fbpx

‘รับทราบ vs ไม่อนุญาต’ : สิ่งที่เลวร้ายยิ่งกว่าการอนุญาตให้ควบรวมทรู-ดีแทค

แล้วดีลควบรวมทรู-ดีแทคก็ได้ไฟเขียวจาก กสทช. ให้เดินหน้าต่อ

หลายคนเข้าใจว่า กสทช. 5 คน ลงมติ ‘เห็นชอบ’ หรือ ‘ไม่เห็นชอบ’ ให้มีการควบรวม แต่เอาเข้าจริง สิ่งที่เกิดขึ้นเลวร้ายกว่านั้นอีกครับ มันไม่ใช่เสียง ‘เห็นชอบ’ ชนะเสียง ‘ไม่เห็นชอบ’ แต่ในที่ประชุม ประธาน กสทช. คือ นายแพทย์สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ และนายต่อพงศ์ เสลานนท์ พยายามผลักดันว่า กสทช. มีอำนาจเพียงแค่ ‘รับทราบ’ ดีลควบรวมทรู-ดีแทคเท่านั้น ไม่มีอำนาจในการพิจารณาว่าจะอนุญาตหรือไม่แต่อย่างใด

ท่าทีดังกล่าวสวนทางกับความเห็นของนักวิชาการด้านกฎหมาย ด้านเศรษฐศาสตร์ และองค์กรกฎหมายอย่างกฤษฎีกา หรือกระทั่งศาลปกครอง ที่ย้ำว่า กสทช. มีอำนาจตามกฎหมาย จะมีก็แต่น้ำเสียงของฝ่ายผู้ควบรวมโดยเฉพาะฟากซีพี (และทรู) ที่ออกมาชูธงเรื่อง กสทช. ไม่มีอำนาจอนุมัติเสมอต้นเสมอปลายจนนาทีสุดท้าย เรียกว่าท่องคาถา ‘กสทช. ไม่มีอำนาจ’ แบบคงเส้นคงวาโดยไม่สนอะไรหลักการไหนทั้งนั้น ยกเว้นหลักพูดบ่อยๆ เดี๋ยวคนก็เชื่อไปเอง

กฎหมายเขียนไว้ชัดขนาดไหน เดี๋ยวขอเล่าให้ฟังอีกรอบ แล้ว กสทช. เสียงข้างมากอย่างสรณและต่อพงศ์ใช้ช่องทางไหนหลบเลี้ยว จะชี้ให้เห็นต่อไปครับ

……

มาที่เรื่องกฎหมายก่อนว่า กสทช. มีอำนาจแน่ๆ

ที่ผ่านมา เราเคยแต่เจอเคสองค์กรต่างๆ ชอบขยายขอบเขตอำนาจตัวเองให้กว้างขวางขึ้น จนกระทั่งเคสควบรวมทรู-ดีแทค มาเจอองค์กรกำกับดูแลอย่าง กสทช. (แถม กขค. ด้วยก็ได้) ตีมึนจำกัดขอบเขตอำนาจ (ที่ควรทำ) ของตัวเอง ปัดความรับผิดชอบ ลอยตัว ไม่ยอมทำงานหลักที่ตัวเองต้องทำ ประชาชนก็งงกันไปว่าจะมี กสทช. (แถม กขค. ด้วยก็ได้) ไว้ทำไม

ในความจริงนั้น อำนาจและหน้าที่ของ กสทช. เขียนไว้ตั้งแต่รัฐธรรมนูญ พ.ร.บ.กสทช. ตลอดจนประกาศของ กสทช. ที่ให้อำนาจกำกับดูแลโดยมีมาตรการป้องกันไม่ให้แสวงหาประโยชน์จากผู้บริโภคโดยไม่เป็นธรรม ตลอดจนป้องกันไม่ให้มีการกระทำอันเป็นการผูกขาด หรือก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขัน

กฎหมายที่ให้อำนาจหน้าที่อย่างเป็นรูปธรรม คือประกาศ กสทช. เรื่องมาตรการกำกับดูแลการรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2561 ที่ระบุไว้ค่อนข้างชัดเจน ข้อ 5 ของประกาศนี้กำหนดให้การรวมธุรกิจของผู้รับใบอนุญาตหรือผู้มีอำนาจควบคุมที่ก่อให้เกิดนิติบุคคลใหม่เช่นนี้ จะต้องรายงานต่อ กสทช.

