fbpx

หรือมันเป็นเรื่องของต้นทุนชีวิตดีๆ: Nepo Baby ในวงการฮอลลีวูด เศรษฐศาสตร์และการเมือง

‘Nepo Baby’ น่าจะเป็นหนึ่งในคำศัพท์ที่ปรากฏบ่อยที่สุดในช่วงท้ายปี 2022 ลากข้ามมายังต้นปี 2023 ถึงขนาดเป็นหัวข้อหลักของนิตยสารนิวยอร์กฉบับส่งท้ายปีที่ผ่านมา พร้อมข้อความ “หล่อนได้นัยน์ตาของแม่ พร้อมเส้นสายด้วย” ส่วนเว็บไซต์ Vulture บอกว่าปี 2022 คือ ‘ปีแห่ง nepo baby’ โดยแท้

กล่าวอย่างรวบรัด nepo baby เป็นแสลงของคำว่า nepotism ซึ่งเว็บไซต์พจนานุกรมสัญชาติอเมริกัน Merriam-Webster ให้ความหมายว่าคือการอุปถัมป์ทางหน้าที่การงานผ่านความสัมพันธ์ทางเครือญาติ (สำหรับในไทยอาจเทียบเคียงได้คร่าวๆ ว่า ‘เด็กเส้น’ ที่แม้จะขาดนัยของการมีคนในครอบครัวกรุยทางในสายงาน แต่ก็ยังให้ภาพของการอยู่ในระบบอุปถัมป์หรือมีผู้มีอำนาจอำนวยผลประโยชน์ให้)

มันกลายเป็นประเด็นใหญ่ระเบิดระเบ้อเอาก็เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2022 เมื่อ ลิลี-โรส เด็ปป์ -ทายาทของ จอห์นนี เด็ปป์ หนึ่งในนักแสดงอเมริกันที่ทรงอิทธิพลที่สุดในโลกกับ วาเนสซา พาราดิส นักแสดงและนางแบบชาวฝรั่งเศส- ให้สัมภาษณ์นิตยสาร Elle ว่า “สำหรับฉันแล้วมันเป็นเรื่องแปลกอยู่นะที่ไปลดทอนคุณค่าใครสักคนด้วยการบอกว่าที่เขามาอยู่ตรงจุดที่เขาอยู่ได้ก็เพราะเป็นลูกเป็นหลานใครสักคน ไม่เห็นมันจะฟังดูสมเหตุสมผลตรงไหน อย่างถ้าพ่อแม่ใครสักคนเป็นหมอ แล้วลูกพวกเขาโตขึ้นมาเป็นหมอ คุณคงไม่ไปบอกพวกเขาหรอกใช่ไหมล่ะว่า ‘ก็นะ เธอเป็นหมอได้ก็เพราะพ่อแม่เธอเป็นหมอน่ะสิ’ พวกเขาได้ตอกกลับใส่ว่า ‘ไม่ใช่สักหน่อย ฉันไปเรียนคณะแพทย์มาต่างหากล่ะถึงได้มาเป็นหมอ'”

“ชาวเน็ตดูจะสนใจเรื่องพวกนี้ ชอบทึกทักที่มาที่ไปว่าทำไมคุณจึงมาอยู่ตรงนี้ได้ ซึ่งฉันขอบอกเลยนะว่าไม่มีอะไรทำให้คุณได้งานมาหรอกนอกเสียจากว่าคุณเหมาะสมกับงานนั้น ชาวเน็ตนี่สนใจเรื่องครอบครัวคุณมากกว่าทีมงานแคสติ้งจะสนด้วยซ้ำ คุณอาจแค่ได้มีสิทธิเข้าไปแคสต์แหละ แต่ถึงเวลานั้นคุณก็ต้องแสดงฝีมือด้วย เราต้องทำงานอย่างหนักหลังจากโอกาสเหล่านั้นเหมือนกันนะ”

ปกนิตยสารนิวยอร์ก (ที่มาภาพ)

