ภายใน 7 ปี ประเทศไทยจะผลิตและส่งยานอวกาศไปโคจรรอบดวงจันทร์!
การให้สัมภาษณ์ของเอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เรียกกระแสตอบรับในทิศทางลบและเพิ่มเชื้อเพลิงของความไม่เห็นด้วยต่อกิจการอวกาศภายในประเทศไทย แม้ว่าวงการอวกาศของประเทศไทยจะเริ่มเติบโตมาสักระยะ แต่ภาพลักษณ์ในความทรงจำของประชาชนยังไม่ได้รับการสนับสนุนเท่าไรนัก
ในปัจจุบันมีความพยายามผลักดันกิจการอวกาศให้พัฒนายิ่งขึ้น ไม่ว่าจะด้วยจุดมุ่งหมายทางเศรษฐกิจหรือทางรัฐศาสตร์ ประเทศไทยเริ่มจัดระบบเตรียมความพร้อมต่อการเข้าร่วมวงการอวกาศกับกระแสนานาชาติมากยิ่งขึ้น อาทิ กฎหมายร่าง พ.ร.บ.กิจการอวกาศ ทว่าด้วยสถานการณ์วิกฤตของสังคม ณ เวลานี้ ยิ่งทำให้กิจการอวกาศที่ได้รับการผลักดันถูกมองว่าผิดที่ผิดจังหวะ ขณะเดียวกัน เวทีนานาชาติก็เริ่มปรากฏการแข่งขันภูมิรัฐศาสตร์ทางอวกาศใหม่ของรัฐมหาอำนาจ วงการอวกาศของประเทศไทยจึงเผชิญกับความท้าทายทั้งภายในและภายนอกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ความคิดของไทยและการจะไปอวกาศ
ย้อนกลับไปเมื่อปลายปี 2563 คำกล่าวของรัฐมนตรีถึงการเดินทางไปเหยียบดวงจันทร์เรียกความฮือฮาปนฉงนในสังคมไทย ยิ่งเมื่อพูดถึงงบประมาณที่สูงถึง 3,000 ล้านบาท ประชาชนหลายคนยิ่งแสดงความไม่เห็นด้วยและไม่เชื่อมั่น ต่างมองว่าเป็นความเพ้อฝันหรือความฟุ้ง ไม่ใช่สาระสำคัญแต่อย่างใด เช่นเดียวกันนั้น ในวันที่ 13 กรกฎาคม 2564 มีกระแสข่าวของ พ.ร.บ.กิจการอวกาศฯ ผ่านการอนุมัติร่างหลักการจากคณะรัฐมนตรีเตรียมเข้าไปขั้นตอนรัฐสภา เกิดเป็นกระแสโต้กลับในทางลบต่อประเด็นเรื่องอวกาศในสังคมไทย
ทั้งนี้ ประชาชนมองว่าเรื่องของอวกาศคือเรื่องไกลตัวและเอื้อมไม่ถึงของใครหลายคน กล่าวได้ว่าเรื่องของอวกาศนั้นมีส่วนคล้ายเรื่องการเมืองในแง่ค่านิยมและรากฐานทางวัฒนธรรม (cultural narrative) ในยุคสมัยก่อน คำว่า ‘การเมือง’ มักจะดูเป็นเรื่องของเจ้าของนาย ไม่ใช่เรื่องที่ประชาชนทั่วไปควรมาสนใจ เราจึงเห็นคำพูดประมาณว่าประชาชนจะมารู้เรื่องการบริหารปกครองได้อย่างไร เช่นเดียวกันที่หลายคนก็มองว่าเรื่องอวกาศเป็นเรื่องไกลตัวถึงนอกโลก ไม่ได้มีผลกับชีวิตของพวกเขา เรื่องปากท้องสิสำคัญยิ่งกว่า หรือหลายคนอาจมองว่าเรื่องอวกาศเป็นเรื่องของประเทศมหาอำนาจที่มีทรัพยากรเท่านั้น
ยิ่งเมื่อหันกลับมามองที่ไทย หลายคนยังมองว่าศักยภาพของประเทศยังเต็มไปด้วยข้อจำกัดและความล้าหลัง บ้างแสดงความเห็นในเชิงที่ว่า “แค่เทคโนโลยีธรรมดา ประเทศไทยยังเอามาปรับใช้ไม่เป็น จะหวังสร้างนวัตกรรมออกไปนอกโลก ฟังดูเป็นไปไม่ได้ ถนนลูกรังแก้ให้หมดประเทศก่อนเถอะ” จะเห็นได้ว่ากระแสตอบรับแนวคิดการนำยานอวกาศไทยไปนอกโลกเป็นไปในทางลบเสียส่วนใหญ่ หรืออีกนัยหนึ่งคือ ทิศทางอนาคตประเทศไทยกับอวกาศมักไม่อยู่ในสายตาของประชาชนทั่วไป
