fbpx
รู้ทันนิทานเรื่อง ‘อุ้ม’ ผู้ประกอบการ 4G ของ กสทช.

รู้ทันนิทานเรื่อง ‘อุ้ม’ ผู้ประกอบการ 4G ของ กสทช.

สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ เรื่อง

Shin Egkantrong ภาพประกอบ

 

มาตรการผสมโรง ‘อุ้มพ่วง’ ผู้ประกอบการ 4G

 

ย้อนกลับไปเมื่อเดือนมีนาคม 2561 เกิดความเคลื่อนไหวอย่างขันแข็งใน กสทช. และ คสช. เมื่อศาลปกครองกลางมีคำตัดสินในคดีไทยทีวีฟ้อง กสทช. โดยให้ กสทช. คืนหนังสือค้ำประกันการประมูลแก่ไทยทีวี ซึ่งจะมีผลให้ไทยทีวีไม่ต้องจ่ายค่าประมูลให้ กสทช. อีกต่อไป โดยให้เหตุผลว่า กสทช. ดำเนินการเปลี่ยนผ่านสู่ระบบทีวีดิจิทัลอย่างล่าช้า ไม่เป็นไปตามแผนงานและประชาสัมพันธ์การเปลี่ยนผ่านไม่ทั่วถึง ทำให้ไทยทีวีได้รับความเสียหาย

ในช่วงเดียวกัน ก็มีความเคลื่อนไหวที่จะเสนอให้หัวหน้า คสช. ใช้คำสั่งตามมาตรา 44 ให้ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลทุกรายพักชำระค่าใบอนุญาตทีวีดิจิทัลเป็นเวลา 3 ปี โดยให้จ่ายเฉพาะดอกเบี้ย 1.5% ต่อปี  และลดค่าเช่าโครงข่ายลง 50% เป็นเวลา 2 ปี

ที่สำคัญ มีข้อเสนอมาตรการ “ผสมโรง” เพื่อ “ช่วยเหลือ” ผู้ประกอบการโทรคมนาคม 2 รายที่ประมูลคลื่น 4G ย่าน 900 MHz คือ เอไอเอสและทรู โดยจะให้ผ่อนผันการจ่ายค่าประมูลคลื่นงวดที่ 4 ซึ่งเป็นงวดสุดท้าย จากเดิมที่ต้องจ่ายให้เสร็จในปี 2563 เป็นการทยอยจ่ายไปอีก 5 งวดไปจนถึงปี 2567 (ดังภาพ)

ผมขอวิเคราะห์ความสมเหตุสมผลของการดำเนินนโยบาย “ช่วยเหลือ” ผู้ประกอบการทั้งสองกลุ่ม ดังนี้

กรณีทีวีดิจิทัล 

ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลส่วนใหญ่ประสบปัญหาการขาดทุน ทั้งนี้ การขาดทุนมาจากสาเหตุที่สำคัญ 3 ประการคือ

หนึ่ง การเพิ่มจำนวนผู้ประกอบการอย่างรวดเร็ว เนื่องจากมีการออกใบอนุญาตเพิ่มถึง 24 ใบ

สอง การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีอย่างรวดเร็วมาก (technological disruption) ทำให้การชมโทรทัศน์ลดลงอย่างฮวบฮาบ

และ สาม ความบกพร่องของ กสทช. ตามที่ศาลปกครองกลางชี้ไว้

การประสบปัญหาจากการขาดทุนจาก 2 สาเหตุแรกนั้น รัฐบาลและ กสทช. ไม่ควรต้องรับผิดชอบใดๆ ทั้งสิ้น เพราะเป็นความเสี่ยงทางธุรกิจโดยปรกติ (normal business risk)  โดยการเพิ่มจำนวนผู้ประกอบการและการแข่งขันที่ตามมานั้น เป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการทุกรายควรคาดหมายได้อยู่แล้ว  ในขณะที่การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีอย่างรวดเร็วนั้น แม้จะคาดหมายได้ยากกว่า แต่ก็ยังถือว่าเป็นความเสี่ยงทางธุรกิจโดยปรกติในโลกปัจจุบันที่ทุกคนต้องแบกรับอยู่นั่นเอง

ส่วนผลการขาดทุนที่เกิดขึ้นจากความบกพร่องของ กสทช. นั้น ผู้ประกอบการควรได้รับการช่วยเหลือเยียวยาจากรัฐตามสมควร โดยระดับการช่วยเหลือควรได้สัดส่วนกับความเสียหายที่เกิดขึ้นจากรัฐ ไม่ควรด่วนสรุปว่า การที่ กสทช. มีความบกพร่องบางอย่างเป็นเหตุให้ กสทช. ต้องคืนเอกสารค้ำประกันแก่ผู้ประกอบการ หรือรัฐต้องหามาตรการช่วยเหลือโดยไม่พิจารณาถึงระดับความเสียหายก่อน นอกจากนี้ ก่อนที่จะดำเนินการอย่างไร คสช. ควรรอคำตัดสินของศาลปกครองสูงสุดให้คดีสิ้นสุดเสียก่อน

