fbpx
นโยบายสู้ COVID-19 เฟสใหม่: ทำอย่างไรให้ไม่ต้องปิดเมืองซ้ำสอง: สมชัย จิตสุชน

นโยบายสู้ COVID-19 เฟสใหม่: ทำอย่างไรให้ไม่ต้องปิดเมืองซ้ำสอง: สมชัย จิตสุชน

ปกป้อง จันวิทย์ สัมภาษณ์

วรรษกร สาระกุล เรียบเรียง

 

สถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทยดำเนินมาถึงเฟสใหม่ของการรับมือ เฟสซึ่งมีความท้าทายเรื่องการหาสมดุลระหว่างการรับมือวิกฤตสุขภาพและวิกฤตเศรษฐกิจมากยิ่งขึ้น การเปิดเมืองเฟสที่ 3 เพื่อให้ผู้คนกลับมาใช้ชีวิตมาพร้อมกับเสียงวิจารณ์ ด้านหนึ่งบอกว่าการเปิดเมืองนี้ ช้าเกินไป และเข้มเกินไป ส่วนอีกด้านหนึ่งก็มาพร้อมกับความกังวลและคำกวดขัน “อย่าประมาท การ์ดอย่าตก”

ไม่ว่าจะเป็นสุขภาพหรือเศรษฐกิจล้วนสำคัญไม่แพ้กัน โจทย์เดิมในเฟสใหม่นี้มีอะไรเปลี่ยนไปบ้าง แล้วเราจะหาสมดุลของสองเรื่องนี้อย่างไร สมดุลใหม่อยู่ตรงไหน เรามีทางเลือกอื่นนอกจากปิดเมืองหรือไม่ และนโยบายรัฐต้องปรับอย่างไร

ดร.สมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) หนึ่งในคณะที่ปรึกษาด้านผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมในศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 (ศบค.) คือ หนึ่งในคนที่คิด ถาม และหาคำตอบในประเด็นเหล่านี้อย่างเข้มข้น ทั้งผ่านการพูดคุยกับผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์ ผู้กำหนดนโยบาย นักวิชาการและนักวิจัย และที่สำคัญคือ การลงมือทำวิจัยด้วยตัวเอง

101 ชวน ‘อาจารย์สมชัย’ สนทนาเพื่อมองหาทางเลือกและสมดุลใหม่ในการรับมือกับวิกฤตเศรษฐกิจและสุขภาพ — สมดุลที่เห็นหัวประชาชน คนเล็กคนน้อย และคนด้อยโอกาส

 

 

ประเทศไทยเริ่มเปิดเมืองกันมาตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ผ่านมาแล้ว 2 เฟส เพิ่งเริ่มเข้าเฟส 3 าจารย์ประเมินสถานการณ์ล่าสุดเหมือนหรือต่างจาก ศบค. อย่างไร

โดยส่วนตัวคิดว่าประเทศไทยเอาอยู่ เพราะโดยทางทฤษฎีแล้ว เชื้อไวรัสมีระยะฟักตัวและแพร่เชื้อประมาณ 14 วัน ในประชากรกลุ่มหนึ่ง ถ้าไม่มีคนเพิ่มเข้ามาหรือคนออกไปเลย และไม่มีการติดเชื้อเพิ่มขึ้น แสดงว่าเราสามารถคุมการระบาดได้แล้ว

ในกรณีของประเทศไทย ตัวเลขผู้ติดเชื้อใหม่เป็นเลขหลักเดียวมาหลายวัน และทั้งหมดอยู่สถานกักกันของรัฐ (state quarantine) หรือเป็นกลุ่มที่มาจากต่างประเทศทั้งหมด ซึ่งไม่มีโอกาสแพร่เชื้อในสังคม ตั้งแต่เปิดเมือง ผมนั่งไล่ดูตัวเลขผู้ติดเชื้อทุกวัน ตอนแรกยังกังวลค่อนข้างมากว่าพอเปิดเมืองแล้วคนจะกลับมาติดอีกครั้ง แต่ยิ่งผ่านมาก็ยิ่งเบาใจขึ้น ถึงตอนนี้ต้องถือว่าเบาใจมาก

 

แล้วยังมีโจทย์อะไรให้ต้องกังวลไหม

ความเบาใจที่บอกไปสักครู่เกิดขึ้นภายใต้การเปิดเมืองแบบมีการควบคุม ยังไม่ใช่การเปิดเมืองแบบ 100% สิ่งที่น่ากังวลในระยะต่อไปคือการเติมคนจากต่างประเทศเข้ามา เศรษฐกิจไทยมีสัดส่วนการท่องเที่ยวประมาณ 20% ของจีดีพี และรายได้จากครัวเรือนไทยก็มาจากท่องเที่ยว 20% ด้วย ตรงนี้เป็นแรงกดดันที่หนักมากต่อเศรษฐกิจไทย ตอนนี้เริ่มมีการพูดกันหนาหูแล้วว่า ควรจะเปิดประเทศให้คนต่างชาติเข้ามาเที่ยวด้วย ซึ่งถึงที่สุดเราอาจจะหลีกเลี่ยงการเปิดประเทศได้ยาก หากนักท่องเที่ยวมาแล้ว ความเสี่ยงของโรคก็จะกลับมาอีกครั้ง

นอกจากนี้ยังมีความเสี่ยงจากพื้นที่ชายแดนด้วย ด่านชายแดนปกติยังไม่ค่อยน่ากังวลเท่าไหร่ เราทำได้ดี แต่สำหรับด่านธรรมชาติที่ไม่มีจุดตรวจนี่น่ากังวล จากที่สอบถามมา กระแสหนึ่งบอกว่าด่านธรรมชาติเราคุมอยู่ทั้งหมด แต่อีกกระแสหนึ่งบอกว่ายังต้องเฝ้าระวังให้ดี ยังหวาดเสียวอยู่

 

โจทย์คลาสสิกของวิกฤตโควิด-19 คือการหาสมดุลระหว่างสุขภาพกับเศรษฐกิจ แต่สมดุลที่ว่าปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์อยู่ตลอดเวลา คำถามคือ ณ วันนี้ สมดุลใหม่อยู่ตรงไหน เราควรแลกเศรษฐกิจกับสุขภาพแค่ไหน อย่างไร

ณ วันนี้ ผมยังอยากให้ปิดประเทศอยู่ แต่เปิดเมือง ถึงแม้การท่องเที่ยวจะมีสัดส่วนความสำคัญถึง 20% ก็ตาม แต่ความเสี่ยงจากการระบาดจะสูงขึ้น ส่วนนี้เราอาจจะต้องสละ แล้วเปิดเมืองเพื่อให้ 80% ที่เหลือกลับคืนมาได้

