fbpx
9 ข้อเสนอสำหรับการเข้าใจการเคลื่อนไหว การจัดการ และ ‘การ์ด’ การชุมนุม

9 ข้อเสนอสำหรับการเข้าใจการเคลื่อนไหว การจัดการ และ ‘การ์ด’ การชุมนุม

อุเชนทร์ เชียงเสน เรื่อง
ปทิตตา วาสนาส่งชูสกุล ภาพประกอบ

หลังจากผ่านการเคลื่อนไหวผ่านมาระยะหนึ่ง ดูเหมือนว่าขบวนการเรียกร้องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์กำลังเผชิญหน้าปัญหาหลายอย่าง หนึ่งในนั้นคือประเด็นเกี่ยวกับ ‘การ์ด’ ซึ่งที่จริงน่าจะหาทางออกได้ไม่ยากนักเพราะมีเป้าหมายในการต่อสู้ร่วมกัน แต่กลับพบว่ายากกว่าที่คิดในการที่จะหาข้อสรุปหรือการยอมรับร่วมกันได้ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเรื่องการทะเลาะหรือขัดแย้งกันเอง การกระทบกระทั่งกับผู้ชุมนุมหรือผู้สื่อข่าว บางส่วนก็ถูกวิจารณ์ว่าขาดวินัยและไม่สามารถควบคุมอารมณ์ของตัวเองได้ระหว่างปฏิบัติงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งล่าสุดการ์ดบางส่วนประกาศว่า “ไม่ได้ยืนข้างแกนนำแต่ยืนข้างพี่น้องประชาชน” ทั้งหมดนี้ได้สร้างความกังวลและคำถามให้กับผู้เข้าร่วมชุมนุมว่าจะมีผลในทางปฏิบัติอย่างไร หากการ์ดกลายเป็น ‘กองกำลังอิสระ’ ที่ไม่ขึ้นตรงต่อทิศทางหลักของผู้จัดการชุมนุมในแต่ละครั้ง  การทำหน้าที่แบบนี้จะยังถือว่าเป็นการสนับสนุนหรือขัดขวางการชุมนุมกันแน่ หรือจะกลายเป็นภัยคุกคามต่อการชุมนุมเสียเอง

เบื้องหลังของปัญหานี้มีหลายปัจจัยที่ทับซ้อนกัน ทั้งที่มาของการเคลื่อนไหว ความเข้าใจต่อการเคลื่อนไหว ความสามารถในการจัดการความขัดแย้งภายใน และบุคลิกลักษณะส่วนตัวของผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง การรับมือกับปัญหานี้จึงเป็นความท้าทายและจะกำหนดอนาคตของขบวนการเคลื่อนไหว เพราะ 6 เดือนของการต่อสู้นี้เป็นเพียงบทนำของการเดินทางที่ยาวไกล หากไม่สามารถจัดการได้ดีพอ ความหวังของผู้ร่วมเส้นทางก็จะถูก ‘เท’ หรือไฮเจ็คอย่างไม่น่าเชื่อด้วยเรื่องราวแบบนี้ได้เหมือนกัน ในฐานะหุ้นส่วนแม้จะเพียงเล็กน้อยและผู้ร่วมเส้นทางที่ตระหนักว่าไม่ควรให้ผู้จัดการชุมนุมแบกภาระหนักอึ้งนี้ไว้เพียงฝ่ายเดียว จึงขอนำเสนอความเข้าใจการเคลื่อนไหว แนวทางการจัดการและการ์ดการชุมนุม เพื่อสร้างข้อถกเถียงและแนวทางการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น โดยเริ่มต้นจากภาพรวม ไล่เรียงลงไปในรายละเอียด สอดรับกันเป็นลำดับ 9 ข้อเสนอ ดังต่อไปนี้