แต่เมื่อมาดูที่รายละเอียด การเติบโตของกิจการอวกาศเป็นโอกาสของประเทศกำลังพัฒนาที่ไม่ควรมองข้าม แต่ขณะเดียวกัน ความคิดเชิงลบของประชาชนต่อประเด็นอวกาศก็ไม่ใช่เรื่องผิดแปลก ซ้ำยังมีเหตุผลรองรับ เนื่องจากวิกฤตความเป็นอยู่และการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ประชาชนเห็นว่ารัฐบาลควรจะให้ความสำคัญกับเรื่องเหล่านี้เป็นลำดับแรก กระแสของกิจการอวกาศในปัจจุบันจึงถูกมองว่าผิดที่ผิดเวลา ทว่ากระบวนการและความสนใจเรื่องของกิจการอวกาศนั้นไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นอย่างกะทันหัน แต่เป็นกระแสที่เมืองไทยให้ความสนใจมาเป็นระยะและมีการลงมือพัฒนาอย่างต่อเนื่องจนเป็นรูปธรรมดังที่เห็นในช่วงนี้
รัฐมนตรีอธิบายประเด็นการเข้าสู่วงการอวกาศที่น่าสนใจในเชิงทฤษฎี คำอธิบายโดยคร่าวคือ หนทางที่ประเทศไทยจะหลุดออกจากกับดักรายได้ปานกลางคือการสร้างหนทางสู่โอกาสใหม่ และหนทางที่ว่านั้นก็คือธุรกิจอวกาศและวิทยาศาสตร์
คำว่า ‘เศรษฐกิจอวกาศ’ หรือ ‘กิจการอวกาศ’ กำลังเป็นกระแสที่ได้รับความสนใจอย่างมากในโลกปัจจุบัน อุตสาหกรรมนี้ไม่ได้จำกัดแค่เรื่องการผลิตจรวดหรือการส่งคนไปนอกโลกเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นอุปกรณ์ อะไหล่ เครื่องมือ ชุด อาหาร หรือข้าวของเครื่องใช้เพื่อดำรงชีวิตนอกโลก เป็นอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มการตอบแทนที่คุ้มค่า สามารถกระจายรายได้ไปยังภาคส่วนอื่นๆ แถมยังเติบโตขยายไปได้อีกเรื่อยๆ
ฉะนั้นจึงไม่น่าแปลกใจที่จะเห็นความต้องการลงทุนในกิจการอวกาศ เพราะนี่อาจเป็นโอกาสในการเปิดตลาดใหม่ เพื่อให้ประเทศไทยมีบทบาททั้งทางการเมืองและเศรษฐกิจ เป็นโมเดลการพัฒนาประเทศเหมือนสมัยแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ ฉบับที่ 1-3 ที่มุ่งเน้นการเติบโตทางอุตสาหกรรม มาในครั้งนี้อาจเป็นแผนพัฒนาที่มุ่งเน้นจากภาคอุตสาหกรรมหนักเบามาเป็นวิทยาศาสตร์ทางการอวกาศกันมากขึ้น
และเพื่อรองรับการปรับเปลี่ยนและการขยายตัวของตลาดในเมืองไทย รัฐจึงมีหน้าที่สำคัญในการกำกับดูแลการดำเนินงานกิจกรรมที่เกี่ยวข้อง ทั้งเรื่องของอวกาศและเศรษฐกิจอวกาศ การยื่น พ.ร.บ.กิจการอวกาศ เองก็เช่นกัน ที่ถือเป็นความพยายามจัดระเบียบและกำหนดทิศทางของประเทศไทยเพื่อก้าวไปสู่กิจการทางด้านอวกาศในอนาคต
พระราชบัญญัติกิจการอวกาศ พ.ศ. …
