fbpx
จินตนาการใหม่ สู่ฝันระบบยุติธรรมไทยที่มีความยุติธรรมอย่างแท้จริง

จินตนาการใหม่ สู่ฝันระบบยุติธรรมไทยที่มีความยุติธรรมอย่างแท้จริง

‘ความยุติธรรม’ ของระบบยุติธรรมไทยกลายเป็นประเด็นร้อนในสังคมไทย โดยเฉพาะในช่วงเวลาสองเดือนที่ผ่านมา จากกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการกระทำของแกนนำคณะราษฎรเป็นการล้มล้างการปกครอง และถัดมาไม่นาน ศาลรัฐธรรมนูญก็วินิจฉัยว่าประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1448 ซึ่งอนุญาตให้เฉพาะชายกับหญิงเท่านั้นที่สมรสกันได้ ไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ อันถูกมองว่าเป็นการหยุดเมล็ดพันธุ์แห่งความเท่าเทียมและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ไม่ให้งอกงามในประเทศ นำมาสู่การตั้งคำถามต่อคำวินิจฉัยตลอดจนต่อตัวกฎหมายและระบบยุติธรรมทั้งหมด ว่ายังตั้งอยู่ตรงกลางและดำรงความเป็นธรรมอยู่จริงหรือไม่ หรือถึงที่สุดแล้วตัวระบบได้เอียงไปทางใดทางหนึ่ง รับใช้คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งโดยเฉพาะ

ระบบยุติธรรมมิได้ดำรงอยู่ลอยๆ ด้วยตัวของมันเองหรืออุบัติขึ้นได้ด้วยหลักนิติศาสตร์อย่างเดียวเท่านั้น หากแต่กอปรสร้างขึ้นมาจากทุกองคาพยพในสังคมโดยรวม การเคลื่อนไหวของศาลรัฐธรรมนูญในนามของระบบยุติธรรมไทยจึงส่งผลกระทบต่อสังคมไทยทั้งสังคมในหลากหลายมิติ ดังนั้นจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่เราจะต้องมาร่วม ‘จินตนาการ’ ถึงระบบยุติธรรมแบบใหม่

เรามองคุณค่าและความหมายของความยุติธรรมอย่างไร, ระบบยุติธรรมที่เราฝันหานั้นเป็นแบบไหน ต่างจากความเป็นจริงหรือเปล่า และถึงที่สุดเราจะสร้างระบบยุติธรรมในจินตนาการนั้นขึ้นมาได้อย่างไร 

101 ร่วมกับสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) และเครือข่ายด้านหลักนิติธรรมและการพัฒนา (RoLD) ชวน ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร. ธงชัย วินิจจะกูล ภาควิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-แมดิสัน, ดร. นายแพทย์โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ ผู้อำนวยการศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน), นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ จิตแพทย์และนักเขียน และ สฤณี อาชวานันทกุล กรรมการผู้จัดการด้านการพัฒนาความรู้ บริษัท ป่าสาละ จำกัด มาร่วมพูดคุยและจินตนาการถึงระบบยุติธรรมไทยด้วยกัน

ธงชัย วินิจจะกูล – หลุดพ้นจากนิติศาสตร์แบบไทยๆ หยุดให้อภิสิทธิ์ผู้มีอำนาจ

นิติศาสตร์ไทยเกิดขึ้นจาก rule by law ไม่ใช่ rule of law 

ความยุติธรรมสำหรับผมคือ ‘ความเป็นธรรม’ (fairness) ผมคิดว่าความยุติธรรมในสารพัดระบบโลกนี้ก็เริ่มจากตรงนี้เหมือนกัน แต่ด้วยผลประโยชน์ จุดยืนทางการเมือง และความคิดเห็นที่แตกต่างกัน ความหมายของความเป็นธรรมก็ต่างกันออกไปเรื่อยๆ ระบบกฎหมายทั้งโลกจึงถูกออกแบบขึ้นมาให้สร้างเงื่อนไข ปัจจัยองค์ประกอบ และความเป็นธรรมในทางกฎหมายที่เป็นจริงทุกวันนี้ และในความเป็นคนที่เหมือนกัน เราต้องยึดว่าอะไรคือความเป็นธรรม แล้วถ้ามีเงื่อนไขปัจจัยอื่นๆ ค่อยคิดพิจารณาเพิ่มเติมไป 