ต่อด้วยข้อ 9 ในประกาศฉบับเดียวกันระบุว่า การรายงานนั้นให้ถือเป็นการ ‘ขออนุญาต’ ตาม ประกาศ กทช. เรื่องมาตรการป้องกันมิให้มีการกระทำอันเป็นการผูกขาดหรือก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2549

เราเลยต้องตามต่อไปดูข้อ 8 ของประกาศฉบับ พ.ศ. 2549 ที่เขียนไว้ชัดเจนว่า การถือครองธุรกิจในบริการประเภทเดียวกัน ไม่ว่าจะในทางตรง ทางอ้อม หรือผ่านตัวแทน จะทำไม่ได้ เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการเสียก่อน ในกรณีที่พิจารณาแล้วเห็นว่าการถือครองธุรกิจนี้อาจส่งผลให้เกิดการผูกขาด หรือลด หรือจำกัดการแข่งขันในการให้บริการโทรคมนาคม คณะกรรมการสามารถสั่งห้ามการถือครองกิจการได้

นอกจากนี้ ประกาศฉบับ พ.ศ. 2549 และประกาศฉบับ พ.ศ. 2561 ให้อำนาจ กสทช. ในการกำหนดเงื่อนไขหรือมาตรการเฉพาะสำหรับการควบรวม โดยที่ประกาศ พ.ศ. 2561 ให้เกณฑ์ไว้ว่าสามารถทำได้เมื่อ

1) ดัชนีการกระจุกตัวหลังการควบรวมสูงกว่า 2,500 จุด

2) มีการเพิ่มขึ้นจากเดิมมากกว่า 100 จุด

3) รายใหม่มีอุปสรรคในการเข้าสู่ตลาดเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

4) มีการครอบครองโครงสร้างพื้นฐานเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

ซึ่ง 101 PUB เคยประเมินไว้ว่าเข้าเกณฑ์ครบทุกข้อ

ดังนั้น กสทช. สามารถให้อนุญาต อนุญาตอย่างมีเงื่อนไข หรือไม่อนุญาตตามการพิจารณาผลกระทบต่อการแข่งขัน ไม่ได้เป็นแค่ผู้รับแจ้งรายงาน แต่มีอำนาจในการสั่งห้ามการควบรวมแน่นอน

วิญญูชนทั่วไปอ่านกฎหมายกันแบบนี้

……

ในที่ประชุมนัดประวัติศาสตร์ 11 ชั่วโมง เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2565 กสทช. สองคน (สรณ/ต่อพงศ์) ยืนยันว่า กสทช. ไม่มีอำนาจ ทำได้แค่ ‘รับทราบ’ รายงาน เขาหาช่องตรงไหนรู้ไหมครับ

ตรงข้อ 8 ของประกาศฉบับ พ.ศ. 2549 ครับ

ยกมาให้อ่านอีกทีก็ได้ เนื้อความเขียนว่า “การถือครองธุรกิจในบริการประเภทเดียวกัน ไม่ว่าจะในทางตรง ทางอ้อม หรือผ่านตัวแทน จะทำไม่ได้ เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการเสียก่อนในกรณีที่พิจารณาแล้วเห็นว่าการถือครองธุรกิจนี้อาจส่งผลให้เกิดการผูกขาด หรือลด หรือจำกัดการแข่งขันในการให้บริการโทรคมนาคม คณะกรรมการสามารถสั่งห้ามการถือครองกิจการได้”

รอบนี้ขอเน้นตรงคำว่า “การถือครองธุรกิจในบริการประเภทเดียวกัน” ครับ เขาใช้ตรงนี้เป็นจุดพลิก

