fbpx
New Year’s Resolution ซ้ำแล้วซ้ำเล่า

New Year’s Resolution ซ้ำแล้วซ้ำเล่า

 

 ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย เรื่อง

ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพประกอบ

 

1

 

“สิ่งเหล่านี้ (การกำหนดวาระในวันปีใหม่) ได้ทำให้เราสูญเสียความต่อเนื่องในชีวิตและจิตวิญญาณไป  สุดท้ายแล้วคุณเองก็จะลงเอยไปที่การหมกมุ่นครุ่นคิดว่าจะมีการแตกหักระหว่างช่วงเวลาปีหนึ่งกับช่วงเวลาในอีกปีถัดไป ซึ่งมักทำให้คุณคิดว่าประวัติศาสตร์หน้าใหม่กำลังเริ่มต้น และให้พื้นที่กับคุณเพื่อตั้งปณิธานในสิ่งที่จะทำและเสียใจต่อสิ่งที่ตนไม่ได้ทำทั้งหลายทั้งปวง”

นี่คือถ้อยความของอันโตนิโอ กรัมชี ที่ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ Avanti! เมื่อวันที่  1 มกราคม 1916[1]  เวลาผ่านมากว่า 100 ปี มนุษย์ก็ยังคงตั้งปณิธานในวันปีใหม่ไม่เปลี่ยนแปลง  แม้สิ่งที่กรัมชีเขียนจะเสียดแทงใจผู้คน แต่โลกที่กำหนดด้วยวันที่ยังคงขับเคลื่อนตัวเองมาได้โด้โดยไม่เปลี่ยนแปลงหรือสูญสลายไป

กรัมชีบอกว่า “วันที่คืออุปสรรคที่เป็นดั่งกำแพง ซึ่งหยุดยั้งเราจากการพบว่าประวัติศาสตร์นั้นดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง ภายใต้เส้นกำกับที่ไม่เคยเปลี่ยนและไม่เคยหยุด เช่นเดียวกับในโรงภาพยนตร์ที่เมื่อฟิล์มหมดม้วนก็จะยังคงมีแสงวาววับในระหว่างที่เปลี่ยนฟิล์ม”

ในความจริง ประวัติศาสตร์ไม่เคยเลื่อนไหลเป็นธรรมชาติอย่างไม่มีรอยต่อ โลกถูกกำหนดกะเกณฑ์ด้วยวันที่อย่างเป็นระเบียบแบบแผน มนุษย์อธิบายประวัติศาสตร์จากการไล่เรียง ค.ศ. และดำเนินต่อเรื่อยมาในยุคปัจจุบัน ทั้งการจัดปีงบประมาณ การวางแผนครอบครัว หรือกำหนดอายุการศึกษาและอายุงาน  มนุษย์ไม่เคยหลุดพ้นจากวันที่ นั่นทำให้ทุกอย่างแบ่งอย่างเป็นระบบ ดูเป็นขั้นเป็นตอน  และถึงแม้ว่ากาลเวลาจะไหลเหมือนสายน้ำ แต่มนุษย์ก็จะหาจังหวะให้ ‘หยุด’ เวลาไว้ได้ ไม่ช่วงใดก็ช่วงหนึ่ง แม้ว่าห้วงเวลานั้นจะเป็นเพียงเรื่องสมมติก็ตาม

 

2

 

31 ธันวาคม 2018 ฉันนอนอยู่บ้าน ผ่านคืนข้ามปีไปอย่างเบื่อหน่าย ได้ยินเสียงพลุดังยาวนานกว่า 10 นาที เมื่อนั้นจึงรู้ว่าเราข้ามมาสู่ศักราชใหม่แล้ว แม้อีกซีกโลกจะนำเราไปก่อนแล้วหลายประเทศ  ฉันเดินไปเคาะห้องนอนพ่อ พ่อนอนหลับสบายในห้องแอร์เย็นฉ่ำ  “สวัสดีปีใหม่นะพ่อ” ฉันกล่าวไปในความมืด พ่อสะลึมสะลือตอบมาว่า “ปีใหม่แล้วเหรอลูก… มีความสุขมากๆ” ฉันตอบไปว่าให้พ่อมีความสุขเช่นกัน แล้วก็แยกย้าย เรียบง่ายเช่นนี้

น่าแปลกใจว่าห้วงเวลานั้นพิเศษกว่าคืนอื่นๆ อย่างไร ทำไมเราถึงเพิ่งมาอวยพรให้พ่อมีความสุข ทั้งๆ ที่เราก็อยากให้พ่อมีความสุขตลอดเวลาอยู่แล้ว แต่นึกๆ ไป การจะไปขอให้ใครมีความสุขในทุกๆ วันคงเป็นเรื่องประหลาดและน่าเบื่อหน่าย การหาโอกาสขึ้นมาสักวันจึงเป็นการแก้ปัญหาที่ยอดเยี่ยม

ระหว่างรอไปรับแม่กลับจากสวดมนต์ข้ามปี ฉันเปิดเฟซบุ๊กไล่อ่าน New Year’s Resolution ของเพื่อนแต่ละคน พบว่าเป้าหมายหลักคือออกกำลังกายนำมาอันดับหนึ่ง เก็บเงินให้ได้ตามมาเป็นอันดับสอง และมีแฟนทิ้งห่างมาเป็นอันดับสาม  มองระหว่างบรรทัดลงไป พบว่าคนยังสนใจเรื่องสุขภาพ ฐานะทางการเงิน และหัวใจ ซึ่งเป็นเรื่องพื้นฐานที่เราพยายามรักษาสมดุลอยู่แล้วไม่ว่าจะผ่านไปกี่ปี ดังนั้นไม่ว่าเราจะตั้ง New Year’s Resolution กี่ครั้งต่อกี่ครั้ง เราก็มักหนีไม่พ้นเรื่องราวเหล่านี้ คล้ายเป็นสัจธรรมที่เราไม่มีทางหลุดพ้น

