fbpx

เปิดร่าง พ.ร.บ. ควบคุมเอ็นจีโอ: เมื่อรัฐมองเอ็นจีโอเป็นนักฟอกเงิน-ผู้ก่อการร้าย

เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2564 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบให้เพิ่มเติมหลักการ ‘การป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน และการต่อต้านการสนับสนุนทางการเงินแก่ผู้ก่อการร้าย’ (Anti-Money Laundering and Combating the Financing of Terrorism หรือ AML/CFT) รวมถึงการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง เข้าไปในร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการดำเนินงานขององค์กรไม่แสวงหารายได้หรือกำไรมาแบ่งปันกัน (‘ร่างกฎหมายควบคุมเอ็นจีโอ’) ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างการจัดทำร่างโดยสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ทั้งนี้ มติคณะรัฐมนตรีระบุว่าการเพิ่มเติมหลักการดังกล่าวมีเจตนาเพื่อให้ประเทศไทยปฏิบัติตามมาตรฐานสากลของคณะทำงานเฉพาะกิจเพื่อดำเนินมาตรการทางการเงิน (Financial Action Task Force หรือ FATF)

FATF ก่อตั้งขึ้นในปี 2532 โดยกลุ่ม G7 ซึ่งประกอบด้วยสหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี ญี่ปุ่น และแคนาดา เพื่อปกป้องเสถียรภาพของระบบการเงินระหว่างประเทศ  FATF ได้ออก ‘ข้อเสนอแนะ’ อันเป็นกรอบแนวทางสำหรับประเทศต่างๆ ในการรับมือกับปัญหาการฟอกเงินและการสนับสนุนทางการเงินแก่กลุ่มก่อการร้าย โดยมติคณะรัฐมนตรีข้างต้นเป็นการหยิบยกข้อเสนอแนะที่ 8 ของ FATF ว่าด้วยการปรับปรุงกฎหมายและระเบียบต่างๆ เพื่อป้องกันมิให้องค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไรถูกใช้เพื่อการฟอกเงินหรือการสนับสนุนทางการเงินแก่ผู้ก่อการร้าย

หากพิจารณาโดยผิวเผิน ความพยายามในการป้องกันการฟอกเงิน การสนับสนุนทางการเงินแก่ผู้ก่อการร้ายและการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูงตามมาตรฐานสากลนั้นถือเป็นเรื่องสำคัญอย่างปฏิเสธมิได้ ทว่าเมื่อประเมินแนวคิดของภาครัฐในการนำมาตรฐานดังกล่าวมาบังคับใช้ ประกอบกับบริบททางการเมืองทั้งภายในและระหว่างประเทศที่มีแนวโน้มในการกำกับควบคุมภาคประชาสังคม อาจกล่าวได้ว่ามีความเสี่ยงที่ร่างกฎหมายฉบับนี้จะถูกนำมาใช้เพื่อขัดขวางการทำงานของภาคประชาสังคมในประเทศไทย

จากวาทกรรมต่อต้านเอ็นจีโอสู่การกำกับควบคุม

“เอ็นจีโอส่วนใหญ่เป็นแนวร่วมการก่อการร้าย หรือไม่ก็ทำลายความมั่นคงของชาติ”

สุทิน วรรณบวร (แนวหน้า, 2 กรกฎาคม 2564)

แม้ว่าประเทศไทยจะมีองค์กรระหว่างประเทศและเอ็นจีโอระหว่างประเทศเข้ามาตั้งสำนักงานเพื่อทำงานด้านเศรษฐกิจ สังคม สิทธิมนุษยชน หรือสิ่งแวดล้อมเป็นจำนวนมาก จนกระทั่งได้รับฉายาว่าเป็น ‘กรุงเจนีวาแห่งเอเชีย’ ถึงกระนั้น องค์กรภาคประชาสังคมในไทยมักถูกตีตราผ่านวาทกรรมต่างๆ ว่าเป็นพวก ‘ขายชาติ’ ที่รับเงินต่างชาติมาบ่อนทำลายอธิปไตยของรัฐไทยผ่านการส่งเสริมแนวคิด ‘ต่างชาติ’ อย่างเรื่องสิทธิมนุษยชนและการวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของภาครัฐ

