‘นรา’ เรื่อง
สำหรับผมแล้ว ความยากในการเขียนถึงนิยายเรื่อง แผลลึก หัวใจสลาย (Never Let Me Go) มีอยู่ 2 ประการ อย่างแรกคือ การบอกเล่าว่าเรื่องย่อของมันเกี่ยวกับอะไร? ถัดมาคือ งานเขียนชิ้นนี้สะท้อนเนื้อหาประเด็นใด?
คำถามที่ว่า ‘เป็นเรื่องเกี่ยวกับอะไร?’ นั้น สืบเนื่องมาจากตัวนิยายมีปริศนาหลายๆ อย่างที่ผู้เขียนเก็บงำไว้ และค่อยๆ เปิดเผยให้รู้ทีละน้อยอยู่ตามรายทาง
สิ่งที่ยากคือ จะเล่าสู่กันฟังอย่างไร? จึงจะไม่กระทบกระเทือนบั่นทอนอรรถรสในการอ่าน ซึ่งผมคิดว่า ‘ความลับ’ ต่างๆ ที่มีอยู่ เป็นปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้เรื่องเล่าอันราบเรียบ มีจุดเร่งเร้าชวนให้ผู้อ่านอยากติดตามไปจนจบด้วยความกระหายใคร่รู้คำตอบ
แต่ที่สำคัญกว่านั้นคือ การไม่ทราบความลับใดๆ มาก่อน ส่งผลให้ผู้อ่านอยู่ในสถานะคล้ายคลึงกับตัวละคร และมีโอกาสล่วงรู้ความจริงไปพร้อมๆ กัน
ส่วนความยากถัดมาในการอ่านเพื่อค้นหาประเด็น จับความหมายจากเนื้อหาสาระ เป็นเรื่องปกติที่ต้องพบเจอในงานเขียนชั้นเลิศ ซึ่งมักจะมีแง่มุมอะไรต่อมิอะไรเต็มไปหมด ทั้งที่เห็นเด่นชัดและซ่อนไว้ลึกแยบยล
ตรงนี้ไม่น่าจะมีอะไรยากลำบาก หากจะมีก็คงเป็นการคิดได้ไม่ลึก ไม่กระจ่างชัด ซึ่งเป็นความรับผิดชอบของผมเอง
อย่างไรก็ตาม ความยากข้อแรก ทำให้การพูดถึงความยากข้อสอง (คือการตีความนิยาย) ยิ่งยากขึ้นไปอีก เนื่องจากในการอธิบายความเข้าใจที่มีต่อนิยาย ย่อมหลีกเลี่ยงการพาดพิงเอ่ยถึงส่วนที่เป็นความลับได้ยาก (ผมออกจะใช้คำว่า ‘ยาก’ ฟุ่มเฟือยไปหน่อยนะครับ)
ทั้งหมดนี้จะเป็นเรื่องง่ายโดยพลัน หากผมวางเจตนาไว้ว่า จะพูดถึงนิยายเรื่องนี้ แบบคนที่เคยอ่านแล้วมาพูดคุยแลกเปลี่ยนความเห็นกัน แต่เป้าหมายของผมคือ อยากเขียนถึงในลักษณะของการแนะนำ เชิญชวนให้ท่านที่ยังไม่รู้จักนิยายเรื่องนี้เกิดความสนใจและเสาะหามาอ่านกัน
ด้วยเหตุดังกล่าว ผมจึงออกตัวดังเอี๊ยดมาหลายย่อหน้า และขอเริ่มต้นแบบอ้อมค้อมด้วยข้อมูลพื้นฐานทั่วไปก่อนนะครับ Never Let Me Go เป็นผลงานของคาสึโอะ อิชิงุโระ นักเขียนญี่ปุ่นที่ใช้ชีวิตในอังกฤษตั้งแต่เยาว์วัย กระทั่งต่อมาได้ถือสัญชาติเป็นคนอังกฤษ
อิชิงุโระเป็นนักเขียนที่มีผลงานตีพิมพ์ไม่เยอะ แต่ทุกเล่มล้วนเป็นที่ชื่นชมของนักวิจารณ์ เคยได้รับการเสนอชื่อเข้ารอบสุดท้ายรางวัลใหญ่ในแวดวงวรรณกรรมอย่าง Man Booker Prize ถึง 4 ครั้ง จากเรื่อง An Artist of the Floating World (1986), When We Were Orphans (2000), Never Let Me Go (2005) และเป็นผู้ชนะรางวัลนี้จากเรื่อง The Remains of the Day เมื่อปี 1989 (เรื่องนี้ BBC News เลือกให้อยู่ในรายชื่อ 100 นิยายอันทรงอิทธิพล) รวมถึงก้าวสู่จุดสูงสุดในฐานะนักเขียน ด้วยการได้รับรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมในปี 2017
