fbpx
นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ : สิทธิมนุษยชนเกิดไม่ได้ ในรัฐธรรมนูญที่ซ่อนเร้นการละเมิด

นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ : สิทธิมนุษยชนเกิดไม่ได้ ในรัฐธรรมนูญที่ซ่อนเร้นการละเมิด

วจนา วรรลยางกูร เรื่อง

เมธิชัย เตียวนะ ภาพ

 

เขาเคยเป็นสมาชิกวุฒิสภาจากการเลือกตั้งชุดแรกของประเทศไทย ในรัฐธรรมนูญ 2540 เมื่อปี 2543-2549

เขาเคยเป็นกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม. ) ชุดที่ 2 ในรัฐธรรมนูญ 2550 เมื่อปี 2552-2558

ปัจจุบันดำรงตำแหน่งคณบดีวิทยาลัยแพทยศาสตร์และการสาธารณสุข มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

ชีวิตที่เกี่ยวพันกับการต่อสู้ภาคประชาชนตั้งแต่สมัยเป็นนักศึกษา เรื่อยมาถึงการเป็น กสม. ที่คาบเกี่ยวในช่วงการรัฐประหารครั้งล่าสุด ทำให้เขาเข้าใจถึงผลร้ายของระบอบอำนาจนิยม โดยเฉพาะการทำงานด้านสิทธิมนุษยชนที่ไม่สามารถเดินหน้าต่อได้ภายใต้การปกครองของคณะรัฐประหารที่เกิดการละเมิดสิทธิประชาชนรอบด้าน

สำหรับ นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ การมองประเด็นสิทธิมนุษยชนไม่สามารถแยกออกจากเรื่องประชาธิปไตยและรัฐธรรมนูญได้ เพราะสองสิ่งนี้เป็นโครงสร้างที่จะปกป้องคุ้มครองสิทธิของประชาชน และไม่ให้รัฐใช้อำนาจมาละเมิดได้

แต่ทั้งประชาธิปไตยและรัฐธรรมนูญที่เรามีในปัจจุบันไม่ได้ส่งเสริมหลักการสิทธิมนุษยชน อีกทั้งยังให้การรับรองการละเมิดสิทธิด้านต่างๆ ที่เกิดในยุคคสช. สร้างผลกระทบร้าวลึกลงฐานราก ซ้ำเติมสถานการณ์ให้เลวร้ายลงเรื่อยๆ

ในวาระที่บ้านเมืองเข้าสู่ภาวะวิกฤต ทางออกหนึ่งที่คนจำนวนมากเห็นตรงกันคือการแก้รัฐธรรมนูญเพื่อให้ความขัดแย้งคลี่คลายลงบ้าง แต่อีกข้อเสนอหนึ่งที่นำไปไกลกว่านั้นคือการยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ เพื่อให้อำนาจอธิปไตยกลับคืนเป็นของประชาชนอย่างแท้จริง มิใช่เพียงการกล่าวอ้างในรัฐธรรมนูญที่ร่างโดยคณะรัฐประหาร

สิ่งหนึ่งที่ นพ.นิรันดร์ เน้นย้ำตลอดการพูดคุยครั้งนี้คือการคืนอำนาจกลับสู่ประชาชน ให้ประชาชนมีส่วนร่วมกำหนดอนาคตในฐานะเจ้าของอำนาจอธิปไตยที่แท้จริง

 

นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ

 

จากรัฐธรรมนูญ 2540, 2550 จนถึง 2560 มองว่าฉบับไหนมีความโดดเด่นด้านสิทธิเสรีภาพมากที่สุด

รัฐธรรมนูญตั้งแต่ปี 2475 ถึงปัจจุบัน 20 ฉบับ รัฐธรรมนูญที่ดีที่สุดที่เราเรียกว่ารัฐธรรมนูญฉบับประชาชน มีบทบัญญัติว่าด้วยสิทธิเสรีภาพได้ดีและมากที่สุด คือ รัฐธรรมนูญปี 2540 เป็นการปฏิรูปทางการเมืองที่หวังลดอำนาจรัฐเพิ่มอำนาจประชาชน จึงต้องบรรจุหลักสิทธิมนุษยชนให้อยู่ในรัฐธรรมนูญ เพราะที่จริงรัฐธรรมนูญคือกฎหมายสำหรับจำกัดอำนาจรัฐ ไม่ให้มีการใช้อำนาจตามอำเภอใจ

ส่วนรัฐธรรมนูญ 2550 แม้จะมีการขยายความบางส่วนดีขึ้น เช่น เรื่องสิทธิชุมชนตัดข้อความที่บอกว่า “ทั้งนี้ตามที่กฎหมายบัญญัติ” ออกไป เพื่อมีผลบังคับใช้โดยไม่ต้องรอกฎหมายว่าด้วยสิทธิชุมชน แต่ในรัฐธรรมนูญฉบับนั้นก็ซ่อนบางอย่างไว้ คือ องค์กรอิสระเริ่มถูกครอบงำแทรกแซงโดยรัฐราชการมากขึ้น ที่เห็นชัดคือการสรรหากรรมการสิทธิมนุษยชนปี 2550 ต่างจากปี 2540 กรรมการสรรหามีตัวแทนภาคประชาชนแค่ 2 คน คือฝ่ายค้านกับประมุขรัฐสภา นอกนั้นมาจากตุลาการหมดเลย การมองหลักสิทธิมนุษยชนก็จะต่างกัน ผมเองก็เป็น กสม. จากรัฐธรรมนูญ 2550 เราจะพบว่าชุดหลังจากนั้นมาจะมีความแตกต่างมากขึ้น แล้วก็ถูกดาวน์เกรดลงมาด้วย

พอถึงรัฐธรรมนูญปี 2560 กสม. ตกที่นั่งลำบากแล้ว กลายเป็นว่าไม่ใช่องค์กรอิสระที่มุ่งหวังจะตรวจสอบการกระทำที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนของอำนาจรัฐหรือภาคเอกชน  ง่อยเปลี้ยเสียขา กลายเป็นปากกระบอกเสียงของรัฐบาล จึงสรุปได้ในระดับหนึ่งว่า รัฐธรรมนูญ 2540 ดีที่สุด โดดเด่นในเรื่อง สิทธิเสรีภาพความเสมอภาค พอแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 มีการปรับปรุงสิทธิชุมชนให้เป็นรูปธรรมชัดเจนขึ้น แต่ในเชิงโครงสร้างองค์กร เปิดให้ตุลาการเข้ามาอยู่ในกระบวนการสรรหามากขึ้น ขาดการยึดโยงกับภาคประชาชน  พอปี 2560 ก็กลับตาลปัตรจากหน้ามือเป็นหลังมือ กลายเป็นรัฐธรรมนูญที่ละเมิด ทำร้ายและทำลายสิทธิเสรีภาพมากที่สุด