นักปกป้องสิทธิมนุษยชนไทยต้องเผชิญกับวาทกรรมดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ที่ผู้ทำงานด้านสิทธิมนุษยชนมักถูกปฏิบัติการข้อมูลข่าวสารใส่ร้ายป้ายสีด้วยข้อมูลเท็จว่าพวกเขาเป็นผู้สนับสนุนขบวนการแบ่งแยกดินแดน

ในช่วงปลายปี 2563 การเสนอร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนภายใต้การนำของโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) ได้รับความสนใจจากประชาชนอย่างล้นหลาม เป็นเหตุให้วิวาทะทางการเมืองที่ป้ายสีองค์กรเอ็นจีโอนั้นแพร่กระจายและทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น โดยมวลชนฝ่ายขวาและนักการเมืองฝ่ายรัฐบาลต่างร่วมกันใช้ทฤษฎีสมคบคิดโจมตีว่า องค์กรภาคประชาสังคมที่รับเงินทุนจากหน่วยงานต่างชาติกำลังร่วมมือกันแทรกแซงกิจการภายในประเทศไทย

หลังจากนั้นภาครัฐก็ได้ขานรับวาทกรรมชาตินิยมฝ่ายขวาดังกล่าวอย่างรวดเร็ว เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2564 คณะรัฐมนตรีลงมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ. ควบคุมเอ็นจีโอเป็นครั้งแรก โดยร่างกฎหมายระบุให้กระทรวงมหาดไทยมีอำนาจในการขึ้นทะเบียนองค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไร ตรวจสอบข้อมูลทางการเงิน กำหนดขอบเขตการรับทุนจากหน่วยงานต่างชาติ และจำกัดประเภทกิจกรรมที่สามารถดำเนินการได้ อีกทั้งผู้ที่ฝ่าฝืนกฎระเบียบอาจถูกเพิกถอนทะเบียนและมีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ร่างกฎหมายฉบับนี้มิได้แค่ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักหน่วงจากองค์กรภาคประชาสังคมเท่านั้น แต่คณะผู้รายงานพิเศษประจำสหประชาชาติ (UN Special Rapporteur) ก็ได้ส่งจดหมายถึงรัฐบาลไทยเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2564 เพื่อแสดงข้อห่วงกังวลในมิติต่างๆ เช่น การให้อำนาจเบ็ดเสร็จกว้างขวางกับกระทรวงมหาดไทย การตั้งบทลงโทษรุนแรงเกินความจำเป็น และการสร้างข้อบังคับที่ก่อให้เกิดอุปสรรคในการทำงานเพื่อสังคม เป็นต้น

แม้มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์มากมาย แต่เพียง 4 เดือนต่อมา คณะรัฐมนตรีก็ให้สัญญาณเดินหน้าร่างกฎหมายฉบับนี้ต่อ โดยได้อนุมัติหลักการ AML/CFT เพิ่มเติม และระบุว่าจะแก้ไขร่างปัจจุบันด้วยการเพิ่มเติม 8 ประเด็นสำคัญได้แก่ (1) การเปิดเผยข้อมูลการจดทะเบียน (2) การเก็บรักษาและเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับวัตถุประสงค์ของกิจกรรมและผู้รับผิดชอบ (3) การจัดทำงบทางการเงินแยกรายรับและรายจ่าย (4) การตรวจสอบบัญชีเพื่อให้ใช้เงินทุนตามวัตถุประสงค์ (5) การออกมาตรการยืนยันตัวตนผู้รับประโยชน์และผู้บริจาค (6) การเก็บรักษาและเปิดเผยรายการธุรกรรม (7) การออกบทลงโทษที่มีประสิทธิผล ได้สัดส่วน และมีผลยับยั้งการกระทำผิด และ (8) การเปิดเผยข้อมูลที่องค์กรไม่แสวงหากำไรมอบให้กับหน่วยงานต่างประเทศ

