fbpx
รำลึก นพ.มงคล ณ สงขลา ย้อนมองนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า กับ นิมิตร์ เทียนอุดม

รำลึก นพ.มงคล ณ สงขลา ย้อนมองนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า กับ นิมิตร์ เทียนอุดม

วงศ์พันธ์ อมรินทร์เทวา เรื่อง

 

 

เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม วงการสาธารณสุขของไทยสูญเสีย นพ.มงคล ณ สงขลา บุคลากรที่มีบทบาทสำคัญยิ่งในการขับเคลื่อนงานด้านสาธารณสุขของไทย หมอมงคลเคยรับตำแหน่งปลัดกระทรวงสาธารณสุขในสมัยรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร และเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขในรัฐบาลสุรยุทธ์ จุลานนท์

หมอมงคลได้สร้างคุณูปการเอาไว้ให้วงการสาธารณสุขมากมาย หนึ่งในนั้นคือการที่คุณหมอได้เข้าไปมีส่วนร่วมผลักดันนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือเป็นที่รู้จักกันในชื่อ ’30 บาทรักษาทุกโรค’ ซึ่งถือเป็นโครงการที่พลิกโฉมแวดวงสาธารณสุขของไทยอย่างมาก และได้สร้างประโยชน์ไว้ให้กับคนไทยหลายคน

101 พูดคุยกับนิมิตร์ เทียนอุดม ตัวแทนกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ ที่พาเราไปร่วมย้อนมองตัวตนของหมอมงคล และรำลึกถึงมรดกที่หมอมงคลได้มีส่วนร่วมสร้างไว้ให้กับสังคมไทย โดยเฉพาะนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า พร้อมวิเคราะห์ถึงแนวทางการใช้นโยบายนี้ทั้งในปัจจุบันและอนาคต

 

ความทรงจำและความประทับใจ
เกี่ยวกับหมอมงคล

 

ประมาณ 3-4 ปีที่แล้ว พวกเราในนามกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพตอนนั้นร่วมกับเครือข่ายภาคประชาชนอื่นๆ จัดเดินมิตรภาพจากกรุงเทพฯ ไปขอนแก่น หรือที่เรียกว่ากิจกรรม We Walk เพราะพวกเรามองว่ามีความจำเป็นที่จะต้องพูดถึงปัญหาสิ่งแวดล้อม ปัญหาชุมชน ปัญหาความมั่นคงของระบบหลักประกันสุขภาพ ความมั่นคงด้านอาหาร เรื่องการเก็บเมล็ดพันธุ์ ปัญหาเรื่องข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) และเรื่องเสรีภาพทางวิชาการ ระหว่างทางเราเอาประเด็นพวกนี้ไปพูดคุยแลกเปลี่ยนกับชาวบ้านรอบๆ พี่น้องที่ร่วมเดินขบวน และเครือข่ายประชาชนในละแวกใกล้เคียงกับเส้นทางของเรา

อย่างไรก็ตาม ตอนนั้นเป็นช่วงที่ห้ามจัดการชุมนุม เพราะยังอยู่ภายใต้ระบอบคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ก็เลยมีฝ่ายปกครองและทหารที่ตั้งจุดสกัดไม่ให้เราทำกิจกรรมนี้ ทำให้แผนของเราที่วางไว้ว่าจะนอนวัดนอนโรงเรียนไหนบ้างก็ต้องผิดแผนไปหมด เราไม่สามารถไปนอนได้ ช่วงหนึ่งที่เราเดินใกล้จะถึงโคราชแล้วเรายังหาที่นอนกันไม่ได้ ผมก็นึกถึงคุณหมอมงคล คุณหมอท่านก็อนุญาตให้พวกเราไปนอนที่บ้านพักของท่าน ท่านบอกว่าเรื่องแบบนี้เราต้องช่วยกัน ตรงนี้แสดงถึงตัวตนของท่านที่มีความเป็นผู้ใหญ่ กล้าตัดสินใจ กล้าสนับสนุนที่จะผลักดันการทำกิจกรรมของภาคประชาชน ถึงแม้จะถูกสกัดกั้นหนักก็ตาม เวลาที่ผมนึกถึงคุณหมอมงคลผมก็จะนึกถึงเรื่องนี้เลย

