fbpx
เรื่องแฟชั่นมันยอมกันไม่ได้ กฎการแต่งกายชวนเวียนหัวในลีก NBA

เรื่องแฟชั่นมันยอมกันไม่ได้ กฎการแต่งกายชวนเวียนหัวในลีก NBA

พิมพ์ชนก พุกสุข เรื่อง

Shin Egkantrong ภาพประกอบ

 

ย้อนกลับไปเดือนตุลาคม ปี 2005 ทั้งนักบาสเกตบอลและเหล่าแฟนกีฬาต่างเป็นอันต้องพิศวงกันสุดขีด เมื่ออยู่ดีๆ ลีก NBA ออกกฎการแต่งกายสุดเข้มงวด ในระดับเป็นเป็นเรื่องเป็นราวจริงจังจนสื่อเอากฎเหล่านี้ไปพาดหัวทำข่าว ไม่ว่าจะในเชิงตั้งคำถามหรือเชิงล้อเลียนก็ตามที… ก็กฎที่ว่ามันชวนให้อิหลักอิเหลื่อเสียขนาดนี้ (อ้างอิงจากเว็บไซต์หลักของ NBA เอง)

– ห้ามใส่เสื้อแขนกุด

– ห้ามใส่กางเกงขาสั้น

– ห้ามใส่เสื้อยืด, เสื้อทีมหรือเสื้อกีฬา (เว้นแต่ว่าเพื่องานหรือเหตุจำเป็น)

– ห้ามสวมหมวกหรือเครื่องประดับบนศีรษะใดๆ ก็ตามระหว่างลงแข่งขันหรือนั่งข้างสนาม หรือขณะให้สัมภาษณ์กับสื่อ หรือระหว่างการร่วมงานที่จัดขึ้นโดยทีมหรือลีก (เว้นเสียแต่ว่าได้รับการอนุญาตจากทีมแล้ว)

– ห้ามสวมสร้อย, โซ่ หรือเครื่องประดับต่างๆ

– ห้ามสวมแว่นกันแดดขณะอยู่ในร่ม

– ห้ามสวมหูฟัง (นอกเหนือจากเดินทางอยู่บนรถบัสหรือเครื่องบินของทีม และนอกห้องแต่งตัว)

และแทนที่ด้วย

– เครื่องแต่งกายแบบสุภาพ หมายถึงสวมสูทหรือเสื้อเชิ้ตมีแขน กางเกงสแล็คหรือยีนส์สุภาพ รองเท้าที่เหมาะสมสำหรับชุด ห้ามรองเท้าแตะหรือผ้าใบ

– กรณีที่ผู้เล่นยังไม่ได้ลงแข่งหรือนั่งข้างสนาม ต้องสวมเสื้อกีฬา รองเท้าและถุงเท้าอย่างถูกระเบียบ

– เมื่อผู้เล่นกำลังออกจากสนามแข่งขัน ต้องสวมชุดสุภาพที่เป็นทางการ หรือเป็นชุดวอร์ม-อัพที่เรียบร้อยและได้รับการอนุญาตทางทีมแล้ว

คุณอาจสงสัยว่า นี่ลีกบาสเกตบอลระดับโลกหรือโรงเรียนประจำวะ ทำไมถึงได้มีข้อห้ามหยุมหยิมเหมือนตั้งใจออกมาคุมเด็กหัดแต่งตัวไม่ใช่คนโตเต็มวัยเลือกรสนิยมได้เอง แน่นอนว่ามีทั้งฝั่งที่สนับสนุนกฎเหล็กนี้เพราะเชื่อว่ามันทำให้ภาพลักษณ์ของนักกีฬาดูดีกว่าเดิม ส่วนฝั่งต่อต้านก็ออกมาแสดงความเห็นอย่างรำคาญใจว่าอย่ามายุ่งกับการแต่งตัวของชาวบ้านได้ปะ! (แต่แน่นอนว่าก็ต้องฝืนทำตามกฎ เพราะไม่อย่างนั้นมีสิทธิลงเอยด้วยการถูกสั่งห้ามลงแข่งระยะยาว)

