fbpx

‘เราต้องการเมืองสุขภาพดี’ รีเซ็ตเมืองใหม่จากภัยโรคระบาดแห่งศตวรรษ – นิรมล เสรีสกุล

ช่วงเวลาเกือบ 2 ปี หลังจากโควิดเข้ามาเปลี่ยนโลกทั้งใบ มากพอที่จะทำให้ใครหลายคนเริ่มคุ้นชินกับวิถีชีวิตใหม่ ทั้งภาพคนสวมหน้ากากอนามัยเดินไปไหนมาไหน พ่นแอลกอฮอล์ฆ่าเชื้อใส่ทุกสิ่งที่จับต้อง หรือนั่งๆ นอนๆ เรียนออนไลน์ ทำงานออนไลน์จากบ้านตลอดสัปดาห์

ยิ่งไปกว่านั้น มันเป็นเวลามากพอให้คนกลับมาทบทวนเรื่องนิเวศสำคัญที่สุดของสังคมมนุษย์ปัจจุบัน – ‘เมือง’

เรื่องแรก เมืองของเราทุกวันนี้ส่งเสริมให้เรามีคุณภาพชีวิตที่ดีบ้างหรือไม่ ภายหลังปะทะกับโรคระบาดแล้ว เกิดรอยร้าวหรือความเปราะบางตรงไหนให้เร่งแก้ไขก่อนลุกลามบานปลาย

เรื่องที่สอง ในวันที่เมืองยังเติบโตขึ้นเรื่อยๆ หนาแน่นขึ้น และมากด้วยความเสี่ยงยิ่งขึ้น เราจะวางแผนระยะยาวเพื่อป้องกันวิกฤตเช่นโรคระบาดในอนาคตได้อย่างไร

101 เก็บโจทย์ใหญ่ทั้งสองข้อไปชวนคุยกับ ผศ.ดร.นิรมล เสรีสกุล ผู้อำนวยการศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (Urban Design and Development Center :UddC) และอาจารย์ประจำภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยตั้งต้นจากการมองความเปลี่ยนแปลงของศาสตร์การออกแบบเมือง การรับมือโรคระบาดในระยะสั้นถึงกลาง ไปจนถึงอนาคตที่ต้องจับตาเรื่องการส่งเสริมสุขภาพ ก่อนย้อนกลับมามองเมืองเจ้าปัญหาอย่างกรุงเทพฯ และอุปสรรคด้านโครงสร้างการบริหารของไทยที่ทำให้การพัฒนาเมืองหยุดชะงักแทบทั้งประเทศ

ณ วินาทีนี้ คงไม่มีใครกล้าปรามาสโควิดว่าเป็นเพียง ‘โรคกระจอก’ อีกแล้ว เพราะอนาคตอีกสิบปี หรืออีกร้อยปี เราอาจต้องใช้บทเรียนจากโรคระบาดครั้งนี้ในการออกแบบเมืองก็เป็นได้


โลกอยู่ร่วมกับโควิดมากว่า 2 ปีแล้ว หากมองย้อนกลับไป โรคระบาดเปลี่ยนแปลงเมืองและศาสตร์การออกแบบเมืองอย่างไร

โรคกับเมืองคือของคู่กัน หากมองย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์ ความกังวลเรื่องสุขภาพมีอิทธิพลในการสร้างหลักการและมาตรฐานการวางผังเมืองและการออกแบบเมืองมาโดยตลอด ที่เห็นได้ชัดและอยากหยิบมาคุยคือ ความพยายามในการเอาชนะโรคระบาดในยุคศตวรรษที่ 19 ซึ่งนำไปสู่การปฏิรูปครั้งใหญ่หรือ The Great Reset ของวงการผังเมืองในโลกตะวันตก

เพื่อให้เห็นภาพ อยากชวนจินตนาการถึงเมืองที่มีการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วอย่างลอนดอน ผลจากการปฏิวัติอุตสาหกรรมทำให้เมืองกลายเป็นศูนย์กลางของการค้าขายลงทุนและการเดินทางเคลื่อนที่ รวมทั้งเป็นศูนย์รวมของผู้คน เป็นปลายทางการอพยพของคนจากภาคเกษตรกรรมในชนบท และเป็นจุดเชื่อมต่อกับเมืองใหญ่จากส่วนต่างๆ ของโลก ในขณะที่เมืองเป็นศูนย์กลางการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและคิดค้นทางเทคโนโลยี  

ด้านหนึ่ง เมืองยังเป็นศูนย์รวมความเหลื่อมล้ำ ความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อม มลภาวะ และความป่วยไข้ นั่นเป็นเพราะเมืองลอนดอนที่เคยเป็นเมืองป้อมปราการเล็กๆ จากยุคโรมันไม่ได้ถูกวางแผนเพื่อรองรับกับกระบวนการกลายเป็นมหานครขนาดใหญ่แบบนี้ อาคารบ้านเรือนมีสภาพแออัด ถนนแคบๆ คดเคี้ยวอยู่กันแน่นๆ มืดๆ แสงแดดแทบส่องไม่ถึง โดยเฉพาะที่อยู่อาศัยของชนชั้นแรงงาน สภาพแวดล้อมเมืองแบบนี้ทำให้ลอนดอนได้ควบอีกบทบาทคือจานเพาะเชื้อ

ในช่วงศตวรรษที่ 19 เกิดการระบาดของโรคอหิวาต์ในเมืองลอนดอน ผู้คนล้มตายเป็นใบไม้ร่วง โดยเฉพาะกลุ่มชนชั้นแรงงานในเมืองซึ่งเป็นกลุ่มเปราะบางที่ได้รับผลกระทบมาก ผู้คนโกรธแค้น ร่ำๆ จะเกิดความไม่สงบในสังคม และไม่ใช่เฉพาะแค่คนจน ชนชั้นสูงก็เดือดร้อน เพราะในเมืองถูก The Great Stink หรือกลิ่นเหม็นรุนแรงซึ่งมีต้นตอจากแม่น้ำเทมส์ปกคลุมทั่วเมือง เหม็นจนสภาเวสต์มินสเตอร์ที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเทมส์แทบจะย้ายสภาหนี เหตุเกิดจากในสมัยนั้น ผู้คนใช้แม่น้ำเป็นแหล่งน้ำสำหรับอุปโภคบริโภค พร้อมๆ กับใช้ทิ้งขยะ มูลสัตว์ ของเสียจากมนุษย์ น้ำเสียดิบที่มาจากบ้านเรือนในเมืองไหลมารวมกันที่แม่น้ำอย่างอิสระ

