fbpx
NFT กับเส้นทางเศรษฐกิจสร้างสรรค์

NFT กับเส้นทางเศรษฐกิจสร้างสรรค์

1.

คำว่า ‘Morons’ มีความหมายว่า ‘ปัญญาอ่อน’ และเป็นคำที่ แบงก์ซี่ (Banksy) ศิลปินกราฟฟิตี้และนักเคลื่อนไหวทางการเมืองชาวอังกฤษ เลือกใช้มาตั้งชื่อภาพสเตนซิลที่เขาทำไว้ในปี 2006

Banksy ตั้งใจล้อเลียนรูปถ่ายที่บันทึกเหตุการณ์งานประมูลหนึ่งในภาพชุดสีน้ำมันของวินเซนต์ แวน โก๊ะห์ (Vincent Van Gogh) ที่ชื่อว่า ‘Sunflower’ ณ สถาบันจัดการประมูลคริสตี้ส์ กรุงลอนดอน เมื่อปี 1987 โดยภาพดังกล่าวได้ถูกขายไปด้วยราคา 22.5 ล้านปอนด์

ในภาพสเตนซิลของ Banksy รูปสีน้ำมันของ Van Gogh ที่ถูกนำมาประมูล ถูกแทนด้วยข้อความภาษาอังกฤษที่แปลได้ประมาณว่า “ฉันไม่อยากเชื่อเลยว่าพวกปัญญาอ่อนอย่างแกจะจ่ายเงินซื้อภาพห่วยๆ แบบนี้ไปจริงๆ” (I can’t believe you morons actually buy this shit.)

เมื่อวันที่ 4 มีนาคมที่ผ่านมา ภาพพิมพ์ต้นฉบับนั้นได้ถูกเผาทิ้งไปในระหว่างการถ่ายทอดสดทางทวิตเตอร์ ทำให้ผู้กำลังติดตามชมไลฟ์ ต่างตกตะลึงไปกับเหตุการณ์ดังกล่าว เพราะภาพที่ถูกเผาไปนั้นเพิ่งถูกซื้อมาจากแกลเลอรี่ในนิวยอร์คด้วยราคาสูงถึง 95,000 เหรียญสหรัฐ หรือราว 3 ล้านบาท

แวบแรกที่อ่านเรื่องราวนี้ ผมอดรู้สึกเสียดายกับรูปภาพสเตนซิลที่ถูกทำลายไม่ได้ และพาลตำหนิคนที่ลงมือกระทำว่าช่างทำพิเรนทร์เหลือเกิน ที่เอางานศิลปะมูลค่านับล้านบาทมาเผาทิ้งแบบนี้

ฤาเหตุการณ์ครั้งนี้ตอกย้ำความปัญญาอ่อนในโลกศิลปะอย่างที่ Banksy เหยียดหยันไว้

มุมมองข้างต้นอาจเป็นเพียงบทสรุปจากตรรกะของคนรุ่นเก่าที่ไม่รู้เท่าทันโลกสมัยใหม่

ภายหลังจากที่ภาพพิมพ์ดังกล่าวถูกเผาเป็นเถ้าถ่านไปไม่นาน เจ้าของภาพดังกล่าวซึ่งเป็นบริษัทบล็อกเชน ได้ผลิตหรือ ‘มินท์’ เหรียญคริปโต (Cryptocurrency) ขึ้น โดยฝังไฟล์รูป ‘Morons’ ไว้กับเหรียญ พร้อมเข้ารหัสข้อมูลไว้ในบล็อกเชน ‘Ethereum’ เพื่อรับรองว่าไฟล์รูปดังกล่าวคือต้นฉบับของจริงและมีเพียงหนึ่งเดียวในโลก  

เหรียญคริปโตหรือโทเคนนั้นถูกนำขึ้นประมูลบนเว็บไซต์ประมูลสินทรัพย์ดิจิตัลที่ชื่อว่า ‘Opensea’ และในที่สุดก็มีผู้ซื้อโทเคนนี้ไปในราคา 380,000 เหรียญสหรัฐ หรือราว 12 ล้านบาท

การเผาภาพพิมพ์ทิ้งกลายเป็นขั้นตอนหนึ่งของการสร้างมูลค่าให้กับภาพสเตนซิลที่ถูกชุบชีวิตขึ้นใหม่ ให้ก่อกำเนิดในโลกเสมือนจริงในรูปของ ‘Non-fungible Token’ (NFT) เพราะมันคือผลงานออริจินัลของภาพ Morons หนึ่งเดียวที่ยังหลงเหลืออยู่