คณะรัฐมนตรีเองก็เคยมีมติว่า ในกรณีที่หน่วยงานของรัฐถูกฟ้องร้องคดี จะต้องยื่นอุทธรณ์จนกว่าคดีจะถึงที่สุด รัฐบาลและ คสช. จึงยังไม่สมควรรีบร้อน “ช่วยเหลือ” ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลโดยเฉพาะการช่วยเหลือที่ไปไกลเกินขอบเขตที่เหมาะสม

นอกจากนี้ ประเด็นหนึ่งที่ควรพิจารณาเพิ่มเติมคือ การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีมีผลทำให้พฤติกรรมการเสพสื่อของประชาชนเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว จากการเสพสื่อสิ่งพิมพ์ วิทยุและโทรทัศน์ ไปสู่การเสพสื่อออนไลน์เป็นหลัก โดยเฉพาะการเสพผ่านอุปกรณ์ไร้สายต่างๆ ดังนั้น คลื่นความถี่ที่ใช้กับวิทยุและโทรทัศน์ ซึ่งได้รับความนิยมน้อยลง ควรถูกนำมาจัดสรรใหม่เพื่อใช้ในบริการโทรคมนาคมไร้สายแทน

หากรัฐบาลเห็นว่า การปล่อยให้ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลถือครองคลื่นไว้ จะทำให้คลื่นไม่ถูกใช้ประโยชน์อย่างคุ้มค่า เพราะประชาชนเปลี่ยนพฤติกรรมการเสพสื่อไปแล้ว ก็ควรพิจารณานำเอาคลื่นทีวีดิจิทัลมาประมูลใหม่เพื่อใช้กับบริการโทรคมนาคม โดยเมื่อประมูลเสร็จ รัฐบาลก็สามารถยินยอมให้ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลคืนใบอนุญาตและคลื่นความถี่ที่ครอบครองอยู่ได้ เช่นเดียวกับที่มีการดำเนินการในสหรัฐ ซึ่งทำให้ทั้งคลื่นความถี่ถูกใช้อย่างคุ้มค่า รัฐมีรายได้เพิ่มขึ้น และผู้ประกอบการมีทางออก

กรณีผู้ประกอบการ 4G

กรณีการประมูลคลื่น 4G มีความแตกต่างจากการประมูลคลื่นทีวีดิจิทัลมาก เพราะไม่ปรากฏชัดเจนว่า หน่วยงานรัฐ โดยเฉพาะ กสทช. ทำอะไรบกพร่อง นอกจากปล่อยให้ แจส โมบาย ซึ่งชนะการประมูลแล้วทิ้งใบอนุญาตได้ง่ายๆ จนรัฐบาลต้องไป “เชิญชวน” ให้เอไอเอส มารับใบอนุญาตแทน

นอกจากนี้ การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีในอุตสาหกรรมนี้ ก็ไม่ได้เกิดขึ้นอย่างรุนแรงจนส่งผลต่อผู้ประกอบการมากเท่ากับอุตสาหกรรมโทรทัศน์ เพราะแม้จะเสียรายได้จากบริการบางอย่างไป เช่น บริการเสียง แต่ก็มีรายได้จากการให้บริการข้อมูลมากขึ้น  ผู้ประกอบการโทรคมนาคมส่วนใหญ่จึงยังมีกำไร แม้จะลดลงกว่าเดิมไปบ้าง

การกล่าวอ้างว่าการที่ แจส โมบาย เข้าร่วมประมูลแล้ว ทำให้ราคาสูงขึ้นนั้น อาจทำให้เรารู้สึกสงสารผู้ประกอบการทั้งสองคือ เอไอเอส และทรู แต่เราต้องไม่ลืมว่า ทั้งสองรายได้พิจารณาแล้วว่า ราคาที่ตนประมูลได้ไปนั้นมีความคุ้มค่า และเงื่อนไขการจ่ายค่าประมูล รวมทั้งการจ่ายเป็นงวด 4 งวดตามที่กำหนดเป็นสิ่งที่ยอมรับได้ มิฉะนั้นก็คงถอนตัวจากการประมูลไปแล้ว

