fbpx

กว่าจะเป็น Neocon : ประวัติศาสตร์ย่นย่อของอนุรักษนิยมใหม่ในสหรัฐอเมริกา

บทนำ

ใครคือกลุ่ม Neocon?  

กลุ่ม ‘Neoconservatism’[1] หรือ ‘Neocon’ คือกลุ่มปัญญาชนในสหรัฐอเมริกาที่เริ่มก่อตัวขึ้นในช่วงทศวรรษที่ 1960 และค่อยๆ ขยายอิทธิพลเข้ามาเป็นทีมงานหรือคณะทำงานให้กับรัฐบาลสหรัฐฯ มากขึ้นเรื่อยๆ และโดยเฉพาะภายหลังเหตุการณ์ก่อวินาศกรรมเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2001 หรือเหตุการณ์ 9/11 ที่สหรัฐฯ[2] เปิดโอกาสครั้งสำคัญให้กลุ่มนีโอคอนได้เข้ามามีบทบาทต่อการกำหนดนโยบายต่าง ๆ ของรัฐบาลจอร์จ ดับเบิลยู บุช (ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีระหว่างปี 2001-2008) มากขึ้น กลุ่มนีโอคอนได้รับการชักชวนเข้ามาร่วมกับกับรัฐบาลบุช โดยรองประธานาธิบดี ดิก เชนีย์ ในฐานะทีมงานหลักของรองประธานาธิบดี

โดยพื้นฐานสิ่งที่กลุ่มนีโอคอนเสนอ คือการกำหนดว่าสหรัฐฯ ควรจะดำเนินนโยบายต่างประเทศและความมั่นคงอย่างไรเพื่อรักษาผลประโยชน์แห่งชาติของตนไว้ได้ภายใต้บริบทการเมืองระหว่างประเทศที่สหภาพโซเวียตล่มสลายไปแล้ว กลุ่มนีโอคอนเสนอประเด็นหลักๆ ไว้ 4 เรื่องด้วยกัน (Vaïsse 2010, p. 238) คือ 1. ทำลาย ‘รัฐอันธพาล’ (rogue state) เพราะรัฐดังกล่าวปกครองโดยทรราชย์และจะกลายเป็นรัฐที่สนับสนุนกลุ่มก่อการร้ายได้ 2. อย่าได้วางใจต่อการผงาดขึ้นมาของจีนต้องหาแนวทางในการสกัดกั้น 3. อย่าไว้วางใจรัสเซีย 4. สร้างระเบียบโลกให้มั่นคงและสร้างสันติภาพให้ยืนยาว

จากความคิดของกลุ่มนีโอคอนข้างต้น โอกาสดังกล่าวได้มาถึงในช่วงเหตุการณ์ 9/11 กลุ่มนีโอคอนใช้โอกาสนี้นำความคิดของกลุ่มตนมาปรับใช้ต่อการดำเนินนโยบายต่างประเทศ จนนำมาสู่การประกาศ ‘สงครามต่อต้านการก่อการร้าย’ (War on Terror) กับกลุ่มอัลกออิดะฮ์ของอุซามะฮ์ บิน ลาดิน และเครือข่ายกลุ่มก่อการร้ายทั่วโลก ที่เป็นภัยคุกคามที่สำคัญต่อสหรัฐฯ และโลก รวมถึงประเทศที่ให้การสนับสุนนและให้ที่พักพิงกับกลุ่มก่อการร้ายด้วย

ในแง่นี้ดูเหมือนว่ากลุ่มนีโอคอนจะมีบทบาทสำคัญอย่างมากต่อการดำเนินนโยบายต่างประเทศของสหรัฐฯ ในช่วงสมัยประธานาธิบดีบุช โดยเฉพาะในช่วงสงครามบุกอัฟกานิสถานและอิรัก และหากลองพิจารณาจากกลุ่มอนุรักษนิยมในการเมืองของสหรัฐฯ ณ ขณะนั้น (โปรดพิจารณาตารางข้างล่าง) จะเห็นว่ากลุ่มอนุรักษนิยมของสหรัฐฯ จะมีกลุ่มแยกย่อยหลักๆ อยู่ 4 กลุ่ม ที่ให้ความสำคัญหรือขับเน้นประเด็นที่แตกต่างกัน และกลุ่มนีโอคอนหรืออนุรักษนิยมใหม่ ก็ถือเป็น 1 ใน 4 กลุ่มหลักของกลุ่มอนุรักษนิยมของสหรัฐฯ โดยที่ให้ความสำคัญกับเรื่องอำนาจในโลกหรือเรื่องการเมืองระหว่างประเทศเป็นสิ่งสำคัญที่สหรัฐฯ จะต้องให้ความสำคัญในอันดับต้น ในประเด็นนี้จะเห็นได้จากความคิดของกลุ่มนีโอคอนที่นำเสนอไปข้างต้น

ขอบข่ายความสนใจประเภทของอนุรักษนิยม
เสรีภาพของปัจเจกอิสรนิยม
อำนาจในโลกอนุรักษนิยมใหม่
ธุรกิจวอลล์สตรีต
สังคมและศาสนาทีปาร์ตี้
ตารางสรุปขอบข่ายความสนใจของกลุ่มอนุรักษนิยมกลุ่มหลักในสหรัฐอเมริกา (ที่มา: จอร์จ เลคอฟฟ์, 2561, หน้า 209.)

