fbpx
อยากได้พรปีใหม่?

อยากได้พรปีใหม่?

นำชัย ชีววิวรรธน์ เรื่อง

ปทิตตา วาสนาส่งชูสกุล ภาพประกอบ

 

เมื่อถึงวาระปีใหม่เวียนมาบรรจบอีกครั้ง สมัยก่อนผู้หลักผู้ใหญ่มักจะอวยพรให้ผู้น้อยมี ‘อายุ วรรณะ สุขะ พละ และปฏิภาณ’ หรืออาจจะเต็มที่กว่านั้น คือเพิ่ม ‘ธนสารสมบัติ สรรพสิริสวัสดิ์พิพัฒนมงคล

เข้าไปด้วย บรรดาลูกหลาน ลูกน้องก็จะมีความสุขจากการได้รับพร มีขวัญและกำลังใจ ประหนึ่งพรนั้นจะเกิดขึ้นจริงในปีที่กำลังมาถึง

ในทางวิทยาศาสตร์ อยากได้ปฏิกิริยา (reaction) ก็ต้องใส่กิริยา (action) เข้าไปก่อนให้สอดคล้องกัน เรื่องนี้พ้องกับลักษณะอย่างหนึ่งของศาสนาพุทธที่เน้นการลงมือปฏิบัติเช่นกัน พรในศาสนาพุทธจึงเป็นแค่ขวัญและกำลังใจ รวมถึงอาจจะเป็นเครื่องเตือนใจให้เร่งปฏิบัติตัวให้ตรงกับ ‘เหตุ’ เพื่อให้ได้ ‘ผล’ ตามพรนั้นๆ

ถ้าอย่างนั้น จะให้มี ‘อายุยืน ผิวพรรณสดใส มีความสุข มีร่างกายแข็งแรง และมีสติปัญญาเฉียบแหลม’ จะต้องทำอย่างไร?

งานวิจัยทางวิทยาศาสตร์มีคำตอบที่ค่อนข้างแน่ชัดในเรื่องนี้อยู่พอสมควรครับ

มาดูเรื่องอายุยืนกันก่อน

คำแนะนำคือ ให้ทำตาม ‘หลักสุขศึกษา’ เลยครับ แน่ะ รุ่นนี้อาจไม่รู้จักสุขศึกษา (ฮา) เอาเป็นว่าหลักพวกนี้พูดง่ายมาก แต่ทำยากทุกข้อ นั่นก็คือ ให้กินอาหารให้ครบ 5 หมู่ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ และข้อสุดท้ายคืออย่าเครียด

ข้อหลังสุดนี้ แม้แต่หมอส่วนใหญ่ที่แนะนำให้ทำ ตัวเองก็มักจะทำไม่ได้ (ฮา)

ขยายความนิดนึงนะครับ เรื่องนอนหลับให้พอนี่ แต่ละคนไม่เหมือนกันนะครับ จำนวนชั่วโมงที่นอนแล้ว ‘พอ’ นี่  ฉะนั้นก็ต้องสังเกตร่างกายตนเองกัน บางคนนอนไม่ถึง 7 ชั่วโมง ก็สดชื่นแล้ว แต่บางคนต้อง 8 ชั่วโมงขึ้นไป

การออกกำลังกายก็เช่นกันครับ ขึ้นกับสภาพร่างกายด้วย ไม่จำเป็นต้องออกกำลังกายให้หนักหน่วงแบบที่เคยเชื่อกันว่าต้องแอโรบิกถึงจะดี หัวใจได้เต้นตุ้บๆ ฉีดเลือดอย่างหนักหน่วง ถึงจะแข็งแรงและอายุยืน มีงานวิจัยของนักวิจัยที่สถาบันมะเร็งแห่งชาติในรัฐแมรีแลนด์ ประเทศสหรัฐอเมริกา[1] ระบุว่า แค่เดิน 8,000 ก้าวต่อวัน ก็สามารถช่วยลด ‘โอกาสเสี่ยง’ จากโรคและความเจ็บป่วยต่างๆ โดยรวมได้ถึง 50% หากเทียบกับคนที่ไม่เดินหรือเดินไม่ถึง และหากเดินมากถึง 12,000 ก้าวก็จะยิ่งดีขึ้นไปอีกมากๆ

แถมยังไม่ขึ้นกับวิธีการเดินด้วยว่า ต้องเดินเร็ว เดินจ้ำ หรือเดินช้าๆ เอื่อยๆ แค่ไหน ขอแค่เดินให้มีจำนวนก้าวถึงก็พอแล้ว!

