fbpx
มัลดีฟส์ใหม่ในกับดักหนี้จีน

มัลดีฟส์ใหม่ในกับดักหนี้จีน

ธีรภัทร เจริญสุข เรื่องและภาพ

สามปีผ่านไปหลังวิกฤตการเมืองต่อเนื่องในเกาะสวรรค์อย่างมัลดีฟส์ ซึ่งผู้เขียนเคยเล่าไว้ก่อนหน้านี้แล้วในบทความ ‘นรกหลังเกาะสวรรค์ มัลดีฟส์‘ กระแสแห่งความเปลี่ยนแปลงที่ไหลเชี่ยวก็ซัดเข้าสู่เกาะพักร้อนที่เต็มไปด้วยความขัดแย้งเบื้องหลังแห่งนี้ ด้วยพลังทุนและอำนาจทางเศรษฐกิจของพญามังกรจีน

ประธานาธิบดีอับดุลลา ยามีน ผู้เอาชนะพี่ชายครึ่งสายเลือดของตนในการเลือกตั้งเมื่อปี 2013 และจับกุมคุมขังนักการเมืองฝ่ายตรงข้ามและนักรณรงค์การเมืองเข้าคุกมากมาย จนต้องขยายเรือนจำใหม่ตามเกาะต่างๆ ได้เซ็นสัญญาเข้าร่วมแผน Belt and Road Inititiative หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง 一带一路 กับประธานสีจิ้นผิง ในปลายปี 2014 จากนั้น มัลดีฟส์ก็ได้เข้าสู่ยุคของการก่อสร้างสาธารณูปโภคขนาดใหญ่เพื่อปรับปรุงชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน พร้อมกับก้อนหนี้ที่จีนให้กู้ทับถมลงมามากขึ้นเรื่อยๆ

มัลดีฟส์ใหม่ในกับดักหนี้จีน

โครงการใหญ่ 3 โครงการที่จีนเข้ามามีส่วนร่วมด้วยแผน China Aid ได้แก่

1. สะพานมิตรภาพ จีน-มัลดีฟส์ (Sinamalé Bridge, 中國-馬爾地夫友誼大 橋 จงกว๋อ-หมาเอ่อร์ตี้ฟูโหย่วอี้ต้าเฉียว) มูลค่า 210 ล้านเหรียญสหรัฐ เชื่อมระหว่างเกาะหลักกรุงมาเล่ อันเป็นเมืองหลวง กับเกาะฮูฮูมาเล่ซึ่งเป็นที่ตั้งของท่าอากาศยานนานาชาติเวลานา สนามบินหลักของมัลดีฟส์ ซึ่งเดิมการเดินทางไปกลับสนามบินต้องอาศัยเรือโดยสารใช้เวลาประมาณ 15 นาที สะพานมิตรภาพที่เพิ่งสร้างเสร็จเปิดใช้เมื่อกลางเดือนกันยายนที่ผ่านมา สามารถทำให้สินค้าและผุ้โดยสารเดินทางจากเกาะมาเล่ไปยังสนามบินอย่างรวดเร็วและสะดวกมากขึ้นโดยใช้เวลาเพียง 5 นาที สะพานนี้ใช้เงินก่อสร้างจากเงินช่วยเหลือของรัฐบาลจีน (China Aid) จำนวน 126 ล้านเหรียญสหรัฐ และเงินกู้ที่มีรัฐบาลเป็นประกัน (Sovereign Guarantee) อีก 84 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยจ้างบริษัท China Harbor Engineering and Construction : CHEC เป็นผู้รับเหมาก่อสร้าง

สะพานมิตรภาพ จีน-มัลดีฟส์

2. กลุ่มอาคารที่อยู่อาศัยใหม่สำหรับประชากรมัลดีฟส์บนเกาะใหญ่ 3 แห่ง มูลค่า 80 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยใช้การถมทะเลขยายพื้นที่ สร้างเป็นกลุ่มอพาร์ตเมนต์สูง 5-6 ชั้นพร้อมพื้นที่สาธารณะส่วนกลาง ช่วยให้ภาระเรื่องการหาที่อยู่อาศัยสำหรับชาวมัลดีฟส์บรรเทาลงและลดความแออัดบนเกาะหลักที่แน่นขนัดและค่อนข้างไร้ระเบียบ นอกจากนี้ จีนยังช่วยเหลือในการสร้างโรงไฟฟ้าและโรงงานผลิตน้ำจืดสำหรับอุปโภคบริโภค โดยใช้เทคโนโลยีเดียวกับการถมทะเลสร้างฐานทัพอากาศในบริเวณทะเลจีนใต้

3. การขยายรันเวย์ใหม่ของท่าอากาศยานนานาชาติเวลานา (ชื่อเดิมคือ ท่าอากาศยานนานาชาติอิบราฮิม นัสเซอร์ รหัส IATA คือ MLE) มูลค่า 120 ล้านเหรียญ บนเกาะฮูฮูมาเล่ ท่าอากาศยานที่อยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเลเพียง 2 เมตร แห่งนี้ เปิดใช้งานในฐานะท่าอากาศยานนานาชาติมาตั้งแต่ปี 1981 นำนักท่องเที่ยวเข้าสู่มัลดีฟส์กว่า 1,000,000 คนต่อปี มีความหนาแน่นในการใช้งานสูง โดยเฉพาะในฤดูท่องเที่ยวตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนถึงเมษายน ทำให้โครงการขยายพื้นที่สนามบินเป็นจุดสำคัญในการส่งเสริมการท่องเที่ยว เพื่อต้อนรับจำนวนนักท่องเที่ยวที่มากกว่าเดิม และเพิ่มศักยภาพในการบินของเครื่องบินทะเล (Seaplane) ที่นำนักท่องเที่ยวไปยังเกาะรีสอร์ทที่อยู่ห่างไกล