 

ความเป็นมาของการผลักดัน
หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าโดยหมอมงคล
ในฐานะปลัดกระทรวงสาธารณสุข

 

ประเด็นสำคัญอยู่ที่การตัดสินใจในเชิงนโยบายว่าโรงพยาบาลของรัฐทุกแห่งต้องอยู่กับระบบหลักประกันสุขภาพ แล้วก็ต้องไม่ใช่เป็นเรื่องภาคสมัครใจด้วย อันนี้สำคัญมากเพราะในกฎหมายไม่มีเขียนบังคับไว้ มีบอกไว้แค่ว่าโรงพยาบาลไหนมีความประสงค์ที่จะอยู่กับระบบก็ให้มาขึ้นทะเบียน เพราะฉะนั้นถ้าในเบื้องต้น ฝ่ายนโยบายไม่กล้าบอกว่าทุกโรงพยาบาลของรัฐต้องมาอยู่ในระบบ นโยบายแบบนี้ก็จะไม่เกิดขึ้น แต่หมอมงคลตอนนั้นก็มองเห็นชัดเจนว่าระบบนี้มีประโยชน์ต่อประชาชน ทำให้ประชาชนไม่ต้องล้มละลายหรือต้องมาคิดถึงเรื่องค่ารักษาพยาบาลในการรักษาแต่ละครั้ง จึงตัดสินใจผลักดันนโยบายนี้

กลไกสำคัญในระบบหลักประกันสุขภาพแบ่งเป็นสองฝั่ง ฝั่งหนึ่งคือผู้ซื้อบริการก็คือสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) อีกฝั่งคือผู้ให้บริการ ถ้าทั้งสองฝั่งนี้ประสานงานกันไม่ได้ ทำงานไปในทางเดียวกันไม่ได้ นโยบายนี้ก็ไปไม่ได้อีก ตอนนั้นในฝั่งของ สปสช. มีคุณหมอสงวน นิตยารัมภ์พงศ์ ซึ่งเป็นลูกน้องเก่าของหมอมงคล เข้ามาบริหารจัดการ และในฝั่งของผู้ให้บริการซึ่งก็คือสาธารณสุขตอนนั้นมีคุณหมอมงคลเป็นปลัดกระทรวงสาธารณสุข และในตอนนั้นรัฐมนตรีคือคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธ์ และรัฐมนตรีช่วยคือคุณหมอสุรพงษ์ สืบวงศ์ลี ซึ่งต่างก็มีแนวคิดชัดเจนเหมือนกันที่อยากให้โรงพยาบาลรัฐเข้าสู่ระบบ เมื่อทุกฝ่ายทำงานด้วยกัน ประสานงานกันอย่างดี นโยบายนี้ถึงเดินหน้าไปได้