  1. กำเนิดและลักษณะสำคัญขบวนการเคลื่อนไหว

เราอาจจะถือได้ว่าสายธารของการเคลื่อนไหวนี้ต่อเนื่องมาตั้งแต่รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ที่ทำให้ผู้คน ‘ตาสว่าง’ ต่อการแทรกแซงทางการเมืองของ ‘ผู้มีบารมีนอกรัฐธรรมนูญ’ รวมไปถึงสถานะและอำนาจของสถาบันกษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตย ดังนั้นจึงมีผู้เข้าร่วมจำนวนไม่น้อยที่เติบโตมาจากกลุ่มต่อต้านรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 และรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557  แต่หากกล่าวอย่างเคร่งครัดแล้ว ทั้งในมิติของผู้คนที่มีบทบาทและข้อเรียกร้องการเคลื่อนไหว ขบวนการนี้ก่อตัวขึ้นเมื่อต้นปี 2563 หลังจากการยุบพรรคอนาคตใหม่ที่ถูกมองว่าเป็น ‘ความหวัง’ ของการสร้างความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง แต่หลังจากนั้น พรรคการเมืองกลับมีความสัมพันธ์กับพวกเขาน้อยมากและกลับต้องเต้นตามจังหวะการเคลื่อนไหวเสียด้วยซ้ำ

ขบวนการเคลื่อนไหวนี้เกิดจากการตื่นตัวของกลุ่มที่หลากหลายและอิสระต่อกันตั้งแต่ต้น ในช่วงแรก ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม 2563 ขบวนการมักจัดกิจกรรมในรูปแบบ ‘ขิง’ และเน้นการอภิปรายถกเถียงกันในรั้วมหาวิทยาลัยทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ต่อมา นับตั้งแต่เดือนกรกฎาคม ขบวนการได้ตกผลึกว่าจำเป็นต้องลงถนนและเรียกร้องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ด้วยเงื่อนไขแบบนี้ และการขิงกันเอง พวกเขาจึงสรรค์สร้างกิจกรรมในรูปแบบใหม่ได้อย่างหลากหลายและน่าอัศจรรย์ ภายใต้ข้อเรียกร้องร่วมกัน 3 ข้อ โดยมีข้อเสนอ ‘ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์’ เป็นจุดเด่นและรวมศูนย์จิตใจของผู้เข้าร่วมขบวนการ

  1. ‘การนำ’ และความรับผิดชอบ

แม้ขบวนการเคลื่อนไหวจะประกาศว่าทุกคนเป็น ‘แกนนำ’ และมีหุ้นส่วนอย่างเท่าเทียมกัน แต่พลวัตการต่อสู้ก็ทำให้เกิด ‘การนำ’ ในทางความคิดและการเคลื่อนไหวโดยธรรมชาติ เพราะผู้เข้าร่วมยอมรับความสามารถในการเรียบเรียงและนำเสนอข้อเรียกร้อง และวิธีการเคลื่อนไหว การนัดหมายการชุมนุมในนามของกลุ่มเยาวชน/ประชาชนปลดแอก-แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม-คณะราษฎร 2563 กลายเป็นการชุมนุมใหญ่และส่งผลสะเทือน ขณะเดียวกันกลุ่มอื่นๆ ก็จัดการชุมนุมของตนเองอย่างต่อเนื่อง รับลูกสอดประสานกัน โดยไม่ต้องรอฟังคำสั่งจากใคร ในแง่นี้ การเคลื่อนไหวโดยภาพรวมจึงมีลักษณะเป็นเครือข่ายที่หลวมๆ ที่มีเป้าหมายร่วมกัน โดยที่แต่ละกลุ่มต่างรับผิดชอบการชุมนุมของตนเอง

