fbpx
เมืองหลังโควิด

เมืองใหม่หลังโควิด ฉบับไม่ดิสโทเปีย

เมืองใหญ่ ความป่วยไข้ และบรรยากาศของโรคระบาดที่เหมือนจะไม่มีวันสิ้นสุด อาจถือได้ว่าเป็นวัตถุดิบชั้นเยี่ยมสำหรับนิยายดิสโทเปีย

เรื่องราวของวรรณกรรมพรรค์นี้มักเริ่มต้นขึ้นด้วยการเกิดโรคอุบัติใหม่ แพร่กระจาย และทำลายชีวิตอันสงบสุขของผู้คน ก่อนเปลี่ยนไปเป็นความโกลาหลระดับชาติเมื่อรัฐควบคุมโรคระบาดไว้ไม่อยู่ แน่นอนว่าเนื้อเรื่องจะยิ่งเข้มข้นติดลม ถ้าโรคร้ายนั้นเปิดเปลือยปมปัญหาที่เคยถูกซุกซ่อนไว้ในเมืองและสังคม ให้เราได้เห็นทีละเรื่อง ทีละฉาก แบบเน้นๆ จะจะตา

ให้เราได้เห็นว่าเมืองที่เคยดูใหญ่โตค้ำฟ้า แท้จริงแล้ว ‘เปราะบาง’ แค่ไหนเมื่อเจอกับวิกฤตไม่คาดฝัน

โชคร้ายที่พล็อตนิยายดิสโทเปียพรรค์นั้นกำลังเกิดขึ้นบนโลกจริง เราทุกคนกลายเป็นตัวละครที่ต้องดิ้นรนต่อสู้กับการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในเมืองอันเต็มไปด้วยปัญหาน้อยใหญ่ ไม่มีใครอยากเห็นเรื่องราวเลวร้ายไปยิ่งกว่านี้ แต่ก็ไม่มีใครรู้ว่าตอนจบของโควิด-19 ปะทะเมือง (และคนเมือง) จะเป็นอย่างไร

ถ้าเราอ้างอิงจากนิยายดิสโทเปียส่วนใหญ่ เรื่องคงจบลงแบบปลายเปิด โดยทิ้งประกายความหวังเล็กๆ ไว้ว่าหลังวิกฤตใหญ่ผ่านพ้น โรคระบาดสร่างซา ตัวละครได้พบวิธีปรับเปลี่ยนเมืองใหม่ให้กลายเป็นเมืองที่ดีกว่าเดิม บนโลกจริงเราก็เริ่มเห็นหลายเมืองเข้าสู่ช่วงท้ายเรื่อง คือเริ่มค้นหาวิธีออกแบบเมืองใหม่ และเตรียมตัวพัฒนาต่อไปให้เมืองในอนาคตมั่นคงปลอดภัยเช่นกัน

ระหว่างที่เมืองบางเมืองยังติดอยู่จุดไคลแมกซ์ (เพราะดันมีหลายไคลแมกซ์เสียอย่างนั้น) 101 ขอชวนคุณสคิปไปดูตอนใกล้จบของเมืองในต่างประเทศว่าพวกเขาเรียนรู้อะไร ค้นพบอะไร และวางแผนพัฒนาไปทางไหน ถ้าไม่ต้องการให้เมืองของตนกลายเป็นนิยายดิสโทเปียภาคต่อ


เกิดอะไรใหม่ในเมืองใหญ่ช่วงโควิด?


ขึ้นชื่อว่าเมืองใหญ่ ไม่ว่าเมื่อไรก็สำคัญ — ในสถานการณ์โควิด-19 นั้น เมืองใหญ่เป็นทั้งเป็นจุดที่สุ่มเสี่ยงต่อการระบาดรุนแรง เป็นมาตรวัดการบริหารจัดการของรัฐระดับชาติว่ารับมือโรคระบาดได้ดีเพียงใด (ถ้ารัฐสามารถป้องกันเมืองใหญ่ไม่ให้ถูกโควิดตีแตกพ่ายได้ เมืองอื่นๆ ก็น่าจะรอด ใช่ไหม)

ที่สำคัญที่สุด การปรับตัวรับมือวิกฤตในเมืองใหญ่จะเป็นต้นแบบให้แก่พื้นที่อื่นๆ ทำตาม และเป็นพื้นฐานต่อยอดสร้างเมืองใหม่ได้ในอนาคต ดังนั้น เราจะเริ่มต้นกันด้วยการย้อนมองความเปลี่ยนแปลงที่ผ่านมา พร้อมถอดบทเรียนว่าเมืองควรปรับปรุงเรื่องอะไร

ประเดิมที่ ‘การใช้เทคโนโลยีดิจิทัล’

เทคโนโลยีดิจิทัลมีบทบาทสำคัญอย่างมากในการรับมือกับวิกฤตโรคระบาด นับตั้งแต่อำนวยความสะดวกเรื่องติดต่อสื่อสาร เชื่อมโยงผู้คนเข้าด้วยกัน กระทั่งดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจบนโลกเสมือนจริงในช่วงเวลาที่เมือง ‘ล็อกดาวน์’