ดังที่ได้กล่าวไปว่าประเทศไทยมีความสนใจในกิจการอวกาศมาระยะหนึ่ง พ.ร.บ.กิจการอวกาศที่เป็นกระแสในเชิงลบคือผลลัพธ์ของความพยายามหลายปีในการจัดตั้งร่าง แม้ว่าในปัจจุบันนี้กำลังอยู่ระหว่างวาระการพิจารณา ซึ่งอาจจะส่งผลให้ร่างสุดท้ายของ พ.ร.บ. มีการเปลี่ยนแปลง ทว่าสาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.นี้คือการทำให้กิจการทางอวกาศภายในประเทศไทยมีความเป็นทางการและชัดเจนมากยิ่งขึ้น
ในร่าง พ.ร.บ. มีการกำหนดให้จัดตั้งสำนักงานกำกับกิจการอวกาศแห่งชาติ มีฐานะเป็นนิติบุคคลภายใต้การดูแลของคณะกรรมการนโยบายอวกาศแห่งชาติ ซึ่งประกอบด้วยนายกรัฐมนตรีเป็นประธานกรรมการ รองนายกรัฐมนตรีเป็นรองประธานกรรมการ 10 กรรมการโดยตำแหน่ง และ 8 กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ โดยจะมีผู้อำนวยการเป็นเลขานุการ
ก่อนหน้านี้ ประเทศไทยมีโครงสร้างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับอวกาศอยู่แต่เดิม ทว่าก็ถูกตั้งขึ้นแบบทับซ้อนจนบางครั้งเกิดเป็นความสับสนในสังคม ในเบื้องต้น สามารถแบ่งออกเป็น 4 สาย ได้แก่
1.สายสนับสนุนเรื่องของอวกาศโดยตรง เช่น สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (GISTDA) สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (NARIT) หรืออื่นๆ
2.สายการศึกษาประเด็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง อันได้แก่ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม
3.สายรัฐสภาอันทำหน้าที่เปิดรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน ซึ่งประกอบไปด้วยคณะกรรมาธิการการวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิจัยและนวัตกรรม และอื่นๆ
4.สายความมั่นคง อย่างศูนย์ปฏิบัติการทางอวกาศกองทัพอากาศ เป็นต้น
พ.ร.บ.กิจการอวกาศนี้ทำหน้าที่จัดระเบียบความเรียบร้อยและความทับซ้อนในเชิงโครงสร้างองค์กรเกี่ยวกับอวกาศภายในประเทศไทย หน่วยงานต่างๆ ที่ได้กล่าวไปย่อมต้องดำเนินการขอขึ้นทะเบียนและใบอนุญาตตามกฎหมายใหม่เช่นเดียวกัน โดยต่อไปนี้จะอยู่ภายใต้การกำกับ ดูแล รับผิดชอบของสำนักงานกำกับกิจการอวกาศ
นอกจากนี้กระบวนการทั้งหลายที่เกี่ยวข้องกับอวกาศย่อมมีความเป็นราชการมากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการขอใบอนุญาตที่จำเป็นจะต้องตั้งคณะกรรมการกลั่นกรองการออกใบอนุญาตเพิ่มเติม, การเสียค่าบริการหรืออัตราค่าธรรมเนียม, อำนาจของผู้อำนวยการที่สามารถระงับ พักใช้ หรือเพิกถอน, หรือระบบทะเบียนวัตถุอวกาศ ในแง่หนึ่งถือว่าเป็นข้อดีในการปฏิบัติอย่างเป็นระบบ ทั้งมีทิศทาง นโยบาย และการกำกับที่ชัดเจน