สำหรับลิลี-โรส เด็ปป์ เธอคลุกคลีอยู่ในอุตสาหกรรมบันเทิงของอเมริกาด้วยการรับบทสมทบใน Tusk (2014) ที่จอห์นนี เด็ปป์ พ่อของเธอแสดงด้วยและเป็นใบเบิกทางให้เธอคว้าบทใหญ่กว่านักแสดงสมทบในหนังเรื่องอื่นๆ ก่อนขยับขยายไปยังแวดวงแฟชั่นด้วยการเป็นแบรนด์แอมบาสเดอร์ให้ชาแนล เล่ากันแบบให้เห็นภาพ หน้าที่การงานของลิลี-โรส เด็ปป์เจิดจ้าตั้งแต่เธออายุเพียง 15 ปีเท่านั้น และสำหรับหลายๆ คน ความสำเร็จก็อาจก่อตัวขึ้นมาตั้งแต่เธอเกิดมาพร้อมนามสกุลเด็ปป์แล้ว

ภายหลังบทสัมภาษณ์ได้รับการเผยแพร่ แวดวงแฟชั่นก็ลุกเป็นไฟทันทีเมื่อ วิตตอเรีย เซเรตติ นางแบบชาวอิตาลีที่เข้าวงการมาตั้งแต่อายุ 14 ปีด้วยการเดินแบบให้แบรนด์เล็กๆ ในบ้านเกิดและปัจจุบันเป็นหนึ่งในนางแบบที่ประสบความสำเร็จที่สุดของยุค เขียนถึงบทสัมภาษณ์ปริศนา -ที่แม้เธอไม่ได้ระบุชื่อแต่อ่านปราดเดียวก็รู้กันทั้งโลกว่าหมายถึงบทสัมภาษณ์ชิ้นไหน- ว่า “ฉันเข้าใจมากๆ เวลาพวกคุณบอกว่า ‘ฉันมาอยู่ตรงนี้ก็ได้เพราะฉันทำงานอย่างหนัก’ แต่ฉันอยากรู้จริงๆ ว่าพวกคุณเคยได้กำซาบความรู้สึกของการทำงานช่วง 5 ปีแรกของฉันบ้างไหม ไม่ใช่แค่โดนปฏิเสธนะเพราะฉันรู้ว่าคุณคงเคยผ่านประสบการณ์แบบนั้นมาเหมือนกันซึ่งคุณก็คงเอาไว้ใช้เล่าเป็นเรื่องเศร้าๆ ในชีวิตได้ (แม้ว่าถึงที่สุดแล้วคุณจะยังได้ไปร้องไห้บนโซฟาของพ่อในวิลล่าที่มาลิบูก็ตามทีอะนะ)”

“คุณไม่มีทางรู้เลยว่าการต้องกัดฟันสู้ยิบตาเพื่อให้คนอื่นเคารพคุณแม่งเป็นแบบไหน มันใช้เวลาตั้งไม่รู้กี่ปี ขณะที่คุณได้มันมาตั้งแต่วันแรกแล้ว รู้น่าว่ามันไม่ใช่ความผิดคุณหรอก แต่ขอทีเถอะ ช่วยรู้ต้นทุนของตัวเองสักหน่อยก็ดี”