ทั้งหมดส่งผลให้เกิดการปฏิรูปผังเมืองเพื่อกำจัดเชื้ออหิวาต์และกลิ่นเหม็นให้หมดไป ซึ่งการปฏิรูปนั้นเกิดจากการบูรณาการระหว่างองค์ความรู้ด้านการสาธารณสุขและผังเมือง เริ่มจากนายแพทย์จอห์น สโนว์ ได้ศึกษาและพบว่าการระบาดของโรคอหิวาต์ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับอากาศที่ปนเปื้อนอย่างที่เชื่อกันในตอนนั้น แต่มาจากการปนเปื้อนสิ่งปฏิกูลของบ่อน้ำสาธารณะ สภานิติบัญญัติจึงเร่งผ่านกฎหมายปฏิรูปโครงสร้างพื้นฐานของเมือง การฟื้นฟูแม่น้ำ และการสร้างมาตรฐานอาคารที่พักอาศัย เกิดเป็นโครงการฟื้นฟูเมืองมากมาย เช่น การสร้างระบบบำบัดน้ำเสียใต้ดิน การสร้างเส้นทางลำเลียงของเสียไปยังปากแม่น้ำเทมส์ การปรับปรุงพื้นที่ริมแม่น้ำเทมส์จากเดิมเป็นตลิ่งดินโคลนแฉะๆ มาออกแบบใหม่เป็นระบบสาธารณูปโภคเมืองที่ทันสมัย ผสมผสานระหว่างเขื่อนกันน้ำ ท่อระบายน้ำใต้ดิน ถนน และพื้นที่สีเขียวสาธารณะซึ่งปลูกต้นไม้ตลอดแนว

กระทั่งถนนในเมืองก็ได้รับการปรับปรุงให้ตรงและกว้างขึ้น มีการปูผิวถนนด้วยวัสดุปูพื้นที่ล้างทำความสะอาดได้ง่าย โดยเทศบาลจะล้างถนนทุกเย็นเพื่อป้องกันการสะสมของกองขยะ เชื้อโรค และกลิ่นเหม็น มีการสร้างมาตรฐานใหม่ของอาคารที่พักอาศัย ให้มีแสงสว่างเข้าถึง มีการถ่ายเทระบายอากาศที่ดี มีพื้นที่ส่วนกลางไว้พักผ่อน เป็นต้น นอกเหนือจากการปรับปรุงสภาพแวดล้อมแล้ว ยังรวมไปถึงกฎระเบียบที่รัฐเข้ามาควบคุมร่างกายประชาชนมากขึ้น เช่น ห้ามถ่มน้ำลายลงพื้น ห้ามถ่ายในที่สาธารณะ รณรงค์ให้คนอาบน้ำและล้างมือ

ด้วยการปฏิรูปเหล่านี้ ทำให้ the Great Stink และโรคอหิวาต์ที่ก่อกวนชาวลอนดอนมาเป็นเวลานานค่อยๆ จางหายไป แม่น้ำเทมส์ก็ค่อยๆ ฟื้นตัวจนกลายเป็นแม่น้ำที่สะอาดและสวยงาม

อีกตัวอย่างที่ชัดเจนคือนิวยอร์ก ที่ประสบภัยพิบัติจากโรคระบาดอหิวาต์ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกับลอนดอน และเกิดการปฏิรูปแนวคิดเรื่องโครงสร้างพื้นฐานด้านสาธารณสุขเช่นกัน มีการออกแบบวางระบบน้ำประปาและท่อส่งน้ำจืดใหม่ให้เมือง รวมทั้งมีการออกแบบ green infrastructure ระดับตำนานของโลกขึ้น นั่นคือ Central Park ที่ออกแบบไว้เพื่อเป็นทั้งปอดให้เมืองที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว และเป็นที่กักเก็บน้ำของเมือง กลางสวนมีอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 2 แห่งที่มีการวางระบบท่อเชื่อมกับเมือง

เกร็ดเล็กๆ ที่น่าสนใจคือ Frederick Law Olmsted ผู้ร่วมออกแบบ Central Park ก็เป็นผู้หนึ่งที่สูญเสียลูกคนแรกจากอหิวาต์ เขาประกาศว่าจุดประสงค์ของการสร้างสวนสาธารณะขนาดใหญ่กลางเมือง ก็เพื่อให้โอกาสผู้คนได้หลบหนีจากความแออัดของเมือง และเพื่อเตรียมพื้นที่ฟอกอากาศให้คนเมืองด้วยต้นไม้และแสงแดด ซึ่งนอกจาก Central Park แล้ว Olmsted ก็ได้ออกแบบ the Emerald Necklace ที่เมืองบอสตัน และอีกหลายๆ เมือง นำไปสู่กระแสการพัฒนาพื้นที่สีเขียวในเมืองปลายศตวรรษที่ 19 เพื่อตอบสนองการเพิ่มขึ้นของที่อยู่อาศัย ความต้องการอากาศที่ดี แสงธรรมชาติในเมือง 

จะเห็นได้ว่า The Great Sanitary Awakening ในศตวรรษที่ 19 มีต้นตอมาจากโรคระบาด ที่ทำให้เกิดการบูรณาการระหว่างองค์ความรู้สาธารณสุขและเมืองที่จะเอาชนะเชื้อโรค จนนำไปสู่หลักการและมาตรฐานสภาพแวดล้อมเมืองชุดใหม่ จนมีคำกล่าวว่า การวางผังเมืองสมัยใหม่ติดหนี้บุญคุณโรคระบาดอย่างอหิวาต์และวัณโรค ก็คาดหวังว่าโควิดในฐานะโรคระบาดใหม่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงนอกเหนือไปจากมาตรการเพื่อแก้ไขกับวิกฤตเฉพาะหน้า เริ่มมีการพูดถึงกันมากเรื่องการบูรณาการหลักการ one health หรือสุขภาพหนึ่งเดียวกับการวางผังเมืองเพื่อป้องกันโรคอุบัติใหม่ แต่ก็ยังไม่มีแนวปฏิบัติที่ชัดเจนมากนัก


ที่ผ่านมา อาจารย์พอเห็นภาพบ้างไหมว่าช่วงโควิดระบาด เมืองต่างๆ ปรับตัวเพื่ออยู่ร่วมกับโรคอย่างไร อะไรที่เป็นเทรนด์ร่วมกัน

แทบทุกเมืองมีมาตรการคล้ายกัน เช่น การเว้นระยะห่างทางสังคม การใส่หน้ากาก การจำกัดการเคลื่อนไหว การล็อกดาวน์ของคลัสเตอร์ การทำงาน/เรียนจากที่บ้าน และการเร่งฉีดวัคซีน

แต่ไม่ใช่ทุกเมืองที่จะมีวิสัยทัศน์ในการมองข้ามช็อตการบริหารวิกฤตเฉพาะหน้า ไปสู่คำถามต่อไปที่ว่า หากโรคระบาดนี้อยู่ยาว เมืองจะต้องเตรียมการอย่างไรเพื่อให้คนสามารถใช้ชีวิตได้ใกล้เคียงกับปกติมากที่สุด

บางเมืองถือโอกาสในการใช้วิกฤตนี้ผลักดันนโยบายที่ในสถานการณ์ปกติอาจจะทำได้ยาก เช่น การรีเซ็ตนโยบายการเคลื่อนที่ในเมืองและพื้นที่สาธารณะ