ในช่วงจังหวะนั้น โรงพยาบาลหรือหมอจำนวนมากหวั่นใจไม่อยากเข้าระบบ เพราะระบบหลักประกันสุขภาพไปกระทบกับเงินบำรุงของโรงพยาบาลโดยตรง ระบบหลักประกันสุขภาพเข้ามาเป็นคนซื้อบริการแทนประชาชน เพราะฉะนั้นโรงพยาบาลทั้งหมดที่เข้ามาอยู่ในระบบจะไม่สามารถเก็บค่ารักษาพยาบาลได้ นอกจากค่าธรรมเนียมต่อครั้งที่ประชาชนไปใช้บริการซึ่งกำหนดไว้แค่ 30 บาท นั่นแปลว่าไปกระทบกระทบกับหม้อข้าวหรือขุมทรัพย์ของโรงพยาบาล เพราะว่าตามระเบียบ โรงพยาบาลสามารถจัดตั้งเงินบำรุงได้ เมื่อมีประชาชนไปรักษา เขาก็เรียกเก็บค่ารักษาแล้วเก็บเป็นเงินบำรุงของโรงพยาบาล แต่ว่าปลัดกระทรวงที่ชื่อว่าหมอมงคลตัดสินใจว่าทุกโรงพยาบาลต้องอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์กติกาใหม่นี้ ทำให้โรงพยาบาลไม่สามารถเรียกเก็บเงินประชาชนได้ ความกล้าตัดสินใจของหมอมงคลด้วยการมองประโยชน์ของประชาชนผู้เจ็บป่วยเป็นหลัก ทำให้ระบบนี้เดินหน้าได้

 

การสานต่อหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า
ของหมอมงคลในฐานะรัฐมนตรีสาธารณสุข

 

ในช่วงเริ่มต้นออกนโยบายมาใหม่ๆ ทุกคนยังกล้าๆ กลัวๆ อยู่ เพราะฉะนั้นจึงทำกันแบบรอบคอบ นี่จึงทำให้มีประกาศยกเว้นบางโรคที่ต้องใช้ค่าใช้จ่ายในการรักษาสูง ระบบก็จะไม่ได้ดูแลครอบคลุมไปถึง เช่น การรักษาผู้ติดเชื้อ HIV ด้วยยาต้านไวรัส การรักษาผู้ป่วยโรคไตที่ต้องใช้เครื่องฟอกไต และภาวะการมีบุตรยาก แต่ว่าด้วยภาวะผู้นำและการประสานงานกันระหว่างกระทรวงสาธารณสุขกับสปสช. ก็เลยทำให้เรื่องพวกนี้ค่อยๆ ขยับไปได้

ตัวอย่างหนึ่งก็คือประเด็นของยาต้านไวรัส HIV ซึ่งในตอนนั้นก็มีราคาสูงมาก ทำให้ไม่สามารถเข้าสู่ระบบได้เพราะจะต้องรับภาระค่าใช้จ่ายหนัก สาเหตุที่ยานี้แพงก็เป็นเพราะเรื่องสิทธิบัตรยา เพราะฉะนั้นถ้าจะทำให้ยานี้ราคาถูกลงและผู้ป่วยเข้าถึงได้ เราก็ต้องจัดการเรื่องนี้ และถ้าเราไปดูในกฎหมายเรื่องสิทธิบัตร มีการระบุเปิดช่องไว้ว่า ถ้าเกิดเหตุวิกฤตทางสุขภาพแล้วมีความจำเป็นที่จะต้องใช้ผลิตภัณฑ์ที่จดสิทธิบัตร รัฐสามารถเอาสิ่งประดิษฐ์นั้นมาใช้ได้โดยจ่ายค่าธรรมเนียมการใช้ให้กับผู้ถือสิทธินั้นๆ ด้วยเหตุนี้ ประกอบกับความกล้าคิดกล้าตัดสินใจ ทำให้คุณหมอตัดสินใจทำสิทธิบัตรเหนือยา (Compulsory Licensing: CL) ซึ่งก่อนหน้านี้ไม่มีใครกล้าทำเพราะกลัวจะกระทบกับเรื่องการค้าระหว่างประเทศ กลัวบริษัทยา กลัวสหรัฐฯ ไม่พอใจ เรื่องนี้จึงถูกทิ้งมานานจนกระทั่งคุณหมอมงคลขึ้นมารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข

การทำ CL มีคุณูปการมาก เพราะว่ามันสร้างอำนาจต่อรองของผู้ซื้อยาซึ่งคือ สปสช. ให้แข็งแรงขึ้น ทำให้บริษัทยาเห็นเลยว่า ถ้ามีความจำเป็น รัฐบาลไทยก็มีความพร้อมที่จะทำเรื่องแบบนี้ นี่ทำให้เกิดอำนาจในการต่อรองราคากัน และในช่วงหลังๆ ก็ทำได้โดยสะดวกมากขึ้น

