fbpx
สื่อไทยในโลกดิสโทเปีย : บนถนนสู่ความฝัน ของ นิธินันท์ ยอแสงรัตน์

สื่อไทยในโลกดิสโทเปีย : บนถนนสู่ความฝัน ของ นิธินันท์ ยอแสงรัตน์

พันธวัฒน์ เศรษฐวิไล ธิติ มีแต้ม และศุภาวรรณ คงสุวรรณ์ เรื่อง

พันธวัฒน์ เศรษฐวิไล เรียบเรียง

ธิติ มีแต้ม ภาพ

ตลอดหลายปีที่สังคมไทยตกอยู่ในภาวะสงบเงียบงัน หนึ่งในฟันเฟืองสำคัญที่ทำหน้าที่ขับเคลื่อนข้อมูลข่าวสาร เผยแพร่ความคิดอุดมการณ์ ส่งผ่านสารพัดความคิดเห็น กระทั่งเปลี่ยนมวลอารมณ์ของผู้คนในสังคมจากหน้ามือเป็นหลังมือได้ ก็คือบรรดาสื่อมวลชนทั้งหลาย ตั้งแต่สื่อดั้งเดิมไปจนถึงสื่อออนไลน์

ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง สื่อมวลชนเปรียบเสมือนเชื้อเพลิงชั้นเยี่ยมที่สามารถสุมอุณหภูมิสังคมให้รุ่มร้อน ทว่าบางเวลาก็สามารถเป็นเครื่องปรับอากาศชั้นดี เปลี่ยนความระอุเป็นมวลอากาศเย็นฉ่ำได้ทันใจ

แต่หากนับเฉพาะช่วงการเลือกตั้งที่ผ่านมา ดูเหมือนว่าสื่อจำนวนหนึ่งจะเอาจริงเอาจังกับการสุมฟืนเข้ากองไฟเสียมากกว่า

“สิ่งที่สื่อไทยไม่ค่อยมีคือความอาจหาญ ถ้าคุณรักเผด็จการ คุณจงอาจหาญที่จะพูดว่าฉันรักเผด็จการ หรือถ้าคุณจะเป็น propaganda คุณต้องเป็นมืออาชีพพอที่จะยอมรับว่าฉันกำลังทำ propaganda อย่าทำแบบหลบๆ ซ่อนๆ”

ข้างต้นคือข้อสังเกตจาก นิธินันท์ ยอแสงรัตน์ สื่อมวลชนอาวุโส ผู้คลุกคลีอยู่บนถนนสื่อมวลชนมาร่วม 40 ปี ผ่านงานสื่อมาโชกโชน

เธอเริ่มต้นการทำงานข่าวช่วงหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ที่เครือเนชั่น ก่อนขยับไปเป็นนักข่าวที่มติชนในช่วงเวลาสั้นๆ ย้ายกลับไปเป็นหัวหอกของหนังสือพิมพ์ The Nation ในยุครุ่งเรือง จนได้เลื่อนขั้นเป็นบรรณาธิการอาวุโส และกลับมารับตำแหน่งที่ปรึกษาให้ค่ายมติชนอีกครั้งหลังวัยเกษียณ ถ่ายทอดความคิดความเห็นในประเด็นสื่อกับสังคมเป็นระยะ ใน Media Inside Out ที่เธอเป็นผู้ร่วมก่อตั้ง

ไม่บ่อยครั้งนัก ที่เธอจะเปิดหน้าวิพากษ์วิชาชีพที่ตนสังกัด ทว่าทุกครั้งที่ขึ้นสังเวียน หมัดเธอแรงและพุ่งตรงเป้าเสมอ

ในนามของคนทำสื่อผู้อยู่ในสนามมาอย่างเจนจัด ผ่านการเปลี่ยนแปลงทางสังคมครั้งใหญ่ๆ มาตั้งแต่ยุค 14 ตุลาฯ เธอประเมินสถานะและการทำงานของสื่อไทยทุกวันนี้อย่างไร มาตรฐานวิชาชีพสื่อในยุคนี้คืออะไร แตกต่างจากยุคที่ผ่านๆ มาหรือไม่

สิ่งใดที่น่ากังวล สิ่งใดที่เป็นความหวัง และปัจจัยอะไรที่ทำให้เธอยังคงยึดมั่นและศรัทธาในวิชาชีพนี้

ต่อไปนี้คือบทสนทนาที่เป็นเสมือนการถอดบทเรียนตลอด 40 ปี ของคนทำสื่อที่นิยามว่าตัวเองเป็นคนโลกสวย และหล่อเลี้ยงชีวิตการทำงานด้วยความฝัน

นิธินันท์ ยอแสงรัตน์

ขอเริ่มด้วยการชวนวิพากษ์วิจารณ์บทบาทหน้าที่ของสื่อในปัจจุบัน 

เรื่องนี้มีสองประเด็น ประเด็นแรกคือการทำหน้าที่ของสื่อ ว่าจริงๆ แล้วสื่อควรทำหน้าที่อะไร มีบทบาทยังไง ซึ่งโดยส่วนตัวคิดว่าสื่อไทยส่วนใหญ่ ไม่ค่อยรู้ว่าหน้าที่ของสื่อคืออะไร เขาอาจบอกว่าเขารู้ แต่เวลามองเข้าไป จะรู้สึกว่าคุณทำหน้าที่สื่อแล้วหรือ คุณเคยตั้งคำถามเรื่องนี้ไหม คุณรู้แต่ว่าคุณเป็นฐานันดรที่สี่ คุณได้เจอผู้คนเยอะแยะ คุณสามารถไปบอกให้คนนั้นคนนี้ ทำอะไรอย่างนั้นอย่างนี้ ไม่พอใจใครก็เขียนด่าได้ นี่คือความรู้สึกของคนทั่วไป หรือแม้แต่ตัวเอง มองกลับไปก็เห็นอย่างนั้น สื่อส่วนใหญ่ที่เราเห็นและเสียงดังๆ เป็นอย่างนี้กันหมด

ประเด็นที่สอง เรื่องสื่อที่มุ่งโจมตีฝ่ายที่ตนเองไม่เห็นด้วย ถ้ามองจริงๆ มันไม่ได้เกิดขึ้นแค่ตอนนี้ แต่เป็นสิ่งที่ต่อเนื่องมายาวนานแล้ว และเป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้งในสังคมไทยมาตลอด อันที่จริงมันผูกพันไปถึง 2475 โดยที่คนทำสื่อรุ่นหลังๆ เองก็ไม่รู้ตัว โดยเฉพาะสื่อที่อยู่ในฝ่ายจารีตที่แสดงบทบาทนี้ออกมาเรื่อยๆ จนกระทั่งการต่อสู้ทางความคิดเริ่มเข้มข้นขึ้นในช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมา

ปัญหาของสื่อไทยคือการไม่รู้ว่าฐานคิดของตัวเองคืออะไร ไม่รู้ว่าหน้าที่ตัวเองคืออะไร เมื่อไม่รู้ทั้งสองอย่าง ก็เลยกลายเป็นปัญหา

สิ่งสำคัญอย่างหนึ่งของคนทำสื่อยุคนี้คือ เราต้องหัดเคารพเพื่อนร่วมโลก แล้วเลิกหลงตัวว่าเราดีกว่าคนอื่น เพราะที่ผ่านมา นี่เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้สื่อไทยนิสัยเสีย คนทำสื่อจะมีความรู้สึกว่า ฉันพราวด์ ฉันยิ่งใหญ่มากเลย ฉันคือผู้รักษาความเที่ยงธรรม ฉันเป็นฐานันดรที่สี่ … นี่ขนาดตัวเราเองไม่ได้เรียนด้านสื่อมา แต่ช่วงที่เริ่มทำงานสื่อใหม่ๆ ยังมีความรู้สึกพราวด์เลย หน้านี่เชิดเลย (หัวเราะ)

