fbpx

เมื่อฝ่ายซ้ายเริ่มปรากฏ (อีกครั้ง) : เปิดความคิดสังคมนิยมในคนรุ่นใหม่

ไม่ใช่เรื่องแปลก หากในช่วงหลายปีที่ผ่านมาจะได้ยินคำถามว่า “ฝ่ายซ้ายตายแล้วหรือยัง?”

ไม่เพียงแค่การสิ้นสุดลงของสงครามเย็นที่ตามมาด้วยความล่มสลายของค่ายสังคมนิยมเท่านั้นที่ชวนให้คิดว่า สังคมนิยมคงเป็นแค่ฝันลมๆ แล้งๆ ที่ไม่มีวันเป็นจริงอีกต่อไป ไม่ต้องนับว่า กระแสการเมืองโลกในช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมายังกลายเป็นสนามรบระหว่างเสรีนิยมประชาธิปไตยปะทะฝ่ายขวาประชานิยม จนการเมืองฝ่ายซ้ายหลายที่ทั่วโลกไม่สามารถทะลวงไปสู่รัฐสภาได้อย่างสำเร็จลุล่วงดีนัก และค่อยๆ จางหายจากหน้าฉากการเมืองไป

แต่นั่นยังไม่ใช่จุดจบเสียทีเดียว ตั้งแต่การเกิดขึ้นของกระแส Occupy Wall Street ในปี 2011 กระแส #FeelTheBern จากการลงสมัครชิงชัยสู่ทำเนียบขาวของเบอร์นี แซนเดอร์ส ผู้สมัครประธานาธิบดีสายก้าวหน้าจากพรรคเดโมแครตที่ประกาศตัวว่ามีแนวคิดแบบ ‘สังคมนิยมประชาธิปไตย’ ในปี 2016 และปี 2020 รวมทั้งปรากฏการณ์ ‘Knock Down The House’ ในปี 2019 ที่อเล็กซานเดรีย โอคาซีโอ-คอร์เตซ (หรือที่รู้จักกันดีในนาม AOC) ส.ส.เดโมแครตสายก้าวหน้าจากรัฐนิวยอร์กตบเท้าเข้าสภาได้สำเร็จจากพลังมวลชน อาจเรียกได้ว่าเป็นเชื้อไฟในการ ‘คืนชีพ’ แนวคิดสังคมนิยมในหมู่คนรุ่นใหม่สหรัฐฯ และยังสร้างแรงบันดาลใจให้กับฝ่ายซ้ายทั่วโลกที่ต้องการลุกขึ้นมาต่อต้านระบบทุนนิยม

ยังไม่นับว่ามีขบวนการฝ่ายซ้ายระดับสากลอย่าง Progressive International ที่เริ่มก่อตัวในปี 2018 และพยายามรวบรวมขบวนการฝ่ายซ้ายก้าวหน้าจากทั่วโลกเพื่อขับเคลื่อนทางการเมืองอีกครั้ง

เมื่อย้อนกลับมามองไทย สองสามปีที่ผ่านมาคือช่วงเวลาแห่งการประกาศเจตนารมณ์ของคนรุ่นใหม่ว่า ‘สังคมไทยต้องเปลี่ยนแปลง’

มีหลากหลายสิ่งในสังคมไทยที่คนรุ่นใหม่ลุกขึ้นมาส่งเสียงบอกสังคมว่า ‘ต้องเปลี่ยน’ ตั้งแต่นายกรัฐมนตรี รัฐบาลเผด็จการในคราบประชาธิปไตย รัฐธรรมนูญ ไปจนถึงข้อเสนอสะท้านฟ้าทะลุเพดานอย่างการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ 

แต่ยิ่งไปกว่าปรากฏการณ์ ‘ตาสว่าง’ ทางการเมืองที่หลายคนเริ่มรับรู้แล้วว่า ‘คนไม่เท่ากัน’ อีกหนึ่งปรากฏการณ์ตาสว่างที่ค่อยๆ เกิดขึ้นพร้อมๆ กันคือ การรับรู้ว่าในสังคมมีคนชนชั้นสูง 1% ที่กุมความมั่งคั่ง อำนาจเงินตรา และทรัพย์สินมหาศาลระดับใกล้เคียงอนันต์กับชนชั้นล่าง 99% ที่ดิ้นรนตรากตรำทำงานเพื่อแลกค่าตอบแทนเพียงหยิบมือที่แทบไม่เพียงพอสำหรับการมีชีวิตที่ดีได้

นี่คือปรากฏการณ์ตาสว่างที่มองเห็นว่า ความเหลื่อมล้ำและความไม่เป็นธรรมคือผลงานชิ้นโบว์แดงของระบบเศรษฐกิจทุนนิยม – ดังเช่นที่เกิดกับคนรุ่นใหม่ในสหรัฐฯ ที่นิยามตนเองว่าเป็น ‘โซเชียลลิสต์’

และเมื่อมีคนเริ่มตาสว่าง กระแสการตามหาหนทางและความเป็นไปได้อื่นๆ ในการเปลี่ยนแปลงสังคมเศรษฐกิจจึงเริ่มปรากฏ ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบของข้อเรียกร้อง ‘รัฐสวัสดิการถ้วนหน้า’ หนึ่งใน 3 ข้อเรียกร้องของขบวนการ REDEM การรวมตัวของคนทำงานในนาม ‘สหภาพคนทำงาน Workers’ Union’ การก่อตั้งศูนย์วิจัยเฉพาะทางสหวิทยาการด้านรัฐสวัสดิการและความเป็นธรรมศึกษา หรือแม้แต่กระแส #คอมทวิต ในทวิตเตอร์ ฯลฯ ซึ่งแม้จะไม่ใช่การเมืองกระแสหลักก็ตาม แต่ก็พอเห็นความเคลื่อนไหวที่เรียกได้ว่าคึกคักอยู่บ้าง

นี่เป็นสัญญาณที่บอกว่า “ฝ่ายซ้ายยังไม่ตาย!”

ในวันที่สังคมนิยมเริ่มกลายเป็นหนึ่งในทางเลือกทางการเมืองของคนรุ่นใหม่จำนวนหนึ่ง 101 ชวน 3 คนรุ่นใหม่ที่เชื่อมั่นในสังคมนิยม กระติ๊บ-วริษา สุขกำเนิด สมาชิกกลุ่มมาร์กซิสต์ศึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ใบไหม-เกศกนก วงษาภักดี ผู้แปลหนังสือสายสังคมนิยม และมีน-ปฐมพงศ์ กวางทอง พอดแคสเตอร์จาก Analysand และ นักเขียนประจำเว็บไซต์ดินแดง สนทนาว่าทำไมสังคมนิยมคือความหวังของของโลกและสังคมไทย และเหตุใดพวกเธอและเขาจึงเชื่อเช่นนั้น