ผมจึงไม่มีความสงสารผู้ประกอบการทั้งสอง แต่หากจะมีความเห็นใจเล็กๆ บ้างก็คือ เอไอเอส ซึ่งถูกรัฐบาล “เชิญชวน” ให้มารับใบอนุญาตแทน แจส โมบาย ในราคาที่สูงกว่าที่ เอไอเอส เคยประมูลไว้ แต่เอไอเอส ก็รับไว้ โดยไม่ปรากฏว่าได้ต่อรองกับรัฐบาลในเรื่องงวดการจ่ายค่าประมูลเลย

ดังนั้น จึงไม่มีเหตุผลใดๆ เลยที่ คสช. จะต้องเข้ามา “อุ้ม” ผู้ประกอบการทั้งสอง แถมจะดำเนินการล่วงหน้าก่อนถึงปี 2563 ก่อนที่ คสช. จะหมดอำนาจออกคำสั่งตามมาตรา 44  อันที่จริง ระยะเวลาในการผ่อนชำระค่าประมูลของ กสทช. นั้นถือได้ว่า ไม่เข้มงวด เพราะให้จ่าย 3 งวดแรกน้อยมากคือเพียง 1.7 หมื่นล้านบาท แล้วค่อยให้จ่ายที่เหลือประมาณ 6.4 หมื่นล้านบาทในงวดที่ 4  ซึ่งแตกต่างจากการประมูลคลื่นความถี่โดยทั่วไปในต่างประเทศ และการประมูลคลื่น 3G ที่ผ่านมาในประเทศไทยเอง ที่ให้จ่ายค่าประมูลเกือบหมดตั้งแต่ช่วงแรกๆ แน่นอนว่า เพื่อป้องกันปัญหาการ “เบี้ยว” กันภายหลัง

การที่ คสช. จะยินยอมให้เอไอเอส และทรู เปลี่ยนการจ่ายค่าประมูลงวดสุดท้ายรวดเดียวกลายเป็นการทยอยจ่ายใน 5 ปี จึงเป็นการยกประโยชน์ให้แก่ผู้ประกอบการทั้งสอง โดยแม้จะให้มีการจ่ายดอกเบี้ย แต่ดอกเบี้ยที่จะต้องจ่ายกันนั้นก็ต่ำมากคือ 1.5% ต่อปี ทั้งที่ตามเงื่อนไขการประมูล การจ่ายค่าประมูลล่าช้านั้น ต้องคิดดอกเบี้ยถึง 15% ต่อปี ส่วนต่างดอกเบี้ยนี้เองที่เป็นผลประโยชน์มากมายมหาศาล

เมื่อคิดมูลค่าผลประโยชน์ที่ คสช. จะยกให้เอไอเอส และทรู จากส่วนต่างดอกเบี้ยดังกล่าว จะพบว่า สูงถึงรายละเกือบ 1.5 หมื่นล้านบาท หรือรวมกันเกือบ 3 หมื่นล้านบาทเลยทีเดียว จะมากหรือน้อยกว่านี้ ก็ขึ้นอยู่กับอัตราดอกเบี้ยที่ใช้คิดลด (discount rate)

ทั้งนี้หากเชื่อว่า ผู้ประกอบการทั้งสองสามารถระดมทุนมาจ่ายค่าประมูล จากทั้งการกู้และการเพิ่มทุน โดยมีต้นทุนทางการเงินเฉลี่ย (WACC) ที่ประมาณ 9% ต่อปี ตามที่นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ใช้กับบริษัทเหล่านี้  ผลประโยชน์ที่ คสช. จะยกให้ผู้ประกอบการทั้งสองก็ยังจะสูงถึงระดับ 1.6 หมื่นล้านบาท

ดังนั้น หาก คสช. จะมีมติยกผลประโยชน์ให้แก่ผู้ประกอบการตามที่เป็นข่าวจริง ก็คงทำให้ประชาชนอดตั้งข้อสังเกตไม่ได้ว่า แม้ว่า คสช. และรัฐบาลประยุทธ์จะแตกต่างจากรัฐบาลทักษิณ 1 เพราะไม่ได้มีคณะรัฐมนตรีที่เต็มไปด้วยนายทุนโทรคมนาคมและนายทุนโทรทัศน์ จนเป็นที่มาของการเกิด “คอร์รัปชันเชิงนโยบาย” แต่นโยบาย “อุ้ม” นายทุนโทรคมนาคมก็แทบจะไม่ได้แตกต่างกันเลย

ความแตกต่างเล็กๆ หากจะมีก็คือ รัฐบาลทักษิณออกพระราชกำหนดเก็บภาษีสรรพสามิตเพื่อเอื้อผู้ประกอบการโทรคมนาคมในสมัยนั้น โดยแอบ “ซุก” ไปกับภาษีสรรพสามิตบริการอื่นๆ เช่น สนามกอล์ฟ  ในขณะที่ผู้มีอำนาจรัฐในปัจจุบันกำลังจะอุ้มผู้ประกอบการโทรคมนาคมโดย “ซุก” ไปกับการอุ้มผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล และภายหลังก็ทำท่าจะเอาไป “ซุก” กับการประมูล 5G ดังจะกล่าวต่อไป

รู้ทัน “นิทาน” เรื่องเก่าของ กสทช. 