 

จาก 30 บาทรักษาทุกโรค สู่รักษาฟรีทุกโรค

 

ตอนนั้นเกิดประเด็นขึ้นมาว่าระบบหลักประกันสุขภาพมาจ่ายค่ารักษาพยาบาลแทนประชาชนแล้วก็จริง แต่ประชาชนที่ไปรับการรักษาก็ยังมีภาระอยู่ ซึ่ง 30 บาทสำหรับใครหลายคนอาจจะน้อยมาก แต่สำหรับคนชนบทหาเช้ากินค่ำ การไปโรงพยาบาลครั้งหนึ่งจะต้องหยุดงาน ขาดรายได้ไปเลยทั้งวัน โดยเฉพาะคนที่รับจ้างรายวัน ตอนนี้ทุกคนก็เลยตัดสินใจกันว่ายกเลิกค่ารักษาตรงนี้ไปเลยดีกว่า ซึ่งตอนนั้นโรงพยาบาลหลายแห่งก็ไม่ค่อยพอใจเหมือนกัน แต่มองอีกด้านหนึ่งผู้บริหารก็คิดว่าการเก็บเงินตามมาด้วยการที่โรงพยาบาลต้องลงทุนจ้างคนมาเซ็ตระบบการเก็บเงิน ระบบใบเสร็จ และต้องมีเจ้าหน้าที่มาคอยนั่งเก็บเงินอีก ขณะที่ค่ารักษาตอนนั้นก็แค่ 30 บาทซึ่งก็ถือว่าโรงพยาบาลได้รายได้ไม่เยอะอยู่แล้ว การลงต้นทุนไปกับการเก็บเงินตรงนี้ก็เลยไม่คุ้มกับรายได้ที่ได้มา เราก็เลยมองกันว่ายกเลิกเก็บเงินไปเลยดีกว่า

ตอนนั้นก็มีนักการเมืองบางส่วนกลัวว่าถ้าไม่เก็บเงินเลย คนจะแห่ไปใช้บริการกันแบบฟุ่มเฟือย แต่เราก็พบแล้วว่าไม่จริง ถ้าไปดูสถิติย้อนหลังที่ผ่านมา อัตราการไปใช้บริการของประชาชนสมเหตุสมผลอยู่ ถึงแม้ว่าไม่ถูกเรียกเก็บเงิน 30 บาท พวกเขาก็ไม่ได้ไปใช้บริการแบบคิดอยากจะไปก็ไปเลย เพราะการเดินทางไปโรงพยาบาลแต่ละครั้งก็มีภาระค่าใช้จ่าย แต่ในช่วงหลังก็มีการเสนอว่าให้เก็บค่าธรรมเนียม 30 บาทเหมือนเดิม ขณะที่มรดกของคุณหมอมงคลก็ยังคงอยู่ซึ่งก็คือการห้อยท้ายไว้ในประกาศเรียกเก็บค่าธรรมเนียม 30 บาทว่า ประชาชนที่ไม่ประสงค์จะจ่ายก็ไม่ต้องจ่ายก็ได้ ซึ่งภาคประชาชนก็ได้พยายามช่วยกันรณรงค์ให้คนรู้เงื่อนไขข้อนี้

 

หลักประกันสุขภาพในมือรัฐบาลประยุทธ์

 