รากฐานและพัฒนาการนิติศาสตร์ไทยไม่ใช่รากฐานของ rule of law ที่กฎหมายเป็นใหญ่ โดยที่ทุกคนอยู่ภายใต้กฎหมายเดียวกันอย่างเสมอหน้าและเป็นธรรมกัน แต่กฎหมายไทยเป็น rule by law ซึ่งก็คือการใช้กฎหมายโดยผู้มีอำนาจ แม้ว่าจะมีการปรับตัวจากเหตุการณ์ทางการเมืองต่างๆ เช่นการปฏิวัติ 2475 แต่ก็ไม่เคยมีการสะสางจริงจัง นิติศาสตร์ไทยจึงกลายเป็นอำนาจนิยมเอียงเข้าข้างกษัตริย์ ให้อำนาจสถาบันกษัตริย์และรัฐบาลที่อ้างว่าตัวเองปกป้องสถาบันฯ ซึ่งในปัจจุบันยิ่งมีอำนาจเหลือล้นกว่ายุคประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข

ความหมายของคำว่ายุติธรรมมีได้หลายแบบ แต่ผมคิดว่ารัฐยึดไว้แบบเดียว แล้วใช้บงการประชาชนให้ยอมรับความหมายนั้นจนอยู่ตรงข้ามกับหลักสำคัญของ rule of law ที่ว่าประชาชนเท่าเทียมกัน รัฐเข้ามายุ่มย่ามไม่ได้ แต่ประเทศไทยบังคับว่าความมั่นคงของรัฐเป็นใหญ่เหนือกว่าผลประโยชน์หรือสิทธิเสรีภาพประชาชน 

ราชนิติธรรมมีแนวโน้มที่ใช้เรื่องสถาบันกษัตริย์เป็นเหตุผลให้ใช้อำนาจอภิสิทธิ์ และทำให้ระบบกฎหมายผูกติดกับสถาบันกษัตริย์มากขึ้น โดยผมเรียกคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญครั้งล่าสุดว่าการขยับเข้าไปสู่กึ่งสมบูรณาญาสิทธิราชย์อย่างเงียบๆ ไม่ให้คนเห็น เอื้ออำนวยให้กับอภิสิทธิ์แก่รัฐ และอภิสิทธิ์ที่น่าเกลียด น่ากลัว อันตรายที่สุด ก็คือการลอยนวลพ้นผิด เพราะถือเป็นอภิสิทธิ์ทางกฎหมายที่ล้มรากฐาน rule of law ไปหมด หากว่าคุณเลิกเข้าใจผิดว่าประเทศไทยเป็นระบอบประชาธิปไตย แล้วถือว่ารัฐธรรมนูญตัวจริงของประเทศไทยคือสถาบันพระมหากษัตริย์ รัฐบาลตัวจริงต้องรับใช้สถาบันฯ ไม่เกี่ยวกับประชาชน คุณจะพบว่าพฤติกรรมศาลคงเส้นคงวาอย่างยิ่ง นี่จึงเป็นการยืนยันว่าระบบกฎหมายที่เป็นอยู่คือการให้อภิสิทธิ์ต่อรัฐ โดยเฉพาะรัฐที่อ้างว่าตัวเองปกป้องกษัตริย์ 

ความเป็นกลางคือการยึดตามหลักการ

ความหมายของคำว่า ‘เป็นธรรม’ เปลี่ยนไปตามค่านิยมของคนที่เปลี่ยนไปในแต่ละยุคสมัย ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติและเป็นเรื่องดีด้วย เพราะมนุษย์ย่อมมีวิวัฒนาการ ทุกสิ่งอย่างจึงควรต้องปรับปรุงไปเรื่อยๆ รวมถึงระบบกระบวนการยุติธรรม แม้กระทั่งคำตัดสินของศาล ก็ต้องรู้จักปรับให้ดีขึ้นเช่นกัน ไม่ใช่แค่ปรับตามมิติมหาชนเท่านั้น แต่ต้องตระหนักว่าค่านิยมต่างๆ เปลี่ยนไปแล้ว ยกตัวอย่างกรณีล่าสุดที่ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินเรื่องสมรสเท่าเทียม ถ้าเราบอกว่าคนเมื่อร้อยกว่าปีก่อนตระหนักเรื่องความเท่าเทียมทางเพศก็จะไม่แฟร์ต่อศาล แต่เราดูได้จากปัจจุบัน ซึ่งเราก็จะเห็นว่าองค์ความรู้เรื่องนี้เปลี่ยนไปมากแล้ว

