่าต้องเป็นหน้าที่ของฝ่ายนิติบัญญัติในการออกกฎหมายใหม่ และฝ่ายบริหารที่ต้องประกาศใช้และบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวต่อไป

การแพร่ระบาดของโควิด-19 เปิดเผยให้เราเห็นถึงความไม่เท่าเทียมกันในชีวิตของคนทำงานชั้นล่างอย่างโจ่งแจ้ง เมื่อผสานเข้ากับการออกมาประท้วงระบบยุติธรรมทางอาญา ทำให้ผู้นำทางการเมืองและสังคมจำต้องหันหน้าเข้าหากันในการหาทางออกและระดมพลังทั้งหมดในการรื้อสร้างระบบยุติธรรมและระบบสวัสดิการสุขภาพอนามัยสำหรับคนเสียเปรียบอย่างเป็นกิจลักษณะ นี่จะเป็นการรื้อสร้างประเทศใหม่คล้ายกับที่เคยเกิดในยุคหลังสงครามกลางเมืองที่เรียกว่ายุคฟื้นฟูประเทศ (Reconstruction, 1863-1877) แต่ครั้งนี้จะต้องไม่ให้ล้มเหลวเหมือนในอดีตที่คำมั่นสัญญาต่ออดีตทาสผิวดำไม่อาจปรากฏเป็นจริงได้ จนลากยาวมาสู่วิกฤตการณ์ของความสัมพันธ์ทางเชื้อชาติระหว่างคนผิวดำกับคนผิวขาวกระทั่งปัจจุบัน

เส้นทางสายรุ้งที่ประสานทุกสีเข้าด้วยกันข้างหน้า คือ การเข้าสู่ยุคสมัยของการประกาศศักดิ์ศรีของความเป็นคน … คนที่มีเสรีภาพในการดำรงชีวิตอย่างเต็มเปี่ยมเสมอหน้ากันทั้งคนผิวขาว ผิวดำ และหลากสี

ถึงเวลายุติฝันร้ายของคนผิวดำเสียที.

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save