Never Let Me Go ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี 2005 ได้รับรางวัล National Book Critics Circle และ ALA Alex Awards (จัดโดย American Library Association) นิตยสาร Times เลือกให้เป็น 1 ใน ‘100 นิยายภาษาอังกฤษยอดเยี่ยม จากปี 1923 ถึงปัจจุบัน’ และดัดแปลงเป็นหนังในชื่อเดียวกันเมื่อปี 2010 โดยฝีมือการกำกับของมาร์ค โรมาเนค
รวมถึงอีกหนึ่งเกียรติยศ คือ Arthur C. Clarke Award รางวัลนี้พอจะบอกใบ้ได้กว้างๆ ว่า Never Let Me Go เป็นเรื่องในหมวดหมู่ไซไฟ หรือนิยายวิทยาศาสตร์ ซึ่งเกี่ยวข้องกับความลับที่ผมเกริ่นไว้ตั้งแต่ต้น
สิ่งที่พอจะเล่าต่อไปได้ ด้วยความระมัดระวังไม่แตะต้องปริศนาสำคัญจนเกินควร คือ งานชิ้นนี้เป็นเรื่องไซไฟแบบ Dystopia หรือการสะท้อนถึงโลกและสังคมที่ไม่พึงปรารถนา
แต่ความเป็นนิยายวิทยาศาสตร์แบบ Dystopia ใน Never Let Me Go ก็มีลีลาเฉพาะตัวแตกต่างไปจากเรื่องทำนองเดียวกันที่เราท่านคุ้นเคยจากหนังและนิยายจำนวนมาก ไม่มีฉากโชว์ความก้าวหน้าของเทคโนโลยี ไม่มีหุ่นยนต์ ยานอวกาศ มนุษย์ต่างดาว การเดินทางข้ามมิติเวลา ทุกสิ่งที่ปรากฎในนิยายเรื่องนี้ (เกือบจะ) ปกติเหมือนรายละเอียดในชีวิตประจำวันทั่วไปที่สามารถพบเห็นได้ทุกเมื่อเชื่อวัน
ถัดมาคือ ตัวนิยายไม่ได้แสดงรายละเอียดที่สะท้อนถึงโลกแบบ Dystopia ให้เห็นกันเลย (พูดง่าย ๆ คือ แหวกแนวจากขนบของเรื่องประเภทนี้) แต่มันซ่อนแฝงและเกี่ยวโยงกับปริศนาลึกลับ ซึ่งตัวละครเกริ่นให้ทราบไว้ตั้งแต่หน้าแรกๆ
ปริศนาหรือความลับใน Never Let Me Go นั้น ไม่ได้ผูกปมซ่อนเงื่อน เพื่อหวังผลในการล่อหลอกหักมุมหรือสร้างความตกตะลึงเมื่อถึงคราวเฉลยหรอกนะครับ ตลอดเวลาในการอ่าน ตัวเรื่องนั้นกระตุ้นเตือนให้ผู้อ่านรับทราบอยู่เนืองๆ ถึง ‘บางสิ่งที่ไม่ชอบมาพากล’ และเมื่อความลับค่อยๆ เผยตัวตามลำดับ หน้าที่สำคัญของมัน คือการสะท้อนปฏิกิริยาของตัวละคร ผลกระทบที่มีต่อชีวิตของเขาและเธอ การรับมือจัดการกับสิ่งที่เพิ่งรู้ และใช้ชีวิตก้าวเดินต่อไปข้างหน้า
พูดอีกแบบก็คือ ถ้าไม่นับรวมเงื่อนปมชวนสงสัยเหล่านี้ พล็อตและเหตุการณ์หลักที่นิยายนำเสนอ (ซึ่งเป็นส่วนที่สามารถเล่าได้โดยไม่ทำลายอรรถรส) เข้าข่ายเป็นเรื่องรักสามเส้ามากกว่า ทั้งยังมีกลิ่นอายความเป็น coming of age หรือการเรียนรู้เพื่อก้าวผ่านจากช่วงวัยหนึ่งไปสู่อีกวัยหนึ่ง (แตกต่างเพียงว่า ในนิยายเรื่องนี้ ตัวละครมีการ coming of age หลายครั้งหลายช่วงวัย)
ความต่างและไกลจากการเป็นนิยายวิทยาศาสตร์แนว Dystopia จนเปรียบเสมือนเงาจางๆ เหลื่อมซ้อนอยู่ในเรื่องรักโรแมนติก ทำให้ผมเกิดคำถามสารพัดสารพันอยู่ตลอดเวลาขณะอ่าน (ประมาณ 2 ใน 3 ของเรื่อง) หนึ่งในคำถามนั้นก็คือ ใส่เรื่อง Dystopia เข้ามาทำไม?