 

หลังการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 3 เมษายน 2561 โฆษกรัฐบาลแถลงว่า นายกรัฐมนตรีเคยให้แนวนโยบายในการช่วยเหลือผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล และการขอยืดจ่ายเงินค่าประมูลคลื่น 4G ย่าน 900 MHz ของเอไอเอสและทรูว่า ให้คำนึงถึงหลักการ 2 ประการ คือ 1. ต้องให้เอกชนสามารถประกอบธุรกิจได้ ไม่กระทบความเชื่อมั่นของนักลงทุน แต่ทั้งนี้เอกชนต้องยอมรับความจริงเรื่องความเสี่ยงทางธุรกิจ และ 2. ต้องไม่ให้ผลประโยชน์ของรัฐเสียหาย

ถ้อยแถลงดังกล่าวชี้ว่า นายกรัฐมนตรีสามารถจับประเด็นประโยชน์สาธารณะในเรื่องดังกล่าวได้อย่างถูกต้อง     อย่างไรก็ตาม หลังจากนั้นกลับปรากฏข่าวว่า เลขาธิการ กสทช. ยังพยายามเตรียมเสนอรัฐบาลให้ “อุ้ม” เอไอเอสและทรูในแนวทางที่แตกต่างจากหลักการดังกล่าวอย่างชัดเจน โดยอ้างข้อมูลและตรรกะที่แปลกประหลาดอย่างยิ่ง เพราะยืนยันที่จะเสนอให้รัฐบาลยืดเวลาการจ่ายค่าประมูลคลื่น 4G  งวดสุดท้ายออกไป โดยอ้างว่าจะทำให้

  1. รัฐบาลมีรายได้ประมาณ 3,600 ล้านบาทจากดอกเบี้ย 5% ตามอัตราของธนาคารแห่งประเทศไทย แทนที่จะปล่อยให้ผู้ประกอบการ 2 รายไปกู้ธนาคารพาณิชย์ ซึ่งจะทำให้รัฐไม่ได้รายได้ดังกล่าว
  2. รัฐบาลน่าจะมีรายได้จากการประมูลคลื่น 4G ย่าน 1800 MHz ที่จะจัดขึ้น เป็นเงินกว่า 2 แสนล้านบาท เพราะมีความเป็นไปได้สูงว่า เอไอเอสและทรู จะเข้าร่วมประมูลด้วย แต่รัฐอาจไม่ได้รายได้ดังกล่าว หากไม่ยืดเวลาการจ่ายค่าประมูลคลื่น 4G งวดสุดท้าย

ที่ผมกล่าวว่า ข้อเสนอของเลขาธิการ กสทช. แตกต่างจากแนวนโยบายของนายกรัฐมนตรี และอยู่บนข้อมูลและตรรกะที่แปลกประหลาดอย่างยิ่ง  ก็ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้

เอกชนต้องสามารถประกอบธุรกิจได้

ผู้ประกอบการทั้งสองรายคือ เอไอเอสและทรู ไม่ได้มีปัญหาในการประกอบธุรกิจแต่อย่างใด เอไอเอสยังเป็นอันดับ 1 ของตลาดโทรศัพท์มือถือในประเทศไทย และมีผลกำไรมหาศาลประมาณ 3 หมื่นล้านบาทในแต่ละปี ทั้งปี 2560 และปี 2561 แม้จะลดลงจากก่อนหน้านั้นไปบ้าง

ส่วนทรูนั้น แม้จะมีกำไรน้อยกว่าเอไอเอสมาก แต่ก็ยังมีกำไร 2.3 พันล้านบาทในปี 2560 และเพิ่มเป็น 7 พันล้านบาทในปี 2561  ที่สำคัญ ทรูมีส่วนแบ่งทางการตลาดเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจาก 20.9% เมื่อไตรมาส 4/2558 ซึ่งมีการประมูลคลื่น เป็น 26.9% ในไตรมาส 4/2560 (ดูภาพประกอบ) และแจ้งต่อนักลงทุนว่า สามารถเพิ่มลูกค้าได้ 2.7 ล้านรายในปี 2560 ในขณะที่ผู้ประกอบการรายอื่นมีลูกค้าลดลง