ที่บอกว่าสื่อไทยไม่รู้หน้าที่ตัวเอง และเป็นมาทุกยุคทุกสมัย ถ้าว่าตามหลักการ สื่อควรทำหน้าที่อะไรบ้างในยุคสมัยนี้

ก่อนตอบคำถาม อยากตั้งข้อสังเกตไว้นิดนึงว่า นิยามความเป็นสื่อ รวมถึงหลักการทำสื่อ มันสามารถเปลี่ยนไปได้ตามยุคสมัย เมื่อก่อนเป็นอย่างหนึ่ง ตอนนี้เป็นอย่างหนึ่ง พรุ่งนี้อาจเป็นอีกอย่างหนึ่งก็ได้

แต่โดยส่วนตัว ดิฉันมีความเชื่อว่าไม่ว่าสื่อจะเปลี่ยนแพลตฟอร์ม เปลี่ยนเครื่องมือในการเข้าถึง หรือเปลี่ยนโฉมหน้าไปอย่างไร ความเป็นสื่อจะต้องมีองค์ประกอบอย่างน้อยที่สุด ไม่แตกต่างจากสิ่งที่กำลังพูดต่อไปนี้ ซึ่งอาจเรียกว่า ‘4M’ จริงๆ แล้วเราสามารถอธิบายขยายความได้อีกมากในเชิงจริยธรรมสื่อ แต่จะขอพูดแบบรวบรัดโดยไม่เจาะจงว่าเป็นจริยธรรมสื่อ แต่หมายถึงหน้าที่ของสื่อโดยรวม

ข้อแรกคือ ‘Media’ การเป็นสื่อ สิ่งสำคัญที่สุดของการทำสื่อคือต้องทำความจริงให้ปรากฏ แม้จะมีการถกเถียงกันว่าความจริงคืออะไร แต่อย่างน้อยคุณต้องทำให้ใกล้เคียงกับสิ่งที่เกิดขึ้นจริงมากที่สุด นี่คือหน้าที่ของสื่อ คืองานของสื่อ คือความรับผิดชอบของสื่อ เหมือนคุณขายข้าวแกงหรือขายบะหมี่ คุณก็ต้องทำข้าวแกงให้อร่อยที่สุด ทำบะหมี่ให้อร่อยที่สุด ทำอาหารให้รสชาติดี ไม่บูดไม่เสีย ไม่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภค สื่อก็เช่นกัน สาระสำคัญของมันคือการนำเสนอความจริง

ข้อสอง ‘Medium’ สื่อจะต้องทำหน้าที่เป็นสื่อกลาง เป็นฟอรั่มที่เปิดพื้นที่ให้ความคิดอันแตกต่างหลากหลายในสังคมได้มาปะทะแลกเปลี่ยนกัน เปิดพื้นที่ให้คนที่มีความเห็นแตกต่างมาถกเถียงกัน เพื่อหาจุด compromise ให้สังคมก้าวต่อไปได้ ไม่ใช่ยุให้คนเกลียดกัน ฆ่ากัน

ข้อสาม ‘Messenger’ เป็นผู้ส่งสาร ถ้านึกถึงสังคมสมัยก่อน การสื่อสารหลักๆ จะเป็นการสื่อสารทางเดียวจากผู้ปกครอง การเกิดขึ้นของสื่อคือการทำให้เกิดเสียงใหม่ๆ เสียงของคนทั่วไปที่จะส่งไปถึงผู้คนทั่วไปด้วยกัน ส่งเสียงถึงคนข้างบน ไม่ใช่เสียงที่ผู้ปกครองข้างบนสั่งลงมาอย่างเดียว และสื่อต้องเลือกเรื่องราวที่จะเล่าให้สัมพันธ์กับผู้คนในสังคม ซึ่งหมายถึงคนทุกคนในสังคม ไม่ใช่เป็นเสียงของคนใดคนหนึ่งเท่านั้น ยกเว้นจะเป็นสื่อเฉพาะกลุ่มหรือเฉพาะบุคคล ถ้าเป็นสื่อสารมวลชน ต้องครอบคลุมเสียงของคนทั้งหมด

ข้อสุดท้าย คือ ‘Map Maker’ มีนักวิชาการด้านสื่อต่างประเทศหลายคนเห็นพ้องกันว่า จริงๆ แล้วสื่อเป็นคนทำแผนที่สังคม เพราะคนในสังคม เขาอาจอยู่กันคนละมุม มองเห็นไม่หมดทุกมุม หน้าที่ของสื่อคือเสนอมุมนั้นมุมนี้ แล้วเอามาวาดเป็นแผนที่ให้เห็น เพื่อที่คนจะเอาไปตัดสินใจว่าฉันจะเดินขึ้นภูเขา จะเดินลงไปที่ลำธาร หรือจะเข้าไปในป่า ซึ่งเป็นสิทธิของเขา สื่อมีหน้าที่ทำแผนที่ให้เขาดู

แม้ภูมิทัศน์สื่อจะเปลี่ยนไปแค่ไหน สิ่งต่างๆ ที่พูดมา สื่อต้องทำให้ครบ ดิฉันเชื่อว่าถ้าสื่อเดินตามหลักการนี้ ผู้บริโภคจะติดตาม ให้ความไว้วางใจกับคุณ

 

อยากให้ขยายความเรื่อง ‘การทำความจริงให้ปรากฏ’ มีคนตั้งข้อสังเกตว่าบางสื่อที่อยู่ในฝ่ายจารีต ดูเหมือนจะไม่ได้ให้ความสำคัญกับข้อนี้สักเท่าไร มันเป็นเพราะอะไร

ดิฉันคิดว่าสื่อฝั่งจารีตเขาอยู่ด้วยความกลัว กลัวว่าสิ่งต่างๆ ที่เคยยึดมั่นถือมั่นนั้นจะไม่อยู่แล้ว ยิ่งถ้าเขาเคยมีชื่อเสียงในสื่อที่ถือเป็นสถาบันหลักของสังคมสื่อมาก่อน พอมันถูกสั่นคลอน เขาจึงไม่ได้ทำหน้าที่สื่อสารมวลชนอย่างที่ควรจะเป็น ไม่ได้เป็น Mass Media แต่เป็นแค่ Media ของฝั่งตัวเองที่ทำหน้าที่ propaganda เท่านั้น

propaganda เกิดขึ้นท่ามกลางสงคราม หัวใจของมันคือการทำอะไรก็ได้เพื่อทำลายฝ่ายตรงข้าม ใส่ร้ายป้ายสีให้เกิดความพินาศย่อยยับ แต่ถึงที่สุดแล้ว ดิฉันเชื่อว่ามนุษย์ไม่ต้องการความเท็จหรอก มนุษย์ต้องการความจริง แล้วถ้ามันมีความเท็จออกมามากๆ มนุษย์ก็จะเรียกร้องหาความจริง เพราะเขาอยากรู้

คนเราไม่ได้เกิดมามีสมองที่พอใจจะอยู่กับเรื่องโกหกได้ตลอดเวลา แม้บางคนอาจมีแนวโน้มจะเลือกเชื่อสิ่งที่ดูหลอกลวง เพราะมันทำให้รู้สึกปลอดภัย แต่ถึงที่สุดเมื่อความจริงมันเกิดขึ้น เมื่อมันปรากฏออกมาให้เราเห็น ยังไงเราก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ ความปลอดภัยที่แท้จริงคือการอยู่กับความจริง จนเรายอมรับและรับมือกับมันได้