แต่สังคมไทยพยายามวางตัวเป็นกลางท่ามกลางความขัดแย้ง กลัวว่าตัวเองจะเอียงเข้าข้างความขัดแย้ง เพราะไม่รู้ว่าหลักความเป็นกลางคืออะไรและอยู่ตรงไหน ซึ่งผมคิดว่าเราต้องลองถามและประเมินความเข้าใจของคนทั่วๆ ไปดูว่า อะไรคือสิ่งที่ควรจะเป็นอย่างกลางๆ บ้าง เช่น การห้ามใช้กฎหมายมารังแกคน ซึ่งเป็นสิ่งที่ทุกคนล้วนยอมรับได้ ถ้าเรามีหลักทั่วๆ ไปแบบนี้แล้ว ไม่ว่าสังคมจะเป๋ไปไหน เราก็ต้องวิจารณ์ เป๋มากวิจารณ์มาก เป๋น้อยวิจารณ์น้อย นั่นคือการวิจารณ์อย่างมีคุณภาพ

ครั้งหนึ่งคุณอานันท์ ปันยารชุน (อดีตนายกรัฐมนตรี) เคยถามผมว่าคำว่า integrity ในภาษาไทยแปลว่าอะไร ซึ่งผมตอบไม่ได้ แต่เคยมีคนแปลแบบใกล้เคียงที่สุดที่คือ ‘ความซื่อตรงของตนเอง’ แต่สำหรับผมมันมากกว่านั้น คุณอานันท์มองว่าสังคมไทยไม่มี integrity ซึ่งคำนี้เชื่อมโยงกับสิ่งที่ผมพูดมาทั้งหมดคือต้องยึดหลักอย่างมั่นคง โดยเฉพาะการยึดหลักกฎหมาย

ไปให้พ้นจากนิติศาสตร์แบบไทยๆ ที่ให้อภิสิทธิ์แก่รัฐ

ระบบยุติธรรมในฝันสำหรับผมโดยพื้นฐานที่สุดคือ ‘อย่ามีอภิสิทธิ์’ ที่ผ่านมาในสังคมไทย อภิสิทธิ์ที่มีมากคือการมีเงินเพื่อเข้าถึงเส้นสาย และที่เลวร้ายที่สุดคือการมีอภิสิทธิ์ที่จะปลอดความผิด นอกจากนี้เราต้องไปให้พ้นหลักนิติศาสตร์แบบไทยๆ ที่มีรากฐานเป็น rule by law ที่ให้อภิสิทธิ์แก่ผู้มีอำนาจ

อีกเรื่องที่เรายังพูดถึงกันน้อยก็คือ ‘ราชทัณฑ์’ เพราะคุกไทยไม่มีการบำบัด (correctional facility) แต่เป็นระบบจารีตที่ต้องให้ความน่ากลัวเป็นนรก จึงเป็นระบบที่แสดงออกชัดที่สุดและเป็นตัวชี้วัดว่ากระบวนการยุติธรรมไทยล้าหลังแค่ไหน เพราะฉะนั้น การแก้ระบบในฝันของผมคือต้องแก้ทั้งระบบ 

วิกฤติศรัทธาที่ผู้คนมีต่อกฎหมายจัดว่าลึกและต้องใช้เวลามากที่จะแก้ปัญหา การเริ่มต้นแก้ปัญหาที่ดีที่สุดคือเริ่มต้นจากกรณีคดีความต่างๆ ที่เราเห็นเป็นรูปธรรม จากนั้นจึงลากให้ถึงระบบยุติธรรม แล้ววางเป้าหมายการแก้ปัญหาให้ครอบคลุมทั้งหมด 

โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ –
มองระบบยุติธรรมให้กว้างกว่าระบบยุติธรรม

ระบบยุติธรรมไม่ได้แยกขาดจากระบบอื่นๆ

เวลาเราพูดถึงระบบต่างๆ คนมักจะคิดว่าระบบเหล่านี้มีตัวละครจำนวนหนึ่งหรือถูกจำกัดอยู่ในแวดวงวิชาชีพหรือผู้รู้กลุ่มหนึ่งเท่านั้น เช่น ระบบการแพทย์ที่คนเข้าใจว่าต้องเป็นเรื่องของเหล่าแพทย์ ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นจริงก็จะเป็นหายนะของประเทศ และระบบยุติธรรมเองก็เช่นกัน หากทั้งระบบมีใจความแค่ตำรวจ ผู้ต้องหา อัยการ ศาล และราชทัณฑ์ ก็อาจจะนำมาสู่หายนะอีกแบบหนึ่ง ดังนั้น เวลาเรามองระบบจึงต้องสลายเส้นแบ่งหรือขอบเขตออกไปเพื่อที่จะได้ไม่ถูกผูกขาดด้วยวิชาชีพหรือกลุ่มคนที่สถาปนาตัวเองให้มีอำนาจเหนือระบบนั้นๆ