ทุกวันนี้เราเปิดเมืองอย่างมากก็ 60% ใจผมอยากให้กลับมาสัก 70% โดยเฉพาะกิจการที่เกี่ยวกับคนรากหญ้าควรเปิดให้หมดเลย เพราะคนกลุ่มนี้ได้รับผลกระทบเยอะมาก แต่กิจการบางอย่างที่ความเสี่ยงสูง เช่น เช่น ผับ บาร์ สนามมวย อาจจะยังน่ากังวลอยู่ เพราะมีความเสี่ยงในทางทฤษฎีจากกลุ่มที่เรียกว่า silence spreader หรือคนที่ติดเชื้อแต่ไม่แสดงอาการ ในความเป็นจริงเราไม่รู้ว่ากลุ่มนี้มีขนาดใหญ่แค่ไหน แต่หากเราสามารถควบคุมได้ดีอย่างต่อเนื่อง กลุ่มนี้จะค่อยๆ เล็กลง เมื่อถึงตอนนั้นอาจอนุญาตให้เปิดกิจการที่มีความเสี่ยงสูงได้

 

สูตร ‘ปิดประเทศ เปิดเมืองของอาจารย์คล้ายกับแนวทางของ ศบค. อยู่ไม่น้อย ตอนนี้มาตรการที่ใช้กันอยู่คือเปิดเมืองมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ยังปิดประเทศอยู่อย่างน้อยก็ยาวไปจนถึงสิ้นเดือนมิถุนายน

ผมมีโอกาสได้คุยกับกลุ่มคนที่ดูแลนโยบายเรื่องนี้ก็เห็นว่ามีสุ้มเสียงคล้ายกัน โดยส่วนใหญ่ยังอยากให้ปิดประเทศอยู่ แต่แน่นอนว่ามีเสียงเรียกร้องและกดดันจากกลุ่มที่มีอำนาจ อย่างกรณีสนามมวยนี่ชัดเจนมาก ถ้าจำกันได้ก่อนหน้านี้สนามมวยกลายเป็น ‘super spreader’ ของเมืองไทย ทั้งที่มีการให้คำแนะนำไปแล้วว่าไม่ควรจัดให้มีการชกมวย แต่ก็ฝ่าฝืนคำแนะนำจนทุกวันนี้ยังไม่มีคนรับผิดชอบเลยด้วยซ้ำ

 

 

ความสามารถในการรองรับผู้ป่วยของระบบสาธารณสุขของไทยเป็นอย่างไรบ้าง เราสามารถรองรับผู้ป่วยใหม่ได้วันละกี่คนโดยที่ไม่มีคนตายโดยไม่จำเป็นจากการขาดแคลนอุปกรณ์ เช่น เครื่องช่วยหายใจ เตียงไอซียู

ผมคุยและถามเรื่องนี้กับผู้เชี่ยวชาญเยอะมาก และผมได้ตัวเลขมา 3 แบบ ซึ่งคนละเรื่องกันเลย (หัวเราะ)

แบบแรกคือเรารับผู้ป่วยใหม่ต่อเนื่องเพิ่มขึ้นได้วันละ 100 คน ถ้ามีเคสใหม่เพิ่มขึ้นไม่เกินนี้ถือว่าเอาอยู่ เตียงไอซียูพอ ห้องความดันลบพอ เครื่องช่วยหายใจพอ ตัวเลขที่สองเพิ่มมาเป็น 200 คนต่อวัน ส่วนตัวเลขที่สามมาจากการทำโมเดลทางคณิตศาสตร์ ตัวเลขนี้ลดลงมาเหลือ 24 คน ซึ่งถ้าเรายึดตัวเลข 24 คน ก็มีแนวโน้มว่าเรายังต้องระวังให้ดี

ผมบอกไม่ได้เหมือนกันว่าตัวเลขไหนถูก เอาเป็นว่าตัวเลขบอกว่าเรารับผู้ป่วยใหม่ได้ 24-200 คนต่อวันก็แล้วกัน

 

ไม่ว่าจะเป็น 24 คน หรือ 200 คนแต่เมื่อเทียบกับจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่รายวันภายในประเทศ แสดงว่าเรายังมีพื้นที่ให้ขยับขยายเรื่องเกี่ยวกับการเปิดเมืองได้อยู่พอสมควรหรือเปล่า

ใช่ แล้วอย่าลืมว่าตัวเลข 24,100, 200  เป็นตัวเลขที่ต้องติดต่อเนื่องกันทุกวัน ถ้าสมมติวันหนึ่งติด 100 คน พรุ่งนี้เหลือ 80 คน อีกวันเหลือ 60 คน ตรงนี้ยังอยู่ในวิสัยที่รับมือได้ ตรงนี้ก็ขึ้นอยู่กับว่าเรามีมาตรการอื่นที่จะควบคุมการระบาดได้อย่างไร

 

แล้วในเรื่องของจำนวนการตรวจ อยากทราบว่าตอนนี้ประเทศไทยตรวจหาผู้ป่วยได้วันละกี่คน

ช่วงหลังเราตรวจลดลง เพราะจำนวนเคสลดลง ในช่วงที่มีเคสจำนวนมาก เราตรวจกลุ่มเสี่ยงหรือ patient under investigation (PUI) วันละประมาณ 6,000 ถึง 7,000 เคสต่อวัน พอช่วงหลังเคสน้อยลงก็เริ่มเปลี่ยนไปทำ active testing มากขึ้น ไม่รอ PUI แล้ว เนื่องจากมี capacity เหลือ เช่น ถ้ามีคนในหมู่บ้านหนึ่งมีความเสี่ยงว่าจะติดโควิด 19 ก็ตรวจทั้งหมู่บ้านไปเลย แต่ ณ วันนี้ active testing ก็ลดลงไปมากเพราะส่วนใหญ่อยู่ในสถานกักกันของรัฐ

 

ถึงแม้ตอนนี้สถานการณ์ดูเหมือนว่าไทยเอาอยู่แล้ว แต่ก็มีเสียงเตือนให้ระวังการระบาดรอบสอง ในทางหลักการ การระบาดต้องรุนแรงแค่ไหนถึงจะเรียกว่าเป็นคลื่นลูกที่สอง หรือเป็นจุดเปลี่ยนให้ต้องคุมเข้มการระบาดอีกครั้ง

มีเกณฑ์ที่ต้องดูหลักๆ 2 เกณฑ์ เกณฑ์แรกคือความสามารถในการรองรับของระบบสาธารณสุข อย่างที่กล่าวไปตอนต้นว่าเราสามารถรองรับผู้ป่วยใหม่ได้วันละเท่าไร ส่วนเกณฑ์ที่สองคือการเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่ ถ้าจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่รายวันมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นแบบ exponential เช่น อาทิตย์นี้เพิ่มขึ้นวันละ 100 คน อาทิตย์ต่อไปเพิ่มวันละ 200 คน แบบนี้เรียกว่าการเกิดคลื่นลูกที่สอง

 

ในบางประเทศมีข่าวว่ามีการระบาดระลอกสองแล้ว แต่เรายังไม่เห็นเคสที่ระลอกสองแรงมากกว่าหรือเท่ากับระลอกแรกเลย จริงๆ แล้วมันน่ากลัวขนาดนั้นเลยหรือเปล่า