ประมาณ 1 ใน 3 ช่วงท้าย นิยายก็ตอบคำถามนี้ (รวมทั้งข้อสงสัยอื่นๆ) ว่าเกี่ยวข้องและสำคัญอย่างยิ่ง ซึ่งกล่าวอย่างรวบรัดที่สุดได้ว่า สภาพความเป็น Dystopia ที่เกือบจะไม่ได้เล่าให้ผู้อ่านรับรู้เลยนั้น ส่งผลใหญ่หลวงต่อชีวิตของตัวละคร ชนิดครอบคลุมทั้งอดีต ปัจจุบัน และอนาคต กระทั่งว่าเกี่ยวโยงลึกลงไปถึงความสัมพันธ์และความผูกพันอันสลับซับซ้อนที่ตัวเอกทั้ง 3 มีต่อกัน
ความเป็น Dystopia ที่บอกเล่าแต่น้อยและอมพะนำ ยังทำหน้าที่สำคัญทั้งในแง่เนื้อหาสาระและการสร้างความสะเทือนใจ (แบบเร้าอารมณ์เพียงน้อยนิด) ได้อย่างมีประสิทธิภาพรุนแรงหนักหน่วง
ที่แยบยลกว่านั้นคือ ยังมีแง่มุมมากมายเกี่ยวกับความเป็น Dystopia ในเรื่อง (ส่วนที่นิยายไม่ได้บอกเล่า) ทำให้ผู้อ่าน ‘รู้เท่าๆ กับตัวละคร’ ซึ่งมีชีวิตอยู่ท่ามกลางการบอกเล่าความจริงบางส่วน และการปกปิดความจริงบางส่วนมาตลอด
ความเหนือชั้นประการสุดท้าย คือ ลีลาการเขียนนิยายวิทยาศาสตร์ให้ปลอดคราบไคลบรรยากาศของนิยายวิทยาศาสตร์ และการเล่าเรื่องแนว Dystopia ที่ไม่เฉียดใกล้ขนบของเรื่อง Dystopia (ยกตัวอย่างเช่น ไม่มีการแสดงภาพความเป็นอยู่ที่ตัวละครโดนกดขี่ข่มเหงอย่างเด่นชัด ไม่มีบรรยากาศมืดหม่นของโลกที่ประสบวิกฤติหรือเป็นกลียุค) เมื่อ 2 ปัจจัยนี้บวกรวมกับกลวิธีการเล่าเรื่องบรรยายความ ก็ส่งผลให้โลกแฟนตาซีในนิยายเรื่องนี้มีความสมจริงอย่างถึงที่สุด
ทั้งหมดที่ผมกล่าวมา อาจทำให้ท่านที่ยังไม่ได้อ่านเข้าใจคลาดเคลื่อนไปได้ว่า Never Let Me Go เป็นนิยายที่อ่านยาก ซับซ้อน หนักหน่วง และไม่สนุก
สิ่งเดียวที่เป็นความจริงคือ แก่นเรื่องและเนื้อหาสาระนั้นไม่ง่ายต่อการทำความเข้าใจ และเปิดกว้างให้ตีความได้มากมาย พ้นจากนี้แล้ว ผมอยากสรุปสั้นๆ ว่า มันเป็นนิยายที่ชวนอ่าน สะกดตรึงให้อยากติดตามตั้งแต่ต้นจนจบ และเต็มไปด้วยความงดงามตรึงใจ บาดลึก สะเทือนอารมณ์
