fbpx

ปณิธานปีใหม่

ช่วงเข้าปีใหม่คนหลายเชื้อชาติจะมีธรรมเนียมตั้ง ‘ปณิธานปีใหม่ (New Year’s Resolutions)’ กัน แม้ว่าจะดูเป็นเรื่องทางธรรมเนียมหรือวัฒนธรรมและประเพณีอยู่ประมาณหนึ่ง แต่ก็มีแง่มุมทางจิตวิทยาที่น่าสนใจอยู่พอสมควร 

แถมยังมีสถิติที่เมื่อดูพลวัตหรือความเปลี่ยนแปลงแล้ว ก็น่าสนใจจนน่าจะนำมาเล่าสู่กันฟัง 

ขอเริ่มจากเกร็ดประวัติศาสตร์กันก่อนครับ ใครจะไปนึกว่าธรรมเนียมการตั้งปณิธานเมื่อเริ่มขึ้นปีใหม่จะย้อนกลับไปเก่าแก่ถึง 4,000 ปีก่อน! 

มีหลักฐานว่าพวกบาบิโลเนียนตั้งปณิธานปีใหม่ด้วยเช่นกัน แต่ปีใหม่ของพวกเขาไม่ได้อยู่ที่วันที่ 1 มกราคมนะครับ แต่จะอยู่แถวๆ กลางเดือนมีนาคมในช่วงเฉลิมฉลองการเพาะปลูกข้าวบาเลย์ในฤดูใบไม้ผลิ เทศกาลที่ว่าทำกันยาวนาน 12 วัน เรียกว่า เทศกาลอะกิตู (Akitu) [1]

เรื่องยอดนิยมที่พวกบาบิโลเนียนทำและคนสมัยใหม่น่าทำตามบ้าง ได้แก่ การสัญญากับทวยเทพว่าจะจ่ายหนี้สินและนำสิ่งของที่หยิบยืมใครต่อใครมาไปคืนเจ้าของ โดยเชื่อว่าการทำเช่นนั้นจะทำให้บรรดาเทพโปรด แต่หากล้มเหลวก็จะโดนลงโทษ เรียกว่ามีแรงจูงใจสูงอยู่

ใครล่ะจะไปอยากผิดสัญญากับเทพเจ้า! 

ผ่านมาอีก 2,000 ปี ล่วงมาถึงยุคของจูเลียส ซีซาร์ แห่งอาณาจักรโรมัน มีการปรับให้วันที่ 1 มกราคมเป็นวันขึ้นปีใหม่ ชื่อเดือน January ก็มาจากเทพเจนัส (Janus) ที่มี 2 หน้าและยืนอยู่ที่โค้งประตู ใบหน้าหนึ่งแลหลังกลับไปยังปีที่ผ่านมา ขณะที่อีกใบหน้าหนึ่งมองตรงไปยังปีที่กำลังมาถึง ชาวโรมันบูชาเทพและอธิษฐานตั้งปณิธานว่าจะทำความดีในปีที่กำลังมาถึงไม่ต่างจากพวกบาบิโลเนียนเช่นกัน  

ความเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนเรื่องหนึ่งคือ ปณิธานปีใหม่ของคนยุคปัจจุบันไม่มีเรื่องของเทพเจ้าหรือความเชื่อทางศาสนามาเกี่ยวข้องอีกแล้ว จึงน่าสงสัยว่านี่เป็นสาเหตุที่ทำให้ขาดแรงจูงใจที่สำคัญไปอย่างหนึ่งหรือไม่?  

มาดูกันต่อเรื่องความนิยมเกี่ยวกับการตั้งปณิธานกัน ใคร กลุ่มใด ที่นิยมตั้งปณิธานปีใหม่กันแน่ และมีมากน้อยเพียงใด?  