ถ้าวาดกราฟจำนวนผู้ป่วยใหม่รายวัน หากกราฟลูกแรกไต่ระดับลงไปแล้วแต่มีการไต่ระดับขึ้นอีกครั้งไปอยู่ในระดับที่สูงพอๆ กับหรือมากกว่าคลื่นลูกแรก อันนี้ก็เรียกได้ว่าเป็นการระบาดรอบที่สองได้ แต่ว่ากรณีนี้ยังไม่เกิดขึ้น กรณีของประเทศที่คุมการระบาดได้แล้ว เช่น เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น การติดเชื้อที่เกิดรอบใหม่นั้นเพิ่มขึ้นเป็นภูเขาลูกย่อมๆ เพราะสามารถควบคุมได้อีกครั้ง ส่วนหนึ่งมาจากระบบการติดตามที่ดีมาก

ส่วนกรณีสหรัฐอเมริกาหรืออิตาลี คลื่นลูกแรกมันสูงมาก หรือเป็นภูเขาเอเวอเรสต์แล้ว ณ ตอนนี้จึงยังไม่มีการระบาดใหญ่รอบสองให้เห็น แต่ก็มีโอกาสเป็นไปได้หากอเมริกามีทีท่าว่าจะเปิดเมืองเร็ว

 

ทราบมาว่าอาจารย์เพิ่งทำข้อมูลความสัมพันธ์ระหว่างระดับการเปิดเมืองกับอัตราการตรวจเชื้อ ติดตาม กักกันตัว อยากทราบว่าสองอย่างนี้มีความสัมพันธ์กันอย่างไรบ้าง มีประเด็นอะไรน่าสนใจ และมีข้อเสนอแนะทางนโยบายอะไรจากการศึกษานี้บ้าง

ข้อค้นพบที่น่าสนใจคือ การตรวจโรคเป็นจำนวนมากสามารถแลกกับการไม่ต้องปิดเมืองได้ ซึ่งต้องบอกก่อนว่านี่ไม่ใช่แนวคิดหรือข้อค้นพบใหม่ แต่งานวิจัยของเราคอนเฟิร์มเรื่องนี้

ในตอนแรกที่มีการระบาด เรามีตัวอย่างการรับมือที่เห็นผลชัดและเอาอยู่ก็คือกรณีของอู่ฮั่นที่ปิดล็อกสนิท พอเกิดการระบาดที่อื่นส่วนใหญ่จึงยึดตามแนวทางของอู่ฮั่น แต่เมื่อทำไปสักพักก็พบว่าถึงจะเอาการระบาดอยู่จริง แต่เศรษฐกิจก็พัง จึงเริ่มมีการหันไปหาทางเลือกอื่น มีคนตั้งข้อสังเกตจากเกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และไต้หวันที่ไม่ได้ปิดเมือง ยกตัวอย่างเกาหลีใต้ กิจการพวกผับ บาร์ ร้านอาหารยังเปิดเป็นปกติ ล่าสุดแม้จะต้องปิดเมืองไปเนื่องจาการระบาดระลอกสอง แต่ก็ปิดไปประมาณ 1 อาทิตย์เท่านั้น แล้วก็กลับมาเปิดใหม่ สิ่งที่ประเทศเหล่านี้ทำคือการทำ testing เป็นจำนวนมาก แล้วติดตามและกักกันตัวให้ทันเวลาทำให้ไม่ต้องปิดเมืองและก็เอาอยู่ไปพร้อมๆ กัน

งานวิจัยที่ทีดีอาร์ไอร่วมทำกับธนาคารแห่งประเทศไทยก็ยืนยันผลของมาตรการนี้ ในงานวิจัย ได้นำ Google Mobility มาเป็นตัวแปรของระดับการเปิด-ปิดเมือง และนำไปวิเคราะห์ในแบบจำลองหลายแบบ สุดท้ายก็พบว่าการเพิ่มจำนวนการตรวจเชื้อสามารถช่วยลดความเสี่ยงที่จะเกิดการระบาดรอบสองและไม่ต้องปิดเมืองได้แล้ว

Google Mobility คือระดับการเคลื่อนย้ายของคน เช่น การเดินทางโดยรถสาธารณะ การเดินทางไปซื้อของ การเดินทางไปทำงาน เป็นต้น ตัว Google Mobility นี้จะมีหลายค่า ในสถานการณ์ปกติก่อนวิกฤตโรคระบาด ตัวเลขนี้จะเป็น 0 ถ้ามีการเดินทางมากกว่าปกติตัวเลขจะเป็นบวก แต่เมื่อตอนปลายเดือนมีนาคมและเดือนเมษายนที่มีการปิดเมือง ตัวแปรนี้เคยตกไปอยู่ที่ระดับ -60 ณ ปัจจุบัน ค่า Google Mobility ที่มีการอัพเดทถึงวันที่ 16 พฤษภาคม อยู่ที่ประมาณ -30

งานวิจัยนี้บอกว่าการเปิดเมืองทำให้ Google Mobility ค่อยๆ ขยับกลับมาใกล้ 0 มากขึ้น ขณะเดียวกันมันก็เพิ่มโอกาสที่จะมีคนติดเชื้อเท่ากับหรือเกินกว่าที่ระบบสาธารณสุขจะรองรับไหว ดังนั้นในแต่ละขั้นที่ Google Mobility ขยับเพิ่มขึ้นเข้าใกล้ 0 เราก็ต้องเพิ่ม capacity การตรวจเพื่อลดโอกาสของการระบาดรอบใหม่ให้ทันระดับการเปิดเมืองด้วย

 

เมื่อต้องแลกกันระหว่างการเปิดเมืองกับการตรวจเชื้อ เราต้องชั่งน้ำหนักผลได้-ผลเสียอย่างไร เพื่อเปิดเมืองให้ได้ผล แต่เสียหายไม่เยอะ

จากงานวิจัย ถ้าเปิดเมืองเพิ่มขึ้น 1% การบริโภคจะกลับมา 0.32% การลงทุนจะเพิ่มขึ้น 0.46% ถือว่าเยอะมาก ถ้าเราเปิดเมืองจนทำให้ค่า Google Mobility จาก -30 มาอยู่ที่ -10 จีดีพีที่ได้กลับมาจะอยู่ที่ประมาณ 8 แสนล้านบาท ถ้าเปิดไปถึง -5 จะได้จีดีพีจะกลับมา 1 ล้านล้านบาท ซึ่งอันนี้ดีแน่นอน เพราะดึงจีดีพีกลับมาได้เยอะเลย นอกจากในแง่ตัวเลขทางเศรษฐกิจ ส่วนที่สำคัญยิ่งกว่าคือชีวิตคน คนตกงานจะลดลง การจ้างงานดีขึ้น ผู้ได้รับผลกระทบจะลดลง

อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงที่ตามมาคือการระบาด สิ่งที่เราต้องทำคือเพิ่มการเทสต์ แต่ต้องทำให้หมายถึงการแกะรอยเพิ่มขึ้น การสอบสวนโรคมากขึ้น การกักกันมากขึ้นด้วย ต้องมาเป็นแพ็กเกจ

 

ที่มา : การศึกษาความคุ้มค่าของการตรวจเชื้อ COVID-19 โดยสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.), วันที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2563

เราต้องเพิ่มศักยภาพในการตรวจขนาดไหนถึงจะเพียงพอในการรับมือกับการเปิดเมืองให้ได้ผล

ถ้าจะเปิดเมืองต้องเพิ่มสามารถในการตรวจให้ได้อย่างน้อย 50,000 คนต่อวัน ในขณะที่ศักยภาพของเราตอนนี้อยู่ที่ 20,000 คนต่อวัน โดยอยู่ในกรุงเทพฯ 10,000 คน และกระจายตามต่างจังหวัดอีก 10,000 คน

นอกจากการเพิ่มศักยภาพในการตรวจแล้ว เราต้องคิดเรื่องการกระจายด้วยเหมือนกัน เพราะหากการระบาดครั้งต่อไปเกิดที่ต่างจังหวัดแล้วไม่สามารถตรวจได้ทันเวลา เราอาจควบคุมการระบาดไม่ได้และเกิด super spreader อีกครั้ง ประเด็นนี้ไม่ถูกรวมไว้ในแบบจำลองจึงไม่สามารถคาดการณ์ได้ กรมควบคุมโรคต้องวางแผนต่อไป

 

ที่มา : การศึกษาความคุ้มค่าของการตรวจเชื้อ COVID-19 โดยสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.), วันที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2563

 

ในสถานการณ์ปกติเราต้องเพิ่มศักยภาพการตรวจประมาณ 2.5 เท่าเพื่อเปิดเมือง แต่งานวิจัยอาจารย์บอกว่าถ้าเกิดเปิดเมืองไปแล้วเจอการระบาดหนักเราอาจจะต้องเพิ่มการตรวจไปถึงวันละ 100,000 คนเลย

ในกรณีนั้นหมายความว่ามีการบริหารจัดการผิดพลาดจนเกิด ‘super spreader’ แล้วเอาไม่อยู่ แต่ถ้าเกิดแบบนั้นขึ้นจริงคงไม่ใช่การตรวจโรคแล้วมั้ง แต่ต้องปิดเมืองรอบใหม่กันแล้ว

 

จากการปิดเมืองในรอบที่ผ่านมา เราทำอะไรสำเร็จผิดพลาดไปบ้าง ทำอะไรมากไปน้อยไป และเราได้เรียนรู้บทเรียนอะไร

ในช่วงแรกเรามีความรู้เกี่ยวกับไวรัสและโรคน้อยมาก จึงมีแนวโน้มที่จะคาดการณ์ว่าเป็นเรื่องที่หนักหนาสาหัสและทำทุกวิถีทางเพื่อจะหยุดการระบาดให้ได้ไม่ว่าจะต้องแลกกับอะไรก็ตาม และยังมีบทเรียนจากอู่ฮั่นว่าต้องปิดล็อกเมืองให้สนิท หลายคนเห็นว่าต้องใช้คำว่า “เจ็บลึกแต่จบเร็ว”  ซึ่งผมก็เป็นหนึ่งในกลุ่มนั้น และตอนหลังก็มีงานวิจัยออกมายืนยันว่า การปิดให้เร็ว ปิดให้หนัก แล้วค่อยกลับมาเปิด จะส่งผลลบต่อเศรษฐกิจและสังคมน้อยกว่า

ประเด็นถัดมาที่เป็นที่ถกเถียงกันมากคือ ถ้าควบคุมการระบาดได้แล้ว จะเปิดเมืองอย่างไร ต้องรอนานแค่ไหนกว่าจะเปิดเมือง ส่วนหนึ่งก็มีแรงกดดันให้เปิดเมืองเพราะมีคนที่ได้รับผลกระทบเยอะ ซึ่งก็บอกไม่ได้ว่าเราเปิดเมืองเร็วไปหรือช้าไปไหม เพราะไม่มีสถานการณ์แบบตรงกันข้ามให้เปรียบเทียบ (counterfactual) เราคุยกันไปในตอนต้นแล้วว่า ณ ตอนนี้ถือว่าเราทำได้ดี แต่หากย้อนกลับไปวันนั้นไม่มีใครรู้หรอกว่าจะมีการระบาดอีกระลอกหรือไม่

นอกจากนี้สิ่งที่ผมเห็นว่าเรายังทำน้อยเกินไปคือการเตรียมเพิ่ม capacity ในการตรวจ รัฐบาลควรเตรียมการให้พร้อมมูลก่อนเปิดเมือง ซึ่งเท่าที่เห็นรัฐบาลยังทำส่วนนี้น้อยเกินไป

 

 

ไม่นานมานี้ อาจารย์และคณะได้เผยแพร่รายงานวิจัยที่สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ทำร่วมกับสำนักงานสถิติแห่งชาติ และยูนิเซฟ (ประเทศไทย) โดยเป็นการสำรวจออนไลน์สองครั้ง ครั้งแรกทำเรื่องผลกระทบทางสังคม ครั้งที่สองทำเรื่องผลกระทบทางเศรษฐกิจ มีกลุ่มตัวอย่างเกือบ 30,000 คน อาจารย์เจอข้อค้นพบอะไรที่น่าสนใจบ้าง

ผลกระทบที่เกิดจากวิกฤตคราวนี้รุนแรงมากพอๆ กับวิกฤตต้มยำกุ้งเลยทีเดียว มีคนตกงานประมาณ 6 ล้านคน ที่ไม่ตกงานจำนวนมากก็ถูกลดเงินเดือน ผลสำรวจพบว่า ประมาณ 70% ของผู้ตอบแบบสอบถามบอกว่ารายได้ลดลง และประมาณ 40% บอกว่ารายได้ลดมากกว่าครึ่งหนึ่ง ซึ่งถือว่าเยอะมาก ที่สำคัญคือ ผู้มีการศึกษาต่ำมีความเสี่ยงที่จะมีรายได้ลดลงมากกว่าผู้ที่มีรายได้สูงๆ

ส่วนกิจการหลายแห่งต้องลดขนาดลงหรือเลิกกิจการไปเลย เรียกได้ว่าไม่มีใครไม่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตครั้งนี้

เมื่อลงไปถามรายละเอียดว่ามาตรการแบบไหนที่ส่งผลกระทบบ้าง ผลสำรวจพบว่าทุกมาตรการที่รัฐใช้ ไม่ว่าจะเป็น การบังคับให้อยู่บ้าน เคอร์ฟิว การห้ามเดินทางระหว่างเมือง การห้ามเดินทางระหว่างประเทศ ส่งผลกระทบหมด และกระทบในสัดส่วนที่ค่อนข้างสูง