หลังเซเรตติเปิด นางแบบอาชีพคนอื่นๆ ก็ตบเท้าเข้ามาเล่าถึงความไม่เท่าเทียมในวงการแฟชั่นที่มักปันพื้นที่ให้แก่ลูกหลานคนดังมากกว่า อย่างไรก็ตาม แม้ประเด็นเรื่อง nepo baby จะถูกพูดถึงอย่างหนาหูเมื่อปลายปี 2022 ที่ผ่านมาจากกรณีของลิลี-โรส เด็ปป์ แต่อันที่จริง ประเด็นนี้ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดในฐานะหัวข้อใหญ่เป็นครั้งแรกๆ ตั้งแต่เดือนมีนาคม โดยเว็บไซต์ The New York Times ตั้งข้อสังเกตว่า คนรุ่นใหม่จำนวนมากทีเดียวที่เพิ่งมารู้ว่า นักแสดงคนโปรดของพวกเขา -แม้จะมีฝีมือเป็นที่ประจักษ์- แต่จำนวนไม่น้อยก็ได้อานิสงส์มาจากการมีพ่อแม่ทำงานอยู่ในวงการฮอลลีวูดด้วย อย่างลิลี-โรส เด็ปป์เองก็ใช่ หรือสองพี่น้อง จาเดนกับวิลโลว์ ของครอบครัวสมิธ ที่ วิลล์ ผู้เป็นพ่อซึ่งเป็นนักแสดงดังจาก Independence Day (1996), Ali (2001) ออกแรงเป็นป๋าดันด้วยการให้จาเดน ลูกชายมารับบทเป็นลูกเขาใน The Pursuit of Happyness (2006) หรือใน The Karate Kid (2010) ที่วิลล์เป็นโปรดิวเซอร์

พี่น้องสการ์สการ์ด (ที่มาภาพ)

ไปจนนักแสดงชายจากตระกูลสการ์สการ์ดจากสวีเดน เมื่อพ่อผู้เป็นนักแสดง สเตลลัน แผ้วถางทางในฮอลลีวูดตั้งแต่ยังหนุ่ม แล้วจากนั้นฮอลลีวูดก็มีชายจากบ้านสการ์สการ์ดมารับบทนำในหนังหลายต่อหลายเรื่อง ไม่ว่าจะหนังบล็อกบัสเตอร์แบบ Godzilla vs. Kong (2021), It (2017) หรือหนังฟอร์มเล็ก The Devil All the Time (2020), The Northman (2022) รวมทั้งสองพี่น้องจิลเลนฮาลล์ -เจคและแม็กกี- ผู้ไปโผล่ในหนังรางวัลและเข้าชิงสาขานักแสดงจาก Crazy Heart (2009), Brokeback Mountain (2005) ก็มีพ่อแม่เป็นคนทำหนังอยู่ในแวดวงฮอลลีวูด (กรณีของเจคคือเข้าวงการด้วยการแสดงหนังใน A Dangerous Woman หนังปี 1993 ที่กำกับโดยพ่อของเขาเอง) ฟากยุโรปเองก็มี หลุยส์ การ์เรลล์ ลูกชายหัวแก้วหัวแหวนของ ฟิลลิปป์ คนทำหนังชื่อดังจนกลายเป็นนักแสดงคู่บุญให้หนังของพ่ออยู่พักใหญ่ๆ

หรือกับในแง่ของผู้กำกับเอง ยากจะปฏิเสธความเกรียงไกรของตระกูลคอปโปลาผู้ให้กำเนิดไตรภาค The Godfather โดย ฟรานซิส ฟอร์ด ซึ่งปิดจบด้วยการให้ โซเฟีย ลูกสาวแท้ๆ มารับบทนำใน The Godfather Part III (1990) อันเนื่องมาจากความฉุกละหุกเนื่องจากหานักแสดงหญิงมาไม่ทัน เวลาต่อมาโซเฟียกลายเป็นผู้กำกับมือรางวัลจาก Lost in Translation (2003), Marie Antoinette (2006) หนังแสบสันต์ที่เรารัก (ส่วนอีกคนหนึ่งที่หลายคนอาจยังไม่รู้ว่าเป็นเครือญาติของคอปโปลาด้วยคือ นิโคลัส เคจ -ซึ่งชื่อกำเนิดคือนิโคลัส คอปโปลา- ตัดสินใจเปลี่ยนชื่อตัวเองเพราะเบื่อที่ถูกพ่วงชื่อเข้ากับฟรานซิส ฟอร์ดตลอดเวลา เลยตัดตัวเองให้ออกห่างจากวงจรชื่อเสียงของตระกูลในที่สุด)