จุดเริ่มต้นนั้นมาจาก อัลเลน ไอเวอร์สัน อดีตพอยต์การ์ดตัวเอ้แห่ง Philadelphia 76ers ผู้กวาดคะแนนความนิยมของคนดูไปอย่างล้นหลาม (ก็ใครจะไปลืมท่าเลี้ยงบอลลอดขาแล้วเลื้อยหลบ ‘เทพเจ้า’ อย่างไมเคิล จอร์แดน ได้กันเล่า) ตัวไอเวอร์สันนั้นเป็นเด็กหนุ่มที่เติบโตมาแถบเคหะอย่างรันทด แถมยังเคยติดคุก (ที่หลายเสียงระบุว่าเขาเป็นแค่แพะรับบาปเท่านั้น) ฐานทำร้ายร่างกายที่ลุกลามไปถึงประเด็นเหยียดเชื้อชาติในช่วงต้นยุค 90 เขาหลงใหลในวัฒนธรรมฮิปฮอปและเป็นหนึ่งในหัวเรือหลักที่นำเข้าเสื้อผ้า การแต่งกายและลุคสุดจะคูลอันประกอบด้วยกางเกงหลุดก้น, เสื้อยืดหลวมโพรก, สร้อยเส้นโตพร้อมผ้าโพกหัวเข้าสู่ลีก NBA

ดูเผินๆ ก็ไม่ได้มีอะไรผิดปกตินี่ ก็แค่นักกีฬาคนหนึ่งที่แสดงรสนิยมของตัวเองผ่านเครื่องประดับและการแต่งตัว (เราไม่อาจเป็นคุณลุงทิม ดันแคน ผู้ปรากฏตัวด้วยกางเกงยีนส์กระบอกกับเสื้อเชิ้ตแขนยาว จนได้รับการขนานนามว่าชายผู้แต่งตัวได้เฉิ่มที่สุดของลีกได้ทุกครั้งไป) จาเล็น โรส เพื่อนร่วมทีมของไอเวอร์สันถึงกับระบุว่าในเวลานั้น ไอเวอร์สันคือ ‘ไอค่อน’ ของลีกและการแต่งกายแบบนี้เลยทีเดียว ส่วนดเวย์น เหว็ด เพื่อนร่วมลีกกล่าวอย่างชื่นชมว่า “ไอเวอร์สันคือสะพานเชื่อมระหว่างวัฒนธรรมฮิปฮอปกะบาสเกตบอลเลยนั่นล่ะ”

แต่ดังที่เรากล่าวไปแล้ว ว่าไอเวอร์สันนั้นเป็นนักกีฬาระดับต้นๆ ของลีกในเวลานั้น พร้อมกับประวัติการติดคุกนานหลายปี ลีกจึงเห็นว่ามีโอกาสอย่างมากที่ ‘วัฒนธรรม’ แบบอัลเลนจะแพร่ขยายไปในลีกจนส่งผลต่อภาพลักษณ์โดยรวม เพราะก่อนหน้าการมาเยือนของแฟชั่นการแต่งกายฉูดฉาดนี้ NBA ชินกับผู้เล่นที่สวมกางเกงยีนส์กับเสื้อยืดธรรมดาเท่านั้น การที่อยู่ดีๆ ผู้เล่นก็แห่แหนมาสวมสร้อยเส้นโตกับต่างหูเลยเป็นเรื่องที่ลีก NBA อ่อนไหวไม่น้อยทีเดียว โดยเฉพาะนักกีฬาระดับแถวหน้าอย่าง โคบี้ ไบรอันต์, เควิน การ์เน็ตต์, คาร์เมโม แอนโธนี ที่จากใส่เสื้อยืดธรรมดาก็พากันปฏิวัติการแต่งกายของตัวเอง แต่งตัวตามแบบไอเวอร์สันกันยกใหญ่

จนในที่สุด เดวิด สเติร์น หนึ่งในกรรมการหลักของลีก NBA ก็ได้ออกกฎเข้มเรื่องการแต่งตัวของผู้เล่น หลักๆ ก็ตามข้อจำกัดที่เรายกไว้ด้านบน แน่นอนว่าหลายคนคงเห็นว่ามันเป็นเสื้อผ้าที่รับอิทธิพลมาจากดนตรีฮิปฮอป ไหนจะความโด่งดัง ความคูล และลักษณะ ‘ขบถ’ สังคมแบบไอเวอร์สันที่ทำให้หลายคนอยากเดินตาม ทั้งวัฒนธรรมและดนตรีแบบฮิปฮอปที่รุ่งเรืองช่วงกลางยุค 2000 และเป็นดนตรีที่นักกีฬา -ซึ่งส่วนใหญ่ในลีกเป็นคนดำ- รับฟังและเติบโตมาด้วย (นักกีฬาอย่างชาคิล โอนีลและไบรอันต์ถึงกับเคยออกอัลบั้มเพลงฮิปฮอปด้วยซ้ำไป) ทั้งหมดนี้จึงช่วยไม่ได้เลยที่ไอเวอร์สันและอีกหลายคนจะตั้งคำถามว่า กฎการแต่งตัวของ NBA มันมุ่งโจมตีเฉพาะคนผิวดำหรือเปล่า