เมื่อ 2 ปีที่แล้ว ฉันเขียน New Year’s Resolution ไว้ว่า อยากไปเที่ยวต่างประเทศ เรียนจบปริญญาโท มีเงินเก็บมากขึ้น และออกกำลังกายทุกวัน — ตัดภาพมาที่ความจริง ฉันทำได้แค่ 2 ข้อ คือ ไปเที่ยวต่างประเทศ และเรียนจบปริญญาโท ส่วนเรื่องมีเงินเก็บกับออกกำลังกายทุกวันนั้นลืมไปได้เลย เพราะแค่จะเรียนโทให้จบนั้นต้องใช้เงิน ทั้งค่าหนังสือ ค่านั่งทำงานดึกดื่น ค่ากินข้าวกินเบียร์แก้เครียด ค่าทำวิจัย ฯลฯ ส่วนเรื่องออกกำลังกายไม่ต้องพูดถึง แค่มีเวลานอนก่อนตี 2 ก็นับเป็นเรื่องประเสริฐที่สุดในชีวิตแล้ว

มาวันนี้ฉันจึงค้นพบว่า การตั้ง New Year’s Resolution ที่ดี จึงไม่ใช่การกวาดต้อนเอาทุกอย่างที่อยากทำไว้ในเป้าหมาย แต่คือการสร้างสมดุลในชีวิต และประเมินตัวเองให้ได้ว่าอะไรที่ทำแล้วมีความสุขและไม่ฝืนตัวเองเกินไป

หลายครั้งในวงเหล้า พี่ชายพูดกับฉันเรื่องชีวิต มีบางประโยคที่จำได้ไม่แม่นยำนัก แต่จำ ‘แก่น’ ของเรื่องได้แม่น เขาบอกว่า ชีวิตก็เหมือนการเข็นก้อนหินขึ้นไปบนยอดเขา ถึงจุดหนึ่งหินก็ไหลลงมา แล้วเราก็นับหนึ่งใหม่อย่างนี้เรื่อยไป ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าจะถึงยอดเมื่อไหร่  เมื่อคิดถึงการตั้งเป้าหมายปีต่อปี ฉันพบว่าคล้ายกันอย่างน่าประหลาด  ใน 1 ปี เราเข็นหินขึ้นไปได้ถึงจุดที่คิดว่าสูงพอ แล้วก็ต้องเริ่มใหม่เมื่อหินหล่นลงมาอีกครั้ง ทำอยู่อย่างนี้วนไปเป็นวัฏจักร  ทั้งที่แท้จริงแล้ว เราอยู่ในจักรวาลชีวิตที่ไม่มีเส้นแบ่งชัดเจน แต่การได้นับหนึ่งใหม่เรื่อยๆ นี้ อาจเป็นแรงขับหนึ่งที่ทำให้มนุษย์มีเหตุผลเพียงพอที่จะใช้ชีวิตอยู่ต่อ

เส้นแบ่งปีใหม่อาจมีประโยชน์ในแง่นี้ — แง่ที่ทำให้เรามีเวลาหยุดพักหายใจหายคอ

 

3

 

ทำไมเราต้องหาเวลาหยุดพักหายใจหายคอ ชีวิตเหนื่อยหนักขนาดนั้นเลยหรือ ถ้าตอบแบบกำปั้นทุบดินก็คือ ใช่ ชีวิตมันเหนื่อย เป็นวัยรุ่นมันเหนื่อย เป็นคนทำงานก็เหนื่อย เป็นผู้ใหญ่ก็เหนื่อย (โว้ย) แต่นั่นก็เพราะเราทุกคนต่างพยายามเข็นก้อนหินขึ้นไปบนยอดเขา

ฉันพยายามจะเป็นคนขี้เกียจ แต่พบว่าแม้แต่ตอนที่นั่งอยู่เฉยๆ ถ้าอยากกินเบียร์ก็ต้องหาเงินมาซื้อ ดังนั้น แม้แต่คนที่ขี้เกียจที่สุดก็ยังต้องเข็นหิน แต่นั่นอาจไม่ใช่เรื่องที่ต้องมานั่งทุกข์ อย่างน้อยเราก็ยังดื่มเบียร์ได้ มองไปรอบข้างก็มีเพื่อนเข็นหินด้วยกันตั้งเยอะแยะ — ปล่อยใจให้สบาย เข็นหินไปด้วย จิบเบียร์ไปด้วย และถ้าทำได้ ก็อย่าเลือกก้อนหินที่ใหญ่เกินไป

เราวางเป้าหมายทุกปี พยายามจะทำให้ทะลุเป้าไม่มีผิดพลาด แต่อย่าลืมไปว่านี่คือการใช้ชีวิต และชีวิตมีข้างทางที่งดงามให้แวะชม มากกว่าจะเข็นหินขึ้นเขาอย่างเดียว

ปีใหม่นี้ หนึ่งใน New Year’s Resolution ของฉันคือ อย่าลืมจิบเบียร์ตอนเข็นหิน

 

 

 

[1] แปลจากบทความภาษาอังกฤษ โดย วัชรพล พุทธรักษา อาจารย์ประจำคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร และ อรรถสิทธิ์ สิทธิดำรง อาจารย์ประจำหลักสูตรรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ (มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 9-15 มกราคม พ.ศ.2558)

 

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save