 

นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ

 

มองการทำงานของ กสม. ชุดล่าสุดที่รักษาการอยู่อย่างไร การเมืองส่งผลถึงการทำหน้าที่แค่ไหน

ผมเป็นสมาชิกวุฒิสภาจากการเลือกตั้งครั้งแรกของประเทศไทย ตั้งแต่ปี 2543-2549 มีรัฐประหารก็หมดวาระพอดี แล้วมาเป็น กสม. ปี 2552-2558 เมื่อมองทบทวนสถานการณ์ทั้งหมด เราจะมองแค่สถานการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างเดียวไม่ได้ แต่ต้องมองทั้งระบบโครงสร้างทางการเมือง ความเป็นจริงขณะนี้ บ่งบอกความจริง 2 ประการ กล่าว คือ

1. สิทธิมนุษยชนขึ้นอยู่กับประชาธิปไตย ตั้งแต่รัฐประหาร 2557 ประเทศไทยอยู่ภายใต้ระบอบอำนาจนิยมที่ควบคุมกำกับโดยทหารและรัฐราชการ ทำให้มีผลกระทบต่อความเป็นประชาธิปไตย เพราะคำว่า ‘ประชาธิปไตย’ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับการเลือกตั้งเสียงประชาชนข้างมากอย่างเดียว แต่ต้องยึดหลักสิทธิมนุษยชนด้วย เราจึงต้องบรรจุเรื่องนี้ลงในรัฐธรรมนูญเพื่อเป็นหลักประกันว่ารัฐมีหน้าที่จะต้องคุ้มครองปกป้องประชาชนอย่างไรบ้าง อะไรเป็นสิทธิของประชาชน อะไรเป็นหน้าที่ของรัฐ แต่พอเกิดรัฐประหารและใช้ระบบอำนาจนิยมที่มองคนละทางกับประชาธิปไตยมีการใช้อำนาจ ต้องสั่งจากบนลงล่าง มองว่าปัจเจกชนต้องทำอะไรให้รัฐ โดยรัฐเป็นคนออกคำสั่ง ต่างจากประชาธิปไตยที่แท้จริงซึ่งจะมองว่ารัฐต้องทำให้กับประชาชน ระบบต้องเป็นแบบล่างขึ้นบน จึงเกิดผลกระทบต่อหลักสิทธิมนุษยชนเมื่ออยู่ในระบอบประชาธิปไตยที่ถูกควบคุม เกิดการละเมิดด้วยคำสั่ง คสช.และกฎหมายต่างๆ ที่ออกมา ถึงจะมีมากหลายร้อยฉบับแต่ขาดเนื้อหาสาระด้านสิทธมนุษย์ชน ขาดการมีส่วนร่วมของประชาชนก็ไร้ประโยชน์ ยิ่งไปกว่านี้หลายสิ่งที่เกิดขึ้นในสถานการณ์ปัจจุบันทั้งเรื่องไวรัสโควิด-19 ฝุ่น PM2.5 หรือเรื่องกิจกรรมไล่ลุงกับเชียร์ลุงหรือปรากฏการณ์แฟลชม็อบก็ดีเป็นการตัดสินด้วยอำนาจหมด สะท้อนว่าผู้นำไม่เข้าใจบริหารไม่เป็น และถูกวิจารณ์ว่าเรากำลังถูกปกครองด้วยคนโง่ คนที่ไม่เข้าใจในสิทธิมนุษยชน

2. รัฐธรรมนูญ อย่างที่บอกว่ารัฐธรรมนูญ 2540 มีรายละเอียดเรื่องหลักสิทธิมนุษยชนมาก สิทธิการมีส่วนร่วม สิทธิพลเมือง สิทธิทางการเมืองมีการตอกย้ำในรัฐธรรมนูญว่ารัฐจะมาละเมิดไม่ได้ ปัญหาขณะนี้ คือ รัฐธรรมนูญจำกัดสิทธิการแสดงออก สิทธิการชุมนุม สิทธิในการสื่อสารออนไลน์ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ กลายเป็นรัฐธรรมนูญที่ละเมิด สิทธิชุมชนก็ไม่ต้องพูดถึงเลย หายไปหมดแล้ว ต้องชมคนร่างคือ อ.มีชัย (ฤชุพันธุ์) ว่าท่านเป็นคนที่เก่งมากในการร่างแบบซ่อนเร้น เลยทำให้สังคมไม่มีโอกาสลุกขึ้นมาคัดค้าน อันเนื่องจากสภาพของระบบหลังทหารเข้ามามีอำนาจด้วย แต่ความฉลาดของ อ.มีชัย ทำให้เป็นประเด็นที่จับตรงไหนก็พูดอะไรไม่ชัด ท่านก็จะบอกว่าไปดูตรงนั้นตรงนี้สิ ซึ่งตรงนั้นตรงนี้ที่ว่าไม่ได้มีมรรคผลชัดเจนเท่ารัฐธรรมนูญ 2540 และกลายเป็นรัฐธรรมนูญที่ไม่ได้ส่งเสริมหลักสิทธิมนุษยชน เป็นรัฐธรรมนูญของการสืบทอดอำนาจ ตอบโจทย์ว่าการรัฐประหาร 2557 จะอยู่ยาวอย่างน้อย 20 ปี โดยไม่สนใจหลักการสิทธิมนุษยชน ผู้นำหรือหัวหน้าองค์กรที่บอกว่ายังมีสิทธิมนุษยชนอยู่ เพราะเขาไม่รู้ไม่เข้าใจ พูดคนละทัศนคติ ไม่มีประโยชน์อะไร จนกระทั่งปัจจุบันสังคมสรุปลงความเห็นว่าต้องยกเลิกรัฐธรรมนูญ 2560 ให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญใหม่ก่อนที่บ้านเมืองแลสังคมจะวิกฤตไปมากกว่านี้

 

นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ

 

รัฐธรรมนูญ 2560 สะท้อนแนวคิดที่เปลี่ยนแปลงไป จากการมองว่ารัฐต้องทำอะไรให้ประชาชน กลายเป็นประชาชนต้องทำอะไรให้รัฐบ้าง?