ระบบทุนนิยมไม่ใช่ความจริงเดียวของสังคมนี้ : กระติ๊บ-วริษา สุขกำเนิด

แม้จะสมาทานแนวคิดสังคมนิยมอย่างเต็มตัวได้เพียง 3 ปี แต่กระติ๊บ-วริษา สุขกำเนิด นักศึกษาชั้นปีที่ 3 คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สมาชิกกลุ่มมาร์กซิสต์ศึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (TUMS) เป็นอีกหนึ่งในคนรุ่นใหม่ที่ออกมาขับเคลื่อนแนวคิดสังคมนิยมอย่างจริงจัง ไม่ว่าจะงานเสวนาหรือแม้แต่วงการพอดแคสต์ เราก็มักจะเห็นกระติ๊บหอบหิ้วความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับแนวคิดสังคมนิยมไปเผยแพร่อยู่บ่อยครั้ง น่าสนใจว่าอะไรคือจุดเปลี่ยนที่ทำให้เธอหันมาสมาทานแนวคิดนี้ไม่ต่างจากคนรุ่นใหม่อีกหลายคน

“ต้องย้อนกลับไปตั้งแต่สมัยมัธยม ช่วงมัธยมต้นเราเรียนโรงเรียนรัฐบาลแถวนนทบุรี ด้วยความที่เป็นโรงเรียนรัฐเลยมีกฎระเบียบเข้มงวดมาก ขณะเดียวกันก็ถ่ายทอดอุดมการณ์การแข่งขันด้วย ซึ่งเราก็จะตั้งคำถามกับสิ่งนี้ตลอด ทำไมเราต้องแข่งกันเพื่อมุ่งเป็นที่หนึ่ง ทำไมต้องเน้นแค่การเรียนอย่างเดียว ทำไมไม่สอนเรื่องการใช้ชีวิต ความเป็นสังคมนิยมสอดคล้องกับความเป็นเราโดยไม่รู้ตัว ตอนนั้นเริ่มรู้สึกว่านี่เป็นปัญหาแล้ว แต่ก็ยังขัดแย้งในความคิดของตัวเองอยู่ จนกระทั่งย้ายมาเรียนในกรุงเทพฯ ช่วงมัธยมปลาย ความคิดก็เริ่มชัดขึ้น”

กระติ๊บเล่าให้ฟังว่าการได้มาเรียนที่กรุงเทพฯ ทำให้เธอเห็นอะไรๆ ชัดขึ้น โดยเฉพาะเรื่องความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ไม่ว่าจะเป็นครูผู้สอนหรือวิชาเรียน ช่างแตกต่างราวฟ้ากับเหว โดยเฉพาะเธอที่เรียนในแผนการเรียนแบบ english program ความต่างนี้ยิ่งถูกขับออกมาให้เห็นเต็มสองตา

“เชื่อไหมว่าแทนที่จะรู้สึกว่าตัวเองโชคดีที่ได้เรียนที่ดีๆ แต่เรากลับรู้สึกว่าสิ่งที่เกิดขึ้นไม่ยุติธรรม เป็นสิ่งที่ไม่ควรจะเกิดขึ้น” กระติ๊บกล่าวถึงความรู้สึก ณ วันนั้น

แต่เหตุการณ์ที่เป็นจุดตอกย้ำที่ทำให้กระติ๊บเห็นถึงความไม่เท่าเทียมกันในสังคมไทย คือการได้ไปแลกเปลี่ยนที่ประเทศเดนมาร์ก หนึ่งในประเทศที่ขึ้นชื่อว่าเป็นต้นแบบของระบบรัฐสวัสดิการ แม้จะไปใช้ชีวิตอยู่ที่นั่นเพียงแค่ 10 เดือน แต่ประสบการณ์ที่กระติ๊บได้รับขณะอยู่ที่เดนมาร์กทำให้เธอย้อนกลับมาตั้งคำถามกับความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยอย่างจริงจัง

“ไม่ว่าจะโรงเรียนในชนบทหรือโรงเรียนในเมือง คุณภาพการศึกษาของโรงเรียนบ้านเขาไม่ได้ต่างกันเลย เด็กทุกคนมีอุปกรณ์ดิจิทัลไว้ใช้สำหรับการเรียน หรือเด็กที่มีปัญหาด้านการเรียน เช่นมีเพื่อนคนหนึ่งเป็นโรค Dyslexia (มีความบกพร่องในการอ่านและเขียน) ทางโรงเรียนก็จัดหาคนมาช่วยสนับสนุนให้เขาเรียนได้

“การไปแลกเปลี่ยนทำให้เรากลับมาตั้งคำถามกับโรงเรียนบ้านเรา ทำไมเราถึงเป็นแบบเดนมาร์กไม่ได้ แล้วเราก็เริ่มตั้งคำถามกับระบบเศรษฐกิจ ระบบการเมือง มองไปยังปัญหาเชิงโครงสร้าง แต่ตอนนั้นยังหาจุดเชื่อมโยงไม่ได้ ยังไม่เห็นว่าทั้งสองเรื่องนี้เป็นเนื้อเดียวกันอย่างไร ตอนนั้นเรารู้ตัวแล้วว่าอยากเปลี่ยนแปลงสังคม แต่ไม่รู้ว่าต้องสู้กับใคร ต้องสู้อย่างไร ศัตรูของเราเป็นใคร ”

ความคิดของกระติ๊บตกผลึกให้เห็นเป็นรูปเป็นร่าง เมื่อเธอเข้ามาศึกษาต่อที่คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่นี่ทำให้เธอรู้จักกับกลุ่มเพื่อนและรุ่นพี่ที่เชื่อในแนวคิดสังคมนิยมอย่างกลุ่มมาร์กซิสต์ศึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (TUMS) กลุ่มกิจกรรมนักศึกษาอิสระที่มีเป้าหมายเพื่อถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับมาร์กซิสต์ให้ผู้คนเข้าใจมากยิ่งขึ้น โดยเน้นที่การทำงานเชิงความคิด การแลกเปลี่ยนพูดคุยกับเพื่อนกลุ่มนี้ทำให้กระติ๊บมองเห็นจุดเชื่อมโยงของปัญหาต่างๆ และมองเห็นว่าอะไรคือศัตรูที่แท้จริงของเธอ

“สังคมที่มีความเหลื่อมล้ำหรือมีความไม่เท่าเทียมสูง เกิดจากการที่บางคนมีอำนาจมากกว่า หรือถือครองทรัพยากรมากกว่า แน่นอนว่าคนที่มีทรัพยากรน้อยกว่าก็ต้องดิ้นรนมากกว่า ต้องใช้แรงงานมากกว่า เพื่อแลกกับการเข้าถึงทรัพยากรนั้น ซึ่งการมีอยู่ของทุนนิยมสนับสนุนสิ่งนี้ ฉะนั้นเราเลยเห็นด้วยกับสังคมนิยม ในแง่ที่ว่าแนวคิดนี้สามารถปลดล็อกความไม่เท่าเทียมตรงนี้ได้ สังคมนิยมเปิดโอกาสให้เราทุกคนเป็นเจ้าของทรัพยากรร่วมกัน แต่ละคนต่างมีอำนาจในการออกแบบสังคม ซึ่งสิ่งนี้จะทำให้ผู้คนมีอิสระในการใช้ชีวิตมากขึ้น เพราะเราไม่จำเป็นต้องดิ้นรนเพื่อพาตัวเองเข้าไปให้ถึงทรัพยากรอีกแล้ว”