ในความเป็นจริง ไม่ว่าการชุมนุมจะเล็กหรือใหญ่ จำเป็นต้องมีแกนนำ ซึ่งทำหน้าที่เป็นผู้วางแผนและนัดหมายการชุมนุมแต่ละครั้ง  โดยที่แกนนำจะต้องรับผิดชอบต่อสิ่งที่เกิดขึ้นมากกว่าคนอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นการรับผิดชอบทางกฎหมาย หากมีกรณีการทำผิดกฎหมายหรือถูกดำเนินคดี หรือการรับผิดชอบต่อสาธารณะ เมื่อถูกตรวจสอบหรือวิพากษ์วิจารณ์จากฝ่ายต่างๆ  ด้วยเหตุนี้ พวกเขาย่อมมีความชอบธรรมในการจัดการหรือบริหารการชุมนุมที่ตัวเองจัดขึ้น รวมทั้งการออกกฎเกณฑ์กติกาและข้อตกลงบางอย่างเพื่อบรรลุเป้าหมายที่วางไว้ในแต่ละครั้ง

ประเด็นนี้เป็นเรื่องพื้นฐานมาก เพราะถึงที่สุดแล้วที่ชุมนุมก็เหมือนกับชุมชนแบบต่างๆ ที่จำเป็นต้องมีระเบียบแบบแผนในการอยู่ร่วมกัน

  1. ผู้เข้าร่วมและเหตุผลของการเข้าร่วม

ขบวนการเคลื่อนไหวเป็นการรวมตัวของปัจเจกชนที่มีอิสระและโดยสมัครใจ ทุกคนเข้าและออกเมื่อใดก็ได้ ผู้คนจะตัดสินใจเข้าร่วมกิจกรรมที่จัดขึ้นด้วยตัวของพวกเขาเอง เช่นเดียวกับผู้สนับสนุนหรือผู้บริจาค พวกเขามักจะพิจารณาจากปัจจัยหลัก คือ 1) ข้อเรียกร้อง แนวทางและกิจกรรมการเคลื่อนไหว 2) ความน่าเชื่อถือหรือการให้ความยอมรับในผู้จัดการชุมนุม 3) จังหวะ โอกาส หรือความสามารถของแต่ละคน ดังนั้น แต่ละกลุ่มสามารถจัดการเคลื่อนไหวได้ด้วยตัวเองได้อย่างอิสระ ยิ่งเห็นแย้งกับกลุ่มหลัก ยิ่งจำเป็นต้องเสนอทางเลือกใหม่ขึ้นมา ในแง่นี้ ประชาชนจะได้ประโยชน์จากการมีทางเลือกที่หลากหลาย และสามารถคิดคำนวณเหตุผลในการเข้าร่วมเสียใหม่

เมื่อเป็นเช่นนี้ คำอธิบายว่าไม่อยู่ข้างแกนนำแต่อยู่ข้างมวลชนก็จะดูขัดหูเล็กน้อย เพราะผู้ร่วมชุมนุมตัดสินใจจากทิศทางการเคลื่อนไหวที่ถูกกำหนดแกนนำหรือผู้จัดการชุมนุมในแต่ละครั้ง

ข้อเสนอว่าหากมีความเห็นแย้งแล้วให้เสนอตัวทางเลือกให้แก่ผู้ชุมนุมนี้อยู่บนฐานของการเคารพความเห็นต่างและการใช้วิจารณาณของผู้เข้าร่วมที่แท้จริง เพราะบางครั้งผู้คนไม่สามารถพูดคุยและหาข้อสรุปร่วมกันได้ และข้อเสนอนี้ไม่ได้เหมือนกับ ‘เผด็จการ’ หรือการขับไล่ไส่ส่งผู้คนอย่างที่คุ้นเคยกันว่า “ใครไม่รักพ่อ/ชาติ ก็ออกจากบ้าน/ประเทศนี้ไป” เพราะมนุษย์ไม่สามารถเลือกเกิดหรือสังกัดในลักษณะนั้นได้ แต่สามารถเลือกเข้าร่วมการชุมนุมและจัดการชุมนุมเองได้

