fbpx
ตอบปัญหาค้างใจ

ตอบปัญหาค้างใจ

ศุภมิตร ปิติพัฒน์ เรื่อง

ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพประกอบ

 

ความจริงผมก็อยากเปิดคอลัมน์เขียนตอบปัญหาหัวใจเหมือนกันครับ ถ้าหากพี่บ.ก.และทีม 101 จะอนุญาต แต่เมื่อยังไม่มีใครส่งปัญหาคับข้องในหัวใจมาปรึกษา บทความคราวนี้จึงขอเขียนตอบปัญหาค้างใจไปพลางๆ ก่อน ปัญหาค้างใจที่ว่านี้เป็นปัญหาในทางทฤษฎี ไม่ใช่เรื่องความรัก เลยไม่แน่ใจนักว่าท่านผู้อ่านสนใจบ้างไหม?

คนสอนและคนเรียนทฤษฎีความสัมพันธ์ระหว่างประเทศหรือทฤษฎี IR จะพบกับปัญหาที่สร้างข้อถกเถียงไม่จบไม่สิ้นในหมู่นักคิดนักทฤษฎีทั้งหลาย เรื่องหนึ่งที่นับได้ว่าเป็นปัญหาอมตะคือปัญหาในการอธิบาย ที่ทฤษฎีฝ่ายหนึ่งให้ความสำคัญแก่โครงสร้างของสังคมหรือโครงสร้างของสถานการณ์ และใช้โครงสร้างอย่างหนึ่งอย่างใดมาเป็นตัวอธิบายผลลัพธ์

ตัวอย่างอันเป็นที่รู้จักกันดีในทฤษฎี IR คือทฤษฎีสัจนิยมใหม่ (neorealism) ที่ใช้โครงสร้างอำนาจในระบบระหว่างประเทศแบบหลายขั้วอำนาจ สองขั้วอำนาจ หรือขั้วอำนาจเดียว มาเป็นตัวอธิบายแบบแผนพฤติกรรมการถ่วงดุล และผลลัพธ์ของการถ่วงดุลระหว่างประเทศเจ้ามหาอำนาจด้วยกัน หรือระหว่างเจ้ามหาอำนาจเดิมกับอำนาจที่ทะยานขึ้นมาใหม่

ในขณะที่ทฤษฎีอีกฝ่ายให้ความสำคัญแก่การศึกษาคนที่เป็นผู้กระทำการ และการตัดสินใจเลือกกระทำหรือไม่กระทำอย่างหนึ่งอย่างใดขณะเผชิญความสัมพันธ์ทางสังคมหรือสถานการณ์แบบหนึ่งแบบใด มาเป็นคำอธิบายผลที่เกิดขึ้นมา

ตัวอย่างของทฤษฎีในฝ่ายหลังที่เป็นคู่วิวาทะกับทฤษฎีสัจนิยมใหม่ของ IR คือทฤษฎีเสรีนิยมใหม่ ดังที่ตำราพื้นฐานเรียกข้อโต้แย้งวิพากษ์กันและกันระหว่าง 2 ฝ่ายนี้ว่า neo-neo debate ทฤษฎีเสรีนิยมใหม่ของ IR สนใจอธิบายความร่วมมือระหว่างรัฐ ที่หาทางบรรลุผลประโยชน์ร่วมกันภายใต้ข้อจำกัดของสภาวะอนาธิปไตยในการเมืองระหว่างประเทศ อันทำให้แต่ละรัฐวางใจกันได้ยากว่าใครจะทำหรือจะไม่ทำตามข้อตกลงอย่างไร แต่ทฤษฎีนี้เสนอว่า ด้วยการรู้คิดและตัดสินใจอย่างมีเหตุผล รัฐทั้งหลายจะสามารถหาทางแก้ข้อจำกัดที่เป็นอุปสรรคเหล่านั้นได้ ด้วยการสร้างสถาบันและกฎเกณฑ์กติกาขึ้นมาสนับสนุนการบรรลุและรักษาความร่วมมือระหว่างรัฐ และสืบต่อขยายผลความร่วมมือที่มีอยู่ออกไปได้อีก โดยรัฐไม่จำเป็นต้องจำนนต่อข้อจำกัดในโครงสร้างของระบบระหว่างประเทศที่เป็นอนาธิปไตย