เราจะเห็นว่าการทำงานแบบ Work From Home, Teleworking  และการเรียนออนไลน์กำลังกลายเป็นบรรทัดฐานใหม่ของคนเมืองเมื่อต้องกักตัว และอาจกลายเป็นวิถีชีวิตใหม่ (new normal) ของคนเมืองนับจากนี้ เพราะเราเรียนรู้จากวิกฤตแล้วว่าการทำงานจากบ้าน (หรืออื่นๆ ที่ไม่ใช่สำนักงาน) สามารถทำได้เพียงใช้เทคโนโลยี แถมบางทียังเป็นการลดอุปสรรคในการทำงาน เช่น ลดเวลาการเดินทาง เจอะเจอสภาพแวดล้อมภายนอกที่ไม่เป็นใจ ทำให้การทำงานยืดหยุ่นพร้อมรับเหตุไม่คาดฝันมากขึ้น รวมถึงทำให้คนสามารถเข้าถึงแหล่งงาน แหล่งการเรียนรู้ได้ง่ายยิ่งขึ้น

แต่สำหรับเมืองที่เต็มไปด้วยความหลากหลาย คงไม่ใช่ทุกงานที่สามารถทำจากบ้านได้ และไม่ใช่ทุกคนที่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัล ใน รายงานของ ILO ระบุว่า 61% ของแรงงานทั้งหมดทั่วโลก หรือราว 2 พันล้านคนคือแรงงานนอกระบบ ไม่มีหลักประกันทางสุขภาพ การดูแลความปลอดภัย หรือมอบอุปกรณ์ป้องกันโรคระบาดจากนายจ้าง และส่วนมากไม่สามารถทำงานจากบ้านเพราะธรรมชาติของงานไม่เอื้ออำนวย

ขณะเดียวกัน แม้แต่ประเทศชั้นนำอย่างสหราชอาณาจักรยังมีรายงานออกมาว่าแรงงานที่สามารถ Work From Home ได้มีน้อยกว่า 30% ของแรงงานทั้งหมด และกลุ่มที่สามารถ Work From Home ก็มีความแตกต่างเหลื่อมล้ำแบ่งตามพื้นที่และเชื้อชาติ นี่เป็นโจทย์ให้เมืองและคนเมืองต้องคิดต่อว่า หากเราต้องการให้เทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในแบบแผนชีวิตใหม่ จะทำอย่างไรให้คนเข้าถึงบริการพื้นฐานอย่างอินเทอร์เน็ตและอุปกรณ์ดิจิทัลอย่างถ้วนหน้า เพื่อแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัล (digital divide)

นอกจากประเด็นความเหลื่อมล้ำดังกล่าว เรื่องมาตรการดูแลความเป็นส่วนตัวคืออีกหนึ่งประเด็นที่พูดถึงเพิ่มขึ้นในวิกฤต เมื่อหลายเมืองหันมาใช้เทคโนโลยีควบคุมติดตามสถานการณ์โควิด-19 อย่างแพร่หลาย – บ้างใช้ติดตามเส้นทางผู้ติดเชื้อ เช่นเมืองแทกู ในเกาหลี บ้างก็ใช้จับตาดูความหนาแน่นและการเคลื่อนไหวภายในเมืองเพื่อคาดคะเนการแพร่ระบาด เช่นบูดาเปสต์ ในฮังการี สิ่งเหล่านี้สามารถต่อยอดในอนาคตเป็นฐานข้อมูลของเมืองได้ ถ้ามีนโยบายปกป้องความเป็นส่วนตัวของประชาชนที่เหมาะสม

ถัดมาเป็นเรื่อง ‘ความคล่องตัวของเมือง’ (Urban Mobility)

เมื่อพูดถึงความคล่องตัว ย่อมนึกถึงระบบคมนาคม ที่ผ่านมา โควิด-19 ท้าทายระบบดังกล่าวด้วยคำถามว่า ‘เราจะใช้บริการขนส่งสาธารณะภายในเมืองโดยไม่ติดโรคระบาดได้อย่างไร’ เพราะภาพแออัดเบียดเสียดในรถเมล์ รถไฟฟ้าดูเหมือนจะกลายเป็นภาพชินตาไปเสียแล้ว

ทางหนึ่ง เมืองจึงต้องออกแบบเส้นทางคมนาคมใหม่ให้คล่องตัว มีทางเลือกเพิ่มขึ้นและสะดวกสบายขึ้นเพื่อไม่ให้คนกระจุกตัวอยู่บนรถสาธารณะหรือจุดใดจุดหนึ่งมากเกินไป หลายเมืองฉวยโอกาสนี้ปรับปรุงและสร้างทางจักรยานเพิ่มเติมเพื่อสนับสนุนให้คนเดินทางคนเดียวอย่างปลอดภัยมากขึ้น — ซึ่งนี่อาจเป็นหมุดหมายของการพัฒนาคมนาคมในระยะยาว เพราะถ้ารัฐเลือกลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานการเดินทางอย่างจักรยาน สกู๊ตเตอร์ รถยนต์ไฟฟ้า ทำให้คนเข้าถึงได้ง่ายและมีความปลอดภัย ย่อมส่งผลให้ลดมลภาวะทางอากาศและเสียงจากยานยนต์ได้ด้วย