ส่วนที่น่าตกใจและน่าเป็นห่วงคือ เมื่อถามถึงความสามารถในการรับมือ หนึ่งในสี่ของผู้ตอบแบบสอบถามตอบว่าไม่รู้จะรับมืออย่างไร ส่วน 75% ที่เหลือพยายามปรับตัว แต่คงปรับตัวได้แค่บางส่วน และเมื่อถามว่าหากต้องทนอยู่กับสภาพการณ์คล้ายๆ เดือนเมษายนที่ผ่านมา สามารถทนอยู่ไปได้นานสักเท่าไหร่ เกือบครึ่งหนึ่งตอบว่าสามารถอยู่ได้แค่ 1 อาทิตย์ ถึง 3 เดือน แม้ว่าในความเป็นจริงเขาอาจจะอยู่ได้นานกว่านั้น แต่คำตอบนี้แสดงให้เห็นว่าในความรู้สึกประชาชนสถานการณ์มันหนักหนาสาหัสมาก ถ้ามาตรการยังคงเข้มงวด เราคงจะเห็นข่าวคนฆ่าตัวตายตามหน้าหนังสือพิมพ์มากขึ้น

 

นอกจากข้อเสนอที่ให้เพิ่มการตรวจเพื่อไม่ต้องปิดเมือง ซึ่งเป็นบทสรุปของงานวิจัยแล้ว อาจารย์มีข้อเสนอในใจอะไรอีกที่จะทำให้เราป้องกันการระบาดรอบสองได้ และป้องกันไม่ให้ผู้คนและบริษัทล้มหายตายจากไปจากวิกฤตเศรษฐกิจ

มาตรการต่างๆ สามารถแบ่งได้เป็น 2 แบบ คือมาตรการบังคับ เช่น การปิดเมือง การตรวจโรค การติดตาม ฯลฯ ซึ่งเป็นมาตรการเชิงรุกทางด้านการแพทย์ ส่วนอีกแบบคือมาตรการแบบสมัครใจ เช่น ใส่หน้ากาก ล้างมือ  การแยกโต๊ะอาหาร เป็นต้น ทั้งสองมาตรการนี้ต้องทำควบคู่กัน

ที่น่าเป็นห่วงคือบางมาตรการ เช่น การแยกโต๊ะอาหาร หรือ ให้โต๊ะห่างกัน 1.5 เมตรนี้จะกลายเป็นมาตรการบังคับหากเกิดการระบาดขึ้นอีกครั้ง ซึ่งธุรกิจที่เป็นของรากหญ้า ร้านเล็กๆ จะแบกต้นทุนไม่ไหว เพราะเท่ากับลูกค้าหายไปครึ่งหนึ่ง หรือหากใครทำตามมาตรการที่ว่าไม่ได้อาจถูกสั่งปิด ซึ่งกระทบกับกลุ่มนี้อย่างมาก ผลสำรวจเองก็ชี้ว่า กลุ่มรากหญ้าเป็นกลุ่มเปราะบางและไม่สามารถรับมือกับการปิดเมืองได้ ผมจึงคาดหวังว่าจะมีการระดมความคิดช่วยให้กลุ่มนี้สามารถทำตามมาตรการป้องกันได้โดยใช้ต้นทุนที่ถูกลง เช่น ทำแผงกั้นระหว่างโต๊ะอาหารแทนการเว้นระยะ 1.5 เมตร เป็นต้น ณ ตอนนี้ได้มีการเสนอแนวทางให้ ศบค. ออกเป็นคู่มือมาแจกจ่ายแล้ว

 

ดูเหมือนว่า การใช้ตัวเลขผู้ติดเชื้อใหม่เป็นตัววัดความสำเร็จของการสู้ศึกโควิด19 เพียงอย่างเดียวอาจไม่เพียงพออีกต่อไป เราควรเพิ่มตัวชี้วัดอะไรเข้ามาเพื่อให้สามารถออกนโยบายมาแก้ปัญหาได้รอบด้านมากขึ้น

ตัวชี้วัดที่ควรเพิ่มเข้ามามีหลายตัว แต่ถ้าเลือกได้ตัวเดียว  ตัวเลข ‘ชั่วโมงการทำงานของประชากรกลุ่ม 40% ล่างสุด’ เป็นตัวเลขที่ควรให้ความสำคัญ การเปิดเมืองควรทำให้คนกลุ่มนี้กลับมาทำงานได้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ภายใต้เงื่อนไขว่าจะไม่เกิดการระบาดระลอกสอง

การมองตัวเลขผู้ติดเชื้อก็ควรเปลี่ยนไปด้วยเช่นกัน ต้องกำหนดว่าตัวเลขผู้ป่วยที่รับได้คือเท่าไหร่ จำนวนผู้ติดเชื้อใหม่ 0 คน ดีกว่า 10 คนแน่ๆ  แต่ในเชิงของการบริหารจัดการ  0 กับ 10 อาจจะไม่ต่างกันมาก หรือถ้าขึ้นไปถึง 20 คนต่อวันก็อาจจะยังไม่ต้องรีบตื่นตระหนกกลับมาปิดเมือง สมมติ 100 คนต่อวันอาจจะสูงไปหน่อย ก็ต่อรองกันได้จะใช้เกณฑ์ 50 คนไหม หรือใช้ 24 คนตามโมเดลก็ได้ ถ้ามองแบบนี้ ตราบใดที่คนติดเชื้อใหม่ไม่เกิน 24 คนต่อวันต่อเนื่องกัน 1 อาทิตย์ก็ถือว่ายังโอเค ยังเปิดเมืองได้อยู่ ถ้าใช้ดูคู่กับชั่วโมงการทำงานของคนรากหญ้า ก็ลองดูว่าจะรักษาสมดุลของตัวเลขสองฝั่งอย่างไร

 

 

ในระยะแรก อาจารย์คอยวิพากษ์วิจารณ์และคอยเสนอแนะจากวงนอกเสียเป็นส่วนใหญ่ พอหลังจากได้รับแต่งตั้งให้อยู่ในทีมที่ปรึกษาด้านผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมใน ศบค. ซึ่งถือว่าเป็นวงในกว่าเดิม อาจารย์ได้เห็นอะไรบ้าง

พอได้ขยับเข้ามาอยู่วงในที่บทบาททางนโยบาย ก็พบการต่อสู้ทางความคิดของ 2 กระแสหลักๆ คือกลุ่มแรกต้องการกดจำนวนผู้ติดเชื้อให้ต่ำที่สุด ส่วนกลุ่มที่สองคือกลุ่มที่คิดถึงผลกระทบด้านเศรษฐกิจ สังคม และด้านอื่นๆ ด้วย ที่น่าสนใจคือหมอที่ไม่ได้เป็นนักระบาดวิทยากลับอยู่ในกลุ่มแรก ซึ่งก็เข้าใจว่าเปันเพราะเขาไม่ได้มีความรู้ด้านระบาดวิทยามากพอจึงคิดว่าควรกดตัวเลขผู้ติดเชื้อให้ต่ำไว้ก่อนดีกว่า ส่วนหมอที่เชี่ยวชาญทางระบาดวิทยาจะไม่เข้มเท่าหมอกลุ่มแรก เพราะในทางระบาดวิทยาแล้วผู้จำนวนติดเชื้อรายใหม่ไม่จำเป็นต้องเป็น 0