ในเอกสารข่าวประชาสัมพันธ์ของสำนักงาน กสทช. ที่ 51/2565 ลงวันที่ 20 ตุลาคม 2565 ที่ส่งให้สื่อมวลชนหลังประชุม เขียนว่า “ที่ประชุมเสียงข้างมาก (ประธาน กสทช. และ กสทช. ต่อพงศ์ฯ) มีมติเห็นว่าการรวมธุรกิจในกรณีนี้ไม่เป็นการถือครองธุรกิจในบริการประเภทเดียวกันตามข้อ 8 ของประกาศฉบับปี 2549 … และให้พิจารณาดำเนินการตามประกาศฉบับปี 2561 โดยรับทราบการรวมธุรกิจ”

นั่นคือ ถ้าเข้าข่ายเป็นการเข้าถือครองธุรกิจในบริการประเภทเดียวกัน กสทช. มีอำนาจอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้ควบรวมได้ แต่นี่ไม่ใช่การถือครองธุรกิจประเภทเดียวกัน! ดังนั้น กสทช. จึงทำได้แค่ ‘รับทราบ’ เฉยๆ !!

คำถามคือ ทรูกับดีแทคไม่ใช่ธุรกิจประเภทเดียวกันตรงไหน !!!

ผมรออ่านความเห็นอย่างเป็นทางการของสอง กสทช. อย่างสรณและต่อพงศ์เลยครับ ว่าท่านจะให้เหตุผลอย่างไรว่า การควบรวมระหว่างทรูกับดีแทคไม่ใช่การถือครองธุรกิจประเภทเดียวกัน

ถ้าเราตั้งใจอ่านเอกสารข่าวประชาสัมพันธ์ที่สรุปมติ กสทช. เขาใช้ถ้อยคำแบบนี้ครับ

“จากนั้นที่ประชุม กสทช. จึงได้มีมติเสียงข้างมากรับทราบการควบรวมธุรกิจ … ส่วนเสียงข้างน้อยขอสงวนความเห็น ไม่อนุญาตการรวมธุรกิจ”

สังเกตจุดยืนที่แตกต่างกันของ กสทช. สองฝั่งนะครับ ฝั่งเสียงข้างมาก (สรณ ต่อพงศ์) ใช้คำว่า ‘รับทราบ’ การควบรวมธุรกิจ แต่ฝั่งเสียงข้างน้อย (ศ.ดร.พิรงรอง รามสูต และ รศ.ดร.ศุภัช ศุภชลาศัย) ใช้คำว่า ‘ไม่อนุญาต’ การรวมธุรกิจ เพราะตีความเรื่องอำนาจ กสทช. ต่างกันอย่างสิ้นเชิง

สำหรับผม เรื่องนี้หนักหนาสาหัสยิ่งกว่าการเห็นชอบให้ควบรวมด้วยซ้ำไป กสทช. สองคน คนหนึ่งเป็นประธานเสียด้วย กำลังสร้างหลักใหม่ว่า กสทช. ไม่มีอำนาจตัดสินใจในเรื่องสำคัญที่เป็นเหตุผลในการดำรงอยู่ของ กสทช. ด้วยซ้ำ

กสทช. กำลังตัดเขี้ยวเล็บตามกฎหมายของตัวเองในการปกป้องประโยชน์สาธารณะ

ทำไปทำไม แล้วใครได้ประโยชน์ – ประชาชน หรือ กลุ่มทุนใหญ่

คำถามคือถ้าอย่างนั้นจะมี กสทช. ไว้ทำไม ถ้าไม่สามารถจัดการอะไรกับกรณีการควบรวมบริษัทยักษ์ใหญ่ในตลาด จนผู้เล่นลดลงจาก 3 รายเหลือแค่ 2 รายได้

เรื่องที่สังคมไทยต้องการ กสทช. ที่สุด กสทช. กลับไม่ทำหน้าที่รับผิดชอบที่ตัวเองพึงต้องทำที่สุด ทั้งหมดนี้นำทีมโดยประธาน กสทช. เอง