อย่างไรก็ตาม ถ้าขนส่งสาธารณะยังคงเป็นหัวใจสำคัญของเมือง สิ่งที่ต้องพัฒนาต่อจากโควิด-19 คือความคล่องตัว ยกตัวอย่างในบาร์เซโลนา ประเทศสเปน เริ่มวางแผนออกแบบผังเมือง ‘Superblocks’ 500 จุด เพื่อทำให้การคมนาคมสะดวกรวดเร็วมากขึ้น เมื่อรถไม่ติด คนก็ไม่ต้องรอรถนานๆ หรือนั่งแออัดกันในรถสาธารณะแต่ละรอบจนต้องเสี่ยงต่อโรคระบาดตามๆ กันไป

อีกด้านหนึ่งที่ต้องกำหนดเป็นมาตรฐานใหม่คือสุขอนามัยและระยะห่างภายในรถสาธารณะ เพราะในช่วงการระบาดมีข้อมูลจากกลุ่มประเทศ OECD เผยว่าระบบขนส่งที่ได้มาตรฐาน สะอาด ปลอดภัย ถือเป็นการช่วยควบคุมไม่ให้เกิดคลัสเตอร์ใหม่ในเมืองได้ – ด้านประเทศฝรั่งเศสและญี่ปุ่นที่สามารถควบคุมไม่ให้เกิดการระบาดผ่านระบบขนส่งสาธารณะสำเร็จก็คาดการณ์กันว่าตัวแปรสำคัญคือการเว้นระยะห่างและสวมหน้ากากอนามัย ส่วนปัจจัยอื่นๆ เพิ่มเติมคือการลดจำนวนคนขับ มาตรการรักษาความสะอาดที่เข้มงวด และการไม่เดินทางเข้าใกล้แหล่งคลัสเตอร์

แม้สุดท้ายแล้ว เราไม่อาจบอกได้ว่าการเดินทางด้วยรถสาธารณะปลอดภัยจากการติดโรค 100 เปอร์เซ็นต์ แต่อย่างน้อย การปรับปรุงระบบขนส่งให้ดีขึ้น ปลอดภัยขึ้น ก็ยังเป็นโจทย์ใหญ่ที่เมืองต้องคิดและลงมือทำหลังโควิด-19 อย่างไม่ต้องสงสัย

ถัดไป คือ ‘ความหนาแน่นและคุณภาพของเมือง’

เรามักเข้าใจว่าเมืองที่หนาแน่นย่อมเป็นบ่อเกิดของการแพร่ระบาด แต่งานศึกษาซึ่งเผยแพร่ใน Journal of the American Planning Association เดือนมิถุนายน 2020 ซึ่งรวบรวมข้อมูลจาก 913 มหานครในสหรัฐอเมริกา (แบบควบคุมตัวแปรเช่นเชื้อชาติและการศึกษาประกอบกัน) พบว่าความหนาแน่นของเมืองไม่ได้สัมพันธ์กับอัตราการติดเชื้อโควิด-19 เสมอไป รวมถึงเมืองที่หนาแน่นบางเมืองยังมีอัตราการเสียชีวิตจากโรคระบาดต่ำด้วยซ้ำ เหตุเพราะเมืองเหล่านั้นสามารถให้บริการทางสาธารณสุขได้เป็นอย่างดี

ตรงกันข้าม เมืองที่มีอัตราติดเชื้อและเสียชีวิตสูง กลับมีลักษณะเป็นเมืองคนสูงอายุ เมืองที่คนสำเร็จการศึกษาระดับสูงจำนวนน้อย และเมืองที่มีคนเชื้อสายแอฟริกัน-อเมริกันจำนวนมาก (อนุมานได้ว่าเป็นกลุ่มผู้ถูกกดขี่กีดกันจากสังคม)

ทั้งหมดสะท้อนว่าความหนาแน่นอาจไม่ได้ทำให้เมือง ‘เปราะบาง’ ต่อโรคระบาด โครงสร้างทางสังคมและความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจต่างหากคือปัจจัยสำคัญ

เป็นไปไม่ได้เลยที่เมืองจะเข้มแข็งต่อวิกฤตเช่นนี้ถ้าคนยังไม่สามารถเข้าถึงบริการด้านสุขภาพ ความปลอดภัย หรือทรัพยากรอื่นๆ ได้อย่างเท่าเทียมกัน สิ่งที่หลายเมืองค้นพบจากวิกฤตคือหากลดความหนาแน่นไม่ได้ ก็ต้องสร้างเมืองที่ทุกคนเข้าถึงทรัพยากรและบริการของรัฐได้ถ้วนหน้า นำมาสู่โมเดล ‘เมืองกระชับ’ (Compact City) ซึ่งพยายามจัดการปัญหาความหนาแน่นของเมืองและการเข้าถึง ด้วยวิธีวางผังเมืองให้พื้นที่อยู่อาศัยเชื่อมต่อกับระบบขนส่งสาธารณะ พื้นที่สำคัญอย่างตลาด โรงพยาบาล และบริการต่างๆ ในท้องถิ่นได้โดยไม่ต้องเดินทางไกล