ในส่วนของการเคลื่อนที่ในเมือง เราเห็นการกลับมาของแนวคิด 15-minute city หรือ เมือง 15 นาที ซึ่งหากมองในเชิงทฤษฎีการวางผังแล้วนี่ไม่ใช่เรื่องใหม่ สาระสำคัญคือรอบบ้านในระยะ 15 นาที หรือประมาณ 1.5 กิโลเมตร สาธารณูปการในชีวิตประจำวัน เช่น ร้านค้า สวนสาธารณะ พื้นที่การเรียนรู้ ฯลฯ ต้องเชื่อมโยงด้วยทางเท้าและทางจักรยานที่มีคุณภาพ เพื่อให้คนสามารถเดินหรือขี่จักรยานเข้าถึงได้ในระยะทางสั้นๆ จากบ้าน

นอกจากความสะดวกสบายแล้ว การทำให้ย่านรอบบ้านให้เดินได้เดินดียังมีส่วนช่วยพยุงเศรษฐกิจท้องถิ่นโดยเฉพาะช่วงที่มีการระบาด ด้วยการจับจ่ายและกระจายรายได้ไปตามร้านค้าในย่านในซอย ลองมองไปยังเมืองที่ออกแบบวางผังให้เดินหรือปั่นจักรยานได้ พอเมืองควบคุมตัวเลขการระบาดได้แล้ว ร้านค้าก็กลับมาเปิด ผู้คนออกมาเดินจับจ่ายปกติ โดยมีมาตรการใส่หน้ากากและควบคุมจำนวนลูกค้าในร้าน ทำให้เศรษฐกิจเมืองยังพอไปต่อได้ เมื่อเปรียบเทียบกับกรุงเทพมหานครหรืออีกหลายเมืองที่ยังพึ่งพารถยนต์ ศูนย์การค้าขนาดใหญ่คือศูนย์กลางชีวิต พอมีการควบคุมหรือปิดศูนย์การค้า ควบคุมการเดินทาง เศรษฐกิจก็ชะงัก ชีวิตคนก็ลำบาก

นอกจากนี้ จะเห็นได้ว่าช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด การเดินทางระยะไกลจะลดน้อยลง ปริมาณจราจรลดลง มลภาวะฝุ่นควันเสียงบนถนนลดลงเป็นส่วนใหญ่ รวมทั้งคนไม่อยากเบียดกับผู้อื่นบนขนส่งสาธารณะ ทำให้ในหลายเมืองเกิดปรากฏการณ์ ‘บูม’ ของจักรยานและพาหนะเดินทางขนาดเล็ก เช่น สกูตเตอร์ ผู้คนออกมาขี่จักรยานมากขึ้น ถึงขนาดที่บางประเทศ บางเมืองในยุโรปจักรยานขาดตลาด สั่งจองต้องรอกันเป็นเดือน รวมถึงมีสถิติพบว่าการเดินและการปั่นจักรยานมีระยะทางรวมกันทั่วโลกกว่า 2,000 กิโลเมตร

ผลลัพธ์คือหลายเมืองทั้งในทวีปยุโรป อเมริกา และเอเชีย มีการลงทุนพัฒนาทางเท้าและทางจักรยานในช่วงการกักตัวจากสถานการณ์โควิด ให้เมืองมีการขนส่งแบบไม่ใช้เครื่องยนต์และใช้แรงกายแทน นับเป็นงบประมาณรวมหลายร้อยล้านยูโร มีการทดลองถนนไร้รถยนต์และจำกัดความเร็วรถ (car-free street & slow street) เกิดขึ้นหลายแห่งด้วยโปรแกรมการสร้างแรงจูงใจต่างๆ ตัวอย่างเช่น สหรัฐอเมริกา แม้ว่าเป็นเมืองที่มีวัฒนธรรมนำเป็นวัฒนธรรมรถยนต์ แต่พบว่าหลายเมือง เช่น เมือง Seattle เมือง Austin ออกนโยบายลงทุนกับโครงสร้างพื้นฐานจักรยาน เรียกได้ว่าเป็นโอกาสให้นักผังเมืองและสถาปนิกเมืองสามารถลงมือทำตามแนวคิดที่ในสถานการณ์ปกติอาจจะทำได้ยาก

อีกเรื่องหนึ่งคือนโยบายพื้นที่สาธารณะ ในช่วงโรคระบาดมีความต้องการพื้นที่สีเขียวและสวนสาธาณะมากขึ้น เพราะมันคือพื้นที่แห่งการพักผ่อน การเล่น การออกกำลังกาย การบรรเทาทุกข์ทางจิตใจ ต้องไม่ลืมว่าสิ่งที่น่ากลัวไม่น้อยกว่าติดโรคโควิด คือ โรคที่มาจากความเครียด และการไม่ขยับร่าง เช่น โรคอ้วน ความดัน หัวใจ การใช้ยาเสพติด ไปจนถึงความรุนแรงในครอบครัว

พื้นที่สาธารณะเหล่านี้ต้องไม่รวมศูนย์ แต่ต้องกระจายตัวให้อยู่ในแต่ละย่านละแวก คนเข้าถึงได้ด้วยการเดิน และเปิดให้คนเข้าใช้งานได้ มีบางเมืองดำเนินนโยบายผิดพลาดในช่วงการระบาดระลอกแรกซึ่งยังจับต้นชนปลายไม่ถูก ไปออกมาตรการปิดสวนสาธารณะ ทำให้โดนประชาชนทักท้วงมาก ดีที่รัฐบาลของเขาก็รับฟังประชาชน มีการเก็บข้อมูล อ้างอิงงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ ไม่ใช่ผู้บริหารนั่งนึกเอาเอง หรือไม่ก็ไม่ได้ปิดแบบหว่านแห พอเกิดการแพร่ระบาดระลอกถัดมา เมืองจึงเปิดสวนสาธารณะให้คนเข้าไปใช้ออกกำลังกาย ผ่อนคลาย พบปะสังสรรค์กับคนอื่นแบบเว้นระยะห่าง สร้างความแข็งแรงทางร่างกายและจิตใจ 

นอกจากพื้นที่สาธารณะจะช่วยสร้าง well-being ของชุมชนและสังคมในยามวิกฤตแล้ว เราจะเห็นการใช้งานแบบอเนกประโยชน์ของพื้นที่สาธารณะด้วย เช่น มีการปรับเปลี่ยนเพื่อรองรับบริการฉุกเฉินโดยจัดตั้งเป็นโรงพยาบาลชั่วคราว โกดังสินค้า สถานที่กักกัน ศูนย์สุขภาพชุมชน และสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆ ที่ตอบสนองคนในย่าน เป็นการเพิ่มขีดความสามารถของพื้นที่สาธารณะในการปรับตัวยามฉุกเฉินของเมืองเมื่อเกิดภัยพิบัติ

ดังนั้น จากวิกฤตที่กินเวลามาเกือบ 2 ปีนี้ เราจะเห็นหลายเมืองถือโอกาสผลักดันให้เกิดการ remake เมืองให้สามารถสัญจรด้วยการเดินเท้าและขี่จักรยานได้มากขึ้น เข้าถึงพื้นที่สาธารณะได้ทั่วถึงขึ้น เพราะความเท่าเทียมในการเข้าถึงบริการพื้นฐานจะช่วยให้คนทนต่อวิกฤตสุขภาพและความเครียดได้มากขึ้น ยังมีวิถีชีวิตที่กระฉับกระเฉง และเศรษฐกิจเมืองยังพอไปต่อได้