ฉะนั้นแล้วกลุ่มนีโอคอนเป็นใคร มาจากไหน และมีที่มาที่ไปอย่างไร ที่ทำให้เชนีย์แนะนำบุชให้เชิญกลุ่มคนเหล่านี้มาช่วยงาน และกลายเป็นทีมงานที่สำคัญต่อการดำเนินนโยบายต่างๆ โดยเฉพาะในช่วงหลังเหตุการณ์ 9/11 บทความชิ้นนี้จะพาผู้อ่านไปหาคำตอบเหล่านี้ ผ่านการทำความรู้จักกลุ่มนีโอคอนอย่างย่นย่อจากกรอบเวลาของการแบ่งช่วงสมัยของกลุ่มนีโอคอนตามที่ Justin Vaïsse ได้เสนอไว้ในหนังสือชื่อ Neoconservatism: The Biography of a Movement (2010, pp. 4-12) ซึ่งแบ่งในแง่ของช่วงเวลาแต่ละรุ่นและเหตุการณ์สำคัญหรือจุดเปลี่ยนทางความคิดที่ต่างไปจากรุ่นก่อนหน้า โดยแบ่งได้เป็น 3 รุ่น ด้วยกัน ได้แก่ รุ่นที่หนึ่ง (first generation of Neoconservatism) อยู่ในช่วงระหว่างปี 1965-1990s รุ่นที่สอง (second generation of Neoconservatism) อยู่ในช่วงระหว่างปี 1972-1992 และรุ่นที่สาม (third generation of Neoconservatism) ตั้งแต่ปี 1995-ปัจจุบัน[3]

นีโอคอนรุ่นที่หนึ่ง

ก่อร่าง สร้างราก และตัวตน

สำหรับกลุ่มนีโอคอนรุ่นแรกนั้น (Vaïsse, 2010, pp. 21-27, 50-53) เริ่มปรากฏการเคลื่อนไหวในช่วงปี 1965-1990s นักคิดคนสำคัญได้แก่ Irving Kristol ผู้ได้รับยกย่องว่าเป็นผู้ก่อกำหนดกลุ่มนีโอคอนและผู้ก่อตั้งนิตยสาร Public Interest ซึ่งเป็นนิตยสารที่ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นของกลุ่มนีโอคอน, Daniel Bell นักสังคมวิทยาที่เป็นบรรณาธิการให้กับ Public Interest ร่วมกับ Kristol ในช่วงก่อตั้ง, Norman Podhoretz บรรณาธิการนิตยสาร Commentary ระหว่างปี 1960-1995 เป็นนิตยสารที่เป็นกระบอกเสียงให้กลุ่มนีโอคอน ในช่วงที่ Podhoretz เป็นบรรณาธิการ และ Nathan Glazer นักสังคมวิทยาแห่ง University of California, Berkeley และได้เป็นบรรณาธิการ The Public Interest ร่วมกับ Kristol ในปี 1973 หลังจาก Bell ลาออก เป็นต้น

กลุ่มนีโอคอนรุ่นแรกนั้นเกิดและใช้ชีวิตในบริบทของสังคมอเมริกันช่วงปี 1930s เป็นครอบครัวคนยิวอพยพ อาศัยอยู่ในนิวยอร์กย่านบรุกลินและย่านบร็องซ์เป็นหลัก ส่วนใหญ่จบจาก City College of New York สถาบันการศึกษาเพื่อผู้อพยพและไม่เสียค่าธรรมเนียมการศึกษา ในที่แห่งนี้เองที่พวกเขาได้รับอิทธิพลทางความคิดจากลัทธิทรอตสกีและการเผชิญหน้ากับสภาพแวดล้อมที่อุดมไปด้วยความมั่งคั่งของอุตสาหกรรมและความตกต่ำทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ (Great Depression) ในช่วง 1930s รวมถึงนโยบาย New Deal ของแฟลงกลิน ดี รูสเวลต์ (ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในช่วง 1933-1945) เพื่อแก้ปัญหาการตกต่ำทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น พร้อมกับการเกิดขึ้นมาของนาซีและฟาสซิสต์ที่กลายเป็นการปกครองแบบเผด็จการ ทรราชย์ ระบอบทหาร และชาตินิยม รวมถึงความตึงเครียดของการเมืองระหว่างประเทศที่พร้อมปะทุกลายเป็นสงครามได้ตลอดเวลา

ในแง่นี้จึงกล่าวได้ว่ากลุ่มนีโอคอน เคยเป็นพวกฝ่ายซ้ายที่นิยมเสรีประชาธิปไตย ต่อต้านลัทธิสตาลิน ลัทธินาซี ลัทธิฟาสซิสต์ ทรราชย์ ระบอบเผด็จการ ระบอบทหาร สนับสนุนนโยบาย New Deal เสรีภาพ เสรีนิยม ระบอบประชาธิปไตย กลุ่มนีโอคอนส่วนใหญ่เคยอยู่พรรคเดโมแครตมาก่อน และเป็นที่ปรึกษาให้กับผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีหลายคน อาทิ Hubert Humphrey ในปี 1972 Henry ‘Scoop’ Jackson ในปี 1976 เป็นต้น มีตำแหน่งในรัฐบาล รวมถึงเป็นข้าราชการระดับสูงในหน่วยงานที่สำคัญต่อการกำหนดนโยบายต่างประเทศและความมั่นคง ก่อนที่ในช่วงทศวรรษปี 1990 กลุ่มนีโอคอนจึงได้ย้ายมาสังกัดพรรครีพับลิกัน