ฉะนั้น สิ่งที่คิดต่อมา คือเรื่อง ‘การออกแบบเมือง’

ผังเมืองในยุคโควิด-19 ควรออกแบบโดยตั้งเป้าหมายว่าการใช้ชีวิตในพื้นที่หนึ่งมีอะไรที่สำคัญบ้าง และจะทำให้เข้าถึงบริการ สิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ได้ง่าย ครบครัน และปลอดภัยไร้โรคได้อย่างไร แนวคิดหนึ่งซึ่งเริ่มถูกพูดถึงมากขึ้นคือการสร้าง “เมืองใน 15 นาที” (15 minute city) หมายถึงเมืองที่ผู้คนสามารถเดินทางไปถึงจุดหมายปลายทางเพื่อทำกิจกรรมต่างๆ ได้ใน 15 นาที หรืออาจกล่าวได้ว่าเป็นเมืองที่คนสามารถ ‘ใช้ชีวิต’ (to live) ‘ทำงาน’ (to work) ‘จัดหาสิ่งต่างๆ’ (to supply) ‘ได้รับการดูแล’ (to care) ‘พักผ่อน’ (to lean) และ ‘มีความสุข’ (to enjoy) ได้โดยไม่เสียเวลามากเกินไป  

นอกจากนี้ ช่วงวิกฤตที่ผ่านมาเรายังได้เห็นการทดลองออกแบบพื้นที่ในเมืองใหม่ๆ เพิ่มขึ้น ตัวอย่างเช่น โมเดล ‘Hyperlocal Micromarket’ ผลงานของฮาร์ม ทิมเมอร์แมนส์ (Harm Timmermans) เจ้าของ Netherlands-based Shift Architecture Urbanism ผู้พบว่าโควิด-19 ส่งผลให้เมืองรอตเตอร์ดามของเขาล็อกดาวน์ ตลาดในท้องถิ่นปิดตัวลง พ่อค้าแม่ขายย่ำแย่ เหลือแต่ห้างสรรพสินค้ารายใหญ่ คนต้องไปอุดหนุนนายทุนอย่างไม่มีทางเลือก

ทิมเมอร์แมนส์จึงลองออกแบบตลาดใหม่ เป็นตลาดขนาดเล็กที่มีสัดส่วนพื้นที่สี่เหลี่ยม 16 ช่องตาราง ขีดเส้นกั้นออกจากกันชัดเจน มีทางเข้า 1 ทาง ออก 2 ทาง และมีแผงลอยเพียง 3 แผง แต่ละแผงขายสินค้าที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต เช่น ผัก ผลไม้ เนื้อสัตว์แตกต่างกัน รวมถึงกำหนดให้คนเข้าสูงสุด 6 คน ตลาดของเขาจัดตั้งได้ง่าย ช่วยอุดหนุนผู้ประกอบการรายย่อยได้ และที่สำคัญ ความคล่องตัวของตลาดขนาดเล็กนี้จะทำให้เข้าถึงพื้นที่กลุ่มเปราะบางอย่างชุมชนคนยากจน ทำให้พวกเขาได้ซื้อหาอาหารที่ดีโดยไม่ต้องเดินทางเข้าห้างหรือใช้เงินมากเกินไป จึงน่าสนใจว่าอาจได้รับการต่อยอดให้จัดตั้งอีกหลายๆ แห่งแม้พ้นจากโควิด-19 ไปแล้วก็ตาม


ตัวอย่างการออกแบบ Hyperlocal Micromarkets
ที่มา: Shift Architecture Urbanism


อีกหนึ่งโมเดลที่น่าสนใจและเป็นตัวอย่าง ‘ทวงคืนพื้นที่สาธารณะ’ จากโรคระบาด คือการออกแบบ ‘สวนวงกต’ (Maze-like parks) ให้แก่สวน Parc de la Distance ในเมืองเวียนนา ประเทศออสเตรียของสตูดิโอเพรชท์ โดยมีหลักการง่ายๆ ว่าทำให้สวนสาธารณะกลายเป็นรูปทรงเขาวงกต มีกำแพงต้นไม้หนาทึบกั้นระหว่างกันเพื่อให้คนสามารถเข้ามาพักผ่อนหย่อนใจโดยที่ยังรักษาระยะห่างต่อกัน


สวน Parc de la Distance
ที่มา: dezeen


บทเรียนสุดท้ายของเมืองจากโควิด-19 คือ ‘การร่วมมือกันของทุกฝ่ายในสังคม’

