fbpx
ส่องศึกเลือกตั้งนิวเดลี: เมื่อคนเมืองหลวงไม่ต้อนรับพรรครัฐบาลอินเดีย

ส่องศึกเลือกตั้งนิวเดลี: เมื่อคนเมืองหลวงไม่ต้อนรับพรรครัฐบาลอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก เรื่อง

กฤตพร โทจันทร์ ภาพประกอบ

 

อย่างที่รู้กันว่าอินเดียเป็นประเทศที่มีขนาดประชากรใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก และมีแนวโน้มว่าจะขึ้นแท่นเป็นเบอร์หนึ่งในไม่ช้า ยิ่งไปกว่านั้นอินเดียยังได้รับการขนานนามว่าเป็น ‘ประเทศประชาธิปไตยในระบบรัฐสภาที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก’ อีกด้วย นั่นทำให้เกือบตลอดทั้งปี อินเดียมีการเลือกตั้งอยู่ตลอดเวลา ตั้งแต่การเลือกตั้งในระดับหมู่บ้าน ระดับท้องถิ่น หรือที่คนอินเดียเรียกกันติดปากว่า ‘ปัญจายัต (Panchayat)’ ซึ่งเป็นรูปแบบการปกครองเฉพาะที่สามารถพบได้เพียงในภูมิภาคเอเชียใต้เท่านั้น หากจะเทียบกับในสังคมไทย อาจมีสถานะใกล้เคียงกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อบต.) แต่การเลือกตั้งที่ได้รับการจับตามองมากที่สุดนอกเหนือจากการเลือกตั้งระดับชาติ คือการเลือกตั้งระดับรัฐ และดินแดนสหภาพ

สำหรับปัจจุบัน ภายหลังการประกาศยกเลิกสถานะความเป็นรัฐของจัมมูและแคชเมียร์ โดยแยกเป็น 2 ดินแดนสหภาพคือ ดินแดนสหภาพจัมมูและแคชเมียร์ และดินแดนสหภาพลดาข ส่งผลให้สาธารณรัฐอินเดีย ประกอบไปด้วย 28 รัฐ กับอีก 8 ดินแดนสหภาพ ซึ่งแต่ละพื้นที่จะจัดการเลือกตั้งไม่พร้อมกัน อินเดียจึงมีการเลือกตั้งในระดับนี้ทุกปี ขึ้นอยู่กับวงรอบการดำรงตำแหน่ง 5 ปีของรัฐสภาระดับรัฐและดินแดนสหภาพนั้นๆ

สำหรับในปีนี้ดินแดนสหภาพสำคัญที่มีการจัดการเลือกตั้งคือ เมืองหลวงอย่างกรุงนิวเดลี โดยปีนี้การเลือกตั้งจัดขึ้นในวันที่ 8 กุมภาพันธ์

ขึ้นชื่อว่าเป็นศึกเลือกตั้งนครหลวง จึงพลาดไม่ได้ที่จะวิเคราะห์ผลการเลือกตั้ง เพราะการเลือกตั้งของคนเมืองหลวงมักสะท้อนความพึงพอใจต่อการบริหารงานของรัฐบาลระดับชาติ และคนเมืองหลวงในอินเดียก็มักมีความคาดหวังสูงกว่าที่อื่นๆ ของประเทศ โดยเฉพาะเรื่องคุณภาพชีวิต จึงจะชวนความเข้าใจและวิเคราะห์ศึกเลือกตั้งเดลีว่ามีความน่าสนใจอะไรบ้าง ประเด็นทางนโยบายไหนได้รับความสนใจ กลุ่มคนไหนเลือกพรรคอะไร และสุดท้ายผลการเลือกตั้งนี้ส่งผลอย่างไรต่อการเมืองอินเดีย

 

ใครเป็นใครในการเลือกตั้งเดลี 2020

 

ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจก่อนว่า การเลือกตั้งในกรุงนิวเดลีนั้น เป็นการเลือกตั้งในฐานะของดินแดนสหภาพ ฉะนั้นรูปแบบการปกครองที่นี่จึงมีความพิเศษและมีอำนาจทางการบริหารในหลายเรื่องที่น้อยกว่ารัฐปกติ ในอดีต นิวเดลีเป็นเพียงดินแดนสหภาพซึ่งไม่มีการเลือกตั้ง และอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐบาล ดังเช่นในหลายดินแดนสภาพในปัจจุบัน อย่างไรก็ตามในปี 1991 รัฐบาลอินเดียได้ยกระดับรูปแบบการปกครองจากดินแดนสหภาพเดลี (Union Territory of Delhi) เป็น ดินแดนเมืองหลวงแห่งชาติเดลี (National Capital Territory of Delhi) ส่งผลให้เมืองแห่งนี้สามารถมีสภานิติบัญญัติเป็นของตนเองได้ แต่ยังคงมีอำนาจบริหารอย่างจำกัดภายใต้การดูแลของรัฐบาลสหภาพ ในปี 1993 จึงเกิดการเลือกตั้งครั้งแรก

สำหรับการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาแบบสดๆ ร้อนๆ นี้ ถือเป็นการเลือกตั้งสภานิติบัญญติแห่งกรุงเดลี ชุดที่ 7 แล้ว การชิงชัยยังคงความน่าสนใจอยู่ในหลายมิติ โดยเฉพาะการแข่งขันระหว่างพรรคการเมืองระดับชาติอย่างพรรคบีเจพี พรรคคองเกรส และพรรคซึ่งครองอำนาจอยู่เดิมอย่างพรรคอามอาดมี (Aam Aadmi Party) อาจเรียกได้ว่าทั้ง 3 พรรค ถือเป็นตัวเต็งสำคัญในการเลือกตั้งรอบนี้ และผลัดกันเป็นอันดับ 1-3 ตลอดการเลือกตั้งที่เคยมีมา

ในศึกเลือกตั้งรอบนี้ดูเหมือนว่าพรรคที่เป็นรองที่สุดคงหนีไม่พ้นพรรคคองเกรส ที่คะแนนนิยมตกต่ำมาอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ความพ่ายแพ้ในการเลือกตั้งระดับชาติเมื่อปี 2014 จนกระทั่งถึงปัจจุบัน แม้ว่าในหลายพื้นที่คะแนนเสียงของพรรคคองเกรสจะมากขึ้น แต่ความไม่มีเสถียรภาพภายในพรรคไม่ว่าจะเป็นตำแหน่งหัวหน้าพรรคที่ยังตกลงไม่ได้ว่าใครจะขึ้นมาเป็น การลาออกของสมาชิกพรรคจำนวนมาก รวมถึงแนวนโยบายหาเสียงที่ยังเข้าไม่ถึงประชาชน สิ่งเหล่านี้ส่งผลให้เกิดปัญหาทางด้านความเชื่อมั่นอย่างมากต่อตัวพรรค

แตกต่างจากคู่แข่งอย่างพรรคอามอาดมีซึ่งมีทุนเดิมอยู่ไม่ใช่น้อยเพราะการเลือกตั้งเมื่อปี 2015 พรรคนี้ได้รับเสียงสนับสนุนจากประชาชนอย่างถล่มทลายด้วยจำนวนที่นั่งสูงถึง 67 ที่นั่งจาก ทั้งหมด 70 ที่นั่ง ส่งผลให้นายอาร์วินด์ เคจริวาล (Arvind Kejriwal) ขึ้นเป็นมุขมนตรีสมัยที่ 2 ได้สำเร็จ และบริหารนครหลวงเดลีตลอด 5 ปีที่ผ่านมา และในการเลือกตั้งครั้งนี้ พรรคนี้เป็นพรรคเดียวที่มีการนำเสนอชื่อผู้ท้าชิงตำแหน่งมุขมนตรี แตกต่างจากคองเกรส และบีเจพี ที่ไม่มีการประกาศชื่อแคนดิเดตมุขมนตรี