การสำรวจในคนอเมริกัน 5 ครั้งในหลายปีพบว่า เฉลี่ยแล้วมีอยู่เกือบ 40% (38.5%) ของผู้ใหญ่ชาย-หญิงที่มักถือโอกาสตั้งความหวังเมื่อปีใหม่มาถึง [2] โดยมีอยู่ราวครึ่งหนึ่ง (52.6%) ที่ตั้งเป้าไปที่เรื่องเดียว ส่วนที่เหลือตั้งเป้ามากกว่า 1 ข้อ 

หากเจาะลึกลงไปดูเฉพาะในกลุ่มคนหนุ่มสาว (อายุ 18–34 ปี) พบว่ามีอยู่ถึง 59% ที่ตั้งปณิธานทำนองนี้ ถือเป็นกลุ่มใหญ่ที่สุด เรียกว่าเป็นกลุ่มคนที่เปี่ยมไปด้วยความหวังของวันเวลาใหม่มากที่สุดก็คงไม่ผิด ขณะที่พวกอายุใกล้เกษียณ (อายุ 55 ปีขึ้นไป) มีสัดส่วนคนที่ทำแบบนี้น้อยกว่าพวกคนหนุ่มสาวถึง 3 เท่า แสดงให้เห็นถึงมุมมองต่อวันเวลาและการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไป  

อีกประเด็นที่น่าสนใจก็คือ พวกพ่อแม่ที่มีลูกก็ตั้งปณิธานมากเช่นกันคือราว 54% ซึ่งหากเปรียบเทียบกับคู่แต่งงานที่ไม่มีลูกแล้ว ก็ถือว่ามีสัดส่วนมากเป็น 1.6 เท่า 

อ่านมาถึงตรงนี้น่าจะพอรู้สึกกันได้ไม่ยากว่า คนที่มีความหวังหรือมีเรื่องที่ต้องรับผิดชอบชัดเจนในชีวิตจะมีแรงจูงใจให้คิดหวังตั้งใจเปลี่ยนแปลงตัวเองมากกว่า 

คราวนี้มาดูว่า ปณิธานที่มักจะตั้งกันไว้นั้น มีอะไรบ้างที่ติดอันดับยอดนิยมบ้าง

ปณิธานปีใหม่ยอดนิยม 3 อันดับแรกของคนทุกเพศในโลกยุคใหม่ สำรวจในประเทศต่างๆ พบว่าเกี่ยวข้องกับสุขภาพเป็นส่วนใหญ่ ไม่ว่าจะเป็น (1) การอยากออกกำลังกายให้มากขึ้น (2) การต้องการกินอาหารที่ดีต่อสุขภาพมากขึ้น และ (3) ความต้องการลดน้ำหนัก 

ในจำนวนผู้ให้ข้อมูลมีอยู่ 48% ตั้งเป้าเรื่องการออกกำลังให้มากขึ้น ทำให้เรื่องนี้กลายเป็นปณิธานอันดับ 1 หากมองเจาะลงไปเป็นรายประเทศพบว่า คนสวิสตั้งเป้าเรื่องเกี่ยวข้องกับสุขภาพทางกายมากถึง 70%       

ขณะที่ปณิธานอันดับ 4  ได้แก่ ความต้องการเก็บเงินให้ได้มากขึ้น 

การศึกษาวิจัยในอังกฤษได้ผลว่า เป้าหมายยอดนิยมทั้งหมดนี้คล้ายคลึงกันทั้งในเพศชายและหญิง แต่หากนำเปอร์เซ็นต์มาเปรียบเทียบจะพบว่า มีผู้หญิงจำนวนมากกว่าที่จริงจังกับการตั้งปณิธานทำนองนี้ เช่น ผู้หญิงที่ต้องการมีน้ำหนักที่ลดลง หากเทียบกับชายก็ได้ค่าเป็น 44% : 34% 

ในทางกลับกัน ผู้ชายอังกฤษจะตั้งเป้าที่ความก้าวหน้าในอาชีพการงานมากกว่า (23% เทียบกับ 16%) และลดการดื่มแอลกอฮอล์ลง (19% ต่อ 11%)  

โรคโควิดส่งผลกระทบกับการตั้งปณิธานปีใหม่บ้างหรือไม่?