ขณะที่คนรุ่นใหม่หลายคนหันมาสมาทานแนวคิดสังคมนิยมกันมากขึ้น แต่ ‘ความหวาดกลัวต่อคอมมิวนิสต์’ ก็ยังคงปรากฏร่องรอยให้เห็นอยู่เนืองๆ ในสังคมไทย ตลอดจนความคิดที่ว่าปลายทางของสังคมนิยมคือระบอบเผด็จการ ก็ยังคงเป็นความเชื่อกระแสหลักของใครหลายคน น่าสนใจว่ากระติ๊บมีความคิดเห็นต่อประเด็นนี้อย่างไร

“แน่นอนว่ามีความล้มเหลวบางประการเกิดขึ้นในคอมมิวนิสต์ช่วงศตวรรษที่ 20 สาเหตุส่วนหนึ่งก็มาจากระบอบเผด็จการ คือแทนที่ทุกคนจะเป็นชนชั้นเดียวกัน หรือเป็นสังคมที่ปราศจากการกดขี่ ตามหลักการของสังคมนิยม แต่กลับกลายเป็นว่าอำนาจในการจัดการทรัพยากรถูกนำไปรวมศูนย์อยู่ที่ศูนย์กลางหรือที่รัฐเสียหมด สุดท้ายเลยทำให้ผู้คนถูกกดขี่และตกอยู่ภายใต้อำนาจรัฐ แต่นี่ไม่ใช่สิ่งที่นักสังคมนิยมรุ่นนี้เห็นด้วย เราไม่ได้ต้องการให้เป็นแบบนั้น สิ่งที่เกิดขึ้นคือเราเห็นปัญหาของทุนนิยม และต้องการออกแบบสังคมขึ้นมาใหม่

“อย่างคนรุ่นใหม่บางคนอาจจะมองถึงรูปแบบรัฐสวัสดิการ เช่น รัฐสวัสดิการแบบประเทศสแกนดิเนเวีย ซึ่งเป็นประชาธิปไตยทั้งทางเศรษฐกิจและทางการเมือง หรือบางคนอาจจะมองไปถึงสังคมที่ไร้รัฐ (สังคมอนาคิสต์) ทุกคนเป็นเจ้าของร่วมกัน ไม่มีรัฐมาปกครอง เป็นการปกครองแบบชุมชน ด้านหนึ่งเราศึกษาจากอดีต อีกด้านเราก็ออกแบบแนวทางอนาคตของตัวเองไปพร้อมๆ กัน”

นอกจากนี้กระติ๊บยังย้ำอีกว่า สังคมนิยมและประชาธิปไตยเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกัน การจะสร้างสังคมที่เป็นสังคมนิยมได้ จำเป็นต้องมีประชาธิปไตย สองอย่างนี้ต้องถูกผลักดันไปพร้อมๆ กัน

“ข้อเรียกร้อง 3 ข้อ ของนักศึกษาเป็นเหมือนจุดเริ่มต้น เราเห็นแล้วว่าระบอบประยุทธ์เอื้อให้ชนชั้นทุนรวมตัวกันเพื่อที่จะมีอำนาจเหนือกว่าคนกลุ่มอื่นๆ ในประเทศ สิ่งที่รัฐบาลทำไม่ได้ตอบสนองต่อคนในประเทศ ขณะเดียวกันรัฐธรรมนูญที่มีอยู่ก็เป็นรัฐธรรมนูญที่ไม่ได้ร่างบนพื้นฐานผลประโยชน์ของส่วนรวม เขาร่างขึ้นมาเพื่อผลประโยชน์ของพวกพ้องตัวเอง หรือการที่เราไม่สามารถพูดถึงสถาบันกษัตริย์ได้ ก็แสดงให้เห็นว่าเราแทบไม่มีเสียงของตัวเอง ซึ่งการจะเปลี่ยนแปลงสังคมได้ เราทุกคนต้องสามารถพูดได้ก่อน ซึ่งการที่เราสามารถพูดได้จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทั้งในทางการเมืองและเศรษฐกิจ”

“แต่มีบางคนมองว่า การได้มาซึ่งประชาธิปไตยอย่างเดียวก็เพียงพอแล้ว ทำไมถึงจะต้องเปลี่ยนไปเป็นสังคมนิยมด้วย” เราถามแย้ง

“ขอยกตัวอย่างประเทศอเมริกา เขามีความเป็นประชาธิปไตยสูงมากนะ แต่ก็มีความเหลื่อมล้ำสูงมากเช่นกัน เห็นได้ว่าคนที่มีอำนาจในการเมืองจริงๆ คือพรรคการเมืองและกลุ่มทุน โดยกลุ่มทุนสนับสนุนพรรคการเมืองผ่านการบริจาค และพรรคการเมืองก็จะไปล็อบบี้กันในสภาเพื่อทำให้เกิดนโยบายที่จะเอื้อประโยชน์ต่อกลุ่มทุน เช่น การเพิ่มราคายา หรือการตัดสวัสดิการของประชาชน สำหรับเรามองว่าประชาธิปไตยจริงๆ ควรทำเพื่อคนส่วนมาก ไม่ใช่คนส่วนน้อย นี่เลยเป็นเหตุผลว่าทำไมแค่ประชาธิปไตยอย่างเดียวถึงไม่พอ”

การพูดคุยดำเนินมาถึงช่วงท้าย เราทั้งย้อนอดีต กลับมามองปัจจุบัน ฉะนั้นคงเลี่ยงไม่ได้ที่จะถามถึงอนาคต ว่าสำหรับกระติ๊บแล้ว ภาพสังคมนิยมที่เธอวาดฝันไว้มีหน้าตาเป็นเช่นไร

“สังคมนิยมในฝัน คือสังคมที่ไม่มีนายทุน ไม่มีรัฐ แล้วก็ไม่มีเงิน”

“เราฝันเห็นสังคมที่ทุกคนเป็นเจ้าของการผลิตร่วมกัน เป็นเจ้าของทรัพยากรร่วมกัน ไม่มีใครมีอำนาจเหนือใคร ทุกคนมีอำนาจในการเสนอความคิดเห็นและออกแบบสังคม อันไหนที่เราคิดว่ายังไม่ดีพอ ก็สามารถเสนอสิ่งอื่นขึ้นมาได้ ทุกคนมีอิสระเสรีในการทำสิ่งที่ตัวเองต้องการ ไม่ต้องขึ้นตรงกับผู้อื่น อันนี้คือภาพฝันที่อยากเห็น”