“มันเป็นกฎที่พุ่งเป้ามาที่คนรุ่นผม คนยุคฮิปฮอป” เขาให้สัมภาษณ์อย่างเผ็ดร้อน “รำคาญว่ะ ยังกะมันออกกฎมาเพื่อห้ามคนที่แต่งตัวแบบผม หลายคนเริ่มรู้สึกว่า “ห่ะเอ๊ย เราจะแต่งตัวแบบไหนก็เรื่องของเราดิวะ ไม่เห็นมันจะเป็นอะไรสักหน่อย เราก็อยากแต่งตัวแบบที่อยากทั้งนั้นแต่ดันทำไม่ได้ซะนี่”

“เอาจริงๆ นะ ถ้าหลายคนเริ่มแต่งตัวแบบนั้นเพราะผม จนลีกต้องออกกฎแบบนี้ออกมา ผมก็ภูมิใจล่ะวะที่ได้สร้างอะไรให้คนได้เปิดเผยความเป็นตัวเอง กีฬามันก็แบบนี้ปะวะ คนมันจะไปเหมือนกันไปหมดได้ยังไง แฟนๆ ถึงได้เลือกจะชอบนักกีฬาคนละคนไงล่ะ พวกเขามีวิธีคิดของตัวเอง คือถ้าทุกคนเป็นเหมือนกันหมดก็คงไม่มีนักกีฬาคนไหนโดดเด่นออกมาใช่ไหมล่ะ น่าขมขื่นจะตายไป ผมดีใจนะที่ได้ต่อต้านอะไรแบบนี้”

ความกราดเกรี้ยวของไอเวอร์สันสอดรับกับคำถามของ เจสัน ริชาร์ดสัน การ์ดจาก Golden State Warriors ที่ตั้งคำถามไปไกลถึงว่า ไอ้กฎแต่งกายแบบนี้มันเข่้าข่ายเหยียดกันหรือเปล่าไม่ทราบ

“แหม่ พวกเขาไม่อยากเฉียดใกล้ความเป็นฮิปฮอปน่ะสิ เอาจริงๆ นะสำหรับผม การห้ามไม่ให้สวมสร้อยนี่มันเข้าข่ายเหยียดกันเห็นๆ ไม่เข้าใจเลยอะว่าจะมายุ่งอะไรกับการแต่งตัวของคนอื่น คุณสวมชุดสูทคุณก็เป็นไอ้ถ่อยได้ ดูอย่างมาร์ธา สจ๊วต สิครับ (นักธุรกิจขวัญใจชาวอเมริกัน ที่ถูกจำคุกเพราะให้การเท็จเรื่องหุ้น) แค่เพราะคุณแต่งตัวเป็นทางการไม่ได้แปลว่าคุณจะเป็นคนดีเด่อะไรสักหน่อย ปัดโธ่ คนที่สวมกางเกงยีนส์ตูดหลุด โพกหัวอาจจะเรียนจบปริญญาเอกมาก็ได้” ส่วนสเติร์นออกมาโต้กลับแค่สั้นๆ ว่า “ถ้าพวกเขามีปัญหานัก ก็ต้องเลือกแล้วล่ะว่ายังอยากจะใช้ชีวิตในลีก NBA อยู่ไหม” (อูยยย)

แม้จะเต็มไปด้วยเสียงต่อต้านและข้อสงสัย แต่ปรากฏว่านักกีฬาส่วนใหญ่ยอมทำตามกฎนี้เป็นอย่างดี แม้จะดูกล้ำกลืนอยู่บ้างก็ตามในขวบปีแรกๆ “เอาจริงๆ ก็ไม่ใช่เรื่องใหญ่อะไร บางทีผมก็แค่ขี้เกียจแล้วรู้สึกแค่มีอะไรก็ใส่ๆ ออกจากบ้านมาเหอะแค่นั้นแหละ แต่นี่มันเป็นส่วนหนึ่งของงานน่ะครับ” เลบรอน เจมส์ สตาร์คนดังกล่าว “เราอยากมีความสุขกับงาน แล้วมันเป็นกฎหนึ่งที่ต้องปฏิบัติตาม” ส่วนแชคิล โอนีล พูดถึงเรื่องนี้แค่ว่า “ผมว่าเดวิด สเติร์นเหมือนคุณแม่แห่งลีก NBA อะเพราะเขาเป็นหนึ่งในกรรมาธิการของสมาคม แล้วเวลาแม่ออกกฎอะไรมาก็ยอมๆ แม่ไปก่อนเหอะ”