ระบบยุติธรรมไม่ได้แยกขาดไปจากระบบอื่นๆ อย่างในระบบการแพทย์ แพทย์ก็ต้องชันสูตรศพเมื่อมีการตายอย่างผิดธรรมชาติ หรือเรื่องการบริหารจัดการสาธารณสุขอย่างเป็นธรรม อย่างการกระจายวัคซีน ก็เกี่ยวข้องกับระบบยุติธรรมเหมือนกัน เรื่องความเป็นธรรมบนท้องถนนก็ทับซ้อนกับระบบยุติธรรมเหมือนกัน เช่น ระบบจราจรให้อภิสิทธิ์ต่อรถยนต์มากกว่าคนเดิน หรือให้อภิสิทธิ์รถใหญ่มากกว่ารถเล็กหรือไม่ นี่เป็นตัวอย่างว่าขอบเขตของระบบยุติธรรมทับซ้อนกับระบบอื่นๆ อยู่หลายระบบ ทุกระบบจึงควรเป็นระบบที่เปิดรับฟังความเห็นจากคนในแวดวงอื่นๆ ที่ไม่ใช่คนในแวดวงเดิม เพื่อจะได้พาเราไปหาจินตนาการใหม่ๆ เนื่องจากคนในแวดวงระบบนั้นก็อาจคุ้นชินแค่กับวิธีคิดแบบหนึ่ง หากฟังจากคนจากแวดวงอื่นบ้าง ก็จะเป็นเรื่องดี ทำให้เราได้กลับมาตั้งคำถามกับสิ่งที่เราเคยชิน

ยกระดับความเป็นมนุษย์-ทำให้ความหลากหลายอยู่ร่วมกันได้

อันดับแรกที่ต้องคิดคือเราจะนิยามความเป็นธรรมอย่างไร ความเป็นธรรมมีคุณค่าในแง่ไหน โดยส่วนตัวคิดว่าความยุติธรรมอาจเป็นผลลัพธ์ของปฏิสัมพันธ์ที่ซับซ้อนและหลากหลาย เพราะผู้คนคิดไม่เหมือนกัน มีคุณค่า ความหวัง และความฝันจะเห็นสังคมที่แตกต่างกันไป แต่ความหลากหลายเหล่านี้ล้วนอยู่ด้วยกัน มีปฏิสัมพันธ์ต่อกัน

ท่ามกลางความแตกต่าง การขัดแย้งทางความคิด ผลประโยชน์หรืออุดมการณ์นั้น ถ้าเรามีระบบยุติธรรมที่ทำงานได้ดี มีกระบวนการที่เป็นธรรมจริงๆ ความแตกต่างหลากหลายเหล่านี้ก็จะอยู่ด้วยกันในสังคมได้ เพราะระบบยุติธรรมที่ดีจะเป็นหลักประกันว่าพวกเขาจะไม่ถูกรังแกหรือถูกข่มเหงหากเห็นต่างจากคนที่มีอำนาจหรือมีอภิสิทธิ์เหนือกว่า

นอกจากนี้ หากระบบยุติธรรมทำงานได้ดี การนำเสนอคำพิพากษาจะยกระดับความเป็นมนุษย์ของสังคมได้พร้อมๆ กัน นำมาซึ่งคำพิพากษาที่ยกระดับความเข้าใจของมนุษย์ในการจะอยู่ร่วมกันให้สูงขึ้น แต่เวลานี้เราเห็นแต่คำวินิจฉัยที่ฉุดรั้งความเป็นมนุษย์ให้ตกต่ำลง ทำให้มนุษย์สิ้นหวังในการสร้างสรรค์สังคมให้ดีขึ้นจนผู้พิพากษาต้องฆ่าตัวตายเพื่อประท้วง อันเป็นการสะท้อนว่าระบบยุติธรรมไม่ช่วยยกระดับความเป็นมนุษย์ของคนในสังคมให้งอกงาม และไม่ช่วยให้คนมีความหวังว่าจะได้มีชีวิตอยู่อย่างมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์โดยเท่าเทียมกัน