ข้อห่วงกังวลด้านสิทธิมนุษยชนจากสหประชาชาติ

หลักการทั้ง 8 ประการข้างต้นอาจฟังดูเป็นประโยชน์ต่อการรับรองความรับผิดและความโปร่งใสของภาคประชาสังคมเพื่อป้องกันการฟอกเงินและการสนับสนุนการก่อการร้ายด้านการเงิน อย่างไรก็ดี ไม่นานหลังจากที่คณะรัฐมนตรีมีมติดังกล่าว คณะผู้รายงานพิเศษของสหประชาชาติ นำโดย Fionnuala Ní Aoláin ผู้รายงานพิเศษด้านการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐานพร้อมการต่อต้านก่อการร้ายได้ส่งจดหมายอีกฉบับถึงรัฐบาลไทยเพื่อแสดงข้อห่วงกังวลเพิ่มเติมเมื่อวันที่ 16 กันยายน 2564

ในจดหมายฉบับนี้ คณะผู้รายงานพิเศษได้บ่งชี้ถึงปัญหาด้านสิทธิมนุษยชนของการนำหลักการ AML/CFT มาใช้ในร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวเป็นจำนวนมาก โดยมีประเด็นสำคัญ เช่น

  • ปัญหากระบวนการจัดทำกฎหมาย: แม้ว่าองค์กรภาคประชาสังคมจะสามารถมีส่วนร่วมในการให้ความคิดเห็นเกี่ยวกับหลักการ AML/CFT ผ่านช่องทางออนไลน์ แต่ยังไม่มีการจัดงานประชุมรับฟังความคิดเห็นสำหรับหน่วยงานเหล่านี้ นอกจากนี้ ภาคประชาสังคม โดยเฉพาะในจังหวัดชายแดนใต้ยังขาดความรู้เกี่ยวกับหลักการเหล่านี้ ซึ่งมีความซับซ้อนและอาศัยความรู้เชิงเทคนิคสูง
  • ความไม่สมเหตุสมผลต่อความเสี่ยง: FATF ได้ระบุไว้อย่างชัดเจนถึงการนำข้อเสนอแนะที่ 8 มาบังคับใช้ว่า นโยบายที่เกี่ยวข้องกับ AML/CFT นั้นควร ‘มุ่งเน้นเฉพาะจุด’ และ ‘มีความสมเหตุสมผล’ โดยต้องอาศัยการประเมินความเสี่ยงเพื่อกำหนดแนวทางการกำกับดูแลองค์กรภาคประชาสังคมที่ไม่เข้มงวดจนเกินไป (overregulation) จนอาจส่งผลเสียต่อการทำงานเพื่อขับเคลื่อนสังคมได้

เมื่อปี 2562 สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินได้ทำการวิจัยสำรวจความเสี่ยงขององค์กรไม่แสวงหากำไรต่อการถูกใช้เพื่อการฟอกเงินและการสนับสนุนทางการเงินแก่กลุ่มก่อการร้าย งานศึกษาชิ้นนี้พบว่า ประเทศไทยมีองค์กรไม่แสวงหากำไรหลากหลายประเภท เช่น องค์กรด้านศาสนา ด้านสังคมสงเคราะห์ เป็นต้น โดยแต่ละประเภทมีระดับความเสี่ยงแตกต่างกันออกไป ผู้รายงานพิเศษจึงตักเตือนว่าการนำหลักการ AML/CFT มาใช้แบบ ‘เหมาเข่ง’ กับองค์กรไม่แสวงหากำไรทุกประเภทในลักษณะเดียวกัน นับว่าไม่ได้สัดส่วนต่อความเสี่ยง อีกทั้งยังไม่มีมาตรการคุ้มครองและตรวจสอบด้านสิทธิมนุษยชน ดังนั้น ร่างกฎหมายฉบับนี้มีความเสี่ยงที่จะถูกใช้ โดยพุ่งเป้าไปที่องค์กรที่มีแนวคิดวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล

  • การบังคับเปิดเผยข้อมูลเกินความจำเป็น: ผู้รายงานพิเศษเตือนว่า ข้อบังคับในการรายงานข้อมูลต่างๆ อาจเป็นการละเมิดหลักการเรื่องความได้สัดส่วน (proportionality) และความจำเป็น (necessity) นอกจากข้อบังคับนี้จะสร้างภาระให้องค์กรเล็กๆ ที่มีทรัพยากรไม่มากนักแล้ว การบังคับให้เปิดเผยตัวตนของผู้นำองค์กรภาคประชาสังคม แหล่งทุน ผู้ได้รับประโยชน์ และข้อมูลที่ส่งให้องค์กรระหว่างประเทศนั้นอาจเป็นการละเมิดสิทธิความเป็นส่วนตัวและเสี่ยงต่อการช่วยให้มีการล้างแค้นเอาคืน (reprisal) ต่อนักปกป้องสิทธิมนุษยชนอีกด้วย

ท่าทีของผู้รายงานพิเศษประจำสหประชาชาตินับว่าน่าสนใจอย่างยิ่ง โดยเฉพาะการให้ความสำคัญกับพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ ซึ่งนักปกป้องสิทธิมนุษยชนมักถูกตีตราว่าเป็นผู้ก่อการร้ายและมีความเสี่ยงที่จะเป็นเป้าของการบังคับใช้กฎหมายเรื่อง AML/CFT ได้มากกว่าพื้นที่อื่น อีกทั้งยังมีการระบุถึงเรื่องการคุ้มครองสิทธิความเป็นส่วนตัวและข้อมูลอ่อนไหวในช่วงเวลาที่รัฐบาลไทยสอดแนมประชาชนอย่างหนักหน่วงขึ้นทุกวันและยังไม่มีการบังคับใช้กฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลอย่างเต็มที่

การฟอกนโยบาย: FATF กับการควบคุมภาคประชาสังคมทั่วโลกในยุคหลัง 9/11

การนำมาตรฐานด้าน AML/CFT จาก FATF มาผนวกรวมในกฎหมายกำกับดูแลองค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไรนั้น มิใช่นวัตกรรมแปลกใหม่ที่รัฐไทยคิดค้นขึ้นเองแต่อย่างใด แต่เป็นปรากฏการณ์ระดับโลกซึ่งเกิดขึ้นภายใต้ระเบียบโลกหลังเหตุการณ์การก่อการร้ายครั้งใหญ่เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2544 (2001) หลังเหตุวินาศกรรมครั้งนั้น ทั่วโลกต่างหันมาบังคับใช้มาตรการต่อสู้กับการก่อการร้ายมากขึ้น โดยยอมสละสิทธิมนุษยชนและพื้นที่ของประชาชนในการแสดงสิทธิเสรีภาพบางส่วนในนามของความมั่นคง

ฉากทัศน์การเมืองโลกดังกล่าวส่งผลให้การควบคุมภาคประชาสังคมเข้มข้นมากขึ้นผ่านมาตรการด้านความมั่นคง Martin Scheinin ผู้รายงานพิเศษประจำสหประชาชาติคนแรกซึ่งรับผิดชอบด้านการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐานพร้อมการต่อต้านก่อการร้ายได้ระบุไว้ในบทความที่เขาร่วมเขียนว่า “ในชั่วขณะหนึ่ง ฉันทมติระดับโลกเกี่ยวกับความจำเป็นของการต่อต้านการก่อการร้ายนั้นมีอิทธิพลยากที่จะต้าน ถึงขนาดว่ารัฐบาลอำนาจนิยมในหลายประเทศสามารถลอยนวลจากการกดขี่ข่มเหงประชาชน เพียงปรับวิธีตีตรา เปลี่ยนให้ ‘ศัตรูทางการเมือง’ กลายเป็น ‘ผู้ก่อการร้าย’”