ความหนาแน่นของเมือง (density) ถูกมองว่าเป็นปัจจัยเสี่ยงก่อให้เกิดโรคระบาด แต่ขณะเดียวกัน เราก็มองไม่เห็นทางออกว่าจะคลายความหนาแน่นของเมืองในปัจจุบันได้อย่างไร มีแนวทางไหนไหมที่จะทำให้เมืองอันหนาแน่นของเราปลอดภัยจากโรค

ความหนาแน่นคือข้อได้เปรียบของเมือง

ความหนาแน่นในที่นี้หมายถึงความหนาแน่นของจำนวนประชากรในพื้นที่ที่กำหนด มักแสดงเป็นคนต่อตารางกิโลเมตร ทิศทางการพัฒนาเมืองในปัจจุบันมุ่งสร้างความหนาแน่นอย่างมีคุณภาพภายในเมือง เพื่อลดการขยายเมืองออกสู่พื้นที่เกษตรกรรมรอบเมือง โดย UN-Habitat ได้กำหนดค่ามาตรฐานขั้นต่ำของความหนาแน่นของประชากรไว้ที่ 15,000 คนต่อตารางกิโลเมตร ซึ่งสำหรับกรุงเทพมหานคร ความหนาแน่นอยู่ที่ประมาณ 3,500 คนต่อตารางกิโลเมตร กล่าวได้ว่าเราเป็นเมืองที่ไม่หนาแน่น แต่แออัดบางจุด

ที่บอกว่าเมืองหนาแน่นอย่างมีคุณภาพนั้นได้เปรียบ เพราะประหยัดเรื่องการลงทุนด้านสาธารณูปโภค ผู้คนประหยัดเวลาและค่าเดินทาง นอกจากนี้ ความหนาแน่นนำมาซึ่งความมีชีวิตชีวา รวมถึงส่งเสริมโอกาสทางเศรษฐกิจและสังคมของเมือง ทำให้แนวโน้มความหนาแน่นของเมืองไม่น่าจะลดลง รังแต่จะเพิ่มขึ้น ข้อมูลแนวโน้มใหญ่ของกระบวนการกลายเป็นเมือง (urbanization) ทั่วโลกระบุว่า จากปี 1950 ประชากรที่อาศัยในเขตเมืองมี 30% มาถึงปี 2018 เพิ่มขึ้นเป็น 55% และคาดการณ์ว่าจะสูงเป็น 65% ในปี 2050 ซึ่ง 90% ของจำนวนประชากรเขตเมืองที่เพิ่มขึ้นอยู่ในทวีปเอเชียและแอฟริกา แม้แต่วิกฤตโควิดก็ไม่น่าจะย้อนกระแสนี้ได้

อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่อดีตที่ฉายภาพมา เราพบว่าความหนาแน่นมาพร้อมกับความเสี่ยง ไม่ใช่เฉพาะโรคระบาด แต่กับทุกภัยพิบัติ ทั้งการก่อการร้ายหรือภัยพิบัติทางธรรมชาติอื่นๆ ยิ่งหนาแน่น ยิ่งจัดการยาก ยิ่งสร้างความเสียหายสูง ทั้งนี้ มีผลการวิจัยที่น่าสนใจจาก UN-Habitat’s CitiIQ platform and UN-Habitat’s Global Urban Observatory (2021) ที่ชี้ว่า ไม่พบความสัมพันธ์โดยตรงระหว่างความหนาแน่นของประชากรกับอัตราการติดเชื้อโควิด เมืองที่มีความหนาแน่นของประชากรต่ำ เช่น ลอสแองเจลิส บราซิลเลีย มีสถิติจำนวนผู้ติดเชื้อต่อประชากร 100,000 คน สูงกว่าเมืองที่มีความหนาแน่นของประชากรสูง เช่น ฮ่องกง ผลงานวิจัยยังมีทิศทางเดียวกันเมื่อทำการเปรียบเทียบเมืองที่มีความหนาแน่นต่างกันในประเทศเดียวกัน และพบว่าปัจจัยที่มีผลต่อการแพร่ระบาดหรืออัตราการเสียชีวิตจากโควิด คือ การเข้าถึงบริการสาธารณสุข ลักษณะประชากร (demographic) เช่น อายุ โครงสร้างพื้นฐานทางสังคม และประสิทธิภาพของมาตรการตอบสนองโรคระบาด

ดังนั้น หากมองในมุมของการออกแบบเมือง เมืองยังเป็นอนาคต และเมืองในอนาคตต้องเตรียมโครงสร้างพื้นฐานที่พร้อมเปิดๆ ปิดๆ โดยต้องมีคุณลักษณะ 2 ประการ คือในเวลาเปิดเมือง เมืองต้องมีสภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้อให้เกิดการแพร่ระบาดของไวรัส และในเวลาเกิดโรคระบาด การปิดเมืองก็ต้องไม่ให้คนและเศรษฐกิจบอบช้ำ นั่นคือเมืองต้องปรับให้มีความยืดหยุ่น แข็งแรง และฟื้นเร็ว นโยบายเรื่องการเคลื่อนที่ที่ไม่ใช้เครื่องยนต์และการกระจายพื้นที่สาธารณะที่มีคุณภาพให้ผู้คนเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียมก็นับเป็นความพยายามที่จะตอบโจทย์นี้ อย่างน้อยก็ในระยะสั้นและระยะกลาง


แล้วในระยะยาว เมืองควรมีมาตรการรับมือโรคระบาดอย่างไร

หากระยะสั้นถึงระยะกลางเป็นเรื่องของการออกแบบเมือง ในระยะยาวคงต้องถอยออกไปมองภาพใหญ่ในระดับผังเมืองและภาค ที่สำคัญคือการมองแค่สุขภาพของคนเพียงอย่างเดียวคงไม่เพียงพออีกต่อไป แต่ต้องมององค์รวมครอบคลุมสุขภาพสัตว์และสุขภาพระบบนิเวศด้วย เป็นแนวคิดที่เรียกว่า One Health หรือสุขภาพหนึ่งเดียว

เราคงได้ยินกันมาเยอะแล้วว่าโควิดเป็นเพียงส่วนปลายของยอดภูเขาน้ำแข็ง แต่ก็เป็น super wake-up call ที่ทำให้เราต้องมาช่วยกันคิดและบูรณาการองค์ความรู้ของสาธารณสุขเพื่อให้เกิดการปฏิรูปหรือ The Great Reset ทางผังเมืองอีกครั้ง หลังจากแยกย้ายกันไปเมื่อต่อสู้กับอหิวาต์และวัณโรคได้เรียบร้อยเมื่อศตวรรษที่ 19

โควิดเป็นโรคติดเชื้อจากสัตว์สู่คนหรือ zoonotic diseases เช่น อีโบลา ซาร์ส เมอร์ส ซิกา ไข้เลือดออก มาลาเรีย ฯลฯ ข้อมูลจาก WHO ประเมินว่าประมาณ 60% ของโรคในมนุษย์มีจุดกำเนิดจากโรคติดเชื้อจากสัตว์สู่คน และ 75% หรือ 3 ใน 4 ของโรคอุบัติใหม่ในทศวรรษที่ผ่านมาเป็นโรคติดเชื้อจากสัตว์สู่คนทั้งสิ้น ซึ่งการเพิ่มขึ้นของโรคติดเชื้อจากสัตว์สู่คนในระดับน่าสะพรึงกลัวนี้ เป็นผลจากการที่เส้นแบ่งระหว่างเรากับสัตว์เริ่มบางลงเรื่อยๆ จากหลายปัจจัย