 

แล้วทิศทางการทำสื่อที่ควรจะเป็น ควรเป็นแบบไหน

ประเด็นที่ประเทศไทยยังพูดถึงกันน้อย คือคำว่า ‘Advocacy Journalism’ คือคุณเป็นสื่อที่เลือกข้างได้ แต่คุณต้องเป็นมืออาชีพด้วย แม้แต่ถ้าคุณจะเป็น propaganda คุณต้องเป็นมืออาชีพพอที่จะยอมรับว่าฉันกำลังทำ propaganda อย่าทำแบบอายๆ หรือหลบๆ ซ่อนๆ

สิ่งที่สื่อไทยไม่ค่อยมีคือความอาจหาญ คุณต้องอาจหาญ ต้องเป็นตัวของตัวเอง ถ้าคุณรักเผด็จการ คุณจงอาจหาญที่จะพูดว่าฉันรักเผด็จการ เพราะเผด็จการในทัศนะของฉัน มันนำมาซึ่งความสงบเรียบร้อย ไม่มีใครออกนอกแถว ฉันชอบแถวแบบนี้

จงอาจหาญที่จะพูด แต่อย่ามาบอกว่าฉันเป็นประชาธิปไตยทั้งๆ ที่ในใจคิดอีกอย่าง

ส่วนคนที่เป็นสื่อมวลชน ไม่ว่าจะอยู่ที่ใด สังกัดองค์กรไหนก็ตาม ต้องมีมโนธรรมสำนึกของตัวเองที่จะกล้าบอกว่าฉันพูดอะไร ฉันคิดอะไร แม้คุณจะอยู่ในสังกัดขององค์กรที่เขาคิดไม่เหมือนกับคุณ แต่เมื่อมโนธรรมสำนึกของคุณบอกว่าแบบนี้มันไม่ใช่ ต้องอาจหาญพอที่จะลุกขึ้นมา นี่เป็นคุณสมบัติของคนทำสื่อ มิเช่นนั้นอย่าเรียกตัวเองว่าคนทำสื่อ

นิธินันท์ ยอแสงรัตน์

สื่อไม่จำเป็นต้องเป็นกลางก็ได้?

เรื่องความเป็นกลาง มันมาพร้อมชุดความเชื่อที่ว่าสื่อคือผู้กำกับความถูกต้อง บอกว่าฉันอยู่ตรงกลาง ไม่เข้าข้างใครนะ ส่วนตัวจึงมองว่า ความเป็นกลางน่าจะเป็นการให้พื้นที่ เปิดฟอรั่ม ให้ทุกฝ่ายได้พูด แล้วใครจะเลือกอะไร เชื่ออะไร ก็เรื่องของเขา

สื่อเกิดขึ้นเพราะมนุษย์อยากตอบสนองความอยากรู้อยากเห็นของตัวเอง ขณะเดียวกันก็อยากได้ยินเสียงของตัวเองด้วย ถ้าเราอยากทำสื่อที่สะท้อนความคิดของเรา ก็จงทำเถิด แต่ทำอย่างมืออาชีพ ความเป็นมืออาชีพก็อย่างที่บอกไป คือทำความจริงให้ปรากฏ ถ้าเราอยากจะทำความจริงของฝั่งที่เราเชื่อให้ปรากฏ ก็จงทำมันออกมา โดยที่ไม่จำเป็นต้องไปฆ่าคนอื่น ถ้าคุณจะทำสื่อ propaganda ก็จงบอกว่าคุณคือสื่อ propaganda

ไม่ว่าคุณจะทำอะไร จงบอกตัวตนของคุณอย่างตรงไปตรงมา แล้วผู้คนจะตัดสินเอง

มองว่าคนสามารถตัดสินและเลือกเองได้?

ใช่ค่ะ คนโลกสวยอย่างดิฉันมองอย่างนั้น (หัวเราะ) สิ่งสำคัญของโลกยุคใหม่คือการต่อสู้ทางความคิด ไม่ใช่การต่อสู้ด้วยกำลัง ซึ่งเอาเข้าจริง เราก็ไม่รู้หรอก ถึงเวลามนุษย์อาจใช้กำลังกันอีกก็ได้ เพราะมันเป็นธรรมชาติ แต่สิ่งที่มนุษย์ที่มีสติปัญญาควรจะคิดได้ ก่อนที่จะใช้กำลัง คือเรามาสู้กันทางความคิดก่อนดีไหม

ยิ่งถ้าคุณเป็นสื่อ แม้คุณจะไม่ได้เป็นกลางทางความเชื่อ แต่คุณก็ไม่ควรเปิดพื้นที่เพื่อให้คนมาฆ่ากัน มันจะยิ่งทำให้สังคมไม่มีทางไป สื่อไม่ได้มีหน้าที่ทำลายชีวิต แต่คือการทำให้สังคมมีทางออก เป็น Map Maker ชี้ให้คนเห็นทางออกของชีวิต เห็นทางออกของสังคม

แต่ปัญหาที่สังเกตเห็นคือ สื่อที่ทำตัวเป็น propaganda มักไม่เปิดเผยว่าตัวเองเป็น propaganda ซึ่งส่งผลต่อการรับรู้ของผู้บริโภคด้วย ที่อาจเข้าใจและเชื่อไปว่านั่นคือความจริง

นี่คือปัญหาใหญ่เลยค่ะ ซึ่งดิฉันคิดว่ามีสองแบบ แบบแรกคือคนที่เขารู้ตัวว่ากำลังบิดเบือน อันนี้มีแน่ๆ แต่อีกแบบคือคนที่ไม่รู้ตัว และเชื่ออย่างจริงจังว่าฉันไม่ได้เป็นเผด็จการ ฉันเป็นคนดี แบบนี้ก็มี ซึ่งเป็นเรื่องเศร้ามาก แต่เขาเป็นอย่างนั้นจริงๆ บางทีที่เห็นคนดูถูกอาชีพสื่อ เราก็เศร้านะ แต่พอนึกในใจ เออ ที่เขาดูถูกมันก็จริง เพราะมันห่วยจริงๆ (หัวเราะ)

อันนี้ยอมรับเลยนะคะ คุณภาพคนทำสื่อบ้านเราห่วยจริงๆ ค่ะ ไม่เอาไหนเลย ไม่มีความรู้ และไม่เคยศึกษาหาความรู้เพิ่มเติม เรียกว่าอ่อนด้อยไปหมด เอาแค่ความรู้พื้นฐาน 101 ไม่ว่าเรื่องรัฐศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ ปรัชญา จิตวิทยา ไม่มีทั้งสิ้น ไม่รู้ว่ามาทำสื่อกันได้ยังไง แปลกมาก

แต่ยุคนี้โชคดี เพราะมีโซเชียลมีเดียแล้ว มันไม่ได้เป็นข้อมูลข้างเดียวเหมือนแต่ก่อนแล้ว ถ้าเป็นแบบนั้นถือว่าอันตราย