ดังนั้น จึงไม่มีเหตุผลใดๆ ที่รัฐบาลจะต้องเข้าไป “อุ้ม” ทั้ง 2 บริษัท  เนื่องจากทั้ง 2 บริษัทยังดำเนินธุรกิจได้ดี

 

การเปลี่ยนแปลงส่วนแบ่งตลาด (รายได้) ของผู้ประกอบการโทรศัพท์มือถือ

ที่มา: เอกสารชี้แจงนักลงทุนของบริษัท

 

ไม่กระทบความเชื่อมั่นของนักลงทุน

จากผลประกอบการที่ดีดังกล่าว นักลงทุนจึงยังคงมีความเชื่อมั่นต่อทั้ง 2 บริษัท ซึ่งสะท้อนจากมุมของนักวิเคราะห์หลักทรัพย์หลายรายที่ระบุว่า ฐานะทางการเงินของทั้ง 2 บริษัทยังแข็งแกร่ง แม้รัฐบาลจะไม่ยืดเวลาจ่ายเงินค่าประมูลคลื่น

ที่สำคัญกว่าความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่อบางบริษัท คือความเชื่อมั่นต่อประเทศไทย การที่รัฐบาลเปลี่ยนแปลงนโยบาย กฎกติกาหรือเงื่อนไขที่ออกมาแล้ว อันเป็นผลจากการเรียกร้องของผู้ประกอบการบางรายโดยไม่มีเหตุผลอันควร จะมีผลกระทบอย่างยิ่งต่อภาพลักษณ์ของประเทศ เพราะเป็นการส่งสัญญาณว่า ประเทศไทยไม่มีหลักการที่ชัดเจน สามารถต่อรองได้หากมีเส้นสาย ซึ่งจะทำให้นักลงทุนที่ประกอบธุรกิจอย่างตรงไปตรงมา ลังเลที่จะมาลงทุนในประเทศไทย

เอกชนต้องยอมรับความเสี่ยงปรกติทางธุรกิจ

ในระบบตลาดเสรี ย่อมไม่มีหลักประกันใดๆ ว่า ผู้ประกอบการจะต้องได้รับกำไรเสมอไป เพราะการประกอบธุรกิจทั้งหลายย่อมมีความเสี่ยงทางธุรกิจตามปรกติ (normal business risk) ซึ่งเอกชนจะต้องแบกรับเอง รัฐไม่ได้มีหน้าที่ช่วยเหลือให้ผู้ประกอบการทุกรายให้ไม่ขาดทุน หากสาเหตุของการขาดทุนนั้นไม่ได้มาจากรัฐหรือกฎระเบียบของรัฐ (regulatory risk)

ในกรณีนี้ เอไอเอสและทรู เสนอราคาในการประมูลโดยสมัครใจและเข้าใจเงื่อนไขการผ่อนชำระค่าประมูลเป็นอย่างดี  จึงควรต้องยอมรับความเสี่ยงปรกติทางธุรกิจต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการตัดสินใจของตน

ผลประโยชน์ของรัฐต้องไม่เสียหาย

เงื่อนไขการประมูลกำหนดไว้ชัดเจนว่า หากชำระค่าประมูลล่าช้าจะต้องจ่ายดอกเบี้ยที่อัตรา 15% ไม่ใช่ 1.5% ที่เลขาธิการ กสทช. เสนอ  ส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยดังกล่าวในกรณีนี้คิดเป็นเม็ดเงินสูงถึงประมาณ 30,000 ล้านบาท ซึ่งหมายความว่า หากรัฐบาลทำตามข้อเสนอของ กสทช. ก็จะเป็นการยกผลประโยชน์มหาศาลให้เอกชนทั้งสอง

อัตราดอกเบี้ย 1.5% ที่เลขาธิการ กสทช. ยกมา เป็นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย ไม่ใช่อัตราดอกเบี้ยที่ปล่อยกู้กันในเชิงพาณิชย์ และยังเป็นอัตราที่ต่ำกว่าต้นทุนทางการเงินของรัฐบาลด้วย  ซึ่งหมายความว่า หากรัฐบาลปล่อยให้ทั้ง 2 รายกู้ในอัตราดังกล่าว นอกจากจะไม่ได้ดอกเบี้ยที่อัตรา 15% ตามสัญญาแล้ว ยังขาดทุนทางการเงินด้วย การอ้างว่า รัฐจะมีรายได้จากดอกเบี้ยถึง 3,600 ล้านบาทจึงเป็นเรื่องแปลกประหลาดอย่างยิ่ง