ปฏิเสธไม่ได้ว่าเราอยู่กับระบบทุนนิยมมาหลายชั่วอายุคน แม้กระทั่งในแบบเรียนต่างๆ ระบบเศรษฐกิจเดียวที่ถูกให้ค่าว่ามีความสำคัญก็หนีไม่พ้นระบบทุนนิยม ขณะเดียวกันภาพจำของระบบสังคมนิยมเอง ก็ถูกยึดติดอยู่กับระบอบเผด็จการอำนาจนิยมแบบรวมศูนย์ ยังไม่นับวาทกรรมที่บางคนชอบพูดกันอีกว่า แนวคิดสังคมนิยมดูดีแค่ในทางทฤษฎี แต่ไม่สามารถนำมาใช้จริงได้ หากหนทางได้มาซึ่งประชาธิปไตยเรียกว่าไกลแล้ว ดูเหมือนว่าหนทางที่จะไปถึงสังคมแบบสังคมนิยมไกลยิ่งกว่า

ไม่ต่างจากที่หลายคนสงสัย โลกของเรา แน่นอนว่ารวมถึงประเทศไทย จะสามารถก้าวไปถึงสังคมนิยมได้จริงๆ หรือ

“เราเชื่อว่ามันสามารถเปลี่ยนแปลงได้ ระบบทุนนิยมไม่ใช่ความจริงหนึ่งเดียวของสังคมนี้ ไม่ได้เป็นระบบเดียว หรือเป็นระบบสุดท้ายที่เรามี ทุนนิยมแค่ถูกทำให้เชื่อว่ามันเป็นแบบนั้น เรามองว่าทุนนิยมเป็นความจริงเพราะเราอยู่กับมันมาตลอด ถ้าสักวันหนึ่งทุนนิยมไม่ได้ตอบสนองกับความต้องการของคนหมู่มาก เราเชื่อว่าคนหมู่มากก็จะลุกฮือขึ้นมาเปลี่ยนแปลง

“โดยเฉพาะในยุคปัจจุบันที่ทุนนิยมไม่ได้แค่บีบให้เราต้องขายแรงกายอย่างเดียว แต่ยังบีบให้เราต้องขายความคิดของเราอีกด้วย วัฒนธรรม productive คือผลผลิตจากทุนนิยม ทุกวันนี้ผู้คนต่างรู้สึกว่าต้อง productive เพราะกลัวว่าถ้าไม่ productive เราก็จะไม่มีเงิน เราพยายามทำทุกอย่างให้กลายเป็นงาน จากยุคก่อนที่เราเคยทำงานกับเครื่องจักร มาวันนี้ตัวเรากลายก็เป็นเครื่องจักรไปแล้วด้วย จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจเลยที่ทำไมคนรุ่นใหม่ถึงหันมาสนใจแนวคิดสังคมนิยมกันเยอะขึ้น เพราะสังคมแบบทุนนิยมสร้างความไม่มั่นคงให้กับชีวิตของพวกเรา กลายเป็นว่าต่อให้คุณเป็นชนชั้นกลางในเมือง คุณก็ยังต้องแบกรับความเสี่ยงอยู่ตลอดเวลา”

“การต่อสู้เพื่อไปสู่สังคมแบบสังคมนิยมไม่ใช่การต่อสู้แบบครั้งเดียวจบ ทุนนิยมอยู่กับเรามานาน ไม่มีทางที่จะเปลี่ยนได้ในไม่กี่วัน การต่อสู้เรื่องสังคมนิยมเองก็ไม่ต่างกัน”

แต่อย่างไรก็ตาม กระติ๊บก็ยอมรับว่าหนทางไปสู่สังคมนิยมไม่ใช่เรื่องง่าย เธอกล่าวว่าจำเป็นอย่างมากที่เราต้องสู้ในทุกรูปแบบ ทั้งการต่อสู้ในมิติวัฒนธรรม เช่น การเขียนหนังสือ การปราศรัย การจัดงานเสวนาออนไลน์ สิ่งเหล่านี้เป็นการต่อสู้เชิงความคิดที่ถือว่าเป็นรากฐานสำคัญ ส่วนในมิติทางเศรษฐกิจ เธอมองว่าต้องผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพ โดยอาจจะเริ่มต้นจากการนัดหยุดงานประท้วง หรือการรวมตัวกันเพื่อตั้งสหภาพแรงงานแห่งชาติเพื่อต่อรองกับอำนาจของทุน แต่สิ่งที่เธออยากจะย้ำคือการเปลี่ยนแปลงนี้ไม่สามารถทำได้ด้วยเพียงคนไม่กี่คน แต่ทุกคนต้องลุกขึ้นมาต่อสู้ร่วมกัน

“ท้ายที่สุดแล้วการเปลี่ยนแปลงไปสู่สังคมนิยม แค่เปลี่ยนประเทศเดียวไม่พอ เพราะระบบเศรษฐกิจในปัจจุบันร้อยเรียงกันในหลายประเทศ เราจะเห็นว่าประเทศมหาอำนาจต่างดึงทรัพยากรจากประเทศที่มีความเจริญน้อยกว่าเพื่อใช้ในการผลิตของตัวเอง ไม่ว่าจะกรณี fast fashion หรือ กรณี No Congo No Phone ที่มีการใช้แรงงานทาสในประเทศคองโก ฉะนั้นถ้าเราจะเปลี่ยนแปลงให้คนเท่าเทียมกันจริงๆ เราจำเป็นต้องเปลี่ยนทั้งโลก”

สังคมนิยม คือสังคมที่ความเป็นมนุษย์ไม่ถูกลดทอน : ใบไหม-เกศกนก วงษาภักดี

ใบไหม-เกศกนก วงษาภักดี คืออีกหนึ่งคนรุ่นใหม่ที่นิยามตัวเองว่าเป็น ‘ฝ่ายซ้าย’ ที่เชื่อว่า ‘ทุนนิยม’ คือพิษร้ายที่นำมาสู่ความเหลื่อมล้ำที่กำลังกัดกินสังคมไทย และ ‘สังคมนิยม’ คือยาถอนพิษร้ายที่จะพาสังคมออกจากวงจรความเหลื่อมล้ำที่ไม่น่ามีวันสิ้นสุดในโลกทุนนิยม

ผลงานการแปลหนังสือสายสังคมนิยมร่วมกับสำนักพิมพ์นิสิตสามย่าน อย่าง คอมมิวนิสต์สำหรับสหายน้อย (ตีพิมพ์ฉบับภาษาไทยปี 2561) รักร้อนแรงแห่งดินแดนสังคมนิยม (ตีพิมพ์ฉบับภาษาไทยปี 2563) และ ซ้ายจัด … (ไม่) ดัดจริต: The ABCs of Socialism (ตีพิมพ์ฉบับภาษาไทยปี 2564) การันตีความเป็นฝ่ายซ้าย 100% และยืนยันว่าเธอคือหนึ่งในคนที่เชื่อว่าการต่อสู้ทางความคิดจะเปลี่ยนแปลงสังคมได้สักวัน และเชื่อว่าการจะหาทางเปลี่ยนแปลงสังคมได้นั้น ต้องผ่านการเสนอความคิดและถกเถียงว่าอะไรคือความฝันของคนในสังคม