ตอนนี้ดิฉันจึงไม่กลัวสื่อที่บิดเบือนเท่าไร คือเราวิจารณ์เขา เรียกร้องเขาให้อย่าเหนียมอาย ให้อาจหาญเปิดเผยตัวเองมาเลย แล้วมาชนกัน สู้กันทางความคิดอย่างตรงไปตรงมา ไม่ว่าเราจะเรียกว่าฝ่ายจารีตกับฝ่ายก้าวหน้า หรือเผด็จการกับประชาธิปไตย อะไรก็ได้ เอาความคิดมาชนกันเลย ยกมาสิว่ามันดียังไง เสียยังไง แต่อย่าปลอมแปลงตัวเอง และอย่าไปยึดติดอยู่กับวงเวียนเก่าๆ

ย้อนไปสมัยที่คุณทำงานอยู่ในสนาม ความเป็นสื่อในยุคนั้นเป็นอย่างไร

เราเคยคุยกับคนในวงการสื่อว่า สื่อยุคก่อนหน้าเราคือรุ่นคุณอิศรา อมันตกุล ที่เอามายกย่องกัน คนรุ่นนั้นเขายอมติดคุกเพื่อแลกกับความเป็นธรรม แต่หลังจากนั้นมา เราไม่เห็นสื่อที่ยอมติดคุกเพื่อประชาธิปไตย เพื่อปกป้องแหล่งข่าว เรามีแต่สื่อที่คอยพูดคำใหญ่คำโตเมื่อมีคนวิจารณ์ และพร้อมจะไปล้วงควักชีวิตส่วนตัวของคนอื่นโดยไม่คำนึงถึงจริยธรรมใดๆ

ดิฉันอยู่ในวงการข่าวตั้งแต่อายุ 21 จนกระทั่งถึงบัดนี้อายุ 60 กว่า เจอรัฐประหารมาหลายครั้ง เคยเจอ scene ที่มีทหารมาล่ามโซ่แทนพิมพ์ กระทั่งทหารเดินขึ้นไปบนตึกที่เรานั่งทำงานกันอยู่ แต่เราก็ไม่ได้ไปถึงจุดที่ต้องติดคุกแบบคุณอิศรา

ทำไมครูบาอาจารย์ระดับ ‘อิศรา อมันตกุล’ หรืออย่าง ‘ศรีบูรพา’ ถึงยังถูกอ้างอิงในปัจจุบันกับกลุ่มคนทำสื่ออยู่เสมอ

เราต้องยอมรับอย่างหนึ่งว่า เราไม่มีต้นแบบของสื่อไทย เอาที่ชัดๆ ก็มีแค่ 2 ชื่อนี้ ศรีบูรพา กับอิศรา อมันตกุล ฉะนั้นใครก็ตามที่ได้เข้ามาทำงานเกี่ยวข้องวงการสื่อสารมวลชน ก็เลยต้องยึดอันนี้ไว้

นิธินันท์ ยอแสงรัตน์

ประเด็นต่อมาที่อยากชวนคุย คือเรื่องความสัมพันธ์ของสื่อมวลชนกับนักการเมือง เราควรมองหลักการเรื่องการห้ามนักการเมืองถือหุ้นสื่อยังไง 

โดยหลักการ ถ้ากฎหมายระบุว่านักการเมืองหรือผู้สมัคร ส.ส. จะถือหุ้นสื่อไม่ได้ ทางปฏิบัติก็ต้องว่าไปตามนั้น แต่ประเด็นคือกรณีนี้ มันดูหลายมาตรฐานชอบกล หมายความว่าถ้าจะมีการตัดสินหรือตรวจสอบ ก็ต้องดูให้ครบและเสมอภาค แต่นี่มันดูชัดและโจ่งแจ้งเกินไป คือมุ่งไปที่คุณธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ กับพรรคอนาคตใหม่เป็นหลัก

ถามว่ามองอย่างไร ดิฉันมองว่าเป็นเรื่องตลกตกยุคของฝ่ายจารีต ในกรณีของคุณธนาธร อย่างที่เห็นว่านิตยสารที่บริษัทนี้ทำก็เจ๊งไปแล้ว และตัวเนื้อหาก็ไม่ได้ส่งผลต่อภาพลักษณ์หรือผลประโยชน์ทางการเมืองด้วยซ้ำ ขณะที่พรรคอื่นกลับไม่ถูกตรวจสอบหรือเพ่งเล่งขนาดนี้

อันที่จริง เวลาเราพูดเรื่องนักการเมืองกับการถือหุ้นสื่อ สมมติถ้าเรามองว่าทุกคนมีสิทธิถือหุ้นสื่อ สิ่งที่ต้องดูคือ เขาใช้สื่อนั้นไปทำร้ายคนอื่นหรือเปล่า ส่วนเรื่องที่ว่าจะเอาไปใช้ประโยชน์ในการหาเสียงให้ตัวเอง จริงๆ แล้วในสมัยใหม่ เราอาจไม่ต้องกลัวเท่าไหร่ ในเมื่อโลกมันเปลี่ยน เทคโนโลยีเปลี่ยน การเป็นสื่อใหญ่ก็ไม่ได้แปลว่าคุณจะได้เปรียบสื่อเล็กหรือสื่อพลเมืองอีกต่อไปแล้ว

อย่างที่บอกไปว่า ฝ่ายจารีตเขาอยู่ด้วยความกลัว เขาจึงไม่แคร์ความตลกตกยุคใดๆ ดิฉันมองว่าเป็นสัญชาตญาณเอาตัวรอด ความกลัวแบบนี้มันมากับความเชื่อความเคยชินของคนยุคเก่า ที่สื่อสถาบันสามารถกุมข่าวสารได้เกือบหมด แต่เมื่อเราเข้ามาสู่ยุคใหม่ เราอาจต้องปรับความเคยชินใหม่ มองเรื่องใหม่ที่เกิดขึ้น เหนืออื่นใด สิ่งที่เป็นหัวใจของประเด็นนี้คือคุณต้องไม่ใช้สื่อไปทำร้ายคนอื่น

การเอาไม้บรรทัดมาขีดว่าทำแบบนี้แล้วต้องเลวทันที เป็นวิธีคิดที่โบราณ เช่นเดียวกับกรอบคิดเรื่องคนดีคนเลว ซึ่งสังคมไทยอาจต้องทำความเข้าใจใหม่ว่า ความดีความเลวมันเป็นเรื่อง subjective มาก ดีของใคร เลวของใคร พื้นฐานหรือกรอบคิดไหนที่ว่าดีหรือเลว แต่ถ้าว่ากันโดยสามัญสำนึกของมนุษย์ที่อาจยึดถือร่วมกันได้บ้างว่าเป็นเรื่องไม่ดีแน่ๆ ก็คือการฆ่าหรือการทำร้ายคนอื่น

ในต่างประเทศ มีตัวอย่างของสื่อที่เคลมตัวเองว่าเป็นสื่อของนักการเมืองไหม

เขาจะไม่พูดว่าเขา belongs to ใครคนใดคนหนึ่ง ส่วนใหญ่เขาจะ belongs to พรรค ซึ่งเป็นการ belongs to ในแง่ของความคิดหรืออุดมการณ์ อย่างอเมริกานี่ชัด อังกฤษก็เหมือนกัน เราถึงใช้คำว่า Advocacy Journalism คือฉันเลือกแบบนี้ ฉันจะเอาแนวคิดลิเบอรัล ฉันจะเอาเศรษฐกิจแบบสังคมนิยม เขาเลือกได้ แต่สิ่งสำคัญก็อย่างที่บอกไป ความเป็นมืออาชีพในการทำสื่อต้องคงอยู่

ในเรื่องนักการเมืองกับการถือหุ้นสื่อ เราเห็นสำนักข่าวอย่างสำนักข่าวอิศราตรวจสอบเรื่องหุ้นวี-ลัคของธนาธรอย่างเข้มข้น เรามองเห็นอะไรจากการทำข่าวสืบสวนสอบสวนเรื่องนี้