ในปี 1965 ถือเป็นปีที่สำคัญของกลุ่มนีโอคอน งานศึกษาหลายชิ้นต่างยอมรับว่าปีดังกล่าวถือเป็นจุดเริ่มต้นของกลุ่ม โดยปี 1965 เกิดเหตุการณ์ที่สำคัญ 2 เหตุการณ์ เหตุการณ์แรกคือ การเดินประท้วงโดยกลุ่มนักศึกษาที่มหาวิทยาลัย California ที่เมืองเบิร์กลีย์และเหตุการณ์ที่สองคือ Irving Kristol และ Daniel Bell ได้จัดตั้งนิตยสารชื่อ The Public Interest ขึ้น

สำหรับเหตุการณ์แรกนั้นถือว่าเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญอันเป็นการโต้กลับของกลุ่มนีโอคอนรุ่นแรกและถือเป็นการก่อตัวขึ้นของกลุ่ม เหตุการณ์ดังกล่าวเป็นการประท้วงที่สำคัญเพื่อเรียกร้องสิทธิพลเมือง การต่อต้านสงครามเวียดนาม การแบ่งแยกผิวสี และการเหยียดเชื้อชาติ รวมถึงการเรียกร้องเสรีภาพในการแสดงออกทางการเมือง และการมีส่วนร่วมในการจัดการทรัพย์สินของมหาวิทยาลัย นำโดยกลุ่ม ‘Free Speech Movement’ (FSM) ที่เป็นเครือข่ายของกลุ่ม ‘ฝ่ายซ้ายใหม่’ (New Left) อันที่จริงการประท้วงของพวก ‘ฝ่ายซ้ายใหม่’ เริ่มขึ้นตั้งแต่ปี 1960 มีการรณรงค์และการประท้วงอยู่เรื่อยๆ จนปี 1965 กระแสดังกล่าวสร้างความไม่พอใจให้กับคณาจารย์ในมหาวิทยาลัยอย่างมาก และกังวลว่าการเรียกร้องดังกล่าวอาจจะลุกลามถึงขั้นที่ไร้ขอบเขตจนละเลยศีลธรรมหรือขนบธรรมเนียมดั้งเดิมของสังคมอเมริกันไปจนหมด คณาจารย์เหล่านี้เห็นว่ากลุ่มนักเรียนพวกนี้กำลังคุกคามความมั่นคงและเสถียรภาพของสังคม เสรีภาพที่มากเกินไปอาจนำไปสู่ความสับสนวุ่นวายและอลหม่าน ในท้ายที่สุดสิ่งนี้จะสั่นคลอนสังคมอเมริกันอย่างถึงแก่น คณาจารย์เหล่านี้จึงเริ่มเขียนบทความตีพิมพ์เพื่อวิจารณ์กลุ่ม FSM มากขึ้น หรือก็คือการวิจารณ์ ‘ฝ่ายซ้ายใหม่’ โดยเฉพาะการทำให้เห็นว่ากลุ่มดังกล่าวนี้เป็นเพียงโวหารของเสรีนิยมปลอมๆ การพยายามของกลุ่มในการเรียกร้องสิ่งต่างๆ ที่ผ่านมานั้นไม่ใช่การกระทำภายใต้แนวคิดแบบเสรีนิยมในมุมมองของอาจารย์เหล่านี้ (Vaïsse, 2010, pp. 43-46)

เหตุการณ์ดังกล่าวได้ทำให้เกิดศัพท์ทางการเมืองคำใหม่ใหม่ขึ้นมาว่า ‘New Conservatives’ คำนี้เป็นการโต้กลับของกลุ่ม ‘ฝ่ายซ้ายใหม่’ โดยนิตยสารของฝ่ายซ้าย สำหรับคำว่า ‘New Conservatives’ นั้นเป็นการพยายามบ่งบอกให้เห็นถึงความแตกต่างของกลุ่มคนเหล่านี้ที่เป็นฝ่ายขวา และต้องการเนรเทศคนกลุ่มนี้ออกจากกลุ่มเสรีนิยม และผลักดันให้คนกลุ่มนี้ไปอยู่กับพวกฝ่ายขวาและกลุ่มอนุรักษนิยม กล่าวคือเป็นการลดความน่าเชื่อถือของพวกปีกขวาในกลุ่มสังคมนิยม นิตยสารฝ่ายซ้ายวิจารณ์กลุ่มคนเหล่านี้ว่าเป็นกลุ่มคนให้ค่ากับเรื่องระเบียบและเสถียรภาพของสังคมมากกว่าเรื่อง สิทธิ เสรีภาพ และอิสรภาพ กลุ่มคนพวกนี้มองว่าการประท้วงที่เกิดขึ้น ณ ขนาดนั้นถือเป็นสัญญาณของความขัดแย้งทางการเมืองที่อาจบานปลายจนอาจส่งผลต่อความมั่นคงของสังคม สังคมต้องเดินหน้าต่อไปด้วยการก้าวข้ามวิธีการประท้วงและการเคลื่อนไหวทางสังคมในแบบที่เป็นอยู่นี้ เพราะ ‘ฝ่ายซ้ายใหม่’ กำลังจะกลายเป็นภัยคุกคามที่สำคัญต่อประชาธิปไตยอเมริกัน ในแง่นี้คำว่า ‘Neocon’ จึงเป็นการสร้างคำทางการเมืองเพื่อโต้กลับข้อวิจารณ์ของกลุ่มปัญญาชนกลุ่มหนึ่งที่ได้วิพากษ์วิจารณ์การเคลื่อนไหวของ ‘ฝ่ายซ้ายใหม่’ ทำให้พวกเขาไม่พอใจต่อข้อวิพากษ์วิจารณ์ดังกล่าวและพยายามผลักดันกลุ่มคนเหล่านี้ออกไปจากค่ายเสรีนิยมของพวกเขา (Vaïsse, 2010, pp. 71-76)