คนเรียนที่สนใจทฤษฎีจริงจัง เมื่อเรียนไปแล้วบางคนก็มีข้อสงสัยว่า คนสอนอยู่ข้างฝ่ายไหนในปัญหาเกี่ยวกับแนวทางหรือวิธีอธิบายข้างต้น เพราะตอนสอน ผมเสนอรายละเอียดของทฤษฎีต่างๆ โดยไม่ได้แสดงท่าทีสนับสนุนทฤษฎีใด หรือแนวทางการอธิบายแบบหนึ่งแบบใดเป็นพิเศษ  แต่ผมคิดว่าคำถามแบบนี้ของคนเรียนมีความสำคัญ และจะตอบโดยอาศัยแต่ความชอบใจส่วนตัวต่อสำนักคิดทฤษฎีหรือต่อวิธีอธิบายแบบหนึ่งแบบใดคงไม่ได้

ในแต่ละปีการศึกษา มหาวิทยาลัยจะส่งหนังสือเวียนมาเชิญชวนให้อาจารย์ทำวิจัยในชั้นเรียนเพื่อพัฒนาการเรียนการสอน ผมยังไม่เคยไปอบรมเรื่องนี้ที่มหาวิทยาลัยจัดให้แก่คณาจารย์ผู้สนใจสักที  เลยไม่รู้แน่ชัดว่าวิธีวิทยาการวิจัยในชั้นเรียนอันถูกต้องตามหลักวิชานั้นเขาทำกันแบบไหน แต่เรื่องนี้ทำให้ผมเกิดความคิดขึ้นมาว่า ผมอาจใช้ชั้นเรียนบางวิชาเป็นสนามการเรียนรู้เพื่อช่วยผมตอบคำถามค้างใจในทฤษฎีข้างต้นได้

เมื่อคิดได้อย่างนั้น ผมก็ทดลองใช้วิชาเลือกที่ผมสอนวิชาหนึ่งคือ วิชาการเจรจาระหว่างประเทศ เป็นวิธีหาคำตอบให้แก่ข้อสงสัยที่มีอยู่ โดยใช้กิจกรรมในชั้นเรียนของนิสิตมาเป็นจุดสังเกต จุดสังเกตการณ์ของผมอยู่ที่พลวัตและผลลัพธ์ของสถานการณ์จำลอง ซึ่งชั้นเรียนการเจรจาทั่วโลกก็ใช้วิธีการเรียนแบบนี้กันทั่วไป คือให้ผู้เรียนแบ่งกลุ่มแบ่งฝ่ายเล่นบทบาทต่างๆ ไปตามโจทย์ตามเงื่อนไขของสถานการณ์การเจรจาที่ถูกกำหนดมา ซึ่งภาษาทางทฤษฎีเราเรียกเงื่อนไขเหล่านี้ว่า โครงสร้างของสถานการณ์

เมื่อได้ติดตามพลวัตและผลลัพธ์ของสถานการณ์จำลองเดียวกันที่เกิดขึ้นในวิชาการเจรจาระหว่างประเทศหลายชั้นเรียนและหลายปีต่อกันอย่างใกล้ชิด ผมก็ได้ข้อสรุปบางเรื่องมาตอบปัญหาค้างใจทางทฤษฎีเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างผู้กระทำการกับโครงสร้างให้แก่ตัวเองได้ ผมจึงอยากนำผล “การวิจัยในชั้นเรียน” ที่ทำตามอัตโนวิธีของตัวเองมาแลกเปลี่ยนกับผู้สนใจปัญหาแนวทาง/วิธีอธิบายของทฤษฎีต่างๆ และเพื่อไม่ให้การเขียนผลการเรียนรู้ลงในแบบมคอ./CU-CAS ของผมต้องว้าเหว่จนเกินไป