  1. ‘ความรุนแรง’ ไม่อาจล้มรัฐบาล ทุกองค์ประกอบต้องขึ้นต่อทิศทางหลัก

การเคลื่อนไหวในอดีตมักมีสูตรหรือ ‘ความเชื่อลึกๆ’ ว่าความรุนแรงที่เกิดจากฝ่ายรัฐบาลจะนำไปสู่การล้มรัฐบาลในที่สุด ดังนั้นผู้เข้าร่วมขบวนการบางกลุ่มจึงไม่หลีกเลี่ยงที่จะเผชิญความรุนแรง หรือบางครั้งก็อาจกระตุ้นให้รัฐบาลใช้ความรุนแรงด้วยซ้ำ แต่เมื่อศึกษาและทำความเข้าใจพลวัตการเคลื่อนไหวมากขึ้น จะพบว่าความจริงไม่ได้เป็นเช่นนั้น โดยมีเลือดของคนเสื้อแดงเป็นประจักษ์พยาน การปราบปรามที่รุนแรงของรัฐบาลนั้นไม่อาจล้มรัฐบาลด้วยตัวมันเอง หากไม่มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างพันธมิตร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความแตกแยกในหมู่ชนชั้นปกครอง และการถอนการสนับสนุนจากบุคลากรฝ่ายที่เกี่ยวกับการปราบรามและพลเรือนภายในรัฐด้วย

การเคลื่อนไหวภายใต้การนำของคณะราษฎร 2563 ที่อยู่บนฐานของปฏิบัติการที่ไร้ความรุนแรงอย่างค่อนข้างเคร่งครัด รวมไปถึงการหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้าและการกระตุ้นให้เกิดความรุนแรงจึงน่าสนใจอย่างยิ่ง หลายเหตุการณ์ที่ผ่านมาได้ช่วยให้ผู้เข้าร่วมการชุมนุมมั่นใจในเรื่องนี้  อย่างเช่นเหตุการณ์ในช่วงเช้ามืดของวันที่ 15 ตุลาคม เมื่อคาดว่าเจ้าหน้าที่จะใช้ความรุนแรง แกนนำก็ประกาศสลายการชุมนุม เคลื่อนย้ายผู้ชุมนุมออกจากพื้นที่ และยอมให้เจ้าหน้าที่จับกุมในที่สุด นี่แสดงถึงความรับผิดชอบต่อผู้ชุมนุมและความยึดมั่นในแนวทางการชุมนุมอย่างแน่วแน่ของแกนนำ ต่างจากแกนนำการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และกลุ่มกปปส. ในอดีต ที่ประกาศอารยขัดขืน แต่ไม่ยอมรับผลจากการละเมิดกฎหมาย และนี่เป็นเหตุการณ์สำคัญที่ทำให้พวกเขาได้รับการยอมรับในการนำ

เมื่อทิศทางการเคลื่อนไหวของกลุ่มเป็นแบบนี้ และผู้ชุมนุมก็เข้าร่วมการเคลื่อนไหวเพราะยอมรับในการนำลักษณะนี้ องค์ประกอบอื่นทั้งหมดของการเคลื่อนไหวย่อมถูกกำกับชี้นำด้วยแนวทางนี้เช่นกัน การหันเหหรือพยายามเปลี่ยนทิศทางไปจากเดิมโดยไม่ประกาศให้ผู้เข้าร่วมการชุมนุมรู้ล่วงหน้าเพื่อประกอบการตัดสินใจในการเข้าร่วมถือว่าไม่ยุติธรรมและไม่เคารพผู้เข้าร่วม

  1. ปรับเปลี่ยนความคิดเกี่ยวกับการชุมนุมและการ์ด

นอกจากข้อเสนอเรื่องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์แล้ว การจัดการชุมนุมที่สนุกสนาน (ที่ไม่ได้หมายความว่าไม่จริงจัง) สร้างสรรค์ และหลากหลาย รวมไปถึงการจัดพื้นที่การชุมนุมให้เป็นพื้นที่ปลอดภัย ถือเป็นจุดเด่นและดึงดูดผู้เข้าร่วมทุกเพศและวัย (มีผู้เข้าร่วมอายุต่ำกว่า 18 ปี จำนวนมาก) แต่เมื่อเริ่มเผชิญหน้ากับการปราบปรามจากรัฐ การเพิ่มขึ้นของผู้เข้าร่วม และสิ่งที่เรียกว่า ‘การ์ด’ ที่ปรากฎปัญหาดังที่กล่าวมา ทำให้ความปลอดภัยในการชุมนุมเริ่มถูกตั้งคำถามจากปัจจัยภายในเสียเอง