เหตุการณ์ต่อมาคือการก่อตั้งนิตยสารชื่อ The Public Interest โดย Irving Kristol และ Daniel Bell เพื่อเป็นกระบอกเสียงในการสื่อสารต่อคนทั่วไปในประเด็นทางการเมือง สังคม และวัฒนธรรมภายในของสหรัฐฯ รวมทั้งเป็นนิตยสารเล่มแรกของกลุ่มนีโอคอนก็ว่าได้ การปฏิรูปสังคมอเมริกันนั้นต้องเป็นหน้าที่ของผู้เชี่ยวชาญและผู้มีความรู้ที่เชี่ยวชาญ การศึกษา และวิจัยที่เป็นระบบในเรื่องดังกล่าว เพราะการจะทำให้นโยบายสาธารณะมีประสิทธิภาพถึงขั้นที่สามารถนำไปใช้ได้จนประสบความสำเร็จนั้นต้องมีการใช้ทั้งความรู้ต่างๆ ทางสังคม และการศึกษาวิจัยที่เป็นระบบและน่าเชื่อถือ (Vaïsse, 2010, pp. 50-55)

จะเห็นได้ว่ากลุ่มนีโอคอนรุ่นแรกให้ความสำคัญกับเรื่องสังคม ประชาธิปไตย ทุนนิยม และปัญหาอื่นๆ ภายในรัฐที่คนกลุ่มนี้เห็นว่าเป็นปัญหาที่ทำให้สังคมอเมริกันวุ่นวายอย่างมาก ณ ช่วงเวลานั้น และพยายามเสนอทางแก้ไขโดยไปให้ความสำคัญกับระบบทุนนิยมที่ขาดซึ่งศีลธรรม การเมืองและสังคมอเมริกันจึงต้องให้ความสำคัญกับการส่งเสริมศีลธรรมให้กับสังคมอเมริกันที่เริ่มขาดหายไป เพราะระบบทุนนิยมที่ไม่มีขอบเขต และไร้ซึ่งการควบคุม

นีโอคอนรุ่นที่สอง

จากวิกฤตทุนนิยมสู่มหาอำนาจโลก

กลุ่มนีโอคอนรุ่นที่สองเริ่มปรากฎการเคลื่อนไหวในช่วงปี 1972-1992 นักคิดคนสำคัญได้แก่ Jeane Kirkpatrick นักวิชาการความสัมพันธ์ระหว่างประเทศจาก Georgetown University และเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำสหประชาชาติระหว่างปี 1981-1985 ในสมัยโรนัลด์ เรแกน เป็นประธานาธิบดี, Paul Wolfowitz ผู้ช่วยรัฐมนตรีกลาโหมด้านกิจการเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกในสมัยประธานาธิบดีเรแกน ในเวลาต่อมาเป็นรองรัฐมนตรีกลาโหมในสมัยบุช ระหว่างปี 2001-2005, Richard Perle ที่ปรึกษาทางการเมืองและผู้ช่วยรัฐมนตรีกลาโหมด้านยุทธศาสตร์การเมืองโลกในสมัยประธานาธิบดีเรแกน ในเวลาต่อมาเป็นประธานคณะที่ปรึกษานโยบายความมั่นคงของประธานาธิบดีบุช ระหว่างปี 2001-2003, Charles Krauthammer ปัญญาชนและคอลัมนิสต์คนสำคัญเจ้าของความคิดเรื่อง ‘Unipolar Moment’ และสนับสนุนความสำคัญจำเป็นต่อการบุกอิรักในฐานะนโยบายการเผยแพร่ประชาธิปไตย และ Francis Fukuyama นักวิชาการผู้นำเสนอความคิดเรื่อง ‘the end of history’ เป็นต้น

จุดสำคัญของกลุ่มนีโอคอนรุ่นที่สอง นั่นคือการเปลี่ยนการสนับสนุนมาฝั่งพรรครีพับลิกันอย่างเต็มตัว ในช่วงปี 1980 ความคิดเรื่องการย้ายพรรคของกลุ่มนีโอคอนจากพรรคเดโมแครต ไปพรรครีพับลิกัน เริ่มก่อตัวขึ้น เมื่อ Henry M. ‘Scoop’ Jackson วุฒิสมาชิกแห่งวอชิงตัน พ่ายแพ้การลงคะแนนเสียงเพื่อเป็นตัวแทนพรรคเดโมแครต ในการชิงชัยตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในปี 1972 ให้กับ George McGovern วุฒิสมาชิกแห่งเซาต์ดาโกตา เนื่องจากนโยบายสุดโต่งในทางสังคมของ McGovern นั้นไม่สนใจประเด็นเรื่องความเป็นมหาอำนาจของสหรัฐฯ ในการเมืองโลก และต้องการให้สหรัฐฯ ถอนตัวออกจากการมหาอำนาจ หรือก็คือนโยบายต่างประเทศของ McGovern มีลักษณะเป็นแนวคิดแบบโดดเดี่ยวตัวเอง (Isolationism) อย่างมาก ทำให้กลุ่มนีโอคอนรุ่นที่สองเริ่มต่อต้านแนวทางของ McGovern อย่างรุนแรง แต่ท้ายที่สุดก็ไม่ประสบผลทำให้กลุ่มนีโอคอนรุ่นที่สองเริ่มสนใจเรื่องนโยบายต่างประเทศมากขึ้น และเป็นช่วงที่พวกเขาพยายามอย่างมากที่จะยังคงอยู่ในสังกัดของพรรคเดโมแครตต่อ แต่ในท้ายที่สุดความพยายามดังกล่าวก็ไม่ประสบผลและนั้นทำให้กลุ่มนีโอคอนย้ายไปสังกัดพรรครีพับลิกันนับจากนั้น