หากจะอธิบายกันตามความหมายที่หาได้บนอินเทอร์เน็ต NFT ก็คือเหรียญดิจิทัลที่มีความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว แตกต่างไปจากเหรียญอื่นๆ

หรือพูดง่ายๆ มันคือไฟล์หรือสื่อดิจิทัลที่มีใบรับรองประทับกำกับไว้ เพื่อยืนยันความเป็นออริจินัลและหนึ่งเดียวของสิ่งนั้น

ดังนั้น สารพัดงานศิลปะ ไม่ว่าจะเป็นรูปถ่าย งานดิจิทัลอาร์ต ภาพเคลื่อนไหว หรือไฟล์เพลง สามารถถูกนำมาแปลงให้อยู่ในสภาพของ NFT ได้หมด แม้แต่ทวีตแรกของแจ๊ค ดอร์ซี่ย์ (Jack Dorsey) ซีอีโอของทวิตเตอร์ ยังถูกนำมาเป็น NFT และนำออกประมูลขายได้ราคาเกือบ 3 ล้านเหรียญสหรัฐ

2.

หนึ่งสัปดาห์หลังการเผาภาพของ Banksy สถาบันประมูลคริสตี้ส์ก็จัดการประมูล NFT ของศิลปินแนวดิจิตัลอาร์ตขึ้นเป็นครั้งแรก

โทเคนที่นำมาประมูลนี้เป็นไฟล์รูปที่นำผลงานศิลปะแนวดิจิทัลของศิลปินที่ชื่อว่า Beeple จำนวนรวม 5,000 รูปมาย่อขนาดและเรียงปะติดกันไว้เป็นภาพเดียว (หรือที่เรียกว่า Collage) งานชิ้นนี้มีชื่อว่า ‘Everydays: the First 5,000 Days’

โทเคนนี้ถูกประมูลไปในราคา 69 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 2 พันล้านบาท ทำให้ Beeple กลายเป็นมหาเศรษฐีภายในชั่วข้ามคืน

ชื่อจริงของ Beeple คือไมค์ วิงเกลมานน์ (Mike Wikelmann) เขาเกิดในรัฐวิสคอนซิล สหรัฐฯ เมื่อปี 1981 ต่อมาเรียนจบในสาขา Computer Science จากมหาวิทยาลัยเพอร์ดู (Purdue University) ของสหรัฐฯ

งานประจำของเขาคือการเป็น Graphic Designer ให้กับบริษัทดังๆ ในสหรัฐฯ เขาใช้เวลาว่างในแต่ละวัน ทำงานศิลปะแนวดิจิทัลที่เขาชอบ โดยได้แรงบันดาลใจจากที่ได้เห็นทอม จัดด์ (Tom Judd) ผลิตงานศิลปะออกมาทุกวันต่อเนื่องเป็นเวลาหนึ่งปีเต็ม

Beeple เริ่มทำโครงการ ‘Everydays’ ของเขาเองในปี 2007 ทุกๆ วัน เขาจะนำงานภาพดิจิทัลที่ทำขึ้นใหม่ โพสต์ลงในสื่อโซเชียลก่อนเที่ยงคืน นับจากวันแรกที่เขาเริ่มโครงการจนถึงทุกวันนี้ เขาไม่เคยเว้นวรรคการลงผลงานเลยแม้แต่วันเดียว ไม่ว่าวันนั้นจะเป็นวันแต่งงานของเขา หรือเป็นวันที่ภรรยาคลอดลูกก็ตาม

งานที่เขาทำต่อเนื่องติดต่อกัน 5,000 วันนี้เองคือที่มาของ NFT ที่คริสตีส์นำมาประมูล

ความสำเร็จของ Beeple เป็นผลพวงของการนำทักษะและจินตนาการมาสร้างผลงานศิลปะอย่างต่อเนื่อง จนเกิดเป็นผลผลิตที่มีมูลค่าสูงทางเศรษฐกิจ ชวนให้นึกถึงคำว่า ‘เศรษฐกิจสร้างสรรค์’ ซึ่งเป็น ‘Buzzword’ ในยุคสมัยหนึ่งที่ภาครัฐพยายามจะผลักดันให้เป็นแนวทางการพัฒนาประเทศในยุคไทยแลนด์ 4.0

ในยุคสมัยนั้น คนส่วนใหญ่ยังมองไม่เห็นศักยภาพของเทคโนโลยีบล็อกเชนในฐานะโครงสร้างพื้นฐานที่รองรับการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาและรักษามูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับงานของผู้สร้างสรรค์นวัตกรรม ดังนั้นเราจึงไม่เห็นความคืบหน้าในเส้นทางที่รัฐบาลวาดฝันไว้

แต่ ณ วันนี้ พื้นฐานสำหรับการก้าวเดินในเส้นทางเศรษฐกิจสร้างสรรค์มีความพร้อมเต็มที่แล้ว ภาครัฐจึงควรเร่งดำเนินการ เพื่อไม่ให้ศิลปินและผู้ประกอบการทั้งหลายตกรถไฟขบวนนี้

3.