ในแง่นี้เท่ากับว่ากระบวนการทางกฎหมายถูกเอามาใช้เป็นเครื่องมือเสียมากกว่า นิติปรัชญาที่เคยเป็นพื้นฐานของระบบยุติธรรมก็ไม่เหลืออยู่ เหลือแต่เทคนิค ทนายความก็กลายเป็นช่างเทคนิค ทุกอย่างถูกปรับให้เป็นโจทย์ทางเทคนิคจนหมด ขณะที่รากฐานทางปรัชญาที่จะพามนุษย์ออกจากความมืดบอดไปสู่ความเข้าใจโลกก็ค่อยๆ หายไป

วิชาชีพนักกฎหมายมีเป้าหมายเพื่อการยังไว้ซึ่งความยุติธรรมให้สังคม แต่อีกส่วนก็มีภารกิจต่อตัวเองอยู่ไม่น้อย เพราะผู้คนย่อมเติบโตมาพร้อมอคติ รวมทั้งตัวนักกฎหมาย ผู้พิพากษาหรือบุคลากรที่ดำรงตำแหน่งในระบบยุติธรรมด้วย การประกอบวิชาชีพด้านนี้จึงมีภารกิจในการปลดเปลื้องอคติในตัวเพื่อยังความเติบโตให้แก่ตัวเอง เข้าใจโลกได้ลึกซึ้งมากขึ้น ไม่ใช่โลกไปถึงไหนแล้วแต่ยังคิดว่ามนุษย์มีสองเพศ เราต้องคิดให้กว้าง มองให้ไกล แล้วนำเสนอคำพิพากษาที่เจ้าตัวรู้สึกภูมิใจว่าวันนี้ได้สลัดอคติบางประการ ไม่ว่าจะเรื่องเพศ ชาติพันธุ์ หรือเชื้อชาติ และได้เข้าใจเงื่อนไขและความเป็นมนุษย์ของผู้คน

อย่าแก้ปัญหาระบบยุติธรรมแค่ปลายยอด

ประเด็นในระบบยุติธรรมยึดโยงกันในหลายระดับ ที่จริงตำรวจ อัยการ ศาลและคุก อาจเป็นด่านสุดท้ายของความยุติธรรมเท่านั้น เพราะกระบวนการยุติธรรมนั้นเกิดขึ้นในชีวิตประจำวันด้วย เช่น ต่อแถวแล้วโดนแซง ถูกเลือกปฏิบัติ หรือมีการใช้อำนาจในโรงเรียน ในเมื่อความเป็นธรรมอยู่ในชีวิตประจำวันของทุกคน เราจะไปหวังให้มีประชาธิปไตยอยู่ที่ปลายยอดในระบบยุติธรรมเพียงแค่นั้นคงไม่ได้ แต่ต้องทำงานเรื่องความเป็นธรรมในพื้นที่ต่างๆ ให้กว้างขวางขึ้น เช่น การต่อสู้กับระบบโซตัสในสถานศึกษา หรือการต่อต้านความไม่เป็นธรรมในการแต่งตั้งตำแหน่งต่างๆ โดยเราควรทำให้พื้นที่เหล่านี้เป็นพื้นที่ที่ชอบธรรมให้คนลุกมาทวงความเป็นธรรมควบคู่ไปกับการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบ 

ระบบยุติธรรมที่ดีจะเป็นระบบที่มนุษย์แสดงออกด้านที่ดีของความเป็นมนุษย์ของพวกเขาได้ง่าย แต่ถ้าระบบยุติธรรมไม่ดี มนุษย์ก็จะแสดงออกด้านชั่วร้ายของได้ง่ายและหน้าด้านมากขึ้นเพราะไม่ต้องเกรงกลัวอะไร ระบบยุติธรรมที่เลวร้ายนี้จะดีใจมากหากเราสิ้นหวัง เพราะความสิ้นหวังทำให้เรายอมแพ้ มันจึงกลัวคนไม่ยอมแพ้

เราก็ต้องมองให้เชื่อมโยงกันว่า ปัญหาระบบยุติธรรมก็คือปัญหาการเมือง หากเรายังมีความหวังกับการเปลี่ยนแปลงระบบยุติธรรม เราต้องมีความหวังว่าจะเปลี่ยนแปลงระบบการเมืองควบคู่กันไปด้วย

ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ –
สร้างความยุติธรรมในทุกช่วงวัย เข้าอกเข้าใจต่อมนุษย์