ในยุค คสช. ตอนนั้นรัฐบาลน่าจะถูกล็อบบี้จากฝั่งหมอที่เสียผลประโยชน์ และรู้สึกไม่ชอบระบบหลักประกันสุขภาพ กลุ่มนี้จะพูดตลอดเวลาว่าควรจะต้องให้ประชาชนร่วมจ่าย เพราะว่าใช้เงินเยอะ กลัวว่าประเทศจะล้มละลาย แต่หมอมงคลท่านรู้ดีว่าระบบเป็นอย่างไร การจัดสรรงบประมาณมาจากส่วนไหน อย่างไรบ้าง คุณหมอจึงกล้าลุกขึ้นส่งเสียงบอกว่าไม่เห็นด้วยกับการให้ประชาชนร่วมจ่าย เพราะประชาชนบางส่วนไม่มีจ่ายจริงๆ ภาคประชาชนก็ลุกขึ้นคัดค้านเหมือนกัน จนต่อมาประเด็นนี้ก็เบาลงไป แต่ก็มีเรื่องใหม่ๆ เกิดขึ้นมาอีก

ประเด็นต่อมาคือการที่รัฐบาลไม่เข้าใจระบบหลักประกันสุขภาพ เชื่อไปว่ามีการทุจริตเกิดขึ้น ก็เลยให้มีการตรวจสอบ จนมีการแขวนเลขาธิการ สปสช. อยู่ช่วงหนึ่ง แต่ผลออกมาก็พบว่าไม่มีการทุจริต ซึ่งคุณหมอมงคลก็ออกมาช่วยย้ำว่าไม่มีการทุจริตเกิดขึ้น แต่ว่าระบบการกำกับตรวจสอบระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของ คสช.ในลักษณะที่ขาดความรู้ความเข้าใจก็มีผลพวงตามมาอีกอย่าง ก็คือการบอกว่า กฎหมายหลักประกันสุขภาพไม่ให้อำนาจซื้อยา เพราะไปตีความนิยามของคำว่าค่ารักษาพยาบาลอย่างแคบๆ

ก่อนหน้านี้ สปสช. มีสำนักยา ซึ่งมีบทบาทในการจัดสรรงประมาณไปซื้อยาราคาแพงในลักษณะการซื้อยารวม ซึ่งกระบวนการก็คือแต่ละโรงพยาบาลมารวมตัวกันแล้วดูว่าเรามียาตัวไหนบ้างที่จำเป็นต้องใช้ แล้วก็ไปพูดคุยต่อรองกับบริษัทที่ขายยาตัวนั้น ซึ่งวิธีนี้ทำให้เราซื้อยาได้ในราคาถูกลง ประหยัดงบประมาณของประเทศ แต่เมื่อมาถึงยุค คสช. ก็บอกว่า สปสช.ไม่มีอำนาจ ต้องโอนไปให้กระทรวงสาธารณสุขเป็นผู้ซื้อ แต่เมื่อดูกฎหมายแบบเถรตรงจริงๆ ก็ทำไม่ได้อีก ระบบนี้ก็เกือบจะพัง จนสุดท้ายต้องไปขอมติคณะรัฐมนตรีใหม่ว่าให้กำหนดโรงพยาบาลหนึ่งแห่งภายใต้กระทรวงสาธารณสุขเป็นตัวแทนซื้อยารวมแทนโรงพยาบาลทั้งประเทศ นี่เป็นตัวอย่างของการตัดสินใจของผู้นำประเทศที่ไม่ได้มีความเข้าใจในตัวระบบอย่างแท้จริง จนทำให้ระบบเกือบไปไม่รอด แต่ก็ถือว่าโชคดีที่มีคุณหมอมงคลคอยลุกขึ้นมาอธิบายอย่างตรงไปตรงมา แล้วพอเป็นคุณหมอที่ออกมาอธิบาย รัฐบาลก็ต้องฟัง

 

นโยบายบัตรทองรักษาได้ทุกที่

 

