fbpx

แก่ให้ช้า เจ็บให้สั้น ตายให้ไว: นิยามใหม่ของคุณภาพชีวิตที่ดี

1

แก่ให้ช้า

การคุยเรื่องความตายไม่ว่ากับใครก็ตาม โดยเฉพาะคนใกล้ตัวเป็นเรื่องยากเสมอ ไม่แตกต่างจากการที่พ่อแม่ต้องสอนลูกๆ เรื่องเพศศึกษา บอกคนใกล้ตัวให้แยกขยะ หรือสะกิดคนที่นั่งข้างๆ บนเครื่องบินว่ากลิ่นตัวเธอเป็นมลภาวะกับคนรอบข้างเหลือเกิน กระนั้น แม้รู้ว่ามันยากและอาจเป็นจังหวะนรกได้เสมอเมื่อพูดเรื่องนี้ แต่ท้ายที่สุดนี่คือสิ่งที่ยังเป็นความจริงแท้ที่สุดในชีวิตที่เราต้องเผชิญหน้า ไม่มีทางหนีพ้น

จะพูดว่าเป็นความกลัวสูงสุดของมนุษย์คนหนึ่งก็ว่าได้ 

หลายวันก่อนผมมีโอกาสได้ฟังอาจารย์เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง ปัจจุบันอาจารย์ทำงานในฐานะประธานคณะทำงานขับเคลื่อนสังคมสูงวัยไทยอายุยืน อาจารย์ได้พูดถึงนิยามใหม่ของคุณภาพชีวิตของมนุษย์ ในยุคที่ใครๆ ต่างไม่อยากมีลูกและผู้สูงวัยเริ่มล้นเมือง อาจารย์เจิมศักดิ์นิยาม ‘คนแก่’ ในสังคมสมัยใหม่ไว้น่าสนใจครับ อาจารย์มองว่าคนแก่ ไม่ควรนับที่อายุ 60 หรือ 65 อีกต่อไปเพราะอายุเฉลี่ยของคนเพิ่มมากขึ้นมาก-ช่วง 50 ปีที่ผ่านมา คนแก่ในสมัยนี้ หมายถึงคนที่เริ่มช่วยตัวเองไม่ได้แล้ว หรือเริ่มที่จะต้องมีคนดูแล-นั่นต่างหากที่เราค่อยบอกใครๆ ว่า เราแก่แล้วจริงๆ ตราบใดที่เราอายุ 70 ปี แต่ยังกระฉับกระเฉง เดินเหินไปไหนมาไหนได้สะดวกก็ไม่นับว่าแก่

และเมื่อเข้าสู่ภาวะชราภาพแล้ว สิ่งหนึ่งที่เราทุกคนต่างหวัง (และรวมถึงสังคมโดยภาพรวมต่างคาดหวัง) ก็คือขอให้เราเจ็บให้น้อยที่สุด สั้นที่สุดก่อนที่จะจากโลกนี้ไป

แนวความคิดนี้น่าสนใจและเป็นแนวโน้มที่เกิดขึ้นทั่วโลก ประเทศที่พัฒนาแล้วปัจจุบันที่เริ่มมีโครงสร้างประชากรเปลี่ยนแปลงไป อัตราส่วนของผู้ที่มีอายุเกิน 55 ปีมากขึ้นเรื่อยๆ และกำลังมองหามาตรการใหม่ๆ ในการบริหารจัดการประชากรกลุ่มนี้ไม่ว่าจะทั้งยืดอายุการทำงานจาก 60 ปี เป็น 62 ปีหรือในบางประเทศ 65 ปี (และเชื่อว่าในอนาคตมีแนวโน้มที่อาจมากถึง 68 หรือ 70 ปีก็เป็นได้) มาตรการแบบนี้ให้ประโยชน์ในสองส่วนก็คือ รัฐยังมีแรงงานที่มากประสบการณ์ (แม้ว่าจะเชื่องช้าตามอายุไปบ้าง) อีกประการก็คือเศรษฐกิจหมุนเวียนในกลุ่มพลเมืองสูงวัย ลดภาระค่าใช้จ่ายก้อนโตของรัฐที่ต้องจ่ายทั้งเรื่องสุขภาพและสวัสดิการต่างๆ ที่รัฐเรียกเก็บก่อนหน้า เรื่องนี้หลายประเทศก็เริ่มไปแล้ว เช่นในญี่ปุ่น 