จิตใต้สำนึกคนไม่ชอบความไม่ยุติธรรม

ตามตำราจิตเวชศาสตร์ฉบับภาษาอังกฤษ ซิกมุนด์ ฟรอยด์ (Sigmund Freud, นักจิตวิเคราะห์ชาวออสเตรีย) เขียนไว้ว่า จิตใต้สำนึก (unconscious) ของเราจะแปลคำว่า justice ว่า ‘ถ้าเราทำไม่ได้ คนอื่นก็ต้องทำไม่ได้ด้วย’ แล้วเมื่อไหร่ที่จิตใต้สำนึกเราเจอสิ่งที่ไม่ตรงตามที่แปลไว้ ก็จะเกิดความขัดแย้ง (conflict) โดยมนุษย์จะเริ่มใช้กลไกทางจิต (mental mechanism) มาจัดการความขัดแย้งในใจ โดยกลไกทางจิตมี 2 ประเภท คือประเภทที่ดีและไม่ดี

และจิตใต้สำนึกนั้นก็แปลคำว่า justice ว่าคือ ‘ความสมมาตร’ (symmetry) แปลว่า ‘เมื่ออะไรเกิดกับมือซ้าย จะต้องเกิดกับมือขวาเหมือนกัน’ แต่ตลอดชีวิตราชการ 40 ปีกลับมีประโยคหนึ่งที่ผมได้ยินบ่อยคือ “คนเรามีห้านิ้วยังไม่เท่ากันเลยจะมาเรียกร้องความเท่าเทียมได้อย่างไร” ซึ่งผมสงสัยมากว่าประโยคนี้มาจากไหน ผมว่าการที่ห้านิ้วเราไม่เท่ากันไม่เกี่ยวกับเรื่องใครได้อภิสิทธิ์เหนือกว่าคนอื่น

ฟรอยด์เคยบอกไว้ว่า จิตใต้สำนึกคนเราคิดว่าความไม่ยุติธรรมเกิดจากความไม่สมมาตร ทำให้จิตของเราไม่ชอบความไม่สมมาตร จึงดึงกลไกทางจิตหลายอย่างเข้ามาจัดการ พยายามทำให้เกิดความสมมาตรให้ได้

 

ความอยุติธรรมในแต่ละช่วงวัยสู่ความอยุติธรรมในเชิงกฎหมาย

ถ้าเราเอาไอเดียของซิกมุนด์ ฟรอยด์ไปจับกับไอเดียของอาจารย์ป๋วย อึ้งภากรณ์ จากหนังสือ ‘จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน’ เราจะเห็นถึงความไม่ยุติธรรมในเชิงอายุ ยกตัวอย่างในช่วงวัย 3 ขวบปีแรก เช่น บางบ้านมีเงินซื้อนิทานอ่าน บางบ้านไม่มี ขณะที่มีผลการศึกษาบอกว่าการอ่านนิทานก่อนนอนทุกคืนในวัยเด็กเป็นเรื่องดีมาก หรือเด็กบางบ้านมีแม่ดูแลใกล้ชิด แต่บางบ้าน แม่ต้องออกไปทำงานปากกัดตีนถีบ เพราะบ้านเรามีระบบลาคลอดได้แค่ 3-6 เดือน ไม่สามารถลา 3 ปีได้ ทั้งที่เด็ก 3 ขวบปีแรกควรมีแม่ดูแลใกล้ชิด นอกจากนี้ ผลศึกษายังบอกว่าโรงเรียนอนุบาลที่เหมาะกับเด็กช่วงวัย 7 ขวบปีแรก มีหน้าตาคล้ายโรงเรียนทางเลือก คือมีการเตรียมความพร้อม มีการเรียนแบบบูรณาการ แต่ว่าค่าเรียนแพง จึงมีคนกลุ่มหนึ่งได้เรียน อีกกลุ่มที่ไม่มีเงินก็ไม่ได้เรียน

จากประสบการณ์เข้ารักษาในสถานพินิจก่อนเข้าเรือนจำ กรณีที่พบบ่อยคือเด็กขายซีดีเถื่อน เกือบทุกคนเป็นชาติพันธุ์ ไม่มีแม่ ไม่มีนิทานอ่าน เพราะยากจน แม่ต้องไปทำงานในช่วง 3 ขวบปีแรก และไม่มีโรงเรียนอนุบาลที่ดีใน 7 ปีแรก ทั้งหมดนี้เป็นเวลาวิกฤตในทางการแพทย์ (critical period) ทั้งหมดนี้เราเรียกว่าการสืบทอดความยากจน เขาไม่มีทางเลือก ในขณะที่ร้านค้าขายซีดีเถื่อนได้ แต่เด็กขายไม่ได้ เขาจึงต้องมารับโทษทางกฎหมายแบบนี้