ตรงนี้ต้องให้เครดิตคุณอนุทิน ชาญวีรกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขคนปัจจุบัน ที่น่าจะมองเห็นปัญหาว่า การเริ่มต้นใช้บริการบัตรทองจะต้องไปที่หน่วยบริการประจำใกล้บ้านที่เราเลือก แล้วมีปัญหาว่าหน่วยบริการใกล้บ้านเหล่านั้นอาจจะเล็ก และรักษาบางโรคไม่ได้ ประชาชนก็ต้องไปรับใบส่งตัว หรือประชาชนบางคนไม่เชื่อโรงพยาบาลขนาดเล็กก็จะวิ่งไปหาโรงพยาบาลขนาดใหญ่เลย ซึ่งก็จะถูกเรียกเก็บเงิน ข้ามขั้นตอนของการรักษาภายในระบบ การออกนโยบายให้บัตรทองนำไปใช้ได้ทุกที่ก็จะช่วยแก้ปัญหานี้ได้ แต่ว่านโยบายนี้ก็ต้องทำอย่างรอบคอบ เพราะการที่ประชาชนจะต้องขึ้นทะเบียนในแต่ละที่จะไปผูกพันกับงบประมาณที่จะต้องจ่ายให้แต่ละโรงพยาบาล เพราะฉะนั้นเราต้องมาเปลี่ยนวิธีคิดกันใหม่ว่าจะจัดสรรงบประมาณให้แต่ละโรงพยาบาลที่รับขึ้นทะเบียนอย่างไร และการตั้งราคาจะเป็นเท่าไหร่ เพื่อให้โรงพยาบาลยังมีรายรับที่แน่นอนชัดเจน

ตอนนี้นโยบายนี้ยังเพิ่งอยู่ในช่วงเริ่มต้น โดยเริ่มใช้ที่กรุงเทพฯ เขต 9 ก่อน แล้วเดี๋ยวเราค่อยมาดูกันว่าจะมีวิธีการจัดการอย่างไรให้ทั้งฝั่งผู้ให้บริการและผู้รับบริการสะดวกมากขึ้น และจะพัฒนาไปอย่างไรได้อีกบ้าง ตรงนี้เป็นจุดเริ่มต้นที่ดี

 

CPTPP กับปัญหา CL ยา

 

หลายคนอ้างว่าไทยควรเข้า CPTPP เพราะตลาดใหญ่มาก แต่ว่ามุมมองแบบนี้เป็นมุมมองของนักธุรกิจและผู้ค้าที่มองว่าการขยายตลาดจะทำให้เขาได้ประโยชน์ แต่ก็ต้องเอาเรื่องอื่นไปแลก เช่น ทรัพย์สินทางปัญญา การลดภาษี เขตแดนศุลกากร ซึ่งอาจจะทำให้พวกเขาได้ตลาดมากขึ้น แต่อีกด้านหนึ่งก็มีคนได้รับผลกระทบ และที่เราสามารถชะลอไม่ให้รัฐบาลพิจารณาเข้าร่วม CPTPP เป็นเพราะว่าจะกระทบเรื่องสุขภาพแน่ๆ โดยเฉพาะในประเด็นสิทธิบัตรยา เราจะทำ CL ไม่ได้เหมือนเดิม ซึ่งจะทำให้คนไทยต้องซื้อยาแพงขึ้นด้วย เพราะเงื่อนไขหลายอย่างใน CPTPP ก็เข้มงวดมาก และยังมีเรื่องการคุ้มครองนักลงทุนด้วย หากรัฐบาลทำนโยบายสาธารณะแล้วไปกระทบกับนักลงทุนก็จะถูกฟ้อง รัฐบาลหรือหน่วยงานของราชการที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ก็ไม่มีความชัดเจนว่าคุณจะเยียวยาดูแลคนที่ได้รับผลกระทบจากเรื่องนี้อย่างไร เพราะฉะนั้นเราถึงสามารถหยุดเรื่องนี้กันได้