ในตอนนั้น ผู้ประกอบการทั้งสองรายออกแถลงการณ์ชี้นำให้สังคมเข้าใจว่า การผ่อนชำระค่าประมูลคลื่นดังกล่าว  “ไม่ได้เป็นการขอลดค่าประมูลคลื่น” เป็นแต่เพียงการ “ขยายเวลา” เท่านั้น ไม่ได้ทำให้รัฐและประชาชนเสียประโยชน์

คำกล่าวอ้างดังกล่าวก็ไม่เป็นความจริงเนื่องจากการขยายเวลาโดยจ่ายดอกเบี้ยในอัตราต่ำมาก ก็มีผลเหมือนการขอลดค่าประมูลคลื่น ซึ่งทำให้รัฐและประชาชนเสียหาย การขอใช้มาตรฐานเดียวกับผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลเพราะ “ต่างได้ใบอนุญาตจากการประมูลคลื่นจาก กสทช. มาเช่นเดียวกัน” ก็ไม่สมเหตุผล เนื่องจากผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลส่วนใหญ่ประสบปัญหาขาดทุน โดยสาเหตุหนึ่งเกิดจากการดำเนินการที่บกพร่องของ กสทช.  ในขณะที่ เอไอเอสและทรูมีกำไรและไม่ได้รับความเสียหายจากการดำเนินการของ กสทช.

เอไอเอสและทรูยังอ้างว่าสามารถกู้ยืมจากธนาคารพาณิชย์ได้ในอัตราดอกเบี้ยประมาณ 3-4% ซึ่งสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายไม่มาก  หากเป็นเช่นนั้น ผู้ประกอบการทั้งสองรายก็สมควรไปกู้ยืมจากธนาคารพาณิชย์เพื่อมาชำระค่าประมูล ไม่ใช่ให้รัฐปล่อยกู้ในอัตราขาดทุน โดยผู้เสียภาษีเป็นผู้แบกรับภาระแทน

เลขาธิการกสทช. อ้างว่า การขยายเวลาผ่อนชำระค่าประมูล จะช่วยให้รัฐได้รายได้จากการประมูลคลื่น 1800 MHz มากขึ้น เพราะมีความเป็นไปได้สูงว่า เอไอเอสและทรู จะเข้าร่วมประมูลด้วย  ข้ออ้างดังกล่าวอยู่บนพื้นฐานของการ “มโน” หรือคาดเดาฝ่ายเดียว ดังจะเห็นได้ว่า แถลงการณ์ของเอไอเอสและทรูก็ไม่ได้ระบุเลยว่า จะเข้าประมูลรอบใหม่หากได้รับการผ่อนชำระค่าประมูล

ที่สำคัญ หากเอไอเอสและทรูจะเข้าร่วมประมูลคลื่น 1800 MHz ด้วยเหตุผลจากการเจรจาแบบ “หมูไปไก่มา” ก็ยิ่งจะเป็นผลเสียต่อความน่าเชื่อถือของประเทศไทย เพราะแทนที่การประมูลคลื่นจะเกิดขึ้นตามกลไกตลาด ภายใต้กติกาที่เป็นธรรมและโปร่งใส กลับเกิดขึ้นจากการต่อรองกันเป็นครั้งๆ หรือการวิ่งเต้น

รัฐบาลและ กสทช. ไม่ควรคาดหวังว่า การประมูลคลื่น 1800 MHz หรือคลื่นอื่นๆ ในอนาคตจะต้องได้ค่าประมูลสูงเท่ากับที่ผ่านมา เนื่องจาก ในช่วงก่อนหน้านี้ ผู้ประกอบการ 2 รายคือ เอไอเอสและทรู ได้ประมูลคลื่นไปจำนวนหนึ่งแล้ว จึงอาจไม่ต้องการประมูลคลื่นเพิ่มเติมอีกมาก (นอกจากเพื่อกีดกันคู่แข่ง) รายได้จากการประมูลคลื่นรอบใหม่นี้จะมากหรือน้อยจึงควรเป็นไปตามอุปทานและอุปสงค์ ภายใต้การออกแบบการประมูลที่ดี โดยไม่ต้องพยายามบิดเบือนให้ได้ราคามากหรือน้อย

โดยสรุป แม้นายกรัฐมนตรีสามารถจับประเด็นประโยชน์สาธารณะในเรื่องดังกล่าวได้อย่างถูกต้อง   เลขาธิการ กสทช. ยังพยายามชักจูงรัฐบาลให้ “อุ้ม”  ผู้ประกอบการโทรศัพท์มือถือไปในทางที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ ไม่ว่าจะพิจารณาในแง่มุมใดๆ รัฐบาลจึงควรตัดสินใจอย่างมั่นคงบนผลประโยชน์ของประชาชน ไม่ปล่อยให้กลุ่มผลประโยชน์เข้ามามีอิทธิพลเหนือการตัดสินใจ

 

“นิทาน” เรื่องใหม่ของ กสทช.