กล่าวได้ว่า จุดเริ่มต้นของกลุ่มนีโอคอนรุ่นที่สองนั้นเริ่มต้นในปี 1972 เมื่อมีการรวมตัวเพื่อก่อตั้ง ‘The Coalition for a Democratic Majority’ (CDM) (Ehrman, 1995, p. 192; Vaïsse, 2010, p. 81) องค์กรที่เป็นที่รวมตัวของกลุ่มคนในพรรคเดโมแครตที่ไม่เห็นด้วยกับแนวคิด ‘New Politics’ ของ McGovern ซึ่งเป็นตัวแทนของพรรคเดโมแครตลงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในปี 1972 แต่พ่ายแพ้ต่อ ริชาร์ด นิกสัน จากพรรครีพับลิกัน ภายใต้สภาวการณ์ดังกล่าวนี้เองทำให้เกิดกลุ่มคนจำนวนหนึ่งในพรรคนำโดยวุฒิสมาชิก Jackson และสมาชิกของพรรครุ่นใหม่ๆ ออกมาตั้งเป็นกลุ่มองค์กร CDM ขึ้นมา กลุ่ม CDM ก่อตั้งในวันที่ 7 ธันวาคม 1972 คือวันที่เผยแพร่บทความชื่อ ‘Come Home, Democrats’[4] (Vaïsse, 2010, pp. 89-90)

ในระหว่างที่ CDM ดำเนินกิจกรรมต่างๆ อย่างสม่ำเสมออยู่นั้นก็เกิดอีกองค์กรหนึ่งในพรรคเดโมแครตขึ้นมา นั่นคือ ‘The Committee on the Present Danger’ (CPD) (Vaïsse, 2010, pp. 149-153) ก่อตั้งในวันที่ 11 พฤศจิกายน 1976 สมาชิกในกลุ่มเป็นสมาชิกสายยุทธศาสตร์ของกลุ่มนีโอคอนรุ่นที่สองที่ต้องการเสริมยุทธศาสตร์สายเหยี่ยวหรือเชิงรุกในทางนโยบายต่างประเทศให้กับสหรัฐฯ โดยเฉพาะนโยบายเกี่ยวกับอาวุธนิวเคลียร์ หนึ่งในบุคคลสำคัญที่กลุ่มนีโอคอนได้นำแนวคิดยุทธศาสตร์อาวุธนิวเคลียร์มาใช้คือ Albert Wohlstetter ศาสตราจารย์ทางด้านรัฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัย Chicago ผู้เป็นอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกให้กับ Wolfowitz

บทความชิ้นสำคัญของ Wohlstetter ชื่อ ‘The Delicate Balance of Terror’ เสนอยุทธศาสตร์ด้านนิวเคลียร์ให้สหรัฐฯ ว่าควรดำเนินการนโยบายใน 6 เรื่องด้วยกัน คือ 1.นวัตกรรมทางเทคโนโลยีอย่างระบบ anti-missile คือสิ่งสำคัญต่อความมั่นคงของสหรัฐฯ 2. อำนาจของนิวเคลียร์จะทำให้เราอยู่รอด 3. ระบบ anti-missile ช่วยสนับสนุนแนวทางการสกัดกั้นและขัดขวาง 4. แนวคิดเรื่องการควบคุมอาวุธไม่ได้ผลเพราะธรรมชาติของสหภาพโซเวียตเป็นพวกที่ชอบการขยายอำนาจไปประเทศอื่นๆ 5. การสร้างสมดุลของอาวุธนิวเคลียร์ไม่ได้ช่วยให้สหรัฐฯ ได้เปรียบ 6. ข้อมูลข่าวกรองถือเป็นสิ่งสำคัญในสงครามนิวเคลียร์

พอมาในช่วงปี 1980 เมื่อเรแกนได้เป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ กลุ่มนีโอคอนรุ่นที่สองก็ได้ย้ายสังกัดมาอยู่ที่พรรครีพับลิกัน และเริ่มเข้าไปมีอิทธิพลต่อเรแกนมากขึ้นโดยเฉพาะกลุ่มนีโอคอนสายที่สนับสนุนยุทธศาสตร์นิวเคลียร์โดยสายนี้ได้รับอิทธิพลจาก Wohlstetter ผ่านลูกศิษย์อย่าง Wolfowitz ณ เวลานั้นได้เป็นผู้อำนวยการด้านการวางแผนนโยบาย กระทรวงการต่างประเทศ และได้เป็นผู้ช่วยรัฐมนตรีต่างประเทศด้านกิจการเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกในสมัยเรแกน โดยเรแกนกับรัฐมนตรีต่างประเทศของเขา จอร์จ ชูลต์ซ (George Shultz) ต่างดำเนินนโยบายกดดันสหภาพโซเวียตที่เป็นไปได้ตามที่นักคิดของกลุ่มนีโอคอนได้เสนอขึ้นในช่วงเวลาดังกล่าวว่าไม่ควรเน้นการเจรจามากเกินไป โดยเฉพาะแนวคิดเรื่อง ‘จักรวรรดิแห่งความชั่วร้าย’ (evil empire) และการพยายามสร้างให้สหภาพโซเวียตมีภาพลักษณ์ที่เป็นอันตรายต่อประเทศประชาธิปไตยทั่วโลก และเป็น ‘ปีศาจร้าย’ ที่ต้องถูกทำลาย

วิธีการสร้างภาพลักษณะนี้เป็นการพยายามนำประเด็นเรื่องศีลธรรมเข้ามาในนโยบายต่างประเทศ นอกจากนี้ยังมีการตั้งหน่วยงานที่ชื่อว่า ‘National Endowment for Democracy’ (NED) ในฐานะองค์กรอิสระ ทำหน้าที่เผยแพร่ประชาธิปไตยไปทั่วโลกถูกตั้งขึ้นในปี 1983 โดยมี Carl Gershman เป็นผู้อำนวยการคนแรก (เป็นผู้อำนวยการ NED ตั้งแต่ปี 1983-2021) อดีตนักศึกษาผู้สนับสนุนแนวคิดสังคมนิยมประชาธิปไตย และเป็นหนึ่งในกลุ่มนีโอคอนรุ่นที่สอง (Vaïsse, 2010, pp. 189-196, 211)

นีโอคอนรุ่นที่สาม

จาก DPG ถึง PNAC นี่คือโลกของอเมริกา!