อนึ่ง ต้องขอออกตัวไว้ด้วยว่า จุดสังเกตของผมไม่ได้อยู่ที่พฤติกรรมการแสดงออกของนิสิตแต่ละคน ขอให้ผู้เคร่งครัดจริยธรรมการวิจัยในเรื่องการนำคน (ซึ่งในที่นี้คือนิสิตในชั้นเรียนของตัวเอง) มาใช้ในงานศึกษาวิจัย สบายใจในเรื่องนี้ได้ และเมื่อผมไม่ได้เก็บข้อมูลจากพฤติกรรมการแสดงออกของนิสิตเป็นรายบุคคลในการทดลองที่มีการคุมและทดสอบตัวแปรอย่างเคร่งครัด ท่านผู้อ่านก็ควรตั้งป้อมกับข้อสรุปที่ผมนำมารายงานต่อไปนี้ตามสมควร อย่าเพิ่งเชื่อถือไปทีเดียว และโดยข้อจำกัดที่กล่าวมา จึงยังมีอีกหลายประเด็นในปัญหาค้างใจทางทฤษฎีเรื่องนี้ ที่ผมจะต้องคิดวิธีหาคำตอบต่อไป

“การวิจัยในชั้นเรียน” แบบง่ายๆ ของผมได้ข้อค้นพบมาตอบปัญหาค้างใจเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างตัวผู้เล่นผู้กระทำการกับโครงสร้าง ดังต่อไปนี้ครับ

คนที่เคยผ่านการเรียนด้วยสถานการณ์จำลองมาจะทราบว่าวิธีเรียนแบบนี้ใช้การกำหนดเงื่อนไขสถานการณ์และบทบาทสมมุติต่างๆ ให้ผู้เรียนเป็นผู้เล่นแต่ละฝ่าย เพื่อจะพาพวกเขาออกจากโหมดการคิดประจำวันอันคุ้นชิน ซึ่งอาจปล่อยความคิดกระเพื่อมไปตามแต่ว่าวันนั้นจะเจอเข้ากับเรื่องอะไร  เปลี่ยนเข้ามาสู่โหมดให้ตั้งใจใช้การคิดด้วยเหตุผลร่วมกันกับสมาชิกในกลุ่ม เพื่อหาทางแก้โจทย์เฉพาะที่แต่ละฝ่ายเผชิญกันอยู่ในสถานการณ์ ซึ่งส่งผลเป็นบวกเป็นลบต่อเงื่อนไขความอยู่รอด ต่อการได้มาในสิ่งที่ต้องการ หรือต่อการธำรงส่งเสริมคุณค่าเรื่องใดเรื่องหนึ่งของกลุ่มตามโจทย์ที่ได้รับมา

และในชั้นเรียนการเจรจาของเรา การใช้เหตุผลยังรวมถึงการให้แต่ละกลุ่มฝึกวางยุทธศาสตร์ที่ประกอบด้วยการกำหนดเป้าหมายให้แก่ผลประโยชน์แต่ละด้านที่ต้องการบรรลุ และการหาหนทางที่จะบรรลุเป้าหมายดังกล่าว โดยใช้แนวทางการเจรจากับฝ่ายต่างๆ ได้อย่างเหมาะสมกับยุทธศาสตร์ที่วางไว้

การใช้เหตุผลแบบ rational actor ของนิสิตในการเล่นสถานการณ์จำลอง ทำให้ผมได้ข้อสังเกตเกี่ยวกับลักษณะเฉพาะของโครงสร้างที่มาจากวิธีคิดและการใช้เหตุผลแบบนี้ ซึ่งจะขอขยายความเป็นลำดับไปนะครับ

การใช้เหตุผลของ rational actor อย่างที่เราเข้าใจกันทั่วไป คือการพิจารณาปัจจัยองค์ประกอบต่างๆ ในสถานการณ์ แล้วมากำหนดว่าในสถานการณ์แบบนั้นฝ่ายเราอยากได้อะไรเป็นเป้าหมาย เมื่อได้เป้าหมายที่ต้องการชัดแล้ว จึงใช้การคิดด้วยเหตุผลหาทางดำเนินการไปสู่เป้าหมายที่ตั้งไว้  ด้วยการมองหาทางเลือกต่างๆ และคิดคำนวณจากโอกาสและข้อจำกัดที่มีอยู่ในโครงสร้างสถานการณ์ถึงต้นทุนผลได้ผลเสีย ประกอบกับโอกาสยากง่ายในความน่าจะเป็นของทางเลือกแต่ละทางเหล่านั้น แล้วจึงตัดสินใจเลือกทางเลือกที่เหมาะที่สุด