 

หลังจากที่ “นิทาน” ที่ กสทช. เล่ามาในปี 2561 ไม่ได้รับความเชื่อถือ ในช่วงต้นปี 2562 กสทช. ก็เล่า “นิทาน” เรื่องใหม่ โดยเสนอต่อ คสช. ให้ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ออกคำสั่งเพื่อขยายเวลาการชำระค่าประมูลคลื่น 4G ในความถี่ย่าน 900 MHz งวดสุดท้าย ให้แก่ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ทั้ง 3 ราย โดยครั้งนี้รวมดีแทคด้วยอีกราย

กสทช. อ้างว่า หากไม่ขยายเวลา อาจส่งผลกระทบต่อการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานของประเทศและการประมูลคลื่น 5G ในความถี่ย่าน 700 MHz ซึ่ง กสทช. ต้องการให้เกิดขึ้นในช่วงกลางปี 2562 นี้

ก่อนหน้านั้นไม่นาน ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่รายหนึ่งก็เคยขู่คล้ายๆ กับ กสทช. ว่า จะไม่ร่วมประมูลคลื่น 5G หากไม่ขยายเวลาการชำระค่าประมูลคลื่น 4G

ที่ผมเรียกเรื่องนี้ว่าเป็น “นิทาน” อีกเรื่องหนึ่ง เพราะมันเป็นเพียงเรื่องเล่าที่ไม่เป็นความจริง (อีกแล้ว) เนื่องจากประเทศไทยไม่มีความจำเป็นใดๆ ที่จะต้องรีบร้อนประมูลคลื่น 5G ในย่าน 700 MHz ดังที่ กสทช. พยายามผลักดัน ด้วยเหตุผลต่างๆ ดังนี้

หนึ่ง ปัจจุบัน ยังไม่มีบริการ 5G ในเชิงพาณิชย์ที่ชัดเจน ดังที่ผู้บริหาร เอไอเอส เคยกล่าวไว้เมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์นี้ว่า…

“แม้ 5G มีประโยชน์ที่จะทำอะไรใหม่ๆ มากมาย…แต่ไม่ใช่วันนี้” เพราะ “ยังไม่มี Business Case จึงไม่เห็นตอบแทนทางธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์ไร้คนขับ หรือ IoT ในโลกนี้ยังไม่เกิดขึ้น” และกล่าวต่อไปว่า “ที่ผ่านมา AIS ได้เข้าไปพูดคุยกับผู้พัฒนาเครือข่ายหลายๆ รายที่เป็นพันธมิตร เพื่อสอบถามถึงการลงทุน 5G ส่วนใหญ่จะให้คำตอบว่านับจากนี้ไปอีก 3 ปี ค่อยมาคิดว่าควรจะทำหรือไม่ทำ เพราะปัจจุบัน 5G ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นเท่านั้น”

สอง กสทช. เองก็ยังทำโรดแมพในการประมูลคลื่น 5G ไม่เสร็จ หลายท่านคงทราบว่า บริการ 5G สามารถใช้คลื่นความถี่ได้หลายย่าน ทั้งความถี่ต่ำ ความถี่ปานกลางและความถี่สูง การประมูลคลื่น 5G จึงควรเกิดขึ้นเมื่อมีโรดแมพในการประมูลคลื่นทุกย่านที่ชัดเจนก่อน การซอยคลื่น 700 MHz ในย่านความถี่ต่ำออกมาประมูลก่อน โดยยังไม่เห็นความชัดเจนในการประมูลคลื่นย่านอื่น จะทำให้เกิดความได้เปรียบและเสียเปรียบกันระหว่างผู้ประกอบการที่ประมูลในครั้งนี้และในอนาคต และจะสร้างปัญหาต่างๆ ตามมามากมาย

สาม การไม่เร่งรัดประมูลคลื่น 5G ในปีนี้ จะไม่มีผลทำให้ประเทศไทยมีบริการ 5G ช้ากว่าประเทศอื่น เพราะในปัจจุบันมีเพียง 3-4 ประเทศเท่านั้น ที่เปิดให้บริการ 5G ในเชิงพาณิชย์แล้วคือ เกาหลีใต้ จีน ญี่ปุ่น และสหรัฐ (ซึ่งเปิดบริการในไม่กี่เมือง) โดยประเทศเหล่านี้ล้วนเป็นประเทศที่ผลิตอุปกรณ์ 5G ซึ่งต้องการเปิดบริการในประเทศของตนให้เร็ว เพื่อผลในการโฆษณาและทำการตลาดในต่างประเทศ