ส่วนในไทย เราต้องยอมรับความจริงข้อหนึ่งว่า เราไม่ได้เป็นสังคมที่เตรียมความพร้อมไว้ดีนักสำหรับทุกช่วงชีวิตของประชากร โดยเฉพาะเรื่องการแก่ การเจ็บและการตาย เนื่องจากโครงการรัฐสวัสดิการต่างๆ ยังผูกอยู่กับระบบการเมือง (ซึ่งก็อิงอยู่กับรากเหง้าเก่าแก่ของเราคือระบบอุปถัมภ์) การแบ่งสันปันส่วนสวัสดิการอย่างเท่าเทียมจึงยังไม่ได้เกิดขึ้นจริง โครงสร้างภาษีที่ไม่เอื้อให้รัฐสามารถจัดเก็บรายได้จากประชากรอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย รวมถึงความเหลื่อมล้ำที่มากขึ้นยิ่งเป็นอุปสรรคใหญ่ของประเทศ ฯลฯ ปัญหาทั้งหมดนี้ไม่สามารถแก้ได้ทันตามอายุของเราที่แก่ขึ้นเรื่อยๆ และโรคภัยกำลังถามหา การเข้าสู่วัยชราของคนไทย จึงเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วง เพราะยังมีประชากรอีกมาก ที่ไม่สามารถเข้าถึงสวัสดิการด้านสุขภาพ   

รายงานสถานการณ์ผู้สูงอายุไทยปี 2020 ของมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย ซึ่งทำงานร่วมกับสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล บอกเอาไว้ว่าในประชากร 66.5 ล้านคน มีผู้สูงอายุอยู่ 12 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 18 ของประชากรทั้งหมดและในปีนี้ (2022) ประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์แบบ ซึ่งหมายถึงเรามีประชากรอายุเกิน 60 ปีมากกว่าร้อยละ 20 มีคนอายุ 65 ปีขึ้นไปมากกว่าร้อยละ 14 ของประชากรทั้งประเทศและจะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ในขณะที่อัตราการเกิดมีแนวโน้มลดลงเรื่อยๆ ซึ่งแนวโน้มแบบนี้ไม่ได้เป็นแค่ที่ประเทศไทยนะครับ มันกำลังเกิดขึ้นทั่วโลก

มาตรฐานของอัตราการเจริญพันธุ์ของประเทศเขาวัดโดยที่ดูว่า หากอัตราการเกิดต่ำกว่าร้อยละ 2.1 นั่นหมายถึงประเทศนั้นกำลังเข้าสู่ภาวะจำนวนประชากรหดตัว เมื่อดูจากสถิติย้อนกลับไปในการศึกษาเปรียบเทียบของ สถาบันเมตริกส์สุขภาพและการประเมินผล มหาวิทยาลัยวอชิงตันเมื่อปี 1950 ช่วงชีวิตหนึ่งของผู้หญิงจะมีลูกเฉลี่ยประมาณ 4.7 คน แต่ปัจจุบันอัตราเจริญพันธุ์ทั่วโลกลดลงเหลือครึ่งหนึ่ง หรือประมาณ 2.4 คนและคาดว่าอัตราเจริญพันธุ์จะตกลงเรื่อยๆ จนเหลือแค่ 1.7 คนในปี 2100

ตัวเลขนี้บอกกับเราว่าเมื่อสิ้นศตวรรษนี้ ประชากรของโลกจะหายไปครึ่งหนึ่ง ที่เหลืออยู่ก็จะเป็นคนแก่เสียเยอะ สถาบันเมตริกส์ฯ ยังคาดการณ์ด้วยว่าจะมี 23 ประเทศที่ได้รับผลกระทบอย่างหนัก จำนวนนี้มี สเปน โปรตุเกส เกาหลีใต้ อิตาลี ญี่ปุ่นและไทยก็ถูกรวมอยู่ในกลุ่มนี้ด้วยเช่นกัน

