fbpx
ทำไมสหรัฐฯ จึงไม่มีรถไฟความเร็วสูง

ทำไมสหรัฐฯ จึงไม่มีรถไฟความเร็วสูง

อาร์ม  ตั้งนิรันดร เรื่อง

 

ประเทศร่ำรวยเกือบทุกประเทศในโลกมีรถไฟความเร็วสูงกันทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นในยุโรป เช่น ฝรั่งเศส สเปน ฟินแลนด์ ออสเตรีย หรือในเอเชีย เช่น ญี่ปุ่น ไต้หวัน เกาหลีใต้  จีน (แม้แต่ประเทศที่ยังไม่รวยอย่างไทยก็กำลังจะมีรถไฟความเร็วสูงเชื่อมกรุงเทพฯ – โคราช อีกไม่นานเกินรอ)

แต่เพราะเหตุใด ประเทศร่ำรวยอันดับ 1 อย่างสหรัฐอเมริกา จนถึงปัจจุบันกลับยังไม่มีรถไฟความเร็วสูงเลยแม้แต่สายเดียว?

 

ปัจจัยที่ไม่เอื้อให้สหรัฐฯ มีรถไฟความเร็วสูง

 

ปัจจัยสำคัญที่ไม่เอื้อให้สหรัฐฯ มีรถไฟความเร็วสูง มีดังนี้

  • ประชากรในเขตเมืองไม่หนาแน่น ยกเว้นเฉพาะเมืองใหญ่บางเมืองของสหรัฐฯ เช่น นิวยอร์ก บอสตัน ซานฟรานซิสโก ฯลฯ ดังนั้น การสร้างรถไฟความเร็วสูงเชื่อมระหว่างเมืองในสหรัฐฯ จึงไม่คุ้มค่า เพราะประชากรกระจายตัวอยู่รายรอบชานเมือง มากกว่าที่จะกระจุกตัวอยู่ในเขตเมือง
  • ความนิยมในรถยนต์ สหรัฐฯ เป็นประเทศต้นกำเนิดอุตสาหกรรมรถยนต์ และมีวัฒนธรรมการใช้รถยนต์ที่แข็งแกร่งมาก คนสหรัฐฯ มักมองรถยนต์เป็นเสมือนปัจจัยที่ 5 สำหรับการดำรงชีวิต ดังนั้น การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในอดีตจึงเน้นที่การสร้างเส้นทางให้รถยนต์ เช่น การสร้างทางหลวงเชื่อมระหว่างรัฐ  นอกจากนั้น ภายในตัวเมืองสหรัฐฯ ที่ไม่ใช่เมืองใหญ่ มักไม่มีระบบขนส่งมวลชนที่มีประสิทธิภาพ ดังนั้น แม้จะเดินทางถึงจุดหมายปลายทางด้วยรถไฟความเร็วสูง สุดท้ายก็ยังต้องใช้รถยนต์ภายในเมืองอยู่ดี ต่างจากหลายประเทศในยุโรปและเอเชียที่คนทั่วไปมักเลือกใช้ระบบขนส่งมวลชนภายในเมืองมากกว่าขับรถเอง
  • การคุ้มครองกรรมสิทธิ์ในที่ดินของเอกชน ต้นทุนที่สูงมากสำหรับการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง คือการเวนคืนที่ดิน การก่อสร้างทางรถไฟในสหรัฐฯ ในสมัยก่อนยังพอเป็นไปได้ เพราะราคาที่ดินในสมัยก่อนยังไม่สูงมาก แต่การจะเวนคืนที่ดินในราคาปัจจุบัน จะทำให้มีต้นทุนการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงที่สูงมากจนรับไม่ไหว
  • รถไฟสหรัฐฯ ใช้ขนส่งสินค้าเป็นหลัก ระบบรถไฟในสหรัฐฯ ใช้ขนส่งสินค้าเป็นหลัก คนในสหรัฐฯ ไม่นิยมและไม่คุ้นเคยกับการเดินทางด้วยรถไฟ ในการเดินทางระหว่างมลรัฐ หากไม่เดินทางด้วยรถยนต์ ก็เดินทางด้วยเครื่องบิน ส่วนรถไฟที่ใช้ขนส่งสินค้าไม่มีความจำเป็นต้องเป็นความเร็วสูง
  • ระบบการเมืองสหรัฐฯ ไม่เอื้ออำนวย สหรัฐฯ ปกครองด้วยระบบสหพันธรัฐ ประกอบด้วยรัฐบาลกลางและรัฐบาลของแต่ละมลรัฐ รัฐบาลกลางไม่สามารถให้ความสำคัญกับโครงการรถไฟความเร็วสูงในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งเป็นพิเศษได้ เพราะจะเป็นการลงทุนเพื่อเอื้อประโยชน์ให้พื้นที่หนึ่งเป็นการเฉพาะ  ในทางกลับกัน รัฐบาลมลรัฐก็ไม่มีความสามารถที่จะประสานเพื่อสร้างรถไฟความเร็วสูงเชื่อมระหว่างมลรัฐได้ เมืองใหญ่ที่เหมาะสมในการสร้างรถไฟเชื่อม มักเป็นเมืองใหญ่ที่อยู่ในมลรัฐที่ต่างกัน เช่น การเชื่อมเมืองบอสตันในมลรัฐแมสซาชูเซตส์ เข้ากับเมืองนิวยอร์กในมลรัฐนิวยอร์ก ย่อมต้องอาศัยการประสานงานระหว่างรัฐบาลของมลรัฐทั้งคู่
  • การต่อต้านจากกลุ่มผลประโยชน์ เช่น อุตสาหกรรมรถยนต์ อุตสาหกรรมสายการบิน อุตสาหกรรมน้ำมัน ซึ่งล้วนมีอิทธิพลในระบบการเมืองสหรัฐฯ