ก่อนที่ใบไหมจะนิยามตนเองว่าเป็นฝ่ายซ้าย เธอไม่ต่างไปจากคนธรรมดาทั่วไปในสังคม ความเหลื่อมล้ำ ความไม่เท่าเทียมและความไม่เป็นธรรมคือสิ่งที่เธอและครอบครัวพบเจอและสัมผัสได้ในชีวิต แต่ ณ เวลานั้น เธอยังคงมองปัญหาต่างๆ แยกออกจากกัน และมองไม่เห็นว่ามีอะไรบางอย่างทำงานอยู่เบื้องหลังจนนำมาสู่ปัญหาเหล่านี้ เพียงได้แค่มองว่าความซวยที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องของบุญทำกรรมแต่ง

สิ่งที่ครอบครัวของใบไหมต้องเผชิญคือหนึ่งในจุดที่รอการลากเส้นเชื่อมต่อ “เมื่อก่อนคุณแม่ทำงานในโรงงาน โดนกดขี่เอารัดเอาเปรียบมาก บางครั้งแม่ทำโอทีไป 15 วัน ก็ไม่จ่ายค่าโอทีให้สักบาท จากนั้นแม่ก็พยายามหาลู่ทางลงทุนเปิดร้านขายของที่โรงหนังสยามช่วงปี 53 แต่ตอนที่รัฐล้อมปราบเสื้อแดง ร้านถูกเผาไปพร้อมกับโรงหนังสยาม ทำให้แม่ล้มละลายมาจนถึงตอนนี้ โกรธมาก ทั้งๆ ที่แม่วางแผนทำธุรกิจ แต่กลับล้มเพราะการล้อมปราบของรัฐ แล้วยังไม่มีระบบที่ช่วยให้ลุกขึ้นมาได้ทั้งๆ ที่ไม่ใช่ความผิดของแม่”

จุดถัดมาคือการที่ต้องต่อสู้ในระบบการศึกษาไทย ซึ่งชัดเจนว่า ‘เงิน’ คือสิ่งที่ตัดสินว่าชีวิตจะก้าวได้ไกลกว่าคนอื่นหรือไม่

แม้ครอบครัวของใบไหมจะอยู่ในวิสัยที่พอสนับสนุนการเรียนได้ แต่เมื่อต้องวางแผนเรียนต่อมหาวิทยาลัย ไม่ว่าจะเลือกมหาวิทยาลัยไหน ต้องใช้เงินเท่าไหร่ในการสมัครสอบ ต้องคิดว่าที่บ้านพร้อมสนับสนุนหรือต้องขอทุนการศึกษา หรือต้องใช้ค่าเดินทางไปเรียนเท่าไหร่ สิ่งเหล่านี้คือเรื่องที่เธอรู้สึกว่าต้องวางแผนให้ดี พลาดไม่ได้แม้แต่ก้าวเดียวเพราะนั่นหมายถึงโอกาสในการเรียน แต่ยิ่งไปกว่านั้น ใบไหมตระหนักดีกว่า ไม่ใช่คนส่วนมากในสังคมไทยที่มีโอกาสคิดฝันเรียนต่อมหาวิทยาลัยหรือได้เรียนอย่างเต็มที่ ด้วยสาเหตุง่ายๆ อย่าง ‘เงินไม่พอ’

ยังไม่นับว่ามีปัญหาอื่นๆ อีกที่ใบไหมมองเห็น อย่างปัญหาช่องว่างระหว่างคนรวยและคนจน ปัญหาสิ่งแวดล้อม ปัญหาระบบขนส่งสาธารณะ หรือความไม่เท่าเทียมทางเพศ แต่ก็ยังเห็นโลกกระจัดกระจาย เชื่อมต่อจุดต่างๆ ได้ไม่ชัดเจนนัก

จนกระทั่งการเรียนในคณะรัฐศาสตร์และการอ่านหนังสือที่หลากหลายได้เปิดโลกและเปลี่ยนเลนส์การมองโลกของเธอไปอย่างสิ้นเชิง นั่นคือจังหวะที่แต่ละจุดในชีวิตและสิ่งรอบตัวที่พบเห็นมาตลอดเชื่อมต่อกัน เลนส์การมองโลกแบบสังคมนิยมช่วยให้มองเห็นว่าจุดเชื่อมโยงของทุกปัญหาคือโครงสร้างทุนนิยมที่ผลิตซ้ำความเหลื่อมล้ำที่นำมาสู่ปัญหาต่างๆ ตามมา

“พอเราเริ่มรู้จักแนวคิดสังคมนิยม เราเริ่มมองเห็นปัญหาเชิงโครงสร้างมากขึ้น ไม่ใช่มองปัญหาแยกเป็นจุด ยิบๆ ย่อยๆ ปัญหาชนชั้น คนไร้บ้าน การกดขี่ผู้หญิง หรือความไม่เท่าเทียมทางการศึกษามีที่มาที่ไปจากโครงสร้างทุนนิยมที่ผลิตซ้ำคนรวยกับคนจนทั้งนั้น พอมีชนชั้น ก็จะนำพาความไม่เท่าเทียมอื่นๆ ตามมาด้วย อย่างเช่นปัญหาระบบขนส่ง จะเห็นว่าคนจนมีสิทธิขึ้นแค่รถเมล์ ชนชั้นกลางก็ขึ้นรถไฟฟ้า ส่วนคนใช้รถส่วนตัวก็เป็นอีกชนชั้นหนึ่งไปเลย”

หนึ่งในหนังสือที่ใบไหมเล่าว่าอ่านแล้วประทับใจมาก เปลี่ยนพิกัดการมองโลกและช่วยให้มองเห็นปัญหาของระบบทุนนิยมสว่างขึ้น คือ Why Women Have Better Sex Under Socialism หรือรักร้อนแรงในดินแดนสังคมนิยมที่เธอตัดสินใจเลือกแปล บทหนึ่งจากหนังสือเปรียบเทียบให้เห็นความรักและความสัมพันธ์ระหว่างชายหญิงในเยอรมนีตะวันตกที่ปกครองด้วยระบบทุนนิยมและเยอรมนีตะวันออกที่ปกครองด้วยระบอบคอมมิวนิสต์

แก่นสำคัญอยู่ตรงที่ว่า “ในประเทศที่เป็นสังคมนิยม การพัฒนาความสัมพันธ์เป็นไปได้ดีมากขึ้น มีความสุขขึ้น มีความเป็นมนุษย์มากขึ้น ไม่เหมือนในประเทศที่ใช้ระบบทุนนิยมที่ต้องคิดหรือเครียดว่าเงินตราจะลดทอนหรือส่งผลอะไรต่อความสัมพันธ์มนุษย์”

“พอได้อ่านหนังสือ คิดวิเคราะห์มากขึ้น มองโลกกว้างขึ้น ก็หันมามองว่าปัญหาที่เราเห็นไม่ใช่เรื่องบุญทำกรรมแต่งที่ต้องโทษว่าเป็นความผิดของตัวเอง แต่เป็นเรื่องของระบบทุนนิยมและรัฐที่ไม่มีสวัสดิการรองรับเพียงพอ” ใบไหมกล่าว