สำหรับกลุ่มนีโอคอนรุ่นที่สามนั้นเริ่มเคลื่อนไหวในปี 1995 โดยมีนักคิดคนสำคัญได้แก่ William Kristol ลูกชายของ Irving Kristol และเป็นผู้ก่อตั้งนิตยสาร The Weekly Standard ซึ่งเป็นเสมือนนิตยสารที่สานต่ออุดมการณ์ The Public Interest ที่ปิดตัวลงในปี 1995 อีกทั้งยังเป็นผู้ร่วมก่อตั้งสถาบันคลังสมองชื่อ ‘Project for the New American Century’ (PNAC) กับ Robert Kagan โดย PNAC ถือเป็นสถาบันคลังสมองที่สำคัญของกลุ่มนีโอคอนรุ่นที่สาม, Robert Kagan นักวิชาการคนสำคัญของกลุ่มนีโอคอนเคยเป็นผู้ร่างสุนทรพจน์ให้กับจอร์จ ชูลต์ซ รัฐมนตรีต่างประเทศในสมัยเรแกน และเคยเป็นที่ปรึกษาด้านการต่างประเทศให้กับจอห์น แมคเคน (John McCain) และมิตต์ รอมนีย์ (Mitt Romney) ในช่วงที่ทั้งคู่เป็นผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ, John Podhoretz นักเขียนและคอลัมนิสต์ลูกชายของ Norman Podhoretz บรรณาธิการ Commentary และยังเป็นผู้ร่างสุนทรพจน์ให้กับเรแกนและจอร์จ ดับเบิลยู บุช และมีส่วนร่วมกับกิจกรรมต่างๆ ของกลุ่มนีโอคอนรุ่นที่สามตลอดมา, I. Lewis Libby หัวหน้าคณะทำงานรองประธานาธิบดี ดิก เชนีย์ เป็นต้น

สถานการณ์การเมืองโลกภายหลังการล่มสลายของสหภาพโซเวียตได้เริ่มเปลี่ยนแปลงไป ศัตรูสำคัญของสหรัฐฯ อย่างสหภาพโซเวียตล่มสลายลงไปแล้ว แต่กระนั้นโลกก็ยังไม่พบกับสันติสุขมากนัก ภัยคุกคามใหม่ ความขัดแย้ง และสงครามกำลังเริ่มก่อตัวขึ้น โลกกำลังเข้าสู่ยุคใหม่ที่ไม่มีความแน่นอน ภายใต้สภาวการณ์เช่นนี้สหรัฐฯ ควรจะจัดวางตำแหน่งแห่งที่ของตัวเองในการเมืองโลกอย่างไร ควรจะรับมือหรือโต้กลับเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นหลังจากนี้ด้วยแนวทางแบบไหนในฐานะผู้สร้างระเบียบโลก รวมถึงความต้องการสร้างสถานะของความเป็นมหาอำนาจหนึ่งเดียวขึ้นมา โจทย์เหล่านี้คือโจทย์ที่สำคัญของกลุ่มนีโอคอนรุ่นที่สามที่พวกเขาได้ระดม นำเสนอ และกลายเป็นแนวทางให้กับสหรัฐฯ ในการดำเนินนโยบายความมั่นคงและการต่างประเทศหลังจากเหตุการณ์ 9/11

ปี 1995 นั้นถือเป็นจุดเริ่มต้นของการแบ่งระหว่างนีโอคอนรุ่นที่สองและรุ่นที่สาม และการเคลื่อนไหวทางความคิดที่แตกต่างจากกลุ่มนีโอคอนที่ผ่านมา เพราะในปีดังกล่าวเป็นปีที่ William Kristol ได้ก่อตั้งนิตยสารชื่อ The Weekly Standard บทบาทและตำแหน่งแห่งที่ของกลุ่มนีโอคอนในพรรครีพับลิกันนั้นมีความชัดเจนและมั่นคงมากขึ้น

ลักษณะเด่นของกลุ่มนีโอคอนในรุ่นที่สามนั้น คือการให้ความสนใจกับนโยบายต่างประเทศเป็นสำคัญ ในช่วงปีดังกล่าวสหรัฐฯ อยู่ภายใต้ประธานาธิบดีบิล คลินตัน แห่งพรรคเดโมแครต โดยดำรงตำแหน่งต่อจากประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช แห่งพรรครีพับลิกัน อดีตรองประธานาธิบดีในสมัยเรแกน การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวทำให้กลุ่มนีโอคอนจำนวนหนึ่งกลับไปทำงานในสถาบันคลังสมองของตัวเองเพื่อเป็นการเพิ่มพูนข้อมูล ความรู้ และการทำงานวิจัยเพื่อเตรียมตัวให้พร้อมสำหรับโอกาสที่อาจจะมาถึง และมีส่วนน้อยที่ร่วมมือกับรัฐบาลคลินตันด้วย แต่เพียงช่วงเวลาสั้นๆ เท่านั้น