ส่วนวิธีการคลายเครียดนั้น วิธีที่ดีที่สุดวิธีหนึ่ง (แต่อาจจะไม่ได้เหมาะกับทุกคน) คือ การนั่งสมาธิ คนในประเทศตะวันตกหันมาศึกษาเรื่องสมาธิกันจริงจัง โดยเฉพาะการใช้เครื่องมือไฮเทคทดสอบขณะพระทิเบตที่อยู่ภายใต้การนำของท่านทะไลลามะนั่งสมาธิ โดยทำกันมานานหลายทศวรรษแล้วครับ

เรื่องผลดีนี่แทบจะไม่ต้องสงสัยกันอีกต่อไปแล้วคือ ช่วยให้ผ่อนคลาย มีสติและสมาธิดีขึ้น รวมถึงเครียดน้อยลงจริงๆ

ผมว่าเรื่องหนึ่งที่คนสมัยนี้อาจจะฟังดูแล้วรู้สึกเหลือเชื่อก็คือ เรารู้จากงานวิจัยในสัตว์ทดลองมานานแล้วว่า สิ่งมีชีวิตที่กินอาหารน้อยกว่ากลับมีอายุยืนกว่าพวกกินเยอะกว่าอย่างชัดเจน รวมตั้งแต่สิ่งมีชีวิตเซลล์เดียวอย่างยีสต์ที่ใช้ทำขนมปัง ไปจนถึงหนอน หนู และปลา เรียกว่าอดๆ อยากๆ แล้วจะแข็งแรงกว่าพวกที่กินเยอะๆ สวาปามไม่หยุดหย่อน!

อันที่จริงมีงานวิจัยที่ทำในลิงด้วย ทำให้รู้ว่าตัวที่กินอาหารที่มีแคลอรีน้อยกว่าพรรคพวก 30% มีชีวิตยืนกว่าอย่างมีนัยสำคัญ[2] คนซึ่งมีวิวัฒนาการใกล้ชิดกับลิง มีสรีรวิทยาที่คล้ายคลึงกันมาก ก็มีแนวโน้มจะเป็นแบบเดียวกันนะครับ

เรื่องนี้ก็สอดคล้องกันดีกับเทรนด์เรื่องการทิ้งช่วงอดอาหารต่อกันนานๆ หลายชั่วโมงที่เรียกว่า การกินแบบไอเอฟ (IF, Intermittent Fasting Diets) ที่จำกัดเวลาที่ใช้กินต่อวันเหลือแค่ 6-8 ชั่วโมง ที่เหลือนอกจากน้ำเปล่าก็ไม่กินอะไรอีก หรือบางคนก็ใช้วิธีกินอาหารในปริมาณกลางๆ ลดลงจากปกติราวๆ สองวันต่อสัปดาห์

เมื่อศึกษาดูก็พบว่า วิธีการแบบนี้อาจจะไปกระตุ้นทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า การสลับเมตาบอลิก (metabolic switching) คล้ายๆ กับหลอกร่างกายว่า เฮ้ย เริ่มอดอยากไม่มีอะไรกินละ เอาไขมันที่สะสมไว้ออกมาใช้ซะดีๆ!