โดยมุมมองส่วนตัว ดิฉันคิดว่าการทำข่าวสืบสวนสอบสวน ไม่ควรเริ่มจากการตั้งธงว่าเธอเลว เธอทุจริต แล้วค่อยตามไปเจาะ พูดง่ายๆ ว่าสมมติฐานที่เราตั้ง ไม่จำเป็นจะต้องเอาความเลวความดีมาตั้ง การตั้งข้อสงสัยว่าเรื่องนี้มีการทุจริตหรือไม่ กับการตั้งธงไว้ว่าเธอต้องทุจริตแน่ๆ มันจะได้ผลที่ต่างกัน

การแสวงหาความจริงของเรื่องราวกับการปักธงว่าเธอเป็นแม่มด มันต่างกันนะคะ

แล้วข่าวสืบสวนสอบสวนที่ดีควรเป็นยังไง

ข่าวสืบสวนสอบสวนจริงๆ คุณต้องทำเหมือนงานวิจัย ถ้าใช้ศัพท์แบบอาจารย์เกษียร (เตชะพีระ) คือคุณต้องเป็นกลางทางองค์ความรู้ก่อน คุณต้องมีองค์ความรู้ที่เป็นกลาง และเอาองค์ความรู้นั้นไปจับหรืออธิบายเรื่องนั้นๆ ซึ่งต่างจากการไปตั้งธงก่อนว่าอะไรดีหรือเลว ใครดีใครเลว

ในกรณีของสำนักข่าวอิศรา ดิฉันมองว่าเขาคุ้นชินกับความคิดแบบเดิม และยังติดวิธีคิดแบบตั้งธงมาโดยไม่รู้ตัว เขาอาจไม่รู้ด้วยซ้ำว่าตัวเองใช้ฐานคิดอะไรในการทำข่าวแบบนี้

เส้นแบ่งของการทำข่าวเจาะกับการจับผิดอยู่ตรงไหน

อยู่ที่ทัศนคติ ถ้าคุณเคยทำงานวิชาการมาบ้าง คุณจะนึกออก สมมติเราจะพิสูจน์ว่าทฤษฎีนี้ผิด เราก็ต้องไปดูองค์ประกอบว่ามันผิดเพราะอะไร สิ่งนี้มันก่อให้เกิดอะไร แล้วค่อยฟันธงว่าผิดจริงไหม ซึ่งต่างจากการจับผิดแบบดีเลว หรือการตั้งสมมติฐานว่าแกควรถูกกำจัด เพราะแกเลว

ถ้าคุณมุ่งมั่นว่าไอ้นั่นดี ไอ้นี่เลว ฉะนั้นไอ้นี่ต้องถูกกำจัด ยังไงก็ผิดหลักการ เพราะความดีเลวมันเป็น subjective มีหลายหลักการให้อ้าง แต่ถ้าเรามุ่งพิสูจน์ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นเหตุจากอะไร ส่งผลทางลบหรือทางบวกกับอะไร อย่างไร แบบนี้คือการหาความจริง

ถ้าบอกว่า ที่ผ่านมา คุณประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์ (ผู้อำนวยการสถาบันอิศรา) ก็ตรวจสอบทุกฝ่ายมาตลอด ตั้งแต่คดีทักษิณ (ชินวัตร) ซุกหุ้น เสธ.หนั่น (พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์) ซุกหนี้ รวมถึงการตรวจสอบเรื่องลูกชาย พล.อ.ปรีชา (จันทร์โอชา) กรณีคุณธนาธรก็เหมือนเรื่องอื่นๆ ที่เคยทำมา จะว่าอย่างไร 

ก็ต้องถามย้อนกลับไปว่า ท่าทีที่คุณตรวจสอบธนาธรเป็นท่าทีแบบไหน และเวลาตรวจสอบคนอื่นๆ เจตจำนงมันเท่ากันไหม เราอยากเห็นเขาออกมายอมรับตรงๆ ว่ามีความคิดแบบไหน จะได้ชัดเจนกันไป และจะได้ไม่ต้องพยายามอ้างอะไรให้ดูดี เพราะตอนนี้มันเริ่มตลกแล้ว

เรื่องนักการเมืองถือหุ้นสื่อ มีคนแซวว่าสื่อไทยจะซีเรียสทำไม เพราะเอาเข้าจริง สื่อไทยเองก็แทบจะคุกเข่าให้นักการเมืองหรือชนชั้นนำอยู่แล้ว

ถ้าว่าด้วยหลักการ นักการเมืองไม่ควรถือหุ้นสื่อ แต่โดยข้อเท็จจริงของทั้งโลกและในประเทศไทย นักการเมืองกับสื่ออยู่ใกล้ชิดกันมาก

ถ้าคุณไปดูหนังฮอลลีวูดหลายเรื่อง จะเห็นว่าสื่อที่เขาคิดว่าตัวเองเจ๋ง จะพยายามรักษาระยะห่างกับนักการเมือง เราพบนักการเมืองเพื่อจะเอาข่าว แต่เราไม่ใช่ลูกน้องเขา

ว่ากันแบบชั่วๆ ดีๆ หนังสือพิมพ์ The Nation ในยุคสมัยหนึ่ง คุณสุทธิชัย หยุ่น จะชัดเจนมากในเรื่องนี้ The Nation จะไม่ไปให้นักการเมืองเลี้ยงข้าว แต่จะเชิญนักการเมืองมาเลี้ยง นัดที่โรงแรมหรูบ้าง ออฟฟิศเราเองบ้าง แล้วเราก็จะไม่รับคำเชิญไปเที่ยวจากบริษัทเอกชนทั้งหลาย เช่น เชิญไปเที่ยวเรือสำราญ ไปดูแสงออโรร่าอะไรต่างๆ นานา เราไม่ทำ แต่นั่นมันก็เป็นสมัยหนึ่งเมื่อนานมาแล้ว

สมัยนี้ ได้ยินว่ามีบรรณาธิการข่าวหลายคน ยกหูโทรศัพท์สั่งบริษัทเอกชนต่างๆ เลยว่า ปีนี้จะไปเที่ยวที่นั่นที่นี่ ถึงได้บอกไงคะว่าสื่อไทยจริงๆ แล้วล้มเหลวมานานแล้ว

นักข่าวฝรั่งเคยถามเราตรงๆ ว่า ทำไมนักข่าวไทยถึงชอบรับเชิญไปเที่ยวกันฟรีๆ นักข่าวฝรั่งไม่มีธรรมเนียมแบบนี้ เราฟังแล้วก็อึ้ง พูดไม่ออก

ในฐานะศิษย์เก่าเนชั่น พอเห็นความเปลี่ยนแปลงในยุคนี้ รู้สึกยังไง

รู้สึกเศร้า ตั้งแต่ตอนที่คุณสุทธิชัยพ่ายแพ้เรื่องหุ้นแล้วต้องออกไป แต่แน่นอนว่าคุณสุทธิชัยเองก็มีข้อผิดพลาดเยอะ และเป็นผลให้เนชั่นดำเนินมาถึงวันนี้ ซึ่งคงไม่ต้องพูดในบทสัมภาษณ์นี้

มันเป็นความเศร้า คิดว่าคุณสุทธิชัยเองก็คงเศร้า แล้วยิ่งเศร้ามากขึ้นอีก เมื่อเห็นว่าการทำงานในยุคหลังกลายเป็นอะไรไม่รู้ ไม่ใช่ The Nation ที่เรารู้จัก ไม่ใช่ The Nation ที่โลกเคยรู้จักและให้การยอมรับ มันเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง

กรณีของ Voice TV ก็น่าสนใจ ทุกคนรู้ว่าเจ้าของตัวจริงคือตระกูลชินวัตร ยังไม่นับสื่ออีกหลายแห่งที่มีนักการเมืองเป็นสปอนเซอร์ สุดท้ายแล้วมีทางที่สื่อจะเป็นอิสระจริงๆ ได้ไหม

กลับไปประเด็นเรื่องนักการเมืองกับหุ้นสื่ออีกครั้ง ข้อแรกคือ ถ้ากฎหมายว่าอย่างนั้น นักการเมืองไม่ควรถือหุ้นสื่อหรือเป็นเจ้าของสื่อ เพราะจะทำให้ได้เปรียบผู้แข่งขันคนอื่น ก็ต้องว่ากันตามนั้นกับทุกคน แต่อาจมีเรื่องที่ต้องถกเถียงกันต่อว่ามันจำเป็นต้องมีกฎหมายแบบนั้นไหม มันมีเพื่ออะไร มันช่วยแก้ปัญหาอะไรได้จริงไหม เป็นต้น

ข้อสอง ในทางปฏิบัติ สื่ออยู่กับนักการเมือง และมักอิงแอบกับนักการเมืองในการหาสปอนเซอร์ด้วย เพราะสื่อจะอยู่ไม่ได้ถ้าไม่มีสปอนเซอร์ ฉะนั้นสื่อก็ต้องอิงแอบ ของบรัฐบาลหรือกระทรวงต่างๆ ที่นักการเมืองสังกัดอยู่ เพื่อเอามาเป็นทุนในการทำสื่อให้อยู่รอด

ข้อสุดท้าย เราต้องยอมรับว่า เมื่อสื่อได้สปอนเซอร์จากองค์กรเหล่านี้ แน่นอนว่าก็ต้องเขียนในทางที่เข้าข้าง และทำเป็นมองข้ามบางเรื่องบางประเด็นที่ดูผิดหรือขัดต่อหลักการ ถ้าเป็นสมัยก่อนจะมีความพยายามแบ่งแยกระหว่างฝ่ายหาเงิน กับฝ่ายกองบรรณาธิการ แต่ปัจจุบันมันเบลอมาก กองบรรณาธิการกับโฆษณาแทบจะเป็นกองเดียวกันแล้ว ก็เลยไม่รู้ว่าอันไหนเป็นคอนเทนต์อันไหนเป็น advertorial

โดยหลักการ สื่อควรมีความเป็นอิสระจากทุกๆ เรื่อง มีอิสระเพียงพอที่จะนำเสนอเรื่องราวใดๆ  เพราะถ้าไม่เป็นอิสระมันจะถูกครอบด้วยอะไรหลายๆ อย่าง ซึ่งในความเป็นจริง แน่นอนว่ามันยาก แต่อย่างน้อยนี่คือหลักการว่าคุณจะต้องเป็นอิสระ

สื่อจะเป็นอิสระจริงๆ ได้ไหม เป็นอีกเรื่องที่ควรต้องถกเถียงกันอย่างรอบด้านให้ครอบคลุมทุกประเด็น เช่น ถ้าอ้างว่าเป็นอิสระจากนักการเมืองแต่เมื่อต้องมีสปอนเซอร์หรือทุนสนับสนุน สื่อจะเป็นอิสระจากทุนไหม และถ้าทุนนั้นสนับสนุนนักการเมืองด้วย เราจะพิจารณาอย่างไร

ประเด็นนี้ เราอาจต้องกลับมาที่ Advocacy Journalism กับความเป็นสื่อมืออาชีพ ซึ่งมันมีหลักการอยู่ ดังนั้น สำหรับ Voice TV ถ้าผลงานของเขาสามารถพิสูจน์ความเป็นสื่อมืออาชีพที่ไม่ใช่สื่อกระบอกเสียงคุณทักษิณได้ ผู้บริโภคสื่อก็จะยอมรับ Voice TV ในฐานะสื่อมืออาชีพเอง

นิธินันท์ ยอแสงรัตน์

สมมติว่ามีเด็กจบใหม่คนหนึ่ง อยากเป็นผู้สื่อข่าวมาก มีสปิริตสื่อสูงตามที่ได้ร่ำเรียนมา พอเข้ามาทำงานในองค์กรสื่อ บ.ก.ก็พูดถึงหลักการทุกอย่างที่ว่ามา แต่วันดีคืนดี กลับพบว่าผู้บริหารของตัวเองไปกินไวน์กับชนชั้นนำ ไปกินข้าวนักการเมืองคนนั้นคนนี้ ถ้าอาจารย์เป็นเด็กคนนั้น จะทำความเข้าใจเรื่องนี้ยังไงดี

ก่อนอื่น เฉพาะกรณีนี้ ต้องรู้ให้ชัดก่อนว่า เขาไปกินไวน์กินจนเมาหัวราน้ำ ขอให้แหล่งข่าวเอาไวน์ขวดละสองแสนมาเลี้ยงหรือเปล่า หรือว่า ณ วินาทีนั้นเป็นวินาทีจำเป็นที่เขาต้องเข้าถึงข้อมูลบางอย่าง เช่น ตกลงคุณรู้ไหมว่าใครจะเข้ามาเป็นนายกคนต่อไป

โดยหลักคือต้องไปทำข่าว เช่น บังเอิญมีข่าวมาว่าจะได้นายกคนนอก และจะมีรัฐบาลแห่งชาติ แต่เราไม่รู้ว่ามันจะเกิดขึ้นได้ยังไง มีคนนี้คนเดียวที่จะตอบได้ ฉะนั้นฉันต้องไปดื่มไวน์กับเขา ซึ่งเขาจะให้ดื่มไวน์ขวดละแสนหรือขวดละสามร้อย ก็เรื่องของเขา เราไปเพื่อสิ่งนั้น ไวน์แก้วเดียวแก้วนั้น พร้อมๆ กับข้อมูลนั้นที่เราอยากรู้ ได้ข้อมูลแล้วก็จบ และถึงอย่างไรก็ต้องมีระยะห่าง เรายังคงเป็นคนทำสื่อ ไม่ใช่ลูกน้องนักการเมือง ไม่ใช่กระบอกเสียงของนักการเมือง ไม่ใช่คนคอยประจบนักการเมืองเพราะอยากได้โน่นนี่นั่น

ที่สำคัญคือต้องเข้าใจว่า ที่พูดว่าไม่รับเงิน ไม่รับอะไร ไม่ได้แปลว่าเราเป็นคนดีกว่าใครนะ อันนี้ต้องจำไว้เลย ถ้าคิดว่าฉันไม่รับเงิน ฉันไม่อย่างนั้นอย่างนี้ ไม่ได้แปลว่าฉันคือนักข่าวที่ดีเลิศประเสริฐกว่าใคร แต่แปลว่าเพราะฉันยืนยันรักษาความเป็นอิสระ เพื่อที่ฉันจะทำงานในหน้าที่ฉัน เหมือนแม่ค้าขายข้าวแกงทำหน้าที่แม่ค้าขายข้าวแกงให้ดีที่สุด ไม่เกี่ยวกับความดีความเลว