ประเทศที่น่าเป็นห่วงที่สุดก็คือญี่ปุ่น มีการคาดการณ์ว่าจำนวนประชากรของญี่ปุ่นจะลดลงจาก 128 ล้านคน เหลือไม่ถึง 53 ล้านคนในช่วงปลายศตวรรษนี้ อิตาลีก็จะมีประชากรลดฮวบลงไม่แพ้ญี่ปุ่นโดยคาดว่าจะลดจาก 61 ล้านคนเหลือ 28 ล้านคนในช่วงเวลาเดียวกัน ส่วนไทยกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ก็คาดการณ์ว่าใน 2050 (อีก 28 ปีถัดจากนี้ – หากผมยังอยู่ก็จะอายุประมาณ 74 ปี) ประชากรไทยจะลดลงเหลือ 69 ล้านคน และเมื่อสิ้นศตวรรษจะเหลือเพียง 41 ล้านคนเท่านั้น  

หลายคนอาจคิดได้ว่า ประชากรน้อยลงก็น่าจะดีกับสิ่งแวดล้อม เพราะใช้ทรัพยากรของโลกน้อยลง แต่ก็ส่งผลกระทบต่อด้านอื่นๆ ของเราด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะเงินจำนวนมากที่ต้องมาจัดการดูแลคนสูงวัยที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ระบบสาธารณสุขของประเทศ ครึ่งหนึ่งอาจต้องหมดไปกับการดูแลประชากรที่ไม่สามารถสร้างงานสร้างรายได้ให้กับรัฐ คำถามสำคัญเลยก็คือแล้วประชากรที่หนุ่มสาวที่เหลืออยู่ จะสามารถรับภาระนี้ไหวอยู่หรือไม่ ใครจะทำงานจ่ายภาษีให้รัฐ ใครจะมาดูแลผู้สูงอายุเหล่านี้

ปัญหานี้เป็นเรื่องที่เราทุกคนต้องเตรียมตัว เพราะวันหนึ่งเราต้องแก่ 

2

เจ็บให้สั้น

แต่อย่างที่ผมบอกครับว่า การคุยเรื่องแก่เรื่องตายไม่ได้เป็นเรื่องสวยงามน่าพิศมัย มีงานที่สวยงามกว่านี้ น่าดึงดูดกว่านี้อีกมากมายกว่าที่จะมาถึงเรื่องความแก่และความตาย แล้วเราจะทำอย่างไรหากไม่ต้องการเป็นภาระของใคร

ในหนังสือ The Great Age Reboot: Cracking the Longevity Code for a Younger Tomorrow ซึ่งเขียนโดย ไมเคิล รอยเซน, ปีเตอร์ ลินเนอแมนและอัลเบิร์ต แรตเนอร์ ได้พูดถึงว่าการมีอายุยืนยาวที่แข็งแรงและเจ็บป่วยน้อยนั้นสัมพันธ์กับทางเลือกในการใช้ชีวิต และพวกเขาพบว่าวิถีชีวิตเหล่านี้ส่งผลไปถึงการทำงานของพันธุกรรม (หรือ DNA) ในร่างกายของเรา ถ้าเราเปลี่ยนรูปแบบวิถีชีวิตของเราบางอย่างจะส่งผลถึงการเปิดและปิดยีนของเรา ยกตัวอย่างเช่น หากผู้ชายเริ่มออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ร่างกายสามารถปิดยีนที่เชื่อมโยงกับการเติบโตของมะเร็งต่มอลูกหมากได้ และกระตุ้นให้เซลผลิตโปรตีนชนิดหนึ่งออกมาซึ่งสามารถกระตุ้นให้เซลมะเร็งทำลายตัวเองได้ เป็นต้น   