เพื่อรับมือกับวิกฤตใหญ่ ทำให้นโยบายไปเป็นอย่างสอดคล้องกันทั้งในระยะสั้นและระยะยาว เมืองทุกเมือง คนทุกภาคส่วนควรพูดคุยและออกแบบร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลระดับชาติกับรัฐบาลหรือหน่วยงานระดับท้องถิ่นที่ต้องบริหารจัดการบริการสาธารณสุขให้แก่คนทุกพื้นที่ ออกนโยบายติดตามควบคุมโรค จัดสรรงบประมาณเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจแต่ละแห่ง ติดต่อกับเครือข่ายหรือองค์กรระดับนานาชาติเพื่อหยิบยืมแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ นโยบาย และแบ่งปันความช่วยเหลือแก่กัน รวมถึงเปิดให้ผู้มีส่วนได้เสียในเมืองและประชาชนสามารถเข้ามามีส่วนร่วมพัฒนานโยบายฟื้นฟูหลังโรคระบาดสร่างซา – ทั้งหมดจะทำให้เมืองกลับมาเข้มแข็งและมั่นคงยั่งยืนยิ่งกว่าเดิม


จะเกิดอะไรต่อไปในเมืองหลังวิกฤต?


พ้นจากการมองย้อนสิ่งที่ควรต่อยอดจากวิกฤต เมื่อทอดสายตาไปยังอนาคตระยะยาวยุคหลังโควิด-19 สิ่งที่เราเห็นคือเมืองส่วนใหญ่กำลังจะพัฒนาไปใต้กรอบคิด ‘ครอบคลุมกว่าเดิม’ (more inclusive) ‘ยั่งยืนกว่าเดิม’ (greener) และ ‘ล้ำกว่าเดิม’ (smarter)

ทำไมเมืองต้องพัฒนาให้ ‘ครอบคลุมกว่าเดิม’?

เพราะโรคระบาดไม่เพียงแค่เผยให้เราเห็นความเหลื่อมล้ำในสังคมอย่างชัดเจน แต่ยังทำให้ความเหลื่อมล้ำรุนแรงขึ้น เป็นต้นว่าการล็อกดาวน์เมืองทำให้ร้านค้า ผู้ประกอบการรายย่อยได้รับผลกระทบมากกว่านายทุนใหญ่ เกิดปัญหาในกลุ่มประชากรเปราะบางอย่างเด็ก คนไร้บ้าน และผู้สูงอายุมากกว่าคนทั่วไป เราจึงควรออกแบบแผนฟื้นฟูและพัฒนาเมืองจากโควิด-19 ที่มั่นใจว่าจะครอบคลุมผู้บอบช้ำจากโรคระบาดเหล่านั้น

ประการแรกคือ เราต้องไม่ลืมสนับสนุนธุรกิจรายย่อยในท้องถิ่น โดยระหว่างที่รัฐบาลระดับชาติอาจพุ่งเป้าไปที่การฟื้นฟูเศรษฐกิจมหภาค หน่วยงานท้องถิ่นแต่ละแห่งควรรับหน้าที่ดูแลกิจการขนาดเล็กและขนาดกลางในเมืองของตน ผ่านนโยบายเยียวยา กระตุ้นเศรษฐกิจระดับท้องถิ่น เป็นตัวกลางประสานความร่วมมือให้เกิดการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นต่อธุรกิจและสนับสนุนด้านการเงิน ไปจนถึงจัดสรรพื้นที่สาธารณะ รวมทั้งประชาสัมพันธ์ให้คนในชุมชนช่วยอุดหนุนธุรกิจคนกันเองอีกแรง

ประการต่อมาคือ ช่วยจัดหาบ้านและปรับปรุงที่อยู่อาศัย ในวิกฤตโรคระบาด ผู้มีรายได้น้อยต้องอยู่ร่วมกันอย่างแออัดจนเกิดความเสี่ยงด้านสุขภาพ รวมถึงมีคนจำนวนมากตกงานและกลายเป็นคนไร้บ้าน ในระยะสั้น รัฐอาจหาที่พักที่เหมาะสมปลอดภัยให้ แต่ในระยะยาว เมืองต้องคิดใหม่ว่าจะจัดสรรพื้นที่อย่างไรให้ทุกคนมีบ้านและสภาพแวดล้อมรอบบ้านที่ดี – ที่อาจหมายรวมถึงทำให้ทุกคนสามารถมีบ้านได้ง่ายขึ้นผ่านนโยบายสนับสนุนต่างๆ ด้วย

ประการสุดท้ายคือ ช่วยเหลือประชากรกลุ่มเปราะบาง ผู้มีอำนาจอาจช่วยสนับสนุนปัจจัยพื้นฐานที่จำเป็น เช่น อาหาร บ้านพัก หรือบริการให้คำปรึกษาทางสุขภาพจิต ได้เพียงระยะสั้น แต่ระยะยาว เมืองแต่ละแห่งต้องออกแบบนโยบายที่จำเพาะเจาะจงและเข้าใจความต้องการของผู้เปราะบางแต่ละกลุ่ม อันได้แก่ เด็ก เยาวชน คนไร้บ้าน และผู้อพยพ แตกต่างกันไปในบริบทแต่ละเมือง

ถัดจากความครอบคลุมแล้ว กรอบคิดการพัฒนาเมืองใหม่คือเรื่องความยั่งยืน – ซึ่งคำว่า ‘ยั่งยืน’ ในที่นี้หมายถึงการเป็นเมืองที่รักษ์โลกมากขึ้น เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

แต่ทำไมเมืองต้องพัฒนาให้ ‘ยั่งยืนกว่าเดิม’ หลังโควิด-19?