เฉพาะในกลุ่มคนที่ตั้งเป้าหมายปีใหม่ มีการสำรวจพบว่าหลังจากเกิดการระบาดของโควิดมีอยู่  75% ของคนกลุ่มนี้ที่ตั้งเป้าเรื่องการมีสุขภาพจิตที่ดี การกินอาหารที่ดีต่อสุขภาพ และการเก็บเงินให้มากขึ้น สะท้อนให้เห็นเรื่องความห่วงใยสุขภาพ และความกังวลเกี่ยวกับอนาคตของเศรษฐกิจที่ไม่แน่นอน 

ปณิธานปีใหม่ลำดับที่รองลงไปที่กล่าวไปแล้ว ครอบคลุมหลายหมวดหลายเรื่อง มีทั้งเรื่องความก้าวหน้าในอาชีพการงาน การใช้เวลากับโซเชียลมีเดียให้น้อยลง การเริ่มงานอดิเรกใหม่ๆ การลดการดื่มแอลกอฮอล์ลง การปรับปรุงหรือตกแต่งบ้าน การใช้เวลากับครอบครัวให้มากขึ้น การร่วมงานการกุศลและการบริจาคให้มากขึ้น รวมไปถึงการเลิกสูบบุหรี่

คนที่ตั้งปณิธานปีใหม่ประสบความสำเร็จมากน้อยเพียงใด?

หลายคนอาจจะเดาถูกว่า มีคนน้อยมากที่ประสบความสำเร็จตามที่ตั้งใจไว้ เพียงแค่ผ่านสัปดาห์แรกของปีใหม่ไปก็มีคนเกือบ 1 ใน 4 (23%) ที่ล้มเลิกความตั้งใจเสียแล้ว (เร็วมาก!) 

การศึกษาในออสเตรเลียและอังกฤษพบว่ามีอยู่ 64% ที่เลิกล้มความตั้งใจหลังสิ้นสุดเดือนมกราคม [3] ขณะที่แอปชื่อ สตราวา (Strava) แอปยอดนิยมที่ใช้ช่วยเก็บข้อมูลการวิ่งหรือปั่นจักรยาน สรุปจากข้อมูลผู้ใช้งานว่า คนส่วนใหญ่จะล้มเลิกความตั้งใจในวันศุกร์สัปดาห์ที่ 2 ของเดือนกุมภาพันธ์ 

จนทางแอปขนานนามวันดังกล่าวว่าเป็นวันของผู้ล้มเลิก (Quitters day)! 

มีงานวิจัยชิ้นหนึ่งสรุปว่ามีเพียง 9% ของคนที่ตั้งปณิธานปีใหม่เท่านั้นที่สามารถยืนระยะทำตามความตั้งใจไปจนถึงสิ้นปีได้ ส่วนงานวิจัยอีกชิ้นหนึ่งใน ค.ศ. 2017 ที่ระบุตัวเลขใกล้เคียงกันที่ 12% [4]

ทำไมคนส่วนใหญ่หรือแทบจะทั้งหมดไม่สามารถรักษา ‘ปณิธานปีใหม่’ เอาไว้ได้?