สะท้อนตั้งแต่หมวดที่ว่าด้วยสิทธิกับหน้าที่ แต่เดิมเรื่องสิทธิมนุษยชนมีมายาคติในสังคมไทย เราได้รับการสอนตั้งแต่เรียนวิชาหน้าที่พลเมืองว่าเรามีสิทธิและมีหน้าที่เคารพกฎหมาย ต้องเสียภาษี ต้องประพฤติตัวเป็นคนดี ซึ่งกลายเป็นสิ่งที่ผิดฝาผิดตัวในหลักการสิทธิมนุษยชน เราต้องมองว่าอะไรเป็นสิทธิของเราและแต่หน้าที่ของรัฐที่จะต้องมาส่งเสริม ปกป้องคุ้มครอง จุดนี้สำคัญมากเรามีหน้าที่ไม่ละเมิดสิทธิคนอื่นในทางเดียวกัน เขาก็มีหน้าที่ไม่ละเมิดสิทธิเรา

เราต้องเป็นพลเมืองที่รู้หลักการของคนที่มีคุณภาพ พัฒนาตัวเอง รู้ว่าเรามีสิทธิเสรีภาพการแสดงความคิดเห็น และกล้าแสดงความคิดเห็นที่แตกต่าง หลักประชาธิปไตยคือยอมรับความคิดเห็นที่แตกต่าง หมายความว่าต้องเปิดเสรีภาพในการแสดงออก แต่รัฐกลับมองคนที่มีความเห็นแตกต่างกลายเป็นก่อความไม่สงบ ความวุ่นวาย และทำให้ถูกเรียกว่าเป็นกบฏ หรือเข้ามาตรา 116 อันนี้ก็ฟังเป็นเรื่องตลกพอสมควร เป็นเรื่องตลกที่หัวเราะไม่ออก เหมือนย้อนยุคไปสมัยจอมพลสฤษดิ์ การเมืองไทยเราถอยหลังไปถึงขนาดนั้นเชียวเหรอ ทั้งที่เราเคยได้รับการยอมรับจากต่างประเทศว่ามีรัฐธรรมนูญที่ดีที่สุด เข้าใจในเรื่องประชาธิปไตย และเป็นความหวัง แต่กลายเป็นว่าเราไม่สามารถเปลี่ยนผ่านจากประชาธิปไตยครึ่งใบเป็นประชาธิปไตยเต็มใบได้ กลายเป็นประชาธิปไตยที่ยังไม่เปลี่ยนผ่าน ประชาธิปไตยที่ไม่มั่นคง ประชาธิปไตยที่ถูกควบคุม

 

ถ้าจะคุยกันเรื่องแก้รัฐธรรมนูญ อาจารย์เห็นว่าเรื่องไหนควรแก้มากที่สุดหรือควรจะยกร่างใหม่เลย

รัฐธรรมนูญฉบับนี้มีจุดอ่อนมากเรื่องการคงหลักการในระบอบประชาธิปไตย เนื่องจากเป็นรัฐธรรมนูญที่คนออกแบบคิดอะไรที่เป็นระบบมาก ระบอบรวบอำนาจตั้งแต่ความคิดเชิงระบบโครงสร้างของสถาบันและอำนาจต่างๆ หลักการสิทธิมนุษยชนที่เป็นส่วนราก ไปจนถึงเรื่องการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น

สรุปแล้วต้องแก้เกือบทั้งฉบับเลย ไม่อย่างนั้นแล้วก็จะกลายเป็นรัฐธรรมนูญที่เกิดวิกฤตการณ์ความขัดแย้งและความรุนแรงในสังคม เป็นระเบิดเวลาของสังคมไทยในที่สุด

เรื่องระบบการเลือกตั้งก็ผิดฝาผิดตัว เลือกตั้งได้รัฐบาลพรรคเล็กพรรคน้อย 19 พรรค ไม่มีที่ไหนในโลก ผิดหลักการจากปี 2540 ที่ต้องการเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญเพื่อปิดทุจริตและเปิดประสิทธิภาพการทำงานของรัฐบาล เพราะรัฐบาลหลายพรรคมันไม่รอด ต้องเป็นรัฐบาลที่มีเสถียรภาพ เพียง 1-2 พรรคอย่างประเทศที่เจริญแล้ว ถ้าผิดพลาดก็ออกไปแล้วเลือกตั้งใหม่

หลังการเลือกตั้งก็เกิดความสับสนในการคิดคำนวณจำนวน ส.ส เกิดความวุ่นวาย แต่จุดประสงค์เพื่อต้องการให้พรรคเล็กพรรคน้อยเข้าไปสู่ศูนย์รวมอำนาจ เหมือนเป็นรัฐธรรมนูญที่เตรียมไว้เพื่อรวบรวมพรรคเล็กพรรคน้อยจากการเลือกตั้งเข้ามาเป็นพรรคพวกของตัวเองให้ได้มากที่สุด เพื่อยึดกุมเสียงข้างมากในสภา

เรื่องหลักสิทธิมนุษยชนแม้จะมีเขียนไว้แต่ใช้งานไม่ได้ เช่น หลักสิทธิชุมชนในรัฐธรรมนูญ 2540 เขียนไว้ชัดว่า สิทธิชุมชนคือสิทธิที่ใช้ประโยชน์และบริหารจัดการของชุมชนท้องถิ่น ชุมชนท้องถิ่นคือชุมชนท้องถิ่นตามพื้นที่ทางภูมิศาสตร์, รัฐศาสตร์คือชุมชนร่วมกับองค์กรท้องถิ่น, ชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม อย่างเช่น กลุ่มชาติพันธุ์, ชุมชนที่รวมตัวกันทำประโยชน์ต่อสาธารณะก็เป็นชุมชนได้ มีคำจำกัดความและการใช้ที่ชัดเจนว่าหมายถึงการใช้ประโยชน์และบริหารจัดการ

แล้วรัฐธรรมนูญ 2540 ก็บอกว่าต้องเน้นเรื่องสิทธิพลเมือง สิทธิทางการเมือง เรื่องการรับฟัง การให้ข้อมูล ที่สำคัญคือมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ จนกระทั่งมีหมวดนโยบายแห่งรัฐว่าด้วยการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจเชิงนโยบาย การมีส่วนร่วมในการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ รัฐธรรมนูญ 2560 ตัดตรงนี้ออก กลายเป็นว่าหมวดหน้าที่ของรัฐเข้ามาแทนที่และให้ความสำคัญเรื่องความมั่นคง ซึ่งความมั่นคงของรัฐในระบอบประชาธิปไตยหมายถึงความมั่นคงของประชาชน แต่ความมั่นคงของรัฐภายใต้ระบอบอำนาจนิยมหมายถึงรัฐบาล พอตีความอย่างนี้รัฐธรรมนูญก็ไม่ปกป้องหลักสิทธิมนุษยชน มองประชาชนเป็นฝ่ายตรงข้าม รัฐบาลติดกับดักขั้วตรงข้าม