3 โครงการดังกล่าวมูลค่ารวม 410 ล้านเหรียญสหรัฐ ทำให้หนี้สาธารณะของมัลดีฟส์เพิ่มขึ้นจาก 38.2 เปอร์เซ็นต์ เป็น 42.8 เปอร์เซ็นต์ ของ GDP และทำให้สัดส่วนหนี้สินต่างประเทศของมัลดีฟส์มาจากจีนถึง 82 เปอร์เซ็นต์  สื่อตะวันตก ญี่ปุ่น และอินเดีย ต่างแสดงความกังวลว่ามัลดีฟส์จะกลายเป็นประเทศกึ่งอาณานิคมของจีนด้วยกับดักหนี้สิน

อดีตประธานาธิบดีโมฮาเหม็ด นาชีด ซึ่งเป็นประธานาธิบดีจากการเลือกตั้งคนแรกของมัลดีฟส์ แสดงความเห็นว่า จีนสามารถครอบครองมัลดีฟส์ได้โดยไม่จำเป็นต้องใช้กระสุนปืนสักนัดเดียวด้วยกองหนี้ ต่างจากจักรวรรดิบริเตนที่เคยเข้ามายึดครองมัลดีฟส์ในศตวรรษที่ 18 ที่ใช้กองเรือและทหาร นาชีดผู้ลี้ภัยไปพำนักยังประเทศอังกฤษยังเรียกร้องให้อินเดียเข้ามาแทรกแซงมัลดีฟส์มากกว่าที่เป็นอยู่ ซึ่งอินเดียก็เป็นกังวลว่า หากจีนสามารถใช้หนี้บีบให้มัลดีฟส์ตั้งฐานทัพเรือกลางมหาสมุทรอินเดียได้เช่นเดียวกับที่จิบูติ อิทธิพลของอินเดียก็จะถูกลดทอนลงไป เช่นเดียวกับอเมริกาและอังกฤษที่มองว่าการคืบคลานเข้ามาของทุนจีนในมัลดีฟส์เป็นภัยคุกคาม

คอรัปชั่น มัลดีฟ

อย่างไรก็ตาม ในมุมมองของชาวมัลดีฟส์กลับไม่เห็นเช่นนั้น ชาวประมงพื้นบ้านยินดีกับการเข้ามาของจีนเนื่องจากสามารถขายปลาทูน่าได้ราคาดีอย่างต่อเนื่อง นักท่องเที่ยวจีนกลุ่มใหญ่ที่กลายเป็นนักท่องเที่ยวหลัก (18.9 เปอร์เซ็นต์) สร้างรายได้ให้กับโรงแรมและรีสอร์ทตามเกาะท้องถิ่นมากกว่ารีสอร์ทหรูของทุนตะวันตก บริษัทนำเที่ยวและเรือเช่าเกิดใหม่เพื่อนำนักท่องเที่ยวจีนไปสำรวจเกาะและเนินทรายต่างๆ รวมถึงลงดำน้ำดูปะการังและตกปลา  ในกรุงมาเล่ พื้นที่อยู่อาศัยที่เคยแออัดจนต้องออกมายืนคุยกันยามค่ำคืนริมถนนบางส่วนถูกย้ายไปยังอพาร์ทเมนท์ใหม่เอี่ยมบนเกาะรอง พร้อมสิ่งอำนวยความสะดวกที่มากขึ้น ชาวมัลดีฟส์มีรถเมล์ประจำทางใช้เป็นครั้งแรก และหากเมื่อพิจารณาดูยอดหนี้ต่อบัญชีของประเทศแล้ว ก็ไม่ได้มากถึงขนาดที่จะชำระไม่ได้ในอนาคต

มัลดีฟส์มีการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 23 กันยายน 2018 ป้ายหาเสียง ธงราวสีชมพูของพรรครัฐบาล ธงสามสีของพรรคฝ่ายค้าน และภาพหน้าของนักการเมืองทั้งสองขั้ว คือประธานาธิบดียามีนคนปัจจุบัน และอิบราฮิม โมฮาเหม็ด โซลีห์ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากมอมูน อับดุล กายูม อดีตประธานาธิบดีเผด็จการในยุค 1990 ขึ้นป้ายอยู่ทั่วทั้งท้องถนนของกรุงมาเล่และเกาะพื้นบ้าน การเลือกตั้งครั้งนี้แม้ว่าจะถูกจับตามองว่าอาจไม่บริสุทธิ์ยุติธรรม การกล่าวหาเรื่องคอร์รัปชันแพร่สะพัดตามหนังสือพิมพ์และเว็บไซต์ข่าว บนกำแพงบ้านเรือทาสีของพรรคที่ตนเองสนับสนุน และมีภาพกราฟิตี้ทางการเมืองให้เห็นทั่วไป แต่การเลือกตั้งก็เกิดขึ้น เป็นการเลือกตั้งหลังการสิ้นสุดครบวาระในระบอบประชาธิปไตยครั้งแรกที่เป็นไปตามปกติ

มัลดีฟส์ ประชาธิปไตย

มัลดีฟ ประธานาธิบดียามีน อิบราฮิม โมฮาเหม็ด โซลีห์

เมื่อเอ่ยปากถามพนักงานโรงแรมบนเกาะเดิมซึ่งเคยมาเยือนเมื่อ 3 ปีก่อน ถึงสิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปบนประเทศหมู่เกาะ รีสอร์ทแดนสวรรค์ที่คนทั่วโลกใฝ่ฝันแห่งนี้ เธอยิ้มและตอบกลับมาว่า

“Yes, many things have changed, and they will be better.”

มัลดีฟส์

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save