เจมี ลี เคอร์ติส ลูกสาวของ จาเน็ต ลีห์ นักแสดงนำจาก Psycho (1960) อันโด่งดัง ตัวเคอร์ติสเองก็เพิ่งมีชื่อเข้าชิงสมทบหญิงออสการ์ปีนี้จาก Everything Everywhere All at Once (2022) บอกประเด็นนี้ว่า “ในฐานะนักแสดงอาชีพ ไม่มีสักวันที่ฉันไม่ตระหนักว่าตัวเองเป็นลูกสาวของดาราดัง” เธอบอก “ฉันจะไม่ทำอย่างกะว่าตัวเองไม่มีต้นทุนพิเศษกว่าคนอื่นแล้วพยายามสร้างเนื้อสร้างตัวขึ้นมาเองอะไรแบบนั้นหรอก”

แน่นอนว่าสิ่งหนึ่งที่เห็นได้ชัดๆ จากกรณีนี้คือ ไม่ใช่ว่า nepo baby ทุกคนจะต้องเป็นพวก ‘มือไม้อ่อนปวกเปียก’ หรือทำงานไม่เอาไหน และอีกด้านหนึ่ง การเติบใหญ่ภายใต้ร่มเงาของพ่อแม่นั้นก็อาจมีอีกบททดสอบหนึ่งให้ต้องฝ่าด่านเพื่อพิสูจน์ตัวเอง (ซึ่งก็อาจจะพูดได้ว่าเป็นด่านที่อาจไม่ ‘โหดหิน’ เท่าการโตมาด้วยตัวเอง) แบบที่คอปโปลาคนลูกถูกจับตามองในฐานะคนทำหนังอยู่นานแสนนาน สถานะการเป็นลูกหลานคนดังจึงไม่ได้ทำให้คนดังเหล่านั้นกลายเป็นพวก ‘ปวกเปียก’ โดยอัตโนมัติ เท่ากันกับที่ก็ไม่ได้การันตีว่าพวกเขาจะเก่งกาจหรือมีฝีมือกว่าใครแค่เพราะโตขึ้นมาในบ้านของผู้กำกับหรือดาราดัง มันเพียงแค่เป็นหลักฐานยืนยันว่าหลายคนเข้าวงการและไต่เต้ามาได้ง่ายกว่าคนอื่น เรื่องของเรื่องคือเหล่า nepo baby ก็ต้องยอมรับต้นทุนตรงนี้เสียก่อน

nepo baby ในแวดวงฮอลลีวูด -อันเป็นอุตสาหกรรมทำเงินมหาศาลในฝันของหลายๆ คน- อาจถูกจับตาเป็นพิเศษอันเนื่องมาจากสายงานที่กินพื้นที่บนหน้าสื่อโดยธรรมชาติอยู่แล้ว แต่ต้นทุนของการเกิดในครอบครัวที่ทำงานด้านใดด้านหนึ่งเป็นพิเศษก็ไม่ได้มีแค่วงการทำหนังหรือการแสดง แต่มันยังกินพื้นที่ไปถึงเหล่าวงการธุรกิจที่ ‘ใบหน้า’ ของคนรุ่นลูกรุ่นหลานอาจไม่เป็นที่รู้จักนัก เป็นต้นว่าเมื่อพ่อแม่ของคุณเป็นประธานบริษัท โอกาสที่คุณจะได้ทำงานในตำแหน่งใหญ่โตก็อาจง่ายกว่าการเป็นคนนอกตระกูลที่ยื่นใบสมัครเข้ามา (ชวนนึกถึงซีรีส์ Succession ที่ก็ว่าด้วยความวายป่วงของคนในบริษัทใหญ่ยักษ์ ซึ่งแม้แต่คนไม่เอาไหนที่สำลักอ้วกตัวเองตั้งแต่ซีซันแรกๆ ก็ได้ใส่สูทผูกไทด์เข้าทำงานในออฟฟิศ)