คุณหมอมงคลก็มีจุดยืนชัดเจนว่า CL ยาเป็นประโยชน์ต่อประชาชน และยังตอบโจทย์ชัดเจนว่าไม่ใช่การขโมยทรัพย์สินทางปัญญา แต่เป็นการใช้สิทธิของรัฐที่จะดูแลประชาชน ถ้าเราเข้า CPTPP ไปแล้ว ตรงนี้ก็จะเกิดความยุ่งยาก ตอนนี้เราเลยหยุด CPTPP ได้ แต่ก็ยังไม่รู้ว่าจะหยุดได้อีกนานแค่ไหน คนที่คอยมาส่งเสียงช่วยประชาชนอย่างคุณหมอมงคลก็เสียไปแล้ว เราก็อาจสู้เรื่องนี้กันลำบากขึ้น

 

หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า
กับวัคซีนโควิด-19

 

คนไทยทุกคนมีสิทธิจะต้องได้รับการส่งเสริมและป้องกันโรคอยู่แล้วตามระบบหลักประกันสุขภาพ เช่น เด็กทุกคนที่เกิดมาจะต้องได้รับการฉีดวัคซีนพื้นฐาน 5 ตัว และเด็กผู้หญิงในช่วงชั้น ป.5-6 ก็จะได้ฉีดวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก แต่ว่าการมีโรคอุบัติใหม่ขึ้นมาอย่างนี้ก็เป็นหน้าที่ของระบบที่ต้องไปคิดว่าจะดูแลประชาชนอย่างไร ระบบก็อาจต้องคิดจัดสรรงบประมาณหาเงินมาซื้อวัคซีนโควิด-19 ให้ได้ ตอนนี้ที่มีข่าวว่าเราไปจองซื้อวัคซีน เราก็ยังใช้เงินกู้อยู่ แต่ในปีถัดๆ ไป สปสช. ก็จะต้องทำงบประมาณเพื่อยื่นขอจากรัฐบาลโดยยกเหตุความจำเป็น หลังจากนั้นพอมีวัคซีนแล้ว สปสช. และกระทรวงสาธารณสุขจะต้องเซ็ตระบบร่วมกันว่าจะกระจายวัคซีนอย่างไรให้เป็นธรรมกับทุกคน ดูว่าใครเป็นกลุ่มเสี่ยงที่ควรได้รับวัคซีนก่อน พวกเราก็ต้องเข้าไปช่วยกันจับตามองให้การกระจายวัคซีนไม่เกิดความเหลื่อมล้ำ ไม่มีอภิสิทธิ์ชน

 

อนาคตของหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า

 

เรื่องแรก ประเทศเรามีระบบหลักประกันสุขภาพหลายกองทุน มีทั้งของราชการ ประกันสังคม บัตรทอง รัฐวิสาหกิจ และครูโรงเรียนเอกชนนอกระบบ ทุกระบบยังแตกต่างกันอยู่ในด้านการจัดสรรงบประมาณของรัฐที่จะมาดูแลคนในแต่ละกลุ่ม ความท้าทายของเราคือเราจะต้องค่อยๆ หลอมรวมระบบพวกนี้ และจะลดความเหลื่อมล้ำของแต่ละระบบได้อย่างไรที่จะทำให้เกิดสิทธิประโยชน์ในการดูแลรักษาที่เป็นธรรม การจัดสรรงบประมาณที่สนับสนุนแต่ละกองทุนเป็นธรรมกับทุกคน แต่ละระบบมีประสิทธิภาพในการจ่ายค่ารักษาพยาบาลในระดับที่ใกล้เคียงกัน ไม่ใช่ว่าระบบหนึ่งจ่ายแพง ระบบหนึ่งจ่ายถูก เราจะต้องลดความเหลื่อมล้ำตรงนี้ให้ได้