เรื่องการกระจายอำนาจยิ่งสำคัญ อย่างแรกที่ คสช. ทำคือหยุดการเลือกตั้งท้องถิ่น แล้วอำนาจรัฐราชการเข้าไปครอบงำ องค์กรท้องถิ่นก็ชินชากับวัฒนธรรมของรัฐราชการ ทุกองค์กรต้องการเวลาในการพัฒนา เขาชินชากับระบบอำนาจ พอมีการเลือกตั้งความคิดนี้ก็ยังดำรงอยู่ แต่ก็มีองค์กรท้องถิ่นจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ที่เข้าใจแล้วว่าเขาต้องเข้าไปทำงานเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืน เรื่องสุขภาพ การศึกษา ทรัพยากรธรรมชาติ ก็มีการต่อสู้กันสองทิศทางนี้พอสมควร

 

นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ

 

การบอกว่าประชาชนมีสิทธิเสรีภาพ โดยที่ต้องไม่ไปกระทบความมั่นคงของรัฐ ความสงบเรียบร้อย ศีลธรรมอันดีของประชาชน แนวคิดอย่างนี้ไม่ได้เป็นการให้สิทธิกับเราจริงๆ หรือเปล่า

มีวาทกรรมหลายอย่างที่เราต้องมารื้อฟื้นใหม่ คำดีๆ หลายคำถูกทำให้กลายเป็นไม่ดี เช่น ‘ความมั่นคง’ ในรัฐสมัยก่อน 2475 จะนึกถึงความมั่นคงของรัฐ ถือว่ารัฐเป็นใหญ่ รัฐเป็นองค์อธิปัตย์ แต่หลัง 2475 อำนาจมาจากประชาชน อำนาจอธิปไตยมาจากประชาชนฉะนั้นความมั่นคงต้องหมายถึงความมั่นคงของประชาชนในด้านการศึกษา สุขภาพ เศรษฐกิจ รายได้  สังคม การเมือง

ถ้าเข้าใจอย่างนี้จะไม่มองว่าคนที่ลุกขึ้นมาทักท้วง คัดค้าน ชุมนุม คือการก่อความไม่สงบ แต่ต้องเข้าหาไปรับฟัง ตั้งคณะทำงานในการศึกษา เพื่อหาต้นตอสาเหตุทางการชุมชนคัดค้าน แล้วนำไปสู่ข้อเสนอเชิงนโยบาย ในการแก้ไขปัญหาของประชาชน  ความมั่นคงของประชาชนก็จะเกิดขึ้น รัฐบาลก็จะมั่นคงตาม บ้านเมืองก็จะสงบเมื่อประชาชนได้รับความเป็นธรรมมากขึ้น

อีกประเด็นที่ต้องแก้รัฐธรรมนูญ คือ องค์กรตุลาการและองค์กรอิสระ รัฐธรรมนูญ 2540 ให้มีองค์กรอิสระเพื่อตรวจสอบรัฐบาลที่มั่นคง กรรมการสรรหาองค์กรอิสระก็ต้องประกอบด้วยตัวแทนจากภาคประชาสังคม กสม. และ กกต.ชุดแรกก็ออกมาดีมากทำให้เห็นความยึดโยงกับภาคประชาชน กระบวนการทำงานก็ต้องฟังเสียงประชาชน ในรัฐธรรมนูญปี 2560 กลายเป็นว่าองค์กรเหล่านี้ฟังเสียงรัฐบาล กสม. มีบทบัญญัติว่าต่อไปนี้ถ้ามีองค์กรต่างประเทศเขียนรายงาน ก็เป็นหน้าที่ กสม. ที่ต้องเขียนรายงานโต้ตอบ อย่าลืมว่า กสม. เป็นสมาชิกองค์กรสิทธิมนุษยชนตั้งแต่ระดับภูมิภาคไปจนถึงระดับโลกยึดโยงกับปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน การให้เขียนโต้ตอบคนที่ทำงานร่วมกันในการเฝ้าระวังสิทธิมนุษยชน มันเป็นเรื่องตลกมากกว่า

ดังนั้นเราต้องทำความเข้าใจเรื่ององค์กรอิสระใหม่ ทั้งที่ไปที่มาถึงภาระหน้าที่ และที่มีปัญหาคือระบบตุลาการ ที่กลายเป็นตุลาการที่มีอำนาจล้นเกิน สมัยนั้นเราดีใจที่มีศาลปกครองมาช่วย แต่สมัยนี้เราค่อนข้างตระหนกเมื่อมีการตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญหรือศาลยุติธรรม เมื่อเรารู้สึกว่าไม่ได้มีลักษณะเข้าข่ายการรักษาความเป็นธรรม ปกป้องสิทธิมนุษยชน แต่เข้ามาก้าวก่ายประเด็นทางการเมืองจนล้นเกิน

สรุปแล้วผมคิดว่าต้องมาคุยกันใหม่เกือบทั้งฉบับ และไม่คิดว่าจะง่าย แม้ว่าจะตั้งกรรมาธิการในสภาก็ตาม

 

นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ

 

ในฐานะอดีต ส.ว. เลือกตั้ง อาจารย์มอง ส.ว. แต่งตั้งในยุคนี้อย่างไร ส่งผลอย่างไรในการปกป้องรักษาสิทธิและเสรีภาพ

แน่นอนต้องไม่ลืมว่า ภาระหน้าที่หนึ่งของ ส.ว. ที่สำคัญมากคือ ตรวจสอบการใช้อำนาจของรัฐบาล และปัจจุบันต้องตรวจสอบเอกชนที่เข้าไปพ่วงกับอำนาจรัฐด้วย เช่น โครงการ EEC โครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษ นโยบายประชารัฐ ที่ไม่ใช่ความร่วมมือของประชาชนกับรัฐแล้ว แต่เป็นรัฐกับนายทุนใหญ่ที่เป็นต้นตอปัญหาความเหลื่อมล้ำต่างหาก