อย่างไรก็ตาม ‘สังคมนิยม’ ยังคงเป็นความหวาดผวาที่หลอกหลอนสังคมไทยมาตั้งแต่สมัยสงครามเย็นเพราะความล้มเหลวของการปฏิวัติแห่งชนชั้นกรรมาชีพที่กลายร่างไปเป็นเผด็จการทรราช สำหรับใบไหมที่เติบโตมาในศตวรรษที่ 21 ภาพของเผด็จการคอมมิวนิสต์ช่วงสงครามเย็นคือความผิดพลาดที่ต้องยอมรับ แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าสังคมนิยมที่คนเท่ากันนั้นเป็นไปไม่ได้อีกต่อไป เพราะประสบการณ์จากการได้ทุนไปแลกเปลี่ยนที่อุรุกวัยบอกเธอว่า มีเหรียญอีกด้านของสังคมนิยมที่มักไม่ถูกกล่าวถึง รวมทั้งภาพของความพยายามจะต่อกรและขยับออกจากระบบทุนนิยมที่ยังพอเป็นไปได้

“จริงๆ ไม่ค่อยมีภาพลบต่อแนวคิดสังคมนิยมเท่าไหร่ ที่อุรุกวัยสังคมนิยมชนะล่มทลาย แล้วยังชนะผ่านช่องทางประชาธิปไตยด้วย ประธานาธิบดีก็เป็นนักสังคมนิยม ใช้นโยบายรัฐสวัสดิการเข้มข้นมาก ต้องมีโรงเรียนฟรี มีมหาวิทยาลัยฟรี ทุกๆ เมืองต้องมีโรงยิม ทุกคนสามารถสมัครเรียนวาดรูป เรียนร้องเพลง เรียนเปียโน เรียนบัลเล่ต์ได้ฟรี พ่อแม่ได้รับสวัสดิการในการเลี้ยงลูก ค่ารักษาพยาบาลก็ราคาถูกมาก และยังจัดการกับทุนนิยมได้โอเค

“เรารู้สึกว่ามันเป็นสังคมที่ดี ทำให้คนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี เอื้อต่อการบรรลุความต้องการของตัวเองได้จริง”

แต่ในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา ปฏิเสธไม่ได้ว่ารัฐสวัสดิการหลายแห่งเป็นเพียงแค่ผลผลิตจากการประนีประนอมระหว่างนายทุนและชนชั้นแรงงานเพื่อลดแรงเสียดทานระหว่างชนชั้นโดยไม่ได้ปรับสมดุลอำนาจของนายทุนหรือลดการกดขี่ชนชั้นแรงงานลง หากจะเป็นสังคมนิยมที่คนเท่ากันได้อย่างแท้จริง ใบไหมมองว่า รัฐสวัสดิการต้องมีแก่นของการต่อสู้ทางชนชั้นด้วย

“สังคมนิยมต้องพยายามจัดการปัญหาจากทุนนิยม ทุบทำลายทุนนิยม และพยายามจะไปสู่สังคมที่ไม่มีชนชั้นที่แท้จริง”

ยิ่งไปกว่านั้น สำหรับนักสังคมนิยม หากจะเปลี่ยนให้คนเท่ากันได้จริง ต้องเปลี่ยนให้ได้ทั่วโลก ไม่ใช่ว่ามีเพียงแค่บางรัฐเท่านั้นที่เปลี่ยนแปลงและมีโอกาสได้อยู่ในระบบที่เอื้อให้คนเท่ากันได้โดยอาศัยการขูดรีดทรัพยากรจากส่วนอื่นของโลก

“หากประเทศไทยจะเปลี่ยนเป็นสังคมนิยมที่คนเท่ากันจริงๆ ต้องคิดให้ไกล ต้องรวมตัวเพื่อเปลี่ยนทั้งโลก ไม่ใช่เปลี่ยนแค่ในประเทศ แต่ประเทศอื่นๆ ยังถูกกดขี่ขูดรีดอยู่ เอาเข้าจริงนี่ไม่ใช่ความฝันเลื่อนลอย เพราะ Milk Tea Alliance ที่ร่วมกันต่อต้านเผด็จการในระดับโลกหรือภูมิภาคก็เกิดขึ้นจริงแล้ว เพียงแค่การต่อต้านทุนร่วมกันระดับระหว่างประเทศยังไม่เกิดขึ้นเท่านั้น”

แน่นอนว่านอกจากการต่อสู้ทางความคิดแล้ว หนทางในการไปสู่สังคมนิยมต้องอาศัยการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองเหนี่ยวนำ หนึ่งในหนทางที่ใบไหมเชื่อว่าจะเป็นหนทางไปสู่สังคมนิยมได้คือการเลือกตั้งในการเมืองประชาธิปไตย อย่างที่เบอร์นี แซนเดอร์สพยายามจะทะลวงสนามเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ เมื่อปี 2020 หรืออย่างอเล็กซานเดรีย โอคาซีโอ-คอร์เตซที่เข้าสู่อำนาจรัฐด้วยพลังของมวลชน ไม่ใช่พลังของทุน แต่กระนั้นการเลือกตั้งไม่ใช่เส้นทางหนึ่งเดียว เพราะการสร้างมูฟเมนต์ จัดตั้งมวลชน ตั้งสหภาพและพรรคการเมืองที่เข้มแข็งมากของฝ่ายสังคมนิยมก็อาจเป็นอีกหนทางหนึ่งที่จะเข้าสู่อำนาจรัฐเหมือนกัน

“การที่มีแค่มวลชน มีสหภาพ แต่ไม่มีพรรคการเมืองเพื่อเป็นตัวแทนกลุ่มในรัฐสภา สุดท้ายแล้ว ที่ทำได้มากที่สุดคือการต่อรอง แต่ถ้ามีพรรคการเมืองอยู่ในสภาอย่างเข้มแข็ง นั่นก็จะกลายเป็นอีกเรื่องหนึ่งเลย”

แต่ท้ายที่สุดแล้ว ใบไหมมองว่า สังคมนิยมคอมมิวนิสต์ก็ยังเป็นคำถามปลายเปิดที่เปิดรับการทดลองอันหลากหลายและไม่ตายตัวว่าจะต้องทำอย่างไร ต้องลงมืออย่างไรจึงจะหาระบบที่ให้พื้นที่อื่นนอกระบบทุนนิยมที่อำนาจเงินตรายิ่งใหญ่จนทำลายความเป็นมนุษย์และสามารถเปิดไปสู่สังคมที่ทุกคนคนเท่ากันได้อย่างแท้จริง

“หน้าที่ของสังคมนิยมคือการบอกว่าอำนาจเป็นของทุกคน และต้องทำให้คนเท่ากัน” : มีน-ปฐมพงศ์ กวางทอง

“ผมไม่เคยไม่รู้จักสังคมนิยม ตั้งแต่จำความได้ผมก็รู้จักสังคมนิยมแล้ว”

สายตาในการมองโลกของ มีน-ปฐมพงศ์ กวางทอง หรือที่หลายคนอาจรู้จักเขาในฐานะพอดแคสเตอร์ภาคภาษาไทยแห่ง Analysand รายการพอดแคสต์ที่ออกตัวว่า “พูดคุยไปเรื่อยผ่านมุมมองฝ่ายซ้าย มีจุดออกตัวที่หลากหลายไม่จำกัดหัวข้อ” และนักเขียนประจำเว็บไซต์ดินแดง (DinDeng) เว็บไซต์รวมบทความความคิดฝ่ายซ้ายและสายราดิคัลจากทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่กำลังอยู่ในช่วงบุกเบิก อาจเรียกได้ว่าทวนกระแสหลักมาก่อนกาลแล้ว