สิ่งที่สังคมไทยต้องเรียนรู้คือ เราต้องสลายความคิดเดิมๆ เกี่ยวกับความดีความเลวแบบเดิมๆ ออกจากหัวให้หมด แล้วมันจะเปลี่ยนภาพต่างๆ ในสังคมไปได้อีกเยอะ ส่วนสิ่งที่คนทำสื่อที่เป็นหนุ่มสาวต้องเรียนรู้ก็คือ ไม่ใช่ว่าการที่ฉันมีอุดมคติ แล้วฉันจะเป็นคนดีกว่าทุกคน

code of ethics ของอาชีพเราคืออะไร มันคือสิ่งที่บอกว่าเราจะทำงานของเราให้เป็นมืออาชีพได้อย่างไร ไม่ใช่สิ่งที่จะบอกว่าเราดีกว่าคนอื่นยังไง หรือดีกว่าอาชีพอื่นยังไง

จากที่ฟังมา หัวใจสำคัญของสนามสื่อยุคนี้คือการแสดงตัวให้ชัดเจน แต่อีกปัจจัยที่สำคัญเหมือนกัน คือสนามมันต้อง free และ fair หรือเปล่า ทุกคนถึงจะนำเสนอสิ่งที่ตัวเองพูดได้อย่างเท่าเทียม

แน่นอนค่ะ เราต้องเรียกร้องความ free และ fair ซึ่งก็คือการเรียกร้องประชาธิปไตยนั่นแหละ แต่ที่ตัวดิฉันเองยืนหยัดมาเสมอ ต่อให้มันไม่ free และ fair เราก็จะทำในสิ่งที่เราเชื่อ เราจะไม่มีวันทำในสิ่งที่เราไม่เชื่อ ต่อให้ยากลำบากเพียงใด ต่อให้เข้าคุกด้วย ขอยืนยันว่าเป็นแบบนี้ แต่เผอิญไม่มีเหตุให้ต้องเข้าคุก ก็เลยไม่ได้เข้า (หัวเราะ)

สิ่งที่อยากบอกคือ ถ้าเราทำสื่อ เราต้องอาจหาญพอที่ยืนยันและพูดในสิ่งที่เราเชื่อ เพราะในเมื่อเราทำหน้าที่ทำความจริงให้ปรากฏ แต่ตัวเราเองยังไม่จริงเลย แล้วจะทำความจริงให้ปรากฏได้ไง เช่น ถ้าเขาให้เราไปเขียนเชียร์บริษัทที่สนับสนุนการฆ่าประชาชน ซึ่งขัดกับมโนธรรมสำนึกของเรา ยังไงเราก็ทำไม่ได้

คนทำสื่อต้องอาจหาญพอที่จะพูดมโนธรรมสำนึกในฐานะมนุษย์ ไม่ว่าเราจะแตกต่างยังไง จะรักเผด็จการหรือประชาธิปไตย เราต้องอาจหาญพอที่จะเป็นตัวเรา ที่สำคัญคือเราไม่มีสิทธิตัดสินชีวิตคนอื่น ไม่ใช่งานของเราที่จะไปชี้ว่า เฮ้ย ดีแล้ว ฆ่ามัน มันเลว ไม่ใช่ นั่นไม่ใช่งานของเรา ไม่ใช่งานของมนุษย์ด้วยซ้ำไป

แต่ทั้งนี้ การไม่ยอมจำนน ไม่ได้แปลว่าเราจะต้องสุ่มเสี่ยง เอาตัวไปให้ถูกยิงหัวหรือถูกจับ แต่แปลว่าเราต่อสู้ในสิ่งที่เราเชื่อเสมอโดยไม่เคยหยุดหรือกลัว ซึ่งเราก็ต้องทำให้เพื่อนร่วมงานและทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องปลอดภัยด้วย มีวิธีต่อสู้ตั้งเยอะโดยเฉพาะในโลกยุคใหม่ ซึ่งเป็นโชคดีของพวกคุณ

ถ้าเป็นสำนวนสื่อรุ่นพี่ จะบอกว่าคนตายพูดไม่ได้ ฉะนั้นห้ามตาย

คนตายพูดไม่ได้ ฉะนั้นห้ามตาย แต่ถ้าเขาตายไปแล้ว เราก็จะไปพูดแทนเขา (ยิ้ม)

ช่วงแรก เราคุยกันว่าความจริงทำงานกับมนุษย์ได้มากกว่าความลวงหรือความเท็จ คำถามคือ พอเรามองสื่อ propaganda ในยุคนี้  บางสื่อมีคนที่ติดตามอยู่หลายล้านคน คุณไม่รู้สึกกังวลบ้างหรือ

อาจดูเหมือนว่าคนเชื่อความเท็จเยอะ แต่เชื่อเถอะว่าระยะยาวมันไม่ใช่ อันนี้พิสูจน์ด้วยอายุตัวเองแล้วกัน จากประสบการณ์ที่ผ่านมา ตั้งแต่ 14 ตุลาฯ ถึง 6 ตุลาฯ ถึงพฤษภาเลือด จนถึงปัจจุบัน มันเปลี่ยนไปมากเลย คนอาจไม่พูด แต่การแสดงออกมันเห็นชัด อย่างการเลือกอนาคตใหม่นี่ชัดมาก

เราไม่เคยเชื่อว่าสื่อแบบนี้จะครอบงำมนุษย์ได้ แล้วสังเกตว่าคนที่ตามการใส่ร้ายของสื่อพวกนั้นก็มีแต่คนที่สุดโต่ง ส่วนคนที่ไม่สุดโต่งก็ย้ายกลับมาเยอะแล้วนะ เพียงแต่เราอาจเห็นไม่ค่อยชัดเท่าไหร่

การต่อสู้ของสื่อและประชาชนในครั้งนี้จะย้อนรอย 6 ตุลาฯ หรือเปล่า

เรื่องย้อนรอย 6 ตุลาฯ เคยคิดหลายรอบแล้วค่ะ เพราะเวลาที่เห็นสื่อทำตัวแบบ ‘ดาวสยาม’ เราก็รู้สึกได้ว่ากลิ่นไม่ดีมันลอยมา แต่พอกลับมามองเด็กรุ่นใหม่ โดยเฉพาะเด็กรุ่นลูกตัวเองลงไป เขามีวิธีรับมือไม่เหมือนกับคนรุ่นเก่า

สิ่งที่เห็นคือ ถ้าเขาไม่กระโจนลงไปในกองเพลิงและน้ำมันที่ฝ่ายยั่วยุสาดเข้าไป มันก็หลีกเลี่ยงได้ระดับหนึ่ง เราเห็นว่าเด็กรุ่นใหม่ฉลาดพอที่ไม่จะกระโจนลงไป และไม่ได้แปลว่าเขานั่งเฉยๆ ด้วยนะ เขาทำอะไรของเขาที่พวกสื่อรุ่นเก่าตามไม่ทัน ทำไม่ถูก รับมือไม่ได้ ไปไม่เป็น สังเกตได้จากปฏิกิริยาต่างๆ ทางโซเชียลมีเดีย สื่อรุ่นเก่าไปไม่เป็นนะคะ ซึ่งดีมากเลย ชอบมาก

เชื่อว่ามันน่าจะเลี่ยงโอกาสนองเลือดได้บ้าง แต่คนที่ควบคุมการนองเลือดก็ไม่ใช่เราฝ่ายเดียว ขึ้นอยู่กับคนที่ถืออาวุธด้วย ทุกเรื่องมันต้องมีคู่กรณี ถ้าหากตัวเราซึ่งเป็นคู่ขัดแย้ง ไม่กระโจนลงไปแบบนั้นก็อาจเลี่ยงได้บ้าง