ผู้เขียนเห็นด้วยกับการจัดระเบียบกิจการและองค์กรที่เกี่ยวข้องกับอวกาศของประเทศไทย แต่ในขณะเดียวกันก็ยังมีข้อกังวลระหว่างหลักเกฑณ์กำหนดและการปฏิบัติจริง เนื่องจากการดำเนินการของไทยมีความเป็น red tape อยู่สูง ทั้งยังมีรูปแบบการรวมศูนย์อำนาจแบบกระจัดกระจาย (fragmented centralism)[1]
จากร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวเกิดเป็นการรวมศูนย์อำนาจอยู่ที่หน่วยงานเดียวอย่างเห็นได้ชัด เนื่องจากทุกประเด็นที่เกี่ยวข้องกับอวกาศ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการศึกษาความมั่นคง งานวิจัย การท่องเที่ยว สิ่งแวดล้อม การเกษตร การสื่อสารหรืออื่นๆ จะต้องขึ้นตรงต่อสำนักงานและคณะกรรมการเพียงอย่างเดียว มีเพียงกิจการอวกาศในราชการทหารการป้องกันประเทศที่ไม่ถูกรวมเข้าไป (ตามมาตรา 4 ในร่าง พ.ร.บ.) จึงเป็นที่น่าจับตาว่า พ.ร.บ.ดังกล่าวจะสามารถจัดระเบียบและนำไปสู่การเป็นหน่วยงานส่งเสริมการแข่งขันทางกิจการทางอวกาศของไทยในรูปแบบใด
ไทยและภูมิรัฐศาสตร์ทางการอวกาศ
ที่ผ่านมาประเทศไทยดำเนินการพัฒนาวงการอวกาศมาอย่างต่อเนื่อง พ.ร.บ. หรือกฎหมายที่กล่าวไปข้างต้นก็เป็นอีกหนึ่งก้าวของความพยายามที่จะผลักดันวงการอวกาศในประเทศไทย สนธิสัญญาที่เกี่ยวข้อง เช่น สนธิสัญญาว่าด้วยหลักเกณฑ์การดำเนินกิจการของรัฐในการสำรวจและการใช้อวกาศภายนอกฯ ความตกลงว่าด้วยการช่วยชีวิตนักอวกาศฯ สนธิสัญญาว่าด้วยเรื่องการห้ามการทดลองอาวุธนิวเคลียร์ในชั้นบรรยากาศในอวกาศส่วนนอกและใต้น้ำ และอื่นๆ เป็นต้น
นอกจากที่ประเทศไทยลงนามแสดงเจตจำนงเข้าร่วมกับกระแสอวกาศของโลกแล้ว ภายในประเทศเองก็มีการจัดตั้งโครงการ Thailand Space Consortium (TSC) ซึ่งเป็นโครงการสำรวจอวกาศของไทยที่มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาบริหาร ไม่ว่าจะเป็น NARIT, GISTDA, สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน, และสำนักนวัตกรรมแห่งชาติ NIA เป็นโครงการที่มีแนวทางริเริ่มมาตั้งแต่ปี 2018 จนกระทั่งในปี 2020/2021 จึงเปิดโครงการอย่างเป็นทางการ บ่งบอกถึงความต้องการที่จะพัฒนาและผลักดันวงการอวกาศของประเทศให้มากยิ่งขึ้นไปอีก
จากท่าทีและโครงการที่กล่าวไป ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าประเทศไทยมีความพยายามที่จะเกาะรถไฟไปสู่อวกาศ เพราะนอกจากจะเป็นการสถาปนาสถานะทางอำนาจในเวทีโลกให้เป็นที่ยอมรับโดยทั่ว (ยิ่งมีบทบาทยิ่งเท่ากับมีอำนาจในการต่อรอง) การตั้งตลาดใหม่ ผันตัวจากการเป็นครัวของโลก ก้าวมาสู่การเป็นศูนย์กลางการแพทย์หรือศูนย์กลางทางเศรษฐกิจอวกาศของภูมิภาค ก็ฟังดูน่าเชิญชวนไม่น้อย ถือเป็นโมเดลการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศได้