ในโลกทุนนิยมเสรี คนส่วนมากเชื่อว่าการที่ต่างคนต่างแข่งขันคือหนทางหนึ่งเดียวที่จะนำไปสู่ชีวิตที่ดีได้ (เว้นเสียแต่ว่าความเหลื่อมล้ำจะค่อยๆ เปิดตาให้เห็นภาพชัดเจนขึ้น) มีนกลับไม่เชื่อว่าโลกเป็นเช่นนั้น

“พ่อชอบฟังเพลงเพื่อชีวิต แล้วพ่อก็ซื้อเทปเพลงเพื่อชีวิตของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยมา มีเพลงหนึ่งที่ติดหูมาตั้งแต่เด็กเลยคือเพลง ‘กระต่ายกับเต่า’ เนื้อเพลงเหมือนกำลังวิพากษ์ว่าทำไมต้องมีการแข่งขัน ประมาณว่า ‘ทำไมกระต่ายต้องแข่งกับเต่านะ ทำไมไม่ร่วมกันไปสู่เส้นชัย’

“มันเป็นเรื่องของการอยู่แยกกันและอยู่ร่วมกัน ว่าเราจะแข่งกันในฐานะกระต่ายกับเต่าเพื่อไปถึงเส้นชัย หรือว่าเราจะอยู่ร่วมกันเพื่อช่วยกันให้ไปถึงเส้นชัย ตั้งแต่ตอนนั้นผมก็เข้าใจว่าสังคมไม่ต้องแข่งกันก็ได้”

เมื่อมองโลกเช่นนี้ ย่อมเป็นเรื่องธรรมดาที่มีนจะมองเห็นความเหลื่อมล้ำอันเกิดจากการแข่งขัน – แม้ว่าจะเริ่มมองเห็นความไม่เป็นธรรม (หรือไร้มนุษยธรรม) ของทุนต่อคนส่วนมากในสังคมหลังจากเริ่มย้อนอ่านหนังสือฝ่ายซ้ายในช่วงที่เรียนคณะแพทย์ศาสตร์ (ก่อนจะผันตัวมาเป็นนักแปลหลังเรียนจบ) และมีโอกาสเรียนรู้การเมืองมวลชนจากคนเสื้อแดงเชียงใหม่

ในช่วงชีวิตของการเป็นนักศึกษาแพทย์ก็ไม่เว้น

“ย้อนกลับไปตอนที่เรียนชั้นคลินิก ผมตั้งคำถามว่าคุณจะเป็นหมอได้อย่างไร เวลาคุณเห็นคนไข้ที่ไม่มีเงินรักษา แล้วกำลังจะตายต่อหน้าคุณ แต่คุณก็ทำอะไรไม่ได้ มันเป็นความเจ็บปวดมากๆ ในฐานะที่เป็นคนด้วยกัน ทนเห็นได้อย่างไร นึกไม่ออกเลยว่าถ้าไม่มีสิทธิ 30 บาทรักษาทุกโรคจะเป็นอย่างไร

“ในโลกของทุนนิยม หลักการก็คือกำไรต้องมาก่อน ชีวิตค่อยมาทีหลัง แต่ถ้าเราสลับกัน เอาชีวิตมาก่อนก็จะเป็นอีกแบบ เราอาจจะไม่สามารถรักษาได้ทุกโรค แต่ว่าโรคไหนที่เรารักษาได้ เราก็จะรักษาได้ แต่ในปัจจุบัน โรคไหนที่เรารักษาได้ ใช่ว่าเราจะได้รักษาเพราะต้องมีเงินก่อน ผมว่ามันน่าเศร้ามาก” นี่คือหนึ่งในเหตุที่ว่าทำไมมีนจึงเชื่อว่าโลกต้องก้าวพ้นจากทุนนิยมไปสู่สังคมนิยม

เมื่อความตระหนักรู้ของคนรุ่นใหม่ต่อความเหลื่อมล้ำเริ่มปรากฏและค่อยๆ ก่อร่างกลายเป็นฝ่ายซ้ายใหม่ในการเมืองไทย หนึ่งคำถามสำคัญที่ปรากฏตามขึ้นมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้คือ ‘อะไรคือปลายทางที่ขบวนการต้องการ’

ท่ามกลางภาพฝันและข้อถกเถียงอันหลากหลาย หนึ่งในข้อเสนอที่เสียงดังและเป็นรูปธรรมที่สุดคือ ‘รัฐสวัสดิการถ้วนหน้า’ ที่ให้สัญญาว่าจะขจัดความเหลื่อมล้ำและทำให้คนเท่ากันให้ได้ แต่สำหรับมีนกลับมองว่าสิ่งที่สำคัญกว่าว่าปลายทางของขบวนการคือ ‘ใครคือคนที่ร่วมกำหนดปลายทาง’

แม้จะมองไม่ต่างจากฝ่ายซ้ายเก่าว่า รัฐสวัสดิการคือผลผลิตความพยายามประนีประนอมของชนชั้นนำเพื่อลดแรงเสียดทานจากขบวนการสังคมนิยมของประชาชนที่ต้องการหลุดพ้นจากระบบทุนนิยมให้ได้ ซึ่งที่จริงแล้วควรจะเรียกร้องไปได้ไกลกว่านั้น ก้าวข้ามทุนนิยมไปได้ไกลกว่านั้น แต่สำหรับข้อเรียกร้องรัฐสวัสดิการที่ปะทุขึ้นมาในการเมืองไทย มีนมองว่าเกิดจากพลังการเรียกร้อง ต่อสู้ และกำหนดเป้าหมายของมวลชนเอง

“ผมไม่ได้มองว่าข้อเรียกร้องรัฐสวัสดิการในยุคนี้มาจากความคิดลอยๆ แต่มันเกิดจากการบานปลายของกระบวนการประชาธิปไตย เวลาเราต่อสู้ในขบวนการประชาธิปไตย คนในขบวนการจะเห็นโซ่ตรวนระหว่างการต่อสู้ เช่น เราไม่สามารถเดินทางมาม็อบได้เพราะบีทีเอสปิด หรือว่าไม่มีเงินพอที่จะหยุดทำงานเพื่อไปม็อบ พอเห็นโซ่ตรวน เราก็จะเรียกร้องรัฐสวัสดิการ ซึ่งหากจะได้มา ก็ต้องต่อสู้ ต้องตระหนักว่าเรามีอำนาจที่จะเรียกร้อง”