การใช้เหตุผลยังรวมไปถึงการคิดหาทางต่อรอง แลกเปลี่ยน หรือจัดการกับฝ่ายอื่นซึ่งเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันอยู่ในสถานการณ์ที่จะทำให้เราได้ (หรือตัดทางเราไม่ให้ได้) ตามเป้าหมายที่ต้องการ เพราะในสถานการณ์ยุทธศาสตร์ ผลดีหรือร้ายที่แต่ละฝ่ายจะได้รับอย่างไรจากการตัดสินใจเลือกทางหนึ่งทางใดนั้น ไม่มีฝ่ายใดที่เผชิญกันอยู่ในสถานการณ์จะสามารถกำหนดได้เองโดยลำพัง แต่ผลลัพธ์นั้นขึ้นต่อกันและกันในแง่ที่ว่าฝ่ายอื่นๆ จะเลือกทางไหนและเราเลือกทางไหน เมื่อเป็นเช่นนี้ การคิดเชิงยุทธศาสตร์จึงให้ความสำคัญเป็นพิเศษแก่การพิจารณาเงื่อนไขในสถานการณ์ที่ส่งผลต่อแรงจูงใจในการประเมินทางเลือกและการตัดสินใจของทุกฝ่าย โดยมองสัมพันธ์กับโครงสร้างของผลลัพธ์ดีร้ายได้เสียของทางเลือกต่างๆ  ที่เป็นผลมาจากการตัดสินใจเลือกทางใดทั้งของฝ่ายเราและฝ่ายอื่นเสมอ

การใช้เหตุผลแบบนี้เรียกกันว่า การคิดวิเคราะห์เชิงยุทธศาสตร์ หรือบางที่ก็เรียกว่าการใช้เหตุผลแบบ instrumental rationality ซึ่งก็คือการใช้เหตุผลเป็นเครื่องมือหาทางหาวิธีที่เหมาะเพื่อนำไปสู่เป้าหมาย

แน่นอนว่าการใช้เหตุผลอย่างเป็นระบบแบบนี้ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการตัดสินใจและสัมฤทธิผลได้ดี และนิสิตกลุ่มที่ชำนาญการใช้การคิดด้วยเหตุผลในลักษณะดังกล่าว ก็สามารถวางแผนยุทธศาสตร์และดำเนินพลวัตของสถานการณ์ไปสู่เป้าหมายของฝ่ายตนได้อย่างน่าชมเชย

แต่ขอให้สังเกตว่าความสำเร็จในภาคปฏิบัติจากการใช้เหตุผลแบบ instrumental เช่นนี้ เป็นการใช้เหตุผลมองโครงสร้างของสถานการณ์เป็นเหมือนสิ่งที่มีอยู่แล้ว (as given) และผู้เล่นนำมาตั้งเป็นโจทย์คิดต่อจากนั้นว่า มันก่อผลสร้างแรงจูงใจแก่ฝ่ายต่างๆ แบบไหน แต่ละฝ่ายในสถานการณ์จะตัดสินใจและกระทำอย่างไร และเมื่อเป็นเช่นนั้น ฝ่ายเราควรตัดสินใจอย่างไร หรือจะมีวิธีเหมาะๆ อะไรบ้าง สำหรับจัดการกับเงื่อนไขเหล่านั้นเพื่อเปลี่ยนแรงจูงใจและการกระทำของฝ่ายอื่น ในทางที่จะเป็นประโยชน์ต่อเรา หรือช่วยให้เรากับฝ่ายต่างๆ บรรลุผลที่ต้องการร่วมกันได้ดีขึ้น เงื่อนไขในโครงสร้างที่เป็นอยู่จึงเข้ามาตีกรอบการคิดใช้เหตุผลแบบ instrumental ในด้านที่เกี่ยวข้องกับแรงจูงใจของตัวผู้กระทำการได้มาก