มาตรฐาน FATF เป็นหนึ่งใน ‘เครื่องมือ’ ทางการเมืองสำคัญที่รัฐอำนาจนิยมใช้ควบคุมภาคประชาสังคมดังที่ Scheinin กล่าวไว้ Ben Hayes นักวิเคราะห์นโยบายผู้เชี่ยวชาญด้านเสรีภาพของพลเมืองและนโยบายความมั่นคงจากองค์กร Transnational Institute อธิบายถึงปรากฏการณ์ที่หลายประเทศนำหลักเกณฑ์การป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน และการต่อต้านการสนับสนุนทางการเงินแก่ผู้ก่อการร้ายมาใช้ในการควบคุมองค์กรเอ็นจีโอที่ถูกมองเป็นศัตรูของรัฐว่าเป็น ‘การฟอกนโยบาย’ (Policy laundering)

Hayes วิเคราะห์ว่า รัฐบาลฉวยโอกาสที่หน่วยงานระหว่างประเทศพัฒนามาตรฐาน FATF มาใช้ ‘ซักฟอก’ และส่งเสริมความชอบธรรมในการบังคับใช้กฎกติกาภายในประเทศ เพื่อสอดส่องและกำกับดูแลองค์กรภาคประชาสังคม นักปกป้องสิทธิมนุษยชน และฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง

ประเทศจำนวนมากที่ดำเนินการ ‘ฟอกนโยบาย’ ผ่านหลักการ FATF ล้วนมีจุดร่วมกันคือ ปกครองโดยรัฐบาลอำนาจนิยม และ/หรือเผด็จการ ยกตัวอย่างเช่น รัฐบาลประเทศอูกานดาภายใต้การนำของประธานาธิบดี Yoweri Museveni ได้ใช้อำนาจภายใต้กฎหมายการต่อต้านการฟอกเงินเพื่ออายัดบัญชีธนาคารของกลุ่มสิทธิมนุษยชนสามกลุ่ม และเข้าจับกุมทนายความสิทธิมนุษยชนชื่อดังโทษฐานการฟอกเงินจากการรับทุนขององค์กรพัฒนาเอกชนที่เขาก่อตั้งขึ้น โดยการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวเกิดขึ้นในช่วงเดือนธันวาคม 2563 ก่อนการเลือกตั้งเพียงหนึ่งเดือน

ส่วนในกรณีประเทศเซอร์เบีย การบังคับใช้กฎหมายที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับ FATF เป็นไปเพื่อสืบเสาะข้อมูลทางการเงินของเอ็นจีโอ สมาคมสื่อ และหน่วยงานไม่แสวงหาผลกำไรอื่นๆ กว่า 50 แห่ง โดยองค์กรที่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชนและติดตามตรวจสอบการทำงานของภาครัฐมักถูกเพ็งเล็งมากเป็นพิเศษ และยังมีการกล่าวหาอีกว่ารัฐบาลต้องการใช้ข้อมูลเหล่านี้เพื่อใส่ร้ายป้ายสีและด้อยค่าองค์กรที่ถูกมองว่าต่อต้านรัฐ ในกรณีนี้ ผู้รายงานพิเศษประจำสหประชาชาติก็ได้ส่งจดหมายถึงรัฐบาลเซอร์เบียในลักษณะที่คล้ายคลึงกับกรณีประเทศไทยเช่นกัน

นอกจากสองประเทศดังกล่าว ผู้รายงานพิเศษของสหประชาชาติได้แสดงความห่วงกังวลถึงปรากฏการณ์ที่คล้ายกันในตุรกีและเวเนซุเอลาด้วย ในขณะที่ประเทศไทยก็ไม่น้อยหน้า กำลังเดินตามรอยเกาะ ‘เทรนด์’ โลกด้านการ ‘ฟอกนโยบาย’ กับเขาไม่ห่าง

ราคาของการควบคุม-กดขี่ภาคประชาสังคม

ถ้าหากร่างกฎหมายควบคุมเอ็นจีโอฉบับนี้ได้รับการประกาศใช้ นอกจากปัญหาสิทธิมนุษยชนที่อาจตามมาแล้ว ประเทศไทยยังต้องเผชิญกับราคาที่ต้องจ่ายมากมาย