สิ่งที่น่าสนใจและควรมองต่อไปคือ สมัยก่อนเรายอมรับอยู่ว่ามันก็มีการจัดตั้ง สมัยเรายังเด็กๆ เป็นยุคที่สร้างปัญหาให้สังคมไทยเยอะ พวกคนเดือนตุลาทั้งหลายนี่สร้างปัญหามาก ที่นี้พอมีการจัดตั้ง มันเป็นการบังคับกลายๆ ว่าทุกคนที่อยู่ฝ่ายเดียวกัน ต้องคิดเหมือนกัน ซึ่งคนรุ่นใหม่ยุคนี้บางคนก็เผลอไปยึดติดกับวิธีการจัดตั้งแบบนั้น เพราะคิดว่าถ้าไม่การมีคุยหรือการวางแผนต่อสู้ร่วมกันมาก่อน จะสู้ไม่สำเร็จ

ถ้าถามเรา บางทีเราก็อยากจะบอกเหมือนกันว่า ถ้าไปเทียบประวัติศาสตร์โลก คุณลองดูดีๆ บางทีชัยชนะของประชาชนกลุ่มต่างๆ เหนือผู้ปกครอง ไม่ได้เกิดจากการวางแผนมาก่อน แน่นอนว่ามันควรมีแผนอยู่บ้างว่าพอได้ชัยชนะมาแล้วจะทำอะไรต่อไป แต่การเปลี่ยนแปลงบางอย่าง มันก็มาของมันเองโดยไม่ได้มีการวางแผนหรือจัดตั้งอะไรกันแบบนั้น

ประเด็นคือในยุคนี้ เราเห็นว่าโลกโซเชียลมีเดียมันทำให้เกิด single community ของนักประท้วงนักต่อสู้โดยไม่รู้ตัว คุณดูกรณีฝรั่งเศส หรือแม้แต่อาหรับสปริง มันก็เป็น single community ที่เกิดขึ้นผ่านโลกออนไลน์ ซึ่งไม่จำเป็นต้องมีการประชุมจัดตั้งอะไรเสมอไป

 

เคยได้ยินคำกล่าวทำนองว่า ต่อให้ George Orwell มาทำข่าวในไทยตอนนี้ ก็อาจไปไม่เป็นเหมือนกัน

อันนี้จริงที่สุด ด้วยปัจจัยอะไรหลายๆ อย่าง และด้วยโครงสร้างของสังคมที่เป็นอยู่ แต่ไม่ได้แปลว่า ถ้ามันไม่เปลี่ยน แล้วเราจะทำอะไรไม่ได้เลย อย่าไปมองแบบขาว-ดำ ว่าถ้าไม่เป็นแบบนี้ แล้วจะทำแบบนี้ไม่ได้ แต่ให้มองว่าทำได้เสมอ ไม่ว่าในเงื่อนไขใดก็ตาม

สื่อยังต้องต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยต่อไป แม้โลกทุกวันนี้จะดูเหมือนวนกลับไปทางขวาก็ตาม เป็นเรื่องปกติของสังคม เพราะไม่ว่ายุคไหนสมัยไหน มนุษย์มีการต่อสู้ทางอำนาจเสมอ การเมืองคือเรื่องของการต่อสู้เพื่อแบ่งปันอำนาจ ซึ่งขั้วอำนาจต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายก้าวหน้า หรือฝ่ายจารีต ก็สลับกันขึ้นๆ ลงๆ มาโดยตลอด ฉะนั้นไม่มีอะไรน่าตกใจหรอก

สมมติวันหนึ่งเราชนะ ทั่วโลกรู้สึกว่าพอใจในฝ่ายก้าวหน้ามากเลย แต่วันหนึ่งฝั่งจารีตเขาก็ต้องพยายามดึงกลับมา วนอยู่แบบนี้เรื่อยไป มันถึงไม่มีสังคมยูโทเปียเกิดขึ้นจริงๆ ยูโทเปียเป็นสังคมที่อยู่ในฝันเสมอ แต่ความฝันนั่นเองที่ทำให้เราเดินหน้าต่อไปได้ ถ้าเราไม่มีฝัน เราเดินหน้าไม่ได้ ด้วยเหตุนี้เราจึงต้องฝันเสมอ ซึ่งไม่ใช่ฝันลมๆ แล้งๆ แต่ต้องฝันบนความเป็นจริงด้วย

เหนืออื่นใด เราต้องตระหนักว่าไม่มีการต่อสู้ใดที่จะจบสิ้นและพลิกฟ้าคว่ำแผ่นดินในวันเดียวได้ ไม่เคยมี

นิธินันท์ ยอแสงรัตน์

ถ้าย้อนถามในฐานะสื่อมวลชนที่อยู่ในแวดวงนี้มา 40 ปี หลักที่คุณยึดถือในการทำสื่อคืออะไร

หลักการส่วนตัวคือเราทำงานด้านความคิดของเราไปเรื่อยๆ ถ้าคนเห็น ก็จะเห็น ถ้าไม่เห็นเราก็ทำของเราต่อไป ยืนหยัดสู้ทางความคิดต่อไป เราไม่บังคับ ไม่คาดหวังและไม่เสียใจถ้าใครไม่เห็น หลักการที่ยึดเสมอมาและเป็นเสาหลักของความคิดในการทำงาน คือเราไม่บังคับใคร ไม่ยัดเยียดความคิดให้ใคร ยืนหยัดสู้ความคิดของเราต่อไปเรื่อยๆ แม้จะสู้คนเดียวก็ไม่เป็นไร

ถามว่าอยากเห็นคนอื่นคิดอย่างเราไหม อยากค่ะ แต่ถ้าไม่คิด เราก็ไม่ว่า ถึงอย่างนั้นเราก็อยากเห็นว่ามีคนจำนวนมากขึ้นและมากขึ้นที่สนับสนุนสิทธิเสรีภาพและประชาธิปไตย เพราะถ้าคิดอย่างนี้กันมากๆ และต่างคนต่างยืนหยัดไปนานๆ มันจะเป็นพลังที่เปลี่ยนแปลงความไม่ชอบธรรมได้

 

ตั้งแต่ทำมา เริ่มเห็นผลบ้างไหม

เห็นสิคะ สี่ทศวรรษกว่าที่ผ่านมา มันเปลี่ยนเยอะมากนะ อย่างลูกศิษย์ที่เคยสอน จากต้นเทอมจนถึงปลายเทอมก็มีการเปลี่ยนแปลง หลานๆ ในเฟซบุ๊กก็มีความเปลี่ยนแปลง บางคนเขียนมาบอกเลยว่า ตอนเริ่มต้นคิดอีกอย่าง พอผ่านไปนานๆ ได้อ่านอะไรมากขึ้น ก็เริ่มเข้าใจ อาจจะน้อยคน แต่เราไม่นับที่จำนวน เรานับว่าเราได้กระทำในสิ่งที่เราเชื่อและได้ผล

เราอยากยุให้คนหนุ่มคนสาวมีความเชื่อว่า เมื่อคุณทำสิ่งใดไป คุณจะได้ผลจากสิ่งนั้นแน่ๆ แต่ก็ต้องเข้าใจด้วยว่าเรื่องราวต่างๆ ในโลกนี้ ไม่ได้มาถึงเร็วเสมอไป แต่สักวันมันต้องมา อะไรที่เราทำไปมันส่งผลกลับมาแน่ๆ อยากให้กำลังใจ มองโลกในแง่ดีบ้าง มองโลกสวยๆ บ้าง โลกสวยไม่เสียหายนะคะ (หัวเราะ)

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save