……

ขอบันทึกทิ้งท้ายไว้อีก 3 เรื่องที่เกี่ยวข้องกัน เป็นเครื่องเคียงประกอบข่าว

เรื่องแรก การลงคะแนนของ กสทช. 5 คนในครั้งนี้ บางสื่อรายงานว่า 3:2

ไม่ใช่นะครับ เป็น 2:2 ต่างหาก

สองเสียงแรกคือเสียงของสรณและต่อพงศ์ที่ต้องการแค่ ‘รับทราบ’ รายงานการควบรวมจากผู้ควบรวม สองเสียงหลังคือเสียงของพิรงรองและศุภัชที่ชี้ว่า กสทช. มีอำนาจ และทั้งสองให้บันทึกว่า ‘ไม่อนุญาต’ การรวมธุรกิจ

‘รับทราบ vs ไม่อนุญาต’ ไม่ใช่ ‘อนุญาต vs ไม่อนุญาต’

ส่วน กสทช. อีกคนที่บทหายไป คือ พลอากาศโท ดร.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ คนนี้ ‘งดออกเสียง’ ในเอกสารข่าวประชาสัมพันธ์บันทึกเหตุผลไว้ว่า “เนื่องจากยังมีประเด็นการตีความในแง่กฎหมายจึงยังไม่สามารถพิจารณาได้อย่างชัดเจน จึงของดออกเสียง” เรื่องนี้ขอยกไว้ก่อนว่าการงดออกเสียงไม่ยอมทำหน้าที่ชี้ขาดเหมาะสมหรือไม่อย่างไร โดยเฉพาะการอ้างเหตุผลง่ายๆ แบบนี้

ทีนี้เมื่อคะแนนเสียงเท่ากัน จึงต้องให้ประธานชี้ขาด สรณเลยได้ลงคะแนนเสียงชี้ขาดอีกเสียงหนึ่ง ผลลัพธ์สุดท้ายเลยออกมาว่าฝ่ายอยากให้ตัวเองไร้อำนาจชนะไป

ครับ …

เรื่องที่สอง สรณได้รับการสรรหามาในฐานะ กสทช. ด้านการคุ้มครองผู้บริโภค ส่วนต่อพงศ์ได้รับการสรรหามาในฐานะ กสทช. ด้านการส่งเสริมสิทธิเสรีภาพของประชาชน

ครับ …

เรื่องที่สาม ค่าตอบแทนประธาน กสทช. อัตราเดือนละ 335,850 บาท ทางสำนักงาน กสทช. เสนอปรับเพิ่มเป็นอัตราเดือนละ 361,167 บาท ส่วนค่าตอบแทนกรรมการแต่ละคน อัตราเดือนละ 269,000 บาท ทางสำนักงาน กสทช. เสนอปรับเพิ่มเป็นอัตราเดือนละ 289,167 บาท (เรื่องเข้า ครม. เมื่อเดือนมิถุนายน 2565 ไม่แน่ใจว่าตอนนี้มีผลบังคับหรือยัง)

ครับ …

กสทช. มีไว้ทำไม?

MOST READ

Economy

12 Dec 2018

‘รวยกระจุก จนกระจาย’ ระดับสาหัส: ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจไทยในศตวรรษที่ 21

ธนสักก์ เจนมานะ ใช้ข้อมูลและระเบียบวิธีวิจัยใหม่ล่าสุดสำรวจสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำไทยที่ ‘สาหัส’ เป็นอันดับต้นๆ ของโลก

ธนสักก์ เจนมานะ

12 Dec 2018

Economy

15 Mar 2018

การท่องเที่ยวกับเศรษฐกิจไทย

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ตั้งคำถาม ใครได้ประโยชน์จากการท่องเที่ยวบูม และเราจะบริหารจัดการผลประโยชน์และสร้างความยั่งยืนให้กับรายได้จากการท่องเที่ยวได้อย่างไร

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย

15 Mar 2018

Economy

19 Mar 2018

ทางออกอยู่ที่ทุนนิยม

ในยามหัวเลี้ยวหัวต่อของบ้านเมือง ผู้คนสิ้นหวังกับปัจจุบัน หวาดหวั่นต่ออนาคต และสั่นคลอนกับอดีตของตนเอง
วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร เสนอทุนนิยมให้เป็น ‘grand strategy’ ใหม่ของประเทศไทย

วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร

19 Mar 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save