เมื่อการคิดด้วยเหตุผลแบบ instrumental มุ่งไปที่สัมฤทธิผล และการหาวิธีเหมาะๆ เพื่อบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้เป็นสำคัญ วิธีคิดแบบนี้จึงไม่ได้มาเปิดประเด็น ไม่ได้ตั้งคำถาม ไม่ได้มุ่งวิพากษ์โครงสร้าง หรือการทำงานส่งผลของโครงสร้างโดยตรง ที่จะแสดงให้เห็นถึงที่มาในการก่อรูปความสัมพันธ์ หรือชี้ให้เห็นแบบแผนของความสัมพันธ์ระหว่างฝ่ายต่างๆ อย่างที่เป็นอยู่นั้นว่าเป็นความสัมพันธ์ในเงื่อนไขแบบไหน และเงื่อนไขแบบนั้นก่อความขัดแย้งในลักษณะใดขึ้นมาบ้าง  รวมทั้งสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับตัวเอง ความรู้สึกนึกคิดต่อฝ่ายอื่นๆ และการแบ่งฝักฝ่ายในความขัดแย้งนั้นไปในทางใด ทั้งหมดที่กล่าวมานี้จะถูกรวบไว้ในลักษณะ as given

การใช้เหตุผลในการคิดเชิงยุทธศาสตร์จะตั้งต้นที่การคิดว่า เมื่อเงื่อนไขในโครงสร้างสถานการณ์ as given เป็นแบบนั้น จะมีทางเลือกใดบ้าง และใช้เครื่องมือแบบไหนดำเนินการจึงจะได้ผลดี วิธีไหนน่าจะดีกว่าวิธีไหน  ทั้งในแง่ประสิทธิภาพ การตอบสนองของฝ่ายอื่น และโอกาสที่จะบรรลุผลความสำเร็จตามเป้าหมายของตน  โดยไม่ได้เปลี่ยน ไม่ได้ไปแตะต้องโครงสร้างเดิมที่เป็นอยู่ อย่างมากที่สุด ก็เป็นแต่การหาทางปรับกลไกสำหรับจะมาช่วยเปลี่ยนให้การทำงานของโครงสร้างที่เป็นอยู่นั้นส่งผลต่อแรงจูงใจและการกระทำของฝ่ายต่างๆ เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีขึ้นออกมา  และเป็นผลลัพธ์ซึ่งสอดคล้องหรือสนับสนุนการรักษาและบรรลุผลประโยชน์ที่ฝ่ายตนต้องการมากขึ้น

เหมือนในสถานการณ์จำลองหนึ่งที่ผมใช้ในชั้นเรียนการเจรจาฯ บางปี ที่ให้นิสิตแบ่งกลุ่มเล่นเป็นบริษัทประมงจับปลาในทะเลสาบ เพื่อเรียนรู้เกี่ยวกับการเจรจาหาทางแก้ปัญหา tragedy of the commons เงื่อนไขในสถานการณ์นั้นจะสร้างแรงจูงใจในทางที่ทำให้นิสิตแต่ละกลุ่ม จากการคิดด้วยเหตุผลเชิงยุทธศาสตร์แบบ instrumental ตัดสินใจเลือกจับปลาให้ได้มากที่สุดในการเล่นแต่ละรอบ มากกว่าที่จะเลือกการร่วมมือกันรักษาความยั่งยืนของทรัพยากรสัตว์น้ำในทะเลสาบ

และการคิดหาทางแก้ปัญหาด้วยวิธีคิดเชิงยุทธศาสตร์และ instrumental rationality ในการเจรจาระหว่างฝ่ายต่างๆ ที่ตามมา ก็เป็นการหาทางแก้ข้อจำกัดที่มาจากโครงสร้างแรงจูงใจดังกล่าวเพื่อทำให้ทางเลือกความร่วมมือระหว่างทุกบริษัทในการรักษาทรัพยากรร่วมกันเป็นไปได้มากขึ้น และทำงานบรรลุเป้าหมายในการแก้ปัญหา tragedy of the commons ได้อย่างมีประสิทธิผลต่อการรักษาผลประโยชน์ระยะยาวที่ทุกฝ่ายมีร่วมกันในการรักษาทรัพยากรสัตว์น้ำในทะเลสาบมากขึ้น