ด้วยภาพลักษณ์ของการ์ดที่จินตนาการจากภาพยนตร์ฮอลลีวูด และความกลัวจากการปราบปรามของรัฐ  ผู้ชุมนุมบางส่วน รวมไปถึงตัวการ์ดเองจึงมักจะถูกครอบงำด้วย ‘ไวยากรณ์ของสงคราม’ ซึ่งมองความมั่นคงที่อยู่บนฐานของการต่อต้านการคุกคามจากภายนอก จนนำไปสู่ความหวาดกลัวและหวาดระแวง ความหมกมุ่นกับการเผชิญหน้า พร้อมลุยกับเจ้าหน้าที่รัฐ รวมทั้งการคิดถึงการใช้ความรุนแรงบางอย่างเพื่อตอบโต้ วิธีคิดแบบนี้จะให้การชุมนุมให้ความสำคัญกับการ์ดและ ‘ความเป็นชายของการ์ด’ มากเกินไป เมื่อผนวกกับการขาดการจัดการที่ดี ก็จะนำไปสู่ปัญหาที่ร้ายแรงมากขึ้นในอนาคต

หากการต่อสู้ของกลุ่มมีความชัดเจนว่าอยู่บนฐานของปฏิบัติการไร้ความรุนแรง ไม่เน้นการเอามวลชนปะทะเพื่อหวังล้มรัฐบาล และตระหนักว่าการต่อสู้ครั้งนี้มีมเดิมพันเป็น ‘อำนาจรัฐ’ ต้องการปรับเปลี่ยนอำนาจรัฐเสียใหม่ ซึ่งยากและต้องใช้ระยะเวลาที่ยาวนาน การต่อสู้จะต้องเน้นการยกระดับในเชิงข้อถกเถียงสาธารณะ การต่อสู้ในทางวาทกรรม หรือการดันเพดาน หรือจะเรียกอะไรก็แล้วแต่ การเคลื่อนไหวแบบนี้จะเป็นการเผชิญหน้าในเชิงประเด็นไม่ใช่เชิงกายภาพ การชุมนุมก็ควรลดจำนวนหรือยกเลิกการ์ดในลักษณะนี้เสีย

  1. หน้าที่ใหม่และกติการ่วม

ผู้เขียนเห็นด้วยกับข้อเสนอของหลายท่านที่เสนอให้ปรับเปลี่ยนหน้าที่ของการ์ด แต่อยากเน้นย้ำว่าให้เปลี่ยนชื่อไปพร้อมกันด้วย เพราะ ‘คำ’ กำกับและจำกัดความเข้าใจต่อหน้าที่รับผิดชอบ จากคำว่า ‘การ์ด’ ที่มักจะผูกโยงกับวิธีคิดตามที่ได้กล่าวไว้ในหัวข้อที่แล้ว ผู้เขียนขอเสนอให้ลองเปลี่ยนมาใช้คำว่า ‘ผู้อำนวยความสะดวกการชุมนุม’ แทน ซึ่งไม่ได้มีนัยถึง การเผชิญหน้าหรือลุยกับเจ้าหน้าที่รัฐ แต่มุ่งเน้นการป้องกันและระงับยับยั้งความรุนแรง หรือลดเงื่อนไขความรุนแรงที่อาจเกิดจากความโกรธหรือความกลัวของผู้ชุมนุมเองเมื่อต้องเผชิญหน้ากับแรงกดดันหรือการยั่วยุจากภายนอก รวมทั้งคอยให้คำแนะนำและนำปฏิบัติการต่อต้านการใช้ความรุนแรงด้วยวิธีการไร้ความรุนแรง อย่างการแสดงตนว่าไม่มีอาวุธหรือจะไม่ตอบโต้ หรือยอมให้เจ้าหน้าที่จับกุมได้ ดังนั้นผู้ที่ทำหน้าที่นี้ไม่จำเป็นต้องเป็นผู้ชายที่แข็งแรงเท่านั้น แต่อาจเป็นตัวแทนของคนทุกเพศทุกวัย มีคุณสมบัติอื่นที่หลากหลายได้ และที่สำคัญคือมีความเสียสละอุทิศตนและระเบียบวินัย