ตอนเป็น ส.ว. ผมเป็นคณะกรรมาธิการการมีส่วนร่วมของประชาชน จึงเข้าไปตรวจสอบ รับฟังความคิดจากประชาชนในนโยบายต่างๆ ของอดีตนายกฯทักษิณ เช่น สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ฆ่าตัดตอนยาเสพติด เขตเศรษฐกิจพิเศษ ฯลฯ ต้องดูว่ายึดหลักสิทธิมนุษยชนไหม มีการพูดคุยกับรัฐบาลแล้วเสนอให้เขานำกลับไปคิดและระมัดระวัง ในขณะนั้นคุณทักษิณอาจจะคุม ส.ส. ได้ แต่ ส.ว. ก็เป็นเสียงส่วนหนึ่งที่เขารับฟัง เพราะเรามาจากการเลือกตั้ง และ ส.ว. สมัยนั้นก็ไม่ได้สังกัดพรรค จึงเป็นองค์กรอิสระปลอดจากการแทรกแซงจากรัฐบาล

ตอนนี้ ส.ว. มาจากการแต่งตั้ง เป็นอีกจุดหนึ่งที่ทำให้ยิ่งถอยหลังลงไปอีก ถ้าเราไม่สามารถออกแบบ ส.ว. จากการเลือกตั้งได้ ก็ไม่จำเป็นต้องมี ส.ว. เลย

อีกอันหนึ่งในรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีสิ่งที่เรียกว่าคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ที่มีอายุ 20 ปี ทำให้คนมองว่าคุณต้องการมีอำนาจไปอีก 20 ปี เป็นวิธีคิดที่ไม่ถูกต้อง ยุทธศาสตร์ชาติหรือแผนเศรษฐกิจเป็นเรื่องสำคัญ แต่อย่างมากต้องมีอายุ 3-5 ปีและสำคัญต้องยึดการมีส่วนร่วม  คุณบอกว่าเป้าหมายคือต้องการปฏิรูป แต่เอาคนที่คุณเลือกมาจำกัดการใช้อำนาจคนกลุ่มหนึ่ง แม้ภาษาสวยหรูก็ไม่มีทางทำได้ ยุทธศาสตร์ชาติขาดการมีส่วนร่วม การปฏิรูปประเทศไทยต้องเน้นหลักสิทธิมนุษยชน ต้องเน้นการมีส่วนร่วม ไม่อย่างนั้นจะกลายเป็นยุทธศาสตร์ชาติที่เกิดจากคนคนหนึ่ง ไม่สามารถเกิดแผนยุทธศาสตร์ที่เป็นประโยชน์สาธารณะได้ นโยบายรัฐต้องมาจากภาคประชาชน ให้ประชาชนมีส่วนร่วม และเมื่อเขามีส่วนร่วม เขาจะทำงานในพื้นที่ได้ดี มีหลักประกันในประโยชน์ของประชาชนจริง เกิดการพัฒนาที่มั่นคงยั่งยืน

 

นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ

 

ฟังดูแล้วทางออกของทุกปัญหาคือการให้อำนาจประชาชนและต้องยึดโยงกับประชาชนมากที่สุด

ถูกต้อง รัฐธรรมนูญตั้งแต่ฉบับแรกบอกว่าอำนาจเป็นของประชาชน แต่คนตีความไม่ถูก เหตุผลเพราะยังคิดว่าประชาชนยังโง่อยู่ ยังยากจนข้นแค้นอยู่ ต้องมองใหม่ว่าประชาชนไม่ได้โง่ แต่ประชาชนด้อยโอกาสในการศึกษา ด้อยโอกาสในการเข้าถึงข้อมูลหรือการมาพูดคุยกัน พอจะทำประชาพิจารณ์เพื่อคุยกันก็ถูกปิดกั้น

รัฐธรรมนูญ 2540 บอกให้ประชาชนมีส่วนร่วม เกิดกระบวนการการรับฟัง ไม่ใช่รับฟังแค่เฉพาะคนที่เห็นดีเห็นชอบด้วย ซึ่งเป็นระบบของอารยประเทศ แต่เราเอาประชาพิจารณ์มาทำให้กลายเป็นประชาวิวาท เอาคนมาแล้วเกิดการเผชิญหน้าเกิดการทะเลาะกัน เพราะรัฐทำไม่เป็น รัฐไปละเมิดสิทธิพลเมืองสิทธิทางการเมือง การมีส่วนร่วมของประชาชน รัฐใช้วิธีคิดเชิงอำนาจ คิดแบบบนลงล่างว่าประชาชนจะต้องเชื่อฟัง ผู้ที่เข้ามาปกครองไม่คิดว่าประชาชนต้องเข้ามามีส่วนในการจัดการ ผิดฝาผิดตัวไปหมด ถึงต้องเข้าใจก่อนว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชนหมายความว่าอย่างไร

การรับฟังเสียงประชาชนต้องมีกระบวนการในการทำงาน ต้องยอมรับว่าคนรุ่นผมเข้าใจเรื่องนี้น้อย คนรุ่นใหม่น่าจะเข้าใจว่ากระบวนการมันสำคัญ การมองเป้าหมายอย่างเดียวแล้วใช้กระบวนการทางอำนาจ ใช้การสั่งการ มันไม่ได้ผล วาทกรรมเรื่องคนดี ความเป็นไทย หรือวาทกรรมต่างๆ ในประเทศไทย พอยุคสมัยเปลี่ยน สิ่งเหล่านี้ต้องเปลี่ยนความคิดใหม่ด้วย ไม่อย่างนั้นประเทศไทยจะก้าวไม่ทันการเปลี่ยนแปลงในศตวรรษที่ 21

 

หลังยุค คสช. เรามีการเลือกตั้งแล้วสถานการณ์สิทธิมนุษยชนดีขึ้นไหม

แย่ลงครับ พอประชาธิปไตยกลายเป็นระบบอำนาจ ไม่ใช่ประชาธิปไตยที่เอาประโยชน์ของประชาชนเป็นใหญ่แล้ว รัฐธรรมนูญก็รับรองคำสั่ง คสช. ซึ่งไปละเมิดทั้งสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง โดยไม่ต้องรับผิดชอบ

ตอนผมเป็น กสม. จะรับรู้เรื่องต่างๆ ได้ ต้องทำให้ประชาชนกล้าเข้ามาร้องเรียนก่อน โดยที่เขามั่นใจได้ว่าถ้ามาร้องเรียนแล้วผมจะรับฟังเขา แก้ไขปัญหาให้เขา ถ้ามาร้องเรียนแล้วเข้าข้างคนที่ละเมิดเขา เขาก็ไม่เสียเวลามา