ปีที่ผ่านมา มูลค่าตลาดของการค้าเงินคริปโตเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด โดยมูลค่าเฉลี่ยของการซื้อขายในแต่ละวันสูงถึง 1.3 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 4 แสนล้านบาท

เมื่อต้นปี 2020 เหรียญคริปโตซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีอย่าง ‘บิตคอยน์’ (Bitcoin) มีมูลค่าราวหน่วยละ 2 แสนบาท แต่เมื่อวันที่ 14 เมษายนที่ผ่านมานี้ ราคาของบิตคอยน์ทะลุหน่วยละ 2 ล้านบาทไปแล้ว ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีเหรียญคริปโตอีกหลายตัวที่มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้นกว่าร้อยเท่า

ในปีนี้ เป็นที่คาดกันว่าตลาดเงินคริปโตจะยังคงเติบโตต่อเนื่อง และบรรดานักวิเคราะห์ต่างมองว่า NFT จะเป็นส่วนสำคัญในการเติบโตของตลาดปีนี้

โอกาสทางธุรกิจที่มากับการเติบโตของ NFT ไม่ได้จำกัดวงอยู่เพียงในงานศิลปะเท่านั้น แต่ยังขยายอาณาบริเวณไปยัง วงการเกม ทั้งทางแพลตฟอร์มโมบายและทางออนไลน์ รวมถึงในธุรกิจกีฬาอีกด้วย

ทีมฟุตบอลอาชีพชื่อดังในยุโรป อาทิ เอซี มิลาน, ปารีส แซงต์-แชร์กแมง และแมนฯซิตี้ ฯลฯ ได้เปิดการขาย NFT ให้กับแฟนๆ เพื่อให้ผู้สนับสนุนและติดตามสโมสรได้มีส่วนร่วมในกิจกรรมต่างๆ ของสโมสร อาทิ การร่วมโหวตเลือกแบบของชุดแข่ง และการซื้อขายของสะสม เช่น การ์ดนักเตะ

อันที่จริง NFT ถือเป็นนวัตกรรมที่คนทั่วไปอย่างเราๆ ท่านๆ ที่แม้จะไม่ใช่ศิลปินอาชีพ ก็สามารถเข้าถึงและใช้เป็นช่องทางสร้างรายได้เสริมได้เช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น การนำภาพถ่ายสวยๆ ที่อยู่ในมือถือมาขายเป็น NFT  

คนที่อยากนำภาพในมือถือมาทำเป็น NFT เริ่มต้นได้โดยอัพโหลดไฟล์รูปภาพขึ้นเว็บไซต์ขายผลงานศิลปะออนไลน์ อย่างเช่น Opensea หรือ Rarable ซึ่งแต่ละเว็บไซต์มีคำอธิบายขั้นตอนของการแปลงไฟล์ภาพให้กลายเป็นโทเคน เพื่อนำไปขายหรือประมูลต่อไว้ให้ศึกษา หากใครติดขัด หาวิธีทำตามขั้นตอนเหล่านั้นไม่ได้ ก็ไม่ต้องกังวลอะไร เพราะในยุคสมัยนี้ ทางออกของทุกปัญหาสามารถสืบค้นได้จาก Google หรือ Youtube

แต่ส่วนสำคัญในกระบวนการผลิต NFT และนำออกขายคือ เราต้องมีกระเป๋าเงินดิจิทัลหรือวอลเล็ต และต้องมีเงินคริปโตอาทิ อีเธอเรียม เตรียมไว้ก่อน เพื่อใช้เป็นค่าใช้จ่ายสำหรับการมินท์เหรียญ และเป็นค่าธรรมเนียมสำหรับการขายงานบนแพลตฟอร์ม หรือที่เรียกกันว่า ‘ค่าแก๊ส’

จุดนี้เองที่อาจเป็นอุปสรรคทำให้หลายคนถอยห่างจากเส้นทางเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เพราะคนไทยส่วนใหญ่ยังไม่กล้าถือครองเหรียญคริปโต อีกทั้งยังมีทัศนะว่าเหรียญคริปโตคือสินทรัพย์เสี่ยงสุดอันตราย