กระบวนการกลายเป็นเมืองและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลกก็ถูกระบุว่าเป็นปัจจัยอันดับต้นๆ  

จำนวนประชากรซึ่งเพิ่มขึ้นในเขตเมืองตลอดครึ่งศตวรรษที่ผ่านมาส่งผลให้เมืองต้องขยายตัวเพื่อรองรับจำนวนคน ทั้งยังมีความต้องการอาหารที่มากขึ้น ประกอบกับวัฒนธรรมบริโภคนิยม ทำให้เกิดการใช้ประโยชน์จากที่ดินเพื่อทำการเกษตรแบบเข้มข้น ทำปศุสัตว์โดยเฉพาะบริเวณใกล้ๆ เมือง ที่เรียกว่าเขต peri urban ซึ่งการขยายตัวของเมืองอย่างรวดเร็วโดยไม่ได้วางแผนไว้ทำลายทรัพยากรธรรมชาติอย่างมาก อีกทั้งการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศก็ทำให้แหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าหดตัวลง ผลักดันให้สัตว์ป่าเข้าใกล้คนมากขึ้น เป็นสาเหตุให้เชื้อโรคจากสัตว์ ไม่ว่าจากการดำเนินกิจการปศุสัตว์ การล่าสัตว์ หรือการค้าสัตว์ป่า แพร่กระจายสู่คนในเมืองได้ง่ายขึ้น หลังเข้าสู่เมืองก็กระโดดขึ้นเครื่องบินสู่กระแสโลกาภิวัตน์

หากกระบวนการกลายเป็นเมืองยังคงดำเนินต่อไปเป็นแนวโน้มใหญ่ของโลก และหากเรายังพัฒนาในแนวทางเดิมๆ ก็เป็นไปได้ว่าในอนาคตจะมีโรค X-disease เป็นโรคอุบัติใหม่ที่เกิดจากสัตว์แพร่สู่คน และอาจจะมีอาการรุนแรงกว่าโควิดแบบที่ในหนังดิสโทเปียหลายเรื่องได้จินตนาการไว้

คำถามสำคัญคือ ทำอย่างไรที่จะบูรณาการองค์ความรู้จากหลากหลายศาสตร์และสร้างความร่วมมือเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดครั้งต่อไปในเมือง โดยในขณะเดียวกัน เมืองก็ยังสามารถตอบสนองการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากรและความต้องการด้านอาหารได้

ตอนนี้ที่น่าจับตาคือความร่วมมือจากผู้เชี่ยวชาญหลายภาคส่วน ทั้งสุขภาพของมนุษย์ สุขภาพสัตว์ และสุขภาพสิ่งแวดล้อมในแนวทาง One Health ความร่วมมือระหว่างรัฐบาลและองค์กรที่เกี่ยวข้องในระดับโลก เช่น UNEP, WHO, FAO, OIE และ Wildlife Enforcement Networks ประเดิมที่การประชุมสุดยอด G20 และการประชุมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งสหประชาชาติ ปลายปี 2021 นี้


จากโลกถึงไทย โควิดเผยให้เราเห็นความเสี่ยงอะไรในเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพมหานคร

หากอ้างอิงผลการวิจัย UN-Habitat ที่ชี้ว่า การเข้าถึงบริการสาธารณสุข รวมทั้งประสิทธิภาพและความทันท่วงทีของมาตรการตอบสนองโรคระบาด คือปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อจำนวนผู้ติดเชื้อหรืออัตราการเสียชีวิตจากโควิด จะพบว่าสอดคล้องกับผลที่ปรากฏจากการจัดการวิกฤตโควิดในกรุงเทพมหานครตลอดปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะจากการแพร่ระบาดระลอกสาม ซึ่งสังคมได้อภิปรายกันอย่างกว้างขวางไปแล้ว คงไม่ขอกล่าวซ้ำ

สิ่งที่อยากเพิ่มเติมคือประเด็น urban weak spots หรือจุดเปราะบางของเมืองที่มักเป็นพื้นที่ที่อยู่อาศัยของกลุ่มผู้มีรายได้น้อยและคนชายขอบซึ่งมีข้อจำกัดในการรักษาสุขอนามัยเชิงป้องกันและการเว้นระยะห่างทางสังคม ไม่ว่าจะมาจากความเสื่อมโทรมและความแออัดของสภาพแวดล้อมอยู่อาศัย สมาชิกครอบครัวหลายคนนอนในห้องเดียวกัน การเข้าไม่ถึงสุขาภิบาลขั้นพื้นฐานและบริการสาธารณสุข อาหารการกินที่ไม่ดี รวมทั้งการพึ่งพาอาศัยระบบขนส่งสาธารณะในการเดินทางไปทำงาน พื้นที่เหล่านี้คือพื้นที่ที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อสูงกว่าปกติและทำให้เกิดการแพร่กระจายในวงกว้าง และหากมีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มมากขึ้นแบบก้าวกระโดดแล้ว ก็อาจจะนำไปสู่การกลายพันธุ์เป็นเชื้อโรคสายพันธุ์ใหม่ (new variant) ได้

สภาพการณ์นี้ก็มีงานวิจัยรองรับ งานที่น่าสนใจคือวิจัยของ UN-Habitat (2021) ที่ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างอัตราการติดเชื้อโควิด กับค่าสัมประสิทธิ์ Gini ในกลุ่มประเทศตั้งแต่ระดับรายได้น้อยถึงสูง ผลการศึกษาชี้ชัดว่า ความไม่เท่าเทียมกันทางสังคมส่งผลกระทบอย่างมากต่อการแพร่กระจายของโควิด สร้างความเสียหายและเป็นตัวเร่งให้เกิดการล่มสลายของระบบบริการสาธารณสุข

นอกจากความเหลื่อมล้ำภายในเมืองที่ทำให้การควบคุมการแพร่ระบาดทำได้ยาก เราก็ยังเห็นปัญหานี้ในระดับโลกด้วย ในขณะที่ประเทศพัฒนาแล้วสามารถจัดหาวัคซีนที่มีคุณภาพให้ประชาชนและเริ่มควบคุมการแพร่กระจายของเชื้อได้ แต่ก็ในอีกหลายประเทศ ประชาชนจำนวนมากยังเข้าไม่ถึงวัคซีนดีและยังมีการแพร่ระบาดสูงอยู่ กลายเป็นจุดกำเนิดของเชื้อสายพันธุ์ใหม่และก็เล็ดลอดกลับไปสร้างการแพร่ระบาดซ้ำแล้วซ้ำอีก อยากจะเปิดประเทศก็ยังไม่ได้ เพราะโลกก็ยังมีประเทศที่ยังติด hotspots สีแดงเหลืออยู่ เศรษฐกิจก็ติดหล่มกันอยู่แบบนี้ โควิดจึงต้องการการแก้ไขตั้งแต่ระดับความร่วมมือของนานาชาติ วัคซีนดีๆ ต้องไม่มีลิขสิทธิ์ ให้ประเทศยากจนผลิตฉีดเองได้ ซึ่งก็ยังไม่เกิด และระดับจุลภาค โรคจากสัตว์สู่คน จากชานเมืองสู่เมือง สู่โลกาภิวัตน์ เกี่ยวพันเชื่อมโยงกัน