 

สมมติถ้าเกิดการระบาดรอบ 2 ขึ้นมา เรามีความสามารถในการรับมือขนาดไหน เพราะหลายคนบอกว่าเราหมดทรัพยากรไปกับการสู้โควิดรอบแรกไปเยอะแล้ว และต้องกู้เงินมาสู้ถึง 1 ล้านล้านบาท เศรษฐกิจและการจ้างงานก็ยังไม่ฟื้นจากรอบแรก ประเทศไทยจะบอบช้ำแค่ไหนในทางเศรษฐกิจ

ผลกระทบต่อเศรษฐกิจหนักหนาสาหัสมาก การระบาดคราวที่ผ่านมามีคนตกงานประมาณ 6 ล้านคน การเปิดเมืองในช่วงที่ผ่านมาอาจทำให้สถานการณ์การจ้างงานฟื้นขึ้น คนกลับไปทำงาน 1-2 ล้านคน แต่ถ้ามีการระบาดระลอกสองตัวเลขอาจไปไกลถึง 7-8 ล้านคนเลยทีเดียว ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยใช้คำว่า เศรษฐกิจไทยมีแผลเป็น ถ้าเจอรอบสองแผลเป็นจะยิ่งใหญ่ขึ้น อันที่จริงต่อให้ไม่มีการระบาดระลอกที่สองผลกระทบก็แรงอยู่แล้ว เราอาจจะต้องอยู่กับโรคนี้โดยต้องคุมไปจนกว่าเราจะมีภูมิคุ้มกันหมู่ (herd immunity) ซึ่งกินเวลาอย่างน้อย 2-3 ปี

ในส่วนของทรัพยากรสู้วิกฤต ในรอบสิ้นปีนี้หนี้สาธารณะของไทยจะพุ่งจากประมาณ 44% ต่อจีดีพีไปอยู่ที่ประมาณ 60% ต่อจีดีพี ที่ผ่านมากระทรวงการคลังจะบอกตลอดว่าสถานะทางการคลังเราดีมาก อยู่สบาย แต่ตอนนี้คงไม่กล้าพูดแบบนี้แล้ว ถ้ามีการระบาดระลอกสอง และจำเป็นต้องกู้มาอีกก็อาจเป็นไปได้ที่หนี้สาธารณะจะพุ่งไปถึง 75% ต่อจีดีพี ซึ่งไม่กล้าคิดเลย

 

ในการรับมือกับวิกฤตรัฐบาลได้ออกกฎหมายพระราชกำหนดฟื้นฟูและกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อกู้เงิน 1 ล้านล้านบาท  อาจารย์มีความเห็นในเรื่องนี้อย่างไร และรัฐควรจะบริหารจัดการเงินก้อนนี้อย่างไร

เงินกู้ 1 ล้านล้านบาทนี้แบ่งได้เป็น 3 ก้อนใหญ่ๆ ซึ่งแต่ละก้อนก็มีเสียงวิจารณ์แตกต่างกัน

ก้อนแรก คือ ยอดเยียวยา มีมูลค่า 550,000 ล้านบาท เงินส่วนนี้คือเงินเยียวยา 5,000 บาทต่อเดือน ซึ่งในแง่ความเร็วโดยส่วนตัวเห็นว่าเร็วพอ เพราะรัฐบาลได้กันงบประมาณบางส่วนก่อนผ่านพระราชกำหนดนี้ออกมา และขนาดก็พอใช้ได้ เพราะถ้ากลุ่มรากหญ้ามีรายได้ประมาณเดือนละ 6,000-7,000 บาท เงินจำนวนนี้ถือเป็นสัดส่วนที่สูงพอสมควร และถ้าประหยัดก็ยังพออยู่ไปได้เพราะจะได้ถึง 3 เดือน แต่ถ้ามีการระบาดต่อเนื่อง เงินจำนวนนี้ก็อาจไม่พอ

ส่วนที่น่าติงมากที่สุดของเงินยอดแรกคือการตกหล่น ต้องขออนุญาตใช้คำแรงๆ ว่ากระทรวงการคลังมีความงมงายในวิธีการจัดสรร ที่ต้องใช้คำนี้เพราะเขาเชื่อมั่นว่าเขามีระบบไอทีที่สมบูรณ์แบบและสามารถบอกได้ 100% ว่าใครสมควรจะได้รับเงินเยียวยา ทั้งที่ในความเป็นจริงมีคนเดือดร้อนตกหล่นเยอะมาก ช่วงก่อนจะมีการแจกเงิน 2 อาทิตย์ ทีดีอาร์ไอมีการติงเรื่องนี้แล้วและเสนอให้ใช้แนวคิดว่าให้แจกทุกคนที่ได้รับผลกระทบก่อน แล้วค่อยตัดคนรวยและคนที่มีสายป่านยาวออก โดยใช้ฐานข้อมูล เช่น มูลค่าที่ดิน มูลค่าเงินในบัญชี วิธีนี้จะทำให้ไม่มีคนจนตกหล่นเลย ด้วยวิธีการที่ทำอยู่ปัจจุบัน ผมโกรธมากที่ทำให้คนจนตกหล่นไปมากขนาดนี้

 

แล้วงบก้อนที่สองคืออะไร ใช้ไปอย่างไรบ้าง

งบก้อนที่สองคืองบด้านสาธารณสุขมูลค่า 45,000 ล้านบาท งบก้อนนี้ยังไม่ได้ใช้เลย แต่กำลังอยู่ในช่วงกลั่นกรองโครงการที่จะได้รับงบประมาณ ซึ่งเท่าที่ได้ยินข่าวคราวมาดูแล้วน่าเป็นห่วง เพราะมีแนวโน้มว่างบจะถูกใช้ไปกับโครงการซึ่งเป็นงานรูทีนของกรมต่างๆ ในกระทรวง แทนที่จะถูกนำไปใช้เพิ่มศักยภาพในการตรวจให้มากที่สุด

ก้อนที่สามมูลค่า 400,000 ล้านบาท เป็นงบฟื้นฟู ซึ่งอยู่บนกรอบแนวคิดว่า รัฐจะเข้าไปช่วยประคองภาคเศรษฐกิจให้กลับมายืนบนลำแข้งตัวเองได้ งบก้อนนี้ยังไม่มีการใช้จริงสักบาท อันที่จริงคณะที่ปรึกษาฯ ที่ผมอยู่มีส่วนร่วมค่อนข้างมากในการให้ความเห็นในเรื่องนี้ ซึ่งเท่าที่ได้ยินมาก็น่ากังวลเหมือนกัน เพราะมีแนวโน้มว่าจะมีการเอาโครงการเดิมๆ มายัดใส่แล้วจัดกรอบเข้ามาให้ตรงวัตถุประสงค์