เมื่อไปถามแต่ละคนดู คำตอบที่เป็นสาเหตุความล้มเหลวได้แก่ ขาดแรงจูงใจ (35%) ยุ่งมากเกินไป (19%) เปลี่ยนใจเรื่องเป้าหมายและลำดับก่อนหลังที่ตั้งไว้ (18%) และอื่นๆ (28%) 

แต่นักวิชาการบางคนก็มองว่า เหตุผลหลักน่าจะอยู่ที่จังหวะเวลา อธิบายแบบง่ายๆ คือ คนที่ตั้งเป้าหมายไว้ ไม่มีความพร้อมในขณะนั้นอย่างมากเพียงพอ และสุดท้ายก็ต้องยอมยกเลิกไป เพราะขาดทั้งแรงจูงใจ ไม่ได้จัดลำดับความสำคัญก่อนหลังของเป้าหมาย และบางคนยังเปลี่ยนเป้าหมายไปเรื่อย 

ในทางกลับกัน พบว่าคนที่ประสบความสำเร็จทำตามปณิธานได้ มักจะมีตัวกระตุ้นและพลังใจมากกว่า หลังจากผ่าน 6 เดือนแรกไปแล้ว ปัจจัยสำคัญที่ช่วยได้เป็นอย่างมากให้ยังมุ่งมั่นทำต่อไปได้ก็คือ การสนับสนุนช่วยเหลือจากคนรอบข้าง

นอกจากปัจจัยต่างๆ ที่กล่าวไปแล้ว หากต้องการประสบความสำเร็จ มีเรื่องอะไรอีกบ้างที่ควรตระหนัก?

คำแนะนำคือให้เลือกหัวข้อที่รู้สึกเกี่ยวข้องกับเรามากที่สุด และอยู่ในช่วงเวลาที่เหมาะเจาะที่สุดที่จะเริ่มทำ [5] อีกอย่างที่ทำได้คือ แบ่งเป้าหมายให้ย่อยลงหรือละเอียดมากขึ้น เช่น แทนที่จะตั้งเป้าหมายเพียงแค่เรื่องการกินอาหารที่ดีต่อสุขภาพ ให้ลองเริ่มจากการเปลี่ยนสิ่งที่กินในอาหารเช้าให้มีสุขภาพดีก่อน คล้ายๆ กับลดเป้าลงเหลือแค่ 1 ใน 3 ก่อน  

ถ้าชวนคนใกล้ตัว ไม่ว่าจะเป็นคนในครอบครัวหรือเพื่อนสนิทมาร่วมตั้งเป้าหมายร่วมกัน ก็จะช่วยเสริมแรง สร้างกำลังใจให้สำเร็จได้ง่ายขึ้น การเดินคุยกัน 2 คน ทำให้เดินได้ทนและเพลิดเพลินกว่าก้มหน้าก้มตาเดินคนเดียวมาก ที่สำคัญทำให้ล้มเหลวน้อยลง เพราะอดเกรงใจเพื่อนร่วมเดินไม่ได้  

คำแนะนำข้อสุดท้าย อาจจะฟังดูไม่เกี่ยวข้องสักเท่าไหร่ แต่ผู้เชี่ยวชาญระบุว่าเกี่ยวข้องเป็นอย่างยิ่ง ได้แก่ การปรับปรุงเรื่องการนอนหลับให้มีคุณภาพดีขึ้น นอนและตื่นให้เป็นเวลาที่แน่นอน และนอนหลับสนิทให้ได้ชั่วโมงมากพอ 

อาจจะถูกของอริสโตเติลที่ว่า “เราก็เป็นสิ่งที่เราทำอย่างซ้ำๆ” นั่นแหละครับ ถ้าพอเริ่มทำได้บ้างแล้ว ก็เดินหน้าต่อไปอย่าหยุดยั้ง เราก็จะทำตาม ‘ปณิธานปีใหม่’ ได้สำเร็จเอง. 

References
1 https://www.history.com/news/the-history-of-new-years-resolutions
2 https://insideoutmastery.com/new-years-resolution-statistics/
3 https://insideoutmastery.com/new-years-resolution-statistics/
4 https://discoverhappyhabits.com/new-years-resolution-statistics/
5 https://www.inc.com/marcel-schwantes/studies-show-91-percent-of-us-wont-achieve-our-new-years-resolutions-how-to-be-9-percent-that-do.html

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save