สำหรับสถาบันคลังสมองที่สำคัญในรุ่นที่สามเกิดขึ้นในปี 1997 โดยมี Robert Kagan, Gary Schmitt และ William Kristol ได้ร่วมก่อตั้งสถาบันคลังสมองชื่อ ของ ‘Project for the New American Century’ (PNAC) โดยได้ออกรายงานชิ้นสำคัญที่ชื่อว่า Rebuilding America’s Defenses: Strategies, Forces, and Resources For a New Century ในปี 2000 รายงานชิ้นนี้เป็นการสืบทอดแนวทางการดำเนินนโยบายต่างประเทศในช่วงหลังสิ้นสุดสงครามเย็น รายงานชิ้นนี้ได้แนวทางจากเอกสารชื่อ Defense Planning Guidence (DPG), 1994-1999 อันเป็นแนวทางที่ถูกร่างในช่วงปี 1992 โดย ดิก เชนีย์ ขณะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกลาโหมในรัฐบาลจอร์จ ดับเบิลยู บุช และมี Wolfowitz และ Libby ที่ปรึกษารัฐมนตรีกลาโหมด้านนโยบายเป็นคนที่ช่วยกันร่างเอกสารดังกล่าว แนวทางของ PNAC ได้กลายเป็นแนวทางสำคัญในการร่าง National Security Strategy (NSS) ปี 2002 ซึ่งเป็นแนวทางหลักในการโต้กลับเหตุการณ์ 9/11 (Vaïsse, 2010, pp. 221-222, 225)

สำหรับ NSS, 2002 หรือที่เรียกโดยทั่วไปว่า ‘Bush Doctrine’ ถือเป็นเอกสารที่แสดงให้เห็นอิทธิพลอย่างชัดเจนของกลุ่ม นีโอคอนโดยเอกสารฉบับนี้ได้สร้างกรอบการดำเนินนโยบายต่างประเทศที่สำคัญใน 2 ประเด็น คือ ความเชื่อในระบอบประชาธิปไตยว่าจะเป็นระบอบที่นำสันติภาพมาสู่โลก และ ‘แนวทางการโจมตีก่อน’ (preemption action) เท่านั้นที่จะช่วยให้สหรัฐฯ สามารถเอาชนะกลุ่มผู้ก่อการร้ายได้ และด้วยแนวทางนี้เองที่นำมาสู่การตัดสินใจบุกอัฟนิสถานในปี 2002 และอิรักในปี 2003 (Vaïsse, 2010, pp. 227, 238-239, 243-246, 250-251)

ส่งท้าย

ความแตกต่างและการส่งต่อทางความคิดของกลุ่มนีโอคอน

ในแง่นี้จะเห็นได้ว่าความต่างที่สำคัญระหว่างกลุ่มนีโอคอนรุ่นที่หนึ่งกับรุ่นที่สอง และรุ่นที่สามจะอยู่ตรงที่รุ่นที่หนึ่งนั้นเน้นหนักหรือให้ความสำคัญกับประเด็นภายในของสหรัฐฯ มากกว่าในขณะที่รุ่นที่สองและรุ่นที่สามจะให้ความสำคัญกับการเมืองระหว่างประเทศ ยิ่งไปกว่านั้นยังมีการนำประเด็นการเมืองภายในบางประการของรุ่นแรกมาปรับใช้กับนโยบายต่างประเทศนั้นก็คือเรื่อง ‘ศีลธรรม’ (morality) (Guelke, 2005, p. 98)

สำหรับความแตกต่างระหว่างรุ่นที่สองและรุ่นที่สามนั้นคือตำแหน่งแห่งที่ในพรรครีพับลิกันที่ชัดเจนกว่ารุ่นที่สอง บริบทแวดล้อมที่สหภาพโซเวียตไม่ใช่มหาอำนาจคู่แข่งกันหรือเป็นภัยคุกคามของสหรัฐฯ อีกต่อไป หรือก็คือสภาวะหลังสงครามเย็น และแนวคิดว่าด้วยสถานะของสหรัฐฯ ในการเมืองโลกที่เน้นหนักไปในด้านความคิดของการเป็นมหาอำนาจหนึ่งเดียว และสนับสนุนแนวคิดการชิงโจมตีก่อน ต่างจากแนวคิดในเรื่องนี้ของกลุ่มนีโอคอนรุ่นที่สอง ยังสงวนท่าทีการใช้กองทัพเพื่อบุกโจมตี แต่ก็ไม่ไว้วางใจต่อสหภาพโซเวียตมากนัก จึงเน้นนโยบายสกัดกั้นอย่างรอบคอบ รอบด้าน และแน่นหนาเป็นสำคัญ