ที่น่าห่วงคือ โครงการเหล่านี้ขับเคลื่อนโดยหน่วยงานราชการเป็นหลัก ซึ่งประสิทธิภาพในการบริหารจัดการไม่ดีเท่าไหร่ ผมจึงไม่ค่อยแน่ใจนักว่า ประโยชน์ที่จะได้จากการใช้เงิน 400,000 ล้านบาทจะคุ้มค่าหรือไม่ หรือควรจะได้มากกว่านี้ อันที่จริงที่ประชุมคณะกรรมการก็ได้จัดทำข้อเสนอถึงนายกรัฐมนตรีถึงไว้เหมือนกันว่าควรจะใช้งบประมาณก้อนนี้อย่างไร ก็ต้องดูว่าผลสุดท้ายจะเป็นอย่างไร

 

ข้อเสนอที่ว่ามีอะไรบ้าง 

คีย์เวิร์ดคือ จ้างงาน จ้างงาน จ้างงาน แต่การจ้างงานไม่ใช่สักแต่แค่ให้ได้จ้างงานแต่ต้องเป็นการจ้างงานที่มองไปในอนาคต การจ้างงานมีหลายแบบ เช่น การจ้างงานระยะสั้น คือ ให้งานคนท้องถิ่นให้มีงานทำได้เลย เพราะแรงงานบางส่วนกลับภูมิลำเนา สองคือจ้างงานนักศึกษาจบใหม่ แต่ละปีมีคนจบใหม่ประมาณ 600,000 – 700,000 คน กลุ่มนี้ควรให้งานทำได้เลย นอกจากนี้ งานที่ทำควรจะเป็นประโยชน์ในอนาคตด้วย เช่น สร้างโครงสร้างพื้นฐานทั้งทางกายภาพและดิจิทัล เป็นต้น

หรือใช้งบนี้ในการสร้างเครื่องมือจับคู่คนหางานกับงานที่ต้องการคนที่มีประสิทธิภาพ เช่น สร้างศูนย์การฝึกอบรม เพื่อให้คนได้อัพสกิล รีสกิล และกลับเข้าสู่ตลาดแรงงานได้ โครงสร้างพื้นฐานเหล่านี้ไม่เพียงแต่จะช่วยให้คนได้งานเพียงอย่างเดียวเท่านั้นแต่จะช่วยให้คนปรับตัวเข้าสู่ new normal ได้ด้วย

 

อาจารย์กำลังจะบอกว่าปัญหาหนักหนาสาหัสและเรามีกระสุนอยู่จำกัด จึงต้องใช้กระสุนนี้ให้มีประสิทธิภาพ ตรงจุด และรวดเร็วที่สุด และเลิกทำแบบระบบราชการเดิมๆ หรือหวังจะหากินแบบเดิมๆ

จริงๆ จะไปโทษหน่วยงานที่ยื่นโครงการมาก็ไม่ถูก เพราะหน่วยงานเหล่านี้ก็ถูกครอบด้วยกรอบกติกาที่มีมาจากด้านบนอีกทีหนึ่ง เช่น มีคำสั่งว่าจะต้องใช้เงินให้เร็ว แผนงานทั้งหมดต้องพิจารณาเสร็จสิ้นภายในเดือนกันยายน ซึ่งด้วยเวลาที่กระชั้นแบบนี้โครงการที่มีความพร้อมทางด้านเอกสารมากกว่าจึงถูกยื่นเข้ามา เช่น โครงการที่ไม่ผ่านรอบงบประมาณรอบที่แล้ว แต่เอกสารยังอยู่ครบ เป็นต้น

 

 

อาจารย์ทำเรื่องความเหลื่อมล้ำและสวัสดิการมาอย่างต่อเนื่อง หลังจากโควิด19 เราต้องคิดใหม่อย่างไรเพื่อช่วยแก้ปัญหาให้กับกลุ่มคนเปราะบาง โดยเฉพาะแรงงานนอกระบบ ให้มีอยู่ชีวิตที่ดีขึ้นจากสถานการณ์ที่เป็นอยู่

สิ่งที่เห็นได้ชัดคือ ระบบตาข่ายทางสังคม (safety net) ของไทยมีรอยรั่ว ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ควรเกิดขึ้น แนวคิดนี้เชื่อว่า เมื่อคนล้มลงควรที่จะล้มลงบนตาข่าย แต่ครั้งนี้เราเห็นคนตกลงมากระแทกพื้นเจ็บสาหัสเป็นจำนวนมาก โควิด-19 กระตุกให้สังคมไทยต้องช่วยกันระดมความคิดว่าจะสร้างตาข่ายที่ไม่รั่วได้อย่างไร เพราะตราบใดที่การระบาดยังไม่จบจะมีคนร่วงลงมาอีกมา

อีกประเด็นหนึ่งที่น่าเป็นห่วงคือ ประเทศไทยมีแนวโน้มที่จะมีคนจนเรื้อรังมากขึ้น ซึ่งเป็นปัญหาตั้งแต่ก่อนโควิด-19 แล้ว ข้อมูลสถิติชี้ว่า ในปี 2559 และ 2562 สัดส่วนคนจนในประเทศสูงขึ้น ซึ่งประเทศไทยไม่เคยเกิดเหตุการณ์ที่เศรษฐกิจโตแต่มีคนจนเพิ่มขึ้นมาก่อน คนจนในประเทศไทยมีสัดส่วนมากถึง 10% ของประชากร ซึ่งหากคนกลุ่มนี้เป็นคนจนเรื้อรังจริง การวางแนวทางนโยบายเศรษฐกิจต้องเปลี่ยนขนานใหญ่ เราจะดำเนินนโยบายที่เน้นการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างเดียวไม่ได้แล้ว

 

อาจารย์มักแซวตัวเองว่าใกล้เกษียณเต็มที เริ่มถอยห่างจากแวดวงทำงานวิจัยไปเรื่อยๆ แต่จากวิกฤตรอบนี้ดูเหมือนว่าอาจารย์จะกลับมาคึกคักไฟแรงอีกครั้ง อะไรเป็นแรงผลักดันสำคัญ

อาจเป็นเพราะประเด็นนี้ใกล้ชิดกับผมพอดี ในระยะหลังผมทำงานในคณะกรรมการระดับชาติด้านสาธารณสุขค่อนข้างมาก พอมีเหตุการณ์โควิดเลยถูกดึงตัวมาช่วย

นอกจากนั้นโดยส่วนตัวแล้วผมทำงานเกี่ยวกับความเหลื่อมล้ำและคนจนมาโดยตลอดก็รู้ในทันทีว่าคนจนต้องได้รับผลกระทบหนักแน่ ถ้าทำอะไรได้ก็อยากจะทำเท่าที่ทำได้ ต้องยกเครดิตให้ ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์และเพื่อนในทีดีอาร์ไอที่สนใจเรื่องนี้มาก ผมในฐานะส่วนหนึ่งของทีดีอาร์ไอก็ถูกดึงมาช่วยคิดเรื่องนี้