 

เหตุผลคัดค้านและสนับสนุนรถไฟความเร็วสูง

 

ฝ่ายที่คัดค้านแนวคิดการสร้างรถไฟความเร็วสูงในสหรัฐฯ มักให้เหตุผลว่า ต้นทุนในการก่อสร้างสูงเกินไป และไม่มีทางที่จะคุ้มทุนจากการเก็บค่าโดยสาร ทำให้รัฐบาล (ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลกลางหรือรัฐบาลมลรัฐ) ต้องแบกรับภาระอุดหนุนโครงการ เป็นการเอาเงินภาษีประชาชนมาอุดหนุนโครงการคมนาคมที่อาจมีคนใช้เพียงหยิบมือเดียว เพราะคนสหรัฐฯ โดยทั่วไปไม่นิยมเดินทางด้วยรถไฟ อีกทั้งการเดินทางด้วยรถยนต์และเครื่องบินในปัจจุบันก็เพียงพออยู่แล้ว จึงไม่มีความจำเป็นต้องผลาญเงินมหาศาลอย่างสิ้นเปลือง

ส่วนฝ่ายที่สนับสนุนให้เหตุผลว่า ได้มีการประเมินว่าบางเส้นทาง เช่น เส้นทางเชื่อมลอสแอนเจลิส และซานฟรานซิสโกจะคุ้มทุน  ถึงแม้จะมีโครงการที่อาจไม่คุ้มทุน แต่ในความเป็นจริง การก่อสร้างโครงสร้างคมนาคมทุกรูปแบบ (ไม่ว่าจะเป็นการสร้างสนามบินหรือทางหลวง) ก็ล้วนแต่เป็นการเอาเงินภาษีประชาชนมาอุดหนุนโครงการที่ไม่มีทางคุ้มทุนด้วยตัวเองทั้งสิ้น

นอกจากนั้น การสร้างรถไฟความเร็วสูงจะช่วยประหยัดพลังงานและลดการพึ่งพาน้ำมัน ทั้งยังเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากกว่า โดยจะช่วยลดปริมาณรถยนต์และการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และจะช่วยแก้ไขปัญหาความหนาแน่นในสายการบินและสนามบินในสหรัฐฯ ซึ่งไม่สามารถขยายตัวรองรับจำนวนผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องได้

 

แผนโครงการรถไฟความเร็วสูงในสหรัฐฯ

 

แผนโครงการที่ได้รับการพูดถึงกันมากในสหรัฐฯ และดูสมเหตุสมผลในทางเศรษฐกิจ มีอยู่ 2 โครงการ คือ

โครงการระเบียงตะวันออกเฉียงเหนือ เชื่อมบอสตัน – นิวยอร์ก – วอร์ชิงตัน โดยที่ระยะทางระหว่างเมืองอยู่ที่ราว 200 ไมล์ ซึ่งเป็นระยะทางที่เหมาะสมในการสร้างรถไฟความเร็วสูง เวลาในการเดินทางจะใกล้เคียงหรืออาจเร็วกว่าการเดินทางด้วยเครื่องบิน (เดินทางจากนิวยอร์กถึงวอร์ชิงตัน 96 นาที และเดินทางจากบอสตันถึงนิวยอร์ก 84 นาที) และน่าจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่าการเดินทางด้วยรถยนต์ เนื่องจากการจราจรภายในตัวเมืองที่หนาแน่น เมืองทั้งสามเมืองยังเป็นเมืองที่มีประชากรกระจุกตัว มีเขตใจกลางเมืองที่มีความคึกคักทางเศรษฐกิจ และมีระบบรถไฟใต้ดินที่มีประสิทธิภาพ เมื่อเดินทางถึงใจกลางเมือง สามารถเดินทางต่อภายในเมืองได้อย่างสะดวกโดยไม่ต้องใช้รถยนต์  สำหรับโครงการนี้ ปัจจุบันยังอยู่ในระหว่างการศึกษา และไม่มีความก้าวหน้าเท่าใดนัก