ผู้คนเหล่านี้ไม่เพียงแต่ต้องสามารถควบคุมตนเอง แต่ยังต้องไม่ตกอยู่ใต้อิทธิพลของความกลัวและต้องสามารถนำปฏิบัติการได้ สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นได้ด้วยกระบวนการ ‘ฝึกอบรม’ เพื่อสร้างความเข้าใจการทำงานของปฏิบัติการไร้ความรุนแรง รวมทั้งแนวทางและทักษะในการปฎิบัติงาน กติกาหรือข้อห้ามต่างๆ กระบวนการตัดสินใจ การตรวจสอบการทำงาน และการแก้ไขปัญหา

ไม่ใช่แค่ผู้อำนวยความสะดวกการชุมนุมเท่านั้นที่ต้องผ่านการอบรม แต่ผู้เข้าร่วมชุมนุมก็ต้องผ่านการอบรมด้วยเช่นกัน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการปฏิบัติ หากมีข้อจำกัดในช่วงแรก ผู้จัดการชุมนุมในแต่ละครั้งควรประกาศชี้แจงถึงความเป็นได้ต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น และแนวทางปฏิบัติเพื่อตอบสนองกับเหตุการณ์ให้ทุกส่วนทราบ เพื่อเป็นแนวทางในการปฏิบัติร่วมกันอย่างชัดเจน

  1. การคัดเลือกและการฝึกอบรม

การรวบรวมผู้คนมาทำหน้าที่นี้มาจากความสมัครใจ ดังนั้นข้อมูลทั่วไปและปูมหลังของผู้เข้าร่วม จึงเป็นข้อมูลที่ต้องใช้ในกระบวนการนี้ โดยอาจจะมีการสัมภาษณ์เบื้องต้น การทำเช่นนี้จะเป็นการช่วยกรองคนที่เหมาะสมและป้องกันการแทรกแซงได้ค่อนข้างดี

ต้องเน้นย้ำว่าผู้อำนวยความสะดวกการชุมนุมไม่ได้ถูกใช้เพื่อทำผิดกฎหมายในเชิงก่ออาชญากรรม ติดอาวุธ ใช้ความรุนแรง หรือก่อการร้าย ดังนั้นหากคนกลุ่มนี้จะมีความผิดก็เป็น ‘คดีการเมือง’ ในระดับเดียวกับแกนนำ ซึ่งผู้เข้าร่วมการเคลื่อนไหวทุกระดับไม่สามารถที่จะหลีกเลี่ยงความเสี่ยงในเรื่องนี้ได้ตั้งแต่ต้น กระบวนการนี้อาจมีผู้เข้าร่วมน้อยในช่วงแรก แต่จะช่วยให้มีประสิทธิภาพและไว้วางใจได้มากกว่า อย่างไรก็ตามการต่อต้านการปราบปรามไม่ได้เป็นหน้าที่แค่ของผู้อำนวยการการชุมนุมเท่านั้น แต่ถือเป็นปฏิบัติการของผู้เข้าร่วมชุมนุมที่มีศักยภาพทั้งหมด โดยมีผู้อำนวยความสะดวกการชุมนุมคอยทำหน้าที่อำนวยการให้เป็นเช่นนั้น