ประนีประนอม-เข้าใจคนแต่ละช่วงวัย

เด็กในช่วงวัยรุ่น 12-18 ปีมีหน้าที่ทางจิตวิทยาคือ หนึ่ง-หาอัตลักษณ์ สอง-ตั้งคำถามถึงอนาคต โดยวิธีที่จะได้มาซึ่งอัตลักษณ์ของเขาก็คืออย่าเชื่อพ่อแม่ ไปไกลๆ จากพ่อแม่ แล้วเขาจะได้อัตลักษณ์ใหม่ ดังนั้น ไม่ใช่เรื่องแปลกที่เด็กจะไม่เชื่อฟัง

จากนั้นพอพ้นจาก concreate operation จะกลายเป็น formal operation โดยมีคีย์เวิร์ดคือคำว่า ‘นามธรรม’ (abstract) ซึ่งด้านหนึ่งก็คือ ‘อุดมการณ์’ ดังนั้นไม่ใช่เรื่องแปลกที่วัยรุ่นจะมีอุดมการณ์ที่ดี มีอุดมการณ์ลอยอยู่เหนือเหตุผล และมองอนาคตอย่างมีอุดมคติ ซึ่งครอบคลุมถึงคำว่ายุติธรรมด้วย โดยวิธีการดูแลเขาก็ไม่ยาก เพียงแค่นั่งฟังว่าเขาอยากได้สังคมแบบไหน ฟังอย่างเปิดกว้าง ไม่มีเงื่อนไข อายุของเขาเองจะเป็นศัตรูกับตัวเขา เพราะพอเขาพบโลกมากขึ้น อุดมคติของเขาจะถูกกล่อมเกลาเข้าสู่ความเป็นจริงมากขึ้น แต่ถ้าเราไม่เปิดเวทีรับฟังมากพอ เขาจะไปสู่อุดมคติสูงสุดเลย ไม่มีวันถอนญัตติ 

ดังนั้น ผมคิดว่าคนอยู่ในระบบยุติธรรมควรมี ‘ความเข้าอกเข้าใจ’ (empathy) ต่อผู้คน ผมว่าเราไม่มีวิธีแก้ระบบในประเทศนี้ ถ้าเราไม่ลงถึงราก แต่ผมยังมีความหวังว่าการศึกษาจะมีวิชาประนีประนอม เพราะเด็กจะลดความเป็นศูนย์กลางตนเองแล้วเห็นผู้อื่นมากขึ้น ดังนั้นถ้าถามว่าระบบยุติธรรมจะดีขึ้นได้อย่างไร ผมตอบแบบซื่อๆ ว่าไปแก้ไขระบบการศึกษาชั้นประถม แล้วก็รอผู้ใหญ่รุ่นนี้จากไป เพราะถึงอย่างไรพวกเขาต้องจากไปแน่นอน เรื่องนี้ตรงไปตรงมามาก เพราะอย่างไรเวลาก็เป็นผู้ชนะ 

สฤณี อาชวานันทกุล –
หยุดระบบยุติธรรมที่ลอยตัวเหนือความรับผิดและละเลยความคิดประชาชน

เริ่มคิดเรื่องความยุติธรรมจากความอยุติธรรม

ความยุติธรรมคือกติกาในสังคมที่มีการเปลี่ยนแปลงทางแนวคิดเสมอ เรื่องที่เคยถูกกฎหมายในอดีต เช่น การค้าทาส ก็เป็นสิ่งไม่ถูกกฎหมายในปัจจุบัน เมื่อเวลาเปลี่ยนผ่านไปและคนเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลง

หนังสือ The Idea of Justice ของอมาตยา เซน (Amartya Sen, นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลชาวอินเดีย) เสนอว่า อาจเป็นไปไม่ได้ที่เราจะนิยามหน้าตาของความยุติธรรมในอุดมคติ เพราะสังคมเต็มไปด้วยความแตกต่างหลากหลาย ผู้คนอาจให้คุณค่าในบางสิ่งไม่เหมือนกัน ดังนั้นวิธีที่จะช่วยเราได้มากกว่าคือการเริ่มต้นจากความอยุติธรรม เพราะคนจะเห็นตรงกันได้มากขึ้นว่ามีอะไรบ้างที่ไม่ยุติธรรม เช่นเดียวกับกติกา rule of law ที่มีขึ้นเพราะเราคาดหวังว่าจะมีบางอย่างที่ช่วยคุ้มครองให้เราอยู่ร่วมกันได้โดยไม่ต้องใช้แค่อำนาจกับความแข็งแกร่ง ซึ่งจะทำให้ชีวิตไม่มีความสงบสุข