ประการที่หนึ่ง กฎหมายฉบับนี้อาจส่งผลเสียต่อการขจัดปัญหาการฟอกเงินและการสนับสนุนการก่อการร้ายด้านการเงิน ซึ่งย้อนแย้งตรงกันข้ามกับเจตนารมณ์ตั้งต้นโดยสิ้นเชิง

องค์กรภาคประชาสังคมมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนความโปร่งใสของการดำเนินงานภาครัฐและเฝ้าระวังการทุจริต ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการตรวจสอบและป้องกันการฟอกเงิน อีกทั้งรายงานของ Transparency International ยังอธิบายด้วยว่า องค์กรภาคประชาสังคมสามารถช่วย FATF ติดตามวิเคราะห์การทำงานของรัฐบาลในการบังคับใช้มาตรฐานสากลต่างๆ ในการป้องกันการฟอกเงินได้ด้วย

นอกจากนั้น ในส่วนของการป้องกันการก่อการร้าย งานวิจัยของสำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ ชี้ให้เห็นว่า องค์กรภาคประชาสังคมมีส่วนสำคัญในการลดแนวคิดสุดโต่งที่นิยมความรุนแรง (violent extremism) เมื่อรัฐบาลมีช่องว่างในการทำงาน ภาคประชาสังคมสามารถเข้าไปช่วยให้ชุมชนที่รู้สึกถูกทอดทิ้งได้มีพื้นที่ในการแสดงออกถึงความต้องการ ลดโอกาสที่ชุมชนจะถูกชักชวนเข้าสู่ขบวนการก่อการร้าย รายงานของผู้รายงานพิเศษด้านการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐานพร้อมการต่อต้านก่อการร้าย ต่อคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติในปี 2562 ถึงกับกล่าวว่า “การปิดกั้นมิให้ภาคประชาสังคมทำงานได้เป็นตัวบ่งชี้ถึงวิสัยทัศน์อันคับแคบ และเป็นการกระทำที่ขาดประสิทธิภาพและไร้ประโยชน์ ทั้งยังเป็นปัจจัยที่ก่อให้เกิดความรุนแรงได้อีกด้วย”

ในขณะที่ร่างกฎหมายฉบับนี้อวดอ้างสรรพคุณว่าการควบคุมเอ็นจีโอจะเป็นส่วนสำคัญในการปราบปรามการฟอกเงินและการสนับสนุนทางการเงินแก่ผู้ก่อการร้าย ข้อมูลข้างต้นแสดงให้เห็นว่าผลลัพธ์ในความเป็นจริงอาจตรงกันข้าม กล่าวคือ กฎหมายฉบับนี้เองอาจกลายเป็นปัจจัยสำคัญที่เบียดขับภาคประชาสังคมออกจากการปกป้องสังคมไทยจากการฟอกเงินและการก่อการร้าย

ประการที่สอง ฉายา ‘เจนีวาแห่งเอเชีย’ ซึ่งประเทศไทยภาคภูมิใจอาจไม่เป็นจริงอีกต่อไป ความอ่อนไหวทางการเมืองและความยากลำบากในการรับเงินทุนสนับสนุนเพื่อทำงานด้านสิทธิมนุษยชนอาจทำให้องค์กรระหว่างประเทศและองค์กรภาคประชาสังคมระหว่างประเทศเริ่มลังเลใจที่จะจัดตั้งสำนักงานระดับภูมิภาคในประเทศไทย หากเป็นเช่นนั้น การพัฒนาขับเคลื่อนสังคมในประเทศคงต้องหยุดชะงักเพราะขาดการสนับสนุนจากนานาประเทศ

ด้วยราคาที่สูงลิ่วเช่นนี้ รัฐบาลจำเป็นต้องพิจารณาอย่างถี่ถ้วนว่า การออกกฎหมายที่อาจทำให้ต้องยอมสละความมั่นคงและการพัฒนาของประเทศเพียงเพื่อรักษาอำนาจทางการเมืองนั้น คุ้มค่าจริงหรือไม่?

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save