  1. ‘อัตลักษณ์’ การ์ดอาชีวะ

เมื่อมีปัญหาอย่างที่ตกเป็นข่าว ทุกฝ่ายพุ่งเป้าไปที่การ์ดอาชีวะ ทั้งที่ปัญหาในลักษณะนี้อาจเกิดขึ้นได้กับทุกกลุ่ม แต่ประสบการณ์ของผู้เขียนเองค่อนข้างประทับใจกับกลุ่มนี้ ภาพของนักเรียนอาชีวะผมยาวพูดจาสุภาพถือถุงดำร่วมกับนักเรียนมัธยมเดินเก็บขยะในที่ชุมนุมปรากฎในความคิดของผู้เขียนทุกครั้งเมื่อครุ่นคิดเรื่องนี้ การรับมือกับการสลายการชุมนุมครั้งที่ดีที่สุดครั้งหนึ่งคือเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม ที่แยกปทุมวัน กลุ่มคนที่อยู่ในแนวแผงเหล็กแล้วค่อยๆ ถอยร่นมาทางทางจุฬาฯ เลยหน้ามาบุญครองจนถึงป้อมตำรวจและตรึงเอาไว้จนประกาศยุติการชุมนุมแล้วแยกย้ายกันนั้น ในกลุ่มคนที่เหลืออยู่เพียงไม่กี่คนในตอนนั้น มี 2 คนเป็นนักเรียนอาชีวะจากย่านมีนบุรี ดังนั้นการเข้าร่วมของพวกเขาถือว่ามีความสำคัญกับการเคลื่อนไหวนี้มากพอกับกลุ่มอื่นๆ

การที่การ์ดอาชีวะถูกมองในแง่ลบเกิดจากการให้ภาพ ‘อัตลักษณ์’ ที่แช่แข็งตายตัว เช่นถูกมองว่ามีทักษะในการพูดหรือสื่อสารน้อย ขาลุย ไม่กลัวความรุนแรง พร้อมเผชิญหน้า ข้อน่าสังเกตคือ กระทั่งการพยายามโรแมนติไซส์อาชีวะด้วยความปรารถนาดี ก็ยังมีส่วนในการผลิตซ้ำอัตลักษณ์นี้ ซึ่งไม่ส่งเสริมศักยภาพและเป็นการดูแคลนพวกเขาโดยไม่รู้ตัว เราต้องตระหนักว่าไม่มีอะไรเป็นแก่นแท้และไม่เปลี่ยนแปลง ‘อัตลักษณ์อาชีวะ’ ก็เช่นกัน หากไม่อคติจนเกินไปย่อมเห็นได้ว่า พวกเขาสามารถทำหน้าที่ต่างๆ ที่หลากหลายได้ แม้กระทั่งการจัดการชุมนุมด้วยตัวเอง เช่น การชุมนุมที่จัดโดยกลุ่ม ‘ฟันเฟืองธนบุรี’ เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม ก็เป็นไปด้วยความเรียบร้อย

การได้เข้าร่วมการเคลื่อนไหว โดยทำงานร่วมกับกลุ่มอื่น การเข้ากระบวนการฝึกอบรมกับกลุ่มอื่นจะช่วยให้เกิดความเข้าใจ การยอมรับ และเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการขัดเกลาทางสังคมเพื่อข้ามพ้นอัตลักษณ์แบบเดิม รวมทั้งยังช่วยสร้างเครือข่ายสำหรับกิจกรรมชีวิตอย่างอื่นที่กว้างขวางออกไปในอนาคตได้