แต่นั่นไม่ได้หมายความว่ารัฐสวัสดิการจะเป็นปลายทางของสังคมนิยมในมุมมองของมีน

“ผมไม่ได้ต่อต้านรัฐสวัสดิการในฐานะที่เป็นข้อเรียกร้องจากมวลชน แต่ผมไม่ได้หมายความว่าเราจะต้องหยุดการเรียกร้องอยู่แค่รัฐสวัสดิการ หรือต้องยึดรัฐสวัสดิการเป็นข้อเรียกร้องหลัก ผมว่าต้องทำให้เกิดขบวนการต่อสู้แล้วค่อยๆ ผลักเพดานข้อเรียกเรียกร้องให้สูงขึ้นไปจนก้าวพ้นทุนนิยมได้จริง

“เราต้องเรียกร้องได้เรื่อยๆ ไม่หยุดจนให้อะไรเราอีกไม่ได้ นี่คือความหมายของประชาธิปไตยหรือเปล่าที่เราสามารถตัดสินใจได้ว่าเราต้องการแบบไหน ประเด็นไม่ใช่ว่าข้อเรียกร้องไหนดีที่สุด แต่ประเด็นก็คือว่าอำนาจอยู่ที่ใคร แล้วใครเป็นคนตัดสินว่าเราจะต้องการแบบไหน”

จริงอยู่ที่มวลชนมีพื้นที่ออกมาเรียกร้องบนท้องถนนมากขึ้น อย่างไรก็ตาม คำถามมีอยู่ว่า ตอนนี้คนที่จะร่วมกำหนดปลายทางสู่สังคมนิยมมีอำนาจอยู่ในมือจริงหรือไม่?

ในมุมมองของมีน เสรีนิยมประชาธิปไตยในโลกทุนนิยมยังไม่ใช่ประชาธิปไตยที่แท้จริง เพราะในระบบที่ยังมีความร่ำรวยและความยากจน ประชาชนส่วนมากที่ไม่ได้ถือครองทรัพย์สินอะไรมากนักคือผู้ที่ไร้อำนาจ

“ปัจจุบันนี้เรารู้สึกว่าไม่มีอำนาจใช่ไหม เราเห็นคนไร้บ้าน คนไม่มีข้าวจะกิน เราเห็นคนที่ต้องทำงานที่ไม่น่าทำ เราเห็นพวกเขาใช่ไหม แต่เราทำได้แค่ไม่มอง เพราะเราอายที่เปลี่ยนแปลงอะไรไม่ได้

“แบบนี้มันเป็นประชาธิปไตยตรงไหนในเมื่อเราไม่มีอำนาจอะไรเลย เราเปลี่ยนอะไรไม่ได้ เลือกตั้งไปเราก็เปลี่ยนระบบเศรษฐกิจไม่ได้ เปลี่ยนอะไรไม่ได้ เพราะมีกลไกบางอย่างที่ค้ำยันเราอยู่ อำนาจของประชาชนเลยเกิดขึ้นไม่ได้จริงภายใต้ระบบประชาธิปไตยที่ต้องอาศัยนายทุนหนุนพรรคการเมืองในรัฐสภา”

“แต่เวลาเราพูดถึงประชาธิปไตยสังคมนิยม มันต้องเป็นประชาธิปไตยที่คนทั้งหมดมาคุยกัน เพราะฉะนั้นสังคมจะเป็นแบบไหนก็ได้หรือเปล่า ตราบเท่าที่เกิดจากการที่มาออกแบบร่วมกัน พยายามให้อำนาจมาอยู่ที่ประชาชน

“สมมติว่าเราคุยกัน ทุนคนรู้จักกันหมด คุณยอมได้หรือที่มีคนกำลังจะอดตาย ในขณะที่คนอีกคนเสียเงินไป 99% แต่ก็ยังอยู่รอดได้เลย”

ในเมื่อคนที่ควรมีอำนาจกลับไร้พลัง สังคมนิยมจึงเป็นสิ่งที่มีนเชื่อว่าคือคำตอบสุดท้ายของหลายสังคม รวมถึงสังคมไทย

“ผมไม่ได้มองว่าสังคมนิยมหรือประชาธิปไตยของผู้ใช้แรงงานเป็นคำตอบเพราะจะทำให้ชีวิตดีนะ แต่เป็นสิ่งที่ต้องทำ เพราะมันหมายความว่า เราคือคน เราสามารถสร้างประวัติศาสตร์ สร้างเรื่องราว สร้างวิถีชีวิตของเราเองได้

“เพราะฉะนั้น เรื่องราวแบบไหนล่ะที่เราจะสร้าง ไม่ใช่เราต้องไปหาว่าพระเจ้าจะบังคับให้เราสร้างอย่างไร หรือมีกฎอะไร แต่ว่าเราต้องเป็นคนกำหนด ไม่อย่างนั้นเราก็ต้องอยู่ภายใต้การกดขี่และการบังคับของคนส่วนน้อยที่กุมอำนาจมหาศาลไว้

“หน้าที่ของสังคมนิยมก็คือ การบอกว่าอำนาจเป็นของทุกคน และต้องทำให้คนเท่ากันในความหมายที่ว่าเรามีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เท่ากัน ไม่ได้หมายความว่าทุกคนมีเงิน 10 บาทเท่ากันหมด แต่เป็นในทางที่ว่า คุณรู้สึกว่าได้ใช้ชีวิตโดยที่ความขาดแคลนไม่ได้กีดขวางการใช้ชีวิตเท่าไหร่นักและและได้ใช้ศักยภาพของตนเองอย่างเต็มที่”

อย่างไรก็ตาม ในวันที่แม้กระทั่งคนที่ต้องการให้ระบบทุนนิยมเปลี่ยนแปลงยังไม่เชื่อว่ามีทางเลือกอื่นเหลืออยู่และไม่หวังว่าระบบจะเปลี่ยนได้ มีนเชื่อว่าหากจะหายจากอาการ ‘ซ้ายซึมเศร้า’ หนทางเดียวคือต้องสู้

“ผมไม่รู้จะแก้ปัญหาซ้ายซึมเศร้าอย่างไรนะ แต่ถ้าเรายอมแพ้ มันก็จบ คือเรามีทางเลือกเดียวว่าจะสู้รึเปล่า ถ้าสู้คุณอาจจะแพ้ก็ได้ ไม่มีใครรับประกันได้หรอก ไม่มีใครบอกได้ว่าถ้าคุณสู้แล้วคุณจะต้องชนะแน่นอน แต่ว่าถ้าไม่สู้อย่างไรคุณก็แพ้แน่นอน เราต้องกัดฟันสู้ อาจจะร้องไห้ได้ จะอะไรได้ แต่สุดท้ายแล้วเราก็ต้องสู้ ไม่อย่างนั้นก็ไม่เกิดขึ้น”

MOST READ

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

Politics

16 Dec 2021

สิทธิที่จะพบศาลภายหลังถูกจับและถูกควบคุมตัว (ตอนที่ 1) : เหตุใดจึงต้องพบศาล และต้องพบศาลเมื่อใด

ปกป้อง ศรีสนิท อธิบายถึงวิธีคิดของสิทธิที่จะพบศาลภายหลังถูกจับกุมและควบคุมตัว และบทบาทของศาลในการพิทักษ์เสรีภาพปัจเจกชน

ปกป้อง ศรีสนิท

16 Dec 2021

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save