 

อยากทราบความเห็นในฐานะกรรมการสถาบันวิจัยวัคซีนแห่งชาติว่ามีประเด็นอะไรที่เป็นโจทย์ของประเทศไทยบ้าง โอกาสที่จะคิดค้นวัคซีนสำเร็จมีแค่ไหน หลายคนบอกว่าต่อให้คิดวัคซีนได้ก็อาจไม่จบง่ายๆ ถ้าต่างชาติเป็นคนคิดวัคซีนได้ ราคาจะถูกแพงแค่ไหน เราจะจัดสรรกันอย่างไร

ที่พูดมาเป็นโจทย์ทั้งหมด แต่ต้องเพิ่มเติมว่าโจทย์เหล่านี้มีความไม่แน่นอนสูงมาก

คนคาดการณ์ว่า เราจะสามารถคิดค้นวัคซีนและฉีดให้ครบทุกคนได้ภายในหนึ่งปีหรือปีครึ่ง ผมเสียใจที่ต้องบอกว่ามันเป็นภาพฝัน เพราะโรคระบาดหลายโรค เช่น ไข้หวัดใหญ่ 2009 ซาร์ส เมอร์ส ซึ่งเป็นตระกูลโคโรนา เราอยู่กับมันมานานโดยที่ตอนนี้ก็ยังไม่มีวัคซีน และยังมีอีกหลายโรค เช่น เอชไอวี ไข้เลือดออก ซึ่งความพยายามในการผลิดวัคซีนก็ไม่ได้ด้อยไปกว่าโควิด-19 เลย พูดอีกแบบคือ ถึงมนุษย์จะทุ่มเทคิดค้นวัคซีนกันทั้งโลก แต่ก็ไม่มีอะไรรับประกัน ยังไม่นับว่าถ้าเจอแล้วใครจะเป็นคนเจอ

ตอนนี้กลุ่มคนที่คิดค้นวัคซีนมีทั้งหมด 70 – 80 เจ้าทั่วโลก โดยมีประมาณ 7 ถึง 8 รายที่อยู่ในขั้นทดลองในคนหรือเข้าใกล้ความสำเร็จ ความเป็นไปได้มี 3 แบบ แบบแรกคือจีนเป็นคนเจอ เป็นสถานการณ์ที่ดีที่สุด เพราะสีจิ้นผิงประกาศจะทำการผลิตวัคซีนอย่างมโหฬารและทำการแจกจ่ายทั่วโลก และเราคาดว่าจีนจะทำตามสัญญาเพราะในระยะยาว จีนจะได้ประโยชน์ในเกมภูมิศาสตร์การเมืองด้วย

แบบที่สองคือ ถ้าอเมริกาหรือบริษัทในยุโรปที่โดนัลด์ ทรัมป์ให้เงินสนับสนุนคิดค้นวัคซีนได้ วัคซีนจะแพงมาก และกำลังการผลิตอาจจะไม่เท่าจีน นอกจากนี้ยังมีปัญหาด้วยว่า ถ้าคิดค้นได้แล้วจะให้ใครก่อน เช่น ถ้าบริษัทซานโนฟี ของฝรั่งเศสที่ทรัมป์ให้เงินสนับสนุนเป็นผู้คนพบ คนฝรั่งเศสหรือคนอเมริกันควรได้รับวัคซีนก่อน แล้วประเทศที่เหลือจะต่อคิวซื้อวัคซีนอย่างไร ไทยจะเป็นคิวที่เท่าไหร่

ไม่ใช่แค่คิวระหว่างประเทศเท่านั้น คิวภายในประเทศก็เป็นเรื่องที่ต้องคิด ถ้าวัคซีนเดินทางมาถึงไทย เราจะแจกจ่ายวัคซีนอย่างไร ใครควรจะได้ฉีดก่อน นี่เป็นประเด็นที่ต้องคิดทั้งหมด

แบบสุดท้าย คือบริษัทที่องค์การอนามัยโลกกับมูลนิธิเกตส์เป็นผู้ค้นพบ ในกรณีนี้วัคซีนจะถูกแจกจ่ายให้กับสาธารณชน แต่กำลังการผลิตอาจได้ไม่เท่าจีนและราคาอาจจะแพงกว่า

 

ดูสถานการณ์แล้วบางอย่างก็ต้องสู้กันต่อไป ในขณะที่บางอย่างก็ต้องสวดมนต์เอา สุดท้ายแล้วอยากฝากอะไรถึงผู้ออกนโยบายบ้าง

หลักๆ คือต้องเปิดเมือง เพราะการปิดเมืองทำให้เศรษฐกิจเสียหายหนักมาก โดยเฉพาะกับคนรากหญ้า ขณะเดียวกันก็ต้องเตรียมมาตรการการเฝ้าระวังให้พร้อมไม่ให้เกิดการระบาดรอบใหม่ ต้องไม่ตื่นตูมรีบปิดเมืองเพราะตัวเลขผู้ติดเชื้อใหม่ไม่จำเป็นต้องเป็น 0 สุดท้ายหากต้องปิดจริงก็ขอให้ปิดอย่างชาญฉลาด ปิดแค่บางเมืองหรือบางกิจการที่จำเป็นก็พอ ที่สำคัญคือปิดเมืองอย่างเห็นหัวประชาชน คนเล็กคนน้อย และคนด้อยโอกาส

ถ้าทำแบบนี้ได้จะเป็นการใช้เงินงบประมาณที่คุ้มค่าที่สุด

 

หมายเหตุ: สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2563

MOST READ

Economy

15 Mar 2018

การท่องเที่ยวกับเศรษฐกิจไทย

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ตั้งคำถาม ใครได้ประโยชน์จากการท่องเที่ยวบูม และเราจะบริหารจัดการผลประโยชน์และสร้างความยั่งยืนให้กับรายได้จากการท่องเที่ยวได้อย่างไร

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย

15 Mar 2018

Economy

23 Nov 2023

ไม่มี ‘วิกฤต’ ในคัมภีร์ธุรกิจของ ‘สิงห์’ : สันติ – ภูริต ภิรมย์ภักดี

หากไม่เข้าถ้ำสิงห์ ไหนเลยจะรู้จักสิงห์ 101 คุยกับ สันติ- ภูริต ภิรมย์ภักดี ถึงภูมิปัญญาการบริหารคน องค์กร และการตลาดเบื้องหลังความสำเร็จของกลุ่มธุรกิจสิงห์

กองบรรณาธิการ

23 Nov 2023

Economy

19 Mar 2018

ทางออกอยู่ที่ทุนนิยม

ในยามหัวเลี้ยวหัวต่อของบ้านเมือง ผู้คนสิ้นหวังกับปัจจุบัน หวาดหวั่นต่ออนาคต และสั่นคลอนกับอดีตของตนเอง
วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร เสนอทุนนิยมให้เป็น ‘grand strategy’ ใหม่ของประเทศไทย

วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร

19 Mar 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save