จากวิธีคิดการใช้เหตุผลในเชิงยุทธศาสตร์ดังกล่าว ผมยังไม่พบนิสิตกลุ่มไหนปีไหนสักที ที่จับสถานการณ์จำลองดังกล่าวเล่นด้วยวิธีคิดแบบ instrumental นี้แล้ว จะตั้งต้นเสนอเปิดประเด็นการเจรจาด้วยการหาทางรื้อโครงสร้างความคิดเกี่ยวกับทรัพย์สินของกลาง ของรัฐ และของเอกชน/บุคคล ที่ใช้จัดความสัมพันธ์ระหว่างคนกับธรรมชาติและการมองสิ่งมีชีวิตในธรรมชาติเป็นทรัพยากรของพวกเขา หรือหาทางเปลี่ยนการเฟรมประเด็นปัญหานี้ขึ้นมาพิจารณาใหม่ เช่น ด้วยการตั้งคำถามเกี่ยวกับการตัดสินใจใช้ทรัพยากร ว่าควรเป็นสิทธิและกรรมสิทธิ์ของใคร? และควรอยู่ในอำนาจกำกับดูแลโดยใครบ้าง? เพื่อจะได้ผลักดันการเปลี่ยนแปลงความคิดเกี่ยวกับสิทธิและกรรมสิทธิ์ ที่กำหนดแบบแผนความสัมพันธ์ในระบบการผลิตในการเจรจาต่อไป

แต่ถึงจะไม่พบ ก็มิได้หมายความว่ามันเป็นไปไม่ได้นะครับ ที่จะเปิดประเด็นเจรจาแก้ปัญหา tragedy of the commons ด้วยฐานการใช้เหตุผลอีกแบบ ในทางที่มุ่งเปลี่ยนแปลงโครงสร้างความคิดเกี่ยวกับสิทธิและกรรมสิทธิ์ในการจัดการทรัพยากรกันใหม่ เพราะปัญหา tragedy of the commons ก็มีเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างคนกับธรรมชาติและสิทธิและกรรมสิทธิ์ผูกอยู่ในตัวมันมาแต่ต้นอยู่แล้ว

แต่ความเป็นไปได้ที่ว่านี้จะก่อตัวขึ้นมาได้ หรือปรากฏออกมาเป็นทางเลือกที่มีโอกาสจะเป็นไปได้จริงๆ ก็ต่อเมื่อมีนิสิตสักคนหรือสักกลุ่มที่เป็นผู้เล่นในสถานการณ์นี้ เปลี่ยนโหมดการคิดในเชิงยุทธศาสตร์ที่ใช้เหตุผลแบบ instrumental rationality มาเป็นการใช้เหตุผลอีกแบบหนึ่งที่เป็นการพินิจพิเคราะห์ตัวโครงสร้าง (ในตัวอย่างที่เราพูดถึงอยู่นี้คือโครงสร้างความคิดเกี่ยวกับสิทธิและกรรมสิทธิ์ในทรัพยากร) ที่ทำงานส่งผลอยู่นั้นอย่างจริงจัง ไม่จับไปจัดไว้ในส่วน “as given” เหมือนที่วิธีคิดและใช้เหตุผลแบบ instrumental ทำ และวิพากษ์ผลของมันที่มีต่อแบบแผนความสัมพันธ์ที่เป็นอยู่ และผลลัพธ์ดีร้ายที่ตามมาจากความสัมพันธ์แบบนั้นต่อฝ่ายต่างๆ  เพื่อหาทางเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์นั้นไปเป็นรูปแบบใหม่ หรือหาทางปลดปล่อยฝ่ายที่เสียเปรียบออกจากความสัมพันธ์แบบนั้น แล้วตั้งต้นผลักดันเรื่องนี้ในสถานการณ์จำลองที่เล่น ด้วยการดำเนินการให้ทุกฝ่ายรับเรื่องนี้เป็นประเด็นวาระในการเจรจา