ฐานคิดหลักของ rule of law คือการวางกติกาคุ้มครองคนในสังคมให้อยู่ร่วมกันได้ และเป็นการวางขีดจำกัดของอำนาจรัฐเพราะเราไม่รู้เลยว่ารัฐจะใช้อำนาจนั้นมาคุกคามเราเมื่อไหร่ ทั้งหมดนี้มีฐานคิดมาจากการอยากอยู่ร่วมกันได้ในสังคม แม้คนเราจะมีอำนาจไม่เท่ากัน

ยึดโยงศาลเข้าหาประชาชน ฟื้นความเชื่อมั่นระบบยุติธรรมไทย

โจทย์ใหญ่ของการฟื้นศรัทธาต่อระบบยุติธรรมไทยคือเรื่องการแก้ปัญหาการไร้ความรับผิด การที่คนกล้าทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งโดยไม่สนใจผลพวงที่จะตามมานั้นเป็นเพราะไม่ต้องรับผิดชอบต่อประชาชน ดังนั้นเราอาจต้องเริ่มจากการรับผิดชอบตรงนี้เสียก่อน ต้องค่อยๆ สร้างกลไกการรับผิดที่จะช่วยเปลี่ยนแรงจูงใจคนในระบบยุติธรรม นั่นคือความยึดโยงระหว่างศาล บุคลากรในระบบยุติธรรมกับประชาชน เพราะแม้ศาลจะบอกว่าตนต้องเป็นอิสระเพื่อความยุติธรรมในการตัดสินคดี แต่ปัญหาของประเทศไทยคือ ศาลหลายท่านตีความการเป็นอิสระในความหมายว่าอิสระจากทุกสิ่งอย่าง ทั้งหลักการและประชาชน จึงต้องกลับมาคิดกันว่าจะทวงถามความยึดโยงของศาลกับประชาชนได้จากจุดไหน 

เป็นอิสระโดยไม่ละเลยความคิดประชาชน

ตั้งแต่มีการเข้าชื่อเสนอกฎหมายอิเล็กทรอนิกส์ เห็นได้ว่าประชาชนมีความตื่นตัวมาก ดูตัวอย่างได้จากกรณีการเข้าชื่อ พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียมและยกเลิกมาตรา 112 ที่ผ่านมา แม้จะยังไม่นำไปสู่ผลสำเร็จคือการนำเข้าสู่การพิจารณาโดยสภา แต่ก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ดี ทำให้คนในกระบวนการยุติธรรมเห็นว่าวันนี้คนในสังคมคิดอ่านอย่างไร

ที่ผ่านมาคนในระบบยุติธรรมอาจรู้สึกว่าต้องวางตัวให้ห่างจากคนอื่นๆ ไม่มาคลุกคลีคนนอกวงการเพื่อดำรงความเป็นอิสระ แต่วันนี้โลกมีพัฒนาการ จึงต้องออกแบบกลไกใหม่ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในระบบยุติธรรมได้มากขึ้น เปิดประตูให้ประชาชนได้เสนอแนะ เพิ่มมาตรการความโปร่งใส การพิจารณาคดีสำคัญๆ ที่ประชาชนให้ความสนใจก็อาจเปิดเป็นสาธารณะได้ จึงต้องคิดว่าทำอย่างไรให้ศาลรักษาความอิสระในแง่หลักวิชาการที่เป็นเหตุผล แต่ไม่ละเลยความคิดของคนในสังคมและความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น

นอกจากนี้ ตอนนี้ศาลเองพยายามนำระบบ AI (Artificial Intelligence-ปัญญาประดิษฐ์) เข้ามาใช้ช่วยตัดสินคดี ส่วนตัวคิดว่าน่าสนใจเพราะช่วยทุ่นแรง และอาจนำไปสู่การตัดสินคดีบางประเภทโดยไม่เลือกปฏิบัติ แต่ต้องระวังเพราะอาจเป็นการซ้ำเติมความเหลื่อมล้ำในกรณีที่ตัว AI ไม่เข้าในสภาพแวดล้อมหรือมูลเหตุเบื้องหลัง ดังนั้นต้องคิดว่าจะทำอย่างไรให้ AI มีชุดคุณค่าและคุณธรรมที่เราอยากเห็น 

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save