ปัจจุบันอวกาศไม่ได้ผูกติดไว้กับแค่ประเทศมหาอำนาจเพียงอย่างเดียวเหมือนสมัยสงครามอวกาศอีกต่อไป แต่แวดวงอวกาศของโลกเปลี่ยนแปลงไปจากอดีต หากประเทศใดมีศักยภาพและทรัพยากรเพียงพอก็สามารถเข้าร่วมโครงการอวกาศได้โดยไม่ถูกปิดกั้น เช่นเดียวกันนั้น เอกชนหรือทุนสามารถก้าวเข้ามาในพื้นที่นี้ได้เช่นกัน อย่างในกรณีของ SpaceX และ Blue Origin เป็นต้น (แม้ว่าในเรื่องการพึ่งพารัฐของเอกชนจะเป็นอีกประเด็นที่สามารถถกเถียงกันต่อไปได้ในอนาคต)
เมื่อพิจารณาแล้วจึงเห็นถึงพลวัตความเปลี่ยนแปลงในการแข่งขันทางอวกาศสองประการ หนึ่ง จากแค่เรื่องของรัฐ-รัฐ กลายเป็นมีทุนเอกชนเข้ามาข้องเกี่ยว และสอง ไม่ได้มีการยึดติดอวกาศเป็นปัจจัยทางศักยภาพของรัฐเพื่อการส่งเสริมความมั่นคงของรัฐหรือสถาปนาสถาะทางอำนาจของรัฐเพียงอย่างเดียวอีกต่อไป แต่กลายเป็นการทำให้เป็นอุตสาหกรรม (industrialize) เพื่อการเศรษฐกิจมากยิ่งขึ้นควบคู่กันไป กล่าวคือนอกจากรัฐจะสถาปนาสถานะทางอำนาจของตนเองผ่านความก้าวหน้าทางอวกาศแล้ว รัฐยังสามารถหารายได้จากอุตสาหกรรมอวกาศและที่เกี่ยวข้องได้อีกด้วย
แต่ทว่า แม้จะหมดยุคสงครามอวกาศที่ผูกติดเรื่องนอกโลกไว้แต่รัฐกับรัฐ (โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียต) แต่เรื่องของภูมิรัฐศาสตร์ที่ขยับขยายไปจนถึงอวกาศก็ยังไม่จบลง ซ้ำยังดูเหมือนจะเป็นการเปิดฉากสงครามอวกาศครั้งใหม่ในบริบทที่แตกต่างไปเสียด้วยซ้ำ ดังที่ปรากฏในร่องรอยการเร่งแข่งขันระหว่างรัฐตัวแสดงหน้าใหม่และเก่าเช่น สหรัฐฯ และจีน
โครงการ Artemis โดย NASA ของสหรัฐอเมริกา มีจุดมุ่งหมายในการพามนุษย์กลับไปยังดวงจันทร์อีกครั้งและตรวจสอบถึงความเป็นไปได้ที่จะขยายเป้าหมายไปถึงดาวอังคารในอนาคต ยานหลักที่จะใช้สำหรับโครงการนี้คือ ยาน Orion MPCV ซึ่งเป็นยานที่ร่วมกันพัฒนาระหว่างสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป และยังมีการวางแผนสร้าง Lunar Gateway หรือสถานีอวกาศโคจร ซึ่งจะทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางทั้งสำหรับการสื่อสาร พักอาศัยระยะสั้น และปฏิบัติการอื่นๆ
ทั้งนี้ประเด็นที่น่าสนใจคือ สหรัฐฯ ประกาศใช้ Artemis Accords ในเดือนตุลาคมปี 2563 ซึ่งเป็นข้อตกลงระหว่างเอกชนและรัฐที่สนใจเข้าร่วมโครงการ มีชื่อเต็มว่า Principles For Cooperation In The Civil Exploration And Use Of The moon, Mars, Comets, And Asteroids For Peaceful Purposes ข้อตกลงนี้จัดทำโดยสหรัฐฯ มีจุดประสงค์ในการคงไว้ซึ่งสันติภาพในเข้าถึงอวกาศของมนุษย์ทุกคน รวมถึงตั้งบรรทัดฐานและระเบียบโลกสำหรับประเด็นทางอวกาศให้ทุกๆ ประเทศรักษาความมั่นคงนี้ไว้