แน่นอนว่าเมื่อพวกเขาเปลี่ยนสนามจากการคิดเชิงวิพากษ์เพื่อเปิดประเด็นกับโครงสร้างที่กำลังทำงานส่งผลอยู่มาสู่สนามของการเจรจาต่อรอง หรือสนามของการดำเนินยุทธศาสตร์ในรูปแบบอื่นๆ เพื่อผลักดันการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างไปในทิศทางที่ต้องการ พวกเขาก็ต้องกลับมาใช้โหมดการคิดเชิงยุทธศาสตร์และการใช้เหตุผลแบบ instrumental ในการคิดวางแผนยุทธศาสตร์เพื่อพาขบวนการไปสู่เป้าหมาย เช่น การตัดสินใจว่าควรจะต้องทำอะไรก่อนอะไรหลังอย่างไร  ในระหว่างการดำเนินยุทธศาสตร์นั้น พวกเขาก็จำเป็นต้องยอมรับโครงสร้างบางส่วน as given เช่นกัน

เพราะไม่มีผู้เล่นรายใด/กลุ่มใดจะมีความสามารถเข้าไปจัดการกับโครงสร้างทุกส่วนทั้งหมดพร้อมกันได้ และโครงสร้างแต่ละส่วนก็เปิดให้แก่การถูกจัดการโดยผู้เล่นแต่ละฝ่ายยากง่ายไม่เท่ากันในเวลาแต่ละช่วง ขึ้นชื่อว่าเป็นโครงสร้างแล้ว ที่ใครจะไปเปลี่ยนมันได้อย่างง่ายดายโดยไม่ถูกมันจำกัด สกัด หรือตอบโต้ผู้คิดไปเปลี่ยนมันกลับคืนมา เป็นไม่มี

ช่วงขณะที่เปิดทางให้ผู้เล่นบางกลุ่มสามารถเข้าไปจัดการปรับหรือเปลี่ยนเงื่อนไขในโครงสร้างได้ หรือจับฝ่ายอื่นๆ ตรึงไว้ในข้อจำกัดของโครงสร้างไม่ให้ขยับเขยื้อนไปไหนได้ จึงเป็นช่วงเวลายุทธศาสตร์อันสำคัญ ที่ผู้เล่นทุกฝ่ายปรารถนาจะได้ไว้ครอบครอง แต่ไม่ใช่ทุกฝ่ายจะได้ไว้ หรือทำการได้สำเร็จเมื่อหน้าต่างแห่งโอกาสเปิดให้ หรือครองความสำเร็จที่ทำมาแล้วไว้ได้ ในสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป

ดังนั้น การเลือกว่าจะถือโครงสร้างส่วนไหน as given โดยยังไม่ไปแตะต้องไปท้าทายมัน แล้วเลือกจัดการรื้อเปลี่ยนโครงสร้างส่วนไหนก่อนเพื่อหวังผลการเปลี่ยนแปลงอันพึงปรารถนาที่จะตามมา จึงถือเป็นการคิดและการตัดสินใจเชิงยุทธศาสตร์ที่สำคัญมาก  และเป็นไปได้ว่าผู้เล่นแต่ละฝ่ายในสถานการณ์จริง  จะเลือกจัดการกับโครงสร้างแตกต่างกันไปคนละส่วนตามแต่จังหวะและโอกาสที่เปิดให้ฝ่ายของตนทำได้ เราจึงอาจเห็นฝ่ายหนึ่งเข้ายึดโครงสร้างที่ส่งผลต่อแรงจูงใจส่วนที่เป็นความคิด ค่านิยม อุดมการณ์ ในขณะที่อีกฝ่ายเคลื่อนเข้าจัดการกับโครงสร้างที่ส่งผลต่อแรงจูงใจส่วนที่เป็นอำนาจในการให้คุณให้โทษที่วัตถุรูปธรรม

จากข้อสังเกตที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ ผมได้ข้อสรุปให้ตัวเองมาเรื่องหนึ่งว่า การจะเห็นผลของโครงสร้างในสถานการณ์แบบไหนปรากฏเด่นชัดออกมา และตัวผู้กระทำการจะเลือกจัดการอย่างไรกับผลของโครงสร้างที่ปรากฏออกมานั้น ส่วนที่สำคัญมากขึ้นอยู่กับว่าผู้กระทำการเลือกวิธีคิดและการใช้เหตุผลแบบไหนมาพิจารณาเงื่อนไขในสถานการณ์