ในกรณีของกรุงเทพมหานคร คลัสเตอร์แพร่ระบาดที่ผ่านมามักเกิดที่ชุมชนแออัดหรือที่พักอาศัยคนงาน ซึ่งกรุงเทพฯ มีชุมชนแออัดรวม 641 แห่ง มีประชากรราว 600,000 คน มีแคมป์คนงานในกรุงเทพฯ รวม 409 แห่ง มีจำนวนแรงงานประมาณ 62,000 คน พื้นที่เหล่านี้คือ urban weak spots พื้นที่เหล่านี้คือที่อยู่อาศัยของกลุ่มคนมีรายได้น้อย แรงงานนอกระบบที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจเมือง มีสภาพแออัดเสื่อมโทรม ตั้งทนโท่อยู่กลางเมือง กลางย่านเศรษฐกิจ แต่เราก็เหมือนเห็นเป็นเรื่องปกติ เห็นเป็นเรื่องไกลตัว ความทุกข์ของพวกเขา ไม่เกี่ยวกับเราที่อยู่ในคอนโด แต่ตอนนี้เราเห็นแล้วว่าวิกฤตกระทบทุกคน ยากดีมีจนรับพร้อมกันเต็มๆ แบบถ้วนหน้า

บทเรียนสำคัญที่ไม่ควรปล่อยผ่าน คือเราควรช่วยกันเรียกร้องให้มีการแก้ปัญหาและยกระดับคุณภาพชีวิตของพื้นที่ที่เป็น urban weak spots เหล่านี้ ไม่ใช่ไปลบเขาออกจากแผนที่เมืองนะ อย่าคิดง่ายๆ แบบนั้นเพราะเศรษฐกิจเมืองพึ่งพาแรงงานนอกระบบเหล่านี้ เราต้องช่วยกันเรียกร้องให้มีการยกระดับคุณภาพชีวิตของชุมชนแออัดในเมือง เรียนรู้จากประวัติศาสตร์ โรคระบาดทำให้เมืองลอนดอนสร้างมาตรฐานที่อยู่อาศัยใหม่ในชนชั้นแรงงาน สร้างให้เกิดความเท่าเทียมในการเข้าถึงสภาพแวดล้อมอยู่อาศัยที่ดี แก้ปัญหา hotspots อหิวาต์ หรือล่าสุดก็สิงคโปร์ที่ค้นพบว่าที่พักคนงานคือ hotspots ของโควิด รัฐบาลก็เร่งยกระดับคุณภาพชีวิตของคนกลุ่มนี้ ไม่ปล่อยผ่าน


เมืองต่างๆ มีเงื่อนไขและปัญหาแตกต่างกัน สำหรับกรุงเทพฯ มีโจทย์เฉพาะอะไรที่ต้องพัฒนาเพิ่มเติมหลังจากที่เราได้เห็นผลกระทบจากโควิด

กรุงเทพมหานครควรจะมีทิศทางไปในแนวเดียวกับเมืองอื่นๆ ที่ได้กล่าวมาข้างต้น จากนี้ไป อาจเป็นไปได้ว่าจะเกิดโรคระบาดหรือภัยพิบัติอื่นที่ทำให้เราต้องอยู่บ้านมากขึ้น เมืองเดี๋ยวปิดเดี๋ยวเปิด ดังนั้น สิ่งสำคัญคือย่านละแวกรอบบ้านของเรา ทุกครั้งที่เกิดโรคระบาด เมืองของเราจะหดเล็กลงเหลือแค่ย่าน รัศมีการใช้ชีวิตของเราก็หดลง ดังนั้น ย่านของเราจึงต้องมีการออกแบบวางผังสภาพแวดล้อม เพื่อให้เราสามารถกักตัวโดยยังคงรักษาสุขภาวะทางกายและจิตใจได้

เราควรเรียกร้องให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและเตรียมพร้อมเมืองและย่านของเรา ให้เกิดการออกแบบวางผังให้ย่านเราเป็นย่านที่น่าอยู่ ร่มรื่น มีสาธารณูปการเพียงพอสำหรับการใช้ชีวิต ไม่ว่าจะเป็นทางเท้าและพื้นที่สาธารณะที่ร่มรื่น มีร้านค้า มีตลาด มีบริการสาธารณสุข จบครบถ้วนภายในย่าน เพื่อให้สามารถดำเนินชีวิตอย่างใกล้ปกติที่สุดยามเกิดโรคระบาด 

พื้นที่สีเขียวเป็นประเด็นใหญ่ของกรุงเทพฯ จากการศึกษาของ UDDC พบว่า พื้นที่สีเขียวของกรุงเทพฯ มีเฉลี่ยประมาณ 6.8 ตารางเมตรต่อคน ซึ่งต่ำกว่ามาตรฐานขั้นต่ำขององค์การอนามัยโลกที่กำหนดไว้ว่าที่ 9 ตารางเมตรต่อคน ที่สำคัญ 6.8 ตารางเมตรนั้นทั้งหมดไม่ใช่สวนสาธารณะ แต่ได้นับรวมพื้นที่สีเขียวประเภทต่างๆ เช่น สวนเกาะกลางถนน สวนทางแยก เล็กๆ น้อยๆ ส่วนพื้นที่สวนสาธารณะที่คนเข้าไปใช้งานได้จริงๆ หากคำนวณกับประชากรตามทะเบียนราษฎร์ รวมทั้งจำนวนประชากรกลางวัน-กลางคืน (เช่น บ้านอยู่ปริมณฑลแต่เดินทางเข้ามาเรียน ทำงานในกรุงเทพฯ) จะมีไม่ถึง 1 ตารางเมตรต่อคน

นอกจากนี้ การเข้าถึงพื้นที่สวนสาธารณะของคนแต่ละเขตก็เหลื่อมล้ำกัน อย่างในเขตกลางเมือง เช่น ปทุมวัน สีลม สาทร มีสวนสาธารณะขนาดใหญ่อยู่หลายแห่ง เขตเหล่านี้ ประชาชนเข้าถึงพื้นที่สวนสาธารณะได้โดยการเดินเท้า แต่ในขณะที่มีอีกหลายเขตที่มีคนอยู่หนาแน่นแต่ไม่มีสวนสาธารณะใกล้บ้าน คือเข้าไม่ถึงด้วยการเดิน หรือระยะทางจากบ้านถึงสวนสาธารณะไกลกว่า 1.5 กิโลเมตรขึ้นไป (ประมาณ 2.5 – 5 กม.) มีอยู่ถึง 23 เขตหรือเกือบครึ่งหนึ่งของกรุงเทพมหานคร คือ หากจะไปสวนสาธารณะ ต้องขับรถไป เพราะเดินไปไม่ถึง อย่างบางเขตที่เป็นพื้นที่ up and coming เช่นเขตพระโขนง มีคอนโดฯ ขึ้นใหม่เป็นจำนวนมาก ผู้คนนิยมไปอยู่อาศัย แต่กลับไม่มีสวนสาธารณะ ลองคิดว่าหากเราต้องอยู่ในเขตที่มีคนอยู่เยอะๆ แต่ไม่มีพื้นที่สีเขียวใกล้บ้าน เวลาที่เมืองปิดแล้วกักตัวที่บ้าน จะอึดอัด ส่งผลต่อสุขภาพ