ปัจจุบันมี 12 ประเทศที่เข้าร่วมข้อตกลง Artemis ได้แก่ ออสเตรเลีย, บราซิล, แคนาดา, อิตาลี, ญี่ปุ่น, ลักซัมเบิร์ก, นิว ซีแลนด์, เกาหลีใต้, ยูเครน, UAE, สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา ซึ่งรายชื่อทั้ง 12 ประเทศล้วนแต่เป็นประเทศที่มีสายสัมพันธ์อันดีกับสหรัฐฯ หรือมีความเกี่ยวข้องทางเศรษฐกิจเป็นสำคัญ
แน่นอนว่าประเทศผู้มีความสามารถทางด้านอวกาศอย่างอินเดีย รัสเซีย และจีนไม่ได้เข้าร่วมข้อตกลง Artemis ในครั้งนี้ ในทางกลับกัน จีน (CNSA) และรัสเซีย (Roscosmos) ได้เสนอสร้าง International Lunar Research Station (ILRS) และกำลังเปิดรับผู้ที่สนใจ (เอกชนและรัฐ) ให้เข้าร่วมกับโครงการของตนเอง ซึ่งโครงการดังกล่าวเป็นโครงการสำรวจดาวอังคารโดยมนุษย์ โดยจะมีการสร้างฐานขึ้นบนดวงจันทร์เพื่อรองรับภารกิจ ทำหน้าที่เป็นศูนย์ควบคุม มีสถานีวิจัยทดลองและอื่นๆ โดยโครงการนี้เปิดเผยแผนการดำเนินการในช่วงเดียวกันกับแผน Artemis ของ NASA และเป็นช่วงเวลาหลังจากที่รัสเซียห่างตัวเองออกจากโครงการ Lunar Gateway ของสหรัฐฯ
ข้อมูลล่าสุดเมื่อเดือนกันยายน ปี 2564 ทางรัสเซียและจีนพร้อมด้วยผู้เชี่ยวชาญจากฝรั่งเศส อิตาลี เนเธอร์แลนด์ เยอรมนี มาเลเซีย ประเทศไทย และ UN Office of Outer Space Affairs มีการพูดคุยถึงร่างปฏิญญา (declaration) เพื่อเสนอ ณ International Astronautical Congress ในเดือนตุลาคม แม้ว่ารายชื่อที่กล่าวไปจะไม่ใช่รายชื่อของผู้เข้าร่วมอย่างเป็นทางการ ทว่าการเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในการพูดคุยเพื่อเสนอร่างปฏิญญานั้นก็แสดงให้เห็นถึงความใกล้ชิดและความสนใจในตัวโครงการนี้
นอกจากนี้ เช่นเดียวกันกับที่จีนและรัสเซียไม่เข้าร่วม Artemis Accords สหรัฐอเมริกาเองก็ไม่สามารถเข้าร่วมโครงการ ILRS ของจีนและรัสเซียได้ เนื่องด้วยการแปรญัตติในปี 2554 ที่รู้จักกันในชื่อของ Wolf Amendment ห้ามไม่ให้มีความร่วมมือระหว่าง NASA และสาธารณรัฐประชาชนจีน (หรือองค์กรใดที่เกี่ยวข้องกับรัฐบาลจีน) เพราะเหตุผลทางความมั่นคง
แน่นอนว่า 2 โครงการที่กล่าวไปเป็นหนึ่งในตัวอย่างการแข่งขันระหว่างประเทศมหาอำนาจทางด้านอวกาศที่ชัดเจน ทว่าในสภาพแวดล้อมของความเป็นจริง ยังปรากฏการแข่งขันและการแบ่งขั้วในประเด็นปลีกย่อยอื่นๆ อีกมาก ทั้งยังมีตัวแสดงอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นรัฐหรือเอกชนที่ผันแปรไปตามทิศทางกระแสการเมืองและเศรษฐกิจโลกในปัจจุบัน