ในญี่ปุ่นเองก็มีวัฒนธรรมที่เรียกว่า มุโคะโยชิ (mukoyōshi) หรือช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนผ่านเจ้าของหรือหัวหน้าบริษัทจากรุ่นสู่รุ่น ในกรณีที่ตระกูลนั้นไม่มีลูกชายสืบสกุล ผู้ชายที่ลูกสาวของบ้านแต่งงานด้วยจะเป็นผู้รับช่วงต่อ และใช้ชื่อสกุลของฝั่งผู้หญิงแทน บริษัทใหญ่ๆ หลายแห่งที่เราคุ้นชื่อกันไม่ว่าจะ นินเท็นโดหรือโตโยต้า ก็ล้วนเคยผ่านวัฒนธรรมเช่นนี้ ขณะที่ในอังกฤษเอง เว็บไซต์ raconteur ระบุว่า 86 เปอร์เซ็นต์ของธุรกิจส่วนตัวขนาดเล็กในอังกฤษเป็นลักษณะเป็นธุรกิจที่สืบทอดตำแหน่งกันในครอบครัว Smurfit Kappa บริษัทผลิตบรรจุภัณฑ์ในลอนดอนก็สืบทอดตำแหน่งประธานผ่านเชื้อสายในครอบครัวเช่นกัน

คุชเนอร์กับทรัมป์ (ที่มาภาพ)

ขยับมาในแวดวงการเมือง ใครบ้างจะไม่เคยได้ยินชื่อตระกูลเคนเนดี, รูสเวลต์, สองพ่อลูกบุชที่ได้เป็นประธานาธิบดีทั้งคู่ ขณะที่เครือญาติอื่นๆ ต่างทำหน้าที่ในแวดวงกฎหมายและการเมือง ไม่ว่าจะเป็นระดับผู้ว่าการรัฐหรือวุฒิสมาชิก (ซึ่งอาจไม่ได้เอื้อให้เข้าไปทำงานกันได้โดยตรงอันเนื่องมาจากกฎหมายสหรัฐฯ ระบุแน่ชัดว่าห้ามไม่ให้เจ้าหน้าที่รัฐรวมทั้งสมาชิกสภาคองเกรส แต่งตั้วญาติของตัวเองไปยังหน่วยงานใดๆ ที่เขาหรือเธอมีอำนาจสั่งการ แต่อาจเกิดขึ้นผ่านปัจจัยทางเศรษฐกิจ การมีต้นทุนชีวิตที่ดี และการเข้าถึงระบบการศึกษาของสมาชิกในครอบครัว) โดนัลด์ ทรัมป์ อดีตประธานาธิบดีจอมฉาวเองก็เคยโดนโจมตีประเด็นการแต่งตั้งเครือญาติเข้ามาทำงาน ต้นปี 2017 เขาจ้างลูกเขย จาเร็ด คุชเนอร์ ให้มาทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาอาวุโสในทำเนียบขาว

หรือถ้าจะนับในไทย ใครจะไปลืมที่ครั้งหนึ่ง พล.อ. ปรีชา จันทร์โอชา น้องชายแท้ๆ ของพล.อ. ประยุทธ์ ก็เคยได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่ง ส.ว. หน้าตาเฉย

ในอินเดีย มีผลสำรวจว่าสมาชิกรัฐสภาจำนวนเกือบหนึ่งในสามมีญาติที่ทำงานในระบบราชการอยู่แล้ว และดูจะเป็นสิ่งที่ ‘ทำความเข้าใจได้’ ในสังคม เมื่อมีผลสำรวจระบุว่า 46 เปอร์เซ็นต์ของประชากรอินเดียยินดีลงคะแนนเสียงให้ผู้ลงสมัครทางการเมืองที่มาจากครอบครัวนักการเมืองมากกว่า