ดังนั้น หากกรุงเทพมหานครจะลงทุนงบประมาณกับการสร้างพื้นที่สวนสาธารณะ ควรเลือกนโยบายที่กระจายให้สวนสาธารณะมีทุกเขตทั่วเมือง แทนที่จะ reinvest งบกับสวนขนาดใหญ่ที่มีอยู่แล้วในเขตกลางเมือง เช่น สวนลุมพินี ที่ทำอยู่ตอนนี้ งบประมาณที่เตรียมไว้สำหรับการปรับปรุงสวนลุมพินีจำนวน 1,000 ล้านบาทตามข่าวประชาสัมพันธ์ หากเอาไปหารแบ่งในเขตที่มีคนอยู่หนาแน่นแต่ยังขาดสวนสาธารณะ ก็จะทำให้เขตเหล่านั้นได้งบประมาณเขตละ 30-40 ล้านบาท ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตคนได้จำนวนมาก  แก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำของการเข้าถึงพื้นที่สวนสาธารณะได้

นอกจากพื้นที่สีเขียวแล้ว โควิดทำให้เราต้องให้ความสำคัญในการพัฒนาให้เมืองเดินได้เดินดีอย่างจริงจัง ภาครัฐลงทุนงบสาธารณะมหาศาลไปกับการพัฒนาระบบรางในกรุงเทพฯ และปริมณฑล แต่เนื้อเมืองไม่ตาม ยังเดินไม่ได้ เดินไม่ดี โดยเฉพาะ first mile – last mile จากบ้านหรือที่ทำงานไปถึงจุดเปลี่ยนถ่ายการสัญจร ยังไม่สะดวก ไม่ปลอดภัย ไม่น่าเดิน คนก็ตัดสินใจใช้รถอยู่ดี แม้ว่ากรุงเทพฯ มีระบบราง แต่วิถีกรุงเทพฯ ยังคงเป็นวิถีชานเมือง คือรถยนต์ ถนนใหญ่ ห้างสรรพสินค้า พอโควิดระบาด ห้างปิด ก็ได้รับผลกระทบกันมาก ดังนั้น ระบบรางต้องมาพร้อมกับการปรับเปลี่ยนสภาพแวดล้อมที่สนับสนุนวิถีเมืองหรือ urban lifestyle ด้วย การเดินเท้า จักรยาน ตรอกซอกซอยน่าเดิน ร้านค้าเล็กๆ อยู่ได้

อีกประเด็นที่ท้าทาย คือการเรียนรู้ หากนักเรียนจะมีโอกาสที่ต้องเรียน from home มากขึ้น ประสบการณ์จากการสอนนิสิตผ่านช่องทางออนไลน์มาตั้งแต่ปีที่แล้ว สังเกตเห็นว่า การเรียนที่บ้านทำให้นิสิตบางคนเครียดและมีโอกาสซึมเศร้า คนที่มีลูก ลูกเรียนที่บ้าน แทนที่จะดีเหมือน home school แต่บางส่วนกลับกลายเป็นความเครียดของพ่อแม่ เนื่องจากวัฒนธรรมการเรียนของประเทศไทย คือฝากไว้ที่โรงเรียน 8 ชั่วโมงของการเรียนตั้งแต่ ป.1 ถึง ม.6 คือเรียนในห้องเรียนกับคุณครู

การลงทุนของเมืองหรือรัฐบาลกระจุกไว้ที่โรงเรียนซึ่งเป็นพื้นที่การศึกษาในระบบ แต่หากเราเปลี่ยนการศึกษาเป็นการเรียนรู้แล้ว ครึ่งหนึ่งเรียนในห้องเรียน ส่วนอีกครึ่งหนึ่งนักเรียนเรียนด้วยตัวเองจากพื้นที่การเรียนรู้ของเมือง เช่น ห้องสมุด พิพิธภัณฑ์ พื้นที่สาธารณะต่างๆ ความเครียดกว่า 8 ชั่วโมง ที่ต้องนั่งอยู่หน้าจอแล้วเรียนกับอาจารย์ก็อาจจะเปลี่ยนไป

นี่คือทิศทางของอนาคตการเรียนรู้ที่สถานการณ์โควิดตัวเร่งกระบวนการ ทำให้เกิดความต้องการในการเปลี่ยนแปลงของกระบวนทัศน์ที่มีต่อการเรียนรู้และการลงทุนจากภาครัฐและเอกชนเพื่อส่งเสริมให้เกิดพื้นที่เหล่านี้ให้แก่เมือง

ซึ่งในปัจจุบัน จากการศึกษาของ UddC พบว่า ในกรุงเทพมหานครมีพื้นที่ที่ส่งเสริมการเรียนรู้กระจุกตัวเฉพาะพื้นที่กลางเมือง เช่น เขตปทุมวัน บางรัก ธนบุรี คลองสาน เท่านั้น แต่พื้นที่อื่นๆ โดยเฉพาะชานเมืองนั้นแทบไม่มีเลย นี่ก็เป็นปัญหาความเหลื่อมล้ำที่ต้องแก้ไข

นี่เป็นความเหลื่อมล้ำของกรุงเทพฯ ที่ควรใช้โอกาสจากวิกฤตโควิดในการทบทวนและกระตุ้นให้เกิดการ reset ทางนโยบาย


หลายปัญหาเป็นเรื่องที่มีมาก่อนการระบาดของโควิด รวมถึงเป็นเรื่องที่อาจต้องพัฒนากันในระยะยาว ถึงตอนนี้อะไรคืออุปสรรคของกรุงเทพมหานครและเมืองอื่นๆ ของไทย

การเมืองคืออุปสรรคใหญ่ อำนาจในการกำหนดชีวิตและความเปลี่ยนแปลงของเมืองไม่ได้อยู่ที่เรา ในฐานะประชาชน เรากลับเข้าไม่ถึงอำนาจที่เราพึงมี และนี่คือสิ่งที่ต้องแก้ไขเปลี่ยนแปลง

ต้องเรียนว่างานฟื้นฟูเมืองที่พูดมาทั้งหมด เป็นงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งมีหน้าที่และความรับผิดชอบในการพัฒนาเมือง สร้างสรรค์สภาพแวดล้อมเมือง และจัดหาบริการสาธารณะที่ได้คุณภาพและเพียงพอแก่ประชาชน