ช่วยไม่ได้เลยที่กฎนี้ได้นำพาข้อถกเถียงมาสู่ลีก เพราะฝั่งไม่เห็นด้วยอย่างไอเวอร์สันก็ยืนกรานจะแต่งตัวในแบบฉบับของตัวเองจนเป็นไม่กี่คนที่หัวแข็งไม่ยอมทำตามกฎของสเติร์น ขณะที่บางคนก็ออกความเห็นว่า มีกฎ (บ้าง) ก็ดีแล้ว เพราะหลายครั้งผู้เล่นก็กันเองกับเสื้อผ้าเกินไป “ผมเคยเห็นเพื่อนร่วมทีมสวมกางเกงในผ้าเตี่ยวสีเหลืองแปร๊ดในห้องแต่งตัว” ผู้เล่นจาก Washington Wizards เล่าอย่างละเหี่ยใจ “ตอนเห็นครั้งแรกนี่แม่งไม่อยากเชื่อเลยว่ามีคนใส่อะไรแบบนี้จริงๆ”

“ผมว่าที่เดวิด สเติร์นพูดมันก็มีประเด็น” สไปค์ ลี คนทำหนังที่ว่าด้วยคนผิวดำอย่าง BlacKkKlansman (2018), Jungle Fever (1991) แถมเป็นแฟนเดนตายของทีม New York Knicks ออกความเห็นแบบกลางๆ “พวกนักกีฬาหน้าใหม่ใสกิ๊งเขาสวมอะไรกันตอนมาจับมือกับสเติร์นในวันประกาศผลดราฟ ก็สวมสูททั้งนั้น เวลาคุณอยู่ในองค์กรของอเมริกามันก็มีเรื่องกฎการแต่งตัวแบบนี้ทั้งนั้น แล้วมาเปิดอกพูดกันตรงๆ เถอะ ภาพลักษณ์มันคือทุกสิ่ง แล้วสิ่งที่สเติร์นกำลังทำคือพยายามเปลี่ยนภาพลักษณ์ของลีกนี้อยู่” ส่วนชาร์ลส์ บาร์คลีย์ อดีตนักกีฬาก็บอกสั้นๆ แค่ว่า “นึกภาพเด็กผิวขาวแต่งตัวดีๆ กับเด็กผิวดำใส่ผ้าโพกหัวกับเสื้อกีฬามาสัมภาษณ์งาน ผมก็จ้างไอ้เด็กขาวว่ะ นี่แหละโลกแห่งความจริง” (อูยยย อีกครั้ง)

แต่หลังการออกกฎที่ชวนอิหลักอิเหลื่อของหลายๆ คนในเวลานั้น ผ่านมาร่วม 14 ปี มันก็ได้ออกดอกผลงอกงาม นักบาสเกตบอลหลายคนได้ผันตัวไปเป็นแฟชั่นไอคอนที่เดินสายรับรางวัลแต่งกายยอดเยี่ยมจากนิตยสารแฟชั่นชั้นนำหลายหัว การแต่งกายกลายเป็นหนึ่งใน ‘งาน’ ที่พวกเขาต้องรับผิดชอบกลายๆ นอกเหนือจากการยัดห่วงและการคว้าแชมป์