บทความของเว็บไซต์ Bloomberg ระบุว่าอันที่จริงแล้ว ในอดีตนั้นการมอบงานผ่านเครือญาติในครอบครัวเป็นสิ่งที่ทำกันเป็นปกติ เป้าหมายหลักคือเพื่อรักษาผลประโยชน์ให้อยู่ในตระกูล หรือการแต่งงานเพื่อเชื่อมดองสองธุรกิจเข้าด้วยกัน เข้าตำรา ‘เรือล่มในหนอง ทองจะไปไหนเสีย’ (ซึ่งก็ไม่เพียงปรากฏแค่ในวงการธุรกิจ แต่ยังอยู่ในการสืบเชื้อสายราชวงศ์ของกษัตริย์ในประเทศต่างๆ ด้วย) กระทั่งเมื่อยุคเปลี่ยนแปลงทางอุตสาหกรรมมาถึง มันเปิดพื้นที่ให้คนเข้าไปเรียนรู้และทำงานในระบบมากกว่าไปเรียนรู้ธรรมเนียมของแต่ละตระกูล ทั้งยังเป็นจุดสำคัญในการพัฒนาระบบเศรษฐกิจขนาดใหญ่ของหลายๆ ประเทศ เปิดโอกาสให้คนทำงาน ลูกจ้างได้กัดฟันไต่เต้าเพื่อประสบความสำเร็จ และเป็นหนึ่งในภาพฝันของ ‘อเมริกันดรีม’ ที่มักให้คุณค่าแก่คนตัวเล็กตัวน้อยที่ฝ่าฟันจนประสบความสำเร็จด้วยตัวเอง

หากแต่ก็มีคนที่แย้งว่า แม้การพัฒนาทางอุตสาหกรรมจะขจัด nepo baby รูปแบบเก่าออกไป แต่มันก็ผายมือเชิญ nepo baby แบบใหม่เข้ามาด้วย เมื่อมีผลสำรวจว่า กรณีที่พ่อแม่ประสบความสำเร็จด้วยกันทั้งคู่ ก็มีแนวโน้มว่าพวกเขาจะส่งต่อความสำเร็จนี้ไปให้ลูกหลานด้วย ในระบบเศรษฐกิจที่การแข่งขันสูงลิ่วและเดือดดาล เด็กที่เติบโตมาในครอบครัวที่มีพ่อแม่ประสบความสำเร็จในธุรกิจนั้นมีโอกาสที่พวกเขาจะก้าวหน้าได้เร็วกว่าเด็กที่มาจากครอบครัวรูปแบบอื่นมาก ในปี 2010 มีผลสำรวจที่ชี้ว่าผู้ชาย 22 เปอร์เซ็นต์ที่อายุต่ำกว่า 30 ปีจะทำงานในบริษัทเดียวกับพ่อพวกเขา และอัตราดังกล่าวนี้สูงขึ้นมากในเดนมาร์กกับแคนาดา

ในสหรัฐฯ เองนั้น กระทั่งการเติบโตในครอบครัวที่มีพ่อแม่จบการศึกษาระดับปริญญาตรีเป็นขั้นต่ำก็ถือว่าเป็น ‘ต้นทุน’ ให้ออกตัววิ่งเร็วมากกว่าคนอื่นๆ มีผลสำรวจว่า 65 เปอร์เซ็นต์ของนักศึกษาปริญญาเอกที่เรียนเกี่ยวกับเศรษฐศาสตร์นั้นมาจากครอบครัวที่มีพ่อแม่สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี ยังผลให้นักศึกษาเหล่านี้ทำงานวนเวียนอยู่กับระบบเศรษฐกิจมากกว่าแวดวงอื่น

nepo baby ในหลากหลายอุตสาหกรรมจึงไม่ใช่หมายถึงการเป็นลูกหลานคนดัง แต่มันอาจหมายรวมถึงการมีต้นทุนชีวิตหรือการเข้าถึงทรัพยากรได้มากกว่าคนอื่นๆ ไม่ว่าจะโดยรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save