แม้แต่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เอง ก็ยังกังวลถึงความเสี่ยงของการถือครองเหรียญคริปโตอยู่ไม่น้อย ดังปรากฏในร่างหลักเกณฑ์การกำหนดคุณสมบัติของผู้ลงทุนคริปโต ที่เปิดเผยต่อสาธารณะเมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

ร่างดังกล่าวกำหนดกฎเกณฑ์หลายอย่าง เช่น ผู้ที่จะลงทุนในเหรียญคริปโตต้องมีรายได้ต่อปีอย่างน้อย 1 ล้านบาท และต้องมีประสบการณ์ลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง (อาทิ เหรียญคริปโต หุ้น หรือฟิวเจอร์) ไม่น้อยกว่า 2 ปี และถึงแม้จะผ่านเกณฑ์ดังกล่าวแล้ว การลงทุนในเงินคริปโตยังต้องดำเนินการผ่าน ‘ผู้จัดการเงินทุนสินทรัพย์ดิจิตัล’ เท่านั้น ไม่อาจดำเนินการได้ด้วยตัวเอง

ยังดีที่ข้อกำหนดข้างต้นนั้นเป็นเพียงแค่ร่างที่นำมาเสนอให้สาธารณชนรับทราบก่อน ซึ่งทาง ก.ล.ต.ได้เปิดรับฟังความคิดเห็นเพื่อไปปรับแก้ ก่อนนำออกใช้จริง

หลังได้รับฟังเสียงสะท้อนจากคนในวงการคริปโตของไทย ก.ล.ต.ก็มีมติยกเลิกข้อบังคับเรื่องรายได้ของผู้ลงทุนไป เมื่อวันที่ 1 เมษายนที่ผ่านมา โดยข้อกำหนดที่ปรับแก้นั้น มีเพียงให้นักลงทุนรายใหม่ ผู้ยังไม่เคยมีประสบการณ์ในตลาดคริปโตมาก่อน เข้าคอร์สอบรมความรู้ และผ่านการทดสอบความรู้เบื้องต้น ก่อนที่จะทำการลงทุน

แนวทางที่ ก.ล.ต.เลือกนี้ถือเป็นจุดตั้งต้นที่ดีสำหรับการสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับโอกาสและความเสี่ยงของการถือครองเงินคริปโตให้กับนักลงทุนมือใหม่ และหากโครงการนี้จะสามารถขยายกลุ่มเป้าหมายให้ครอบคลุมไปถึงบุคคลนอกตลาดทุนด้วย ก็จะยิ่งก่อเกิดประโยชน์มากขึ้นไปอีก

กำแพงที่ขวางกั้นไม่ให้ศิลปินและผู้ที่สนใจผลิต NFT จำนวนมากเข้าถึงโอกาสธุรกิจในตลาด NFT คือการขาดความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องรอบด้านเกี่ยวกับเหรียญคริปโต หาก ก.ล.ต.สามารถเติมเต็มตรงนี้ได้ ก็จะช่วยเปิดช่องทางสร้างรายได้เพิ่มเติม และผลักดันให้ประเทศไทยเดินสู่เส้นทางเศรษฐกิจสร้างสรรค์อย่างจริงจังได้เสียที

MOST READ

Economy

15 Mar 2018

การท่องเที่ยวกับเศรษฐกิจไทย

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ตั้งคำถาม ใครได้ประโยชน์จากการท่องเที่ยวบูม และเราจะบริหารจัดการผลประโยชน์และสร้างความยั่งยืนให้กับรายได้จากการท่องเที่ยวได้อย่างไร

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย

15 Mar 2018

Economy

23 Nov 2023

ไม่มี ‘วิกฤต’ ในคัมภีร์ธุรกิจของ ‘สิงห์’ : สันติ – ภูริต ภิรมย์ภักดี

หากไม่เข้าถ้ำสิงห์ ไหนเลยจะรู้จักสิงห์ 101 คุยกับ สันติ- ภูริต ภิรมย์ภักดี ถึงภูมิปัญญาการบริหารคน องค์กร และการตลาดเบื้องหลังความสำเร็จของกลุ่มธุรกิจสิงห์

กองบรรณาธิการ

23 Nov 2023

Economy

19 Mar 2018

ทางออกอยู่ที่ทุนนิยม

ในยามหัวเลี้ยวหัวต่อของบ้านเมือง ผู้คนสิ้นหวังกับปัจจุบัน หวาดหวั่นต่ออนาคต และสั่นคลอนกับอดีตของตนเอง
วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร เสนอทุนนิยมให้เป็น ‘grand strategy’ ใหม่ของประเทศไทย

วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร

19 Mar 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save