ในกรณีของกรุงเทพมหานคร แม้จะเป็นหน่วยการปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษที่ผู้ว่าราชการมาจากการเลือกตั้งโดยตรง อีกทั้งมีงบประมาณมหาศาลเทียบเท่าบางกระทรวง แต่แท้จริงแล้ว การบริหารจัดการก็ขาดอิสระ ไม่ได้มีอำนาจเต็มในการพัฒนาพื้นที่ตัวเอง แต่ต้องประสานหรือขออนุญาตหน่วยงานอื่นๆ ยกตัวอย่าง พื้นที่ใต้ทางด่วนใจกลางเมือง ซึ่งคิดเป็นเนื้อที่กว่า 600 ไร่ หรือเท่ากับสวนลุมพินี 2 สวน ปัจจุบันมีสภาพเสื่อมโทรม กลายเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุง หากเป็นเมืองอื่นก็คงเอาไปพัฒนาเป็นพื้นที่สาธารณะ เป็นทางจักรยานไปแล้ว แต่กรุงเทพมหานครไม่สามารถทำได้โดยอิสระ ต้องขออนุญาตจากหน่วยงานเจ้าของที่ดินก่อน หรือแม้กระทั่งถ้าอยากจะปรับปรุงทางเท้าให้เมืองเดินได้เดินดี ก็ไม่สามารถทำได้ทันที เพราะต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายหน่วยงานในการเคลื่อนย้ายเสาไฟฟ้าระบบสายส่ง การวางท่อสาธารณูปโภค ตู้โทรศัพท์ สายโทรศัพท์ อินเทอร์เน็ตต่างๆ

นอกจากการขาดอิสระแล้ว ปัญหาสำคัญคือโครงสร้างการบริหารจัดการที่รวมศูนย์ไปที่กรุงเทพมหานคร ทำให้การปกครองท้องถิ่นระดับเขตที่ใกล้ชิดกับประชาชนที่สุดแทบไม่มีบทบาทในการพัฒนาฟื้นฟูเมือง ผู้อำนวยการเขตซึ่งเป็นผู้บริหารของสำนักงานเขตไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง แต่มาจากการแต่งตั้ง งบประมาณและอำนาจหน้าที่ก็มีจำกัด เช่น บำรุงรักษาหรือโครงสร้างพื้นฐานขนาดเล็ก อย่างการรักษาความสะอาด การปลูกต้นไม้ การจัดเก็บรายได้ แต่ไปไม่ถึงการพัฒนาฟื้นฟูเมืองที่เป็นภาพอนาคตระยะยาวของเขตของย่าน 


ถ้าเป็นเมืองในต่างจังหวัด บริบทหรือปัญหาที่เจอมีความเหมือนหรือต่างจากกรุงเทพฯ บ้างไหม

จากประสบการณ์ที่ผ่านมา พบว่าข้อได้เปรียบของเมืองในต่างจังหวัดคือ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีการทำงานที่ใกล้ชิดกับประชาชนและภาคส่วนต่างๆ ในพื้นที่ที่ดี เทศบาลรู้จักประชาชน ภาคเอกชน ภาคการศึกษา ภาคประชาสังคม ระยะห่างระหว่างเทศบาลกับภาคส่วนต่างๆ น้อยกว่ากรุงเทพฯ เมืองใหญ่บางแห่งอย่างขอนแก่นมีความก้าวหน้ามากๆ จุดประกายให้เกิดปรากฏการณ์การรวมกลุ่มกันของนักธุรกิจหรือสมาคมผู้ประกอบการที่มีศักยภาพ ร่วมกันจัดตั้งองค์กรรูปแบบใหม่ๆ เช่น บริษัทพัฒนาเมือง เพื่อพัฒนาฟื้นฟูเมือง พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต สังคม และเศรษฐกิจของท้องถิ่น แต่หากเราศึกษาเบื้องหลังความสำเร็จเหล่านี้ พบว่าไม่ได้เกิดขึ้นโดยง่าย แต่ต้องใช้ทรัพยากร ความพยายาม ความอึด จึงอาจเกิดขึ้นได้ยากหรือไม่ได้เลยในเมืองเล็กๆ ที่มีปัจจัยและทรัพยากรจำกัด

นอกจากนี้บ่อยครั้ง การตัดสินใจในระดับท้องถิ่นก็ถูกแทรกแซงด้วยหน่วยงานระดับส่วนกลางหรือภูมิภาค ยังต้องรอความเห็นชอบจากภาครัฐส่วนกลาง งบประมาณก็จำกัด เวลาเกิดวิกฤต มันจะเห็นปัญหาจุดนี้ชัด ไม่ว่าจะโควิดหรือน้ำท่วม การรวมศูนย์อำนาจในการจัดการมันอุ้ยอ้าย ล่าช้า ไร้ประสิทธิภาพ ส่วนกลางยังหวงอำนาจ หวงงบประมาณไม่ให้ท้องถิ่นจัดการเอง มันก็ลากถ่วงความเจริญกันไปแบบนี้ การพัฒนาเมืองก็เช่นกัน เป็นเรื่องของท้องถิ่น หากย่านดี เมืองก็ดี หากเข้มแข็งจากหน่วยย่อย สังคมและประเทศก็เข้มแข็ง


อยากขอทิ้งท้ายว่าเมืองส่งผลกับ well-being ของผู้คน และส่งผลอย่างลึกซึ้งช่วงวิกฤตอย่างโรคระบาด

โควิด-19 ทำให้เห็นว่า เมืองที่มีการออกแบบวางผังไว้ดี ช่วยให้ชุมชนและสังคมรับมือกับวิกฤตสุขภาพและความเครียดได้ดีขึ้น ยังมีวิถีชีวิตที่กระฉับกระเฉง และเศรษฐกิจเมืองยังพอดำเนินต่อไปต่อได้ ในทางกลับกัน เมืองที่เหลื่อมล้ำสูง การเข้าถึงบริการสาธารณะขั้นพื้นฐานไม่เท่าเทียม ส่งผลกระทบต่อการระบาดของโรค สร้างความเสียหายและเป็นตัวเร่งให้เกิดการล่มสลายของระบบบริการสาธารณสุข

เมืองที่เราเห็นว่ามีการออกแบบวางผังที่ดี เมื่อ 2 ศตวรรษที่ผ่านมา เขาถือโอกาสใช้วิกฤตโรคระบาดในการ reset เมือง ปัญหาเมืองของไทยน่าจะซับซ้อน ทับถม หมักหมม เหมือนก้นแม้น้ำเทมส์ก่อนการปฏิรูป แต่หากเราพลาดในการใช้โอกาสนี้มาร่วมเรียนรู้และร่วมกันผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงกับเมืองอย่างมีความหมาย อนาคตของเราอาจเต็มไปด้วยความเสี่ยง และความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตจากโรคระบาด X อาจจะหนักหนาสาหัสกว่าและยาวนานกว่าที่เราทุกคนกำลังเผชิญอยู่ ณ ขณะนี้ก็ได้


ผลงานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือระหว่าง แผนงานบูรณาการยุทธศาสตร์เป้าหมาย (Spearhead) ด้านสังคม คนไทย 4.0 สนับสนุนโดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ประจำปีงบประมาณ 2563 และ The101.world

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save