เรื่องการชุมนุม การแสดงความคิดเห็น ถูกคำสั่ง คสช. ห้ามไม่ให้ทำหมดเลยตั้งแต่ปี 2557 พอออกเป็น พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะก็กลายเป็นปัญหา แทนที่จะเป็นกฎหมายที่มาคุ้มครองผู้ชุมนุม กฎหมายนี้สร้างกระบวนการที่กลายเป็นอุปสรรค ทั้งที่รัฐธรรมนูญมีหลักการเขียนชัดเรื่องการชุมนุมอย่างสงบสันติวิธี นอกจากนี้คำสั่ง คสช. ยังไปละเมิดการจัดการด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพราะไปยกเว้นการใช้ พ.ร.บ.ผังเมือง ที่ อ.พิชญ์ (พงษ์สวัสดิ์) บอกว่าเป็นธรรมนูญของที่ดินทั้งประเทศ โดยเฉพาะที่ดินชุมชน จากเดิมที่มีการกำหนดที่ดินสำหรับที่อยู่อาศัย การเกษตร แต่คุณบอกว่าไม่ต้องใช้แล้ว ที่ดินตรงนี้สวยก็ตั้งโรงงาน แล้วชาวบ้านทำอะไรไม่ได้

ก่อนหน้านี้ พ.ร.บ.ผังเมือง มีพัฒนาการดีมาก มีกระบวนการมีส่วนร่วม ก่อนผมจะหมดวาระ กสม. มีประชาชนในหลายจังหวัดมาร้องว่าสิ่งที่เขาให้ความเห็นไว้และกำหนดเป็นพื้นที่โซนต่างๆ มันกำลังจะถูกปรับเปลี่ยน พอ คสช. สั่งไม่ต้องใช้ พ.ร.บ.ผังเมือง พวกเขาก็ไม่รู้จะร้องอย่างไรแล้ว

ร้ายไปกว่านั้นคือการยกเว้นการทำ EIA หรือ EHIA คือการศึกษาวิเคราะห์ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ เป็นองค์ความรู้ที่จะศึกษาก่อนจะไปลงทุน เพื่อให้นายทุนรู้ว่าคุณต้องลงทุนทางสิ่งแวดล้อมอะไรบ้าง เช่น ถ้าจะเปิดโรงงานต้องทำบ่อกำจัดน้ำเสีย นายทุนจะได้ประเมินว่าเขาสามารถลงทุนเรื่องนี้ได้ไหม เพราะบางอย่างแพงมาก แต่ต้องทำเพราะเป็นเรื่องสิ่งแวดล้อม ชีวิตของคน และสุขภาพ

เรื่องโรงไฟฟ้าชีวมวลนี่ดีก็จริง แต่เขาไปตั้งที่ใจกลางชุมชน มันก็เดือดร้อน แย่ตรงที่ประเทศไทยใครมีเงินก็ซื้อที่ดินได้ ขณะนี้อีสานมีโรงไฟฟ้าชีวมวลประมาณ 30 แห่ง กำลังจะเตรียมเปิดอีกร่วม 30 แห่ง อีสานเป็นแหล่งเพาะปลูกข้าวหอมมะลิและการเกษตร กระทบทั้งเรื่องแย่งน้ำและการใช้สารเคมี เวลานิคมอุตสาหกรรมปล่อยสารเคมีลงไปในน้ำ อย่างลำน้ำโดมปลาก็ตายหมดเลย เขื่อนปากมูลสร้างมาแล้วทำให้ปลาแม่น้ำมูลลดลง ชาวบ้านก็ลำบาก หาปลาไม่ได้ ทำเกษตรริมมูลไม่ได้ นี่คือผลกระทบต่อการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่ดินป่าลุ่มน้ำ ทะเล สินแร่ ถือเป็นสิ่งที่มีความสำคัญในระบบเศรษฐกิจพื้นฐานของชาวบ้านมาก แล้วคุณบอกว่าไม่เป็นไร ให้ทำอุตสาหกรรมการเกษตร เลี้ยงปลากระชัง ปลูกพืชเชิงเดี่ยว เราก็รู้แล้วว่าจะมีปัญหาตามมาในประเด็นเกษตรพันธะสัญญา ระบบอุตสาหกรรมเกษตรที่เอารัดเอาเปรียบพี่น้องเกษตรกร

ดังนั้นจึงสรุปได้ว่า นโยบายการพัฒนา เมื่อไม่ต้องศึกษาวิเคราะห์ผลกระทบ ขาดการพิจารณาเรื่องผังเมือง ชอบที่ไหนเอาไปได้เลย เหมือนประเทศนี้สามารถตัดแบ่งให้ใครก็ได้ รัฐบาลบอกว่าเขามาลงทุน เงินจะได้เข้ามา คิดว่าเขาจะโยนเงินมาให้ชาวบ้าน เลิกวิธีคิดแบบนี้เถอะ เปรียบเหมือนแท่งไอติม มันจะไม่เหลือแม้กระทั่งไม้ไอติมให้ชาวบ้าน น้ำไอติมไม่เหลือ เนื้อยิ่งไม่เหลือใหญ่ มันคือการสร้างปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ สังคมและการเมือง จนประเทศไทยมีความเหลื่อมล้ำสูงที่สุดในโลกเพราะคุณไปหนุน

สมัยคุณทักษิณเสนอเขตเศรษฐกิจพิเศษ เราก็บอกว่าไม่ถูก เขาก็ยกเลิก แต่ตอนนี้ปรากฏใช้คำสั่ง คสช. ประกาศ เขตเศรษฐกิจพิเศษ ออก พ.ร.บ. EEC ออกมาเรียบร้อยแล้ว โรงไฟฟ้าชีวมวลกำลังจะเกิดขึ้นแล้ว อีสานเป็นแหล่งอุดมไปด้วยสินแร่ ล่าสุดมีเหมืองโพแทชที่โคราชกับอุดรธานี กลายเป็นว่าเราให้ต่างชาติ ให้นายทุนมาตักตวงเพื่อเขาจะรวยมากขึ้น แต่ประชาชนต้องประสบปัญหาจากการตั้งโรงงาน อุตสาหกรรม

เราจะเจอทั้งปัญหาความเหลื่อมล้ำ กับดักรายได้ปานกลางและผลเสียอีกเยอะ ไทยแลนด์ 4.0 เป็นแค่คำพูดสวยหรู รัฐธรรมนูญก็ได้กำหนดยุทธศาสตร์ชาติเรื่องนโยบายการพัฒนาที่ไปหนุนเนื่องระบบทุนนิยมเสรีแล้วยิ่งซ้ำเติมเรื่องความเหลื่อมล้ำให้สถานการณ์เลวร้ายขึ้น

 

นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ

 