รัฐบาลจึงไม่ต้องกังวลใดๆ ต่อการที่ผู้ประกอบการขู่ว่า จะไม่เข้าประมูลคลื่น 5G หากไม่ได้รับการยืดเวลาชำระค่าประมูลคลื่น 4G ออกไป เพราะประเทศไทยยังไม่ควรประมูลคลื่น 5G ไปอีกอย่างน้อย 2-3 ปี จนกว่าจะเห็นว่า บริการ 5G มีประโยชน์ในเชิงพาณิชย์อย่างไร เมื่อถึงเวลานั้น ผู้ประกอบการทั้งหลายซึ่งชำระค่าประมูลคลื่น 4G ครบถ้วนแล้ว ก็จะเข้าประมูล 5G เอง เพื่อไม่ให้เสียเปรียบรายอื่น

“นิทาน” เรื่องนี้นอกจากไม่สนุกแล้ว ยังอาจจะมีราคาแพงมาก เพราะหากรัฐบาลและ คสช. หลงเชื่อแล้วยืดเวลาชำระค่าประมูลคลื่น 4G ออกไป ตามข้อเสนอของ กสทช. รัฐก็จะยกผลประโยชน์ให้แก่ผู้ประกอบการอย่างน้อย 1.6 หมื่นล้านบาท จากอัตราดอกเบี้ยที่ กสทช. เสนอให้เก็บต่ำมาก เมื่อคิดเฉพาะ 2 รายคือ เอไอเอส และ ทรู ที่ขอยืดชำระไป 7 ปี

ยิ่งไปกว่านั้น หากนับการที่ดีแทคขอผสมโรงยืดชำระค่าใบอนุญาต 4G งวดสุดท้าย 30,020 ล้านบาทจากเดิมต้องจ่ายครั้งเดียวในปี 2565 เป็นการทยอยจ่ายปีละเท่าๆ กันไปจนหมดอายุใบอนุญาตในปี 2576 โดยไม่คิดดอกเบี้ยแล้ว ผลประโยชน์ที่รัฐจะยกให้แก่ผู้ประกอบการก็จะเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 8 พันล้านบาท

รวมทั้งสิ้นเป็น 2.4 หมื่นล้านบาท!

การยืดเวลาชำระค่าประมูลคลื่น 4G ออกไป จึงขัดอย่างแจ้งชัดกับแนวทางที่นายกรัฐมนตรีเคยให้ไว้เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2561 ว่า การดำเนินการในเรื่องนี้จะต้องไม่ทำให้รัฐและประชาชนเสียหาย

ผมหวังว่า ผู้นำรัฐบาลจะไม่หลงเชื่อ “นิทานกระต่ายตื่นตูม” เรื่องใหม่ แต่พลอตเดิม ที่หวังจะเอาเงินของรัฐและประชาชนไป “อุ้ม” นายทุนโทรคมนาคม ในช่วงโค้งสุดท้ายก่อนที่ คสช. จะไม่สามารถใช้คำสั่งตามมาตรา 44 ได้อีกต่อไป หลังมีรัฐบาลใหม่แล้ว

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Spotlights

4 Nov 2020

101 Policy Forum : ประเทศไทยในฝันของคนรุ่นใหม่

101 เปิดวงสนทนาพูดคุยกับตัวแทนวัยรุ่น 4 คน ณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน , สิรินทร์ มุ่งเจริญ, ภาณุพงศ์ สุวรรณหงษ์, อัครสร โอปิลันธน์ ว่าด้วยสังคม การเมือง เศรษฐกิจไทยในฝัน ต้นตอที่รั้งประเทศไทยจากการพัฒนา ข้อเสนอเพื่อพาประเทศสู่อนาคต และแนวทางการพัฒนาและสนับสนุนคนรุ่นใหม่

กองบรรณาธิการ

4 Nov 2020

Political Economy

17 Aug 2023

มือที่มองไม่เห็นของ อดัม สมิธ: คำถามใหญ่ว่าด้วย ‘ธรรมชาติของมนุษย์’  

อั๊บ สิร นุกูลกิจ กะเทาะแนวคิด ‘มือที่มองไม่เห็น’ ของบิดาแห่งวิชาเศรษฐศาสตร์ อดัม สมิธ ซึ่งพบว่ายึดโยงถึงความเป็นไปตามธรรมชาติของมนุษย์

อั๊บ สิร นุกูลกิจ

17 Aug 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save