เรื่องราวทั้งหมดในนิยาย เล่าผ่านมุมมองของตัวเอกชื่อแคธี เอช. ช่วงวัยปัจจุบัน (ปลายทศวรรษ 1990) ในลักษณะรำลึกถึงความหลัง ตั้งแต่ครั้งเยาว์วัยที่ใช้ชีวิตอยู่ในโรงเรียนประจำเฮลแชม จุดเริ่มต้นพบปะรู้จักกับเพื่อนชื่อรูธและทอมมี มิตรภาพที่มีต่อทั้งสอง ความสัมพันธ์แบบเดี๋ยวดีกันเดี๋ยวทะเลาะกันสลับไปมา พัฒนาไปสู่ความสนิทสนมผูกพัน จนกลายเป็นเหตุการณ์รักสามเส้า และรอยร้าวบาดหมางล้ำลึกระหว่างกันในช่วงวัยรุ่น จนเป็นเหตุให้พลัดพรากจากกัน ก่อนหวนคืนกลับมาพบอีกครั้งเมื่อต่างคนต่างเติบโตเป็นผู้ใหญ่
เรื่องราวโดยย่นย่อเป็นไปประมาณนี้ พูดได้ว่าเต็มไปด้วยความราบเรียบ ปราศจากเหตุการณ์หวือหวาโลดโผน แต่ฝีมือการเล่าเรื่องขั้นเทพของคาสึโอะ อิชิงุโระ ก็ทำให้นิยายเรื่องนี้ดึงดูดชวนติดตามเหลือเกิน
อย่างแรกเลยคือ ความเก่งกาจแม่นยำในการเกริ่นล่วงหน้า เพื่อสร้างปมเร่งเร้าความสนใจของผู้อ่านอยู่เป็นระยะๆ จนทำให้การล่วงรู้ว่า ความเป็นไปของเหตุการณ์ต่างๆ จะลงเอยเช่นไร? ไม่สำคัญเท่ากับมันจะเกิดขึ้นและมุ่งไปสู่จุดนั้นได้อย่างไร?
ถัดมาคือ น้ำเสียง ท่วงที คำพูดคำจาในการบอกเล่าของเคธี เอช. สะท้อนชัดถึงบุคลิกอ่อนไหวของตัวละคร (และเขียนดีถึงขั้นเหมือนตัวละครนี้มีชีวิตเลือดเนื้อจริงๆ จนลืมตัวตนของนักเขียนไปเลย) ส่งผลให้ไม่ว่าจะเล่าเรื่องในแง่มุมสุขหรือทุกข์ก็ตาม จะมีบรรยากาศหม่นเศร้าตรึงใจแฝงอยู่ตลอดเวลา เหมือนที่ครูช่างเขียนที่ผมเคารพนับถือเคยพูดไว้ว่า ‘ภาพเขียนที่ดีนั้นต้องวาดออกมาแล้วมีอากาศอยู่ในนั้น’
ประการสุดท้าย คาสึโอะ อิชิงุโระ เขียนถึงการรำลึกความหลังของตัวละครได้อย่างน่าเชื่อถือ มีทั้งความพร่าเลือนในรายละเอียดเนื่องจากระยะเวลาผ่านพ้นมาเนิ่นนาน ความสับสนไม่แน่ใจต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น การมองเหตุการณ์เดียวกันผ่านความคิดต่างช่วงวัย ทั้งความรู้สึกของแคธีในฉับพลันที่เหตุการณ์อดีตเกิดขึ้น และการมองอีกแบบเมื่อโตเป็นผู้ใหญ่ การตีความหรือเข้าใจการกระทำของรูธและทอมมีตามทัศนะของแคธี โดยไม่อาจหยั่งรู้ว่า แท้ที่จริงแล้วเหตุผลของทั้งสองเป็นดังเช่นที่เธอคิดหรือไม่?