ถ้าเป็นสถานการณ์ในการเจรจาต่อรองระหว่างประเทศ การคิดในเชิงยุทธศาสตร์ที่เน้นการใช้เหตุผลแบบ instrumental rationality จะเป็นวิธีคิดและการใช้เหตุผลที่ได้รับความสำคัญเป็นลำดับต้น  โครงสร้างสถานการณ์ส่วนที่จะปรากฏผลออกมาให้เห็นเด่นชัดที่สุดตามวิธีคิดและการใช้เหตุผลแบบนี้ได้แก่โครงสร้างสถานการณ์ส่วนที่สัมพันธ์และส่งผลต่อแรงจูงใจ การประเมินทางเลือก และการตัดสินใจเลือก  เพราะวิธีคิดเชิงยุทธศาสตร์และการใช้เหตุผลแบบ instrumental rationality อิงอาศัยการพิเคราะห์โครงสร้างในลักษณะนี้ อย่างที่เรียกได้ว่ามี elective affinity ต่อกัน หรือเป็นสิ่งที่เกี่ยวก้อยตามกันมา

พร้อมกันนั้น การจัดการกับเงื่อนไขในโครงสร้างตามวิธีคิดและการใช้เหตุผลแบบ rational actor โดยส่วนใหญ่ในการเจรจาต่อรองระหว่างประเทศ จะไม่ได้มุ่งไปที่การจัดการเพื่อเปลี่ยนแปลงโครงสร้างความสัมพันธ์เดิมและแทนที่มันด้วยโครงสร้างความสัมพันธ์แบบใหม่มากเท่ากับการหาทางปรับโครงสร้างแรงจูงใจของฝ่ายต่างๆ ภายใต้โครงสร้างความสัมพันธ์เดิมนั้น ไปในทางที่จะส่งผลต่อการตัดสินใจเลือกและกระทำการต่างๆ เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่สอดคล้องกับผลประโยชน์ของฝ่ายตนหรือของทุกฝ่าย  ไม่ว่าจะโดยการใช้มาตรการเสริมในทางบวกหรือการเพิ่มมาตรการในทางบีบบังคับ หรือใช้การออกแบบกลไกเชิงสถาบันมาทำงานกำกับพฤติกรรมและปฏิสัมพันธ์ เพื่อเปลี่ยนการคำนวณผลได้ผลเสียในการประเมินทางเลือกต่างๆ ที่แต่ละฝ่ายจะดำเนินต่อกันเสียใหม่ และเพิ่มความมั่นใจในการกำหนดผลลัพธ์ที่พึงปรารถนาได้มากขึ้น ดังที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น

ผลจากการสังเกตการณ์ในชั้นเรียนที่เขียนมานี้ ความจริงยังไม่หมดนะครับ เพราะยังไม่ได้กล่าวถึงอีกส่วนที่สำคัญมาก คือความสำคัญของการเจรจาในปฏิสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มผู้เล่นหรือตัวผู้กระทำการแต่ละฝ่าย ในทางที่ส่งผลให้ผู้เล่นที่บรรลุการผสานความร่วมมือระหว่างกันจากการเจรจา สามารถเอาชนะหรือเปลี่ยนข้อจำกัดในโครงสร้างของสถานการณ์ที่ถูกกำหนดมาได้ แต่ที่เขียนมานี้ก็ยาวแล้ว และชั้นเรียนการเจรจาของเราก็คงยังจะดำเนินไปอีกเรื่อยๆ  คงมีโอกาสอื่นอีกที่จะได้นำบทเรียนและข้อสังเกตการณ์จากชั้นเรียนการเจรจาของเรามานำเสนอท่านผู้อ่านว่า การเจรจารูปแบบต่างๆ มีผลต่อการยืนยันหรือเปลี่ยนแปลงความเข้าใจเกี่ยวกับตนเองและฝ่ายของตน กับความเข้าใจฝ่ายอื่นๆ อย่างไรได้บ้าง และผลการเจรจาในปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันอาจเปลี่ยนข้อจำกัดที่เกิดจากโครงสร้างได้อย่างไร

นะครับ.

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save