ทันทีที่พวกเขาต้องหาสูทหรือเสื้อดีๆ มาประดับร่างเพื่อเดินทางเข้าสนามแข่งขันก่อนจะเปลี่ยนเป็นชุดกีฬา ก็สร้างพลวัตให้กับนักบาสเก็ฃตบอลเหล่านี้ไม่น้อย พวกเขาต้องติดต่อเช่าชุดสูทหรือสั่งตัดพิเศษ และหากคุณโด่งดังมากพอ แบรนด์ดังๆ หลายแบรนด์ก็จะติดต่อให้คุณเช่าสูทฟรีๆ รวมถึงเครื่องแต่งกายในเครือตามความเหมาะสม นำทัพโดยเหว็ดที่แต่งตัวเหมือนใช้ตู้เสื้อผ้าเดียวกับนายแบบ, เจมส์ที่จ้างสไตลิชให้มาดูแลเรื่องการแต่งกายและภาพลักษณ์จนติดอันดับหนุ่มนักกีฬาที่แต่งกายดีที่สุดคนหนึ่งของลีก, สตีเฟน เคอร์รี ที่สวมปราดาถ่ายแบบลงนิตยสาร GQ แถมป้ายที่เขาถ่ายแบบให้แบรนด์เสื้อผ้า Express ยังตั้งตระหง่านอยู่กลางไทม์ สแควร์, คาร์เมโล แอนโธนี ที่เคยหัวฟัดหัวเหวี่ยงสมัยลีกออกกฎใหม่ๆ ว่ามันแสนไม่เข้ากับเขาผู้เป็นเด็กหัวแข็งจากบัลติมอร์ ก็ควงครอบครัวขึ้นไปเดินแฟชั่นโชว์ที่นิวยอร์ค ฯลฯ จนเป็นที่แซวกันขำๆ ว่า ภาพลักษณ์หรูหราเหล่านี้นั้น เหล่านักกีฬาต้องไปขอบคุณสเติร์นที่ออกกฎห้ามสวมกางเกงหลุดตูดเมื่อทศวรรษที่แล้วด้วยซ้ำไป

มันอาจเป็นอย่างที่ มาร์ค แอนโธนี กรีน คอลัมนิสต์ของ GQ กล่าวไว้อย่างน่ารับฟังว่า “ไปๆ มาๆ พวกเขา (นักกีฬา) ก็เริ่มสนุกกับการแต่งเนื้อแต่งตัวกันจนได้แหละ พอมีกฎการแต่งตัว นักกีฬาเลยต้องสวมสูท แล้วคนในลีก NBA แข่งขันกันเก่งออกจะตายไป ลองถ้ามีสักคนซื้อสูทของ Valentino มา เดี๋ยวก็ต้องมีคนไปซื้อมาบ้างจนได้ จนตอนนี้ถ้าคุณเป็นผู้เล่นระดับต้นๆ ของลีก NBA คุณก็ต้องมองไกลถึงชีวิตนอกสนาม หรือถ้าคุณไม่ได้เป็นผู้เล่นตัวท็อป ก็ยังอยากจะดูดีเหมือนพวกตัวท็อปๆ อยู่ดี นักกีฬาหน้าใหม่จากทีมดาดๆ สักทีมก็อยากแต่งตัวแบบเลบรอน เจมส์ กันทั้งนั้นแหละ”

ไม่เกินเลยนักหากเราจะสรุปอย่างคร่าวๆ ว่า กฎการแต่งตัวที่สเติร์นตั้งขึ้นมาเมื่อปี 2005 ที่ผู้เล่นหลายคนคัดค้านทั้งยังหมายหัวว่ามันเข้าข่ายเหยียดชาติพันธุ์ ในอีกทศวรรษต่อมา ได้กลายเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ใช้บอกลำดับชั้นของนักกีฬา รัศมีและออร่าความเป็นคนดัง ตลอดจนเป็นอีกเรื่องที่พวกเขาจะปล่อยผ่านไม่ได้เด็ดขาดหากไม่อยากถูกแปะป้ายว่าเป็นนักกีฬาแต่งกายยอดแย่ของลีก และแม้ว่ามันจะไม่ได้แสดงถึงฝีมือในสนาม (ซึ่งทิม ดันแคนที่แต่งตัวได้ห่วยบรมนั้นติดอันดับผู้เล่นมากฝีมือตลอดกาล) แต่มันอาจเป็นอย่างที่สไปค์ ลีได้ออกความเห็นไว้ว่ามันสะท้อนเรื่องภาพลักษณ์ของตัวผู้เล่น ไม่มีใครอยากเป็นลุงเฉิ่ม ทุกคนอยากเป็นคนเท่ดูดีบนปกนิตยสารแฟชั่นทั้งนั้น

และหากโชคดี มันอาจทำเงินให้คุณได้ไม่น้อยในฐานะนายแบบและพรีเซนเตอร์แบรนด์เสื้อผ้าชั้นนำ พาคุณไปปรากฏตัวตามงานแฟชั่นโชว์และขยับฐานะจากนักกีฬาอาชีพ ไปสู่จุดที่หลายๆ คนเฝ้าฝันและพยายามตะกายไปให้ถึงตลอดมาอย่าง ‘เซเลบริตี้’ นั่นเอง

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save