นอกจากนี้ ยังมีการเล่าความหลังแบบไม่ได้เรียงลำดับเวลาเป็นเส้นตรง มีการสลับก่อนหลังไปมาอยู่เป็นระยะๆ (กระทั่งว่า ในบางครั้งก็เหมือนจะเฉไฉออกนอกเรื่องบ้างเสียด้วยซ้ำ) แต่ที่น่าทึ่งมากคือ การเล่าในลักษณะต่างๆ ที่กล่าวมา ซึ่งดูเผินๆ เหมือนจะสับสน กระจัดกระจายไร้ระเบียบ แต่เมื่อติดตามไปตลอดจนจบ ผู้อ่านกลับมองเห็นชัดว่า มันเป็นแบบแผนวิธีการทางศิลปะที่คิดสร้างขึ้นมาอย่างรัดกุม พิถีพิถัน และวิจิตรประณีตมาก
ผมรู้สึกของผมเองนะครับว่า วิธีเล่าเรื่องของคาสึโอะ อิชิงุโระ เป็นส่วนที่สนุกและมีเสน่ห์ชวนอ่าน อาจจะมากยิ่งกว่าตัวพล็อตและเนื้อเรื่องเสียด้วยซ้ำ
นี่ยังไม่นับรวมลีลาเปรียบเปรย พลังในการบรรยาย ความงามด้านชั้นเชิงการใช้ภาษา ซึ่งถือเป็นอีกจุดเด่นของนักเขียนท่านนี้
ถ้าถามผมว่า นิยายที่ดีควรประกอบไปด้วยอะไรบ้าง ผมตอบแบบกำปั้นทุบดินได้ว่า อย่างน้อยควรจะมีหนึ่งในคุณสมบัติดังนี้ คือ ความยอดเยี่ยมในเชิงวรรณศิลป์ ความล้ำเลิศในการเร้าอารมณ์ และเนื้อหาสาระอันทรงพลัง
Never Let Me Go มีครบทุกประการข้างต้น เรื่องการเร้าอารมณ์นั้น ทำได้แนบเนียนมาก พูดขยายความก็คือ ตัวเรื่องนั้นเปิดช่องให้บดขยี้ บีบคั้นกันสุดๆ ตลอดเวลา แต่สิ่งที่เกิดขึ้นกลับเป็นการเล่าไปเรื่อยๆ ปราศจากอาการฟูมฟาย ทว่าผลลัพธ์สุดท้ายกรีดเฉือนบาดลึกระดับทำให้ผู้อ่านใจสลาย
ภาษาเปรียบเปรยแถวบ้านผม พูดถึงอารมณ์สะเทือนใจรันทดลึกแบบนี้ว่า เอามีดมาแทงหัวใจกันตรงๆ ยังไม่เจ็บเท่า
สำหรับประเด็นทางด้านเนื้อหาสาระ ว่ากันตามที่ผมเข้าใจจากการอ่านแค่ครั้งเดียว และยังไม่มีเวลาไตร่ตรองโดยละเอียดถี่ถ้วน เบื้องต้นแรกสุด มันเป็นเรื่องว่าด้วยมิตรภาพ ความสัมพันธ์แบบทั้งรักทั้งเกลียดระหว่างแคธีกับรูธ ทั้งการเป็นคู่แข่งชิงดีชิงเด่นกัน และการเป็นผู้รู้ใจที่สามารถปรับทุกข์พูดคุยกันได้ทุกเรื่อง การช่วยเหลือเกื้อกูลกัน การฉกฉวยใช้ประโยชน์จากอีกฝ่าย ฯลฯ
กล่าวได้ว่า ความสัมพันธ์ระหว่างตัวละครทั้งสองเต็มไปด้วยความสลับซับซ้อน อีกทั้งการเล่าเรื่องผ่านมุมมองของแคธี ก็ทำให้รูธแลดูเป็นผู้ร้ายหรือตัวอิจฉาหลายขณะ แต่สิ่งที่น่าสนใจคือ เมื่อติดตามไปจนจบ เรากลับตัดสินความถูกผิดของตัวละครแบบแบ่งฝ่ายไม่ได้ และการที่แคธีค่อยๆ เรียนรู้ชีวิตและเติบโตทางความคิดขึ้นโดยลำดับ ท้ายที่สุด มุมมองที่เธอมีต่อรูธก็แปรเปลี่ยนไปอีกแบบ มีเหตุผลรองรับการกระทำหลายๆ อย่าง (โดยเฉพาะนิสัยชอบโกหก หลอกตัวเอง)