ถ้าไม่นับว่าเทรนด์รักษ์โลก ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เพื่อสภาพแวดล้อมที่ดีในอนาคตเป็นหัวข้อเกี่ยวข้องกับการพัฒนาเมืองอยู่แล้วก่อนหน้านี้ เหตุที่เราต้องลงมือทำทันทีหลังโควิด-19 เพราะในเมื่อหลังโรคระบาดเราต้อง ‘รื้อ’ เมืองใหม่และลงทุนหลายๆ อย่าง ทางที่ดีก็ควรเลือกปรับปรุงของเก่า พร้อมลงทุนด้านการพัฒนาเมืองให้เป็นมิตรแก่สิ่งแวดล้อมไปด้วยเสียเลย

การลงทุนโปรเจกต์ใหญ่ในเมืองจะช่วยสร้างงานจำนวนมาก ช่วยคนตกงานและฟื้นฟูเศรษฐกิจ อีกทั้งการสร้างเมืองที่รักษ์โลกยิ่งขึ้นจะช่วยทำให้เรารับมือและบรรเทาวิกฤตจากภัยธรรมชาติอย่างน้ำท่วม คลื่นความร้อน คุณภาพน้ำ อากาศ ระบบนิเวศดีขึ้น ถือเป็นการพัฒนาที่ยิงปืนนัดเดียวได้นกหลายตัว

การลงทุนที่น่าสนใจคือการลงทุนปรับปรุงระบบคมนาคม ที่จะเพิ่มความคล่องตัวของเมืองและรักษาสิ่งแวดล้อมควบคู่กัน ผ่านการสร้างพื้นที่ทางจักรยานเพิ่มขึ้น — หรือพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ ที่สนับสนุนการเดินทางแบบลดมลพิษ เช่น สกู๊ตเตอร์ รถยนต์ไฟฟ้า เป็นต้น พัฒนาระบบขนส่งสาธารณะให้ปลอดภัย มีมาตรฐานด้านสุขอนามัยและความสะอาดชัดเจน เข้าถึงได้ง่าย ครอบคลุมทุกพื้นที่ของเมือง และคิดไกลไปถึงการกำหนดราคาค่าโดยสาร สัมปทานที่เป็นธรรมต่อทุกๆ คน

อีกการลงทุนคือ การลงทุนด้านพลังงาน เพิ่มแหล่งพลังงานที่มีประสิทธิภาพและอาจเลือกลงทุนด้านพลังงานสะอาด ซึ่งมีนวัตกรรมมากมาย ทำให้เกิดงานจำนวนมาก และทำให้เมือง-โลก ยั่งยืนไปพร้อมกัน

สุดท้าย เราอาจไม่ต้องถามมากมายว่า ทำไมเมืองในอนาคตจะพัฒนาให้ ‘ล้ำกว่าเดิม’ ?

เพราะโควิด-19 ทำให้ชีวิตของคนเมืองเปลี่ยนแปลงไป(เกือบ)ถาวร ระหว่างที่กักตัวและล็อกดาวน์อยู่นั้น โลกเสมือนจริงได้กลายเป็นพื้นที่ใหม่ – ที่ที่รวมความสัมพันธ์ของคน ข้อมูลข่าวสาร การค้า วัฒนธรรม และอื่นๆ อีกมากมาย ถ้าจะนับชีวิตบนโลกดิจิทัลเป็นวิถีชีวิตใหม่ รัฐก็ต้องมั่นใจว่าคนในเมืองทุกเมือง ทุกคน สามารถเข้าถึงบริการขั้นพื้นฐานอย่างอินเทอร์เน็ตได้ถ้วนหน้า ผ่านการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น และไม่แน่ว่าอาจต้องทำความเข้าใจความต้องการด้านเทคโนโลยีที่แตกต่างในวงการต่างๆ เช่น วงการการศึกษาที่ต้องปรับตัวมาเรียนออนไลน์ ย่อมต้องการเครื่องไม้เครื่องมือและบุคลากรครูที่มีความรู้เรื่องการสอนออนไลน์ ซึ่งจะเป็นโจทย์ให้รัฐและเมืองต้องมีนโยบายสนับสนุนอย่างเฉพาะเจาะจงมากขึ้น 


เมืองไหนพร้อมแล้วสำหรับอนาคต


ท้ายที่สุดนี้ เนื่องจากเมืองใหญ่ในไทยอย่างกรุงเทพมหานครยังคงติดค้างอยู่ที่ ‘ไคลแมกซ์’ (ระลอกที่สาม) ในนิยายดิสโทเปียโควิด-19 การเตรียมตัว เร่งฟื้นฟูและออกแบบเมืองใหม่ให้รวดเร็วทันการณ์อาจต้องอาศัยการมองเมืองอื่นๆ ที่ใกล้จบวิกฤตเป็นต้นแบบ