ผลคือ มีการควบคุมน้ำตาลในเลือดดีขึ้น ลดความดันเลือด ลดระดับไขมันในเลือด ลดอัตราการเต้นของหัวใจ ทนความเครียดได้ดีขึ้น และยังเกิดอาการอักเสบต่างๆ น้อยลงด้วย[3]

ผลพลอยได้ของวิธีการกินแบบนี้คือ ลดน้ำหนักได้ดีด้วยครับ สนใจละสิ ฮาๆ

แต่ก็นั่นแหละครับ เรื่องนี้ก็เหมือนกันกับเรื่องอื่นๆ ข้างต้นคือ ไม่ใช่ทำได้ทุกคน ต้องอาศัยกำลังใจไม่น้อยทีเดียว เพราะขัดกับธรรมชาติของมนุษย์ที่กลัวอดอยาก จึงต้องกินตุนไว้ก่อน อันนี้ฝังลึกในสัญชาตญาณเลย

ร่างกายมนุษย์ยุคหินอาจจะอิ่มๆ อดๆ ตามปริมาณอาหารที่เปลี่ยนแปลงไปตามฤดูกาลเป็นเรื่องปกติ ตอนมีเยอะก็กินตุนไว้ ตอนมีน้อยก็อดเอาได้ จึงไม่น่าแปลกใจว่า ร่างกายน่าจะปรับตัวให้เข้ากับธรรมชาติในรูปแบบนี้มาเป็นล้านปี แต่ตอนนี้เราเข้าสู่ยุค ‘จะกินก็ไปปากซอย’ หรือ ‘แค่เดินไปที่ตู้เย็น’ มาร้อยกว่าปีแล้ว

การจะแก้ความเคยชิน…เป็นเรื่องไม่ง่ายเลยจริงๆ

มาต่อที่เรื่องผิวพรรณงดงามกันครับ

ข้อนี้งานวิจัยบอกว่า อย่าไปโดนแดดเยอะ แสงยูวีในแดดจะทำให้เซลล์เสื่อมง่าย เกิดการกลายพันธุ์ได้ง่ายขึ้น จึงไม่แปลกที่พวกอาบแดดอาจจะเป็นมะเร็งผิวหนังง่ายไปด้วย ใครที่ต้องทำงานกลางแดด ก็ต้องใส่เสื้อผ้าป้องกันตัวเองหน่อย อาจจะร้อนสำหรับเมืองร้อนแบบบ้านเรา แต่ก็คงต้องทนครับ

ในทางกลับกันพบว่า สิ่งมีชีวิตที่อยู่ในอากาศเย็น จะมีอายุขัยเฉลี่ยยืดยาวกว่าพวกเดียวกันที่อยู่ในที่ร้อนกว่า เลือกทำเลที่อยู่เย็นๆ หรือใช้แอร์ช่วยบ้าง ก็ทำให้เซลล์ ‘ชำรุด’ ช้าลง ยืดอายุได้นิดหน่อย พวกนี้ไม่ใช่เรื่องพูดกันลอยๆ นะครับ มีงานวิจัยที่ศึกษาอย่างยาวนานในมนุษย์สนับสนุนอยู่[4]

พวกสารต่างๆ ที่อ้างกันในโฆษณาว่า ช่วยกำจัดอนุมูลอิสระ ช่วยให้ไม่แก่กว่าวัย หรือโม้กระทั่งทำให้ย้อนวัยได้ มักไม่ค่อยเวิร์กเท่าไหร่นะครับ เพราะในงานวิจัยเรื่องพวกนี้ มักจะศึกษากันในระดับเซลล์ แต่การซื้อแบบเม็ดมากินนี่ กว่าสารจะผ่านระบบย่อยอาหารและดูดซึม เดินทางจนไปถึงเซลล์ แต่เซลล์ก็น่าจะเหลือน้อยมากหรือไม่เหลือแล้ว

จะให้ถูกต้องจริงๆ คือ ต้องทำให้ร่างกายแข็งแรงตามข้อต่างๆ ที่ว่าไปแล้วข้างต้น เดี๋ยวร่างกายก็ผลิตสารต้านอนุมูลอิสระออกมาเยอะๆ เอง

พวกวิตามินนี่ น่าจะช่วยได้บ้าง ถ้าพอมีเงินจ่ายนะ เพราะราคาเอาเรื่องอยู่ ปกติคนเรากินอาหารไม่ค่อยครบ 5 หมู่หรอกครับ แต่ให้ระวังวิตามินที่ละลายในไขมันได้สักหน่อย (วิตามินเอ, ดี, อี และเค) เพราะอาจจะได้รับและสะสมจนมากเกินไป จนเกิดเป็นพิษได้

มาดูต่อกันที่ข้อ 3 ครับ อยากมีความสุข ต้องทำยังไง?