ผลกระทบจากยุค คสช. ทั้งทางการเมือง การพัฒนา การจัดการทรัพยากร หรือเรื่องผังเมืองที่ยังมีผลถึงทุกวันนี้ เราควรจะทำอย่างไรเพื่อให้บ้านเมืองกลับเข้าสู่รูปรอยที่ควรจะเป็นและเอื้อต่อประชาชนจริงๆ

ถ้าถามผมที่ผ่านประสบการณ์มาเยอะ ทั้ง 14ตุลาฯ พฤษภาฯ35 รัฐประหารสองครั้ง หรือสงครามหลากสี ขอพูดว่ามันไม่ได้เลวร้ายไปทั้งหมด เรามีการพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้น ขบวนการภาคประชาสังคมที่ต่อสู้เรื่องสิทธิพลเมือง สิทธิทางการเมืองยังเข้มแข็งใช้ได้ ส่วนนักวิชาการสมัยก่อนจะพูดถึงกันแค่ อ.เสน่ห์ จามริก, อ.สุลักษณ์ ศิวรักษ์, อ.ประเวศ วะสี แต่ตอนนี้มีเยอะแยะเลยเกือบทุกภูมิภาค ทำให้มีพัฒนาการ รู้มากขึ้นว่าประเทศไทยมีปัญหาอะไรที่ซ่อนเร้นอยู่ ถ้ายังไม่แก้ก็เหมือนหนามที่อยู่ใต้เท้า เมื่อก่อนยังมองไม่เห็น แต่ตอนนี้เห็นแล้ว ศัพท์รัฐศาสตร์เรียก ‘รัฐพันลึก’ เป็น deep state อะไรที่มองไม่เห็นก็จะได้เห็นได้เข้าใจมากขึ้น

ขณะเดียวกันเราพบการเจริญเติบโตของภาคประชาชน คนหนุ่มคนสาวเริ่มรู้ปัญหานี้มากขึ้น ตอนนี้เป็นช่วงขณะของการต่อสู้กันทางความคิด จึงเกิดปรากฏการณ์วิ่งไล่ลุงกับวิ่งเชียร์ลุงขึ้นทุกจังหวัด มีการเปลี่ยนแปลงการเคลื่อนไหวที่ทำให้ถูกกล่าวหาและถูกจับกุม อย่างแฟลชม็อบหรือการวิ่งต่างๆ เกิดการเบียดแย่งปะทะ ‘อำนาจ’ ภาคประชาชนจึงต้องต่อสู้สู่การหาจุดร่วมใหม่ที่ยังมองไม่เห็นให้ได้มากที่สุด

รัฐธรรมนูญ 2560 มีข้อดีคือทำให้มีพรรคการเมืองเกิดใหม่ ที่รวบรวมความคิดกันขึ้นมาได้โดยที่เขาคิดไม่ถึง จุดอ่อนคือขณะนี้เครือข่ายยังกระจัดกระจายไม่ลงตัว หรือแม้กระทั่งสื่อเอง แม้จะมีสื่อเลียนแบบดาวสยามในสมัยก่อน แต่ก็มีสื่อออนไลน์ที่มีความคิดก้าวหน้า สื่อทางเลือก ถ้าเกิดการทำงานแบบบูรณาการ พยายามมองเป้าหมายให้ตรงกัน ผมว่าจะเป็นอนาคต  ของสังคมไทย ก้าวข้ามวิกฤตได้

ถ้าเราตั้งประเด็น เช่น เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญควรทำอย่างไร ต้องให้กรรมาธิการออกมารับฟังส่วนต่างๆ ให้ได้มากที่สุด คล้าย สสร. ปี 2540 ยอมรับบ้าง ไม่ยอมรับบ้าง ไม่เป็นไร แต่เพื่อเป็นความชอบธรรมว่ารับฟังจากประชาชน ไม่ใช่แค่คุยกันในกรรมาธิการที่จะมีแต่การโต้กันสองฝ่าย หรือเรื่องการจัดการทรัพยากรตอนนี้ก็มีเรื่องร้องเรียนกรรมาธิการที่ดินเยอะแล้ว ต้องพาเขาออกมาฟังต้นตอปัญหาว่านโยบายทวงผืนป่าทำชาวบ้านเดือดร้อนอย่างไร ตัดต้นยางต้นปาล์ม เขาไม่มีที่อยู่อาศัย ต้องมาอยู่ข้างถนน ลูกไม่ได้เรียนหนังสือ พ่อแม่ต้องมาขึ้นศาล มันลำบากแค่ไหน ไม่เหมือนเขาที่มีคนไปขึ้นศาลแทนให้ ทั้งหมดนี้ต้องจับออกมาให้เจอของจริง เขาจะปฏิเสธไม่ได้และจะบอกว่าที่แก้ไขไม่ได้นั้นติดขัดที่ไหน คนทำงานในกรรมาธิการต้องเข้าใจตรงนี้

อย่าไปคิดว่าจะประกาศชัยชนะของประชาธิปไตยในช่วงเวลาอันสั้นได้ ต้องค่อยๆ สั่งสมไป ทำให้สังคมรู้ว่าปัญหาที่เร้นลับคืออะไรบ้าง ให้คนยอมรับว่าเราต่อสู้ด้วยสันติวิธี

 

นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ

 

มีเรื่องอะไรต้องระมัดระวังในสถานการณ์แบบนี้ไหม

มี 2-3 เรื่อง 1. อย่าหลงไปในวิธีการรุนแรง ประชาชนไม่เคยใช้ความรุนแรง แต่ประชาชนถูกรัฐหรือนายทุนใช้ความรุนแรง เราเลยต้องโต้ตอบ แล้วเราจะถลำเข้าไป ถ้าใช้ศัพท์ อ.เกษียร (เตชะพีระ) คือ “ถ้าเขาบ้า อย่าไปบ้าตามเขา” เพราะเขามีสิทธิในการบ้า แต่เราไม่มีสิทธิ เราจะถูกปราบปรามและล้อมปราบ

2. ต้องมีสติ ต้องปรับกระบวนการวิธีการให้สอดคล้องและทำให้คนยอมรับในหลักสิทธิมนุษยชน เพราะสิทธิมนุษยชนเป็นทั้งเป้าหมายและวิธีการ ผมว่าคนรุ่นใหม่คิดตรงนี้ได้ดีและเก่งกว่าผมเยอะ