สรุป
เมื่อพิจารณาจากการศึกษาในเบื้องต้น พบว่าความท้าทายภายในแบ่งได้ 2 ประเด็น ได้แก่
1.ความในใจของประชาชนที่สะท้อนออกมาในเชิงลบต่อการผลักดันการพัฒนาวงการอวกาศของไทย รวมถึงการสื่อสารขององค์กรและผู้ที่เกี่ยวข้องกับประเด็นเรื่องวิทยาศาสตร์และอวกาศ ไม่ว่าจะเป็นในเชิงวิชาการก็ดี หรือในเชิงข่าวสารสร้างการตื่นรู้ให้ผู้คนทั่วไปก็ดี ยังมีไม่มากพอ และเมื่อมีก็อาจจะไม่มีการสื่อสารที่เพียงพอ จนเกิดเป็นกระแสโต้กลับอย่างที่เห็น
2.ความพยายามจัดระเบียบวงการอวกาศด้วยระบบราชการไทย ยังไม่แน่ชัดว่าจะส่งผลร้ายมากกว่าผลดีหรือไม่ และจะเกิดการสนับสนุนวงการอวกาศในประเทศไทยได้จริงหรือไม่ เพราะในยุคปัจจุบัน อวกาศไม่ได้จำกัดแค่เรื่องของรัฐหรือของเอกชนอย่างเดียว โครงการของเยาวชนหรือผู้มีความสนใจทั่วไปก็สามารถจัดทำได้อย่างอิสระมากขึ้น ฉะนั้นแล้วกฎเกณฑ์ที่จะตั้งขึ้นย่อมส่งผลต่อทิศทางการเจริญเติบโตของวงการอวกาศไทยอย่างแน่นอน
ความท้าทายนี้เป็นเพียงจุดเริ่มต้นและหนึ่งในอุปสรรคที่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับวงการอวกาศจะต้องเผชิญหน้า ยังมีรายละเอียดอีกมากระหว่างทางในการขับเคลื่อนวงการอวกาศของประเทศไทย ทั้งนี้ยังมีกระแสอิทธิพลจากภายนอกประเทศที่เป็นตัวแปรสำคัญ
โดยความท้าทายจากภายนอกที่สำคัญคือการแข่งขันกันระหว่างประเทศมหาอำนาจผ่านโครงการทางเทคโนโลยีและการอวกาศในปัจจุบัน ประเด็นนานาชาติไม่ว่าจะเป็นเรื่องของขั้วอำนาจ ตะวันออก-ตะวันตก สภาวะโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศ หรือแม้แต่เรื่องวิทยาศาสตร์และอวกาศย่อมกลายเป็นเรื่องการเมืองการอำนาจโดยไม่ต้องสงสัย ภูมิรัฐศาสตร์ทางอวกาศที่ประเทศไทยอาจจะต้องเลือกว่าจะเข้าร่วมกับฝ่ายใด และเข้าร่วมในระดับที่มากน้อยแค่ไหนเพื่อผลประโยชน์สูงสุดของชาติและคนไทย
เมื่อพิจารณาจากแนวโน้มของการต่างประเทศไทยในปัจจุบัน กระแสการเข้าร่วมหรือประสานความร่วมมือ เช่น หนึ่งในจุดตั้งต้นของโครงการ TSC ของไทยที่มีการลงนามหนังสือบันทึกความเข้าใจกับ Chinese Academy of Sciences (CAS) ในปี 2561 ว่าด้วยเรื่องความร่วมมือพัฒนาองค์ความรู้และเทคโนโลยีสำหรับสร้างดาวเทียม จึงเป็นที่น่าจับตาว่าความร่วมมือระหว่างไทยและสาธารณรัฐประชาชนจีนอาจมีความเป็นไปได้สูง
ท้ายที่สุด วงการอวกาศของประเทศไทยกำลังเดินหน้าพัฒนาให้เท่าทันกระแสของโลก ความท้าทายที่กล่าวไปจึงเป็นสิ่งที่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องจะต้องคำนึงถึง โดยสิ่งสำคัญที่สุดคือความเชื่อมั่น