และนี่คือเมืองที่มีนโยบายพัฒนาเป็นรูปธรรมน่าสนใจ :

เมืองบาร์เซโลนา, สเปน

บาร์เซโลนาตั้งเป้าหมายฟื้นฟูตัวเองจากโควิด-19 ไว้ 7 เรื่อง ได้แก่ สร้างโมเดลเมืองยืดหยุ่นต่อวิกฤต เสริมความเข้มแข็งของธุรกิจ เพิ่มการจ้างงาน เพิ่มการอุดหนุนซื้อขายในท้องถิ่น กู้ชื่อเสียงระดับนานาชาติ เปิดเมืองให้คนเข้ามาลงทุน และปรับเปลี่ยนวิสัยทัศน์การพัฒนาเมืองใหม่ให้หลากหลายครอบคลุม

ทั้งหมดถูกปรับมาเป็นนโยบายรูปแบบต่างๆ ที่สอดรับกัน เช่น สร้างกลไกด้านการเงินที่มั่นคง พร้อมสนับสนุนทุกคน จัดการฝึกอบรมแรงงานและห้างร้านบริษัทเพื่อปรับตัวสู่วิถีชีวิตใหม่ ให้ความสำคัญกับการเยียวยาผลกระทบในกลุ่มประชากรเปราะบาง ส่งเสริมการท่องเที่ยว การกลับมาใช้ชีวิตในเมือง รวมถึงความร่วมมือระหว่างกลุ่มธุรกิจรายใหญ่และรายย่อยในเมืองเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจระดับท้องถิ่นร่วมกัน

เมืองชิคาโก, สหรัฐอเมริกา

ที่ชิคาโกมีการจัดตั้งคณะทำงานฟื้นฟูเศรษฐกิจจากโควิด-19 (COVID-19 Economic Recovery Task Force) เพื่อจัดทำแนวทางการปฏิบัติตนของธุรกิจเมื่อกลับมาเปิดให้บริการเต็มรูปแบบและคนกลับมาทำงาน รวมถึงร่วมมือกับกลุ่มธุรกิจในเมืองเพื่อพัฒนาด้านต่างๆ อาทิ ด้านคมนาคม ร่วมมือกับบริษัทหรือองค์กรขนส่งสาธารณะในเมืองเพื่อปรับปรุงคุณภาพ สร้างความตระหนักเรื่องความปลอดภัย สุขอนามัย ทั้งยังส่งเสริมให้ใช้ยานพาหนะที่คล่องตัว รักษ์โลกอย่างจักรยาน สกู๊ตเตอร์มากขึ้น ผ่านการสร้างทางจักรยานและที่จอด

ส่วนด้านการศึกษาและศูนย์ดูแลเด็กเล็ก ชิคาโกให้การสนับสนุนด้านอุปกรณ์การเรียนทางไกล โดยเฉพาะกับกลุ่มเด็กยากจนและเด็กกลุ่มเสี่ยงติดเชื้อ จัดอบรมครูเพื่อปรับตัวสอนออนไลน์ และสนับสนุนให้จัดตั้งศูนย์ดูแลเด็กเล็กใกล้บ้านเพิ่มมากขึ้น อีกทั้งยังลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งให้ระบบสาธารณสุข โลจิสติกส์ และวางแผนสร้างฐานข้อมูลเมืองเพิ่มด้วย

เมืองฟลอเรนซ์, อิตาลี

เดิมที ฟลอเรนซ์เป็นเมืองที่คนส่วนใหญ่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัลได้กว่า 85% อยู่แล้ว แต่หลังจากโควิด-19 เป็นต้นไป เมืองแห่งนี้ก็วางแผนให้ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ 100% โดยถือว่าเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ประชาชนควรได้รับ รวมถึงพยายามเปิดโอกาสให้ทุกคนสามารถทำงานระยะไกล จึงลงทุนด้านโครงข่ายอินเทอร์เน็ตอย่างเต็มที่ และเจาะจงพื้นที่ซึ่งเปราะบางเป็นพิเศษด้วย

นอกจากนี้ ฟลอเรนซ์ยังคิดเรื่องจำกัดจำนวนรถบัสและนักท่องเที่ยวที่จะเข้ามาในเมืองเพื่อป้องกันไม่ให้หนาแน่นเกินไป และตั้งใจจะปรับปรุงพื้นที่สาธารณะ สถานที่สำคัญในเมืองเพื่อประโยชน์ของผู้อยู่อาศัยและกลุ่มธุรกิจในเมือง

เมืองลิเวอร์พูล, อังกฤษ

ลิเวอร์พูลจัดสรรงบประมาณกว่า 1.4 พันล้านปอนด์เพื่อบริหารแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจซึ่งมุ่งพัฒนาเมือง 4 ด้าน ได้แก่ นวัตกรรม การเคหะ การจ้างงาน และอื่นๆ ที่สร้างสรรค์แปลกใหม่ — หากพูดให้ชัดเจนคือลิเวอร์พูลกำลังพัฒนาบ้านแบบโมดูลาร์และศูนย์ชุมชนเพิ่มเติมกว่า 200 แห่ง ปรับปรุงบ้านของกลุ่มผู้เปราะบางอย่างผู้มีรายได้น้อยอีก 4,000 แห่ง พยายามสร้างงานอีกกว่า 25,600 ตำแหน่ง ซึ่งไม่รวมแรงงานก่อสร้างอีก 12,000 ตำแหน่ง และยังไม่นับว่ากำลังวางแผนสร้างท่าเรือ นวัตกรรมทางสาธารณสุข เทคโนโลยี ร่วมกับมหาวิทยาลัยและสถาบันความรู้ในพื้นที่อีกด้วย