เรื่องที่สอง จะทำอย่างไรให้บริการการรักษาดีขึ้นกว่านี้ เรื่องนี้ก็ขึ้นอยู่กับกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งถือว่าเป็นเจ้าของโรงพยาบาลที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ กำกับดูแลโรงพยาบาลรัฐ 1,000 กว่าแห่ง เราต้องคิดว่าจะทำอย่างไรให้กระทรวงสาธารณสุขมีงบประมาณเพียงพอที่จะจัดสรรการจัดจ้างและกระจายบุคลากรเข้าไปอยู่ในทุกโรงพยาบาลในแต่ละระดับไหนได้อย่างดี ถ้าโรงพยาบาลขนาดเล็กมีบุคลากรเพียงพอและบุคลากรเหล่านี้ยังได้รับการส่งเสริมให้มีความสามารถที่ดี จนสร้างความน่าเชื่อถือให้กับโรงพยาบาลขนาดเล็กในแต่ละแห่งได้ เราก็จะไปแก้ปัญหาความแออัดของโรงพยาบาลขนาดใหญ่ได้ เพราะคนจะเชื่อว่าไปโรงพยาบาลไหนก็เหมือนกัน

ผมคิดว่านี่เป็นโจทย์ท้าทายมากว่ากระทรวงสาธารณสุขกับ สปสช. จะทำงานร่วมกันอย่างไรเพื่อมุ่งพัฒนาคุณภาพของโรงพยาบาลในทุกระดับ เพราะจะทำให้ประชาชนเข้าถึงบริการที่มีคุณภาพโดยไม่ต้องเดินทางไกล ทำให้นโยบายที่บอกว่าไปรักษาฟรีได้ทุกที่ทำได้จริงและมีประสิทธิภาพมาก

เรื่องสุดท้ายที่ผมมองว่าเป็นเรื่องใหญ่ เราจะทำอย่างไรให้ระบบหลักประกันสุขภาพเป็นระบบที่ดูแลคนทุกคนบนผืนแผ่นดินนี้ ทุกวันนี้ยังเป็นการดูแลเฉพาะคนไทย เพราะบัตรทองถูกตีความโดยสำนักงานกฤษฎีกาว่าดูแลได้เฉพาะคนไทย ทำให้มีคนอีกจำนวนหนึ่งที่ตกหล่นไป เช่น คนไทยที่ตกสำรวจไม่ได้ทำบัตรประชาชนนานแล้ว คนไทยบนที่ราบสูงที่ถูกตีความว่าเป็นชนกลุ่มน้อยซึ่งกำลังพิสูจน์กันว่าเป็นคนไทย คนกลุ่มนี้มีปัญหาในการเข้าถึงบริการหมดเลย

ถ้าคุณจะป้องกันโรค คุณต้องป้องกันทุกคนที่เข้ามาอยู่ในประเทศนี้ ถ้าคุณป้องกันแค่คนไทยแต่ไม่ป้องกันแรงงานข้ามชาติที่เข้ามาเป็นกลไกสำคัญของระบบเศรษฐกิจไทย เราก็จะป้องกันโรคไม่ได้ เพราะฉะนั้นเราต้องเซ็ตระบบว่าจะสร้างหลักประกันสุขภาพสำหรับคนต่างประเทศทุกคนที่เข้ามาในประเทศอย่างไร อาจจะให้คนต่างชาติที่เข้ามาต้องซื้อประกันสุขภาพ แต่ที่สำคัญคือสิ่งนี้ต้องทำโดยรัฐ อย่าไปให้พวกเขาซื้อประกันเอกชน เพราะมีเงื่อนไขเยอะซึ่งจะทำให้มีปัญหาในการใช้สิทธิ

เพราะฉะนั้นนี่เป็นความท้าทายที่ใหญ่มากว่าประเทศเราจะจัดสวัสดิการให้กับทุกคนได้หรือไม่ เพราะตอนนี้เราก็ถูกจับตามองอยู่ว่าเราเลือกปฏิบัติต่อแรงงานข้ามชาติ และที่สำคัญการเซ็ตระบบเหล่านี้ขึ้นมาจะต้องยืนอยู่บนหลักคิดที่ว่าระบบประกันสุขภาพต้องดูแลทุกคนอย่างเสมอภาคเท่าเทียม

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save