ในขณะที่พรรคบีเจพีเป็นอีกพรรคที่มีทุนเดิมค่อนข้างเข้มแข็ง เพราะเป็นพรรครัฐบาลที่ปกครองประเทศอยู่ในปัจจุบัน ยิ่งไปกว่านั้นการเลือกตั้งทั่วไประดับประเทศเมื่อปีที่ผ่านมา พรรคบีเจพีกวาดที่นั่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในเขตกรุงนิวเดลีไปได้ทั้ง 7 ที่นั่ง ซึ่งนั่นหมายความว่าหากคะแนนเสียงการเลือกตั้งระดับชาติไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปมากนัก โอกาสและชัยชนะของพรรคบีเจพีในการเลือกตั้งก็อาจจะเป็นไปได้

แต่การเมืองอินเดียนั้นซับซ้อนกว่าที่เราคิด เพราะเป็นที่แน่ชัดแล้วว่าพรรคอามอาดมีสามารถกลับเข้ามาบริหารกรุงนิวเดลีได้ด้วยจำนวนที่นั่งถึง 62 ที่นั่ง ในขณะที่พรรคบีเจพีสามารถคว้าชัยได้เพียง 8 ที่นั่งเท่านั้น และสำหรับพรรคการเมืองระดับชาติอย่างคองเกรสเป็นที่น่าเสียดายที่ครั้งนี้ไม่สามารถเก็บชัยชนะได้สักที่นั่ง

 

ทำไมพรรคอามอาดมี ถึงยังถูกจริตคนเดลี?

 

เหตุผลใหญ่ที่พรรคนี้สามารถครองใจคนเมืองหลวงอย่างนิวเดลีได้ติดต่อกันเป็นเวลานานส่วนหนึ่งเป็นเพราะภาพลักษณ์ทางการเมืองที่มีความแตกต่างจากพรรคการเมืองระดับชาติ พรรคอามอาดมีขายความเป็นคนธรรมดา ที่ต้องการเข้ามาเปลี่ยนการเมืองอินเดียเพื่อสร้างสังคมให้ดีขึ้น เน้นการให้ประชาชนเข้ามาส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายที่ตัวอยากเปลี่ยนนิวเดลี และที่สำคัญคือการใช้สื่อโซเชียลที่เข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย

ก่อนอื่นต้องทำความรู้จักพรรคอามอาดมีเสียก่อน เพื่อให้ใครหลายคนที่ไม่ได้สนใจติดตามการเมืองอินเดียได้รู้จักพรรคการเมืองน้องใหม่ที่มีอายุไม่ถึง 10 ปี คำว่า ‘อามอาดมี’  ถ้าแปลเป็นไทยก็หมายถึง ‘คนธรรมดา’ การก่อกำเนิดของพรรคนี้จึงชูประเด็นเรื่องคนธรรมดาที่อยากเข้ามาเปลี่ยนการเมือง เพราะแท้จริงแล้วจุดเริ่มต้นของพรรคเกิดขึ้นจากการประท้วงปัญหาการทุจริตของรัฐบาลพรรคคองเกรสในปี 2011 -2012 ณ เวลานั้นเป็นเพียงกลุ่มเคลื่อนไหวทางสังคมเท่านั้น อย่างไรก็ตามด้วยความนิยมและฐานมวลชนในเมืองใหญ่อย่างเดลีที่มีมาก ผู้นำการชุมนุมบางกลุ่มจึงมองว่าควรตั้งพรรคการเมืองเพื่อมาขับเคลื่อนประเด็นการประท้วงให้เกิดการเปลี่ยนแปลง และเป็นจุดสำคัญให้เกิดพรรคอามอาดมี พรรคคนธรรมดา ที่มีสัญลักษณ์ เป็นรูป ‘ไม้กวาด’ ซึ่งสะท้อนความจริงจังในการเข้ามาเก็บกวาดปัญหาการทุจริตในประเทศที่เรื้อรัง

 