โครงการเชื่อมลอสแอนเจลิส – ซานฟรานซิสโก ซึ่งเป็นโครงการของรัฐบาลมลรัฐแคลิฟอร์เนีย เป็นการเชื่อมสองเมืองใหญ่ภายในรัฐแคลิฟอร์เนียเอง โดยจะใช้เวลาการเดินทาง 2 ชั่วโมง 40 นาที ด้วยความเร็ว 220 ไมล์ต่อชั่วโมง (350 กิโลเมตรต่อชั่วโมง)  ขณะนี้ได้เริ่มการก่อสร้างโครงการระยะแรกแล้ว คาดการณ์ว่าโครงการจะสร้างเสร็จสมบูรณ์ได้ในปี ค.ศ. 2029

 

เทคโนโลยีใหม่: ทางเลือกและทางเสริมรถไฟความเร็วสูง?

 

อีลอน มัสก์ เจ้าของ Tesla บริษัทรถยนต์ชื่อดังของสหรัฐฯ ได้ออกมาสนับสนุนแนวคิดการเดินทางด้วยความเร็วสูงผ่านท่อ หรือที่เรียกว่า Hyperloop โดยเขาเชื่อว่าสามารถเดินทางได้ด้วยความเร็ว 3 เท่าของรถไฟความเร็วสูง และใช้งบก่อสร้างเพียง 1/10 ของงบก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง

เขาได้เปิดบริษัทลูกชื่อ Hyperloop One เพื่อวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีดังกล่าว ซึ่งจะเป็นระบบการวิ่งด้วยมอเตอร์ไฟฟ้าเหนี่ยวนำเชิงเส้น เดินทางด้วยแคปซูลผ่านท่อสุญญากาศ ความเร็วจะสูงถึง 700 ไมล์ต่อชั่วโมง หรือราว 1,100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งจะทำให้การเดินทางจากลอสแอนเจลิสไปซานฟรานซิสโก ใช้เวลาเพียง 30 นาทีเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม หลายฝ่ายมองว่าเทคโนโลยี Hyperloop ยังมีความไม่แน่นอนสูง น่าจะยังต้องใช้เวลาพัฒนาอยู่อีกพอสมควร ปัญหาความปลอดภัย รูปแบบการเดินทาง ต้นทุนก่อสร้าง ล้วนขาดความชัดเจน

อีกเทคโนโลยีหนึ่งที่น่าสนใจ และอาจกลายมาเป็นตัวเสริมรถไฟความเร็วสูง ก็คือ รถอัตโนมัติที่ไม่ต้องใช้คนขับ (Self-Driving Car) ซึ่งขณะนี้ Google กำลังพัฒนาเทคโนโลยีดังกล่าวอยู่ หากสำเร็จ ก็อาจเป็นโมเดลใหม่สำหรับการเดินทางภายในเมือง น่าจะช่วยแก้ไขปัญหาการเดินทางภายในเมืองในสหรัฐฯ ที่ยังไม่มีระบบขนส่งมวลชนที่มีประสิทธิภาพได้  ที่สำคัญคือ จะช่วยให้การเดินทางด้วยรถไฟความเร็วสูง หรือเทคโนโลยีอื่น เช่น Hyperloop เชื่อมต่อกับการเดินทางภายในเมืองได้อย่างสะดวก ผู้โดยสารรถไฟความเร็วสูงสามารถให้ Self-Driving Car ขับมาส่งและรับที่สถานีรถไฟได้เลย

ในระหว่างที่ Hyperloop ยังไม่เป็นรูปเป็นร่าง Self-Driving Car ยังใช้ไม่ได้จริง และโครงการรถไฟความเร็วสูงในสหรัฐฯ ยังไปไม่ถึงไหน ครั้งนี้พี่ไทยกลับแซงหน้าไปก่อนแล้ว เพราะเรากำลังจะมีรถไฟความเร็วสูงเชื่อมกรุงเทพฯ – โคราช (ด้วยเทคโนโลยีจีน) ในอนาคตอันใกล้ ส่วนที่ว่ารถไฟความเร็วสูงของไทยคุ้มไม่คุ้ม สมเหตุสมผลหรือไม่ ไทยเราเหมือนหรือไม่เหมือนสหรัฐฯ ตรงไหน

ผมขอฝากให้ท่านผู้อ่านพิจารณาเปรียบเทียบดู

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

17 Jul 2020

ร่วมรากแต่ขัดแย้ง ความบาดหมางระหว่างอินโดนีเซียและมาเลเซีย

อรอนงค์ ทิพย์พิมล เขียนถึงความขัดแย้งระหว่างประเทศมาเลเซียและอินโดนีเซีย ที่ทั้งสองประเทศมีรากเหง้าทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมร่วมกันหลายอย่าง จนนำไปสู่ความขัดแย้งในการช่วงชิงความเป็นเจ้าของภาษาและวัฒนธรรมมลายู

อรอนงค์ ทิพย์พิมล

17 Jul 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save