เรื่องนี้ต่อเนื่องจากข้อต่างๆ กล่าวไปแล้วคือ นอกจากทำร่างกายแข็งแรงแล้ว การบริหารจิตก็สำคัญ การได้นั่งสมาธิ ฝึกวิปัสสนา มองโลกในแง่ดีให้เป็นปกตินิสัย มีน้ำใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่เป็นประจำ ทำบุญทำทาน และอีกหลายๆ วิธีก็มีส่วนช่วย

ลองหาวิธีที่เหมาะกับตัวเองดูครับ

แต่ที่สำคัญคือ กายส่งผลกับใจ ใจส่งผลกับกาย ตราบเท่าที่ฝึกไม่มาก คำพูดจำพวก ‘ใจเป็นนาย กายเป็นบ่าว’ ก็เป็นจริงได้ยาก เพราะกายมันจะเป็นนายอยู่เรื่อย

สำหรับเรื่องอยากให้มีกำลังกายดี ได้กล่าวถึงเรื่องการเดินออกกำลังไปแล้วนะครับ ลองเลือกประเภทของการออกกำลังกายให้เหมาะกับร่างกายและ ‘จริต’ ครับ

คีย์เวิร์ดสำคัญมีแค่ ทำอย่างสม่ำเสมอ … แค่นี้ก็ยากมากๆ แล้ว!

สุดท้าย อยากมีปฏิภาณดี ต้องทำยังไง?

ไหวพริบหรือปฏิภาณ หรือบางทีอาจจะเรียกว่า ‘กึ๋น’ นี่ บางคนก็มีติดตัวมาตั้งแต่เกิดมากกว่าคนอื่น แต่ก็พอจะกระตุ้นหรือสร้างเพิ่มได้บ้าง ผ่าน (1) การอ่านและการฟัง (2) การหัดสงสัยให้เป็นนิสัย (3) การขบคิด ตั้งข้อสังเกต และหาข้อสรุป ‘ด้วยตัวเอง’ บ่อยๆ และ (4) บำรุงรักษาสมรรถภาพของสมองไว้เสมอ

โดยเฉลี่ยสมองของคนเรามีขนาดแค่ 2% ของร่างกาย แต่กลับใช้พลังงานถึง 20% ของทั้งหมด ดังนั้น ร่างกายจึงพยายามสงวนพลังงานสุดฤทธิ์ หากทำงานด้วยความเคยชินไม่ต้องคิด คล้ายกับระบบบินอัตโนมัติที่เรียกว่า นักบินอัตโนมัติ (auto pilot) ได้ สมองก็จะทำเสมอ เช่น ขับรถใช้เส้นทางเก่าๆ

วิธีกระตุ้นสมองที่ดีก็คือ การทำอะไรที่ผิดปกติไปบ้าง เช่น เปลี่ยนเส้นทางเดินทางกลับบ้านบ้าง หันมาใช้มือข้างไม่ถนัดแปรงฟัน หรือจัดห้อง จัดโต๊ะใหม่ เพื่อให้ต้องหาของที่เปลี่ยนที่ไป ฯลฯ

แต่ที่กระตุ้นสุดๆ หากมีโอกาสให้ลองทำดูบ้างก็เช่น การเดินทางโดยวางแผนบ้าง แต่ไม่ 100% เหลือเผื่อการผจญภัยที่ไม่คาดคิดไว้บ้าง และการหัดภาษาใหม่ๆ หรือหัดเล่นเครื่องดนตรีหรือกีฬาแบบใหม่ๆ ที่ไม่เคยเล่น วิธีการแบบนี้จะกระตุ้นสมองมากๆ และอาจมีส่วนกลับมากระตุ้น ‘ไหวพริบปฏิภาณ’ ให้มากขึ้นได้