สัญลักษณ์พรรคอามอาดมี และภาพนายอาร์วินด์ เคจริวาล หัวหน้าพรรค
สัญลักษณ์พรรคอามอาดมี และภาพนายอาร์วินด์ เคจริวาล หัวหน้าพรรค

 

ฉะนั้นในการเลือกตั้งเดลีปี 2013 พรรคนี้สามารถกวาดที่นั่งไปได้ถึง 28 ที่นั่ง ทั้งที่ไม่มีฐานทางการเมืองมาก่อนและเป็นมือใหม่ทางการเมือง ยิ่งไปกว่านั้นยังสามารถส่งผู้นำตัวเองเป็นมุขมนตรีได้สำเร็จ ในขณะที่การเลือกตั้งเดลีปี 2015 พรรคนี้ประสบความสำเร็จอย่างมากดังที่ได้เขียนไปก่อนหน้านี้คือสามารถคว้าที่นั่งไปได้ถึง 67 ที่นั่งจาก 70 ที่นั่ง

ยิ่งไปกว่านั้นพรรคนี้ยังมีการชูนโยบายทางการเมืองในลักษณะรัฐสวัสดิการ และการส่งเสริมสังคมที่มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาระบบขนส่งสาธาณะ การพัฒนาพื้นที่สีเขียวภายในเมือง การส่งเสริมการเข้าถึงน้ำสะอาดและไฟฟ้า การพัฒนาห้องน้ำสาธารณะให้ได้คุณภาพ และนโยบายซึ่งถือว่าประสบความสำเร็จที่สุดของพรรคนี้คือการพัฒนาระบบการศึกษาของรัฐเพื่อประชาชน เพราะในอินเดียเป็นที่รู้กันว่าโรงเรียนรัฐบาลนั้นขาดคุณภาพเมื่อเทียบกับเอกชน คนอินเดียที่มีฐานะจึงเลือกส่งลูกไปโรงเรียนเอกชนมากกว่า

แต่สิ่งที่อามอาดมีทำในช่วงเวลาตั้งแต่ปี 2015-2020 คือการพัฒนาโรงเรียนรัฐบาลในกรุงนิวเดลี จนกลายเป็นโรงเรียนที่คนนิวเดลีแย่งกันส่งลูกเข้าไปเรียน หรือแม้แต่คนที่อยู่ในรัฐอื่นยังต้องย้ายทะเบียนบ้านมาอยู่เดลี เพื่อให้ลูกได้เรียนในโรงเรียนคุณภาพสูงของรัฐบาล ที่นอกจากจะเรียนฟรี มีค่าใช้จ่ายน้อยแล้ว ยังผลิตนักเรียนที่มีคุณภาพสูงด้วย ผลงานเรื่องระบบการศึกษานี้กลายเป็นเรือธงสำคัญในการหาเสียงเลือกตั้งรอบนี้ เพราะเป็นผลงานเชิงประจักษ์ นอกจากนี้พรรคยังได้เสนอนโยบายการปฏิรูประบบการรักษาพยาบาลเพื่อให้คนเดลีเข้าถึงอย่างมีประสิทธิภาพและประหยัด รวมถึงการเปลี่ยนเดลีให้กลายเป็นเมืองอัจฉริยะ มีระบบ wifi ครอบคลุมทุกพื้นที่

สิ่งเหล่านี้แตกต่างจากพรรคการเมืองคู่แข่ง ซึ่งส่วนใหญ่จะสะท้อนภาพความเป็นครอบครัวทางการเมือง การเมืองแบบเก่าๆ ที่เน้นขายตัวบุคคล พรรคการเมืองระดับชาติหลายพรรคสะท้อนความเป็นตัวแทนกลุ่มธุรกิจหรือกลุ่มทุนที่เอารัดเอาเปรียบประชาชน หรือชูความเป็นพรรคการเมืองที่ฝักใฝ่ศาสนาใดศาสนาหนึ่ง หรือชูฮินดูนิยม ในประเด็นทางนโยบายยังขาดการพัฒนาต่อยอด เน้นโจมตีทางการเมืองมากกว่าที่จะเสนอประเด็นด้านการพัฒนา เช่น การระบุว่าพรรคฝ่ายตรงข้ามได้รับการสนับสนุนจากปากีสถาน หรือการสร้างความกลัวเรื่องคนมุสลิมเป็นใหญ่ หรือเน้นไปที่การแจกของ แจกเงิน ซึ่งมุ่งเป้าช่วยเหลือมากกว่ายกระดับคุณภาพชีวิต