แต่อย่างไรก็ดี นั่นไม่ได้หมายความว่า เราจะไม่ป่วย

การป่วยของคนไทยมีค่าใช้จ่ายที่สูงอยู่ไม่น้อยหากเทียบกับรายได้ประชากร สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ประมาณการค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพในอีก 15 ปีข้างหน้าพบว่าค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของไทยอยู่ที่ประมาณ 4.8 แสนล้านบาท แต่หากพิจารณาข้อสมมติฐานที่ว่าประเทศไทยเข้าสู่สังคมสูงวัย ค่าใช้จ่ายดังกล่าวจะเพิ่มขึ้นไปถึง 1.4 ล้านล้านบาท ตามอัตรากเงินเฟ้อปัจจุบัน (ซึ่งอาจขึ้นสูงกว่านี้ไปถึง 1.8 ล้านล้านบาทได้ หากอัตราเงินเฟ้อยังสูงขึ้นเรื่อยๆ) หากคิดเป็นรายจ่ายของแต่ละคน จะใช้จ่ายอยู่ที่ประมาณ 40% ของรายจ่าย แม้ว่าส่วนหนึ่งเราจะมีสวัสดิการเช่นบัตรทองหรือประกันสังคม หรือสวัสดิการข้าราชการ แต่หากไปดูในรายละเอียด การเข้าถึงการรักษาก็แตกต่างกัน โดยมากแล้วชนชั้นกลาง มนุษย์กินเงินเดือน ที่จะพอจะสามารถจ่ายเบี้ยประกันชีวิตได้ไหวก็จะจ่าย ซึ่งถือว่าเป็นภาระหนักของผู้ส่งเบี้ยประกันไม่น้อย เพราะฉะนั้นไม่ใช่ทุกคนที่จะสามารถ ‘ป่วยสั้นๆ’ อย่างที่หวังได้เสมอไป    

นี่เป็นเพียงแค่ตัวอย่างหนึ่งของความพยายามที่จะอยู่อย่างเยาว์วัยให้ได้นานที่สุดและเจ็บป่วยให้น้อยที่สุดและจากไปโดยไม่ทุกข์ทรมานกับโรคภัยต่างๆ ผมเชื่อว่าอนาคต การจัดการเรื่องสุขภาพของเราจะเป็นประเด็นที่ถูกพูดถึงมากขึ้น ทุกวันนี้ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์พิสูจน์ได้ค่อนข้างแน่ชัดว่าการออกกำลังกายพอเหมาะช่วยชะลอความเสื่อมของร่างกายได้ดี ควบคู่ไปกับการกินอาหารที่มีโปรตีนสูง แต่สิ่งที่เราต้องคิดในข้อถัดไปจากนี้ก็คือ แม้เราจะแก่ช้าลง แต่เราก็ยังต้องตายอยู่ดี งานศพและการตายในอนาคต ก็น่าจะเปลี่ยนรูปแบบไปตามสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปด้วยเช่นกัน ผมคิดไปถึงว่า การเปิดโอกาสให้เราสามารถเลือกตายได้ในเวลาที่เหมาะสม อาจเป็นทางเลือกที่แพร่หลายก่อนสิ้นศตวรรษนี้แน่นอน

3

ตายให้ไว

มีการสำรวจของ Pew Research Center ซึ่งทำการสำรวจไว้ตั้งแต่ปี 2005 เกี่ยวกับเรื่องวิธีคิดของการจัดการเรื่องความตาย ของกลุ่มผู้ใหญ่ในสหรัฐอเมริกา ซึ่งเขาทำการสำรวจกับคน 1,500 คน พบว่าผู้คนต่างคิดและวางแผนสำหรับการรักษาพยาบาลของตนเองในกรณีที่เจ็บป่วยในระยะสุดท้ายหรือมีอาการป่วยจนทุพพลภาพ และ ‘ต้องการ’ เลือกเจตจำนงด้วยตัวเองว่าจะให้ยื้อชีวิตหรือปล่อยให้พวกเขาตายเมื่อถึงเวลาอันควร โดยอัตราส่วนของการรับรู้สิทธิในการเลือกที่จะตายนั้นเพิ่มสูงขึ้นในช่วง 15 ปีที่ผ่านมาจาก ร้อยละ 12 ในปี 1990 มาเป็นร้อยละ 29 ในปี 2005 ซึ่งเชื่อว่า หากมาทำการสำรวจใหม่ในปีนี้ ตัวเลขน่าจะสูงขึ้น