ถัดมานั้นชัดเจนอยู่ในเนื้อเรื่อง คือ ประเด็นว่าด้วยความรักและความทรงจำ ซึ่งผมขออนุญาตไม่ลงสู่รายละเอียด
เนื้อหาสาระอีกประเด็นที่น่าสนใจคือ ส่วนที่ผูกโยงข้องเกี่ยวกันระหว่างเส้นเรื่องหลักและความลับสำคัญทั้งหลายประดามี
ในแง่นี้ Never Let Me Go พาผู้อ่านไปไกลกว่าการเป็นแค่ Dystopia ที่สะท้อนถึงโลกอันไม่พึงปรารถนา แต่พูดถึงเรื่อง ‘ตัวตน’ และ ‘ความเป็นมนุษย์’
ผมเชื่อว่าระหว่างการติดตามเรื่องราว ผู้อ่านน่าจะจับสังเกตได้ไม่ยาก ว่าบรรดาตัวละครนักเรียนทั้งหมดที่เฮลแชมถูกกล่าวถึงนามสกุลด้วยตัวอักษรย่อ เช่น แคธี เอช., ทอมมี ดี., หรือรูธ ซี. ฯ และเมื่อเรื่องราวค่อยๆ คลี่คลาย ก็ปรากฏคำตอบว่าเพราะเหตุใด? แต่เราข้ามตรงนี้ไปโดยไม่ต้องเอ่ยถึงก็ได้ครับ ว่ากันเฉพาะเรื่องนามสกุลที่เป็นอักษรตัวย่อ มันส่งผลให้ไม่อาจทราบหรือระบุได้แน่ชัดว่า เทือกเถาเหล่ากอของตัวละครนั้นเป็นใคร ยิ่งเป็นนามสกุลที่มีตัวอักษรย่อตรงกัน ก็ไม่อาจจำแนกแยกแยะได้อีก ว่าเป็นนามสกุลเดียวกันหรือเกี่ยวข้องเป็นเครือญาติกันหรือไม่
มีรายละเอียดปลีกย่อยอื่นๆ ที่สามารถเชื่อมโยงไปสู่ประเด็นเรื่อง ‘ตัวตน’ ได้อีกเยอะเลยนะครับ เช่น ภาพเขียนหรือสิ่งของในงานแลกเปลี่ยน สิ่งของที่บรรดานักเรียนแต่ละคนสะสม ฯลฯ
ทำไมนิยายเรื่องนี้จึงเน้นย้ำถึงเรื่องการแสวงหาและสร้างตัวตนของบรรดาตัวละคร ตรงนี้ตอบเลี่ยงๆ ได้ว่า เป็นเพราะความเกี่ยวเนื่องกับสิ่งที่พวกเขาและเธอถูกสังคมกระทำ
พอจะแง้มให้ทราบได้นิดๆ นะครับว่า ในการที่เด็กๆ แห่งเฮลแชมตกเป็นเหยื่อ เป็นผู้ถูกกระทำนั้น มันเกิดขึ้นจากเหตุผลทั้ง 2 ด้าน คือจากจุดมุ่งหมายที่โหดร้ายเห็นแก่ตัว และจากเจตนาที่เป็นความปรารถนาดี
พูดแบบไม่เข้าข้างตัวเอง ผมรู้สึกว่า ผมสาธยายถึงเนื้อหาสาระของนิยายเรื่องนี้ออกมาได้ห้วน หยาบลวก ขาดความประณีต ห่างไกลจากคุณงามความดีที่มีอยู่เป็นอันมาก
ในทางกลับกัน ผมคิดว่าย่อหน้าข้างต้นคือ เครื่องหมายรับประกันคุณภาพ ว่า Never Let Me Go ดีงามยอดเยี่ยม ควรค่าแก่การเสาะหามาอ่านเป็นที่สุดด้วยครับ