ดังนั้นกรอบช่วงเวลาทั้งสามรุ่นตามที่บทความนี้ได้ไล่เรียงมานั้น พอจะช่วยทำความเข้าใจพัฒนาการของกลุ่มนีโอคอนผ่านเงื่อนไข 3 ปัจจัยด้วยกันคือ 1. กระแส ‘ฝ่ายซ้ายใหม่’ ในสหรัฐฯ และการเกิดขึ้นของ ‘New Politics’ ของ McGovern 2. สงครามเย็นและการต่อต้านสหภาพโซเวียต 3. การล่มสลายของสหภาพโซเวียตและการสิ้นสุดของสงครามเย็น เงื่อนไขเหล่านี้คือบริบทแวดล้อมที่ทำให้กลุ่มนีโอคอนมีปฏิกิริยาโต้กลับต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ในแง่หนึ่งทำให้กลุ่มนีโอคอนเองต้องอพยพหรือย้ายออกจากต้นสังกัดเดิมไปต้นสังกัดใหม่ หรือการขยับจากประเด็นการเมืองภายในไปสู่นโยบายต่างประเทศ เงื่อนไขแวดล้อมเหล่านี้เป็นตัวกระตุ้นพัฒนาการของกลุ่มจากช่วง ‘วัยทารก’ สู่การเติบใหญ่เป็น ‘ผู้ใหญ่’ ที่มีความคิดของตนเองที่ชัดเจน เงื่อนไขเหล่านี้ถือเป็นการหล่อหลอมกล่อมเกลากลุ่มนีโอคอนทั้งสามรุ่นขึ้นมา และส่งต่อสืบทอดความคิดจนปัจจุบัน

บรรณานุกรม

จอร์จ เลคอฟฟ์. (2561). อย่าคิดถึงช้าง!: คู่มือการสร้างการเมืองใหม่ผ่านการวางกรอบคิดและวาทกรรมสาธารณะ, ฐณฐ จินดานนท์ (แปล). กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์ Openworlds.

Ehrman, John. (1995). The Rise of Neoconservatism: Intellectuals and Foreign Affair 1945-1994. New Heaven: Yale University Press.

Guelke, John. (2005). The Political Morality of the Neo-conservatives: An Analysis. International Politics, 42(1), 97-115.

Vaïsse, Justin. (2010). Neoconservatism: The Biography of a Movement. Arthur Goldhammer (Trans.). Massachusetts: Belknap Press of Harvard University Press.


[1] เอาเข้าจริงแล้วคำว่า ‘Neoconservatism’ หรือ ‘Neocon’ นั้นเป็นคำที่เกิดจากนักคิดฝ่ายซ้ายที่มีนามว่า Michael Harrington โดยตีพิมพ์บทความชื่อ ‘The Welfare State and Its Neoconservative Critics’ ในนิตยสาร Dissent ปี 1973 ในช่วงแรกๆ กลุ่มนีโอคอนไม่ค่อยพอใจกับชื่อดังกล่าวมากนัก แต่ในเวลาต่อมาก็เริ่มที่จะยอมรับชื่อดังกล่าวและใช้เรียกชื่อกลุ่มของตนนับตั้งแต่ทศวรรษที่ 1980 เป็นต้นมา ดังนั้นหากจะสรุปสั้นๆ ว่ากลุ่มนีโอคอนไม่ใช่กลุ่มเคลื่อนไหวของมวลชน ไม่มีศาสนาที่ชัดเจน ไม่มีองค์กรกลางที่ชัดเจนเป็นเพียงเครือข่ายที่แบ่งปันความรู้ และภูมิปัญญา เป็นเพียง ‘แรงจูงใจ’ (persuasion) หรือ ‘การโน้มนำ’ (tendency)  (Vaïsse, 2010, p. 10)

[2] เมื่อสหรัฐฯ ถูกจู่โจมจากกลุ่มคนที่ภายหลังถูกเรียกว่าเป็น ‘ผู้ก่อการร้าย’ โดยการใช้เครื่องบินพาณิชย์บินชนสถานที่สำคัญต่างๆ ของประเทศ ไม่ว่าจะเป็นตึก Pentagon (อาคารที่ทำการของกระทรวงกลาโหม) ตึก World Trade Center และมีอีกหนึ่งลำที่มีความเป็นไปได้ว่ามีเป้าหมายที่จะพุ่งชนอาคารที่ทำการรัฐสภา แต่ผู้โดยสารในเครื่องพยายามยึดเครื่องกลับ และเครื่องก็ตกก่อนถึงเป้าหมายที่มลรัฐเพนซิลเวเนียเสียก่อน

[3] การแบ่งของ Vaïsse นั้นดูจะครอบคลุมในหลากหลายมิติกว่า เพราะการแบ่งของ Vaïsse ทำให้สามารถเข้าใจกลุ่มนีโอคอนได้อย่างรอบด้านกว่าแค่เพียงการแบ่งเพียงเรื่องความคิด ดังนั้นการใช้เกณฑ์ความคิดในการแยกจะทำให้ละเลยพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ของความคิดไปทำให้มิอาจเข้าใจบริบทและที่มาที่ไปที่นำมาสู่ความคิดที่เป็นอยู่ของนีโอคอนในปัจจุบันได้       

[4] บทความดังกล่าวถือเป็นคำประกาศที่สำคัญของกลุ่ม CDM โดยมีสาระสำคัญอยู่ 4 ประการด้วยกันคือ 1. ‘New Politics’ ของ McGovern และ ‘ฝ่ายซ้ายใหม่’ นั้นล้มเหลวและไม่ได้ให้ความสำคัญกับประชาชนโดยทั่วไปซึ่งเป็นรากฐานที่สำคัญที่พรรคเดโมแครตที่ได้ยึดมั่นมาตลอด 2. ‘New Politics’ ได้ละเลยความปรารถนาที่แท้จริงของประชาชน และละเลยคนเหล่านี้ด้วย 3. ปฏิเสธระบบโควต้าที่ผูกโยงอยู่กับความเป็นกลุ่มและแหล่งกำเนิดของคน 4. นโยบายต่างประเทศของสหรัฐฯ นั้นต้องปฏิเสธแนวคิดการโดดเดี่ยวตัวเองสนับสนุนการมีบทบาทในการเมืองโลก และสกัดกั้นการเผยแพร่ของลัทธิคอมมิวนิสต์ (Vaïsse, 2010, pp. 89-90)

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save