จากการศึกษานี้ก็ยังพบว่า ผู้ใหญ่ในสหรัฐอเมริกาเต็มใจที่จะหารือเกี่ยวกับการสิ้นสุดชีวิตกับคนที่พวกเขารักมากขึ้นเรื่อยๆ 7 ใน 10 คน หรือคิดเป็น 69% ของคนที่แต่งงานแล้ว บอกว่าได้พูดคุยกับคู่รักเกี่ยวกับความต้องการในการรับการรักษาพยาบาลช่วงบั้นปลายชีวิต ซึ่งหากดูในปี 1900 มีเพียงครึ่งเดียวที่เปิดใจคุยเรื่องการสิ้นสุดชีวิต ไม่เพียงเท่านั้นสำหรับคนที่พ่อแม่ยังมีชีวิตอยู่ ประเด็นการสิ้นสุดชีวิตก็เปิดกว้างมากขึ้น เกินครึ่งมีการพูดคุยกันถึงเรื่องนี้ว่าอยากจะให้ทำอย่างไรบ้างเมื่อพวกเขาอยู่ในภาวะผู้ป่วยระยะสุดท้ายโดย 3 ใน 4 หรือ 74% บอกว่า สมาชิกในครอบครัวควรได้รับอนุญาตให้ทำการตัดสินใจ

การวิจัยนี้ทำมากว่า 17 ปีแล้ว ซึ่งผมเชื่อว่ามีการทำวิจัยกันใหม่ในยุคนี้ ทัศนคติเกี่ยวกับความตายและสิทธิในการเลือกที่ตายโดยเฉพาะในประเทศที่พัฒนาแล้วจะมีการเปลี่ยนแปลงและอาจนำไปสู่แนวโน้มของการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรมเกี่ยวกับความตายของเราได้ก่อนสิ้นศตวรรษนี้ เพราะปัญหาสังคมที่เกิดขึ้นนั้นฉายภาพให้เราเห็นผลกระทบที่เร็วกว่าอดีตมาก

แน่นอนว่ามันยังคงเป็นเรื่องที่น่าเศร้าสำหรับการสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก แต่ก็เป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่เราต้องยอมรับความจริงว่าโลกเปลี่ยนไป คนในสังคมก็ต้องปรับไปตามวิวัฒน์ของมัน   

ในภาพยนตร์ Plan75 ของผู้กำกับจิเอะ ฮายกาวา (Chie Hyakawa) ที่เนื้อเรื่องนั้นพูดถึงเรื่องโครงการสมัครใจตายของรัฐบาลญี่ปุ่นสำหรับคนที่อยากจะจากโลกนี้ไป โดยมีเงินก้อนหนึ่งให้ใช้ก่อนจบชีวิต ผมคิดว่านี่เป็นการจุดประเด็นที่น่าสนใจ ในการสะท้อนความรู้สึกนึกคิดของคนในสังคมที่เป็นห่วงผู้สูงวัยที่มากขึ้นและการถามหาความหมายของชีวิตในวัยชราของคนญี่ปุ่นที่ค่อนข้างโดดเดี่ยว อีกทั้งรัฐเองก็ไม่สามารถแบกรับภาระนี้ได้ไหว รวมถึงความคิดเรื่องชาตินิยมของคนญี่ปุ่นเอง สำหรับผม เหตุการณ์แบบในภาพยนตร์ดูเป็นไปได้มากเหลือเกินกับสังคมญี่ปุ่นในอนาคต

สำหรับผมคำถามที่ตามมากับเรื่องนี้ก็คือ หากเป็นตัวเราเองบ้างเมื่อการมีชีวิตไม่ได้มีความหมายมากไปกว่าการหายใจไปวันๆ และเราไม่มีเงินมากพอที่จะดูแลตัวเอง  

ถึงเวลานั้น เราอาจมีคำถามกับการมีชีวิตอยู่ของเราเหมือนอย่างในภาพยนตร์ก็เป็นได้

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

22 Feb 2022

คราฟต์เบียร์และความเหลื่อมล้ำ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ เขียนถึงอุตสาหกรรมเบียร์ไทย ที่ผู้ประกอบการคราฟต์เบียร์รายเล็กไม่อาจเติบโตได้ เพราะติดล็อกข้อกฎหมาย และกลุ่มทุนที่ผูกขาด ทั้งที่มีศักยภาพ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

22 Feb 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save