สำหรับประโยคที่ว่า “คนไทยจะไปเหยียบดวงจันทร์” แม้จะยังมีหนทางอีกยาวไกล แต่เมื่อเปรียบเทียบกับในอดีตแล้วนั้น ถือว่ามีพัฒนาการอย่างต่อเนื่อง จึงย่อมไม่ใช่เรื่องเพ้อฝันเพียงอย่างเดียว และถึงแม้กระแสเชิงลบในบริบทสังคมการเมืองปัจจุบันจะเป็นสิ่งที่เข้าใจได้ว่าเหตุใดประชาชนจึงไม่เห็นด้วยและในหลายกรณีมีถึงขั้นต่อต้าน แต่ความท้าทายนี้เป็นอุปสรรคสำคัญที่มีผลระยะยาวต่อแวดวงอวกาศของไทย ยิ่งเมื่อคนรุ่นใหม่ไม่มีความเชื่อมั่นในอนาคตที่หันไปสู่เทคโนโลยีหรืออวกาศมากยิ่งขึ้น ศักยภาพ ความสามารถ และวิสัยทัศน์ที่จะพาประเทศไทยไปสู่การพัฒนายิ่งน้อยลง ฉะนั้นประโยคที่ว่าคนไทยจะไปดวงจันทร์จึงไม่ควรเป็นแค่คำเพ้อฝัน แม้ว่าในวันนี้จะยังไม่สำเร็จ แต่ก็ควรจะเป็นการจุดประกายความหวังให้แก่สังคมได้
อ้างอิง
ภาษาไทย
Chottiwat Jittprasong (2562). โครงการ Artemis มนุษย์กลับสู่ดวงจันทร์ เจาะลึก สรุปทุกข้อมูล. สืบค้นจาก https://spaceth.co/artemis-program/
Chinapong Lienpanich (2564). CNSA และ Roscosmos ร่วมมือประกาศสร้าง International Lunar Research Station บนดวงจันทร์. สืบค้นจาก https://spaceth.co/cnsa-and-roskosmos-ilrs/
ภาษาอังกฤษ
Rajagopalan R.P. (2021). The Artemis Accords and Global Lunar Governance. Retrieved from https://www.orfonline.org/research/the-artemis-accords-and-global-lunar-governance/
NASA (n.d.). The Artemis Accords: Principles for a Safe, Peaceful, and Prosperous Future. Retrieved from https://www.nasa.gov/specials/artemis-accords/index.html#top
Jones, A. (2021). China, Russia open moon base project to international partners, early details emerge. Retrieved from https://spacenews.com/china-russia-open-moon-base-project-to-international-partners-early-details-emerge/
TASS (2021). Russia, China to present Lunar station declaration at congress in Dubai late Oct. Retrieved ed from https://tass.com/science/1343047
Dungsunenarn, N. (2021). Thailand Announces its first multi-billion lunar and deep space mission. Retrieved from https://spaceth.co/thailand-announce-its-first-multi-billion-lunar-and-deep-space-mission/
[1] ดูเพิ่มเติม วสันต์ เหลืองประภัสร์. (2558) การรวมศูนย์อำนาจและการกระจายอำนาจกับการบริหารราชการแผ่นดินไทย: การทบทวนแนวคิด ข้อถกเถียงและข้อพิจารณาเพื่อการปฏิรูป