3. ต้องทำให้เกิดประเด็นสาธารณะ ปัจจุบันพื้นที่สื่อสำคัญมาก เราจะมีอีกกี่ดาวสยามก็ตาม แต่สื่อออนไลน์มันปิดไม่ได้ทั้งหมด เราสามารถส่งข้อมูลข่าวสารทางเฟซบุ๊กหรือทวิตเตอร์ได้และต้องเป็นข้อมูลข่าวสารที่ไม่ด่าทอกัน ต้องให้ข้อมูลข่าวสารที่ตรงกับความเป็นจริง สามารถตรวจสอบได้ มีหลักการและเหตุผล จะทำให้สังคมส่วนใหญ่มีความเข้าใจมากขึ้น

เราอาจเข้าใจผิดว่าที่คนเงียบเพราะเขายอม ผมว่าไม่ใช่ทั้งหมด สังคมไทยเป็นสังคมที่เงียบอยู่แล้ว แต่ความไม่พอใจจะสะสมไปทีละนิด สิ่งที่กระทบต่อเขาอาจไม่รุนแรงเท่าคนยากคนจน แต่เราต้องทำให้เห็นว่าถ้าคุณยังเงียบต่อไป ในไม่ช้ามันจะมากระทบคุณ กระทั่งเรื่องไวรัสตอนนี้ ถ้าคุณไม่ออกมาส่งเสียงให้เห็นว่ารัฐบาลทำไม่ถูกต้องตรงไหน มันจะมากระทบกับคุณหลายเรื่องทีเดียว ไปจนถึงกระทบต่อการมีชีวิตอยู่

ถ้าประชาชนไม่ออกมาส่งเสียง รัฐบาลก็หลงทิศทาง แต่เราต้องส่งเสียงด้วยความคิดที่มีข้อมูลรอบด้าน มีหลักการเหตุผล การคัดค้านอย่างเดียวไม่พอ เพราะเราต้องการดึงมวลชนส่วนใหญ่ให้เห็นด้วย ตรงนี้คือหน้าที่ที่เราต้องทำให้สังคมค่อยๆ เรียนรู้ ผมว่ามันไม่เหลือบ่ากว่าแรง ก่อนที่จะถลำลึกไปสู่ความรุนแรงเหมือนสิบกว่าปีที่ผ่านมา

 

นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ

 

รัฐธรรมนูญในฝันของอาจารย์ที่จะสามารถปกป้องหรือส่งเสริมสิทธิเสรีภาพของประชาชนได้ มีหน้าตาเป็นอย่างไร

โดยหลักเราต้องเอารัฐธรรมนูญ 2540-2550-2560 มาวิเคราะห์ตามความเป็นจริง รัฐธรรมนูญไทย 20 กว่าฉบับมีที่ดีอยู่ประมาณ 4-5 ฉบับที่เป็นประชาธิปไตย เราต้องเอารัฐธรรมนูญที่เป็นปัญหามากองรวมกันแล้วดูว่าปัญหาคืออะไร การร่างรัฐธรรมนูญที่จะเกิดขึ้นต้องเอารัฐธรรมนูญที่ผ่านมาเป็นบทเรียน อย่าให้ผิดซ้ำอีก

ส่วนรัฐธรรมนูญที่ดีแล้วมีส่วนไหนที่ถูกทำให้ไม่ดีหรือเปล่า ปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างการทำให้รัฐบาลมีเสถียรภาพ ผู้นำมีความเข้มแข็ง แต่กลายเป็นว่าเชื่อมั่นในตัวเองแล้วไม่ฟังใคร ตลอดจนองค์กรอิสระที่มุ่งหวังเข้ามาตรวจสอบก็ไร้ผล กลับถูกครอบงำและแทรกแซง จึงควรพิจารณาแก้ไขปรับปรุงการตรวจสอบถ่วงดุลองค์กรอิสระเหล่านั้น การตรวจสอบถ่วงดุลที่ดีที่สุด คือ การตรวจสอบโดยเน้นการมีส่วนร่วมของประชาชน ซึ่งสังคมไทยยังไม่รู้และไม่ตระหนัก สักแต่พูดคำสวยหรูแต่ไร้ผลในการปฏิบัติ

เรามีตัวแบบรัฐธรรมนูญ 20 ฉบับ ซึ่งเยอะมาก ควรพอแล้ว ไม่จำเป็นต้องไปศึกษาจากต่างประเทศแล้ว แต่ต้องศึกษาบทเรียนจากประเทศไทย กลับมาคิดว่าสังคมไทยมีอะไรบ้างที่เป็นปัญหาอุปสรรค ประชาธิปไตยในช่วงเปลี่ยนผ่านไม่ใช่แค่การจะไปแก้รัฐธรรมนูญ แต่ต้องดูถึงองค์กรสถาบันต่างๆ ที่เป็นต้นเหตุในการละเมิด ก็คือการปฏิรูปองค์กรสถาบันต่างๆ ที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน แม้แต่เรื่องสถาบันก็ต้องยอมรับว่าคนไทยยังมองไม่ตรงกัน คำว่า ‘สถาบันกษัตริย์อยู่เหนือการเมือง’ ก็ตีความต่างกันแล้ว เราต้องการให้สถาบันคงอยู่ แต่ต้องพูดคุยกันอย่างตรงไปตรงมา ไม่ได้เป็นการลบหลู่หรือดูหมิ่น แต่พูดคุยกันเพื่อให้เกิดความกระจ่าง จะได้รักษาสถาบันให้คงอยู่กับเราได้

หากการพูดคุยถูกตีความว่าเป็นเรื่องผิดมาตรา 112 จะทำให้สังคมคุยกันไม่ได้ ในต่างประเทศก็มีกฎหมายแบบ 112 แต่ทำไมเขาไม่จำเป็นจะต้องใช้ทำลายล้างกัน เพราะเขาคุยกันแบบตรงไปตรงมา เงื่อนไขที่จะเข้ามาตรา 112 ก็ต้องคุยกันให้ชัด ตอนเป็น กสม. ผมเคยศึกษาเรื่องนี้ ทำไมเราไม่คุยกันให้ชัด คนที่ออกมาแล้วกระทบสถาบันต่างๆ ก็เป็นส่วนหนึ่ง แต่คนที่ออกมายกยอประจบสอพลอแล้วเอาสถาบันไปเอื้อประโยชน์ตนเอง กล่าวหาคนอื่นแล้วทำอะไรที่เกินเลย อันนั้นก็คือการละเมิด เราต้องมาคุยกัน ไม่งั้นจะเกิดกรณีที่ประชาชนลุกขึ้นมาเป็นฝ่ายตรงข้ามกับรัฐอย่างที่เห็นอยู่ในขณะนี้

 

นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save