  1. การสื่อสารและการตรวจสอบถ่วงดุล

ผู้จัดการชุมนุมย่อมต้องเผชิญหน้ากับข้อจำกัดสารพัด ที่จะบังคับให้คนอื่นทำตามได้จริงๆ วิธีการแก้ไขที่ดีอย่างหนึ่งคือการสื่อสารข้อติดขัดต่างๆ เพื่อปรึกษาหารือ ขอความเห็นจากผู้เข้าร่วม และเมื่อมีข้อสรุปอย่างใดอย่างหนึ่งแล้ว ก็ควรแจ้งการตัดสินใจพร้อมเหตุผลต่างๆ ให้ประชาชนตัดสินใจต่อไปว่าจะเข้าร่วมหรือถอนการสนับสนุน

กฎกติกาหรือข้อตกลงที่ได้มาจากระดมความเห็นของฝ่ายต่างๆ ที่ตกลงปลงใจจะเดินทางด้วยกัน เช่น ข้อตกลงในการจัดการชุมนุม และข้อตกลงกับผู้สื่อข่าวภาคสนาม ต้องถูกประกาศออกมาอย่างชัดเจน เพื่อให้ทุกส่วนรู้ว่าจะจัดการอย่างไร แทนที่จะขึ้นอยู่กับวิจารณญาณของใครคนใดคนหนึ่งมากเกินไป รวมทั้งควรมีป้ายระบุชื่อส่วนหรือรหัสของผู้ปฏิบัติงาน เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชน สื่อมวลชนเข้าร่วมตรวจสอบหรือร้องเรียนเกี่ยวกับการทำงานได้

ทั้งนี้ผู้เข้าร่วมเองก็ต้องมีบทบาทในการในการติดตามตรวจสอบการทำงานของส่วนต่างๆ อย่างแข็งขันเช่นกันว่าอยู่ในร่องในรอยตามที่ประกาศเชิญชวนหรือไม่ รวมทั้งวิพากษ์วิจารณ์หรือร่วมกันบอยคอตสิ่งที่เห็นว่าเป็นปัญหา

9 ข้อเสนอนี้ เป็นเพียงกรอบความคิดคร่าวๆ ที่ผู้เขียนทดลองเสนอให้กับผู้จัดการชุมนุมและผู้เข้าร่วมการชุมนุมที่จัดโดยคณะราษฎร 2563 เป็นหลัก แต่ก็สามารถประยุกต์ใช้กับกลุ่มอื่นมีแนวทางต่างออกไปได้เช่นกัน แม้หลายคนอาจจะไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอ แต่การถกเถียงโต้แย้งด้วยเหตุผลน่าจะมีส่วนในการพัฒนาข้อเสนอที่ดีขึ้นและนำไปสู่การปฏิบัติจริงได้ ขอเพียงแต่ไม่เริ่มต้นด้วยการปฏิเสธว่า “เป็นไปไม่ได้” เพราะการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ รวมทั้งความพยายามเปลี่ยนแปลงสังคมไทยในขณะนี้ เริ่มต้นจากการปฏิเสธความเชื่อที่เคยมีมา

ทั้งนี้ ผู้เขียนเข้าใจดีว่าขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมมีกิจกรรมและวิธีการต่อสู้ที่หลากหลาย การชุมนุมเป็นเพียงรูปแบบหนึ่งของปฏิบัติการไร้ความรุนแรงเท่านั้น ดังนั้นการสร้างสรรค์กิจกรรมในรูปแบบที่หลากหลายมากขึ้น บนเวทีที่หลากหลายมากขึ้น จึงเป็นโจทย์สำคัญสำหรับขบวนการเคลื่อนไหว และยังมีส่วนช่วยลดความตึงเครียดในการจัดการชุมนุม ส่งเสริมการพัฒนาการต่อสู้ในระยะยาวได้

หมายเหตุ: บทความนี้เขียนขึ้นก่อนที่พริษฐ์ ชิวารักษ์ (เพนกวิน) แกนนำคณะราษฎร 2563 ประกาศยุติบทบาทของหน่วยงานการ์ดอาสาทั้งหมดในการชุมนุม โดยจะจัดทีมงานที่ได้รับการฝึกฝนและมีทักษะระดับมืออาชีพมาทำหน้าที่แทน

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save