ปัจจัยเหล่านี้ล้วนเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้คนเมืองกรุงอย่างนิวเดลี ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชนชั้นกลาง และชนชั้นสูง ที่ไม่ได้วิตกกังวลมากนักต่อปัญหาปากท้อง แต่ให้ความสนใจกับเรื่องคุณภาพชีวิต สิ่งแวดล้อม อากาศบริสุทธิ์ หรือคุณภาพทางการศึกษา เลือกเทใจให้กับพรรคอามอาดมี

 

ผลเลือกตั้งในเมืองหลวงบอกอะไรรัฐบาล?

 

เรียกได้ว่าผลการเลือกตั้งครั้งนี้ค่อนข้างน่าสนใจโดยเฉพาะตัวเลขที่นั่งของพรรครัฐบาลอย่างพรรคบีเจพี ที่ได้ไปเพียง 8 ที่นั่งเท่านั้น ทั้งที่เมื่อปีที่แล้วพรรคบีเจพีกวาดทุกที่นั่งของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในเขตนครหลวงเดลีได้ทั้งหมด หลายคนจึงสงสัยว่านี่เป็นความพ่ายแพ้หรือเป็นความล้มเหลวทางนโยบายของรัฐบาลใช่หรือไม่ ต้องอธิบายว่าการเมืองอินเดียนั้นมีลักษณะพิเศษ เพราะผลการเลือกตั้งระดับประเทศไม่ใช่เครื่องยืนยันผลการเลือกตั้งระดับรัฐ และดินแดนสหภาพ

ผลลัพธ์ที่เป็นเช่นนี้เกิดขึ้นเพราะปัจจัยด้านการตัดสินใจของการเลือกตั้งระดับประเทศ กับระดับรัฐและดินแดนสหภาพนั้น มีความแตกต่างกัน ในขณะที่การเลือกตั้งระดับประเทศผู้มีสิทธิเลือกตั้งเน้นการตัดสินใจในภาพรวมของประเทศ เช่น ความเป็นผู้นำของแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี นโยบายทางด้านความมั่นคง แนวทางการแก้ปัญหาเศรษฐกิจและการจ้างงาน เป็นต้น

ในขณะที่การเลือกตั้งในระดับรัฐและดินแดนสหภาพ ผู้มีสิทธิเลือกตั้งจะวิเคราะห์ในเชิงผลลัพธ์ทางด้านนโยบายที่ตนเองจะได้รับทางตรงมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะเรื่องที่เป็นบทบาทและอำนาจหน้าที่ของรัฐบาลระดับรัฐและดินแดนสหภาพโดยตรง อาทิ นโยบายการศึกษา การขนส่งสาธารณะ การพัฒนาเมือง การพัฒนาสิ่งแวดล้อม และการยกระดับคุณภาพชีวิต เป็นต้น จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ในหลายครั้งผลการเลือกตั้งของอินเดียในระดับประเทศ กับระดับรัฐและดินแดนสหภาพมีความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง

แต่ความน่าสนใจของการเลือกตั้งนครหลวงเดลีในครั้งนี้ คือ การที่พรรคบีเจพีมุ่งเน้นใช้นโยบายของรัฐบาล รวมถึงอุดมการณ์ของพรรคมาเป็นตัวชูโรงเพื่อหาเสียงเลือกตั้ง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องฮินดูนิยม กฎหมายสัญชาติฉบับใหม่ สงครามกับปากีสถาน หรือประเด็นเรื่องการประท้วงที่ยืดเยื้อในเมืองนิวเดลีที่ shaheen bagh แน่นอนว่าพรรคอามอาดมียืนอยู่ตรงข้ามแนวนโยบายทั้งหมดที่พรรคบีเจพีหาเสียง เช่นแสดงท่าทีอย่างชัดเจนในการต่อต้านกฎหมายสัญชาติฉบับใหม่ และมุ่งเน้นการอยู่ร่วมกันของคนฮินดูและมุสลิม

ฉะนั้นหากพิจารณาจากสิ่งที่ใช้ในการหาเสียงเลือกตั้งที่ระบุไว้ข้างต้น ผลการเลือกตั้งในครั้งนี้กำลังบอกรัฐบาลว่าคนเมืองหลวงไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่รัฐบาลกำลังทำอยู่ โดยเฉพาะประเด็นเรื่องกฎหมายสัญชาติฉบับใหม่ ซึ่งสุ่มเสี่ยงต่อประเด็นเรื่องสิทธิความเป็นพลเมืองของคนอินเดีย และการแบ่งแยกระหว่างคนฮินดู-มุสลิม ซึ่งขัดแย้งอย่างชัดเจนกับแนวทางฆราวาสนิยมของอินเดียที่ปฏิบัติมาตลอด และความพ่ายแพ้ในลักษณะนี้ของพรรคบีเจพีในนิวเดลีไม่ใช่ที่แรก เพราะก่อนหน้านี้พรรคบีเจพีก็ปราชัยในศึกเลือกตั้งรัฐฌาร์ขัณจากประเด็นกฎหมายสัญชาติฉบับใหม่เช่นเดียวกัน

อาจกล่าวได้ว่าคนเมืองหลวงค่อนข้างจะส่งสัญญาณที่ชัดเจนให้รัฐบาลได้รับรู้ว่านโยบายและกฎหมายที่กำลังขับเคลื่อนอยู่นี้มีปัญหา และไม่ได้รับการยอมรับ ซึ่งหากเหตุการณ์ลักษณะนี้เกิดขึ้นในรัฐอื่นๆ ที่กำลังจะมีการเลือกตั้งในไม่ช้าโดยเฉพาะรัฐใหญ่อย่างพิหารและอุตตรประเทศ รัฐบาลจะทำงานลำบากมากยิ่งขึ้น เพราะในท้ายที่สุดแล้วการนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติยังเป็นอำนาจการตัดสินใจของรัฐบาลในระดับรัฐและดินแดนสหภาพ ยิ่งความพ่ายแพ้ของพรรครัฐบาลมีมากเท่าไหร่ในระดับรัฐและดินแดนสหภาพ นั่นหมายถึงความยากลำบากของรัฐบาลสหภาพในการเข้าถึงประชาชน

สุดท้ายนี้ขอยกคำพูดของ นายอาร์วินด์ เคจริวาล ว่าที่มุขมนตรีนครหลวงเดลีสมัยที่ 3 ที่กล่าวไว้หลังได้รับชัยชนะว่า “วันนี้การเมืองใหม่ได้เกิดขึ้นแล้วในเดลี คนเดลีได้พิสูจน์แล้วว่าพวกเขาลงคะแนนให้เฉพาะผู้ที่ส่งเสริมระบบการศึกษา ระบบสาธารณสุขเพื่อคนทั้งมวล และระบบไฟฟ้าราคาถูกตลอด 24 ชั่วโมง นี่ก็คือการเมืองใหม่ที่เกิดขึ้นในเดลี” เรียกได้ว่าเป็นการตอกย้ำชัยชนะของพรรคอามอาดมีที่เน้นการหาเสียงเชิงนโยบายที่จับต้องได้ มากกว่าการใช้การเมืองแบบเดิมที่เน้นโจมตี ใส่ร้าย หรือการนำประเด็นเรื่องปากีสถาน และความเกลียดชังคนมุสลิมมาใช้ในการหาเสียงเลือกตั้ง

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save