กรุงโซล, เกาหลี

โซลเป็นอีกเมืองหนึ่งที่กำลังพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล ทั้งบริการอินเทอร์เน็ต ฐานข้อมูล ไปจนถึงปัญญาประดิษฐ์และสร้างมาตรการความปลอดภัยทางไซเบอร์อย่างจริงจัง เพิ่มเติมด้วยการลงทุนบริการด้านสาธารณะ สิ่งอำนวยความสะดวกด้านสุขภาพ ไปจนถึงศูนย์วิจัยโรคระบาดและห้องแลปเพื่อศึกษาศาสตร์ระบาดวิทยา

อีกส่วนหนึ่งซึ่งขยับไปพร้อมกันคือโซลเริ่มบุกเบิกการคมนาคมขนส่งด้วยนวัตกรรมรถยนต์ไร้คนขับ หุ่นยนต์ส่งของ ที่จอดรถอัจฉริยะ สนับสนุนการเดินทางปลอดมลพิษด้วยการสร้างทางจักรยานเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกัน ก็พยายามเป็นผู้นำเทรนด์ด้านพลังงานสะอาดด้วยการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์บนอาคารและบ้านภายในเมืองใหญ่มาตั้งแต่ปี 2018 ซึ่งคาดว่าคงมีสานต่อในอนาคตหลังโควิด-19 แน่นอนเพราะการลงทุนก่อสร้างด้านพลังงานสะอาดเหล่านี้ สร้างงานให้แก่คนเมืองได้ไม่น้อยเลยทีเดียว

กรุงโตเกียว, ญี่ปุ่น

ปิดท้ายด้วยกรุงโตเกียว ที่มีการจัดทำโร้ดแมปการฟื้นฟูหลังโควิด-19 ประกอบไปด้วยแนวทางปฏิบัติเพื่อป้องกันโรคระบาดสำหรับผู้ประกอบการ ให้การช่วยเหลือกิจการขนาดเล็กและขนาดกลางในเมืองเพื่อสร้างอุปกรณ์ป้องกันโรค สิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ เช่น อุปกรณ์ดิจิทัล ซอฟต์แวร์สำหรับทำงานที่บ้าน ขณะเดียวกัน ก็ออกแบบมาตรการสนับสนุนธุรกิจโรงแรมที่ได้รับผลกระทบจากโรคระบาดอย่างหนักโดยเฉพาะ

ไม่เพียงแต่กลุ่มผู้ประกอบธุรกิจเท่านั้นที่ได้สิทธิประโยชน์ ประชาชนผู้จ่ายภาษีในโตเกียวก็ได้รับอนุญาตให้เลื่อนการจ่ายภาษีออกไปก่อนชั่วคราวระหว่างเกิดโรคระบาด เช่น ภาษีที่เก็บจากการปล่อยน้ำเสีย ผู้จ่ายสามารถยื่นเรื่องขอเลื่อนการจ่ายออกไปชั่วคราวได้ถ้าประสบปัญหาการเงินฝืดเคือง นับเป็นตัวอย่างนโยบายที่ยืดหยุ่นได้ อะลุ้มอล่วยพอเหมาะ

ในอนาคต โตเกียวคงต่อยอดให้กิจกรรมทุกสิ่งอย่างในเมืองสามารถขึ้นไปอยู่บนโลกออนไลน์ เพราะเราเริ่มเห็นการสนับสนุนให้นักเรียนทุกคนเข้าถึงห้องเรียนออนไลน์ พัฒนาการแพทย์ทางไกล (Telemedicine) การสื่อสารทางไกล และการให้บริการสาธารณะต่างๆ ผ่านเทคโนโลยีดิจิทัลมากขึ้นเรื่อยๆ


บางที หลังจบจากวิกฤตโควิด-19 เรื่องราวของเมืองในอนาคตอันใกล้ อาจเป็นวัตถุดิบชั้นดีของนิยายไซไฟล้ำๆ ก็ได้

ใครจะรู้



อ้างอิง

OECD Policy Responses to Coronavirus (COVID-19) : Cities policy responses

This is how coronavirus could reshape our cities forever

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

22 Feb 2022

คราฟต์เบียร์และความเหลื่อมล้ำ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ เขียนถึงอุตสาหกรรมเบียร์ไทย ที่ผู้ประกอบการคราฟต์เบียร์รายเล็กไม่อาจเติบโตได้ เพราะติดล็อกข้อกฎหมาย และกลุ่มทุนที่ผูกขาด ทั้งที่มีศักยภาพ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

22 Feb 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save