อ้อ แถมอีกเรื่องเป็นเรื่องสุดท้ายก็ได้ เพราะสำหรับบางคนนั้น ‘ธนสารสมบัติ’ เป็นเรื่องใหญ่มาก คนทั่วไปอาจจะนึกถึงเรื่องการมีเงินทองข้าวของมากมายว่า ยิ่งมียิ่งได้ ก็ยิ่งดีใหญ่เลย แต่ความจริงกลับไม่ใช่เช่นนั้นเลย

มีงานวิจัยปี 2010[5] ของนักวิจัยที่มหาวิทยาลัยพรินซ์ตันที่ระบุว่า คนสหรัฐมีแนวโน้มจะมีความสุขมากขึ้น เมื่อมีเงินมากขึ้น จนกระทั่งถึงจุดหนึ่งเท่านั้น โดยประมาณคือ 75,000 เหรียญสหรัฐฯ ต่อปีต่อคน หลังจากนั้น ความสุขจะลดลง

ครับ! อ่านไม่ผิด … ได้เงินมากขึ้น แต่ความสุขลดลง

เงินที่เพิ่มมากกว่า 75,000 เหรียญไม่ได้ไปช่วยเพิ่มความสุข ความพอใจในชีวิตโดยรวมเท่าไหร่ เพราะเงินขนาดนั้นก็เพียงพอสำหรับใช้ชีวิตอย่างไม่ลำบากลำบนคือ พอซื้อหาปัจจัย 4 ได้ครบถ้วน และซื้อความสะดวกสบาย และความพึงพอใจในกิจกรรมต่างๆ ได้ระดับหนึ่งแล้ว

มากกว่านี้ก็เป็นแต่เพียงตอบสนองความอยากให้มากขึ้นแค่นั้น อาทิ เปลี่ยนจากรถญี่ปุ่นเป็นรถยุโรปที่แพงกว่า เป็นต้น

นี่ยังไม่นับเรื่องนิสัยแย่ๆ ที่ห้ามได้ยากคือ เรามักนำตัวเราไปเทียบกับคนอื่นเสมอๆ จนทำให้บางทีก็ปกติสุขอยู่ดีๆ จนไปเทียบกับคนที่รวยกว่าเข้า จึงมีความสุขน้อยลงซะอย่างนั้น

เรียกว่า หาเรื่องซวยใส่ตัวแท้ๆ!

จึงสรุปได้ว่า หากอยากได้พร มี ‘อายุ วรรณะ สุขะ พละ ปฏิภาณ ธนสารสมบัติ สรรพสิริสวัสดิ์พิพัฒนมงคล’ นอกจากจะพึ่งพาผลบุญที่ติดตัวมาแต่เกิดแล้ว (หรืออาจจะเรียกว่า ‘ความบังเอิญ’ ก็คงได้ ถ้าไม่เชื่อเรื่องกรรมเก่า) เช่น เกิดมาในตระกูลร่ำรวย หรือมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรงเหนือคนทั่วไป (มีพันธุกรรมที่ดีเป็นพิเศษ)

ส่วนที่เหลือก็อยู่ที่ ‘การกระทำ’ ของเราเองนั่นแหละครับ ไม่ใช่ผลจากเทพเทวาบันดาลเลย

ขอส่งมอบพรปีใหม่ที่ต้องลงมือทำด้วยตนเองให้กับท่านทั้งหลายนะครับ สวัสดีปีใหม่ครับ 😀

 

อ้างอิง

[1] Association of Daily Step Count and Step Intensity With Mortality Among US Adults

[2] Caloric restriction improves health and survival of rhesus monkeys

[3] Intermittent fasting may help you live longer

[4] Links between thermoregulation and aging in endotherms and ectotherms

[5] High income improves evaluation of life but not emotional well-being

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

22 Feb 2022

คราฟต์เบียร์และความเหลื่อมล้ำ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ เขียนถึงอุตสาหกรรมเบียร์ไทย ที่ผู้ประกอบการคราฟต์เบียร์รายเล็กไม่อาจเติบโตได้ เพราะติดล็อกข้อกฎหมาย และกลุ่มทุนที่ผูกขาด ทั้งที่มีศักยภาพ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

22 Feb 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save